ข้ามไปยังเนื้อหา

ข้ามไปยังสารบัญ

ชีวิตของคุณอาจขึ้นอยู่กับยางรถยนต์!

ชีวิตของคุณอาจขึ้นอยู่กับยางรถยนต์!

ชีวิต​ของ​คุณ​อาจ​ขึ้น​อยู่​กับ​ยาง​รถยนต์!

ลอง​นึก​ภาพ​ว่า​ตัว​คุณ​ถูก​รัด​ติด​อยู่​ใน​โครง​เหล็ก​เชื่อม​ซึ่ง​มี​กระจก​ติด​อยู่ ทั้ง​ยัง​มี​น้ำ​กรด​กับ​ของ​เหลว​ไว​ไฟ​อยู่​ใน​ถัง​ใกล้ ๆ คุณ แล้ว​ยก​โครง​สร้าง​ที่​อาจ​เป็น​อันตราย​ถึง​ตาย​นี้​ขึ้น​จาก​พื้น​ไม่​กี่​เซนติเมตร​และ​ทำ​ให้​มัน​เคลื่อน​ที่​ไป​ด้วย​ความ​เร็ว​ราว ๆ 30 เมตร​ต่อ​วินาที. สุด​ท้าย นำ​เครื่องจักร​กล​ของ​คุณ​ไป​วาง​ไว้​กับ​เครื่องจักร​กล​ที่​มี​ลักษณะ​เดียว​กัน​และ​ให้​พุ่ง​แซง​กัน​ขณะ​ที่​มี​เครื่อง​อื่น ๆ พุ่ง​ผ่าน​คุณ​ไป​ใน​ทิศ​ทาง​ตรง​ข้าม!

ที่​แท้​แล้ว นั่น​เป็น​สิ่ง​ที่​คุณ​ทำ​ทุก​ครั้ง​ที่​เข้า​ไป​นั่ง​ใน​รถยนต์​และ​ขับ​ออก​ไป​ตาม​ทาง​หลวง. อะไร​ช่วย​ให้​คุณ​ควบคุม​รถ​ได้​และ​รู้สึก​มั่นคง​ปลอด​ภัย​เมื่อ​ขับ​รถ? ส่วน​ใหญ่​แล้ว สิ่ง​นี้​ขึ้น​อยู่​กับ​ยาง​รถ​ของ​คุณ.

หน้า​ที่​ของ​ยาง​รถ

ยาง​รถ​ทำ​หน้า​ที่​สำคัญ​หลาย​อย่าง. ยาง​ไม่​เพียง​รอง​รับ​น้ำหนัก​รถ แต่​ยัง​ช่วย​กัน​กระแทก​เมื่อ​ผ่าน​เนิน​และ​หลุม​อีก​ทั้ง​ความ​ผิด​ปกติ​อื่น ๆ บน​ถนน​อีก​ด้วย. ที่​สำคัญ​ยิ่ง​กว่า​นั้น ยาง​รถ​ของ​คุณ​ยัง​ช่วย​ให้​เกิด​แรง​ฉุด​ลาก​ซึ่ง​คุณ​จำเป็น​ต้อง​มี​เพื่อ​จะ​เร่ง​ความ​เร็ว, เลี้ยว, เบรก, และ​ให้​ความ​มั่นคง​ใน​การ​บังคับ​ทิศ​ทาง​ใน​สภาพ​ถนน​ต่าง ๆ. กระนั้น มี​เพียง​พื้น​ผิว​ยาง​ส่วน​เล็ก ๆ เท่า​นั้น—ขนาด​พอ ๆ กับ​ไปรษณียบัตร—ที่​สัมผัส​กับ​พื้น​ถนน​ใน​เวลา​ใด​เวลา​หนึ่ง.

