ข้ามไปยังเนื้อหา

ข้ามไปยังสารบัญ

ความสำเร็จและความล้มเหลวในการต่อสู้กับโรค

ความสำเร็จและความล้มเหลวในการต่อสู้กับโรค

ความ​สำเร็จ​และ​ความ​ล้มเหลว​ใน​การ​ต่อ​สู้​กับ​โรค

วัน​ที่ 5 สิงหาคม 1942 ดร. อะเล็กซานเดอร์ เฟลมมิง ตระหนัก​ว่า​คนไข้​คน​หนึ่ง​ซึ่ง​เป็น​เพื่อน​ของ​เขา​กำลัง​จะ​เสีย​ชีวิต. ชาย​วัย 52 ปี​คน​นี้​ติด​เชื้อ​โรค​ไข​สัน​หลัง​อักเสบ และ​แม้​ว่า​เฟลมมิง​จะ​พยายาม​ทุก​วิถี​ทาง​แล้ว แต่​ตอน​นี้​เพื่อน​ของ​เขา​อยู่​ใน​ขั้น​โคม่า.

สิบ​ห้า​ปี​ก่อน​หน้า​นั้น ด้วย​ความ​บังเอิญ เฟลมมิง​ค้น​พบ​สาร​ที่​น่า​ทึ่ง​ซึ่ง​ผลิต​โดย​เชื้อ​รา​สี​เขียว​อม​ฟ้า​ชนิด​หนึ่ง. เขา​เรียก​มัน​ว่า​เพนิซิลลิน. เขา​สังเกต​ว่า​มัน​มี​ฤทธิ์​ฆ่า​แบคทีเรีย; แต่​เขา​ไม่​สามารถ​แยก​เพนิซิลลิน​บริสุทธิ์​ออก​มา​ได้ และ​เขา​ทดลอง​ใช้​มัน​เป็น​สาร​ระงับ​เชื้อ​เท่า​นั้น. อย่าง​ไร​ก็​ตาม ใน​ปี 1938 เฮาเวิร์ด ฟลอรีย์ และ​ทีม​งาน​วิจัย​ของ​เขา​ที่​มหาวิทยาลัย​ออกซฟอร์ด​พยายาม​ผลิต​ยา​เพนิซิลลิน​ให้​ได้​ปริมาณ​มาก​พอ​ที่​จะ​ทดสอบ​กับ​มนุษย์. เฟลมมิง​จึง​โทรศัพท์​ไป​หา​ฟลอรีย์ ซึ่ง​เสนอ​จะ​ส่ง​เพนิซิลลิน​ทั้ง​หมด​ที่​เขา​มี​อยู่​มา​ให้. นั่น​เป็น​โอกาส​สุด​ท้าย​ที่​เฟลมมิง​จะ​ช่วย​ชีวิต​เพื่อน​ของ​เขา.

การ​ฉีด​เพนิซิลลิน​เข้า​กล้ามเนื้อ​ปรากฏ​ว่า​ไม่​เพียง​พอ ดัง​นั้น เฟลมมิง​จึง​ฉีด​ยา​นั้น​เข้า​ไป​ใน​ไข​สัน​หลัง​ของ​เพื่อน​โดย​ตรง. เพนิซิลลิน​ทำลาย​เชื้อ​โรค​นั้น; และ​เพียง​แค่​สัปดาห์​กว่า ๆ คนไข้​ของ​เฟลมมิง​ก็​หาย​ดี​และ​ออก​จาก​โรง​พยาบาล​ได้. ยุค​ของ​ยา​ปฏิชีวนะ​ได้​เริ่ม​ขึ้น​แล้ว และ​มนุษยชาติ​ได้​เข้า​สู่​พัฒนาการ​ครั้ง​ใหม่​ใน​การ​ต่อ​สู้​กับ​โรค.

ยุค​แห่ง​ยา​ปฏิชีวนะ

เมื่อ​ยา​ปฏิชีวนะ​ปรากฏ​ขึ้น​เป็น​ครั้ง​แรก ยา​นี้​ดู​เหมือน​เป็น​ยา​วิเศษ. การ​ติด​เชื้อ​ซึ่ง​เกิด​จาก​แบคทีเรีย, เชื้อ​รา, หรือ​จุลชีพ​ชนิด​อื่น ๆ ที่​ก่อน​หน้า​นั้น​รักษา​ไม่​หาย มา​บัด​นี้​สามารถ​รักษา​ได้​แล้ว. เนื่อง​จาก​ยา​ชนิด​ใหม่​นี้ การ​เสีย​ชีวิต​จาก​โรค​เยื่อ​หุ้ม​สมอง​อักเสบ, โรค​ปอด​บวม, และ​ไข้​อี​ดำ​อี​แดง​ลด​ลง​อย่าง​น่า​ทึ่ง. การ​ติด​เชื้อ​ใน​โรง​พยาบาล​ซึ่ง​ก่อน​หน้า​นั้น​หมาย​ความ​ว่า​ต้อง​เสีย​ชีวิต​แน่ ๆ ก็​รักษา​หาย​ได้​ภาย​ใน​เวลา​ไม่​กี่​วัน.

