ข้ามไปยังเนื้อหา

ข้ามไปยังสารบัญ

การเพ่งดูโลก

การเพ่งดูโลก

การ​เพ่ง​ดู​โลก

สมอง​ทำ​งาน​หนัก​เกิน​ไป​หรือ?

นัก​วิจัย​บาง​คน​กล่าว​ว่า “การ​ทำ​อะไร​หลาย​อย่าง​มาก​เกิน​ไป​ใน​เวลา​เดียว​กัน​จะ​ทำ​ให้​สมอง​ทำ​งาน​หนัก” หนังสือ​พิมพ์​โทรอนโต สตาร์ ของ​แคนาดา​รายงาน. การ​ศึกษา​วิจัย​บ่ง​ชี้​ว่า การ​ทำ​งาน​หลาย​อย่าง​พร้อม​กัน​ทำ​ให้​ประสิทธิภาพ​ลด​ลง, เกิด​ความ​ผิด​พลาด, และ​ถึง​กับ​ทำ​ให้​เจ็บ​ป่วย. ตัว​อย่าง​เช่น การ​ทำ​เช่น​นั้น​อาจ “ทำ​ให้​ความ​จำ​แย่​ลง, ทำ​ให้​ปวด​หลัง, อาจ​ทำ​ให้​คน​นั้น​เป็น​ไข้หวัด​และ​ท้อง​อืด​ท้อง​เฟ้อ​ได้​ง่าย และ​ถึง​กับ​ทำ​ให้​ปวด​เหงือก​ปวด​ฟัน.” การ​ศึกษา​โดย​สถาบัน​สุขภาพ​แห่ง​สหรัฐ​แสดง​ว่า เมื่อ​คน​เรา​ทำ​อะไร​บาง​อย่าง สมอง​หลาย​ส่วน​จะ​ถูก​ใช้​งาน. แต่​เมื่อ​คน​เรา​พยายาม​จะ​ทำ​อะไร​สอง​สาม​อย่าง​ใน​เวลา​เดียว​กัน เช่น พูด​โทรศัพท์​มือ​ถือ​ขณะ​ขับ​รถ ดร. จอห์น สลัดกี นัก​ประสาท​วิทยา​แห่ง​มหาวิทยาลัย​เอมอรี กล่าว​ว่า “สมอง​ก็​เริ่ม​จะ​หยุด​ทำ​งาน​ไป​เลย​จริง ๆ. สมอง​ไม่​เพียง​ทำ​อย่าง​นั้น​ไม่​ได้ แต่​มัน​ไม่​ยอม​ทำ.” นัก​วิจัย​กล่าว​ว่า ผู้​คน​ต้อง​ทำ​อะไร​เพลา ๆ ลง​บ้าง​และ​ต้อง​ยอม​รับ​ความ​จริง​ที่​ว่า​สมอง​จะ​ทำ​ทุก​สิ่ง​ที่​พวก​เขา​สั่ง​ให้​มัน​ทำ​ไม่​ได้.

ค้น​พบ​ปลา​ชนิด​ใหม่

นัก​วิทยาศาสตร์​ซึ่ง​ได้​ศึกษา​ลุ่ม​น้ำ​เคารา​ใน​เวเนซุเอลา​ได้​ประกาศ​เมื่อ​ไม่​นาน​มา​นี้​ถึง​เรื่อง “การ​ค้น​พบ​ปลา​ชนิด​ใหม่​สิบ​ชนิด.” หนังสือ​พิมพ์​เอล อูนิเวอร์ซัล ของ​เวเนซุเอลา​กล่าว​ว่า ปลา​เหล่า​นี้​มี​ปลา​ตัว​เล็ก ๆ “ที่​มี​หาง​สี​แดง​สด, ปลา​จำพวก​ปลา​ดุก​ที่​มี​หนวด​อยู่​บน​หัว, และ​ปลา​ปิรันยา​ที่​กิน​ทั้ง​เนื้อ​และ​ผลไม้.” พื้น​ที่​บริเวณ​นี้​ซึ่ง​เป็น​ป่า​ดิบ​ชื้น​และ​ทาง​น้ำ​ที่​แทบ​ไม่​เคย​มี​คน​เข้า​ไป​รบกวน ได้​รับ​การ​พรรณนา​ว่า​เป็น​สถาน​ที่​ที่​อุดม​สมบูรณ์​และ​มี​ความ​หลาก​หลาย​ทาง​ชีวภาพ​มาก​ที่​สุด​แห่ง​หนึ่ง​ของ​โลก. นัก​วิทยาศาสตร์​กำลัง​ขอร้อง​รัฐบาล​ให้​คุ้มครอง​พื้น​ที่​ดัง​กล่าว ซึ่ง​ถูก​คุกคาม​โดย​การ​เกษตร, การ​ประมง, โครงการ​บ้าน​จัด​สรร, การ​ทำ​เหมือง, และ​โครงการ​ผลิต​ไฟฟ้า​พลัง​น้ำ​ที่​อาจ​เกิด​ขึ้น.

