ข้ามไปยังเนื้อหา

ข้ามไปยังสารบัญ

การฝึกอบรมเด็กตั้งแต่อายุน้อย ๆ สำคัญอย่างไร?

การฝึกอบรมเด็กตั้งแต่อายุน้อย ๆ สำคัญอย่างไร?

การ​ฝึก​อบรม​เด็ก​ตั้ง​แต่​อายุ​น้อย ๆ สำคัญ​อย่าง​ไร?

ฟลอเรนซ์​อายุ 40 ปี​และ​อยาก​มี​ลูก​มาก​เหลือ​เกิน. อย่าง​ไร​ก็​ตาม ช่วง​ที่​เธอ​ตั้ง​ครรภ์ แพทย์​เตือน​ว่า​ทารก​ที่​กำลัง​จะ​เกิด​มา​อาจ​มี​ขีด​จำกัด​ใน​ด้าน​การ​เรียน​รู้. เธอ​ไม่​หมด​หวัง และ​ได้​ให้​กำเนิด​ทารก​ที่​แข็งแรง.

ไม่​นาน​หลัง​จาก​ลูก​ชาย​ชื่อ​สตีเฟน​เกิด​มา ฟลอเรนซ์​เริ่ม​อ่าน​หนังสือ​ให้​ฟัง​และ​ใช้​ทุก​โอกาส​คุย​กับ​ลูก. เมื่อ​ลูก​โต​ขึ้น เธอ​กับ​ลูก​ก็​เล่น​เกมส์, ไป​เที่ยว​นอก​บ้าน, ฝึก​นับ​เลข, และ​ร้อง​เพลง​ด้วย​กัน. เธอ​จำ​ได้​ว่า “แม้​แต่​ช่วง​ที่​อาบ​น้ำ เรา​ก็​เล่น​เกมส์​บาง​อย่าง.” การ​ทำ​เช่น​นี้​คุ้มค่า​ที​เดียว.

ขณะ​ที่​สตีเฟน​อายุ 14 ปี เขา​สำเร็จ​การ​ศึกษา​จาก​มหาวิทยาลัย​ไมอามี​ด้วย​คะแนน​เกียรติ​นิยม. สอง​ปี​หลัง​จาก​นั้น เมื่อ​อายุ​ได้ 16 ปี เขา​จบ​วิทยาลัย​กฎหมาย และ​ตาม​ชีวประวัติ​ของ​เขา ต่อ​มา​เขา​ได้​เป็น​ทนาย​ความ​ที่​อายุ​น้อย​ที่​สุด​ใน​สหรัฐ. มารดา​ของ​เขา ดร. ฟลอเรนซ์ แบคคัส เป็น​อดีต​ครู​และ​อาจารย์​แนะ​แนว​ที่​ออก​จาก​งาน ซึ่ง​ได้​อุทิศ​เวลา​อย่าง​มาก​ให้​กับ​การ​ศึกษา​เรื่อง​การ​สอน​ให้​เด็ก​เรียน​รู้​ตั้ง​แต่​อายุ​น้อย ๆ. เธอ​เชื่อ​มั่น​ว่า การ​เอา​ใจ​ใส่​และ​การ​กระตุ้น​ลูก​ตั้ง​แต่​ยัง​เป็น​ทารก​นั้น​เปลี่ยน​อนาคต​ของ​เขา.

กรรมพันธุ์​หรือ​การ​เลี้ยง​ดู

หัวข้อ​สำคัญ​ที่​นัก​จิตวิทยา​เด็ก​โต้​แย้ง​กัน​เมื่อ​เร็ว ๆ นี้​คือ อะไร​มี​บทบาท​สำคัญ​ต่อ​พัฒนาการ​ของ​เด็ก “กรรมพันธุ์”—สิ่ง​ที่​เด็ก​ได้​รับ​สืบ​ทอด​มา หรือ “การ​เลี้ยง​ดู”—การ​ปลูกฝัง​และ​การ​ฝึก​อบรม​ที่​เขา​ได้​รับ. นัก​วิจัย​ส่วน​ใหญ่​เชื่อ​ว่า พัฒนาการ​ของ​เด็ก​ได้​รับ​อิทธิพล​จาก​ปัจจัย​ทั้ง​สอง​อย่าง​นี้​รวม​กัน.

ผู้​เชี่ยวชาญ​ด้าน​พัฒนาการ​ของ​เด็ก ดร. เจ. เฟรเซอร์ มัสตาร์ด อธิบาย​ว่า “โดย​การ​เฝ้า​สังเกต สิ่ง​ที่​เรา​รู้​ตอน​นี้​ก็​คือ ประสบการณ์​ที่​เด็ก​ได้​พบ​เจอ​ตั้ง​แต่​อายุ​น้อย ๆ มี​ผล​กระทบ​ต่อ​พัฒนาการ​ทาง​สมอง​ของ​เด็ก.” ศาสตราจารย์​ซูซาน กรีนฟิลด์ กล่าว​เช่น​กัน​ว่า “ตัว​อย่าง​เช่น เรา​รู้​ว่า สมอง​ส่วน​ที่​ควบคุม​นิ้ว​มือ​ข้าง​ซ้าย​ของ​นัก​ไวโอลิน​มี​การ​พัฒนา​มาก​กว่า​ของ​คน​ทั่ว​ไป.”