ตั้ง​แต่​สมัย​ของ​เฟลมมิง นัก​วิจัย​ได้​คิด​ค้น​พัฒนา​ยา​ปฏิชีวนะ​เพิ่ม​ขึ้น​อีก​หลาย​สิบ​ชนิด และ​การ​ค้น​หา​ชนิด​ใหม่ ๆ ก็​ยัง​ดำเนิน​ต่อ​ไป. ใน​ระยะ 60 ปี​ที่​ผ่าน​มา ยา​ปฏิชีวนะ​กลาย​มา​เป็น​อาวุธ​ที่​ขาด​ไม่​ได้​ใน​การ​ต่อ​สู้​โรค. ถ้า​จอร์จ วอชิงตัน​มี​ชีวิต​อยู่​ใน​เวลา​นี้ ไม่​ต้อง​สงสัย​ว่า​แพทย์​คง​รักษา​อาการ​เจ็บ​คอ​ของ​เขา​ด้วย​ยา​ปฏิชีวนะ และ​เขา​คง​จะ​หาย​ดี​ภาย​ใน​หนึ่ง​สัปดาห์​หรือ​ราว ๆ นั้น. ยา​ปฏิชีวนะ​ได้​ช่วย​รักษา​พวก​เรา​แทบ​ทุก​คน​ให้​หาย​จาก​การ​ติด​เชื้อ​ชนิด​ต่าง ๆ. อย่าง​ไร​ก็​ตาม ปรากฏ​ชัด​ว่า​ยา​ปฏิชีวนะ​มี​ข้อ​เสีย​บาง​ประการ.

การ​รักษา​ด้วย​ยา​ปฏิชีวนะ​ใช้​ไม่​ได้​ผล​กับ​โรค​ที่​เกิด​จาก​ไวรัส เช่น เอดส์​หรือ​ไข้หวัด​ใหญ่. ยิ่ง​กว่า​นั้น บาง​คน​มี​อาการ​แพ้​ยา​ปฏิชีวนะ​บาง​ประเภท. และ​ยา​ปฏิชีวนะ​ที่​ออก​ฤทธิ์​ใน​วง​กว้าง​อาจ​ทำลาย​จุลชีพ​ที่​มี​ประโยชน์​ใน​ร่าง​กาย​ของ​เรา. แต่​สิ่ง​ที่​อาจ​เป็น​ปัญหา​ใหญ่​ที่​สุด​เกี่ยว​กับ​ยา​ปฏิชีวนะ​ก็​คือ​การ​ใช้​มาก​เกิน​ไป​หรือ​น้อย​เกิน​ไป.

การ​ใช้​น้อย​เกิน​ไป​คือ​เมื่อ​คนไข้​ไม่​ใช้​ยา​ปฏิชีวนะ​ให้​ครบ​กำหนด​ตาม​ที่​แพทย์​สั่ง ไม่​ว่า​จะ​เป็น​เพราะ​พวก​เขา​รู้สึก​ดี​ขึ้น​แล้ว​หรือ​เพราะ​การ​รักษา​นั้น​ใช้​เวลา​นาน​มาก. ผล​ก็​คือ ยา​ปฏิชีวนะ​อาจ​ไม่​ได้​ทำลาย​แบคทีเรีย​ที่​บุกรุก​นั้น​ทั้ง​หมด ทำ​ให้​สาย​พันธุ์​ที่​ดื้อ​ยา​รอด​ไป​ได้​และ​ขยาย​พันธุ์​เพิ่ม​ขึ้น. กรณี​เช่น​นี้​เกิด​ขึ้น​บ่อย ๆ กับ​การ​รักษา​วัณโรค.