ความ​เครียด​ใน​ห้อง​รอ​พบ​แพทย์

วารสาร​พซือโคโลกี ฮอยเท กล่าว​ว่า “โดย​เฉลี่ย​แล้ว คนไข้​ชาว​เยอรมัน​ต้อง​รอ 48 นาที​กว่า​พวก​เขา​จะ​ถูก​เรียก​เข้า​ไป​พบ​แพทย์. บาง​คน​ต้อง​รอ​นาน​กว่า​นั้น​มาก.” การ​ศึกษา​วิจัย​เมื่อ​เร็ว ๆ นี้​ใน​ที่​ทำ​งาน​ของ​แพทย์ 610 คน​โดย​สถาบัน​วิเคราะห์​การ​จัด​การ​ด้าน​ธุรกิจ, การ​ให้​คำ​ปรึกษา, และ​การ​พัฒนา​ยุทธศาสตร์ ได้​เปิด​เผย​ว่า “คนไข้​ไม่​ชอบ​การ​รอ​มาก.” รายงาน​นี้​กล่าว​ว่า ใน​ที่​ที่​แพทย์​ไม่​ได้​ทำ​อะไร​เพื่อ​แก้​ปัญหา​นี้ “คนไข้​ประจำ​ลด​ลง​ถึง 19 เปอร์เซ็นต์​ภาย​ใน​หนึ่ง​ปี.” ระดับ​ความ​เครียด​ของ​ทั้ง​แพทย์​และ​ผู้​ช่วย​ใน​ที่​ทำ​งาน​ที่​มี​คน​มาก​เกิน​ไป​มี​สูง​กว่า​ใน​สำนักงาน​ที่​อื่น ๆ มาก และ​ประสิทธิภาพ​ใน​การ​ทำ​งาน​ก็​ลด​ต่ำ​ลง​ถึง​หนึ่ง​ใน​สาม. ยิ่ง​กว่า​นั้น ผู้​ช่วย​ยัง​ทำ​งาน​ผิด​พลาด​มาก​ขึ้น​ถึง​สอง​เท่า.

สับสน​ว่า​อะไร​ถูก​อะไร​ผิด

หนังสือ​พิมพ์​เดอะ ซัน-เฮรัลด์ แห่ง​นคร​ซิดนีย์​กล่าว​ว่า “ชาว​ออสเตรเลีย​เกือบ​หนึ่ง​ใน​สี่​ยอม​รับ​ว่า​เขา​ขโมย​เครื่อง​เขียน​จาก​ที่​ทำ​งาน.” การ​สำรวจ​พนักงาน​ใน​สำนักงาน​กว่า 2,000 คน​เผย​ให้​เห็น​ว่า สิ่ง​ที่​ทำ​กัน​ทั่ว​ไป​ใน​ที่​ทำ​งาน​ยัง​รวม​ไป​ถึง​การ​เข้า​ไป​ดู​ข้อมูล​ส่วน​ตัว​ของ​เพื่อน​ร่วม​งาน, การ​ใช้​อินเทอร์เน็ต​เพื่อ​ทำ​ธุระ​ส่วน​ตัว​ใน​เวลา​งาน​ของ​บริษัท, ดาวน์​โหลด​ซอฟต์แวร์​ที่​ไม่​ได้​รับ​อนุญาต​ลง​บน​คอมพิวเตอร์​ใน​ที่​ทำ​งาน, และ​เอา​ซอฟต์แวร์​ของ​สำนักงาน​ไป​ใช้​ที่​บ้าน. แกรี ดูลีย์ ซึ่ง​ดู​แล​การ​สำรวจ​ครั้ง​นี้​กล่าว​ว่า “มี​หลาย​คน​ที่​สับสน​อย่าง​เห็น​ได้​ชัด​ว่า​อะไร​ถูก​อะไร​ผิด.”

