ฉันจะทำให้เพื่อนชายเลิกทำร้ายฉันได้อย่างไร?
หนุ่มสาวถามว่า . . .
ฉันจะทำให้เพื่อนชายเลิกทำร้ายฉันได้อย่างไร?
“วันนี้เพื่อนชายตบตีฉันเป็นครั้งแรก. เขาขอโทษ แต่ตอนนี้ฉันไม่รู้จะทำอย่างไร.”—สเตลลา. *
“ตามที่บทความหนึ่งในวารสารแพทยสมาคมแห่งอเมริกา กล่าว “มีรายงานว่านักเรียนหญิง 1 ใน 5 คนถูกผู้ชายที่นัดพบทำร้ายร่างกายและ/หรือทำร้ายทางเพศ.” การสำรวจพวกหนุ่มสาวอายุ 17 ถึง 20 ปีครั้งหนึ่งในประเทศเยอรมนีพบว่า เด็กสาวมากกว่าหนึ่งในสี่รายงานว่า พวกเธอเคยถูกบังคับขืนใจให้ร่วมเพศ รวมถึงถูกทำร้ายร่างกาย, ถูกข่มขู่, และถูกมอมเหล้ามอมยา. ตามการสำรวจครั้งหนึ่งที่ทำในสหรัฐพบว่าร้อยละ 40 ของวัยรุ่นบอกว่าเคยเห็นเพื่อนร่วมชั้น “ด่าคนที่พวกเขานัดพบอย่างเจ็บแสบ.” *
คุณเป็นคนหนุ่มสาวที่กำลังคิดจะแต่งงานกับคนที่ชอบด่าหรือตะโกนใส่หน้าคุณ หรือดูถูกเหยียดหยาม, ผลักหรือตบตีคุณไหม? บทความหนึ่งในฉบับที่แล้วซึ่งเป็นชุดบทความเดียวกันแสดงให้เห็นว่าการปฏิบัติอย่างเลวร้ายเช่นนั้นกำลังแพร่หลายอย่างน่าตกใจ. * บทความนั้นยังแสดงให้เห็นอีกว่า พระยะโฮวาพระเจ้าไม่ทรงเห็นชอบกับการด่าว่าหรือการทำร้ายร่างกายผู้อื่น และผู้ถูกกระทำก็ไม่ควรยอมรับพฤติกรรมที่เลวร้ายเช่นนั้นโดยถือว่าเป็นเรื่องธรรมดาหรือเป็นความผิดของตัวเอง. (เอเฟโซ 4:31) กระนั้น การรู้ว่าจะทำอย่างไรในสถานการณ์แบบนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย. คุณอาจยังรักเพื่อนชายของคุณอยู่ แม้ว่าเขาจะประพฤติเช่นนั้น. หรือซ้ำร้ายกว่านั้น คุณอาจกลัวปฏิกิริยาตอบโต้ของเขาหากคุณติว่าเขา. คุณควรทำอย่างไร?
ประเมินสถานการณ์
ก่อนอื่น คุณต้องสงบอารมณ์และมองเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างไม่ลำเอียง. (ท่านผู้ประกาศ 2:14) คุณถูกเขาด่าว่าจริง ๆ ไหม? เพื่อนชายของคุณมีเจตนาร้ายต่อคุณไหม หรือเขาเพียงแต่ “พูดพล่อย ๆ” โดยไม่ยั้งคิด? (สุภาษิต 12:18) เหตุการณ์ทำนองนี้เกิดขึ้นบ่อยแค่ไหน? มันเป็นแค่ความผิดครั้งเดียวไหมซึ่งคุณอาจเพียงแต่มองข้ามได้? หรือว่าเขามีนิสัยชอบพูดดูถูกเหยียดหยามหรือด่าว่าเป็นประจำ?