เมื่อ​คำนึง​ถึง​ความ​สำคัญ​ของ​ยาง​รถ คุณ​จะ​ทำ​อะไร​ได้​บ้าง​เพื่อ​ดู​แล​รักษา​ยาง​ให้​ทำ​งาน​ได้​อย่าง​ปลอด​ภัย​และ​มี​ประสิทธิภาพ? และ​เมื่อ​ถึง​เวลา คุณ​จะ​เลือก​ซื้อ​ยาง​อย่าง​ไร​ให้​เหมาะ​กับ​รถ​ของ​คุณ? ก่อน​จะ​ตอบ​คำ​ถาม​เหล่า​นี้ ให้​เรา​พิจารณา​สั้น ๆ ถึง​ประวัติ​ความ​เป็น​มา​ของ​ยาง​รถ.

ผู้​บุกเบิก​เรื่อง​ยาง​รุ่น​แรก ๆ

แม้​ว่า​มี​การ​ใช้​ล้อ​มา​นาน​นับ​พัน​ปี​แล้ว แต่​แนว​คิด​เรื่อง​การ​ติด​ยาง​ไว้​ที่​ขอบ​ด้าน​นอก​ของ​ล้อ​รถ​นั้น​เป็น​พัฒนาการ​ที่​เพิ่ง​เกิด​ขึ้น​เมื่อ​ไม่​นาน​มา​นี้. มี​การ​ติด​ยาง​ธรรมชาติ​เข้า​กับ​ล้อ​ไม้​หรือ​ล้อ​เหล็ก​เป็น​ครั้ง​แรก​ใน​ช่วง​ต้น​ศตวรรษ​ที่ 19. แต่​ยาง​นั้น​สึก​อย่าง​รวด​เร็ว และ​อนาคต​ของ​ล้อ​หุ้ม​ยาง​จึง​ดู​มืดมน จน​กระทั่ง​มา​ถึง​ยุค​ของ​ชาลส์ กู๊ดเยียร์ นัก​ประดิษฐ์​ที่​มุ่ง​มั่น​จาก​รัฐ​คอนเนตทิคัต สหรัฐ​อเมริกา. ใน​ปี 1839 กู๊ดเยียร์​ค้น​พบ​กระบวนการ​ที่​รู้​จัก​กัน​ว่า​วัลคะไนส์ ซึ่ง​ก็​คือ​การ​อบ​ยาง​กับ​กำมะถัน​ด้วย​ความ​ร้อน​และ​ความ​ดัน. กระบวนการ​นี้​ทำ​ให้​การ​หล่อ​ยาง​ง่าย​ขึ้น​มาก​และ​ยัง​ทำ​ให้​ยาง​ทน​ต่อ​การ​สึก​หรอ​ได้​ดี​ขึ้น​ด้วย. ยาง​ตัน​จึง​กลาย​เป็น​ที่​นิยม​กัน​มาก​ขึ้น แต่​ยาง​ชนิด​นี้​ทำ​ให้​สะเทือน​เวลา​ขับ​ขี่.

ใน​ปี 1845 วิศวกร​ชาว​สกอตแลนด์​ชื่อ​โรเบิร์ต ดับเบิลยู. ทอมสัน ได้​รับ​สิทธิ​บัตร​สำหรับ​ยาง​สูบ​ลม​เป็น​ราย​แรก. อย่าง​ไร​ก็​ตาม ยาง​สูบ​ลม​ไม่​ประสบ​ความ​สำเร็จ​ทาง​การ​ค้า​จน​กระทั่ง​ชาว​สกอตต์​อีก​คน​หนึ่ง​ชื่อ​จอห์น บอยด์ ดันลอป ได้​พยายาม​ปรับ​ปรุง​จักรยาน​ของ​ลูก​ชาย​เพื่อ​จะ​ขับ​ขี่​ได้​นุ่มนวล​ขึ้น. ดันลอป​จด​สิทธิ​บัตร​ยาง​ชนิด​ใหม่​นี้​ใน​ปี 1888 และ​ตั้ง​บริษัท​ของ​เขา​เอง. อย่าง​ไร​ก็​ตาม ยาง​สูบ​ลม​ยัง​คง​ต้อง​เอา​ชนะ​อุปสรรค​ที่​สำคัญ​บาง​อย่าง.

