ข้ามไปยังเนื้อหา

ข้ามไปยังสารบัญ

โลกแห่งดนตรีที่ปลายนิ้วของคุณ

โลกแห่งดนตรีที่ปลายนิ้วของคุณ

โลก​แห่ง​ดนตรี​ที่​ปลาย​นิ้ว​ของ​คุณ

โดย​ผู้​เขียน​ตื่นเถิด! ใน​บริเตน

“นับ​เป็น​เครื่อง​ดนตรี​ที่​ยอด​เยี่ยม​ที่​สุด​ใน​บรรดา​เครื่อง​ดนตรี​ทั้ง​มวล”—นั่น​เป็น​ทัศนะ​ที่​บาง​คน​มี​ต่อ​เปียโน. เนื่อง​จาก​สามารถ​ใช้​บรรเลง​เพลง​ได้​มาก​มาย​และ​สามารถ​ถ่ายทอด​ความ​รู้สึก​ออก​มา​ได้ จึง​มี​การ​นำ​เปียโน​มา​ใช้​เล่น​เข้า​กัน​อย่าง​ดี​ทั้ง​ใน​โลก​ของ​เพลง​คลาสสิก, เพลง​แจ๊ส, และ​เพลง​ที่​นิยม​กัน​ทั่ว​ไป. เปียโน​เป็น​เครื่อง​ดนตรี​ที่​โดด​เด่น​อยู่​บน​เวที​คอนเสิร์ต​เมื่อ​บรรเลง​เดี่ยว​อย่าง​สง่า​งาม นอก​จาก​นี้ ยัง​ช่วย​บรรเลง​คลอ​ประกอบ​การ​ขับ​ร้อง​ให้​กับ​นัก​ร้อง​ที่​ขี้อาย​ด้วย​ซ้ำ. เปียโน​ทำ​หน้า​ที่​เหมือน “วง​ออร์เคสตรา​ที่​บรรเลง​เพียง​คน​เดียว” แต่​ก็​พร้อม​ที่​จะ​บรรเลง​ประสาน​กับ​เครื่อง​ดนตรี​อื่น ๆ ได้​แทบ​ทุก​ชนิด. จึง​มี​การ​พรรณนา​ถึง​เปียโน​ว่า​เป็น “เครื่อง​ดนตรี​ที่​เปรียบ​ได้​กับ​จาน​ผสม​สี​ของ​จิตรกร” ซึ่ง​เป็น​แรง​บันดาล​ใจ​ให้​มี​การ​แต่ง​เพลง​บาง​เพลง​ที่​ไพเราะ​ที่​สุด​เท่า​ที่​เคย​เขียน​ขึ้น. ใคร​เป็น​ผู้​ประดิษฐ์​เปียโน และ​เหตุ​ใด​จึง​เป็น​ที่​นิยม​จน​ถึง​ทุก​วัน​นี้? *

