รับการสอนตั้งแต่เด็กให้รักพระเจ้า
รับการสอนตั้งแต่เด็กให้รักพระเจ้า
เล่าโดย อะนาทอลี เมลนิค
หลายคนมักจะเรียกผมอย่างรักใคร่ว่าคุณตา. คำนี้ทำให้ผมตื้นตันใจมาก เพราะชวนให้ผมนึกถึงคุณตาของผมเอง ท่านเป็นผู้ที่ผมรักอย่างยิ่งและผมยังเป็นหนี้บุญคุณท่านมากทีเดียว. ขอให้ผมเล่าเรื่องคุณตาคุณยายและอิทธิพลใหญ่หลวงที่ท่านมีต่อชีวิตของสมาชิกครอบครัว รวมถึงชีวิตของอีกหลายคน.
ผมเกิดที่หมู่บ้านฮลีนา ทางตอนเหนือของประเทศที่รู้จักกันในปัจจุบันว่ามอลโดวา. * ในช่วงทศวรรษ 1920 มีผู้เดินทางเผยแพร่ที่ได้รู้จักกันว่าพวกพิลกริม เดินทางข้ามพรมแดนโรมาเนียมายังภูมิภาคของเราซึ่งเป็นเนินเขาที่สวยงาม. คุณตาและคุณยายตอบรับข่าวดีทันทีเมื่อท่านได้ฟังคำสอนจากคัมภีร์ไบเบิล. ปี 1927 ท่านทั้งสองมาเป็นนักศึกษาพระคัมภีร์ ชื่อที่เรียกพยานพระยะโฮวาในสมัยนั้น. เมื่อสงครามโลกครั้งที่สองเริ่มขึ้นในปี 1939 ที่หมู่บ้านเล็ก ๆ ของเรามีประชาคมแห่งพยานพระยะโฮวาอยู่แล้ว.
ผมเกิดปี 1936 ตอนนั้นญาติ ๆ ทุกคนเป็นพยานพระยะโฮวา ยกเว้นพ่อเท่านั้นที่ยังไปโบสถ์ออร์โทด็อกซ์. ในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง พ่อเริ่มไตร่ตรองอย่างจริงจังเกี่ยวกับจุดมุ่งหมายของชีวิต และในที่สุดท่านก็ได้อุทิศตัวแด่พระยะโฮวาพระเจ้า พระผู้สร้างของเรา และแสดงสัญลักษณ์การอุทิศตัวด้วยการจุ่มตัวมิดในน้ำ. คุณตามีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งในการช่วยครอบครัวของเราให้ก้าวหน้าฝ่ายวิญญาณ. ท่านมีความรักอันแรงกล้าต่อคัมภีร์ไบเบิล และจำข้อคัมภีร์หลายร้อยข้อได้ขึ้นใจ. ไม่ว่าจะเป็นการสนทนาเรื่องใด ๆ ท่านก็สามารถนำเรื่องนั้น ๆ เข้าสู่คัมภีร์ไบเบิลได้ทุกเรื่อง.
ผมมักจะนั่งตักคุณตาและฟังท่านเล่าเรื่องราวในคัมภีร์ไบเบิล. ท่านได้ปลูกฝังความรักต่อพระเจ้าไว้ในหัวใจของผม. ผมรู้สึกขอบคุณท่านมากเหลือเกิน! เมื่อผมอายุแปดขวบ ผมไปประกาศครั้งแรกกับคุณตา. เราได้ชี้ให้ชาวบ้านดูจากคัมภีร์ไบเบิลว่าพระยะโฮวาคือผู้ใด และจะเข้าใกล้พระองค์โดยวิธีใด.
