ข้ามไปยังเนื้อหา

ข้ามไปยังสารบัญ

การต่อสู้อันยาวนานเพื่อสุขภาพที่ดีขึ้น

การต่อสู้อันยาวนานเพื่อสุขภาพที่ดีขึ้น

การ​ต่อ​สู้​อัน​ยาว​นาน​เพื่อ​สุขภาพ​ที่​ดี​ขึ้น

โจแอน​อยู่​ที่​นิวยอร์ก​และ​เธอ​เป็น​วัณโรค. แต่​เธอ​ไม่​ได้​เป็น​วัณโรค​ชนิด​ธรรมดา​ที่​เป็น​กัน​ทั่ว​ไป. เธอ​มี​เชื้อ​ที่​กลาย​พันธุ์​ซึ่ง​ดื้อ​ยา​เกือบ​ทุก​ชนิด​และ​ทำ​ให้​ครึ่ง​หนึ่ง​ของ​ผู้​ติด​เชื้อ​เสีย​ชีวิต. อย่าง​ไร​ก็​ตาม โจแอน​ไม่​ได้​ไป​รักษา​เป็น​ประจำ และ​เธอ​ได้​ทำ​ให้​คน​อื่น​ติด​เชื้อ​จาก​เธอ​แล้ว​อย่าง​น้อย​ครั้ง​หนึ่ง. แพทย์​ของ​เธอ​ที่​รู้สึก​ไม่​พอ​ใจ​บอก​ว่า ‘เธอ​น่า​จะ​ถูก​กัก​ตัว​ไว้.’

วัณโรค​เป็น​ฆาตกร​ที่​เก่า​แก่​มาก. มี​คน​จำนวน​นับ​ล้าน​จริง ๆ ที่​เคย​เป็น​และ​เสีย​ชีวิต​จาก​วัณโรค. มี​การ​พบ​หลักฐาน​ของ​โรค​นี้​ใน​มัมมี่​จาก​อียิปต์​และ​เปรู​ยุค​โบราณ. ใน​ปัจจุบัน วัณโรค​สาย​พันธุ์​ที่​กลับ​มา​ระบาด​อีก​ครั้ง​ทำ​ให้​ผู้​คน​ประมาณ​สอง​ล้าน​คน​เสีย​ชีวิต​ทุก​ปี.

คาร์ลีโตส​นอน​อยู่​บน​ที่​นอน​เล็ก ๆ ใน​กระท่อม​แบบ​แอฟริกา​หลัง​หนึ่ง​และ​มี​เหงื่อ​ออก​บน​หน้าผาก​ของ​เขา​เป็น​เม็ด ๆ. มาลาเรีย​ทำ​ให้​เขา​ไม่​มี​แม้​แต่​เรี่ยว​แรง​ที่​จะ​ร้องไห้. พ่อ​แม่​เขา​ที่​กระวนกระวาย​ใจ​ไม่​มี​เงิน​ค่า​ยา และ​ไม่​มี​คลินิก​ใกล้ ๆ ที่​พวก​เขา​จะ​พา​ลูก​น้อย​ของ​ตน​ไป​รักษา​ได้. ไข้​ไม่​ลด​ลง​เลย และ​ภาย​ใน 48 ชั่วโมง​เขา​ก็​เสีย​ชีวิต.

มาลาเรีย​ฆ่า​เด็ก​เกือบ​หนึ่ง​ล้าน​คน​เหมือน​กับ​คาร์ลีโตส​ทุก​ปี. ตาม​หมู่​บ้าน​ต่าง ๆ ใน​แอฟริกา​ตะวัน​ออก เด็ก​ทั่ว​ไป​จะ​ถูก​ยุง​ที่​มี​เชื้อ​มาลาเรีย​กัด​ประมาณ​เดือน​ละ 50 ถึง 80 ครั้ง. ยุง​เหล่า​นี้​แพร่​พันธุ์​ไป​ยัง​พื้น​ที่​ใหม่ ๆ และ​ยา​ต้าน​มาลาเรีย​ก็​ใช้​ได้​ผล​น้อย​ลง​เรื่อย ๆ. ทุก​ปี ประมาณ 300 ล้าน​คน​เป็น​โรค​มาลาเรีย​ชนิด​เฉียบ​พลัน.