ก่อน​จะ​มา​เป็น​เปียโน

พิณ​และ​พิณ​ไลร์​อยู่​ใน​จำพวก​เครื่อง​สาย​ที่​ใช้​มือ​ดีด​รุ่น​แรก​สุด. (เยเนซิศ 4:21, ฉบับ​แปล​ใหม่) ต่อ​มา​ก็​คือ​ขิม ซึ่ง​ผู้​เล่น​จะ​เคาะ​สาย​เสียง​ด้วย​ไม้​ตี​ขิม​เล็ก ๆ. ใน​ยุโรป​ระหว่าง​ยุค​กลาง มี​การ​พัฒนา​เครื่อง​ดนตรี​พร้อม​กับ​มี​แถว​ลิ่ม​นิ้ว​หรือ​คีย์บอร์ด​ไว้​สำหรับ​เคาะ​หรือ​ดีด​สาย​เสียง เครื่อง​ดนตรี​ที่​นิยม​กัน​มาก​ที่​สุด​คือ​คลาวิคอร์ด​และ​ฮาร์ปซิคอร์ด. คลาวิคอร์ด​มี​รูป​ร่าง​เหมือน​หีบ​สี่​เหลี่ยม​ที่​มี​ฝา​ปิด และ​สาย​เสียง​จะ​ถูก​เคาะ​จาก​ด้าน​ล่าง​โดย​ลิ่ม​โลหะ​เล็ก ๆ ที่​เรียก​ว่า แทนเจนต์. เครื่อง​ดนตรี​นี้​เล่น​ได้​อย่าง​ไพเราะ แต่​เสียง​ไม่​ค่อย​ดัง​เท่า​ไร จึง​มัก​ถูก​เสียง​จาก​เครื่อง​ดนตรี​อื่น ๆ และ​เสียง​นัก​ร้อง​กลบ​ได้​ง่าย ๆ. ฮาร์ปซิคอร์ด​ที่​มี​ขนาด​ใหญ่​กว่า​และ​ดู​คล้าย​กับ​แกรนด์​เปียโน​สมัย​ใหม่ มี​สาย​เสียง​ยาว​ซึ่ง​จะ​ถูก​ดีด​ด้วย​ก้าน​ขน​นก​หรือ​ก้าน​โลหะ​หรือ​พลาสติก​เล็ก ๆ เรียว ๆ. ฮาร์ปซิคอร์ด​ให้​เสียง​หนักแน่น​และ​ก้อง​กังวาน​แต่​ไม่​อาจ​ปรับ​ระดับ​ความ​ดัง​ของ​เสียง​ได้.

พอ​ถึง​ปี 1700 ได้​มี​การ​แต่ง​เพลง​แนว​ใหม่​ที่​แสดง​อารมณ์​ความ​รู้สึก​ออก​มา​อย่าง​น่า​ทึ่ง นัก​ดนตรี​จึง​ต้องการ​เครื่อง​ดนตรี​ประเภท​คีย์บอร์ด​ที่​เล่น​ได้​นุ่มนวล​เหมือน​คลาวิคอร์ด แต่​มี​พลัง​เหมือน​ฮาร์ปซิคอร์ด.

เปียโน​ปรากฏ​ขึ้น

นัก​ประดิษฐ์​เครื่อง​ดนตรี​ชาว​อิตาลี​ที่​ชื่อ​บาร์โตโลเมโอ กริสโตโฟรี​ได้​รวม​เอา​โครง​สร้าง​พื้น​ฐาน​ของ​ฮาร์ปซิคอร์ด​เข้า​กับ​กลไก​ค้อน​ของ​คลาวิคอร์ด โดย​ใช้​ค้อน​ไม้​เล็ก ๆ ที่​มี​แผ่น​หนัง​หุ้ม​เคาะ​สาย​เสียง. เขา​เรียก​สิ่ง​ประดิษฐ์​ของ​เขา​ว่า กราวีเชมบาโล กอล ปีอาโน เอ ฟอร์เต (ฮาร์ปซิคอร์ด​ที่​ส่ง​เสียง​ดัง​และ​เบา​ได้) และ​เรียก​สั้น ๆ ว่า​เปียโน​ฟอร์เต หรือ​เปียโน. เปียโน​เป็น​เครื่อง​ดนตรี​ประเภท​คีย์บอร์ด​ที่​มี​เสียง​ต่าง ๆ หลาย​ระดับ และ​สามารถ​เล่น​ได้​ทั้ง​เบา​และ​ดัง.

น่า​เศร้า กริสโตโฟรี​ไม่​ได้​อยู่​เห็น​ความ​สำเร็จ​ของ​เครื่อง​ดนตรี​ใหม่​ของ​เขา. เนื่อง​จาก​มี​คน​สนใจ​เพียง​ไม่​กี่​คน เขา​จึง​หัน​กลับ​ไป​ทำ​ฮาร์ปซิคอร์ด. เกือบ 30 ปี​หลัง​จาก​เปียโน​ตัว​แรก​ของ​กริสโตโฟรี นัก​ประดิษฐ์​ออร์แกน​ชาว​เยอรมัน​ที่​ชื่อ กอทท์ฟรีด ซิลเบอร์มันน์​ได้​ศึกษา​แบบ​ของ​เปียโน​อีก​ครั้ง​และ​เริ่ม​ประดิษฐ์​เปียโน​ของ​เขา​เอง. บรรดา​ช่าง​ฝีมือ​ใน​เยอรมนี​และ​ออสเตรีย​ได้​ทำ​การ​ทดลอง​ต่อ​ไป โดย​ตั้งใจ​จะ​สร้าง​เปียโน​รุ่น​ที่​เล็ก​กว่า​และ​เบา​กว่า​ที่​เรียก​ว่า​สแควร์​เปียโน (เปียโน​สี่​เหลี่ยม).