กดขี่จากระบอบคอมมิวนิสต์
ปี 1947 ภายใต้อำนาจบังคับตามนโยบายคอมมิวนิสต์ และคริสตจักรออร์โทด็อกซ์ เจ้าหน้าที่บ้านเมืองเริ่มข่มเหงพยานพระยะโฮวาในมอลโดวา. หน่วยงานหนึ่งที่ภายหลังเรียกว่าเคจีบี รวมทั้งตำรวจท้องที่ได้มาที่บ้านของเรา แล้วซักถามเราว่าใครนำหน้าในการประกาศ, สรรพหนังสือส่งมาจากไหน, และเราประชุมนมัสการพระเจ้าที่ไหน. พวก
เขาบอกว่าจะต้องเลิกล้มกิจกรรมของพยานพระยะโฮวา ด้วยการอ้างว่าพยานฯ “ขัดขวางความก้าวหน้าของระบอบคอมมิวนิสต์ในประเทศ.”เวลานั้น พ่อซึ่งเป็นผู้ที่มีการศึกษาดีได้มารักความจริงของคัมภีร์ไบเบิลอย่างลึกซึ้งเช่นกัน. ทั้งพ่อและคุณตารู้ว่าจะตอบผู้ซักถามอย่างไรเพื่อจะไม่เผยชื่อพี่น้องชายหญิงของเรา. ท่านทั้งสองเป็นคนกล้าหาญและเปี่ยมด้วยความรักใคร่ คอยเอาใจใส่ดูแลสวัสดิภาพของพี่น้องร่วมความเชื่อ. แม่เป็นคนใจเย็นและควบคุมอารมณ์ได้เสมอ.
ปี 1948 พ่อถูกจับกุมตัวไป. เราไม่เคยได้รับแจ้งเลยว่าพ่อทำความผิดด้วยข้อหาอะไร. พ่อถูกตัดสินจำคุกเจ็ดปีในเรือนจำที่มีการรักษาความปลอดภัยอย่างเข้มงวด และยังต้องโทษเนรเทศอีกสองปี. ในที่สุด พ่อก็ถูกส่งตัวไปที่มากาดาน ภูมิภาคที่อยู่ไกลขึ้นไปทางตะวันออกเฉียงเหนือของรัสเซีย ห่างจากบ้านเรา 7,000 กว่ากิโลเมตร. เราไม่ได้พบกันนานถึงเก้าปี. ความเป็นอยู่ของพวกเรายากลำบากมากเมื่อไม่มีพ่ออยู่ด้วย แต่คุณตาเป็นผู้ให้การช่วยเหลือเกื้อกูลและให้การชูใจอย่างแท้จริง.
เนรเทศไปอยู่ต่างถิ่น
คืนวันที่ 6 มิถุนายน 1949 เจ้าหน้าที่พร้อมกับพลทหารอีก 2 นายได้บุกเข้ามาในบ้านของเรา. พวกเขาสั่งเราให้ออกจากบ้านภายในสองชั่วโมงแล้วไปขึ้นรถของเขา. ไม่มีการชี้แจงใด ๆ ทั้งสิ้น. เขาเพียงแต่บอกว่าพวกเราจะถูกเนรเทศและจะไม่มีวันได้กลับมาอีก. ดังนั้น ผมถูกส่งไปไซบีเรียพร้อมกับแม่, คุณตาคุณยาย, และเพื่อนร่วมความเชื่อ. ตอนนั้นผมอายุแค่ 13 ปี. เพียงไม่กี่สัปดาห์ต่อจากนั้น เราก็มาถึงที่ลุ่มชื้นแฉะกลางป่าสนไทกาที่หนาทึบ. ที่นี่ช่างต่างกันลิบลับเมื่อเทียบกับสภาพแวดล้อมที่บ้านเกิดของผม ซึ่งผมรักมาก! บางครั้งเราร้องไห้. ถึงกระนั้น เราเชื่อมั่นว่าพระยะโฮวาจะไม่ละทิ้งพวกเราเป็นแน่.
