ข้ามไปยังเนื้อหา

ข้ามไปยังสารบัญ

แทะเล็มกอหนาม

แทะเล็มกอหนาม

แทะ​เล็ม​กอ​หนาม

โดย​ผู้​เขียน​ตื่นเถิด! ใน​แอฟริกา​ใต้

ลอง​ตาม​ผม​ไป​เยี่ยม​ชม​พื้น​ที่​หนึ่ง​ใน​แอฟริกา​ใต้​ที่​เรียก​ว่า โนร์สเฟลด์. ภูมิภาค​กึ่ง​แห้ง​แล้ง​นี้​ได้​ชื่อ​มา​จาก​พืช​อวบ​น้ำ​ที่​มี​หนาม ซึ่ง​เรียก​กัน​ว่า​ต้น​โนร์ส หรือ​ยูโฟร์เบีย ซึ่ง​มี​มาก​ที่​นั่น. ดัง​ที่​เห็น​ใน​ภาพ​ประกอบ ชาว​ไร่​ใน​เขต​นี้​เลี้ยง​สัตว์ เช่น แพะ​แองโกรา ซึ่ง​คุณค่า​ของ​มัน​อยู่​ที่​ขน​สี​ขาว​ที่​เรียก​ว่า โมแฮร์. สิ่ง​นี้​จะ​ถูก​นำ​ไป​ทอ​เป็น​ผ้า​ชั้น​เยี่ยม​ที่​ทนทาน​ซึ่ง​ใช้​ทำ​สิ่ง​ต่าง ๆ ได้​หลาย​อย่าง ตั้ง​แต่​เสื้อ​ผ้า​นำ​สมัย​ไป​จน​ถึง​พรม. แต่​สัตว์​ชนิด​นี้​อยู่​รอด​ใน​ภูมิภาค​อัน​แห้ง​แล้ง​ได้​อย่าง​ไร?

กอ​ต้น​โนร์ส​ที่​คุณ​เห็น​พวก​แพะ​กำลัง​เดิน​อยู่​รอบ ๆ นั้น เป็น​ปัจจัย​สำคัญ​ที่​ทำ​ให้​พวก​มัน​อยู่​รอด. ต้น​โนร์ส​ชนิด​นี้​ที่​ชื่อ​ยูโฟร์เบีย โครูเลสเซนส์ (Euphorbia coerulescens) เป็น​แหล่ง​อาหาร​ของ​แพะ​ใน​ช่วง​ฤดู​หนาว​มาก​กว่า 40 เปอร์เซ็นต์. อย่าง​ไร​ก็​ตาม แพะ​ต้อง​ระวัง​ไม่​ให้​ถูก​หนาม​ตำ​ขณะ​ที่​พวก​มัน​แทะ​เล็ม​กอ​หนาม​ที่​ร้ายกาจ​เหล่า​นั้น. การ​กิน​อาหาร​กลาย​เป็น​เรื่อง​ง่าย​ขึ้น​เมื่อ​พวก​มัน​เรียน​รู้​ที่​จะ​ลิด​หนาม​ออก​โดย​ใช้​เขา​ของ​มัน.

หลัง​จาก​ฝน​ตก​ลง​มา​จน​ชุ่ม​ฉ่ำ แพะ​จะ​กิน​พืช​ชนิด​อื่น ๆ ที่​ขึ้น​รอบ​กอ​ต้น​โนร์ส. แต่​นั่น​ก็​มี​อันตราย​ด้วย​เช่น​กัน. ใน​หนังสือ​เกี่ยว​กับ​โนร์สเฟลด์​ของ​เจอร์เกน เคอร์รี ซึ่ง​เป็น​ชาว​ไร่ เขียน​ว่า “หาก​แพะ​แองโกรา​ที่​มี​ขน​หยิก​เป็น​เกลียว​ดู​น่า​รัก​เสี่ยง​เข้า​ไป​แทะ​เล็ม​พืช​อ่อน ๆ ที่​งอก​อยู่​ข้าง​ใต้​และ​ใน​กอ​ต้น​โนร์ส มัน​อาจ​ติด​อยู่​ใน​กอ​หนาม​ได้.” นี่​อาจ​ทำ​ให้​ถึง​ตาย​ที​เดียว. ชาว​ไร่​โนร์สเฟลด์​อธิบาย​ว่า “หาก​แดด​ใน​ฤดู​ร้อน​แผด​เผา​แพะ​ตัว​นั้น มัน​จะ​อยู่​ได้​ไม่​เกิน​สอง​ชั่วโมง.”