ใน​อังกฤษ นัก​ประดิษฐ์​เปียโน​อีก​กลุ่ม​หนึ่ง​ได้​พัฒนา​เปียโน​อีก​ชนิด​หนึ่ง​ขึ้น. พวก​เขา​อพยพ​มา​จาก​เยอรมนี​ใน​ช่วง​ปลาย​ทศวรรษ 1750. หนึ่ง​ใน​นั้น​คือ​โยฮันเนส ซุมเป ซึ่ง​ได้​นำ​สแควร์​เปียโน​มา​พัฒนา​เป็น​เปียโน​แบบ​ใหม่​ที่​ขาย​ดี​มาก. เซบาสเตียน เอราร์ด​แห่ง​ฝรั่งเศส​และ​นัก​ประดิษฐ์​เปียโน​คน​อื่น ๆ ใน​ยุโรป​และ​อเมริกา​ได้​ช่วย​กัน​ปรับ​ปรุง​เปียโน​ต่อ​ไป. ช่าง​ทำ​ตู้​ชาว​สกอต​ผู้​ปราดเปรื่อง​ที่​ชื่อ​จอห์น บรอดวูด​คิด​ว่า เปียโน​ควร​จะ​เหมาะ​กับ​สุภาพสตรี​สาว​แห่ง​ชน​ชั้น​กลาง​ซึ่ง​เป็น​เศรษฐี​ใหม่. ไม่​นาน บริษัท​ของ​เขา​ก็​ง่วน​อยู่​กับ​การ​ผลิต​สแควร์​เปียโน​และ​แกรนด์​เปียโน​ออก​มา​เป็น​จำนวน​มาก.

ข้อ​ท้าทาย​ลำดับ​ต่อ​ไป​คือ​การ​ออก​แบบ​เปียโน​ให้​มี​ขนาด​กะทัดรัด​อีก​ทั้ง​มี​เสียง​ดี​เทียบเท่า​กับ​แกรนด์​เปียโน. ดัง​นั้น จึง​มี​การ​สร้าง​เปียโน​แบบ​ตั้ง ไม่​ใช่​แบบ​นอน และ​มี​ขนาด​ใหญ่​ขึ้น​ทุก​ที. เปียโน​แบบ​หนึ่ง​ของ​บรอด​วูด​มี​สาย​เสียง​ใน​แนว​ตั้ง​ซึ่ง​สูง​เหนือ​คีย์บอร์ด​ถึง 2.7 เมตร แต่​เนื่อง​จาก​ส่วน​บน​หนัก​มาก​อย่าง​เห็น​ได้​ชัด จึง​นับ​ว่า​อันตราย​จริง ๆ ที่​จะ​เล่น​เปียโน​แบบ​นี้! เปียโน​แบบ​ตั้ง​อีก​รุ่น​หนึ่ง​ที่​เรียก​กัน​ว่า​แบบ​ยีราฟ จริง ๆ แล้ว​ก็​คือ​แกรนด์​เปียโน​ที่​มี​ส่วน​ปลาย​เหมือน​หาง​ชี้​ขึ้น​ไป​ใน​อากาศ. จอห์น ไอซิก ฮอว์กินส์​ชาว​อังกฤษ เป็น​คน​แรก​ที่​ประสบ​ความ​สำเร็จ​ใน​การ​ออก​แบบ​อัปไรต์​เปียโน (เปียโน​แบบ​ตั้ง) ใน​ปี 1800 โดย​ทำ​ให้​สาย​เสียง​ตั้ง​ฉาก​ขึ้น​และ​ให้​ส่วน​ปลาย​อยู่​ใกล้​กับ​ระดับ​พื้น. ใน​ที่​สุด เปียโน​รุ่น​นี้​ก็​ทำ​ให้​สแควร์​เปียโน​ค่อย ๆ เลิก​ผลิต​ไป.