หมู่บ้านเล็ก ๆ ที่พวกเขาส่งเราไปอยู่นั้นประกอบด้วยกระท่อมไม้ซุงสิบหลัง. พยานฯ บางกลุ่มถูกเนรเทศไปอยู่ตามหมู่บ้านต่าง ๆ ทั่วป่าไทกา. เพื่อจะให้คนในท้องถิ่นหวาดกลัวและมีอคติต่อพวกเรา พวกเจ้าหน้าที่ได้บอกชาวบ้านว่าพยานพระยะโฮวาเป็นพวกกินมนุษย์. อย่างไรก็ดี ในไม่ช้าประชาชนก็ตระหนักว่านี่เป็นเรื่องโกหกและไม่มีเหตุผลจะต้องกลัวพวกเรา.
หลังจากพวกเราไปถึงที่นั่น ในช่วงสองเดือนแรกเราอาศัยอยู่รวมกันในกระท่อมเก่า ๆ หลังหนึ่ง. แต่เราต้องสร้างที่อาศัยให้เหมาะและดีกว่าเดิมก่อนที่ฤดูหนาวอันแสนทารุณจะมาถึง. คุณตาคุณยายช่วยผมกับแม่ปลูกกระท่อมแบบง่าย ๆ ซึ่งส่วนครึ่งบนของตัวกระท่อมอยู่เหนือดิน และส่วนครึ่งล่างอยู่ต่ำลงไป. เราอาศัยในกระท่อมหลังนี้สามปีกว่า. พวกเราถูกห้ามออกจากหมู่บ้านก่อนได้รับอนุญาต และก็ไม่เคยได้รับอนุญาตสักครั้งเดียว.
ในเวลาต่อมา ผมได้รับอนุญาตให้ไปโรงเรียน. เนื่องจากผมมีทัศนะทางศาสนาต่างไปจากพวกเด็กอื่น ๆ ในโรงเรียน พวกครูและเพื่อนนักเรียนมักจะถามผมบ่อย ๆ. เมื่อผมกลับมาบ้านเล่าให้คุณตาฟังว่าผมอธิบายความเชื่อของเราอย่างไร แววตาของท่านก็จะเปล่งประกายด้วยความยินดี.
มีอิสระมากขึ้นเล็กน้อย
หลังจากสตาลินผู้เผด็จการถึงแก่อสัญกรรมในปี 1953 ความเป็นอยู่ของพวกเรากระเตื้องขึ้นบ้าง. มีการอนุญาตให้เราออกจากหมู่บ้านได้. ทั้งนี้ทำให้เรามีโอกาสคบหาสมาคมกับเพื่อนร่วมความเชื่อและเข้าร่วมประชุมในหมู่บ้านของเพื่อนพยานฯ ที่ถูกเนรเทศไปอยู่ที่นั่น. เพื่อจะไม่เป็นที่ผิดสังเกต เราจึงจัดประชุมเป็นกลุ่มเล็ก. การจะไปถึงที่นั่น เราเดินประมาณ 30 กิโลเมตร บางครั้งก็ลุยหิมะสูงท่วมเข่าและอุณหภูมิลบ 40 องศาเซลเซียส.. วันรุ่งขึ้น เราจะเดินทางไกลกลับบ้าน. ระหว่างทาง เรากินแตงกวาดองและน้ำตาลสองสามก้อนเล็ก ๆ. กระนั้น เราก็มีความยินดีล้นเหลือ เหมือนกับที่ดาวิดสมัยโบราณได้ประสบ!—บทเพลงสรรเสริญ 122:1.