วัน​หนึ่ง​ใน​ปี 1891 ยาง​ของ​นัก​ปั่น​จักรยาน​ชาว​ฝรั่งเศส​คน​หนึ่ง​เกิด​แบน. เขา​พยายาม​ซ่อม​แต่​ไม่​สำเร็จ​เพราะ​ยาง​นั้น​ติด​กับ​ล้อ​จักรยาน​อย่าง​ที่​ถอด​ออก​ไม่​ได้. เขา​ไป​ขอ​ความ​ช่วยเหลือ​จาก​เพื่อน​ชาว​ฝรั่งเศส​ชื่อ​เอดัวร์ มิชลิน ซึ่ง​เป็น​ที่​รู้​จัก​กัน​เนื่อง​จาก​ผล​งาน​ของ​เขา​เกี่ยว​กับ​ยาง​วัลคะไนส์. มิชลิน​ใช้​เวลา​เก้า​ชั่วโมง​ใน​การ​ซ่อม​ยาง​เส้น​นั้น. ประสบการณ์​ครั้ง​นั้น​เป็น​แรง​บันดาล​ใจ​ให้​เขา​พัฒนา​ยาง​สูบ​ลม​ซึ่ง​สามารถ​ถอด​ออก​จาก​ล้อ​เพื่อ​นำ​มา​ซ่อม​ได้​ง่าย.

ยาง​ของ​มิชลิน​ประสบ​ความ​สำเร็จ​มาก จน​ใน​ปี​ถัด​มา​นัก​ปั่น​จักรยาน​ที่​มี​ความ​สุข​ราว 10,000 คน​ได้​ใช้​ยาง​ชนิด​นี้. จาก​นั้น​ไม่​นาน มี​การ​ใส่​ยาง​สูบ​ลม​ให้​รถ​ม้า​ใน​กรุง​ปารีส ซึ่ง​ทำ​ให้​ผู้​โดยสาร​รถ​ม้า​ชาว​ฝรั่งเศส​รู้สึก​ยินดี​มาก. เพื่อ​สาธิต​ว่า​ยาง​สูบ​ลม​สามารถ​ใช้​กับ​รถยนต์​ได้ ใน​ปี 1895 เอดัวร์​กับ​อองเดร น้อง​ชาย ได้​ใส่​ยาง​สูบ​ลม​ให้​รถ​แข่ง แต่​รถ​คัน​นั้น​เข้า​เส้น​ชัย​เป็น​คัน​สุด​ท้าย. ถึง​กระนั้น ผู้​คน​ก็​รู้สึก​ทึ่ง​มาก​กับ​ยาง​ที่​แปลก​ประหลาด​นี้​ถึง​ขนาด​ที่​พวก​เขา​พยายาม​ผ่า​ดู​ว่า​พี่​น้อง​มิชลิน​ซ่อน​อะไร​ไว้​ใน​นั้น!

ใน​ทศวรรษ 1930 และ 1940 วัสดุ​ที่​ทนทาน​ชนิด​ใหม่ เช่น เรยอน, ไนลอน, และ​โพลี​เอสเตอร์ ได้​เข้า​มา​แทน​ที่​วัสดุ​ซึ่ง​บอบบาง​กว่า​เช่น ฝ้าย​และ​ยาง​ธรรมชาติ. หลัง​สงคราม​โลก​ครั้ง​ที่ 2 มี​การ​วาง​รากฐาน​สำหรับ​การ​พัฒนา​ยาง​รถ​ที่​สามารถ​กัก​อากาศ​ไว้​ระหว่าง​ยาง​กับ​กระทะ​ล้อ​โดย​ตรง จึง​ไม่​จำเป็น​ต้อง​ใช้​ยาง​ใน​เพื่อ​กัก​อากาศ​อีก​ต่อ​ไป. ต่อ​มา มี​การ​พัฒนา​เพิ่ม​ขึ้น​อีก.

