ความเครียด—คุณควบคุมได้!
ความเครียด—คุณควบคุมได้!
“การเอาใจใส่ทั้งงานอาชีพ, หน้าที่ในครอบครัว, และพันธะอื่น ๆ ให้เพียงพอเป็นสิ่งที่ยากขึ้นเรื่อย ๆ ในช่วงไม่กี่ปีมานี้.” หนังสือเกี่ยวกับชีวิตครอบครัวซึ่งวางตลาดเมื่อไม่นานมานี้พูดไว้อย่างนั้น. จริงทีเดียว เราอยู่ในสมัยที่มีความเครียดมาก. แต่เรื่องนี้ไม่ได้ทำให้ผู้ที่ศึกษาคัมภีร์ไบเบิลแปลกใจ เพราะคัมภีร์ไบเบิลพยากรณ์ล่วงหน้าไว้ว่าสมัยนี้จะเป็น “วิกฤตกาลซึ่งยากที่จะรับมือได้.”—2 ติโมเธียว 3:1-5, ล.ม.
เคซูส คุณพ่อลูกสาม กล่าวว่า “ความเครียดเป็นเรื่องธรรมดา. ดังนั้น คุณต้องรู้วิธีควบคุมความเครียด.” จริงอยู่ การควบคุมความเครียดอาจเป็นเรื่องที่พูดง่ายกว่าทำ. อย่างไรก็ดี มีคำแนะนำที่ใช้ได้จริงและหลักการในคัมภีร์ไบเบิลที่ช่วยคุณได้.
รับมือกับความเครียดจากการทำงาน
คุณเครียดเรื่องสภาพในที่ทำงานจนไม่อยากจะทำอะไรไหม? ถ้าคุณอดทนโดยไม่ปริปากก็รังแต่จะถูกบีบคั้นมากขึ้น. ดังที่คัมภีร์ไบเบิลกล่าวที่สุภาษิต 15:22 ว่า “ที่ไหนที่ไร้การปรึกษาความมุ่งหมายต่าง ๆ ย่อมไม่เป็นที่จุใจ.”
นักวิจัยด้านความเครียดในที่ทำงานแนะนำให้ “คุยกับนายจ้างของคุณ เพราะถ้านายจ้างไม่รู้ว่ามีปัญหา เขาก็ไม่สามารถช่วยอะไรได้.” นี่ไม่ได้หมายถึงการระบายความโกรธและสิ่งที่คับอกคับใจออกมาให้หมด. ท่านผู้ประกาศ 10:4 กล่าวว่า “ใจสงบเสงี่ยมย่อมสงบความบาปใหญ่หลวงไว้ได้.” จงมีท่าทางจริงจังแบบเป็นงานเป็นการ และพยายามอย่าใช้วิธีปะทะกัน. บางทีคุณอาจทำให้นายจ้างของคุณเชื่อได้ว่าถ้าในที่ทำงานมีความเครียดน้อยลง งานก็จะเดินได้ดีขึ้น.
อาจใช้วิธีเดียวกันนี้กับปัญหาเรื่องอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับงานอาชีพได้ด้วย เช่น ความตึงเครียดและความขัดแย้งกันระหว่างเพื่อนร่วมงาน. จงมองหาวิธีที่เกิดผลดีในการรับมือกับปัญหาเหล่านั้น บางทีอาจทำการค้นคว้าบ้างถ้าจำเป็น. วารสารนี้เคยลงบทความหลายเรื่องที่อาจเป็นประโยชน์. * ถ้าสถานการณ์ดูเหมือนหนักเกินกว่าจะแก้ไขได้ ก็อาจดีที่สุดที่จะคิดถึงการเปลี่ยนงาน.