ทั้ง​แพทย์​และ​เกษตรกร​ต่าง​ก็​ต้อง​รับผิดชอบ​ต่อ​การ​ใช้​ยา​ชนิด​ใหม่ ๆ เหล่า​นี้​มาก​เกิน​ไป. หนังสือ​มนุษย์​และ​จุลชีพ อธิบาย​ว่า “ยา​ปฏิชีวนะ​มัก​ถูก​สั่ง​จ่าย​เกิน​ความ​จำเป็น​ใน​สหรัฐ และ​ยา​เหล่า​นี้​ถูก​ใช้​อย่าง​ขาด​วิจารณญาณ​มาก​กว่า​นั้น​อีก​ใน​ประเทศ​อื่น​หลาย​ประเทศ. มี​การ​ให้​ยา​ปฏิชีวนะ​ปริมาณ​มหาศาล​แก่​ปศุสัตว์ ไม่​ใช่​เพื่อ​รักษา​โรค​แต่​เพื่อ​เร่ง​การ​เจริญ​เติบโต; นี่​เป็น​สาเหตุ​สำคัญ​ที่​ทำ​ให้​มี​การ​ดื้อ​ยา​มาก​ขึ้น.” หนังสือ​เล่ม​นั้น​เตือน​ว่า ผล​ก็​คือ “เรา​อาจ​ไม่​มี​ยา​ปฏิชีวนะ​ชนิด​ใหม่ ๆ ใช้​อีก​ต่อ​ไป.”

แต่​นอก​จาก​จะ​มี​ความ​กังวล​เรื่อง​การ​ดื้อ​ยา​ปฏิชีวนะ​แล้ว ครึ่ง​หลัง​ของ​ศตวรรษ​ที่ 20 ก็​เป็น​ช่วง​แห่ง​ชัย​ชนะ​ของ​วงการ​แพทย์. นัก​วิจัย​ทาง​การ​แพทย์​ดู​เหมือน​ได้​ค้น​พบ​ยา​ที่​สามารถ​ต่อ​สู้​กับ​ความ​เจ็บ​ป่วย​แทบ​ทุก​ชนิด. และ​วัคซีน​ต่าง ๆ ก็​เสนอ​ความ​หวัง​ที่​จะ​ป้องกัน​โรค​ด้วย​ซ้ำ.

ชัย​ชนะ​ของ​วิทยาศาสตร์​การ​แพทย์

รายงาน​อนามัย​โลก​ปี 1999 (ภาษา​อังกฤษ) กล่าว​ว่า “การ​สร้าง​ภูมิ​คุ้ม​กัน​เป็น​สิ่ง​ที่​ประสบ​ความ​สำเร็จ​สูง​สุด​ใน​ด้าน​การ​สาธารณสุข​ตลอด​ประวัติศาสตร์.” มี​การ​ช่วย​ชีวิต​คน​หลาย​ล้าน​คน​โดย​ทาง​การ​รณรงค์​ฉีด​วัคซีน​ขนาน​ใหญ่​ทั่ว​โลก. โครงการ​สร้าง​ภูมิ​คุ้ม​กัน​ทั่ว​โลก​ได้​ขจัด​ไข้​ทรพิษ—โรค​ร้าย​ซึ่ง​คร่า​ชีวิต​ผู้​คน​มาก​กว่า​สงคราม​ทั้ง​หมด​ใน​ศตวรรษ​ที่ 20 รวม​กัน—และ​การ​รณรงค์​คล้าย ๆ กัน​นี้​ก็​เกือบ​จะ​ขจัด​โรค​โปลิโอ​ได้​แล้ว. (ดู​กรอบ “ชัย​ชนะ​เหนือ​ไข้​ทรพิษ​และ​โปลิโอ.”) ใน​ปัจจุบัน เด็ก​จำนวน​มาก​ได้​รับ​วัคซีน​เพื่อ​ป้องกัน​โรค​ที่​เป็น​อันตราย​ต่อ​ชีวิต​ซึ่ง​มี​ทั่ว​ไป.

ส่วน​โรค​อื่น ๆ ได้​รับ​การ​ควบคุม​ด้วย​วิธี​ที่​ไม่​โดด​เด่น​ขนาด​นี้. โรค​ที่​มา​กับ​น้ำ​เช่น อหิวาตกโรค แทบ​ไม่​เป็น​ปัญหา​เมื่อ​มี​ระบบ​สุขาภิบาล​อย่าง​เพียง​พอ​และ​มี​แหล่ง​น้ำ​ที่​ปลอด​ภัย. ใน​หลาย​ดินแดน การ​มี​โอกาส​พบ​แพทย์​และ​ได้​รับ​การ​รักษา​ใน​สถาน​พยาบาล​เพิ่ม​ขึ้น​ย่อม​ทำ​ให้​โรค​ส่วน​ใหญ่​ได้​รับ​การ​วินิจฉัย​และ​รักษา​ก่อน​ที่​จะ​ลุก​ลาม​จน​ถึง​ขั้น​เสีย​ชีวิต. อาหาร​และ​สภาพ​ความ​เป็น​อยู่​ที่​ดี​ขึ้น รวม​ทั้ง​การ​บังคับ​ใช้​กฎหมาย​เกี่ยว​กับ​การ​จัด​การ​และ​การ​เก็บ​อาหาร​อย่าง​ถูก​วิธี ล้วน​ช่วย​ปรับ​ปรุง​สุขภาพ​ของ​ประชาชน​ด้วย.

