ข้ามไปยังเนื้อหา

ข้ามไปยังสารบัญ

รูปแบบของอคติ

รูปแบบของอคติ

รูป​แบบ​ของ​อคติ

“ถ้า​ไล่​อคติ​ออก​ไป​ทาง​ประตู มัน​จะ​กลับ​เข้า​มา​ทาง​หน้าต่าง.”—เฟรเดอริก​มหาราช กษัตริย์​แห่ง​ปรัสเซีย.

ราเจช​อาศัย​อยู่​ใน​หมู่​บ้าน​ปาลิยัด ประเทศ​อินเดีย. เหมือน​กับ​คน​อื่น ๆ ใน​วรรณะ​จัณฑาล เขา​ต้อง​ใช้​เวลา 15 นาที​เพื่อ​เดิน​ไป​ตัก​น้ำ​มา​ใช้​ที่​บ้าน. เขา​บอก​ว่า “เรา​ไม่​ได้​รับ​อนุญาต​ให้​ใช้​ก๊อก​น้ำ​ใน​หมู่​บ้าน​ที่​พวก​วรรณะ​สูง​กว่า​ใช้.” สมัย​ที่​เขา​อยู่​ใน​โรง​เรียน ราเจช​กับ​เพื่อน​ของ​เขา​แตะ​ต้อง​ลูก​ฟุตบอล​ที่​เด็ก​คน​อื่น ๆ เล่น​กัน​ไม่​ได้​ด้วย​ซ้ำ. เขา​บอก​ว่า “เรา​เล่น​ก้อน​หิน​แทน.”

คริสตินา วัยรุ่น​ชาว​เอเชีย​ซึ่ง​อาศัย​อยู่​ใน​ยุโรป บอก​ว่า “ฉัน​รู้สึก​ว่า​ผู้​คน​เกลียด​ฉัน แต่​ฉัน​ไม่​รู้​ว่า​เพราะ​อะไร.” เธอ​พูด​ต่อ​ไป​ว่า “ฉัน​รู้สึก​ข้องขัดใจ​มาก. ฉัน​มัก​จะ​แสดง​ปฏิกิริยา​โดย​แยก​ตัว​อยู่​คน​เดียว แต่​นั่น​ก็​ไม่​ได้​ช่วย​อะไร​เหมือน​กัน.”

สแตนลีย์​ชาว​แอฟริกา​ตะวัน​ตก​กล่าว​ว่า “ผม​ได้​รู้​เรื่อง​อคติ​ครั้ง​แรก​ตอน​อายุ 16 ปี. คน​ที่​ผม​ไม่​รู้​จัก​เลย​บอก​ให้​ผม​ออก​ไป​จาก​เมือง. คน​ใน​เผ่า​ของ​ผม​บาง​คน​ถูก​เผา​บ้าน. บัญชี​ธนาคาร​ของ​พ่อ​ผม​ถูก​ระงับ. ผล​ก็​คือ ผม​เริ่ม​เกลียด​เผ่า​ที่​ปฏิบัติ​ต่อ​เรา​อย่าง​มี​อคติ.”

ราเจช, คริสตินา, และ​สแตนลีย์​เป็น​ผู้​ที่​ได้​รับ​การ​ปฏิบัติ​อย่าง​มี​อคติ และ​ไม่​ใช่​มี​แต่​พวก​เขา​เท่า​นั้น. โคอิชิโร มัตซุอุระ ผู้​อำนวย​การ​องค์การ​ศึกษา​วิทยาศาสตร์​และ​วัฒนธรรม​แห่ง​สหประชาชาติ (ยูเนสโก) กล่าว​ว่า “ปัจจุบัน มนุษย์​หลาย​ร้อย​ล้าน​คน​กำลัง​ทน​ทุกข์​กับ​การ​เหยียด​เชื้อชาติ, การ​เลือก​ปฏิบัติ, ความ​เกลียด​กลัว​คน​ต่าง​ชาติ, และ​การ​กีด​กัน. การ​กระทำ​ที่​ลด​ศักดิ์ศรี​ของ​ความ​เป็น​คน​เช่น​นั้น ซึ่ง​ได้​รับ​การ​ส่ง​เสริม​โดย​ความ​ไม่​รู้​และ​อคติ ได้​กระตุ้น​ให้​เกิด​ความ​ไม่​สงบ​ภาย​ใน​หลาย​ประเทศ​และ​ทำ​ให้​มนุษย์​ได้​รับ​ความ​ทุกข์​ทรมาน​มาก​เหลือ​เกิน.”