งาน​ศพ​สัตว์​เลี้ยง—ควร​เสีย​ภาษี​ไหม?

หนังสือ​พิมพ์​ไอ​เอช​ที อาซาฮี ชิมบุน ของ​ญี่ปุ่น​รายงาน​ว่า เมื่อ​ไม่​นาน​มา​นี้​วัด​พุทธ​ศาสนา​แห่ง​หนึ่ง​ใน​ญี่ปุ่น​ได้​ยื่น​ฟ้อง​กรม​สรรพากร โดย​อ้าง​ว่า​ราย​ได้​ที่​วัด​ได้​รับ​จาก​การ​จัด​งาน​ศพ, การ​เผา, และ​การ​เก็บ​เถ้า​ของ​สัตว์​เลี้ยง​ควร​ได้​รับ​การ​ยก​เว้น​ภาษี. ส่วน​กรม​สรรพากร​ก็​แย้ง​ว่า การ​เผา​และ​พิธีกรรม​ทาง​ศาสนา​สำหรับ​สัตว์​เลี้ยง​ถือ​เป็น “ธุรกิจ​ที่​มี​การ​ทำ​สัญญา” และ​การ​เก็บ​เถ้า​ก็​ทำ​ให้​วัด​จัด​อยู่​ใน​ประเภท “ธุรกิจ​คลัง​สินค้า.” ใน​อีก​ด้าน​หนึ่ง ทาง​วัด​อ้าง​ว่า “พิธี​ศพ​เป็น​พิธีกรรม​ทาง​ศาสนา ซึ่ง​มี​เป้าหมาย​เพื่อ​เยียว​ยา​ความ​ทุกข์​ของ​เจ้าของ​สัตว์​เลี้ยง​ที่​เศร้า​โศก และ​เพื่อ​ปลอบโยน​จิตวิญญาณ​ของ​สัตว์​เลี้ยง” โดย​ไม่​หวัง​ผล​กำไร​ใด ๆ.

เครื่องบิน​ตก​น้อย​ลง

วารสาร​ไฟลต์ อินเตอร์​แนชันแนล รายงาน​ว่า จำนวน​อุบัติเหตุ​ทาง​อากาศ​ทั่ว​โลก​ใน​ปี 2003 นั้น​มี​ต่ำ​ที่​สุด​นับ​ตั้ง​แต่​ทศวรรษ 1950 เมื่อ​เริ่ม​มี​การ​บันทึก​สถิติ. จำนวน​ผู้​เสีย​ชีวิต 702 คน​นั้น​ต่ำ​ที่​สุด​นับ​ตั้ง​แต่​ปี 1990 ทั้ง ๆ ที่​มี​การ​จราจร​ทาง​อากาศ​เพิ่ม​ขึ้น 40 เปอร์เซ็นต์​ตั้ง​แต่​ปี​นั้น. หนังสือ​พิมพ์​เดลี เทเลกราฟ แห่ง​กรุง​ลอนดอน​กล่าว​ว่า เหตุ​ผล​หนึ่ง​ที่​ให้​ไว้ “ที่​มี​ความ​ปลอด​ภัย​โดย​รวม​เพิ่ม​ขึ้น​ก็​คือ เหตุ​การณ์​ที่​เกิด​จาก​ความ​ผิด​พลาด​ใน​ระบบ​นำ​ร่อง​จน​ทำ​ให้​เครื่องบิน​พุ่ง​ชน​ภูเขา​สูง​นั้น​มี​น้อย​ลง. กล่าว​กัน​ว่า​ระบบ​เตือน​ให้​ทราบ​ระดับ​พื้น​ดิน​รุ่น​ใหม่​มี​ส่วน​ช่วย​ได้ แต่​เทคโนโลยี​นี้​ได้​รับ​การ​พรรณนา​ว่า ‘ใช่​ว่า​จะ​ผิด​พลาด​ไม่​ได้.’” เครื่องบิน​รุ่น​เก่า​หลาย​ลำ​ไม่​มี​ระบบ​ดัง​กล่าว.