นัก​ประพันธ์​เพลง​สนใจ​เปียโน

ใน​ช่วง​นั้น บรรดา​นัก​ประพันธ์​เพลง​เริ่ม​หัน​มา​แต่ง​เพลง​ที่​ใช้​บรรเลง​กับ​เปียโน. เมื่อ​หนุ่ม​น้อย​ที่​ชื่อ​โวล์ฟกัง อะมาเดอุส โมสาร์ท​ไป​เยี่ยม​ชม​โรง​งาน​ของ​โยฮัน สเตน​ที่​บาวาเรีย​ใน​ปี 1777 เพื่อ​ลอง​เล่น​เครื่อง​ดนตรี​ตัว​ใหม่ เขา​รู้สึก​ประทับใจ. จาก​นั้น​ไม่​นาน โมสาร์ท​ก็​เขียน​เพลง​สำหรับ​เปียโน โดย​แต่ง​เป็น​เพลง​เปียโน​คอน​แชร์​โต​ไม่​ต่ำ​กว่า 15 เพลง​ใน​เวลา​เพียง​สี่​ปี! อย่าง​ไร​ก็​ตาม ไม่​กี่​ปี​ต่อ​มา ลุดวิก ฟาน เบโทเฟน​เป็น​ผู้​ที่​มี​ส่วน​อย่าง​มาก​ใน​การ​แสดง​ให้​เห็น​ว่า​เครื่อง​ดนตรี​ใหม่​นี้​สามารถ​ทำ​อะไร​ได้​บ้าง. เขา​ทำ​ให้​เปียโน​มี​ชีวิต​จน​แทบ​จะ​ร้อง​เพลง​ได้​ด้วย​ซ้ำ. นี่​คือ​เครื่อง​ดนตรี​ที่​โลก​แห่ง​เสียง​เพลง​กำลัง​รอ​คอย และ​แนว​เพลง​ชวน​ฝัน​ที่​เต็ม​ไป​ด้วย​อารมณ์​และ​ความ​รู้สึก​ระลอก​ใหม่​ก็​ได้​รับ​ความ​นิยม​อย่าง​มาก. เฟรเดริค ฟรองซัว โชแปง​ซึ่ง​ได้​ฉายา​ว่า “กวี​แห่ง​เปียโน” พบ​ว่า​เปียโน​เป็น​สื่อ​ทาง​ดนตรี​ที่​สมบูรณ์​แบบ​ใน​การ​แสดง​ความ​คิด​และ​ความ​รู้สึก. ฟรานซ์ ลิสต์​ได้​แต่ง​เพลง​แนว​ใหม่​ที่​เร้า​ความ​รู้สึก​ซึ่ง​ทำ​ให้​เปียโน​ฟัง​ดู​เหมือน​กับ​วง​ออร์เคสตรา. เขา​ยัง​เล่น​เปียโน​ได้​อย่าง​ยอด​เยี่ยม​จน​ทำ​ให้​ผู้​ชม​รู้สึก​ตะลึง​อีก​ด้วย.