บรรเทาความเครียดเรื่องเงิน
คัมภีร์ไบเบิลยังมีคำแนะนำที่ช่วยคุณให้รับมือกับความกดดันทางการเงินได้ด้วย. พระเยซูคริสต์กระตุ้นเตือนว่า “อย่ากระวนกระวายถึงการเลี้ยงชีพของตนว่า, จะเอาอะไรกินหรือจะเอาอะไรดื่ม และอย่ากระวนกระวายถึงร่างกายของตนว่า, จะเอาอะไรนุ่งห่ม.” (มัดธาย 6:25) เรื่องนี้จะเป็นไปได้อย่างไร? โดยปลูกฝังความมั่นใจว่าพระยะโฮวาพระเจ้าจะประทานสิ่งจำเป็นพื้นฐานให้คุณ. (มัดธาย 6:33) คำสัญญาของพระเจ้าไม่ใช่คำพูดซ้ำ ๆ ที่ไร้ความหมาย. คริสเตียนหลายล้านคนในปัจจุบันดำรงชีวิตอยู่ได้ก็ด้วยคำสัญญานี้.
แน่นอน คุณยังต้องการ “สติปัญญาที่ใช้ได้จริง” ในเรื่องเงิน. (สุภาษิต 2:7, ล.ม.; ท่านผู้ประกาศ 7:12) คัมภีร์ไบเบิลเตือนเราว่า “เราเข้ามาในโลกไม่ได้เอาอะไรมาฉันใด, เราไปจาก โลกก็เอาอะไรไปไม่ได้ฉันนั้น แต่ว่าถ้าเรามีเครื่องอุปโภคบริโภค, ก็ให้เราอิ่มใจด้วยของเหล่านั้นเถิด.” (1 ติโมเธียว 6:7, 8) การเรียนรู้ที่จะอิ่มใจกับสิ่งของเพียงเล็กน้อยเป็นเรื่องที่เหมาะสมกับสภาพความเป็นจริง. ขอให้นึกถึงเลอันโดร ซึ่งต้องอยู่แต่ในเก้าอี้ล้อเนื่องจากประสบอุบัติเหตุ. เขากับภรรยาใช้วิธีต่าง ๆ เพื่อประหยัดเงิน. เลอันโดรอธิบายว่า “เราพยายามใช้จ่ายอย่างประหยัด. ตัวอย่างเช่น ถ้ามีไฟดวงไหนที่เราไม่ได้ใช้ เราก็จะปิดเพื่อประหยัดค่าไฟ. ส่วนเรื่องรถยนต์ เราก็วางแผนว่าจะไปที่ไหนบ้างและทำธุระหลาย ๆ อย่างในคราวเดียวกันเพื่อจะประหยัดน้ำมัน.”
พ่อแม่ก็ช่วยลูก ๆ ให้มีเจตคติที่ถูกต้องได้. ลูกสาวของเลอันโดรชื่อคาร์เมน ยอมรับว่า “ดิฉันชอบซื้อของทุกอย่างที่อยากได้ แต่คุณพ่อคุณแม่ช่วยดิฉันให้คิดดูดี ๆ ว่าอะไรจำเป็นและอะไรไม่จำเป็น. ตอนแรกก็ปรับตัวยากเหมือนกันค่ะ. แต่ดิฉันเรียนรู้ที่จะแยกระหว่างสิ่งที่อยากได้กับสิ่งที่จำเป็นต้องมีจริง ๆ.”
การสื่อความช่วยคลายความเครียด
บ้านควรจะเป็นที่ที่ปราศจากความเครียด แต่หลายครั้ง บ้านกลับทำให้เครียดมากที่สุด. เหตุผลนะหรือ? หนังสือยุทธวิธีเพื่อความอยู่รอดสำหรับคู่สมรส (ภาษาอังกฤษ) กล่าวว่า “คู่สมรส . . . ซึ่งมีปัญหากันอยู่บ้างหรือถึงกับเป็นศัตรูกันบอกว่าการไม่ได้พูดคุยกันเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดการขัดแย้งกันมากที่สุด.”
หลักการของคัมภีร์ไบเบิลช่วยคู่สมรสให้ปรับปรุงความสามารถในการสื่อความกัน. คัมภีร์ไบเบิลกล่าวว่า “มีวาระสำหรับอมพะนำ, และวาระสำหรับเจรจา” และ “ถ้อยคำที่กล่าวเหมาะกับกาลเทศะ ก็ประเสริฐนัก!” (ท่านผู้ประกาศ 3:1, 7; สุภาษิต 15:23) การรู้หลักการนี้อาจทำให้คุณไม่นำเรื่องที่จะทำให้อารมณ์พลุ่งพล่านขึ้นมาพูดเมื่อคู่สมรสของคุณกำลังเหนื่อยหรือเครียด. จะดีกว่ามิใช่หรือถ้าจะรอจนถึงเวลาที่เหมาะ คือเมื่อคู่สมรสของคุณพร้อมจะรับฟังมากกว่า.