ดี​เกลือ​ฝรั่ง​ช่วย​ชีวิต​หญิง​มี​ครรภ์

หนังสือ​พิมพ์​เดอะ ไทมส์ แห่ง​กรุง​ลอนดอน​รายงาน​ว่า การ​บำบัด​ที่​ราคา​ไม่​แพง​และ​ง่าย ๆ โดย​ใช้​แมกนีเซียม​ซัลเฟต​ละลาย​น้ำ (ดี​เกลือ​ฝรั่ง) สามารถ​ลด​โอกาส​ลง​ได้​ครึ่ง​หนึ่ง​ที่​ผู้​หญิง​จะ​เกิด​อาการ​แทรก​ซ้อน​ใน​การ​ตั้ง​ครรภ์​ซึ่ง​อาจ​ทำ​ให้​ถึง​ตาย. โรค​พิษ​แห่ง​ครรภ์​ระยะ​ชัก (Eclampsia) ซึ่ง​เป็น​ภาวะ​ความ​ดัน​โลหิต​สูง​ที่​เป็น​อันตราย​แบบ​หนึ่ง​ซึ่ง​ทำ​ให้​ชัก เป็น​เหตุ​ให้​ผู้​หญิง​และ​ลูก​ใน​ครรภ์​เสีย​ชีวิต​กว่า 50,000 คน​ทั่ว​โลก​ใน​แต่​ละ​ปี. แม้​ว่า​เคย​มี​การ​ใช้​แมกนีเซียม​ซัลเฟต​แบบ​ฉีด​หรือ​หยด​เข้า​หลอด​เลือด​มา​หลาย​ปี​ใน​สหรัฐ​เพื่อ​รักษา​โรค​พิษ​แห่ง​ครรภ์​ระยะ​ก่อน​ชัก (preeclampsia) ซึ่ง​อาจ​รุนแรง​ขึ้น​เป็น​โรค​พิษ​แห่ง​ครรภ์​ระยะ​ชัก​ได้​ถ้า​ไม่​ได้​รับ​การ​รักษา แต่​การ​บำบัด​ด้วย​วิธี​นี้​ก็​ยัง​ไม่​แพร่​หลาย​ใน​ประเทศ​อื่น ๆ ส่วน​ใหญ่. ด้วย​เหตุ​นี้ หนังสือ​พิมพ์​เดอะ ไทมส์ กล่าว​ว่า คณะ​แพทย์​จาก​นานา​ประเทศ​ที่​สถาบัน​วิทยาศาสตร์​สุขภาพ​ใน​เมือง​ออกซฟอร์ด ประเทศ​อังกฤษ “ได้​ตัดสิน​ใจ​ที่​จะ​ทำ​การ​ทดสอบ​ถึง​ผล​ประโยชน์​ของ​เกลือ​ชนิด​นี้​โดย​ทำ​การ​ทดลอง​กับ​ผู้​หญิง 10,000 คน​ใน 33 ประเทศ. หลัง​จาก​สาม​ปี​ผ่าน​ไป . . . การ​ทดลอง​ก็​หยุด​ลง​ก่อน​เวลา​เมื่อ​ปรากฏ​ชัด​ว่า​การ​บำบัด​นั้น​ได้​ผล​ดี​มาก​สัก​เพียง​ไร: การ​ใช้​แมกนีเซียม​ซัลเฟต​กับ​ผู้​หญิง​ที่​เป็น​โรค​พิษ​แห่ง​ครรภ์​ระยะ​ก่อน​ชัก​ลด​ความ​เสี่ยง​ที่​จะ​เกิด​การ​ชัก​ลง​ได้​ถึง 58 เปอร์เซ็นต์ และ​ลด​ความ​เสี่ยง​ที่​จะ​เสีย​ชีวิต​ลง​ได้​ถึง 45 เปอร์เซ็นต์.” การ​รักษา​นี้ “มี​ค่า​ใช้​จ่าย​เพียง 3 ปอนด์ [220 บาท] ต่อ​ผู้​หญิง​หนึ่ง​คน ซึ่ง​ทำ​ให้​การ​รักษา​วิธี​นี้ . . . มี​ไว้​พร้อม​สำหรับ​ผู้​หญิง​ใน​ประเทศ​กำลัง​พัฒนา.”

