พวกมันช่วยเกษตรกรให้อยู่รอดได้ในเซร์เทา
พวกมันช่วยเกษตรกรให้อยู่รอดได้ในเซร์เทา
โดยผู้เขียนตื่นเถิด! ในบราซิล
มีแพะประมาณสิบล้านตัวท่องอยู่ในเซร์เทา * ซึ่งเป็นบริเวณกึ่งแห้งแล้งเนื้อที่ 1,100,000 ตารางกิโลเมตรในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของบราซิล. ฤดูร้อนที่นี่คือช่วงเวลาเก้าเดือนที่ท้องฟ้าไร้เมฆ, อากาศร้อนอบอ้าว, และดินแห้งแตกระแหง. ในช่วงนี้แม่น้ำหลายสายแห้งไป, ต้นไม้ผลัดใบ, ลมที่พัดมานั้นร้อนและแห้ง, และฝูงปศุสัตว์ก็เร่ร่อนไปอย่างอิสระเสรีเพื่อหาผักหญ้าอะไรก็ตามเท่าที่พวกมันจะหาได้.
อย่างไรก็ตาม แพะพันธุ์พื้นเมืองของบราซิลดูเหมือนไม่เป็นทุกข์เป็นร้อนกับความแห้งแล้งนี้. ในช่วงที่แล้งที่สุด ฝูงวัวกับฝูงแกะลดจำนวนลง แต่แพะกลับเพิ่มจำนวนขึ้น. มันทำอย่างไรถึงอยู่รอดได้?
ปากที่ถูกออกแบบมาเพื่อให้อยู่รอด
หลายคนที่อยู่ในเขตเซร์เทา พูดกันว่าแพะกินได้ทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็นรองเท้าบูต, อานม้า, หรือเสื้อผ้า. ศาสตราจารย์เจา อัมโบรซีโย นักวิจัยแห่งศูนย์วิจัยแพะแห่งชาติที่เมืองซูบรัล ทางตะวันออกเฉียงเหนือของบราซิล ก็ยืนยันว่าแพะสามารถกินสิ่งที่ดูเหมือนไม่น่าจะย่อยได้ เช่น รากไม้, ใบไม้แห้ง, และเปลือกไม้ของพืชกว่า 60 ชนิด. ปศุสัตว์ชนิดอื่น เช่น วัว ต้องกินหญ้าเพียงอย่างเดียวก็ว่าได้.
การที่แพะมีนิสัยกินไม่เลือกก็ช่วยได้ แต่ปากของมันเป็นส่วนที่ทำให้แพะได้เปรียบมากที่สุด. อัมโบรซีโยบอกว่า วัวจะใช้ลิ้นของมันเกี่ยวอาหาร และไม่สามารถเลือกกินใบไม้ทีละใบหรือเปลือกไม้ได้. แต่แพะจะใช้ปากเล็ก ๆ, ริมฝีปากซึ่งยืดหยุ่นได้, และฟันคม ๆ ของมันเพื่อเลือกกินส่วนที่มีประโยชน์ที่สุดของพืช. ความสามารถที่จะเสาะหาและเลือกอาหารที่มีอยู่เพียงน้อยนิดนี้ทำให้แพะมีชื่อเสียงว่าชอบทำลายพืชผัก. อัมโบรซีโยบอกว่า “มนุษย์ต่างหากที่ต้องรับผิดชอบเพราะเขาบังคับให้แพะต้องมาอาศัยอยู่ในสภาพนี้. พวกแพะเพียงแต่พยายามจะเอาชีวิตรอดเท่านั้น.”