เคนเนท ชาย​วัย 30 ปี ซึ่ง​อยู่​ที่​เมือง​ซานฟรานซิสโก รัฐ​แคลิฟอร์เนีย ไป​พบ​แพทย์​ครั้ง​แรก​ใน​ปี 1980. เขา​บ่น​ว่า​ท้องร่วง​และ​อ่อน​เพลีย. หนึ่ง​ปี​ต่อ​มา​เขา​เสีย​ชีวิต. ทั้ง ๆ ที่​ได้​รับ​การ​รักษา​จาก​ผู้​เชี่ยวชาญ แต่​ร่าง​กาย​ของ​เขา​ก็​ซูบ​ผอม​ลง​และ​ใน​ที่​สุด​เขา​ก็​พ่าย​แพ้​แก่​โรค​ปอด​อักเสบ.

สอง​ปี​ต่อ​มา​ใน​ที่​ที่​ห่าง​จาก​เมือง​ซานฟรานซิสโก 16,000 กิโลเมตร หญิง​สาว​คน​หนึ่ง​ใน​แทนซาเนีย​ตอน​เหนือ​เริ่ม​มี​อาการ​อย่าง​เดียว​กัน. ภาย​ใน​ไม่​กี่​สัปดาห์ เธอ​ก็​เดิน​ไม่​ได้​อีก​เลย​และ​ไม่​นาน​หลัง​จาก​นั้น​เธอ​ก็​เสีย​ชีวิต. ชาว​บ้าน​เรียก​โรค​แปลก​ประหลาด​นี้​ว่า​โรค​จูเลีย​นา เนื่อง​จาก​ดู​เหมือน​ว่า​ผู้​ชาย​คน​หนึ่ง​ซึ่ง​ขาย​ผ้า​ที่​มี​ชื่อ​จูเลีย​นา​พิมพ์​ติด​อยู่​ได้​ทำ​ให้​เธอ​กับ​ผู้​หญิง​คน​อื่น ๆ ใน​หมู่​บ้าน​ติด​เชื้อ​นี้.

ทั้ง​เคนเนท​และ​หญิง​ชาว​แทนซาเนีย​เป็น​โรค​เดียว​กัน นั่น​คือ​โรค​เอดส์. ใน​ตอน​เริ่ม​ต้น​ทศวรรษ 1980 เมื่อ​ดู​เหมือน​ว่า​วิทยาศาสตร์​การ​แพทย์​สามารถ​ควบคุม​จุลชีพ​ที่​เป็น​อันตราย​ส่วน​ใหญ่​ได้​แล้ว ตอน​นั้น​เอง​ก็​เกิด​โรค​ติด​เชื้อ​ชนิด​ใหม่​นี้​ขึ้น​คุกคาม​มนุษยชาติ. ภาย​ใน​สอง​ทศวรรษ ผู้​ที่​เสีย​ชีวิต​จาก​โรค​เอดส์​เริ่ม​มี​จำนวน​ใกล้​เคียง​กับ​ผู้​ที่​เสีย​ชีวิต​ด้วย​โรค​ระบาด​ที่​แพร่​ไป​ทั่ว​ยูเรเชีย​ใน​ช่วง​ศตวรรษ​ที่ 14—โรค​ระบาด​ที่​ยุโรป​ไม่​เคย​ลืม​เลย.

กาฬโรค​ระบาด​ครั้ง​ใหญ่

การ​ระบาด​ของ​โรค​ที่​เรียก​ว่า​กาฬโรค​สามารถ​ย้อน​รอย​ไป​ได้​ถึง​ปี 1347 เมื่อ​เรือ​ลำ​หนึ่ง​ที่​แล่น​มา​จาก​คาบสมุทร​ไครเมีย​ได้​มา​จอด​เทียบ​ท่า​ที่​เมือง​เมสซีนา ใน​เกาะ​ซิซิลี. นอก​จาก​สินค้า​ตาม​ปกติ​แล้ว เรือ​ลำ​นี้​ยัง​นำ​เชื้อ​กาฬโรค​มา​ด้วย. * ไม่​นาน กาฬโรค​ก็​ระบาด​ไป​ทั่ว​อิตาลี.