ปัจจุบัน มี​การ​ใช้​วัตถุ​ดิบ​มาก​กว่า 200 ชนิด​ใน​การ​ผลิต​ยาง​รถยนต์. และ​โดย​อาศัย​เทคโนโลยี​สมัย​ใหม่ ยาง​รถ​บาง​ชนิด​มี​อายุ​การ​ใช้​งาน​ถึง 130,000 กิโลเมตร​หรือ​มาก​กว่า​นั้น ส่วน​ยาง​บาง​ชนิด​สามารถ​ทน​ต่อ​การ​วิ่ง​ด้วย​ความ​เร็ว​หลาย​ร้อย​กิโลเมตร​ต่อ​ชั่วโมง​ของ​รถ​แข่ง​ได้. ขณะ​เดียว​กัน ยาง​รถยนต์​ก็​มี​ราคา​ถูก​ลง​จน​ผู้​บริโภค​ทั่ว​ไป​สามารถ​ซื้อ​หา​มา​ใช้​ได้​ง่าย​ขึ้น.

การ​เลือก​ยาง​รถ

ถ้า​คุณ​เป็น​เจ้าของ​รถยนต์ คุณ​อาจ​เผชิญ​กับ​งาน​ที่​น่า​หวาด​หวั่น​ใน​การ​เลือก​ยาง​ใหม่. คุณ​จะ​รู้​ได้​อย่าง​ไร​ว่า​เมื่อ​ไร​ควร​เปลี่ยน​ยาง? โดย​ตรวจ​ดู​ยาง​รถ​เป็น​ประจำ​เพื่อ​สังเกต​ดู​อาการ​สึก​หรอ​หรือ​ความ​เสียหาย​ที่​เห็น​ได้​ชัด. * ผู้​ผลิต​ยาง​ทำ​ตัว​ชี้​บอก​ยาง​สึก​ไว้​เพื่อ​บอก​ว่า​ยาง​ของ​คุณ​หมด​อายุ​เมื่อ​ไร. ตัว​ชี้​บอก​ยาง​สึก​คือ​แท่ง​ยาง​ที่​พาด​ขวาง​หน้า​ยาง. นับ​ว่า​ดี​ด้วย​ที่​จะ​ตรวจ​ดู​ว่า​ดอก​ยาง​แยก​ตัว, มี​ลวด​โผล่​ออก​มา, แก้ม​ยาง​บวม, หรือ​มี​ความ​ผิด​ปกติ​อื่น ๆ หรือ​ไม่. ถ้า​คุณ​พบ​ความ​ผิด​ปกติ​อย่าง​ใด​อย่าง​หนึ่ง​ดัง​ที่​กล่าว​ไป คุณ​ไม่​ควร​ใช้​รถ​คัน​นั้น​จน​กว่า​จะ​ซ่อม​หรือ​เปลี่ยน​ยาง. ถ้า​ยาง​ที่​คุณ​ซื้อ​เป็น​ยาง​ใหม่ ผู้​ขาย​อาจ​เปลี่ยน​ยาง​แทน​เส้น​ที่​เสียหาย​โดย​ลด​ราคา​ให้​ถ้า​ยาง​มี​การ​รับประกัน.

ดี​ที่​สุด​ที่​จะ​เปลี่ยน​ยาง​เป็น​คู่​โดย​ใส่​ยาง​ชนิด​เดียว​กัน​ใน​เพลา​เดียว​กัน. ถ้า​คุณ​เปลี่ยน​ยาง​ใหม่​เพียง​เส้น​เดียว จง​ใส่​ยาง​เส้น​นั้น​คู่​กับ​ยาง​ที่​มี​ดอก​ยาง​หนา​ที่​สุด​เพื่อ​ทำ​ให้​รถ​มี​ความ​สมดุล​เมื่อ​เบรก.