จริงอยู่ ถ้าคุณทนมาทั้งวันในที่ทำงานแล้ว ก็อาจไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะใจเย็นหรืออดทนอยู่ได้. แต่จะเกิดอะไรขึ้นถ้าเราระบายอารมณ์ออกมาโดยพูดรุนแรงกับสามีหรือภรรยาของเรา? คัมภีร์ไบเบิลเตือนเราว่า “คำขมเผ็ดร้อนกระทำให้โทโสพลุ่งขึ้น.” (สุภาษิต 15:1) แต่อีกด้านหนึ่ง “ถ้อยคำที่เพราะหูเป็นเหมือนรวงผึ้ง, คือมีรสหวานแก่จิตต์ใจ, และทำให้กะดูกสมบูรณ์ขึ้น.” (สุภาษิต 16:24) อาจต้องพยายามตั้งใจจริง ๆ ที่จะไม่ให้การคุยกันระหว่างสามีภรรยามี “ใจขมขื่น, และใจขัดเคือง, และใจโกรธ, และการทะเลาะเถียงกัน, และการพูดเสียดสีกัน.” (เอเฟโซ 4:31) แต่ผลประโยชน์นั้นคุ้มค่า. คู่สมรสที่พูดคุยกันสามารถหนุนกำลังใจกันและช่วยเหลือกันได้. “ปัญญาอยู่กับคนที่ปรึกษาหารือกัน.”—สุภาษิต 13:10, ล.ม. *
ข้อท้าทายของการสื่อความระหว่างลูกกับพ่อแม่
การสื่อความกับลูก ๆ ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าไม่ค่อยมีเวลา. คัมภีร์ไบเบิลสนับสนุนพ่อแม่ให้พูดกับลูก ๆ ทุกครั้งที่มีโอกาส เช่น ‘เมื่อนั่งอยู่ในเรือน หรือเดินในพระบัญญัติ 6:6-8) เลอันโดรบอกว่า “เราต้องหาโอกาสพูดคุยกัน. เมื่อผมนั่งอยู่ในรถยนต์กับลูกชาย ผมใช้โอกาสนั้นพูดคุยกับเขา.”
หนทาง.’ (เป็นความจริงที่ว่า ไม่ใช่เรื่องง่ายที่พ่อแม่บางคนจะพูดคุยสื่อความกับลูก. อะเลคันดรา คุณแม่ลูกสาม ยอมรับว่า “ดิฉันไม่รู้ว่าจะรับฟังลูก ๆ อย่างไร. การไม่ได้สื่อความกันอย่างเพียงพอทำให้ดิฉันโมโหและรู้สึกผิด.” พ่อแม่จะปรับปรุงเรื่องนี้ได้อย่างไร? จงเริ่มด้วยการเรียนรู้ที่จะ “ว่องไวในการฟัง.” (ยาโกโบ 1:19) ดร. เบตตี บี. ยังส์ กล่าวว่า “การตั้งใจฟังเป็นเครื่องมือที่ใช้ได้ผลมากที่สุดในการลดความเครียด.” คุณต้องคิดถึงวิธีที่คุณฟัง. จงติดต่อด้วยสายตา. พยายามอย่ามองว่าปัญหาของลูกเป็นเรื่องเล็ก ๆ. จงสนับสนุนลูกของคุณให้พูดออกมาว่าเขารู้สึกอย่างไร. ใช้คำถามที่เหมาะสม. จงแสดงความรักมาก ๆ และแสดงความมั่นใจว่าเขาจะทำสิ่งที่ถูกต้อง. (2 เธซะโลนิเก 3:4) จงอธิษฐานกับลูกของคุณ.