นิสัย​การ​กิน​ของ​วัยรุ่น

หนังสือ​พิมพ์​เดลี เทเลกราฟ แห่ง​กรุง​ลอนดอน​กล่าว​ว่า “นัก​เรียน​หญิง​วัยรุ่น​จำนวน​มาก​จน​น่า​ตกใจ​ที่​ได้​งด​อาหาร​บาง​มื้อ​เพราะ​กังวล​เกี่ยว​กับ​รูป​ร่าง​ของ​ตัว​เอง​และ​พยายาม​จะ​เลียน​แบบ​พวก​นาง​แบบ​และ​ดารา​ชื่อ​ดัง.” การ​ศึกษา​นิสัย​การ​กิน​อาหาร​ของ​นัก​เรียน 300,000 คน​โดย​หน่วย​งาน​ที่​ให้​ความ​รู้​ด้าน​สุขภาพ​ใน​โรง​เรียน​ของ​อังกฤษ​เปิด​เผย​ว่า กว่า 40 เปอร์เซ็นต์​ของ​เด็ก​ผู้​หญิง​อายุ 14 และ 15 ปี “ไป​โรง​เรียน​โดย​ไม่​ได้​รับประทาน​อาหาร​เช้า. เทียบ​กับ​ข้อมูล​คล้าย ๆ กัน​ที่​จัด​ทำ​ขึ้น​ใน​ปี 1984 จำนวน​เด็ก​นัก​เรียน​ที่​ออก​จาก​บ้าน​โดย​ไม่​ได้​รับประทาน​อาหาร​เช้า​เพิ่ม​ขึ้น​เกือบ​สอง​เท่า.” จำนวน​เด็ก​นัก​เรียน​ที่​งด​อาหาร​กลางวัน​ก็​เพิ่ม​ขึ้น​ด้วย จาก 2 เปอร์เซ็นต์​ใน​ปี 1984 เป็น 18 เปอร์เซ็นต์​ใน​ปี 2001. เนื่อง​จาก​มี​ความ​เสี่ยง​สูง​มาก​ที่​นัก​เรียน​จะ​เกิด​ความ​ผิด​ปกติ​ใน​การ​กิน​อย่าง​เช่น อะโนเรกเซีย​เนอร์โวซา​และ​บูลิเมีย จึง​มี​การ​ขอร้อง​ครู​ใหญ่​ใน​โรง​เรียน​เด็ก​ผู้​หญิง​ให้​หมั่น​ตรวจ​ดู​น้ำหนัก​นัก​เรียน​ของ​ตน. เด็ก​ผู้​ชาย​ก็​สนใจ​เรื่อง​การ​ควบคุม​อาหาร​มาก​ขึ้น​ด้วย. ท่ามกลาง​เด็ก​ผู้​ชาย​เหล่า​นั้น 31 เปอร์เซ็นต์​ของ​เด็ก​อายุ 12 ถึง 13 ปี และ 25 เปอร์เซ็นต์​ของ​เด็ก​อายุ 14 ถึง 15 ปี​ต้องการ​ลด​น้ำหนัก โดย​เพิ่ม​ขึ้น​จาก​เดิม 26 เปอร์เซ็นต์​และ 21 เปอร์เซ็นต์​ตาม​ลำดับ.