ในปี 1955 ผมรับบัพติสมาซึ่งเป็นสัญลักษณ์แสดงการอุทิศตัวแด่พระยะโฮวา. ไม่นานก่อนหน้านั้น ณ การประชุมประชาคมในหมู่บ้านใกล้ ๆ ผมได้พบลีดิยา หญิงสาวผมดำ ท่าทางสุภาพเรียบร้อย. เธอกับครอบครัวเป็นพยานฯ ที่ถูกเนรเทศจากมอลโดวาเหมือนกับเรา. เธอร้อง
เพลงได้ไพเราะจริง ๆ และในหนังสือเพลงที่เราใช้สมัยนั้นมี 337 เพลง เธอจำเนื้อเพลงได้เกือบทั้งหมด. เรื่องนี้ประทับใจผมมาก เพราะผมเองก็ชื่นชอบดนตรีและบทเพลงของเราอยู่แล้ว. เราตกลงแต่งงานกันในปี 1956.ผมเขียนจดหมายถึงพ่อ เรารู้มาว่าพ่อถูกเนรเทศไปที่เมืองมากาดาน และวันแต่งงานถูกเลื่อนออกไปจนกว่าเราได้รับความเห็นชอบจากท่าน. ไม่นานหลังจากนั้น พ่อได้รับการปล่อยตัวและสามารถมาสมทบกับเราในบ้านที่เราอยู่ระหว่างถูกเนรเทศ. ท่านเล่าให้เราฟังว่า ด้วยความช่วยเหลือของพระเจ้า ท่านและเพื่อนคริสเตียนรอดพ้นสภาพการณ์อันเลวร้ายในค่ายแรงงานมาได้อย่างไร. เรื่องราวดังกล่าวเสริมความเชื่อของเราให้มั่นคง.
หลังจากพ่อกลับมาได้ไม่นาน แม่ประสบอุบัติเหตุร้ายแรงขณะเตรียมน้ำมันสำหรับทาสีบ้านและน้ำมันชักเงา. หม้อเคี่ยวน้ำมันใบใหญ่พลิกคว่ำ น้ำมันในหม้อหกราดแม่ทั่วทั้งตัว. แม่ไปสิ้นใจที่โรงพยาบาล. พวกเราเศร้าโศกอาลัยถึงท่านเป็นอย่างมาก. ต่อมา พ่อคลายความโศกเศร้า และในที่สุดท่านก็แต่งงานกับตัตยานา พยานพระยะโฮวาคนหนึ่งจากหมู่บ้านใกล้ ๆ.
แผ่ขยายงานรับใช้ของเรา
ปี 1958 ผมกับลีดิยาได้ย้ายจากคีซัค หมู่บ้านที่เราอยู่ไปยังหมู่บ้านลิบไยเยที่ใหญ่กว่า ห่างจากที่เดิมราว ๆ 100 กิโลเมตร. เราเคยอ่านพบว่าคริสเตียนในประเทศอื่นไปประกาศตามบ้านเรือน. ฉะนั้น เราจึงพยายามทำอย่างเดียวกันในถิ่นใหม่ของเรา. จริงอยู่ มีการสั่งห้ามหอสังเกตการณ์ และตื่นเถิด! ทว่า เราได้รับวารสารเหล่านั้นซึ่งลอบนำเข้ามาจากที่อื่น. ตอนนี้ เราได้รับแจ้งว่า เราจะรับได้แต่วารสารฉบับภาษารัสเซียเท่านั้น. เท่าที่ผ่านมา เราได้วารสารฉบับภาษามอลดาเวียด้วย. ดังนั้น เราบากบั่นตั้งใจเรียนภาษารัสเซียมากขึ้น. แม้ในปัจจุบัน ผมไม่เพียงแต่จำชื่อบทความเหล่านั้นได้ แต่จำแนวคิดหลักบางอย่างที่อยู่ในบทความเหล่านั้นได้ด้วย.
เพื่อจะประคับประคองตัวเองได้ ลีดิยาจึงไปทำงานที่ฉางเก็บธัญพืช ส่วนผมก็ขนท่อนไม้ลงจากรถบรรทุก. งานนี้ทำให้ผมเหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้า และได้ค่าจ้างต่ำด้วย. ทั้งที่พยานพระยะโฮวาได้รับการกล่าวขานว่าเป็นคนงานที่ซื่อตรง แต่เราก็ไม่ได้รับสวัสดิการหรือบำเหน็จรางวัลใด ๆ. เจ้าหน้าที่ของรัฐพูดตรง ๆ เลยว่า “พยานพระยะโฮวาไม่ได้ถูกนับอยู่ในสังคมคอมมิวนิสต์.” กระนั้น พวกเรายังคงชื่นชมยินดีในคำตรัสของพระเยซูเกี่ยวกับเหล่าสาวกของพระองค์ซึ่งเป็นจริงในกรณีของเราที่ว่า “เขาไม่อยู่ฝ่ายโลกเหมือนข้าพเจ้าไม่อยู่ฝ่ายโลก.”—โยฮัน 17:16.