ถ้า​คุณ​ไม่​เคย​ได้​รับ​การ​ปฏิบัติ​อย่าง​มี​อคติ คุณ​อาจ​รู้สึก​ยาก​ที่​จะ​เข้าใจ​ว่า เรื่อง​นี้​สร้าง​ความ​เจ็บ​ปวด​มาก​ขนาด​ไหน. หนังสือ​การ​เผชิญ​หน้า​กับ​อคติ (ภาษา​อังกฤษ) กล่าว​ว่า “บาง​คน​อด​ทน​กับ​เรื่อง​นี้​อย่าง​เงียบ ๆ. บาง​คน​โต้​ตอบ​อคติ​ด้วย​การ​แสดง​อคติ​มาก​ขึ้น.” อคติ​ก่อ​ความ​เสียหาย​ต่อ​ชีวิต​ใน​ทาง​ใด​บ้าง?

ถ้า​คุณ​อยู่​ใน​หมู่​ชน​กลุ่ม​น้อย คุณ​อาจ​รู้สึก​ว่า​คน​อื่น ๆ หลบ​เลี่ยง​คุณ, มอง​คุณ​เป็น​ศัตรู, หรือ​พูด​เหยียด​หยาม​วัฒนธรรม​ของ​คุณ. คุณ​อาจ​หา​งาน​ทำ​ได้​ยาก นอก​จาก​คุณ​จะ​ยอม​ทำ​งาน​ชั้น​ต่ำ​ที่​ไม่​มี​ใคร​อยาก​ทำ. อาจ​เป็น​เรื่อง​ยาก​ที่​จะ​หา​ที่​อยู่​อาศัย​ดี ๆ. ลูก​ของ​คุณ​อาจ​รู้สึก​โดด​เดี่ยว​และ​เพื่อน​นัก​เรียน​ก็​ไม่​ยอม​คบหา​สมาคม​ด้วย.

ที่​แย่​ยิ่ง​กว่า​นั้น อคติ​อาจ​ปลุก​เร้า​ผู้​คน​ให้​ทำ​ร้าย​กัน​หรือ​ถึง​กับ​ฆ่า​กัน​ด้วย​ซ้ำ. ที่​จริง ตลอด​ประวัติศาสตร์​มี​ตัว​อย่าง​ที่​น่า​สะเทือน​ใจ​มาก​มาย​ของ​ความ​รุนแรง​ที่​เกิด​จาก​อคติ รวม​ไป​ถึง​การ​สังหาร​หมู่​และ​การ​ฆ่า​ล้าง​เผ่า​พันธุ์.

อคติ​ตลอด​ศตวรรษ​ต่าง ๆ

สมัย​หนึ่ง คริสเตียน​เคย​เป็น​เป้าหมาย​หลัก​ของ​การ​ปฏิบัติ​อย่าง​มี​อคติ. เพื่อ​เป็น​ตัว​อย่าง ไม่​นาน​หลัง​จาก​พระ​เยซู​สิ้น​พระ​ชนม์ คลื่น​แห่ง​การ​กดขี่​ข่มเหง​อัน​โหด​ร้าย​ก็​โถม​กระหน่ำ​พวก​เขา. (กิจการ 8:3; 9:1, 2; 26:10, 11) สอง​ศตวรรษ​ต่อ​มา​ผู้​ที่​อ้าง​ตัว​ว่า​เป็น​คริสเตียน​ได้​รับ​การ​ปฏิบัติ​อย่าง​โหด​ร้าย​ทารุณ. เทอร์ทูลเลียน นัก​เขียน​แห่ง​ศตวรรษ​ที่​สาม​เขียน​ว่า “ถ้า​มี​โรค​ระบาด ก็​จะ​มี​เสียง​ร้อง​ขึ้น​ทันที​ว่า ‘โยน​พวก​คริสเตียน​ให้​สิงโต​กิน.’ ”

