โรงงานมรณะ
โรงงานมรณะ
โดยผู้เขียนตื่นเถิด! ในเยอรมนี
บางคนบอกว่ามิทเทลแวร์คเป็นโรงงานใต้ดินที่ใหญ่ที่สุดในโลก. โรงงานแห่งนี้ตั้งอยู่ในเทือกเขาฮาร์ซของเยอรมนี ห่างจากกรุงเบอร์ลินไปทางตะวันตกเฉียงใต้ประมาณ 260 กิโลเมตร โดยที่ตัวโรงงานเป็นอุโมงค์ใต้ดินยาวถึง 20 กิโลเมตรซึ่งเจาะเข้าไปในเชิงเขา. ตั้งแต่ปี 1943 ถึง 1945 คนงานในค่ายกักกันหลายพันคนทำงานเยี่ยงทาสอยู่ในอุโมงค์ใต้ดินเหล่านี้. คนงานถูกบังคับให้ผลิตอาวุธสำหรับรัฐบาลนาซีในสภาพที่น่าสยดสยอง.
แรงงานทาสเหล่านี้ไม่ได้ผลิตอาวุธธรรมดา. โรงงานแห่งนี้ผลิตขีปนาวุธซึ่งรู้จักกันว่าจรวด วี-1 และจรวด วี-2. มีการขนส่งขีปนาวุธเหล่านี้จากมิทเทลแวร์คไปยังฐานยิง ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในฝรั่งเศสและเนเธอร์แลนด์. เมื่อยิงขีปนาวุธออกไปแล้ว มันจะพุ่งไปโดยไม่มีคนควบคุมและทะยานสู่เป้าหมายในเบลเยียม, บริเตน, และฝรั่งเศส ซึ่งเมื่อพุ่งชนเป้าหมายแล้วมันจะระเบิด. พวกนาซีหวังจะสร้างจรวดที่มีพลังมากถึงขนาดที่สามารถติดหัวระเบิดแล้วบินข้ามมหาสมุทรแอตแลนติกไปถึงนิวยอร์กด้วยซ้ำ. ครั้นสงครามโลกครั้งที่สองจบลง ได้มีการยิงขีปนาวุธ วี-1 และ วี-2 หลายร้อยลูกถล่มเมืองต่าง ๆ ในยุโรป. อย่างไรก็ตาม ขีปนาวุธเหล่านั้นเป็นเพียงเศษเสี้ยวหนึ่งที่พวกนาซีได้ผลิตขึ้นและหวังจะใช้โจมตีศัตรู. ไม่มีขีปนาวุธลูกใดไปถึงนิวยอร์ก.
ลักษณะเด่นที่น่าสลดใจ
เมื่อสงครามจบลง นักวิทยาศาสตร์และช่างชาวเยอรมันหลายสิบคนซึ่งได้ออกแบบขีปนาวุธ วี-1 และ วี-2 อพยพออกจากเยอรมนี. พวกเขานำเทคโนโลยีด้านจรวดไปด้วยและนำไปใช้ในประเทศใหม่ของพวกเขา. นักวิทยาศาสตร์ด้านจรวดคนหนึ่งในจำนวนนี้คือแวร์นเฮอร์ ฟอน บราวน์. เขาย้ายไปสหรัฐ แล้วได้ช่วยสร้างจรวดแซตเทิร์นซึ่งพามนุษย์ไปยังดวงจันทร์.
ทุกวันนี้ มีอนุสาวรีย์ค่ายกักกันตั้งอยู่ติดกับที่ซึ่งเคยเป็นโรงงานมิทเทลแวร์คมาก่อน เพื่อรำลึกถึงผู้คน 60,000 คนที่เคยถูกคุมขังที่นั่น. ผู้ถูกคุมขังหลายคนไม่เพียงต้องทำงานในห้องใต้ดินที่หนาวเหน็บและเปียกชื้นเท่านั้น แต่ยังต้องอาศัยอยู่ที่นั่นด้วย. ไม่น่าแปลกใจที่บางคนกะประมาณว่าคนงานถึง 20,000 คนเสียชีวิต. ผู้มาเยือนพิพิธภัณฑสถานแห่งนี้สามารถขอให้มีการนำชมห้องใต้ดินต่าง ๆ ซึ่งยังมีชิ้นส่วนของจรวดกระจัดกระจายอยู่ตามพื้นซึ่งถูกทิ้งไว้ที่นั่นประมาณ 60 ปีมาแล้ว. วารสารภายหลังการรบ (ภาษาอังกฤษ) กล่าวถึงขีปนาวุธจากมิทเทลแวร์คว่ามีลักษณะเด่นที่น่าสลดใจคือ “ขีปนาวุธ วี-1 และ วี-2 เป็นอาวุธชนิดเดียวที่ทำให้คนตายระหว่างการผลิตมากกว่าในการใช้งานจริง.”
[ภาพหน้า 21]
ภาพถ่ายปี 1945 แสดงให้เห็นจรวด วี-1 บนราง
[ที่มาของภาพ]
Quelle: Dokumentationsstelle Mittelbau-Dora
[ภาพหน้า 21]
ผู้มาเยี่ยมชมเดินดูห้องจัดแสดงต่าง ๆ ยังคงมีชิ้นส่วนของจรวดกระจัดกระจายอยู่ตามพื้น