หากคุณไม่แน่ใจความรู้สึกของตัวเองเกี่ยวกับเรื่องนี้ จงปรึกษาใครสักคนที่ไม่ใช่คนรุ่นราวคราวเดียวกัน แต่เป็นคนที่มีอายุมากกว่าและรู้จักโลกดีกว่าคุณ. บางทีคุณอาจระบายความในใจกับพ่อแม่หรือเพื่อนคริสเตียนอาวุโสก็ได้. การสนทนาถึงเรื่องดังกล่าวจะช่วยตัดสินว่าคุณรู้สึกไวเกินไปหรือเปล่า หรือว่ามีปัญหาร้ายแรงอยู่จริง ๆ.
จงหาโอกาสพูดคุยเรื่องนี้กับเพื่อนชายของคุณ หากดูเหมือนไม่มีอันตรายที่จะทำเช่นนั้น. (สุภาษิต 25:9) พูด กับเขาอย่างใจเย็นว่าพฤติกรรมของเขาทำให้คุณรู้สึกอย่างไร. พูดให้ตรงจุดว่าอะไรทำให้คุณขุ่นเคือง. จงกำหนดขอบเขตให้ชัดเจนสำหรับสิ่งที่คุณจะยอมไม่ได้. เมื่อพูดไปแล้ว เขามีปฏิกิริยาอย่างไร? เขาเมินเฉยไม่สนใจฟังความคิดของคุณไหม หรือเขาโต้ตอบด้วยคำพูดที่แสดงความโมโหมากกว่าเดิม? นี่คือสัญญาณที่บ่งชี้ชัดเจนว่าเขาไม่เต็มใจจะเปลี่ยนพฤติกรรม.
แต่สมมุติว่าเขาแสดงความถ่อมแบบที่พระเจ้าทรงยอมรับและเสียใจอย่างแท้จริงล่ะ? ถ้าเช่นนั้นก็อาจมีทางเป็นไปได้ที่จะรักษาความสัมพันธ์นั้นไว้. แต่ระวังอย่าหลงคารม! คนที่ชอบทำร้ายผู้อื่นทางวาจามักจะสรรหาคำพูดเพื่อแสดงความสำนึกผิดหลังจากทำให้คนอื่นเจ็บช้ำใจ แต่แล้วก็จะพูดอย่างเจ็บแสบอีกในคราวหน้าหากเขารู้สึกว่าถูกยั่วโทสะ. กาลเวลาจะเป็นเครื่องพิสูจน์ว่าเขามีความจริงใจแค่ไหนที่จะเปลี่ยนแปลงตัวเอง. ข้อบ่งชี้ที่ดีประการหนึ่งซึ่งแสดงว่าเขาตั้งใจทำจริง ๆ คือเขาเต็มใจแสวงหาความช่วยเหลือจากคริสเตียนผู้ปกครอง.—ยาโกโบ 5:14-16.
จงตระหนักว่า “คนทั้งปวงได้ทำผิดทุกคน, และขาดการถวายเกียรติยศแก่พระเจ้า.” (โรม 3:23) คุณไม่มีทางเจอคนที่สมบูรณ์พร้อม. คู่สมรสทุกคู่ย่อมจะประสบความ “ยุ่งยากลำบากใจ” อยู่บ้าง เนื่องจากความไม่สมบูรณ์. (1 โกรินโธ 7:28) ในที่สุดแล้ว คุณต้องตัดสินใจเอาเองว่าคุณจะยินดียอมทนกับข้อบกพร่องของเขาหรือไม่. ในกรณีนี้ก็เช่นกัน การปล่อยให้เวลาผ่านไปสักระยะหนึ่งเป็นวิธีปลอดภัยที่สุดที่จะช่วยให้ตัดสินใจได้.