ใน​ปี​ถัด​มา อันโยโล ดิ ตูรา ชาว​เมือง​ซีเอนา ประเทศ​อิตาลี พรรณนา​ถึง​ความ​สยดสยอง​ที่​เกิด​ขึ้น​ใน​เมือง​ของ​เขา​ดัง​นี้: ‘การ​ตาย​ใน​ซีเอนา​เริ่ม​ต้น​ใน​เดือน​พฤษภาคม. มัน​โหด​ร้าย​และ​น่า​กลัว​มาก. ผู้​ติด​โรค​ตาย​เกือบ​จะ​ทันที. พวก​เขา​เสีย​ชีวิต​เป็น​ร้อย ๆ คน ทั้ง​วัน​ทั้ง​คืน.’ เขา​กล่าว​ต่อ​ไป​ว่า ‘ผม​ฝัง​ศพ​ลูก​ห้า​คน​ของ​ผม​ด้วย​มือ​ผม​เอง และ​คน​อื่น ๆ อีก​หลาย​คน​ก็​ทำ​อย่าง​เดียว​กัน. ไม่​มี​ใคร​ร้องไห้​แม้​ว่า​เขา​จะ​สูญ​เสีย​ใคร​ไป เพราะ​แทบ​ทุก​คน​คาด​ว่า​ตัว​เอง​จะ​ต้อง​ตาย​เหมือน​กัน. มี​คน​ตาย​มาก​มาย​จน​ทุก​คน​เชื่อ​ว่า​นั่น​เป็น​อวสาน​ของ​โลก.’

นัก​ประวัติศาสตร์​บาง​คน​กล่าว​ว่า ภาย​ใน​สี่​ปี​กาฬโรค​ได้​ระบาด​ไป​ทั่ว​ยุโรป​และ​ประมาณ​หนึ่ง​ใน​สาม​ของ​ประชากร​เสีย​ชีวิต—อาจ​มี​ราว ๆ 20 ถึง 30 ล้าน​คน. แม้​แต่​ไอซ์แลนด์​ที่​อยู่​ห่าง​ไกล​ก็​มี​ผู้​คน​ล้ม​ตาย​เป็น​จำนวน​มาก. กล่าว​กัน​ว่า​ใน​ตะวัน​ออก​ไกล ประชากร​จีน​ลด​ลง​อย่าง​ฮวบฮาบ​จาก 123 ล้าน​คน​ใน​ตอน​ต้น​ศตวรรษ​ที่ 13 เหลือ 65 ล้าน​คน​ระหว่าง​ศตวรรษ​ที่ 14 ซึ่ง​ดู​เหมือน​เป็น​ผล​จาก​กาฬโรค​และ​การ​กันดาร​อาหาร​ที่​ตาม​มา.

ไม่​เคย​มี​โรค​ระบาด, สงคราม, หรือ​การ​กันดาร​อาหาร​ครั้ง​ใด​ที่​ก่อ​ความ​ทุกข์​ยาก​ได้​กว้าง​ไกล​ขนาด​นี้​มา​ก่อน. หนังสือ​มนุษย์​และ​จุลชีพ (ภาษา​อังกฤษ) กล่าว​ว่า “การ​ระบาด​ครั้ง​นั้น​เป็น​ความ​หายนะ​ที่​ไม่​มี​อะไร​เทียบ​ได้​ใน​ประวัติศาสตร์​มนุษย์. ประมาณ​หนึ่ง​ใน​สี่​ถึง​ครึ่ง​หนึ่ง​ของ​ประชากร​ใน​ยุโรป, แอฟริกา​เหนือ, และ​บาง​ส่วน​ของ​เอเชีย​ได้​จบ​ชีวิต​ลง.”