น่า​เสียดาย โครง​ของ​เปียโน​ที่​ทำ​ด้วย​ไม้​และ​สาย​เสียง​เส้น​เล็ก ๆ นั้น​บอบบาง​เกิน​กว่า​จะ​ทน​ต่อ​ดนตรี​ที่​เร้า​อารมณ์​ความ​รู้สึก​ซึ่ง​ดัง​กระหึ่ม​ใน​คอนเสิร์ต​ที่​เปี่ยม​ด้วย​พลัง. ด้วย​เหตุ​นี้ ช่าง​ทำ​เปียโน​จึง​เริ่ม​เสริม​โครง​ยึด​สาย​เสียง​ด้วย​เหล็ก จน​กระทั่ง​เปลี่ยน​มา​ใช้​โครง​ยึด​สาย​เสียง​ที่​เป็น​เหล็ก​หล่อ​โครง​เดี่ยว. ตอน​นี้ เขา​สามารถ​ใช้​สาย​เสียง​ที่​หนา​ขึ้น​และ​ค้อน​ที่​หนัก​ขึ้น​เพื่อ​ทำ​ให้​เสียง​ดัง​กว่า​เดิม. เสียง​ที่​ค่อนข้าง​แข็ง​กระด้าง​ซึ่ง​เป็น​ผล​มา​จาก​ค้อน​ที่​หนัก​ขึ้น​ก็​มี​การ​แก้ไข​โดย​ใช้​กำมะหยี่​หุ้ม​ค้อน​เหล่า​นั้น. สาย​เสียง​ที่​ยาว​กว่า​จะ​ขึง​ใน​แนว​ทแยง​เหนือ​สาย​เสียง​ที่​สั้น​กว่า​เพื่อ​ปรับ​ปรุง​เสียง​ให้​ดี​ขึ้น​และ​ประหยัด​พื้น​ที่. และ​แล้ว เปียโน​ยุค​ใหม่​ก็​มา​ถึง และ​นับ​แต่​นั้น​มา นัก​เปียโน​ที่​ยิ่ง​ใหญ่​หลาย​คน​ก็​ทำ​ให้​ห้อง​โถง​แสดง​คอนเสิร์ต​เต็ม​แน่น​ไป​ด้วย​ผู้​ชม​ที่​กระตือรือร้น​จะ​ฟัง​เพลง​เปียโน​ซึ่ง​มี​จำนวน​มาก​ขึ้น​เรื่อย ๆ. ขณะ​เดียว​กัน นัก​ประดิษฐ์​เปียโน​ใน​ยุโรป​และ​อเมริกา​ก็​ผลิต​เปียโน​ออก​มา​เป็น​จำนวน​มาก เพื่อ​ให้​ทัน​กับ​ความ​ต้องการ​ซึ่ง​มี​มาก​เป็น​ประวัติการณ์.

เปียโน​เป็น​ที่​นิยม​ทุก​หน​แห่ง

ใน​ตอน​ต้น​ศตวรรษ​ที่ 20 ทุก​ครัว​เรือน​ต้อง​มี​สัญลักษณ์​ที่​แสดง​ถึง​สถานภาพ​ใหม่ ไม่​ว่า​จะ​มี​คน​ใน​บ้าน​เล่น​ได้​หรือ​ไม่. นัก​เปียโน​เป็น​ที่​ต้องการ​อย่าง​มาก​เพื่อ​สร้าง​ความ​บันเทิง​ให้​แก่​บรรดา​ลูก​ค้า​และ​นัก​เดิน​ทาง, เพื่อ​เล่น​ดนตรี​ประกอบ​ภาพยนตร์​เงียบ​ที่​เพิ่ง​มี​ขึ้น, และ​เพื่อ​สอน​เปียโน​ให้​แก่​ผู้​ที่​ปรารถนา​จะ​เป็น​นัก​เปียโน​มือ​สมัคร​เล่น​ซึ่ง​มี​จำนวน​มาก​ขึ้น​เรื่อย ๆ. คน​ใน​ครอบครัว​ห้อม​ล้อม​กัน​อยู่​ที่​เปียโน. นัก​เปียโน​มือ​สมัคร​เล่น​ก็​แสดง​บน​เวที​ด้วย​เพลง​ที่​แต่ง​ขึ้น​เอง. มี​การ​แต่ง​เพลง​ใหม่ ๆ สำหรับ​เปียโน​ออก​มา​เป็น​ประจำ. มี​การ​พัฒนา​รูป​แบบ​การ​เล่น​หลาก​หลาย​แบบ​ด้วย เช่น จังหวะ​ขัด​ที่​ฟัง​แล้ว​สะดุด​หู​แบบ​แรก​ไทม์, จังหวะ​ช้า ๆ ของ​เพลง​บลูส์, และ​จังหวะ​ต่อ​เนื่อง​ของ​บูกีวูกี.