เมื่อเกิดความรุนแรง
อย่างไรก็ตาม นับว่าเป็นคนละเรื่องทีเดียว ถ้าการทำร้ายทางวาจานั้นรวมไปถึงการพูดหยาบคายด้วยความโมโหหรือการขู่จะใช้ความรุนแรง หรือถ้าคุณถูกทำร้ายร่างกายอาจโดยการผลักอย่างแรงหรือการตบตี. นั่นบ่งชี้ว่าเขาขาดการบังคับตนซึ่งเป็นอันตรายอย่างยิ่ง; สถานการณ์อาจลุกลามไปได้ง่าย ๆ ถึงขั้นที่มีการใช้ความรุนแรงหนักขึ้น.
สำหรับคู่รักที่ยังไม่ได้แต่งงาน ดีที่สุดที่จะพึงหลีกเลี่ยงการอยู่ด้วยกันตามลำพัง. แต่ถ้าโดยเหตุใดเหตุหนึ่งทำให้คุณต้องอยู่เพียงลำพังกับผู้ชายที่มีอารมณ์เดือดดาล ก็อย่า “ทำชั่วตอบแทนชั่ว.” (โรม 12:17) พึงระลึกอยู่เสมอว่า “คำตอบอ่อนหวานกระทำให้ความโกรธผ่านพ้นไป; แต่คำขมเผ็ดร้อนกระทำให้โทโสพลุ่งขึ้น.” (สุภาษิต 15:1) อย่าตกใจ. ขอร้องให้เขาพาคุณกลับบ้าน. หากจำเป็นก็ต้องเดินหนีหรือวิ่งหนีทันที!
จะทำอย่างไรหากฝ่ายชายพยายามบังคับฝ่ายหญิงให้มีเพศสัมพันธ์ด้วย? แน่นอน นับว่าฉลาดสุขุมที่ทั้งสองฝ่ายพึงกำหนดขอบเขตการแสดงความรักใคร่ต่อกันให้ชัดเจนตั้งแต่เริ่มติดต่อฝากรัก. (1 เธซะโลนิเก 4:3-5) ถ้าชายหนุ่มรุกเร้าหญิงสาวให้ละเมิดหลักการของคัมภีร์ไบเบิล เธอควรพูดอย่างหนักแน่นให้เขาเข้าใจชัดเจนว่าเธอจะไม่ยอมอะลุ่มอล่วยเด็ดขาด. (เยเนซิศ 39:7-13) แอนซึ่งพ่ายแพ้ต่อความกดดันให้มีเพศสัมพันธ์เช่นนั้น ได้ขอร้องว่า “อย่ายอม. เราต้องมีความนับถือตัวเอง. ขออย่าได้ทำผิดพลาดแบบนี้ ไม่ว่าคุณจะรักเขามากขนาดไหน!” ถ้าเขาไม่สนใจคำปฏิเสธของคุณ ก็บอกเขาไปเลยว่าหากเขายังขืนรุกเร้าต่อไปคุณจะถือว่าเป็นการข่มขืน. ถ้าเขายังไม่หยุด ให้ร้องขอความช่วยเหลือและพยายามต่อสู้อย่างที่คุณจะทำต่อคนที่พยายามข่มขืนคุณ. *
ไม่ว่ากรณีใด คำแนะนำของคัมภีร์ไบเบิลในสุภาษิต 22:24 นับว่าเหมาะสม ที่ว่า “อย่าคบเป็นมิตรกับคนโกรธง่าย, และอย่าร่วมทางกับในเจ้าโทโส.” คุณไม่มีพันธะจะต้องทนกับความสัมพันธ์แบบที่มีการทำร้ายกัน. เห็นได้ชัดว่า คงเป็นการโฉดเขลาหากคุณไปเพียง ลำพังเพื่อบอกเลิกความสัมพันธ์กับผู้ชายที่ชอบทำร้าย. ดูเหมือนว่าแนวทางที่ดีที่สุดสำหรับคุณก็คือ ให้พ่อแม่ของคุณรับทราบเรื่องที่เกิดขึ้น. เป็นธรรมดาอยู่เองที่ท่านจะโกรธและไม่พอใจที่รู้ว่าคุณได้รับการปฏิบัติอย่างเลวร้าย. แต่ท่านสามารถช่วยคุณตัดสินใจได้ว่าคุณควรจะทำอย่างไรต่อไป. *
พยายามทำให้เขาเปลี่ยน
อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่หน้าที่รับผิดชอบของคุณที่จะทำให้เพื่อนชายเปลี่ยนนิสัย. อีเรนารับสารภาพว่า “คุณคิดว่าคุณรักเขา, คิดว่าคุณจะรับมือได้, และคิดว่าจะสามารถช่วยเขาได้. แต่จริง ๆ แล้ว คุณไม่สามารถทำอะไรได้เลย.” นาดีเนยอมรับเช่นกันว่า “ฉันคิดอยู่ตลอดเวลาว่าฉันจะทำให้เขาเปลี่ยนได้.” ความเป็นจริงคือ มีแต่ตัวเขาเท่านั้นที่สามารถ “เปลี่ยนนิสัย” ของเขาได้. (โรม 12:2) และการทำเช่นนั้นต้องใช้เวลานานและความพยายามอย่างมาก.