ทวีป​อเมริกา​รอด​พ้น​มหันตภัย​ของ​กาฬโรค​ไป​ได้ เนื่อง​จาก​ทวีป​นั้น​อยู่​ห่าง​ไกล​จาก​ส่วน​อื่น ๆ ของ​โลก. แต่​หลัง​จาก​นั้น​ไม่​นาน เรือ​เดิน​สมุทร​ก็​ทำ​ให้​ทวีป​นั้น​ไม่​ได้​อยู่​ห่าง​ไกล​อีก​ต่อ​ไป. ใน​ศตวรรษ​ที่ 16 โรค​ระบาด​อีก​ระลอก​หนึ่ง​ที่​ปรากฏ​ว่า​ร้ายแรง​ยิ่ง​กว่า​กาฬโรค​ด้วย​ซ้ำ ได้​ก่อ​ความ​เสียหาย​แก่​ทวีป​อเมริกา หรือ​ที่​เรียก​ว่า​โลก​ใหม่.

ไข้​ทรพิษ​พิชิต​ทวีป​อเมริกา

เมื่อ​โคลัมบัส​มา​ถึง​หมู่​เกาะ​อินดิส​ตะวัน​ตก​ใน​ปี 1492 เขา​พรรณนา​ลักษณะ​ชาว​พื้นเมือง​ว่า​เป็น​คน​ที่​มี ‘รูป​ร่าง​หน้า​ตา​ดี​และ​มี​ความ​สูง​ปานกลาง​ทั้ง​ยัง​มี​ร่าง​กาย​บึกบึน.’ อย่าง​ไร​ก็​ตาม รูป​ร่าง​ที่​ดู​แข็งแรง​ของ​พวก​เขา​ได้​อำพราง​ความ​เสี่ยง​ที่​จะ​ติด​โรค​ที่​มา​จาก​ยุโรป หรือ​ที่​เรียก​ว่า​โลก​เก่า.

ใน​ปี 1518 เกิด​การ​ระบาด​อย่าง​รุนแรง​ของ​ไข้​ทรพิษ​ใน​เกาะ​ฮิสแปนิโอลา. ชาว​อเมริกัน​พื้นเมือง​ไม่​เคย​ประสบ​กับ​ไข้​ทรพิษ​มา​ก่อน และ​ผล​คือ​ความ​หายนะ. ประจักษ์​พยาน​ชาว​สเปน​คน​หนึ่ง​กะ​ประมาณ​ว่า มี​ชาว​เกาะ​ที่​รอด​ชีวิต​เหลือ​อยู่​เพียง​หนึ่ง​พัน​คน. ไม่​นาน​การ​ระบาด​นั้น​ก็​แพร่​ไป​ถึง​เม็กซิโก​และ​เปรู ซึ่ง​ยัง​ผล​คล้าย ๆ กัน.

ใน​ศตวรรษ​ต่อ​มา เมื่อ​พวก​ผู้​ตั้ง​ถิ่น​ฐาน​ที่​เรียก​ว่า​พิลกริม​มา​ถึง​บริเวณ​รัฐ​แมสซาชูเซตส์​ใน​อเมริกา​เหนือ พวก​เขา​พบ​ว่า​ไข้​ทรพิษ​ได้​ผลาญ​ชีวิต​ผู้​คน​จน​เกือบ​หมด​ไป​จาก​พื้น​ที่​นั้น. จอห์น วินทรอป ผู้​นำ​ของ​พวก​พิลกริม เขียน​ว่า “พวก​ชน​พื้นเมือง พวก​เขา​ตาย​กัน​เกือบ​หมด​เพราะ​ไข้​ทรพิษ.”