การเลี้ยงแพะเหมาะที่สุด
ไม่น่าแปลกใจที่แพะพันธุ์พื้นเมืองจอมทรหดมีบทบาทที่สำคัญมากในการเกษตรแบบพอมีพอกินในแถบเซร์เทา. สำหรับหลายครอบครัว แพะเป็นแหล่งโปรตีนสำคัญ. เนื่องจากเนื้อวัวมีราคาแพง อาหารที่กินกันทั่วไปจึงเป็นเนื้อแพะย่างหรือต้ม และบูชาดา (กระเพาะแพะยัดไส้เครื่องในที่หั่นเป็นรูปลูกเต๋าผสมกับข้าว). หนังแพะ
สามารถนำไปขายให้โรงฟอกหนังเป็นรายได้เสริม. ดังนั้น ในยามฉุกเฉินแพะจึงสามารถนำไปเปลี่ยนเป็นเงินสดได้ง่าย ๆ เพื่อซื้อยาหรือสิ่งของจำเป็นอย่างอื่น.ข้อดีอีกอย่างหนึ่งคือ จริง ๆ แล้วแพะแทบจะเลี้ยงตัวเองได้. ตอนกลางวัน แพะฝูงเล็ก ๆ จะหากินอยู่ด้วยกันในป่ากาติงกา หรือป่าไม้มีหนามที่ไม่ได้กั้นรั้ว. พอตกค่ำ แพะก็จำเสียงเจ้าของของมันได้ และแต่ละตัวก็จะกลับไปที่คอกของใครของมันด้วยความเชื่อฟัง. เกษตรกรมักเข้าไปจัดการเฉพาะในช่วงฤดูผสมพันธุ์เท่านั้น เมื่อเขาเลือกแพะที่จะฆ่า, รักษาตัวที่ป่วย, และทำเครื่องหมายบนตัวลูกแพะ. แพะเลี้ยงง่ายจนแม้แต่ชาวเมืองก็ชอบเลี้ยงไว้ในสวนหลังบ้านสองสามตัว หรือปล่อยมันให้ท่องไปทั่วเมืองแม้จะมีกฎหมายห้ามก็ตาม. ไม่ใช่เรื่องแปลกที่จะเห็นแพะหากินอยู่ในจัตุรัสกลางเมือง.
ประสบการณ์หลายร้อยปีที่ผ่านมาได้พิสูจน์ว่าการเลี้ยงแพะเหมาะที่สุด โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับเกษตรกรรายย่อย. การเลี้ยงแพะแปดตัวจะใช้แรงงานและที่ดินเท่ากับการเลี้ยงวัวหนึ่งตัว. และลองคิดดู สมมุติว่าเกษตรกรคนหนึ่งมีวัวห้าตัว. ถ้าวัวตัวหนึ่งตาย ก็เท่ากับเขาเสียฝูงสัตว์ไป 20 เปอร์เซ็นต์. แต่สมมุติว่าแทนที่จะเลี้ยงวัว 5 ตัว เขาเลี้ยงแพะ 40 ตัว. ฝูงแพะขนาดนี้จะใช้ที่ดินและแรงงานในการดูแลพอ ๆ กัน. ถ้าแพะตัวหนึ่งตายไป ก็เท่ากับว่าเขาสูญเสียสัตว์ไปเพียง 2.5 เปอร์เซ็นต์. เป็นเรื่องง่ายที่จะเข้าใจว่าทำไมชาวบราซิลประมาณหนึ่งล้านครอบครัวจึงถือว่าแพะเป็นหลักประกันชนิดหนึ่งในกรณีที่เกิดความแห้งแล้งหรือพืชผลเกิดความเสียหาย.
แรงกระตุ้นให้ทำงานหนัก
รัฐบาเอียมีฝูงแพะขนาดใหญ่หลายฝูง บางฝูงมีจำนวนหลายพันตัว. ในอูอาอูอา ซึ่งเป็นเมืองเล็ก ๆ ที่อยู่ห่างเมืองหลวงของรัฐมาประมาณ 800 กิโลเมตรจากชายฝั่ง มีการพูดกันว่าแพะที่นั่นมีจำนวนมากกว่าชาวบ้านในอัตรา 5 ต่อ 1. การเลี้ยงชีพของคนเกือบทั้งเมืองขึ้นอยู่กับการเลี้ยงแพะหรือกิจการที่เกี่ยวกับแพะ. ชาวบ้านในท้องถิ่นมักจะพูดกันเล่น ๆ ว่า “ที่เมืองอูอาอูอา แพะต่างหากที่เลี้ยงคน คนไม่ได้เลี้ยงแพะ.”
ลูกแพะตัวแรก ๆ จะเกิดในช่วงเดือนพฤษภาคม หรือประมาณห้าเดือนหลังจากฤดูผสมพันธุ์เริ่มต้น. คนเลี้ยงแพะที่ขยันขันแข็งจะทำงานตั้งแต่ตีสี่จนถึงหนึ่งทุ่ม คอยต้อนแพะ, ให้น้ำ, และช่วยลูกแพะที่หลงทางหรืออยู่ในอันตราย. คนเลี้ยงที่ชำนาญจะผูกแม่แพะไว้และรีดนมวันละหลายร้อยตัวทุกวัน เพื่อไม่ให้ลูกแพะที่เพิ่งเกิดใหม่กินนมแม่มากเกินไปจนตาย. พวกเขายังต้องคอยระวังรักษาบาดแผลและกำจัดแมลงวันบอตซึ่งจะทำให้หนังแพะมีรูเล็ก ๆ และทำให้หนังผืนนั้นราคาตก.