หลัง​สงคราม​โลก​ครั้ง​แรก​เกิด​ช่วง​ที่​ซบเซา​ขึ้น. จาก​ยอด​การ​ผลิต​เปียโน​ทั่ว​โลก 600,000 หลัง​ใน​ปี 1910 ก็​เริ่ม​ลด​ลง​เรื่อย ๆ. ใน​ที่​สุด เครื่อง​บันทึก​เสียง, วิทยุ, เครื่อง​เล่น​แผ่น​เสียง, และ​โทรทัศน์​ก็​เข้า​มา​สร้าง​ความ​บันเทิง​ภาย​ใน​บ้าน​แทน. แต่​โลก​ก็​ยัง​ไม่​ได้​เห็น​จุด​จบ​ของ​เปียโน. หลัง​สงคราม​โลก​ครั้ง​ที่​สอง ความ​ก้าว​หน้า​ทาง​ด้าน​เทคโนโลยี​สมัย​ใหม่​ทำ​ให้​เปียโน​กลับ​มา​เป็น​ที่​นิยม​อีก. ใน​ปี 1980 ยอด​ขาย​ก็​ค่อย ๆ เพิ่ม​ขึ้น​จน​กระทั่ง​มาก​กว่า 800,000 หลัง. เปียโน​ที่​มี​น้ำหนัก​เบา​กว่า​ใน​ทุก​วัน​นี้​ทำ​จาก​พลาสติก​และ​โลหะ​ผสม ส่วน​ลิ่ม​นิ้ว​หรือ​คีย์​สี​ขาว​ก็​ถูก​หุ้ม​ด้วย​วัสดุ​สังเคราะห์​แทน​ที่​จะ​ใช้​งา​ช้าง. ญี่ปุ่น​กลาย​เป็น​หนึ่ง​ใน​ประเทศ​ที่​ผลิต​เปียโน​ราย​ใหญ่​ที่​สุด​ของ​โลก และ​ประเทศ​จีน​ก็​ยินดี​รับ​เอา​เปียโน​ที่​มี​การ​กล่าว​ถึง​ว่า​เป็น “ราชินี​แห่ง​เครื่อง​ดนตรี.”

คุณ​อยาก​เล่น​เปียโน​ไหม?

สำหรับ​เครื่อง​ดนตรี​บาง​ชนิด ต้อง​มี​การ​ฝึก​ซ้อม​อย่าง​มาก​เพื่อ​จะ​ทำ​ให้​เกิด​เสียง​ได้ แต่​แค่​คุณ​กด​คีย์​เปียโน​เพียง​ไม่​กี่​ตัว​ตาม​ลำดับ​ที่​ถูก​ต้อง คุณ​ก็​สามารถ​บรรเลง​เพลง​ได้​แล้ว! บาง​คน​มี​พรสวรรค์​ที่​จะ​เล่น​เปียโน​ได้​โดย​อาศัย​การ​ฟัง​เท่า​นั้น. อย่าง​ไร​ก็​ตาม คน​ส่วน​ใหญ่​พบ​ว่า หนังสือ​คู่มือ​ที่​ใช้​เรียน​ด้วย​ตัว​เอง​แบบ​ง่าย ๆ สอน​ว่า​ให้​ใช้​มือ​ขวา​เล่น​ทำนอง​เพลง​ใน​ขณะ​ที่​มือ​ซ้าย​เล่น​ดนตรี​ประกอบ. ลอง​จินตนาการ​ว่า​คุณ​จะ​รู้สึก​ดีใจ​เพียง​ไร​เมื่อ​สามารถ​เล่น​เพลง​โปรด​ได้​ด้วย​ตัว​เอง​โดย​ดู​จาก​โน้ต​เพลง! คุณ​จะ​เลือก​เล่น​เพลง​มาร์ช​ที่​เร้า​ใจ, เพลง​วอลซ์​ที่​นุ่มนวล, หรือ​อาจ​เป็น​เพลง​บัลลาด​ที่​โปรดปราน​ไหม? คุณ​อาจ​เล่น​เพลง​จังหวะ​ลาติน​อเมริกา​หรือ​บาง​ที​อาจ​เป็น​เพลง​แจ๊ส​ก็​ได้. จะ​น่า​เพลิดเพลิน​สัก​เพียง​ไร​ถ้า​ได้​บรรเลง​เพลง​คู่​กับ​เพื่อน! แล้ว​ลอง​นึก​ถึง​ความ​สุข​ที่​คุณ​อาจ​ให้​ได้​เมื่อ​คุณ​เล่น​ร่วม​กับ​เพื่อน ๆ ขณะ​ที่​พวก​เขา​ร้อง​เพลง​หรือ​เล่น​เครื่อง​ดนตรี​ชิ้น​อื่น ๆ. คุณ​อยาก​ลอง​เล่น​เปียโน​หรือ​ยัง?