อย่าง​ไร​ก็​ตาม โดย​เริ่ม​ตั้ง​แต่​ศตวรรษ​ที่ 11 เมื่อ​เกิด​สงคราม​ครูเสด ชาว​ยิว​กลาย​เป็น​ชน​กลุ่ม​น้อย​ใน​ยุโรป​ที่​ถูก​เกลียด​ชัง. เมื่อ​กาฬโรค​ระบาด​ไป​ทั่ว​ทวีป​นั้น​และ​ทำ​ให้​ประชากร​ราว ๆ หนึ่ง​ใน​สี่​เสีย​ชีวิต​ภาย​ใน​ไม่​กี่​ปี ก็​เป็น​เรื่อง​ง่าย​ที่​ชาว​ยิว​จะ​ถูก​กล่าวหา​ว่า​เป็น​ต้น​เหตุ เนื่อง​จาก​หลาย​คน​เกลียด​ชัง​ชาว​ยิว​อยู่​แล้ว. เจเนตต์ ฟาร์เรลล์ เขียน​ใน​หนังสือ​ศัตรู​ที่​มอง​ไม่​เห็น (ภาษา​อังกฤษ) ว่า “กาฬโรค​ดู​เหมือน​เป็น​ข้อ​อ้าง​สำหรับ​ความ​เกลียด​ชัง​นี้ และ​ความ​เกลียด​ชัง​นี้​ทำ​ให้​ผู้​คน​ที่​หวาด​กลัว​มี​เป้าหมาย​ที่​สามารถ​โจมตี​ได้.”

ใน​ที่​สุด ผู้​ชาย​ชาว​ยิว​คน​หนึ่ง​ที่​อยู่​ทาง​ใต้​ของ​ฝรั่งเศส​ถูก​ทรมาน​จน​ยอม “สารภาพ” ว่า​ชาว​ยิว​เป็น​ต้น​เหตุ​ที่​ทำ​ให้​กาฬโรค​ระบาด​โดย​ใส่​ยา​พิษ​ลง​ใน​บ่อ​น้ำ. แน่นอน การ​สารภาพ​ของ​เขา​เป็น​เรื่อง​เท็จ แต่​คน​ทั่ว​ไป​กลับ​ถือ​ว่า​เป็น​ความ​จริง. ไม่​นาน ชุมชน​ชาว​ยิว​ทั้ง​สิ้น​ก็​ถูก​สังหาร​หมู่​ใน​สเปน, ฝรั่งเศส, และ​เยอรมนี. ดู​เหมือน​ไม่​มี​ใคร​สนใจ​ตัวการ​ที่​แท้​จริง ซึ่ง​ก็​คือ​หนู. และ​มี​เพียง​ไม่​กี่​คน​ที่​สังเกต​ว่า​คน​ยิว​ก็​เสีย​ชีวิต​ด้วย​กาฬโรค​เช่น​เดียว​กับ​คน​อื่น ๆ!