เมื่อ​นัก​วิทยาศาสตร์​ค้น​พบ​สาเหตุ​ของ​โรค​ติด​เชื้อ​แล้ว หน่วย​งาน​ทาง​สุขภาพ​ก็​สามารถ​ใช้​มาตรการ​ที่​นำ​ไป​ปฏิบัติ​ได้​เพื่อ​หยุด​ยั้ง​โรค​ที่​กำลัง​ระบาด​อยู่. ขอ​พิจารณา​สัก​ตัว​อย่าง​หนึ่ง. การ​ระบาด​ของ​กาฬโรค​ชนิด​ที่​ทำ​ให้​ต่อม​น้ำ​เหลือง​บวม​ใน​เมือง​ซานฟรานซิสโก​เมื่อ​ปี 1907 ทำ​ให้​มี​เพียง​ไม่​กี่​คน​ที่​เสีย​ชีวิต​เพราะ​เมือง​นั้น​เริ่ม​รณรงค์​ให้​มี​การ​กำจัด​หนู​ซึ่ง​มี​หมัด​ที่​เป็น​พาหะ​นำ​โรค​โดย​ทันที. ใน​อีก​ด้าน​หนึ่ง เริ่ม​ตั้ง​แต่​ปี 1896 โรค​เดียว​กัน​นี้​ทำ​ให้​สิบ​ล้าน​คน​ใน​อินเดีย​เสีย​ชีวิต​ภาย​ใน 12 ปี​เนื่อง​จาก​สาเหตุ​หลัก​ของ​โรค​ยัง​ไม่​เป็น​ที่​ทราบ​กัน.

ความ​ล้มเหลว​ใน​การ​ต่อ​สู้​กับ​โรค

เห็น​ได้​ชัด​ว่า เรา​ได้​ชัย​ชนะ​ใน​การ​สู้​รบ​ครั้ง​สำคัญ​บาง​ครั้ง. แต่​ชัย​ชนะ​ด้าน​สาธารณสุข​บาง​อย่าง​ก็​ถูก​จำกัด​อยู่​เฉพาะ​บาง​ประเทศ​ใน​โลก​ที่​ร่ำรวย​กว่า. โรค​ที่​รักษา​ได้​ยัง​คง​ทำ​ให้​ผู้​คน​ล้ม​ตาย​หลาย​ล้าน​คน​เพียง​เพราะ​ไม่​มี​เงิน​ทุน​เพียง​พอ. ใน​ประเทศ​กำลัง​พัฒนา ผู้​คน​มาก​มาย​ยัง​คง​ไม่​มี​ระบบ​สุขาภิบาล, การ​ดู​แล​สุขภาพ, และ​น้ำ​ที่​ปลอด​ภัย​อย่าง​เพียง​พอ. การ​เอา​ใจ​ใส่​ความ​จำเป็น​พื้น​ฐาน​เหล่า​นี้​กลาย​เป็น​เรื่อง​ที่​ทำ​ยาก​ขึ้น​เรื่อย ๆ เนื่อง​จาก​การ​อพยพ​ขนาน​ใหญ่​ของ​ผู้​คน​จาก​ชนบท​สู่​เมือง​ใหญ่ ๆ ใน​ประเทศ​กำลัง​พัฒนา. จาก​ปัจจัย​เหล่า​นี้ คน​ยาก​จน​ใน​โลก​จึง​ประสบ​กับ​สิ่ง​ที่​องค์การ​อนามัย​โลก​เรียก​ว่า “การ​แบก​ภาระ​เรื่อง​โรค​ใน​สัดส่วน​ที่​สูง​กว่า​ปกติ.”

ความ​เห็น​แก่​ตัว​อย่าง​ที่​ขาด​วิสัย​ทัศน์​เป็น​สาเหตุ​สำคัญ​ของ​ความ​ไม่​สมดุล​นี้​ใน​เรื่อง​สุขภาพ. หนังสือ​มนุษย์​และ​จุลชีพ กล่าว​ว่า “โรค​ติด​เชื้อ​ที่​เลว​ร้าย​ที่​สุด​ของ​โลก​บาง​ชนิด​ดู​เหมือน​เกิด​ขึ้น​ใน​ที่​ห่าง​ไกล. โรค​เหล่า​นี้​บาง​โรค​จะ​พบ​ได้​เฉพาะ​หรือ​เป็น​ส่วน​ใหญ่​ใน​ภูมิภาค​ที่​ยาก​จน​ใน​เขต​ร้อน​และ​กึ่ง​เขต​ร้อน.” เนื่อง​จาก​ประเทศ​ที่​พัฒนา​แล้ว​ซึ่ง​เจริญ​มั่งคั่ง​รวม​ทั้ง​บริษัท​ผลิต​ยา​อาจ​ไม่​ได้​รับ​ผล​กำไร​โดย​ตรง พวก​เขา​จึง​ไม่​ค่อย​เต็ม​ใจ​แบ่ง​ปัน​เงิน​ทุน​เพื่อ​บำบัด​รักษา​โรค​เหล่า​นี้.