โนร์สเฟลด์​ประสบ​กับ​ความ​แห้ง​แล้ง​อย่าง​รุนแรง​เป็น​ครั้ง​คราว. ใน​ช่วง​เวลา​นั้น ต้น​โนร์ส​คือ​อาหาร​ยัง​ชีพ. โดย​อาศัย​รถ​แทรกเตอร์​ที่​ติด​เครื่อง​ตัด​หญ้า ชาว​ไร่​จะ​ขับ​รถ​นั้น​ไป​ทั่ว​ทุ่ง​ต้น​โนร์ส​และ​สับ​มัน​เป็น​ชิ้น​เล็ก ๆ. เมื่อ​เป็น​ชิ้น​เล็ก ๆ อย่าง​นั้น พวก​แพะ​ก็​จะ​กิน​ได้​ง่าย​ขึ้น​และ​ปลอด​ภัย​ขึ้น. สัตว์​ป่า​อื่น ๆ ก็​จะ​มา​ร่วม​ใน​งาน​เลี้ยง​ครั้ง​ใหญ่​ด้วย. เคอร์รี​อธิบาย​ว่า “ระหว่าง​ช่วง​ที่​แห้ง​แล้ง เจ้า​คูดู [แอนทีโลป​ขนาด​ใหญ่] จะ​ถือ​โอกาส​เข้า​มา​กิน​พืช​ที่​ค้ำจุน​ชีวิต​ด้วย​ความ​ดีใจ. คุณ​มัก​จะ​เห็น​มัน​อยู่​ไม่​ไกล​จาก​ถนน บน​ผืน​ดิน​สี​ขาว​ที่​มี​การ​สับ​ต้น​โนร์ส ความ​กลัว​มนุษย์​หาย​ไป​หมด​เนื่อง​จาก​มัน​ต้องการ​อาหาร.”

แม้​ว่า​ต้น​โนร์ส​อีก​ชนิด​หนึ่ง​ที่​ชื่อ​ยูโฟร์เบีย เฟร็อกซ์ (Euphorbia ferox) จะ​มี​ขนาด​เล็ก​กว่า แต่​มัน​ก็​มี​หนาม​ที่​ร้ายกาจ​อยู่​เต็ม​ไป​หมด​ทำ​ให้​สัตว์​ส่วน​ใหญ่​ไม่​อาจ​กิน​ลำ​ต้น​ของ​มัน​ได้. เนื่อง​จาก​สามารถ​ทน​ความ​แห้ง​แล้ง​ได้ ต้น​โนร์ส​ชนิด​นี้​จึง​เป็น​อาหาร​ยัง​ชีพ​เช่น​กัน. เมื่อ​ฝน​ไม่​ตก ชาว​ไร่​และ​คน​งาน​ก็​จะ​ใช้​คบไฟ​และ​สิ่ง​อื่น ๆ จุด​ไฟ​เผา​หนาม​ที่​ต้น​โนร์ส​ทุก​กอ. มัน​เป็น​งาน​ที่​เหน็ด​เหนื่อย​ที​เดียว. หนังสือ​พืช​ทุ่ง​หญ้า​ใน​แอฟริกา​ตอน​ใต้ อธิบาย​ว่า “เมื่อ​หนาม​ไหม้​ไป​หมด​แล้ว ฝูง​สัตว์​ใน​ไร่​ก็​จะ​รีบ​กิน​ลำ​ต้น​ของ​พืช​นั้น. . . . ไม่​ช้า เจ้า​สปริงบ็อก [แอนทีโลป​อีก​ชนิด​หนึ่ง] ก็​เรียน​รู้​วิธี​กิน ‘ต้น​โนร์ส​เผา’ และ​มัน​มัก​จะ​เป็น​สัตว์​ที่​เชื่อง​มาก​เวลา​แทะ​เล็ม. . . . อยู่​ใกล้ ๆ คน​ที่​กำลัง​เผา​หนาม​นั้น.”

เมื่อ​เรา​มอง​เห็น​ภาพ​แพะ​กำลัง​แทะ​เล็ม​กอ​ต้น​โนร์ส เรา​อด​ไม่​ได้​ที่​จะ​รู้สึก​อัศจรรย์​ใจ​ใน​สิ่ง​ทรง​สร้าง​อัน​หลาก​หลาย​ของ​พระ​ยะโฮวา. แม้​ว่า​ต้น​โนร์ส​จะ​ดู​ไม่​เป็น​มิตร​และ​อาจ​ทำ​ให้​ถึง​ตาย​ได้ แต่​มัน​เป็น​สิ่ง​ค้ำจุน​ชีวิต​สำหรับ​สัตว์​หลาย​ชนิด​ใน​ภูมิภาค​อัน​แห้ง​แล้ง​นี้.

[ภาพ​หน้า 24]

ต้น​โนร์ส​ชนิด​นี้​เป็น​แหล่ง​อาหาร​ของ​แพะ​ใน​ช่วง​ฤดู​หนาว​มาก​กว่า 40 เปอร์เซ็นต์

[ภาพ​หน้า 25]

ดอก​ของ​ต้น​โนร์ส​และ​ภาพ​ระยะ​ใกล้​ของ​หนาม​ที่​อันตราย