การ​เลือก​ดู​ยาง​ทุก​ชนิด, ทุก​ขนาด, และ​ทุก​รุ่น​อาจ​ทำ​ให้​สับสน​ได้. อย่าง​ไร​ก็​ตาม โดย​การ​ตอบ​คำ​ถาม​สำคัญ ๆ ไม่​กี่​ข้อ คุณ​จะ​พบ​ว่า​งาน​นี้​ง่าย​ขึ้น​มาก. ก่อน​อื่น จง​เปิด​ดู​คำ​แนะ​นำ​ของ​ผู้​ผลิต​รถยนต์. รถยนต์​ของ​คุณ​มี​ข้อ​กำหนด​บาง​อย่าง​ซึ่ง​จำเป็น​ต้อง​นำ​มา​พิจารณา​ด้วย อย่าง​เช่น ข้อ​กำหนด​เกี่ยว​กับ​ยาง​และ​ขนาด​ของ​กระทะ​ล้อ, ระยะ​ห่าง​จาก​พื้น, และ​พิกัด​รับ​น้ำหนัก​บรรทุก. ที่​สำคัญ​เช่น​กัน​คือ​การ​ออก​แบบ​ยาน​พาหนะ​ของ​คุณ. รถยนต์​รุ่น​ใหม่ ๆ ซึ่ง​มี​ระบบ​เบรก​ป้องกัน​ล้อ​ล็อก (เอบี​เอส), แทรก​ชัน​คอนโทรล, และ​ระบบ​ขับ​เคลื่อน​สี่​ล้อ​ได้​รับ​การ​ออก​แบบ​ให้​ทำ​งาน​ร่วม​กับ​ยาง​ที่​มี​ลักษณะ​การ​ใช้​งาน​พิเศษ. ข้อ​กำหนด​ของ​ยาง​มัก​ดู​ได้​ใน​คู่มือ​ผู้​ใช้​รถ​ของ​คุณ.

อีก​ปัจจัย​หนึ่ง​คือ​สภาพ​ถนน. ส่วน​ใหญ่​แล้ว​คุณ​จะ​ใช้​รถ​บน​ถนน​ดิน​หรือ​ถนน​ลาดยาง​และ​ใน​สภาพ​อากาศ​ที่​มี​ฝน​ตก​ชุก​หรือ​อากาศ​แห้ง? เป็น​ไป​ได้​มาก​ว่า​คุณ​คง​จะ​ขับ​รถ​ใน​สภาพ​ถนน​หลาย ๆ แบบ. ใน​กรณี​นี้ คุณ​อาจ​ต้องการ​ยาง​ที่​ใช้​ได้​กับ​ทุก​สภาพ​ถนน​หรือ​ทุก​สภาพ​อากาศ.

คุณ​ควร​พิจารณา​อายุ​การ​ใช้​งาน​และ​ค่า​แรง​ฉุด​ลาก​ของ​ยาง​ด้วย. โดย​ทั่ว​ไป ยิ่ง​ดอก​ยาง​ทำ​จาก​วัสดุ​ที่​อ่อน​เท่า​ไร ก็​ยิ่ง​มี​แรง​ฉุด​ลาก​มาก​ขึ้น​เท่า​นั้น แต่​ยาง​จะ​สึก​เร็ว​ขึ้น. ใน​ทาง​กลับ​กัน ถ้า​ดอก​ยาง​ทำ​จาก​วัสดุ​ที่​ค่อนข้าง​แข็ง ยาง​ก็​จะ​มี​แรง​ฉุด​ลาก​น้อย​ลง แต่​มัก​จะ​ใช้​งาน​ได้​นาน​กว่า. ปกติ​จะ​มี​การ​บอก​ค่า​เหล่า​นี้​ใน​เอกสาร​การ​จำหน่าย​ใน​ร้าน​ขาย​ยาง. จง​ตระหนัก​ว่า​ค่า​แรง​ฉุด​ลาก​ของ​ยาง​จะ​แตกต่าง​กัน​ไป​ตาม​แต่​ผู้​ผลิต.