เมื่อ​มี​การ​จุด​ไฟ​แห่ง​อคติ​ให้​ลุก​โชน​ขึ้น มัน​อาจ​คุ​กรุ่น​อยู่​นาน​หลาย​ศตวรรษ. ตอน​กลาง​ศตวรรษ​ที่ 20 อะดอล์ฟ ฮิตเลอร์ โหม​กระพือ​ไฟ​แห่ง​การ​ต่อ​ต้าน​ชาว​ยิว​โดย​กล่าว​โทษ​พวก​เขา​ว่า​ทำ​ให้​เยอรมนี​แพ้​สงคราม​โลก​ครั้ง​ที่ 1. ใน​ตอน​ที่​สงคราม​โลก​ครั้ง​ที่ 2 สิ้น​สุด​ลง รูดอล์ฟ เฮอสส์ ผู้​บัญชา​การ​ค่าย​กัก​กัน​เอาชวิทซ์​ของ​นาซี ยอม​รับ​ว่า “การ​ฝึกฝน​ทาง​ทหาร​และ​การ​ปลูกฝัง​อุดมการณ์​ของ​เรา​สมมุติ​เอา​เอง​ว่า​เรา​ต้อง​ปก​ป้อง​เยอรมนี​ไว้​จาก​ชาว​ยิว.” เพื่อ​จะ “ปก​ป้อง​เยอรมนี” เฮอสส์​ได้​ควบคุม​การ​กวาด​ล้าง​ผู้​คน​ราว 2,000,000 คน ซึ่ง​ส่วน​ใหญ่​เป็น​ชาว​ยิว.

น่า​เศร้า หลัง​จาก​นั้น​หลาย​ทศวรรษ ความ​โหด​ร้าย​ทารุณ​ก็​ยัง​ไม่​หมด​สิ้น​ไป. ตัว​อย่าง​เช่น ใน​ปี 1994 ความ​เกลียด​ชัง​ระหว่าง​เผ่า​ปะทุ​ขึ้น​ใน​แอฟริกา​ตะวัน​ออก คือ​ระหว่าง​เผ่า​ทุตซี​กับ​เผ่า​ฮูตู ทำ​ให้​มี​อย่าง​น้อย​ห้า​แสน​คน​เสีย​ชีวิต. วารสาร​ไทม์​รายงาน​ว่า “ไม่​มี​ที่​สำหรับ​หลบ​ภัย. เลือด​ไหล​นอง​ตาม​ทาง​เดิน​ใน​โบสถ์​ที่​ซึ่ง​หลาย​คน​เข้า​ไป​หลบ. . . . การ​ต่อ​สู้​เป็น​แบบ​ประชิด​ตัว, แบบ​ตัว​ต่อ​ตัว​และ​โหด​ร้าย​จน​ไม่​อาจ​พรรณนา​ได้ เป็น​ความ​กระหาย​เลือด​ซึ่ง​ทำ​ให้​คน​ที่​รอด​มา​ได้​กลาย​เป็น​คน​เหม่อ​ลอย​ไม่​พูด​ไม่​จา.” แม้​แต่​เด็ก ๆ ก็​ไม่​อาจ​รอด​พ้น​ความ​รุนแรง​ที่​น่า​สยดสยอง​นี้. ประชาชน​คน​หนึ่ง​กล่าว​ว่า “รวันดา​เป็น​ประเทศ​เล็ก ๆ. แต่​เรา​มี​ความ​เกลียด​ชัง​ของ​ทั้ง​โลก.”

ความ​ขัด​แย้ง​ใน​ช่วง​ที่​อดีต​ประเทศ​ยูโกสลาเวีย​แตก​เป็น​ประเทศ​ย่อย ๆ ทำ​ให้​มี​ผู้​เสีย​ชีวิต​มาก​กว่า 200,000 คน. เพื่อน​บ้าน​ที่​เคย​อยู่​ร่วม​กัน​อย่าง​สงบ​สุข​มา​เป็น​เวลา​หลาย​ปี​กลับ​เข่น​ฆ่า​กัน. ผู้​หญิง​หลาย​พัน​คน​ถูก​ข่มขืน และ​หลาย​ล้าน​คน​ถูก​บังคับ​ให้​ออก​จาก​บ้าน​เนื่อง​จาก​นโยบาย​อัน​ทารุณ​ของ​การ​ฆ่า​ล้าง​เผ่า​พันธุ์.