เพื่อจะมีการสื่อความที่ดีเป็นประจำต้องใช้ความพยายาม. แต่การทำอย่างนั้นจะช่วยทำให้ความเครียดในครอบครัวของคุณลดน้อยลง. การสื่อความช่วยให้คุณรู้ว่าลูกของคุณกำลังเครียดหรือไม่. คุณจะให้คำชี้นำที่สุขุมแก่ลูกของคุณได้ดีขึ้นถ้าคุณเข้าใจความรู้สึกของเขาและรู้ว่าเขากำลังประสบกับอะไร. ประการสุดท้าย เด็ก ๆ ที่มีคนคอยสนับสนุนให้ระบายความเครียดออกมาด้วยการพูดคุยมีแนวโน้มน้อยลงที่จะระบายมันออกมาด้วยการทำสิ่งที่ผิด.
การร่วมมือกัน—ปัจจัยสำคัญในการดูแลงานบ้าน
ถ้าทั้งสามีและภรรยาต้องทำงานอาชีพ การทำงานบ้านก็อาจเป็นอีกเรื่องหนึ่งที่ทำให้เครียด. แม่ที่ต้องทำงานอาชีพบางคนรับมือกับเรื่องนี้โดยลดขั้นตอนการทำงานบ้านให้ยุ่งยากน้อยลง. เขาอาจลงความเห็นว่าการทำอาหารหลาย ๆ อย่างเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้หรือยุ่งยากเกินไป. จงจำคำแนะนำของพระเยซูที่ให้แก่ผู้หญิงคนหนึ่งซึ่งทำอาหารหลาย ๆ อย่างเช่นนั้นที่ว่า “แต่ที่จำเป็นมีไม่กี่สิ่ง หรือเพียงสิ่งเดียว.” (ลูกา 10:42, ล.ม.) ดังนั้น จงทำอะไรง่าย ๆ. หนังสือครอบครัวที่มีพ่อหรือแม่ไร้คู่ (ภาษาอังกฤษ) แนะนำให้ “ทำสตูหรืออาหารประเภทต้มหรือแกงเป็นหม้อเดียวเพื่อจะล้างทำความสะอาดได้ง่ายขึ้น.” ถูกแล้ว การจัดการให้งานบ้านยุ่งยากน้อยลงก็สามารถทำให้มีความเครียดน้อยลงได้.
แม้จะทำอย่างนั้นแล้ว ก็อาจยังมีงานอีกหลายอย่างที่ต้องทำ. คุณแม่ที่ต้องทำงานอาชีพคนหนึ่งยอมรับว่า “ตอนที่ดิฉันอายุน้อยกว่านี้ ไม่ว่าอะไรดิฉันก็ทำไหว. ตอนนี้พอดิฉันเริ่มมีอายุมากขึ้น จะทำอะไรก็ยากลำบากกว่าแต่ก่อน. ชีวิตที่เร่งรีบของดิฉันเริ่มมีผลเสียต่อตัวดิฉัน. ดังนั้น ถ้าสมาชิกแต่ละคนในครอบครัวร่วมแรงร่วมใจกัน นั่นก็เป็นการแสดงการคำนึงถึงผู้อื่น และช่วยให้ดิฉันไม่เครียดมากเกินไป.” ใช่แล้ว ถ้าสมาชิกทุกคนในครอบครัว
เต็มใจช่วยกัน งานก็จะเสร็จได้โดยไม่หนักที่คนใดคนหนึ่งมากเกินไป. หนังสือเกี่ยวกับการเป็นพ่อเป็นแม่เล่มหนึ่งบอกว่า “การมอบหมายให้เด็กทำงานบ้านเป็นวิธีที่ดีที่สุดวิธีหนึ่งที่จะสร้าง . . . ความรู้สึกเชื่อมั่นในความสามารถของตัวเอง. งานบ้านที่ทำเป็นประจำปลูกฝังให้มีกิจวัตรที่ดีและมีเจตคติที่ถูกต้องเกี่ยวกับการทำงาน.” การทำงานบ้านร่วมกันอาจทำให้คุณมีเวลาอยู่กับลูก ๆ ด้วย.หญิงสาวชื่อจูเลียตากล่าวว่า “ดิฉันเห็นว่าคุณแม่รู้สึกดีใจถ้าดิฉันแบ่งเบาภาระบางอย่างของท่าน. นี่ทำให้ดิฉันมีความสุขและรู้สึกมีความรับผิดชอบ. นี่ยังช่วยดิฉันให้หยั่งรู้ค่าบ้านของตัวเองด้วย. การเรียนรู้ที่จะดูแลงานบ้านทำให้ดิฉันมีรากฐานสำหรับอนาคต. แมรี คาร์เมน เล่าเรื่องคล้าย ๆ กันว่า “ตั้งแต่ตอนที่พวกเรายังเล็ก พ่อแม่ของดิฉันสอนพวกเราที่เป็นเด็ก ๆ ให้ดูแลตัวเอง. นี่ทำให้เราได้เปรียบคนอื่นมาก.”