เมื่อ​คุณ​กำหนด​ขอบ​เขต​การ​ค้น​หา​ให้​แคบ​ลง​แล้ว ราคา​อาจ​เป็น​ปัจจัย​ที่​ตัดสิน​การ​เลือก​ขั้น​สุด​ท้าย​ของ​คุณ. ผู้​ผลิต​ที่​มี​ชื่อเสียง​มัก​จะ​ให้​ความ​มั่น​ใจ​มาก​กว่า​ใน​เรื่อง​คุณภาพ​และ​การ​รับประกัน.

การ​บำรุง​รักษา​ยาง​รถ​ของ​คุณ

การ​บำรุง​รักษา​ยาง​รถ​อย่าง​ถูก​วิธี​เกี่ยว​ข้อง​กับ​สาม​สิ่ง: การ​เติม​ลม​ยาง​ให้​พอ​เหมาะ, การ​สลับ​ยาง​เป็น​ระยะ ๆ, การ​ตั้ง​ศูนย์​และ​ถ่วง​ล้อ. การ​เติม​ลม​ยาง​ให้​พอ​เหมาะ​เป็น​สิ่ง​ที่​สำคัญ​มาก. ถ้า​ลม​ยาง​แข็ง​เกิน​ไป ดอก​ยาง​ตรง​กลาง​จะ​สึก​ก่อน​เวลา. แต่​ถ้า​ลม​ยาง​อ่อน​เกิน​ไป ไหล่​ยาง​ทั้ง​สอง​จะ​สึก​เร็ว​ผิด​ปกติ​และ​ทำ​ให้​สิ้น​เปลือง​น้ำมัน.

ความ​ดัน​ลม​ยาง​อาจ​อ่อน​ลง​หนึ่ง​ปอนด์​หรือ​มาก​กว่า​นั้น​ทุก ๆ เดือน​เนื่อง​จาก​มี​ลม​ซึม​ออก​มา​จาก​เนื้อ​ยาง. ดัง​นั้น อย่า​คิด​ว่า​เพียง​แต่​ดู​ที่​รูป​ทรง​ของ​ยาง​ก็​จะ​ทำ​ให้​รู้​ว่า​ความ​ดัน​ลม​ยาง​อ่อน​หรือ​ไม่. ตาม​ที่​สมาคม​ผู้​ผลิต​ยาง​กล่าว “ยาง​รถ​อาจ​มี​ความ​ดัน​ลม​อ่อน​ลง​เกือบ​ครึ่ง​หนึ่ง​โดย​ที่​ยาง​แทบ​จะ​ดู​ไม่​แบน​ลง​เลย!” ดัง​นั้น จง​วัด​ลม​ยาง​โดย​ใช้​มาตร​วัด​และ​ทำ​อย่าง​น้อย​เดือน​ละ​หนึ่ง​ครั้ง. เจ้าของ​รถ​หลาย​คน​เก็บ​มาตร​วัด​ไว้​ใน​ช่อง​เก็บ​ของ​หน้า​รถ​เพื่อ​จะ​หยิบ​มา​ใช้​ได้​สะดวก. จง​ตรวจ​สภาพ​ยาง​เสมอ​เมื่อ​คุณ​เปลี่ยน​น้ำมัน​เครื่อง​และ​ควร​ทำ​ตอน​ที่​ยาง​ยัง​เย็น​อยู่​เท่า​นั้น หรือ​พูด​อีก​อย่าง​หนึ่ง​คือ หลัง​จาก​จอด​รถ​ไว้​อย่าง​น้อย​สาม​ชั่วโมง​หรือ​วิ่ง​มา​ไม่​เกิน 1.5 กิโลเมตร. ข้อ​กำหนด​ความ​ดัน​ลม​ยาง​มัก​บอก​ไว้​ใน​คู่มือ​ผู้​ใช้​รถ, ที่​แผ่น​ป้าย​ใกล้​เสา​ประตู​รถ​ด้าน​ข้าง​คน​ขับ, หรือ​ใน​ช่อง​เก็บ​ของ​ภาย​ใน​รถ. ถ้า​คุณ​ไม่​ต้องการ​ให้​รถ​สะเทือน​มาก​เวลา​ขับ​ขี่ อย่า​เติม​ลม​ยาง​จน​ถึง​ระดับ​สูง​สุด​ตาม​ที่​มี​บอก​ไว้​ที่​แก้ม​ยาง.