โรค​ระบาด​อื่น ๆ ได้​เกิด​ขึ้น​หลัง​จาก​ไข้​ทรพิษ. ตาม​ที่​กล่าว​ใน​แหล่ง​อ้างอิง​หนึ่ง ประมาณ​หนึ่ง​ศตวรรษ​หลัง​จาก​โคลัมบัส​มา​ถึง โรค​ที่​ถูก​นำ​เข้า​มา​ได้​กวาด​ล้าง​ประชากร​ใน​โลก​ใหม่​ไป​ถึง 90 เปอร์เซ็นต์. ประชากร​ของ​เม็กซิโก​ลด​ลง​อย่าง​ฮวบฮาบ​จาก 30 ล้าน​คน​เหลือ 3 ล้าน​คน ส่วน​ประชากร​ของ​เปรู​ลด​จาก 8 ล้าน​คน​เหลือ​หนึ่ง​ล้าน​คน. แน่นอน ไม่​ได้​มี​แต่​ชาว​พื้นเมือง​อเมริกัน​เท่า​นั้น​ที่​เป็น​ไข้​ทรพิษ. หนังสือ​โรค​ระบาด—การ​คุกคาม​ของ​ไข้​ทรพิษ​ใน​อดีต​และ​อนาคต (ภาษา​อังกฤษ) กล่าว​ว่า “ตลอด​ประวัติศาสตร์​มนุษย์ ไข้​ทรพิษ​ทำ​ให้​หลาย​ร้อย​ล้าน​คน​เสีย​ชีวิต ซึ่ง​มาก​กว่า​กาฬโรค . . . และ​สงคราม​ทั้ง​หมด​ใน​ศตวรรษ​ที่​ยี่​สิบ​รวม​กัน​มาก​นัก.”

เรา​ยัง​ไม่​ชนะ​สงคราม

ปัจจุบัน​นี้ การ​ระบาด​ของ​กาฬโรค​และ​ไข้​ทรพิษ​ที่​น่า​กลัว​อาจ​ดู​เหมือน​เป็น​เพียง​ความ​หายนะ​ที่​มี​อยู่​แต่​ใน​หน้า​ประวัติศาสตร์​นาน​มา​แล้ว. ระหว่าง​ศตวรรษ​ที่ 20 มนุษยชาติ​ได้​ชัย​ชนะ​หลาย​ต่อ​หลาย​ครั้ง​ใน​การ​ต่อ​สู้​กับ​โรค​ติด​เชื้อ โดย​เฉพาะ​อย่าง​ยิ่ง​ใน​ประเทศ​อุตสาหกรรม. แพทย์​ค้น​พบ​สาเหตุ​ของ​โรค​ส่วน​ใหญ่​แล้ว และ​พวก​เขา​ยัง​ค้น​พบ​วิธี​รักษา​โรค​เหล่า​นั้น​ด้วย. (ดู​กรอบ​ข้าง​ล่าง.) วัคซีน​และ​ยา​ปฏิชีวนะ​ชนิด​ใหม่ ๆ ดู​เหมือน​เป็น​ยา​วิเศษ​ที่​สามารถ​ขจัด​ได้​แม้​แต่​โรค​ที่​ทน​ทายาด​ที่​สุด.

อย่าง​ไร​ก็​ตาม นาย​แพทย์​ริชาร์ด เคราเซ อดีต​ผู้​อำนวย​การ​สถาบัน​ภูมิ​แพ้​และ​โรค​ติด​เชื้อ​แห่ง​ชาติ​ของ​สหรัฐ ชี้​ว่า “โรค​ระบาด​เป็น​สิ่ง​ที่​แน่นอน​เช่น​เดียว​กับ​ความ​ตาย​และ​ภาษี.” วัณโรค​และ​มาลาเรีย​ยัง​ไม่​หมด​ไป. และ​การ​ระบาด​ของ​โรค​เอดส์​เมื่อ​เร็ว ๆ นี้​เป็น​การ​ย้ำ​เตือน​อัน​น่า​หดหู่​ใจ​ว่า​โรค​ระบาด​ยัง​คง​คุกคาม​โลก​อยู่. หนังสือ​มนุษย์​กับ​จุลชีพ (ภาษา​อังกฤษ) กล่าว​ว่า “โรค​ติด​เชื้อ​ยัง​คง​เป็น​สาเหตุ​การ​ตาย​อันดับ​หนึ่ง​ของ​โลก และ​จะ​เป็น​เช่น​นั้น​ต่อ​ไป​อีก​นาน.”