ปัญหาใหม่ที่เพิ่มเข้ามา
วาเลนตินา ลูกสาวของเราเกิดในปี 1959. จากนั้นไม่นาน คลื่นการข่มเหงลูกใหม่ได้เริ่มขึ้น. สารานุกรมบริแทนนิกา กล่าวดังนี้: “นายกรัฐมนตรีนิกิตา ครุชชอฟ ได้เริ่มขบวนการต่อต้านศาสนาแบบใหม่ขึ้นในปี 1959-1964.” สมาชิกคณะกรรมการความมั่นคงแห่งชาติบอกพวกเราว่า เป้าหมายของรัฐบาลโซเวียตคือกำจัดทุกศาสนา โดยเฉพาะอย่างยิ่งพยานพระยะโฮวา.
เมื่อวาเลนตินาอายุยังไม่ถึงหนึ่งขวบ ผมถูกเกณฑ์เป็นทหาร. ครั้นผมไม่ยอม จึงถูกตัดสินจำคุกห้าปีเนื่องจากการรักษาความเป็นกลาง. มีครั้งหนึ่ง เมื่อลีดิยามาเยี่ยมผม ตำรวจลับยศพันเอกบอกเธอว่า “เราได้รับแจ้งจากเครมลินว่าภายในสองปีนี้จะไม่ให้มีพยานพระยะโฮวาแม้แต่คนเดียวเหลืออยู่ในสหภาพโซเวียต.” แล้วเขาก็เตือนว่า “คุณต้องปฏิเสธความเชื่อของคุณ ถ้าไม่อย่างนั้น คุณจะต้องติดคุก.” พันเอกคนนั้นคิดว่าการข่มขู่เช่นนั้นคงทำให้ผู้หญิงปิดปากเงียบ โดยอ้างว่า “ผู้หญิงพวกนี้อ่อนปวกเปียกทำอะไรไม่ได้หรอก.”
ภายในเวลาอันสั้น ผู้ชายพยานฯ ส่วนใหญ่ก็ถูกคุมขังในคุกและในค่ายแรงงาน. กระนั้น สตรีคริสเตียนที่กล้าหาญยังคงทำการประกาศอย่างต่อเนื่อง. และพวกเธอได้ลอบนำสรรพหนังสือไปให้พวกที่ถูกคุมขังและในค่ายแรงงานอย่างที่ต้องเสี่ยงอันตรายมาก. ลีดิยาต้องเผชิญการทดลองต่าง ๆ ดังกล่าว. นอกจากนั้น บ่อยครั้งเธอถูกพวกผู้ชาย
ฉวยโอกาสพยายามจะล่วงเกินเธอระหว่างที่ผมติดคุก. ยิ่งกว่านั้น มีคนบอกเธอว่าผมจะไม่มีวันถูกปล่อยเป็นอิสระ. แต่ผมหลุดมาได้!การปลดปล่อยและย้ายไปยังคาซัคสถาน
คดีความของผมถูกนำขึ้นมาพิจารณาอีกครั้งในปี 1963 และผมได้รับการปล่อยตัวหลังจากถูกขังคุกสามปี. แต่เราไม่สามารถจะได้ใบอนุญาตการตั้งถิ่นฐาน ไม่ว่าที่ไหนทั้งสิ้น ฉะนั้น ผมไม่สามารถจะหางานได้. กฎหมายของรัฐกำหนดไว้ว่า “บุคคลผู้ไม่มีใบอนุญาตการตั้งถิ่นฐานถาวร ไม่มีสิทธิ์ได้งานทำ.” ในคำอธิษฐานด้วยใจแรงกล้านั้นเราได้อ้อนวอนขอความช่วยเหลือจากพระยะโฮวา. ครั้นแล้ว เราตัดสินใจย้ายไปที่เมืองเปโตรปาฟล์ ทางตอนเหนือของคาซัคสถาน. อย่างไรก็ดี เจ้าหน้าที่ท้องถิ่นได้รับแจ้งล่วงหน้าแล้วเกี่ยวกับประวัติของพวกเรา และไม่อนุญาตให้เราอยู่หรือทำงานที่นั่น. พยานฯ ประมาณ 50 คนในเมืองนี้ถูกกดขี่ข่มเหงเช่นเดียวกัน.