พฤติกรรม​ของ​มนุษย์​ที่​ไม่​สำนึก​ถึง​ความ​รับผิดชอบ​เป็น​ปัจจัย​หนึ่ง​ด้วย​ที่​ทำ​ให้​โรค​ร้าย​แพร่​ระบาด​ออก​ไป. ไม่​มี​ตัว​อย่าง​ใด​ที่​จะ​แสดง​ให้​เห็น​ความ​เป็น​จริง​อัน​โหด​ร้าย​นี้​ได้​ดี​ไป​กว่า​กรณี​ของ​ไวรัส​เอดส์ ซึ่ง​แพร่​จาก​คน​หนึ่ง​ไป​ยัง​อีก​คน​หนึ่ง​ผ่าน​ทาง​ของ​เหลว​ใน​ร่าง​กาย. ภาย​ใน​ไม่​กี่​ปี โรค​ระบาด​นี้​ได้​แพร่​ไป​ทั่ว​โลก. (ดู​กรอบ “เอดส์—โรค​ร้าย​แห่ง​ยุค​ของ​เรา.”) นัก​วิทยา​การ​ระบาด​ชื่อ​โจ แมกคอร์มิก ยืน​ยัน​ว่า “มนุษย์​นั่น​แหละ​ที่​ทำ​ตัว​เอง. และ​นั่น​ไม่​ใช่​การ​พูด​ถึง​หลัก​ศีลธรรม แต่​เป็น​ข้อ​เท็จ​จริง​โดย​แท้.”

มนุษย์​ช่วย​ให้​ไวรัส​เอดส์​แพร่​ไป​อย่าง​ไม่​รู้​ตัว​โดย​วิธี​ใด? หนังสือ​โรค​ระบาด​ที่​กำลัง​คืบ​ใกล้​เข้า​มา (ภาษา​อังกฤษ) กล่าว​ถึง​ปัจจัย​ต่าง ๆ ดัง​ต่อ​ไป​นี้: การ​เปลี่ยน​แปลง​ทาง​สังคม—โดย​เฉพาะ​อย่าง​ยิ่ง​พฤติกรรม​การ​มี​คู่​นอน​หลาย​คน—นำ​ไป​สู่​การ​ระบาด​ของ​โรค​ติด​ต่อ​ทาง​เพศ​สัมพันธ์ ซึ่ง​ทำ​ให้​ง่าย​ขึ้น​มาก​ที่​จะ​ติด​เชื้อ​ไวรัส​และ​ง่าย​ที่​ผู้​ติด​เชื้อ​คน​หนึ่ง​จะ​ทำ​ให้​คน​อื่น​อีก​หลาย​คน​ติด​ด้วย. การ​แพร่​หลาย​ของ​การ​ใช้​เข็ม​ฉีด​ยา​ใช้​แล้ว​ที่​ติด​เชื้อ​ใน​การ​ฉีด​ยา​ทาง​การ​แพทย์​ใน​ประเทศ​กำลัง​พัฒนา​หรือ​ใน​การ​เสพ​ยา​เสพ​ติด​ก็​ก่อ​ผล​คล้าย ๆ กัน. อุตสาหกรรม​เลือด​ทั่ว​โลก​ซึ่ง​มี​มูลค่า​นับ​พัน​ล้าน​ดอลลาร์​ก็​ทำ​ให้​ไวรัส​เอดส์​สามารถ​ผ่าน​จาก​ผู้​บริจาค​เลือด​คน​หนึ่ง​ไป​สู่​ผู้​รับ​เลือด​หลาย​สิบ​คน​เช่น​กัน.