แพทย์​บาง​คน​กลัว​ว่า​แม้​มี​ความ​ก้าว​หน้า​อย่าง​น่า​ทึ่ง​ใน​การ​สู้​กับ​โรค​ต่าง ๆ แต่​ความ​สำเร็จ​ใน​ช่วง​ไม่​กี่​สิบ​ปี​มา​นี้​อาจ​เป็น​เพียง​ชั่ว​คราว. โรเบิร์ต โชป นัก​วิทยา​การ​ระบาด เตือน​ว่า “อันตราย​ที่​มา​จาก​โรค​ติด​เชื้อ​ยัง​ไม่​หมด​ไป มัน​กลับ​ยิ่ง​แย่​ลง.” บทความ​ถัด​ไป​จะ​อธิบาย​สาเหตุ.

[เชิงอรรถ]

^ วรรค 10 กาฬโรค​มี​หลาย​ชนิด เช่น ชนิด​ที่​ทำ​ให้​ต่อม​น้ำ​เหลือง​บวม​และ​ชนิด​ที่​ทำ​ให้​ปอด​อักเสบ. ตัว​หมัด​ซึ่ง​ส่วน​ใหญ่​อาศัย​อยู่​ใน​หนู​เป็น​พาหะ​ของ​กาฬโรค​ชนิด​ที่​ทำ​ให้​ต่อม​น้ำ​เหลือง​บวม ส่วน​ละออง​ที่​มา​จาก​การ​ไอ​หรือ​จาม​ของ​ผู้​ป่วย​มัก​แพร่​ชนิด​ที่​ทำ​ให้​ปอด​อักเสบ.

[คำ​โปรย​หน้า 5]

ภาย​ใน​สอง​ทศวรรษ ผู้​ที่​เสีย​ชีวิต​จาก​โรค​เอดส์​เริ่ม​มี​จำนวน​ใกล้​เคียง​กับ​ผู้​ที่​เสีย​ชีวิต​ด้วย​โรค​ระบาด​ที่​แพร่​ไป​ทั่ว​ยูเรเชีย​ใน​ช่วง​ศตวรรษ​ที่ 14

[กรอบ/ภาพ​หน้า 6]

ความ​รู้​กับ​การ​เชื่อ​โชค​ลาง

ใน​ศตวรรษ​ที่ 14 เมื่อ​กาฬโรค​คุกคาม​ครอบครัว​ของ​โปป​ซึ่ง​อยู่​ที่​เมือง​อาวินยอง แพทย์​บอก​โปป​ว่า สาเหตุ​สำคัญ​ที่​ทำ​ให้​เกิด​กาฬโรค​ก็​คือ​การ​ที่​ดาว​เคราะห์​สาม​ดวง ได้​แก่ ดาว​เสาร์, ดาว​พฤหัสบดี, และ​ดาว​อังคาร​ปรากฏ​อยู่​ใกล้​กัน​ใน​ราศี​คน​แบก​หม้อ​น้ำ.

ประมาณ​สี่​ศตวรรษ​ต่อ​มา จอร์จ วอชิงตัน รู้สึก​เจ็บ​คอ​ตอน​เข้า​นอน. แพทย์​ที่​มี​ชื่อเสียง​สาม​คน​รักษา​การ​ติด​เชื้อ​นั้น​ด้วย​การ​เจาะ​เลือด​ของ​เขา​ออก​มา​จาก​หลอด​เลือด​ดำ​ประมาณ​สอง​ลิตร. ภาย​ใน​ไม่​กี่​ชั่วโมง คนไข้​ก็​เสีย​ชีวิต. การ​เจาะ​เลือด​ออก​เป็น​วิธี​รักษา​มาตรฐาน​ที่​ใช้​กัน​มา​เป็น​เวลา​ถึง 2,500 ปี ตั้ง​แต่​สมัย​ฮิปโปกราติส​จน​ถึง​ตอน​กลาง​ศตวรรษ​ที่ 19.