สิ่ง​ที่​ควร​จะ​สอน​เขา

เพื่อ​ตอบ​สนอง​ผล​การ​ศึกษา​วิจัย​นี้ บิดา​มารดา​หลาย​คน​ไม่​เพียง​แต่​พยายาม​อย่าง​เต็ม​ที่​เพื่อ​ส่ง​ลูก​ของ​ตน​ไป​ยัง​ศูนย์​รับ​เลี้ยง​เด็ก​ที่​ดี​ที่​สุด​เท่า​นั้น แต่​ยัง​ทุ่มเท​เงิน​ทอง​เพื่อ​ให้​ลูก​ได้​เรียน​ดนตรี​และ​ศิลปะ. บาง​คน​เชื่อ​ว่า หาก​เด็ก​ฝึกฝน​ทุก​สิ่ง​แล้ว เมื่อ​เขา​โต​ขึ้น เขา​จะ​สามารถ​ทำ​ได้​ทุก​อย่าง. การ​สอน​พิเศษ​และ​โรง​เรียน​เตรียม​อนุบาล​มี​อยู่​แพร่​หลาย. บิดา​มารดา​บาง​คน​ตั้งใจ​ทำ​ทุก​สิ่ง​ที่​อาจ​ทำ​ได้​เพื่อ​ให้​ลูก​ของ​ตน​ได้​เปรียบ​คน​อื่น.

การ​ทุ่มเท​แบบ​นี้​มี​ประโยชน์​อย่าง​แท้​จริง​ไหม? ขณะ​ที่​การ​ทำ​เช่น​นี้​อาจ​ดู​เหมือน​ทำ​ให้​เด็ก​ได้​รับ​การ​ฝึก​สอน​ซึ่ง​จะ​ช่วย​ให้​เขา​มี​โอกาส​มาก​มาย แต่​ใน​หลาย​กรณี เด็ก​เหล่า​นี้​พลาด​โอกาส​ได้​บทเรียน​สำคัญ​จาก​การ​เล่น​ตาม​ประสา​เด็ก ๆ. ผู้​ให้​การ​ศึกษา​กล่าว​ว่า การ​เล่น​ตาม​ธรรมชาติ​ของ​เด็ก​จะ​กระตุ้น​ความ​คิด​สร้าง​สรรค์​และ​พัฒนา​ทักษะ​ของ​เด็ก​ทาง​ด้าน​จิตใจ, ด้าน​อารมณ์, และ​การ​อยู่​ร่วม​กับ​คน​อื่น.

ผู้​เชี่ยวชาญ​ด้าน​พัฒนาการ​ของ​เด็ก​บาง​คน​เชื่อ​ว่า การ​ที่​พ่อ​แม่​เป็น​ฝ่าย​กำหนด​ว่า​จะ​ให้​ลูก​เล่น​อะไร​ทำ​ให้​เกิด​เด็ก​มี​ปัญหา​กลุ่ม​ใหม่ นั่น​คือ​เด็ก​ที่​ถูก​พ่อ​แม่​บงการ​ทุก​อย่าง ถูก​กดดัน​และ​มี​อารมณ์​ไม่​มั่นคง, นอน​ไม่​หลับ, และ​บ่น​ปวด​โน่น​ปวด​นี่. นัก​จิตวิทยา​คน​หนึ่ง​กล่าว​ว่า เมื่อ​ถึง​เวลา​ที่​เด็ก​เหล่า​นี้​เป็น​วัยรุ่น เด็ก​หลาย​คน​ไม่​ได้​เรียน​รู้​ที่​จะ​พัฒนา​ความ​สามารถ​ใน​การ​รับมือ​กับ​ปัญหา อีก​ทั้ง​เป็น​คน “หมด​อาลัย​ตาย​อยาก, ไม่​เข้า​สังคม, และ​ขืน​อำนาจ.”

ด้วย​เหตุ​นี้ บิดา​มารดา​หลาย​คน​จึง​รู้สึก​ไม่​แน่​ใจ. พวก​เขา​ต้องการ​ช่วย​ลูก ๆ ของ​ตน​ให้​พัฒนา​ศักยภาพ​ได้​อย่าง​เต็ม​ที่. กระนั้น พวก​เขา​อาจ​เห็น​ว่า​ไม่​ฉลาด​ที่​จะ​บังคับ​ลูก​มาก​เกิน​ไป​และ​เร็ว​เกิน​ไป​ขณะ​ที่​ยัง​เป็น​เด็ก​เล็ก ๆ. มี​วิธี​ใด​ไหม​ที่​สมดุล​และ​มี​เหตุ​ผล? เด็ก ๆ น่า​จะ​พัฒนา​ความ​สามารถ​ใน​ด้าน​ใด และ​จะ​ส่ง​เสริม​สิ่ง​นี้​ได้​โดย​วิธี​ใด? บิดา​มารดา​จะ​ทำ​อะไร​ได้​เพื่อ​ให้​แน่​ใจ​ว่า​ลูก ๆ ของ​ตน​จะ​ประสบ​ความ​สำเร็จ? บทความ​ต่อ​ไป​จะ​พิจารณา​คำ​ถาม​เหล่า​นี้.

[ภาพ​หน้า 3]

ประสบการณ์​ชีวิต​ใน​วัย​เด็ก​อาจ​มี​ผล​ต่อ​พัฒนาการ​ทาง​สมอง​ของ​เด็ก

[ภาพ​หน้า 4]

การ​เล่น​กระตุ้น ความ​คิด​สร้าง​สรรค์​และ​พัฒนา​ทักษะ​ต่าง ๆ ของ​เด็ก