ดัง​ที่​กล่าว​ไป​ก่อน​หน้า​นี้ การ​ใช้​ยา​ปฏิชีวนะ​มาก​เกิน​ไป​หรือ​น้อย​เกิน​ไป​มี​ส่วน​ทำ​ให้​เกิด​จุลชีพ​ที่​ดื้อ​ยา. ปัญหา​นี้​เป็น​เรื่อง​ร้ายแรง​และ​กำลัง​เลว​ร้าย​ลง​เรื่อย ๆ. แบคทีเรีย​สแตฟีโลคอกคัส​ซึ่ง​มัก​ก่อ​ให้​เกิด​การ​ติด​เชื้อ​ที่​บาดแผล เคย​กำจัด​ได้​ง่าย ๆ โดย​ยา​ที่​ได้​มา​จาก​เพนิซิลลิน. แต่​ปัจจุบัน​ยา​ปฏิชีวนะ​ตัว​ดั้งเดิม​นี้​มัก​ใช้​ไม่​ได้​ผล. ดัง​นั้น แพทย์​จึง​ต้อง​ใช้​ยา​ปฏิชีวนะ​ชนิด​ใหม่ ๆ ที่​มี​ราคา​แพง ซึ่ง​โรง​พยาบาล​ใน​ประเทศ​กำลัง​พัฒนา​ส่วน​ใหญ่​ซื้อ​หา​ไม่​ได้. แม้​แต่​ยา​ปฏิชีวนะ​ชนิด​ใหม่​ล่า​สุด​ก็​อาจ​ปรากฏ​ว่า​ไม่​สามารถ​สู้​กับ​จุลชีพ​บาง​ชนิด​ได้ ทำ​ให้​การ​ติด​เชื้อ​ใน​โรง​พยาบาล​มี​มาก​ขึ้น​และ​เป็น​อันตราย​ถึง​ตาย​มาก​ขึ้น. นาย​แพทย์​ริชาร์ด เคราเซ อดีต​ผู้​อำนวย​การ​สถาบัน​ภูมิ​แพ้​และ​โรค​ติด​เชื้อ​แห่ง​ชาติ​ของ​สหรัฐ พรรณนา​สถานการณ์​ใน​ปัจจุบัน​อย่าง​ตรง​ไป​ตรง​มา​ว่า​เป็น “การ​ระบาด​ของ​จุลชีพ​ที่​ดื้อ​ยา.”

‘ปัจจุบัน​นี้​เรา​ทำ​ได้​ดี​กว่า​ไหม?’

ปัจจุบัน ใน​ตอน​ต้น​ศตวรรษ​ที่ 21 เป็น​ที่​ชัดเจน​ว่า​การ​คุกคาม​จาก​โรค​ภัย​ยัง​ไม่​จบ​สิ้น. การ​แพร่​ระบาด​อย่าง​ไม่​หยุด​ยั้ง​ของ​โรค​เอดส์, การ​ปรากฏ​ของ​เชื้อ​โรค​ที่​ดื้อ​ยา, และ​การ​กลับ​มา​ของ​ฆาตกร​ที่​เก่า​แก่​อย่าง​เช่น วัณโรค​และ​มาลาเรีย แสดง​ว่า​เรา​ยัง​ไม่​ได้​ชัย​ชนะ​ใน​สงคราม​ที่​ต่อ​สู้​กับ​โรค.

โจชัว เลเดอร์เบิร์ก ผู้​ได้​รับ​รางวัล​โนเบล​ถาม​ว่า “ปัจจุบัน​นี้​เรา​ทำ​ได้​ดี​กว่า​ศตวรรษ​ที่​แล้ว​ไหม?” เขา​กล่าว​ว่า “ส่วน​ใหญ่​แล้ว เรา​ทำ​ได้​แย่​กว่า. ที่​ผ่าน​มา​เรา​ไม่​ได้​ใส่​ใจ​พวก​จุลชีพ และ​นั่น​เป็น​เรื่อง​ที่​เกิด​ขึ้น​ซ้ำ ๆ และ​กลับ​มา​หลอก​หลอน​เรา​อีก.” ความ​พยายาม​อัน​แน่วแน่​ของ​วิทยาศาสตร์​การ​แพทย์​และ​ทุก​ชาติ​ทั่ว​โลก​จะ​เอา​ชนะ​อุปสรรค​ที่​มี​ใน​ปัจจุบัน​นี้​ได้​ไหม? ใน​ที่​สุด​แล้ว โรค​ติด​เชื้อ​ชนิด​หลัก ๆ จะ​ถูก​กำจัด​ไป​เหมือน​กับ​ไข้​ทรพิษ​ไหม? บทความ​สุด​ท้าย​ของ​เรา​จะ​พิจารณา​คำ​ถาม​เหล่า​นี้.