วิธีที่ใช้ได้ผลในการรับมือกับความเครียด
ความเครียดคือความเป็นจริงของชีวิตในปัจจุบันที่คุณไม่อาจเลี่ยงได้. อย่างไรก็ตาม คุณสามารถเรียนรู้วิธีรับมือได้. (ดูกรอบหน้า 10.) การทำตามหลักการของคัมภีร์ไบเบิลก็ช่วยได้. ตัวอย่างเช่น ถ้าคุณรู้สึกจนปัญญาเมื่อเผชิญสถานการณ์บางอย่าง จงจำไว้ว่า “มิตรสหายที่สนิทยิ่งกว่าพี่น้องก็มี.” (สุภาษิต 18:24) จงพูดคุยกับเพื่อนที่อาวุโสหรือคู่สมรสของคุณ. นักสังคมวิทยาชื่อ โรนัลด์ แอล. พิตเซอร์ กล่าวว่า “อย่าเก็บกดความเครียดไว้. จงบอกเล่าความรู้สึกและความกังวลของคุณให้คนที่มีความสุขุมฟัง ซึ่งเขาคงจะเข้าใจและต้องการจะช่วย.”
คัมภีร์ไบเบิลยังพูดถึง ‘การทำดีแก่วิญญาณของเขาเอง.’ (สุภาษิต 11:17) ใช่แล้ว เป็นเรื่องถูกต้องที่จะเอาใจใส่ความต้องการของตัวเอง. คัมภีร์ไบเบิลกล่าวว่า “ความสงบสุขเต็มกำมือหนึ่งยังดีกว่าสองกำมือเต็มด้วยการเหน็ดเหนื่อยและทั้งต้องอุตส่าห์วิ่งไล่ตามลมไป.” (ท่านผู้ประกาศ 4:6) การจัดเวลาให้ตัวเองก็อาจช่วยคุณได้มาก แม้ว่าจะเป็นเพียงไม่กี่นาทีในตอนเช้าตรู่ เพื่อคุณจะนั่งจิบชา, อ่านหนังสือ, อธิษฐาน, หรือคิดรำพึงเงียบ ๆ.
การออกกำลังกายพอประมาณ และการรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ก็ช่วยได้เช่นกัน. หนังสือเล่มหนึ่งเกี่ยวกับการเป็นพ่อเป็นแม่เตือนเราว่า “เมื่อคุณใช้เวลาอันมีค่าและพลังงานของคุณเพื่อตัวเองบ้าง ก็เปรียบเหมือนกับว่าคุณกำลังสะสมกำลังเรี่ยวแรงไว้ในบัญชีซึ่งคุณจะถอนไปใช้ได้ในเวลาจำเป็น. . . . การทุ่มเทตัวให้คนอื่นเสมอหมายความว่าคุณต้องแน่ใจว่าจะมีอะไรมาชดเชยให้ตัวคุณด้วย ไม่อย่างนั้น บัญชีทางอารมณ์ของคุณอาจหมดเกลี้ยง หรือไม่ก็ล้มละลายไปเลย.”