เรากับสามีภรรยาพยานฯ อีกคู่หนึ่งได้ย้ายไปยังชูชินสค์ เมืองเล็ก ๆ ทางตอนใต้ซึ่งอยู่ไกลออกไปอีก. ไม่มีพยานพระยะโฮวาอาศัยในเมืองนี้ และเจ้าหน้าที่ไม่รู้เรื่องงานประกาศของพวกเรา. ผมกับอีวาน เราสองคนได้ออกไปหางานอยู่หนึ่งสัปดาห์ ระหว่างนั้นภรรยาของเรารออยู่ที่สถานีรถไฟ ซึ่งเราอาศัยนอนตอนกลางคืน. ในที่สุดเราได้งานทำที่โรงงานแก้ว. เราเช่าห้องเล็ก ๆ มีพื้นที่พอสำหรับสองเตียงนอน และเหลือที่แคบ ๆ เพียงเล็กน้อยสำหรับสองครอบครัวใช้ร่วมกัน แต่เราก็พอใจ.
ผมและอีวานทำงานอย่างทุ่มเท และนายจ้างก็รู้สึกพอใจมาก. พอถึงคราวที่ผมถูกเรียกเข้าประจำการในกองทัพอีก ผู้จัดการโรงงานรู้ว่า สติรู้สึกผิดชอบของผมที่ได้รับการฝึกตามหลักการของคัมภีร์ไบเบิลคงไม่ปล่อยให้ผมเข้าร่วมในการฝึกทหาร. น่าประหลาดใจ ผู้จัดการได้ติดต่อเสนาธิการทหารบกและบอกเขาว่าผมและอีวานเป็นคนชำนาญงาน และทางโรงงานคงจะดำเนินงานต่อไปไม่ได้หากไม่มีเราสองคน. ดังนั้น เราได้รับอนุญาตให้ทำงานต่อไป.
เลี้ยงดูบุตรและรับใช้คนอื่น
ลูกสาวคนรองของเราชื่อลิลยา เกิดในปี 1966. หนึ่งปีต่อมา เราได้ย้ายไปที่เมืองเบลีเยโวดี ทางใต้ของคาซัคสถาน ใกล้กับชายแดนประเทศอุซเบกิสถาน มีพยานพระยะโฮวากลุ่มเล็ก ๆ ที่นั่น. ไม่ช้าไม่นานก็มีการตั้งประชาคมขึ้น และผมได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้ดูแลผู้เป็นประธาน. ปี 1969 เราได้ลูกชายชื่อโอลเยก, อีกสองปีถัดมา เรามีนาตาชาเป็นลูกสาวคนสุดท้อง. ผมกับลีดิยาระลึกอยู่เสมอว่าลูกเป็นมรดกจากพระยะโฮวา. (บทเพลงสรรเสริญ 127:3) เราหารือกันถึงเรื่องที่เราต้องทำเพื่ออบรมเลี้ยงดูลูก ๆ ให้รักพระยะโฮวา.