[กรอบ/ภาพ​หน้า 8]

ชัย​ชนะ​เหนือ​ไข้​ทรพิษ​และ​โปลิโอ

ช่วง​ปลาย​เดือน​ตุลาคม 1977 องค์การ​อนามัย​โลก​พบ​ผู้​ป่วย​โรค​ไข้​ทรพิษ​ที่​เกิด​ขึ้น​เอง​ตาม​ธรรมชาติ​ราย​สุด​ท้าย​เท่า​ที่​รู้​จัก​กัน. อาลี เมา มาลิน คน​ครัว​ประจำ​โรง​พยาบาล​ซึ่ง​อาศัย​อยู่​ที่​โซมาเลีย ไม่​ได้​เป็น​โรค​นี้​ขั้น​รุนแรง​และ​เขา​ก็​หาย​ภาย​ใน​เวลา​ไม่​กี่​สัปดาห์. ทุก​คน​ที่​ติด​ต่อ​ใกล้​ชิด​กับ​เขา​ก็​ได้​รับ​วัคซีน.

เป็น​เวลา​สอง​ปี​อัน​ยาว​นาน​ที่​เหล่า​แพทย์​รอ​คอย​อย่าง​กระวนกระวาย. มี​การ​เสนอ​รางวัล 1,000 ดอลลาร์​ให้​กับ​ใคร​ก็​ตาม​ที่​สามารถ​รายงาน​เกี่ยว​กับ “ผู้​ป่วย​ไข้​ทรพิษ​ที่​กำลัง​แสดง​อาการ” ราย​อื่น​ที่​ได้​รับ​การ​ยืน​ยัน. ไม่​มี​ใคร​ได้​รับ​รางวัล​นั้น และ​ใน​วัน​ที่ 8 พฤษภาคม 1980 องค์การ​อนามัย​โลก​ก็​ได้​ประกาศ​อย่าง​เป็น​ทาง​การ​ว่า “โลก​และ​ทุก​คน​ใน​โลก​ปลอด​จาก​ไข้​ทรพิษ​แล้ว.” เพียง​สิบ​ปี​ก่อน​หน้า​นั้น ไข้​ทรพิษ​ทำ​ให้​มี​ผู้​เสีย​ชีวิต​ปี​ละ​ประมาณ​สอง​ล้าน​คน. เป็น​ครั้ง​แรก​ใน​ประวัติศาสตร์​ที่​โรค​ติด​เชื้อ​ชนิด​สำคัญ​ถูก​ขจัด​ออก​ไป. *

โปลิโอ โรค​ที่​ทำ​ให้​พิการ​ซึ่ง​เกิด​กับ​เด็ก ก็​มี​หวัง​ว่า​จะ​ถูก​ขจัด​ให้​หมด​ไป​ได้​เช่น​กัน. ใน​ปี 1955 โจนาส ซอล์ก ผลิต​วัคซีน​ที่​ป้องกัน​โรค​โปลิโอ และ​การ​รณรงค์​ฉีด​วัคซีน​ป้องกัน​โรค​โปลิโอ​ก็​เริ่ม​ขึ้น​ใน​สหรัฐ​และ​ประเทศ​อื่น. ต่อ​มา​มี​การ​พัฒนา​วัคซีน​ที่​ให้​ทาง​ปาก. ใน​ปี 1988 องค์การ​อนามัย​โลก​เริ่ม​ต้น​โครงการ​ขจัด​โรค​โปลิโอ​ให้​หมด​สิ้น​ไป.

แพทย์​หญิง​โกร ฮาร์เลม บรันด์ลันด์ ขณะ​ดำรง​ตำแหน่ง​ผู้​อำนวย​การ​องค์การ​อนามัย​โลก​กล่าว​ว่า “เมื่อ​เรา​เริ่ม​ความ​พยายาม​ที่​จะ​ขจัด​โรค​โปลิโอ​ใน​ปี 1988 โรค​นี้​ทำ​ให้​เด็ก​เป็น​อัมพาต​มาก​กว่า 1,000 คน​ใน​แต่​ละ​วัน. ใน​ปี 2001 มี​น้อย​กว่า 1,000 คน​มาก​นัก​ตลอด​ทั้ง​ปี.” ปัจจุบัน มี​น้อย​กว่า​สิบ​ประเทศ​ที่​ยัง​มี​โรค​โปลิโอ​อยู่ แต่​ก็​ยัง​จำเป็น​ต้อง​มี​เงิน​ทุน​มาก​กว่า​นี้​เพื่อ​ช่วย​ประเทศ​เหล่า​นั้น​ขจัด​โรค​โปลิโอ​ให้​หมด​ไป​ใน​ที่​สุด.