การดูแลแพะอย่างนี้เป็นงานที่ทำด้วยความรัก แต่ใช่ว่าคนเลี้ยงแพะจะไม่ได้รับผลตอบแทนเป็นของตัวเองเลย. ระบบจ่ายผลตอบแทนแบบดั้งเดิมที่เรียกว่า ควาร์เทอาเซา (แบ่งสี่) ที่ใช้ในเมืองอูอาอูอาและแถบชนบทอื่น ๆ จะให้รางวัลแก่คนเลี้ยงแพะที่ขยัน. พวกเขาจะได้รับ 1 ใน 4 ของลูกแพะที่เกิดในช่วงฤดูผสมพันธุ์ และถ้าเจ้าของฝูงแพะใจดีก็อาจให้ถึง 1 ใน 3. ลูกแพะแต่ละตัวจะมีหมายเลขประจำตัว แล้วจะมีการจับฉลากสุ่มเอาจากในถ้วย. เนื่องจากอาจจับได้ตัวที่พิการหรือแข็งแรง ผอมหรืออ้วนก็ได้ คนเลี้ยงจึงดูแลฝูงแพะเหมือนกับเป็นของตัวเอง.
ปรับปรุงพันธุ์พื้นเมือง
แพะบราซิลสืบเชื้อสายมาจากแพะที่นำเข้ามาโดยผู้ตั้งถิ่นฐานชาวยุโรปในช่วงต้นศตวรรษที่ 16. อย่างไรก็ตาม ตามปกติแพะพื้นเมืองจะตัวเล็กกว่าและให้นมน้อยกว่าบรรพบุรุษของมันในยุโรป.
แพะพันธุ์คานินเด ของบราซิลเป็นตัวอย่าง. มันผลิตน้ำนมได้ไม่ถึงวันละหนึ่งลิตร ส่วนแพะในยุโรปที่มีลักษณะทางพันธุกรรมใกล้เคียงกัน คือแพะอัลไพน์อังกฤษ สามารถให้นมได้เกือบสี่ลิตร. เป็นเวลาหลายสิบปีแล้วที่เกษตรกรและนักพืชกรรมหลายคนใฝ่ฝันที่จะผสานความทรหดของแพะพื้นเมืองเข้ากับความสามารถที่จะให้ผลผลิตมากของแพะบรรพบุรุษจากต่างประเทศ. โดยวิธีนี้ แพะที่หลายคนเรียกว่า “วัวคนจน” อาจกลายเป็นเหมือนทองคำของเกษตรกรในเซร์เทา.
การผสมข้ามพันธุ์ระหว่างแพะพื้นเมืองกับแพะต่างประเทศปรากฏว่าเป็นทางลัดในการเพิ่มขนาดของแพะและเพิ่มผลผลิตน้ำนม. หน่วยวิจัยการเกษตรในรัฐปาราอีบา ทางตะวันออกเฉียงเหนือของบราซิล ประสบความสำเร็จในการผสมข้ามพันธุ์ระหว่างแพะพื้นเมืองกับแพะพันธุ์อิตาลี, เยอรมัน, และอังกฤษ. การทำอย่างนี้ทำให้ได้แพะตัวใหญ่ขึ้นซึ่งสามารถทนสภาพแห้งแล้งได้ อีกทั้งยังผลิตน้ำนมได้มากขึ้นด้วย. พันธุ์ที่เคยผลิตน้ำนมได้ไม่ถึงวันละหนึ่งลิตร ตอนนี้ผลิตได้วันละ 2.2 ถึง 3.8 ลิตร.