แม้ล่วงเข้าทศวรรษ 1970 แล้ว ผู้ชายพยานพระยะโฮวาส่วนใหญ่ก็ยังคงอยู่ในค่ายแรงงาน. ประชาคมหลายแห่งต้องการผู้ดูแลที่มีความสามารถและให้การชี้นำได้. ดังนั้น ระหว่างที่ลีดิยามีบทบาทสำคัญในการเลี้ยงดูลูก เธอทำหน้าที่เป็นทั้งพ่อและแม่ในบางครั้งบางคราว ผมก็ปฏิบัติงานฐานะผู้ดูแลเดินทาง. ผมเยี่ยมหลายประชาคมในสาธารณรัฐคาซัคสถาน, สาธารณรัฐโซเวียตที่อยู่ใกล้เคียงคือทาจิกิสถาน, เติร์กเมนิสถาน, และอุซเบกิสถาน. ในเวลาเดียวกัน ผมก็ทำงานหาเลี้ยงครอบครัวไปด้วย ทั้งลีดิยาและลูก ๆ ต่างก็เต็มใจให้ความร่วมมืออย่างดี.
แม้บางครั้งผมต้องจากบ้านนานหลายสัปดาห์ แต่ในฐานะเป็นพ่อ ผมพยายามแสดงความรักและห่วงใย และสนับสนุนลูก ๆ เพื่อความก้าวหน้าฝ่ายวิญญาณ. ผมกับลีดิยาอธิษฐานด้วยใจแรงกล้า ทูลขอพระยะโฮวาช่วยลูก ๆ ของเรา และเราพูดคุยกับลูกถึงวิธีที่จะเอาชนะการกลัวหน้ามนุษย์ และพัฒนาความสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดกับพระเจ้า. ถ้าผมไม่ได้การสนับสนุนอย่างใจกว้างจากภรรยาที่น่ารัก ผมก็คงไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่การงานฐานะเป็นผู้ดูแลเดินทางให้บรรลุผลได้. ลีดิยาและพี่น้องหญิงพยานฯ คนอื่น ๆ ไม่ใช่ “คนที่อ่อนปวกเปียกทำอะไรไม่ได้” อย่างที่นายทหารคนนั้นอ้าง. พี่น้องหญิงเหล่านี้ทรหดอดทน มีพละกำลังฝ่ายวิญญาณมากจริง ๆ!—ฟิลิปปอย 4:13.
ปี 1988 เมื่อลูกทุกคนโตกันหมดแล้ว ผมได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้ดูแลเดินทางประจำ. หมวดที่ผมเยี่ยมประจำเป็นประเทศต่าง ๆ ในเอเชียกลางเกือบทั้งหมด. หลังจากงานประกาศเผยแพร่ของพยานพระยะโฮวาได้รับการรับรองตามกฎหมายในประเทศอดีตสหภาพโซเวียตเมื่อปี 1991 ผู้ชายคนอื่น ๆ ที่อาวุโสฝ่ายวิญญาณและมีความสามารถก็เริ่มต้นทำงานรับใช้ในสาธารณรัฐทางแถบเอเชีย ซึ่งประเทศเหล่านี้เคยขึ้นอยู่กับอดีตสหภาพโซเวียต. ปัจจุบัน มีผู้ดู
แลเดินทาง 14 คนรับใช้ในประเทศเหล่านี้ และเมื่อปีกลายมีมากกว่า 50,000 คนที่เข้าร่วมการประชุมอนุสรณ์ระลึกการวายพระชนม์ของพระคริสต์!การเชิญที่ไม่ได้คาดหมาย
ช่วงต้นปี 1998 ผมได้รับโทรศัพท์จากสำนักงานสาขาของพยานพระยะโฮวาในรัสเซีย. มีการถามผมว่า “คุณอะนาทอลี คุณกับภรรยาคิดที่จะทำงานรับใช้ประเภทเต็มเวลาไหม?” จริงอยู่ เราเคยคิดถึงสิทธิพิเศษเช่นนี้สำหรับลูกของเรา. อันที่จริง โอลเยกลูกชายก็ได้เข้าไปรับใช้ที่สำนักงานสาขารัสเซียประมาณห้าปีแล้ว.