[เชิงอรรถ]

[กรอบ/ภาพ​หน้า 21]

เปียโน​ที่​เล่น​ได้​เอง

สำหรับ​คน​ที่​แทบ​ไม่​เคย​เล่น​คีย์บอร์ด เปียโน​ที่​เล่น​ได้​เอง​คือ​คำ​ตอบ. โดย​การ​ผสมผสาน​ระหว่าง​กล่อง​ดนตรี​กับ​เปียโน คีย์​ต่าง ๆ จะ​เคลื่อน​ไหว​ขึ้น​ลง​ได้​เอง​ตาม​รอย​ปรุ​ที่​อยู่​บน​ม้วน​กระดาษ​ที่​เคลื่อน​ที่. สำหรับ​รุ่น​แรก ๆ ที่​ทำ​ขึ้น​ใน​ช่วง​ทศวรรษ 1890 มี​กลไก​ที่​เป็น​นิ้ว​ไม้​อยู่​ข้าง​หน้า​เปียโน​ไว้​สำหรับ​กด​คีย์ ขณะ​ที่​ผู้​เล่น​จะ​เหยียบ​แป้น​เหยียบ. รุ่น​ต่อ​มา​มี​การ​สร้าง​กลไก​ภาย​ใน​เปียโน. ส่วน​แบบ​ที่​ก้าว​หน้า​ขึ้น​ไป​อีก​ขั้น​เรียก​ว่า “รีโพรดิวซิง เปียโน” (reproducing piano) ซึ่ง​สามารถ​บรรเลง​การ​แสดง​จริง​ของ​นัก​เปียโน​ผู้​ยิ่ง​ใหญ่​ได้ จึง​มี​การ​ผลิต​ม้วน​กระดาษ​เจาะ​รู​สำหรับ​เปียโน​ไว้​ขาย​เหมือน​กับ​แผ่น​ดิสก์​หรือ​เทป​ใน​สมัย​ปัจจุบัน. ใน​ปี 1925 ที่​สหรัฐ​มี​การ​ผลิต​เปียโน​แบบ​ที่​เล่น​ได้​เอง​มาก​กว่า​เปียโน​ธรรมดา. แต่​เมื่อ​วิทยุ​และ​เครื่อง​บันทึก​เสียง​ปรากฏ​ขึ้น เปียโน​แบบ​ที่​เล่น​ได้​เอง​จึง​หาย​สาบสูญ​ไป​เมื่อ​ถึง​ทศวรรษ 1930.

[ที่​มา​ของ​ภาพ]

Culver Pictures

[กรอบ/แผนภูมิ​หน้า 22]