ยาง​จะ​มี​อายุ​ยืน​ยาว​ขึ้น​และ​สึก​เสมอ​กัน​ถ้า​คุณ​สลับ​ยาง​เป็น​ระยะ ๆ. นอก​จาก​ผู้​ผลิต​รถยนต์​จะ​แนะ​นำ​เป็น​อย่าง​อื่น นับ​ว่า​ดี​ที่​จะ​สลับ​ยาง​ทุก ๆ 10,000 ถึง 13,000 กิโลเมตร. ใน​กรณี​นี้​ก็​เช่น​กัน จง​ตรวจ​ดู​คู่มือ​ผู้​ใช้​รถ​ว่า​ควร​สลับ​ยาง​ใน​ลักษณะ​ใด.

สุด​ท้าย จง​ตั้ง​ศูนย์​ล้อ​ทุก​ปี​หรือ​เมื่อ​ใด​ก็​ตาม​ที่​คุณ​รู้สึก​ว่า​รถ​สั่น​สะท้าน​ผิด​ปกติ​หรือ​มี​อาการ​แปลก ๆ เวลา​เลี้ยว. แม้​ว่า​ระบบ​ช่วง​ล่าง​ของ​รถ​คุณ​ได้​รับ​การ​ออก​แบบ​มา​ให้​ปรับ​ล้อ​ให้​ตรง​แม้​มี​การ​บรรทุก​น้ำหนัก​มาก​น้อย​ต่าง​กัน แต่​การ​สึก​หรอ​ตาม​ปกติ​ก็​ทำ​ให้​จำเป็น​ต้อง​ตรวจ​และ​ตั้ง​ศูนย์​ล้อ​เป็น​ระยะ ๆ. ช่าง​รถยนต์​ซึ่ง​มี​ใบ​รับรอง​คุณวุฒิ​ใน​เรื่อง​ช่วง​ล่าง​และ​ศูนย์​ล้อ​น่า​จะ​ตั้ง​ศูนย์​ล้อ​ให้​คุณ​ได้ และ​ทำ​ให้​ยาง​ของ​คุณ​มี​อายุ​การ​ใช้​งาน​นาน​ที่​สุด และ​มี​การ​ขับ​ขี่​ที่​มี​คุณภาพ.

ยาง “ฉลาด”

ด้วย​ระบบ​คอมพิวเตอร์ รถยนต์​บาง​คัน​จะ​เตือน​ผู้​ขับ​ขี่​ถ้า​ความ​ดัน​ลม​ยาง​ต่ำ​กว่า​ระดับ​ที่​ปลอด​ภัย. ยาง​บาง​ชนิด​สามารถ​วิ่ง​ได้​อย่าง​ปลอด​ภัย​ใน​ระยะ​ทาง​สั้น ๆ แม้​ไม่​มี​ความ​ดัน​ลม และ​ยาง​บาง​ชนิด​ก็​อุด​รอย​รั่ว​ได้​เอง. ที่​จริง วิศวกร​กำลัง​ออก​แบบ​ยาง​ที่​ใช้​ได้​กับ​สภาพการณ์​หลาย​หลาก​มาก​ขึ้น​เรื่อย ๆ.