เมื่อผมบอกลีดิยาเรื่องคำเชิญที่เสนอให้เรา เธอถามว่า “แต่บ้านของเรา, สวนของเรา, และข้าวของต่าง ๆ ของเราล่ะ?” หลังจากได้อธิษฐานและหารือกัน เราตัดสินใจว่าเราจะอยู่พร้อมและเต็มใจรับเอาหน้าที่รับผิดชอบนี้. ในที่สุด เราก็ได้รับเชิญไปรับใช้ที่ศูนย์ศาสนาแห่งพยานพระยะโฮวาในเมืองอิสเซก สาธารณรัฐคาซัคสถาน ใกล้อัลมา-อะทาซึ่งเป็นเมืองใหญ่. งานที่ทำกันที่นี่คือการแปลสรรพหนังสือของเราเกี่ยวกับคัมภีร์ไบเบิลให้เป็นภาษาถิ่นที่พูดกันทั่วภูมิภาคนั้น.
ครอบครัวของเราในปัจจุบัน
พวกเรารู้สึกขอบคุณพระเจ้ามากเพียงใดที่พระองค์ทรงช่วยเราในการสอนความจริงด้านคัมภีร์ไบเบิลแก่ลูก ๆ ของเรา! วาเลนตินา ลูกสาวคนโตแต่งงานแล้ว เธอกับสามีย้ายไปที่อิงเงิลไฮม์ เยอรมนีในปี 1993. ทั้งสองมีลูกสามคน ลูกทุกคนเป็นพยานพระยะโฮวาที่รับบัพติสมาแล้ว.
ลิลยา ลูกสาวคนรองมีครอบครัวแล้วเหมือนกัน. เธอกับสามีซึ่งเป็นผู้ปกครองในประชาคมเบลีเยโวดี ก็ได้อบรมเลี้ยงดูลูกชายสองคนให้รักพระเจ้า. โอลเยกแต่งงานกับนาตาชา สตรีคริสเตียนพยานฯ จากมอสโก, ทั้งสองรับใช้ด้วยกันที่สำนักงานสาขารัสเซียใกล้กรุงเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก. ปี 1995 นาตาชาลูกสาวคนเล็กแต่งงาน และเวลานี้เธอกับสามีรับใช้ในประชาคมภาษารัสเซียที่ประเทศเยอรมนี.
บางโอกาส เรามักจะรวมญาติพบกันเป็นครอบครัวใหญ่. ลูกของเรามักจะเล่าให้ลูก ๆ ของเขาฟังถึงวิธีที่ “พ่อ” และ “แม่” เชื่อฟังพระยะโฮวาและอบรมเลี้ยงดูลูกของท่านให้รักและรับใช้พระยะโฮวาพระเจ้าเที่ยงแท้. ผมเห็นว่าการพูดคุยกันแบบนี้ช่วยหลานของเราวัฒนาขึ้นทางฝ่ายวิญญาณ. หลานชายคนเล็กสุดนี้เหมือนผมตอนเป็นเด็ก. บางครั้งหลานก็ขึ้นมานั่งบนตัก และขอให้ผมเล่าเรื่องในพระคัมภีร์ให้ฟัง. ผมกลั้นน้ำตาไว้ไม่ได้เมื่อนึกถึงตอนที่ผมขึ้นไปนั่งบนตักคุณตา และการที่ท่านได้ช่วยผมให้มีความรักและรับใช้พระผู้สร้างองค์ยิ่งใหญ่ของเรา.
[เชิงอรรถ]
^ วรรค 4 ชื่อประเทศมอลโดวาที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบันจะปรากฏตลอดบทความนี้ แทนชื่อมอลดาเวียในอดีตหรือสาธารณรัฐมอลดาเวีย.
[ภาพหน้า 11]
ถ่ายกับพ่อแม่ของผมข้างนอกบ้านในมอลโดวา ไม่นานก่อนพ่อถูกจำคุก
[ภาพหน้า 12]
กับลีดิยา ระหว่างถูกเนรเทศปี 1959
[ภาพหน้า 13]
ลีดิยากับวาเลนตินาลูกสาว ขณะที่ผมอยู่ในคุก
[ภาพหน้า 15]
กับลีดิยาในปัจจุบัน
[ภาพหน้า 15]
กับลูกหลานของเรา ซึ่งทุกคนรับใช้พระยะโฮวา!