นอกจากนั้น คัมภีร์ไบเบิลช่วยคนเราให้พัฒนาคุณลักษณะที่จำเป็นเพื่อจะรับมือกับความเครียดได้ เช่น “ใจอ่อนโยน,” ความอดทน, และความกรุณา. (ฆะลาเตีย 5:22, 23; 1 ติโมเธียว 6:11, ล.ม.) ยิ่งกว่านั้น คัมภีร์ไบเบิลเสนอความหวัง ซึ่งเป็นคำสัญญาเรื่องโลกใหม่ที่กำลังจะมาถึงที่ซึ่งทุกสิ่งที่ทำให้มนุษย์เป็นทุกข์จะหมดสิ้นไป! (วิวรณ์ 21:1-4) ดังนั้น เป็นเรื่องที่มีเหตุผลที่จะปลูกฝังนิสัยการอ่านคัมภีร์ไบเบิลทุกวัน. ถ้าคุณต้องการความช่วยเหลือในการเริ่มโครงการนี้ พยานพระยะโฮวายินดีจะช่วยคุณเป็นส่วนตัว โดยไม่ต้องเสียค่าอะไรเลย.
นี่ไม่ได้หมายความว่า คริสเตียนจะมีชีวิตที่ปราศจากความเครียด. แต่พระเยซูตรัสว่าเป็นไปได้ที่จะเลี่ยงการ “ล้นไปด้วย . . . คิดกังวลถึงชีวิตนี้.” (ลูกา 21:34, 35) นอกจากนั้น ถ้าคุณได้มารู้จักพระยะโฮวาเจ้า และเป็นมิตรกับพระองค์ พระองค์ก็จะเป็นที่คุ้มภัยอันมั่นคงสำหรับคุณ! (บทเพลงสรรเสริญ 62:8) พระองค์สามารถช่วยคุณให้รับมือกับความเครียดของชีวิตได้.
[เชิงอรรถ]
^ วรรค 7 ดูบทความชุด “ถูกกลั่นแกล้งในที่ทำงาน—คุณจะทำอย่างไร?” ในฉบับ 8 พฤษภาคม 2004.
^ วรรค 15 สำหรับข้อมูลเพิ่มเติม ดูบท 3 ของหนังสือเคล็ดลับสำหรับความสุขในครอบครัว จัดพิมพ์โดยพยานพระยะโฮวา.
[คำโปรยหน้า 11]
“ตอนที่ดิฉันอายุน้อยกว่านี้ ไม่ว่าอะไรดิฉันก็ทำไหว. ตอนนี้พอดิฉันเริ่มมีอายุมากขึ้น จะทำอะไรก็ยากลำบากกว่าแต่ก่อน. ชีวิตที่เร่งรีบของดิฉันเริ่มมีผลเสียต่อตัวดิฉัน”
[กรอบ/ภาพหน้า 10]
วิธีลดความเครียด
▪ ให้เวลาพักผ่อนอย่างเพียงพอสำหรับร่างกายในแต่ละวัน
▪ รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ แต่อย่ามากเกินไป
▪ ออกกำลังกายอย่างพอเหมาะและสม่ำเสมอ เช่น เดินเร็ว
▪ ถ้าคุณกังวลเรื่องอะไร ให้คุยเรื่องนั้นกับเพื่อนสักคนหนึ่ง
▪ ใช้เวลาอยู่กับครอบครัวมากขึ้น
▪ มอบหมายให้คนอื่นช่วยงานบ้าน
▪ ยอมรับขีดจำกัดของตัวเองทั้งทางร่างกายและทางอารมณ์
▪ จงตั้งเป้าที่ตรงกับความจริง; อย่าพยายามทำทุกอย่างให้สมบูรณ์แบบ
▪ จงเป็นคนมีระเบียบ; มีตารางเวลาที่สมดุลและมีเหตุผล
▪ ปลูกฝังคุณลักษณะแบบคริสเตียน เช่น ความอ่อนโยนและความอดทน
▪ จัดเวลาให้ตัวเองบ้าง
[ภาพหน้า 7]
การพูดคุยเรื่องปัญหากับนายจ้างด้วยความนับถืออาจทำให้ความเครียดในการทำงานลดลงได้
[ภาพหน้า 8]
พ่อแม่อาจพูดกับลูกในเรื่องวิธีใช้จ่ายอย่างประหยัด
[ภาพหน้า 8]
ถ้าคุณเป็นเยาวชน จงพูดคุยเรื่องความเครียดของคุณกับคนที่จะช่วยคุณได้
[ภาพหน้า 8, 9]
ทุกคนสามารถช่วยกันทำงานบ้านได้