ฉะนั้น ขอให้คุณยึดมั่นในการตัดสินใจของคุณเอง อย่าสนใจความพยายามใด ๆ ที่เขาอาจใช้เพื่อลวงหลอกคุณ. พยายามอยู่ห่างจากเขามากเท่าที่เป็นไปได้ ทั้งทางกายและทางใจ. อย่ายอมให้เขาพูดหว่านล้อม, ขอร้อง, หรือข่มขู่ให้คุณเปลี่ยนใจ. ตอนที่อีเรนาบอกเลิกกับเพื่อนชายที่ชอบใช้ความรุนแรง เขาขู่จะฆ่าตัวตาย. เห็นได้ชัดว่า คนประเภทนี้จำเป็นต้องได้รับการช่วยเหลือ แต่ไม่ใช่จากคุณ. วิธีที่ดีที่สุดที่คุณช่วยเขาได้คือการรักษาจุดยืนในการต้านทานพฤติกรรมซึ่งไม่เป็นไปตามหลักการคริสเตียน. ถ้าเขาต้องการเปลี่ยน เขามีอิสระที่จะแสวงหาความช่วยเหลือ.
อย่างไรก็ตาม บางคนคิดว่าการแต่งงานจะแก้ปัญหาดังกล่าวได้. นักวิจัยคนหนึ่งพูดดังนี้: “ผู้หญิงที่แต่งงานกับผู้ชายที่ชอบทำร้าย หรือผู้ชายที่แต่งงานกับผู้หญิงที่ชอบทำร้ายมักจะรู้สึกประหลาดใจที่พบว่าความรุนแรงดังกล่าวไม่ได้หมดไป. หลายคนเชื่อว่า เมื่อจดทะเบียนสมรสถูกต้องแล้ว ปัญหาทุกอย่างที่กล่าวมาจะหมดไป. อย่าหลงเชื่อ.” ข้อเท็จจริงคือ การทำร้ายร่างกายซึ่งเริ่มขึ้นในช่วงที่กำลังติดต่อฝากรักมักจะมีอยู่ต่อไปในชีวิตสมรส.
คัมภีร์ไบเบิลพูดว่า “คนฉลาดมองเห็นภัยแล้วหนีไปซ่อนตัว; แต่คนโง่เดินเซ่อไปและก็เป็นอันตราย.” (สุภาษิต 22:3) การตัดความสัมพันธ์กับคนที่คุณรักและห่วงใยนั้นทำได้ยาก. แต่การติดบ่วงแร้วแห่งชีวิตสมรสที่มีแต่การทำร้ายจะลำบากยิ่งกว่านั้นมากนัก. นอกจากนั้น คุณไม่ต้องกลัวว่าจะไม่มีวันได้พบคู่ที่เหมาะสม. เมื่อคุณเข้าใจสิ่งต่าง ๆ ดีขึ้น คุณคงจะมองหาคนที่สุภาพอ่อนโยน, ใจดี, และรู้จักบังคับตนได้ดีกว่าที่แล้ว ๆ มา.