แม้​ว่า​การ​มี​อคติ​ส่วน​ใหญ่​ไม่​ได้​ทำ​ให้​ผู้​คน​ฆ่า​กัน แต่​ก็​ทำ​ให้​เกิด​การ​แบ่ง​แยก​ผู้​คน​และ​เพาะ​บ่ม​ความ​บาดหมาง​กัน​อย่าง​เลี่ยง​ไม่​ได้. รายงาน​ฉบับ​หนึ่ง​เมื่อ​ไม่​นาน​มา​นี้​ของ​ยูเนสโก​กล่าว​ว่า แม้​จะ​อยู่​ใน​ยุค​โลกาภิวัตน์ แต่​การ​เหยียด​เชื้อชาติ​และ​การ​เลือก​ปฏิบัติ “ดู​เหมือน​กำลัง​มี​เพิ่ม​ขึ้น​ใน​โลก​ส่วน​ใหญ่.”

จะ​ทำ​อะไร​ได้​บ้าง​ไหม​เพื่อ​ขจัด​อคติ​ให้​หมด​ไป? เพื่อ​จะ​ตอบ​คำ​ถาม​นี้ เรา​ต้อง​หา​คำ​ตอบ​ว่า​อคติ​เกิด​ขึ้น​ใน​จิตใจ​และ​หัวใจ​ได้​อย่าง​ไร.

[กรอบ​หน้า 5]

ลักษณะ​ของ​การ​มี​อคติ

ใน​หนังสือ​ชื่อ​ลักษณะ​เด่น​ของ​อคติ (ภาษา​อังกฤษ) กอร์ดอน ดับเบิลยู. ออลล์พอร์ต กล่าว​ถึง​พฤติกรรม​ห้า​อย่าง​ที่​เกิด​จาก​การ​มี​อคติ. คน​ที่​มี​อคติ​มัก​จะ​แสดง​พฤติกรรม​เหล่า​นี้​หนึ่ง​อย่าง​หรือ​มาก​กว่า​นั้น.

1. การ​พูด​ใน​แง่​ลบ. คน​นั้น​พูด​ดูหมิ่น​เหยียด​หยาม​กลุ่ม​คน​ที่​เขา​ไม่​ชอบ.

2. การ​เลี่ยง. เขา​เลี่ยง​ไม่​คบหา​คน​ใด ๆ ที่​อยู่​ใน​กลุ่ม​นั้น.

3. การ​เลือก​ปฏิบัติ. เขา​กีด​กัน​สมาชิก​ของ​กลุ่ม​ที่​ถูก​ใส่​ร้าย​ไม่​ให้​ได้​งาน​ทำ, ไม่​ให้​มี​ที่​พัก​อาศัย, หรือ​สิทธิ​บาง​อย่าง​ใน​สังคม.

4. การ​ทำ​ร้าย​ร่าง​กาย. เขา​เข้า​ร่วม​ใน​การ​ก่อ​ความ​รุนแรง ซึ่ง​มี​จุด​ประสงค์​เพื่อ​ข่มขู่​คน​ที่​เขา​รู้สึก​เกลียด​ชัง.

5. การ​กวาด​ล้าง. เขา​มี​ส่วน​ใน​การ​กลุ้ม​รุม​ทำ​ร้าย, การ​สังหาร​หมู่, หรือ​การ​กวาด​ล้าง.

[ภาพ​หน้า 4]

ค่าย​อพยพ​เบนาโก แทนซาเนีย วัน​ที่ 11 พฤษภาคม 1994

ผู้​หญิง​คน​หนึ่ง​นั่ง​พัก​อยู่​ข้าง​ถัง​น้ำ. ผู้​อพยพ​กว่า 300,000 คน ซึ่ง​ส่วน​ใหญ่​เป็น​ชาว​รวันดา​เผ่า​ฮูตู ข้าม​พรม​แดน​ไป​ยัง​แทนซาเนีย

[ที่​มา​ของ​ภาพ]

Photo by Paula Bronstein/Liaison