[เชิงอรรถ]

^ วรรค 28 ไข้​ทรพิษ​เป็น​โรค​ที่​เหมาะ​ที่​จะ​ต่อ​สู้​ด้วย​การ​รณรงค์​ให้​ฉีด​วัคซีน​ใน​ระดับ​นานา​ชาติ เพราะ​โรค​นี้​ไม่​เหมือน​โรค​อื่น ๆ ซึ่ง​แพร่​ระบาด​โดย​ทาง​ตัว​นำ​โรค​ที่​ก่อ​ปัญหา​เช่น หนู​และ​แมลง ไวรัส​ไข้​ทรพิษ​ต้อง​อาศัย​ใน​ร่าง​กาย​มนุษย์​เพื่อ​จะ​อยู่​รอด​ได้.

[รูปภาพ]

เด็ก​ชาย​ชาว​เอธิโอเปีย​ได้​รับ​วัคซีน​โปลิโอ​ทาง​ปาก

[ที่​มา​ของ​ภาพ]

© WHO/P. Virot

[กรอบ​หน้า 10]

เอดส์—โรค​ร้าย​แห่ง​ยุค​ของ​เรา

โรค​เอดส์​ได้​ปรากฏ​ขึ้น​เป็น​ภัย​คุกคาม​โลก​ตัว​ใหม่. ประมาณ 20 ปี​หลัง​จาก​การ​ค้น​พบ​โรค​นี้ มี​มาก​กว่า 60 ล้าน​คน​ที่​ติด​เชื้อ​แล้ว. และ​หน่วย​งาน​ทาง​ด้าน​สุขภาพ​เตือน​ว่า​การ​ระบาด​ของ​โรค​เอดส์​ยัง​คง​อยู่​ใน “ระยะ​เริ่ม​ต้น.” อัตรา​การ​ติด​เชื้อ “กำลัง​เพิ่ม​ขึ้น​เรื่อย ๆ มาก​กว่า​ที่​เมื่อ​ก่อน​เคย​เชื่อ​กัน​ว่า​จะ​เป็น​ไป​ได้” และ​ผล​กระทบ​ที่​เกิด​ขึ้น​กับ​พื้น​ที่​ที่​ได้​รับ​ความ​เสียหาย​มาก​ที่​สุด​ใน​โลก​คือ​ความ​หายนะ.

รายงาน​ฉบับ​หนึ่ง​ของ​องค์การ​สหประชาชาติ​อธิบาย​ว่า “ผู้​คน​ส่วน​ใหญ่​ที่​ติด​เชื้อ​เอชไอวี/เอดส์​ทั่ว​โลก​คือ​ผู้​ที่​อยู่​ใน​วัย​ทำ​งาน​ที่​ยัง​หนุ่มแน่น. ผล​ก็​คือ เชื่อ​กัน​ว่า​หลาย​ประเทศ​ใน​แอฟริกา​ทาง​ใต้​จะ​สูญ​เสีย​แรงงาน​ไป​ประมาณ 10 ถึง 20 เปอร์เซ็นต์​พอ​ถึง​ปี 2005. รายงาน​นั้น​กล่าว​ด้วย​ว่า “อายุ​ขัย​เฉลี่ย​ใน​แถบ​ใต้​ทะเล​ทราย​สะฮารา​ใน​ปัจจุบัน​คือ 47 ปี. ถ้า​ไม่​มี​โรค​เอดส์ อายุ​ขัย​เฉลี่ย​จะ​เป็น 62 ปี.”

จน​ถึง​บัด​นี้ ความ​พยายาม​ที่​จะ​ค้น​พบ​วัคซีน​ก็​ยัง​ไม่​มี​ที​ท่า​ว่า​จะ​ประสบ​ความ​สำเร็จ และ​มี​เพียง 4 เปอร์เซ็นต์​ของ​ผู้​ที่​เป็น​เอดส์​จำนวน​หก​ล้าน​คน​ใน​ประเทศ​กำลัง​พัฒนา​ที่​ได้​รับ​การ​บำบัด​ด้วย​ยา. ใน​ปัจจุบัน ยัง​ไม่​มี​วิธี​รักษา​โรค​เอดส์​ให้​หาย และ​แพทย์​กลัว​ว่า​ผู้​คน​ส่วน​ใหญ่​ที่​ได้​รับ​เชื้อ​จะ​เป็น​โรค​นี้​ใน​ที่​สุด.

[รูปภาพ]

เซลล์​ลิมโฟไซต์ ที ซึ่ง​ติด​เชื้อ​ไวรัส​เอชไอวี

[ที่​มา​ของ​ภาพ]

Godo-Foto

[ภาพ​หน้า 7]

พนักงาน​ใน​ห้อง​ทดลอง​ตรวจ​ดู​เชื้อ​ไวรัส​สาย​พันธุ์​ที่​จัด​การ​ได้​ยาก

[ที่​มา​ของ​ภาพ]

CDC/Anthony Sanchez