การรักษาแผลใจ
การถูกทำร้ายทางวาจาหรือทางร่างกายอาจก่อความเสียหายอย่างมาก. แมรีซึ่งเคยถูกทำร้ายแนะนำว่า “จงขอความช่วยเหลือ บอกให้ใครสักคนรู้ทันที. ฉันเคยคิดว่าฉันสามารถแก้ไขปัญหานั้นได้ด้วยตัวเอง แต่การบอกให้คนอื่นรู้ต่างหากที่ช่วยฉัน.” จงปรับทุกข์กับพ่อแม่ของคุณ, เพื่อนที่อาวุโสซึ่งวางใจได้, หรือคริสเตียนผู้ปกครอง. *
นอกจากนี้ บางคนพบว่าการหมกมุ่นอยู่กับการอ่านหนังสือที่ให้ประโยชน์, การเล่นกีฬา, หรือการทำงานอดิเรกอาจช่วยได้. เอรีนาจำได้ว่า “สิ่งสำคัญที่สุดคือการศึกษาคัมภีร์ไบเบิลและการเข้าร่วมการประชุมคริสเตียน.”
เห็นได้ชัดว่า พระยะโฮวาพระเจ้าไม่ทรงเห็นชอบกับการด่าว่าหรือการทำร้ายผู้อื่น. ด้วยการช่วยเหลือจากพระองค์ คุณสามารถป้องกันตัวเองให้พ้นจากการปฏิบัติอย่างเลวร้ายได้.
[เชิงอรรถ]
^ วรรค 3 บางชื่อเป็นนามสมมุติ.
^ วรรค 4 ถึงแม้ว่าทั้งผู้ชายและผู้หญิงอาจถูกทำร้ายทางร่างกายและทางวาจา แต่ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคแห่งสหรัฐตั้งข้อสังเกตว่า “ผู้หญิงได้รับความเสียหายมากกว่าผู้ชายมากทีเดียว.” อย่างไรก็ตาม เพื่อให้เข้าใจง่าย ในบทความนี้เราจะกล่าวถึงผู้ทำร้ายที่เป็นเพศชาย.
^ วรรค 5 โปรดดูบทความ “หนุ่มสาวถามว่า . . . ทำไมเขาถึงร้ายกับฉันอย่างนี้?” ในตื่นเถิด! ฉบับ 8 มิถุนายน 2004.
^ วรรค 15 ตื่นเถิด! ฉบับ 8 มีนาคม 1993 (ภาษาอังกฤษ) และหอสังเกตการณ์ ฉบับ 1 กุมภาพันธ์ 2003 หน้า 30 มีข้อมูลเกี่ยวกับวิธีต้านทานการข่มขืน.
^ วรรค 16 ในบางกรณี เช่น การพยายามข่มขืน พ่อแม่ของคุณอาจเข้าแจ้งความต่อตำรวจ. การทำเช่นนี้จะช่วยป้องกันเด็กสาวคนอื่น ๆ ไม่ให้ประสบความทุกข์เดือดร้อนเช่นนั้น.
^ วรรค 23 ในกรณีที่ได้รับความบอบช้ำทั้งทางกายและทางอารมณ์ บางคนอาจเลือกวิธีรักษาโดยการไปพบแพทย์หรือผู้ทำงานด้านสุขภาพจิตที่มีใบอนุญาต.
[ภาพหน้า 13]
การปฏิบัติอย่างเลวร้ายในช่วงที่กำลังติดต่อฝากรักมักจะมีอยู่ต่อไปในชีวิตสมรส
[ภาพหน้า 14]
อย่ายอมถูกบังคับให้แสดงความรักใคร่อย่างไม่เหมาะสม