เมื่อ​มี​การ​ปรับ​ปรุง​เรื่อง​วัสดุ, ลาย​ดอก​ยาง, ระบบ​กัน​สะเทือน, การ​เลี้ยว, และ​ระบบ​เบรก​ใน​รถยนต์​สมัย​ใหม่ ยาง​รถ​จึง​ไม่​เพียง​ทำ​ให้​การ​ขับ​ขี่​ง่าย​ขึ้น​เท่า​นั้น แต่​ยัง​ปลอด​ภัย​ขึ้น​ด้วย.

[เชิงอรรถ]

^ วรรค 15 ดู​รายการ​ที่​ลง​ไว้​ใน​หน้า 21 เพื่อ​ช่วย​ใน​การ​ตรวจ​สภาพ​ยาง​รถ​ของ​คุณ.

[กรอบ/ภาพ​หน้า 21]

รายการ​ตรวจ​เช็ค​เพื่อ​บำรุง​รักษา​ยาง​รถ

การ​ตรวจ​ดู​ด้วย​สายตา:

□ แก้ม​ยาง​บวม​หรือ​ไม่?

□ มี​ลวด​โผล่​ออก​มา​จาก​ดอก​ยาง​หรือ​ไม่?

□ ดอก​ยาง​มี​ความ​ลึก​ใน​ระดับ​ที่​ปลอด​ภัย​หรือ​ไม่ หรือ​ว่า​เห็น​ตัว​ชี้​บอก​ยาง​สึก​ได้​แล้ว?

จง​ตรวจ​ด้วย​ว่า:

□ ความ​ดัน​ลม​ยาง​อยู่​ใน​ระดับ​ที่​ผู้​ผลิต​รถยนต์​แนะ​นำ​ไว้​หรือ​ไม่?

□ ถึง​เวลา​สลับ​ยาง​หรือ​ยัง? (จง​ใช้​ระยะ​ทาง​และ​รูป​แบบ​การ​สลับ​ยาง​ตาม​ที่​ผู้​ผลิต​แนะ​ไว้.)

□ ควร​เปลี่ยน​เป็น​ยาง​ชนิด​อื่น​หรือ​ไม่​เนื่อง​จาก​ฤดู​กาล​เปลี่ยน​ไป?

[รูปภาพ]

ตัว​ชี้​บอก​ยาง​สึก

[แผนภูมิ​หน้า 20]

(ราย​ละเอียด​ดู​จาก​วารสาร)

ส่วน​ประกอบ​ของ​ยาง​รถยนต์

ดอก​ยาง​ช่วย​ให้​มี​แรง​ฉุด​ลาก​และ​เกาะ​ถนน​เมื่อ​เข้า​โค้ง

เข็มขัด​รัด​หน้า​ยาง​ทำ​ให้​ดอก​ยาง​มั่นคง​และ​แข็งแรง

แก้ม​ยาง​ป้องกัน​ด้าน​ข้าง​ยาง​จาก​ความ​เสียหาย​เนื่อง​จาก​ถนน​และ​ขอบ​ถนน

ชั้น​โครง​สร้าง​ยาง​ทำ​ให้​ยาง​แข็งแรง​และ​มี​ความ​ยืดหยุ่น

ชั้น​ใน​ยาง​กัก​ลม​ไว้​ภาย​ใน​ยาง

ขอบ​ใน​ช่วย​ให้​ยาง​แนบ​สนิท​กับ​กระทะ​ล้อ​ทำ​ให้​อากาศ​ซึม​ออก​ไม่​ได้

[ภาพ​หน้า 19]

จักรยาน​และ​รถยนต์​รุ่น​แรก ๆ ที่​ใช้​ยาง​สูบ​ลม; คน​งาน​ใน​โรง​งาน​ยาง​ยุค​แรก ๆ

[ที่​มา​ของ​ภาพ]

The Goodyear Tire & Rubber Company