แม้​ว่า​การ​ถือ​โชค​ลาง​และ​ธรรมเนียม​ที่​ยึด​ถือ​กัน​มา​นาน​จะ​ถ่วง​ความ​ก้าว​หน้า​ทาง​การ​แพทย์ แต่​แพทย์​ที่​อุทิศ​เวลา​และ​ความ​พยายาม​ก็​ได้​ทำ​งาน​อย่าง​หนัก​เพื่อ​จะ​ค้น​พบ​สาเหตุ​ของ​โรค​ติด​เชื้อ​และ​วิธี​รักษา​โรค​เหล่า​นั้น. ต่อ​ไป​นี้​เป็น​ความ​ก้าว​หน้า​ครั้ง​สำคัญ​บาง​อย่าง​ของ​พวก​เขา.

ไข้​ทรพิษ. ใน​ปี 1798 เอดเวิร์ด เจนเนอร์ คิด​ค้น​วัคซีน​ป้องกัน​ไข้​ทรพิษ​ได้​สำเร็จ. ระหว่าง​ศตวรรษ​ที่ 20 วัคซีน​ปรากฏ​ว่า​ใช้​ได้​ผล​ดี​ใน​การ​ป้องกัน​โรค​อื่น ๆ เช่น โปลิโอ, ไข้​เหลือง, หัด, และ​หัด​เยอรมัน.

วัณโรค. ใน​ปี 1882 โรเบิร์ต คอค ได้​ระบุ​ตัว​แบคทีเรีย​ที่​ก่อ​ให้​เกิด​วัณโรค​และ​คิด​ค้น​วิธี​ทดสอบ​โรค. ประมาณ 60 ปี​ต่อ​มา มี​การ​ค้น​พบ​สเตรปโตมัยซิน ซึ่ง​เป็น​ยา​ปฏิชีวนะ​ที่​มี​ประสิทธิภาพ​ใน​การ​รักษา​วัณโรค. ยา​นี้​ปรากฏ​ว่า​ใช้​รักษา​กาฬโรค​ชนิด​ที่​ทำ​ให้​ต่อม​น้ำ​เหลือง​บวม​ได้​ด้วย.

มาลาเรีย. ตั้ง​แต่​ศตวรรษ​ที่ 17 เป็น​ต้น​มา ควินิน ซึ่ง​ได้​จาก​เปลือก​ของ​ต้น​สนุ่น ได้​ช่วย​ชีวิต​ผู้​ที่​เป็น​โรค​มาลาเรีย​หลาย​ล้าน​คน. ใน​ปี 1897 โรนัลด์ รอสส์ ระบุ​ว่า ยุง​ก้น​ปล่อง​เป็น​พาหะ​ของ​โรค​นี้ และ​ต่อ​มา​มี​การ​รณรงค์​ควบคุม​ยุง​เพื่อ​ลด​อัตรา​การ​เสีย​ชีวิต​ใน​ประเทศ​เขต​ร้อน.

[รูปภาพ]

แผนภูมิ​จักร​ราศี (บน) และ​การ​เจาะ​เลือด​ออก

[ที่​มา​ของ​ภาพ]

Both: Biblioteca Histórica “Marqués de Valdecilla”

[ภาพ​หน้า 3]

ปัจจุบัน วัณโรค​สาย​พันธุ์​ที่​กลับ​มา​ใหม่​ทำ​ให้​คน​ประมาณ​สอง​ล้าน​คน​เสีย​ชีวิต​ทุก​ปี

[ที่​มา​ของ​ภาพ]

X ray: New Jersey Medical School–National Tuberculosis Center; man: Photo: WHO/Thierry Falise

[ภาพ​หน้า 4]

ภาพ​สลัก​จาก​เยอรมนี มี​อายุ​ตั้ง​แต่​ราว ๆ ปี 1500 แสดง​ภาพ​แพทย์​สวม​หน้ากาก​ป้องกัน​กาฬโรค. ส่วน​ที่​เป็น​ปาก​แหลม​มี​การ​ใส่​เครื่อง​หอม​ไว้

[ที่​มา​ของ​ภาพ]

Godo-Foto

[ภาพ​หน้า 4]

แบคทีเรีย​ที่​ก่อ​ให้​เกิด​กาฬโรค​ชนิด​ที่​ทำ​ให้​ต่อม​น้ำ​เหลือง​บวม

[ที่​มา​ของ​ภาพ]

© Gary Gaugler/Visuals Unlimited