ศูนย์วิจัยในเมืองซูบรัลได้ทำการค้นพบที่มีประโยชน์มากพอกันอีกเรื่องหนึ่งซึ่งเสียค่าใช้จ่ายน้อยกว่าในการดำเนินการ. นักวิจัยสังเกตว่าแพะชอบกินใบของต้นไม้บางชนิด. อย่างไรก็ตาม ใบของต้นไม้ชนิดนี้จะงอกขึ้นเมื่อต้นไม้อยู่ในระยะพักตัวและผลัดใบแล้ว. เพื่อจะเพิ่มแหล่งอาหารนี้ให้มากขึ้น พวกเขาลิดกิ่งก้านของต้นไม้บางต้นจนถึงความสูงระดับหนึ่ง. นี่บังคับให้ต้นไม้งอกกิ่งใหม่ต่ำลง ซึ่งอยู่ในระดับที่แพะเล็มถึง. ผลเป็นอย่างไร? แพะที่หากินในพื้นที่ที่มีการเตรียมไว้เป็นพิเศษนี้มีน้ำหนักเพิ่มขึ้นในอัตราส่วนที่มากกว่าเดิมถึงสี่เท่า.
แม้จะมีนวัตกรรมเหล่านี้ เจ้าของฝูงแพะรายย่อยก็เจอปัญหาอีกอย่างหนึ่งที่การวิจัยทางวิทยาศาสตร์คงจะแก้ไขไม่ได้. ปัญหาอะไรหรือ? เกษตรกรคนหนึ่งบอกว่า “แพะจะเชื่องกับคนที่ดูแลมัน จนเจ้าของรู้สึกว่ามันเป็นสัตว์เลี้ยง. ดังนั้น ถ้าจะฆ่าแพะสักตัวก็กลายเป็นปัญหา.” คือเจ้าของไม่ต้องการจะฆ่าสัตว์เลี้ยงของเขา! นี่เป็นเหตุผลอีกอย่างหนึ่งใช่ไหมที่แพะช่างเอาตัวรอดได้เก่งเหลือเกิน?
[เชิงอรรถ]
^ วรรค 3 ดูเหมือนว่าผู้ตั้งถิ่นฐานชาวโปรตุเกสเรียกพื้นที่แถบนี้ว่าเดเซร์เทา หรือทะเลทรายใหญ่ เพราะมันทำให้พวกเขานึกถึงทะเลทรายและทุ่งหญ้าสะวันนาแห่งแอฟริกาเหนือ.
[กรอบ/ภาพหน้า 27]
ความจริงเกี่ยวกับนมแพะ
หลายคนบอกว่านมแพะย่อยยาก; ส่วนบางคนบอกว่าเหม็นสาบ. แต่อย่าเชื่อคำให้ร้ายเหล่านี้เกี่ยวกับนมแพะ. ถ้าระบบย่อยอาหารของคุณย่อยนมวัวไม่ค่อยได้ แพทย์หรือนักโภชนาการคงจะแนะนำให้คุณดื่มนมแพะแทน. แม้ว่านมแพะจะมีโปรตีนและไขมันมากกว่า แต่เม็ดไขมันของนมแพะนั้นเล็กกว่าและย่อยได้ง่ายกว่า. แล้วเรื่องกลิ่นล่ะ?
จริง ๆ แล้วนมแพะไม่มีกลิ่น. ถ้าคุณได้กลิ่นเหม็นสาบ ก็อาจเป็นเพราะว่ามีการรีดนมแพะในสภาพที่ไม่สะอาดหรืออยู่ใกล้กับแพะตัวผู้มากเกินไป. ต่อมกลิ่นที่อยู่ด้านหลังของเขาแพะตัวผู้ผลิตฮอร์โมนที่ดึงดูดแพะตัวเมีย. แต่เพราะฮอร์โมนนี้เอง เวลาแพะตัวผู้ถูกต้องสิ่งใด สิ่งนั้นก็พลอยมีกลิ่นไปด้วย.
[ที่มาของภาพ]
CNPC–Centro Nacional de Pesquisa de Caprinos (Sobral, CE, Brasil)
[แผนที่หน้า 25]
(รายละเอียดดูจากวารสาร)
“เซร์เทา”
[ภาพหน้า 26]
แพะใช้ปากของมันที่ถูกออกแบบมาอย่างดีในการเลือกส่วนที่ดีที่สุดของพืช
[ที่มาของภาพ]
Dr. João Ambrósio–EMBRAPA (CNPC)
[ที่มาของภาพหน้า 25]
Map: Mountain High Maps® Copyright © 1997 Digital Wisdom, Inc.; goats: CNPC–Centro Nacional de Pesquisa de Caprinos (Sobral, CE, Brasil)