กลไก​การ​ทำ​งาน​ของ​แกรนด์​เปียโน

สาย​เสียง มาก​กว่า 200 เส้น ซึ่ง​ทั้ง​หมด​เป็น​เส้น​ลวด​เหล็ก​ที่​เรียง​ขนาน​กัน​และ​ถูก​ขึง​จน​ตึง ทำ​ให้​เกิด​เสียง​ตัว​โน้ต​ถึง 88 เสียง. สาย​เสียง​ที่​สั้น​และ​บาง​ซึ่ง​สั่น​อย่าง​รวด​เร็ว​จะ​ทำ​ให้​เกิด​โน้ต​เสียง​สูง ใน​ขณะ​ที่​สาย​เสียง​ที่​ยาว​และ​หนา​ซึ่ง​มัก​ถูก​หุ้ม​ด้วย​ทองแดง​จะ​ทำ​ให้​เกิด​โน้ต​เสียง​ต่ำ. เสียง​ของ​โน้ต​ทุก​ตัว ยก​เว้น​บาง​ตัว​ที่​มี​เสียง​ต่ำ​มาก ๆ เกิด​จาก​สาย​เสียง​สอง​หรือ​สาม​เส้น​ที่​ถูก​ปรับ​ให้​ประสาน​กัน.

เมื่อ​ผู้​เล่น​กด​คีย์​เปียโน (1) คัน​โยก​จะ​ดัน​ด้าม​ค้อน ให้​เคาะ​สาย​เสียง​ของ​โน้ต​ตัว​นั้น​หนึ่ง​เส้น​หรือ​มาก​กว่า แล้ว​กระดก​กลับ​ทันที. การ​กด​คีย์​ค้าง​ไว้​จะ​ทำ​ให้​สาย​เสียง​สั่น​ต่อ​ไป​และ​เสียง​จะ​ค่อย ๆ เบา​ลง. เมื่อ​ผู้​เล่น​เอา​นิ้ว​ออก​จาก​คีย์ (2) ตัว​หยุด​เสียง​จะ​กระดก​ไป​ประกบ​สาย​เสียง​เพื่อ​ให้​เสียง​เงียบ​ลง. หาก​เหยียบ​ที่​แป้น​เหยียบ (pedal) ทาง​ขวา แป้น​นี้​จะ​กัน​ตัว​หยุด​เสียง​ทั้ง​หมด​และ​ทำ​ให้​โน้ต​ตัว​ต่อ ๆ ไป​มี​เสียง​กังวาน​ประสาน​กัน.

สาย​เสียง​จะ​พาด​ผ่าน​แถบ​ไม้​ที่​เรียก​ว่า หย่อง (3) ซึ่ง​ติด​อยู่​ที่​แผ่น​กำธร​เสียง ที่​เป็น​ไม้ (4) แผ่น​นี้​จะ​ช่วย​ให้​สาย​เสียง​สั่น​ใน​ระดับ​ความ​ถี่​เดียว​กัน​และ​เสริม​ให้​สาย​เสียง​มี​พลัง​และ​กังวาน​ขึ้น. ลำ​ตัว​ไม้ ส่วน​ที่​เป็น​กรอบ​จะ​ทำ​หน้า​ที่​เหมือน​กล่อง​เสียง​เพื่อ​ช่วย​เพิ่ม​ความ​เข้ม​ของ​เสียง.

สาย​เสียง​จะ​ถูก​เชื่อม​ติด​กับ​โครง เหล็ก​หล่อ​โดย​มี​หมุด เหล็ก (5) ยึด​ไว้. โครง​ของ​แกรนด์​เปียโน​ต้อง​แข็งแรง​พอ​ที่​จะ​ทน​ต่อ​แรง​ดึง​ของ​สาย​เสียง​ทั้ง​หมด​ซึ่ง​อาจ​จะ​มี​มาก​ถึง 30 ตัน.

[แผนภูมิ]

(ราย​ละเอียด​ดู​จาก​วารสาร)

ตัว​หยุด​เสียง

สาย​เสียง

ค้อน

เมื่อ​กด​คีย์

เมื่อ​ปล่อย​คีย์

[รูปภาพ​หน้า

เปียโน​ของ​กริสโตโฟรี​ที่​เก่า​แก่​ที่​สุด​เท่า​ที่​ยัง​เหลือ​อยู่ ปี 1720

[ที่​มา​ของ​ภาพ]

The Metropolitan Museum of Art, The Crosby Brown Collection of Musical Instruments, 1889. (89.4.1219) Photograph ©1983 The Metropolitan Museum of Art