ข้ามไปยังเนื้อหา

ข้ามไปยังสารบัญ

โทรศัพท์มือถือมีคุณหรือมีโทษ?

โทรศัพท์มือถือมีคุณหรือมีโทษ?

โทรศัพท์​มือ​ถือ​มี​คุณ​หรือ​มี​โทษ?

โดย​ผู้​เขียน​ตื่นเถิด! ใน​ออสเตรเลีย

เมื่อ​หลาย​ปี​ก่อน คำ​ว่า “โทรศัพท์​มือ​ถือ” เป็น​คำ​ที่​ไม่​ค่อย​เหมาะ​กับ​มัน​เท่า​ไร. เนื่อง​จาก​ใน​สมัย​นั้น​โทรศัพท์​มือ​ถือ​มี​แบตเตอรี่​ที่​หนัก​มาก ถ้า​คุณ​จะ “ถือ” โทรศัพท์​ไป​ไหน​มา​ไหน คุณ​ต้อง​เป็น​คน​ที่​แข็งแรง​มาก​หรือ​ไม่​ก็​ต้อง​ติด​ตั้ง​โทรศัพท์​ไว้​ใน​รถ​ของ​คุณ​เลย​ที​เดียว. ตัว​เครื่อง​โทรศัพท์​ก็​ใหญ่​กว่า​กล่อง​รอง​เท้า และ​มี​ราคา​หลาย​หมื่น​บาท.

ทุก​วัน​นี้​มี​โทรศัพท์​มือ​ถือ​ประมาณ 1,350 ล้าน​เครื่อง. ใน​บาง​ประเทศ ประชากร​มาก​กว่า​ครึ่ง​หนึ่ง​มี​โทรศัพท์​มือ​ถือ. โทรศัพท์​มือ​ถือ​ส่วน​ใหญ่​มี​ขนาด​กะทัดรัด​เหมาะ​มือ และ​บาง​ครั้ง​มี​การ​ให้​เครื่อง​ฟรี​ด้วย​ซ้ำ. * วารสาร​เดอะ บุลเลติน แห่ง​ออสเตรเลีย รายงาน​ว่า “มี​การ​ใช้​โทรศัพท์​มือ​ถือ​มาก​เกือบ​จะ​พอ ๆ กับ​การ​ใช้​โทรทัศน์​และ​คอมพิวเตอร์​รวม​กัน.” ตอน​นี้​ใน​ประเทศ​ต่าง ๆ มาก​กว่า 20 ประเทศ​มี​โทรศัพท์​มือ​ถือ​มาก​กว่า​โทรศัพท์​บ้าน. ผู้​เชี่ยวชาญ​ด้าน​อุตสาหกรรม​คน​หนึ่ง​กล่าว​ว่า โทรศัพท์​มือ​ถือ​ไม่​ได้​เป็น​เพียง​สิ่ง​มหัศจรรย์​ทาง​ด้าน​เทคโนโลยี​เท่า​นั้น แต่​เป็น “ปรากฏการณ์​ทาง​สังคม” ด้วย.

โทรศัพท์​มือ​ถือ​มี​ผล​กระทบ​เช่น​ไร​ต่อ​ผู้​คน​ใน​สังคม? มัน​มี​คุณ​หรือ​มี​โทษ?

เป็น​ประโยชน์​ต่อ​ธุรกิจ

ยอด​ขาย​ที่​เพิ่ม​ขึ้น​อย่าง​รวด​เร็ว​ของ​โทรศัพท์​มือ​ถือ​เป็น​ประโยชน์​ต่อ​หลาย​บริษัท. บริษัท​ใหญ่​แห่ง​หนึ่ง​กล่าว​ว่า “ใน​ส่วน​แบ่ง​ทาง​การ​ตลาด​ของ​อุปกรณ์​อิเล็กทรอนิกส์​สำหรับ​ผู้​บริโภค การ​ซื้อ​ขาย​โทรศัพท์​มือ​ถือ​มี​ส่วน​แบ่ง​มาก​ที่​สุด​เท่า​ที่​เคย​มี​มา.” พูด​อีก​อย่าง​หนึ่ง​คือ ที่​ผ่าน​มา​ไม่​เคย​มี​การ​ใช้​จ่าย​เงิน​สำหรับ​อุปกรณ์​อิเล็กทรอนิกส์​อื่น ๆ มาก​เท่า​กับ​การ​ใช้​จ่าย​เงิน​สำหรับ​โทรศัพท์​มือ​ถือ​ใน​ทุก​วัน​นี้.

ตัว​อย่าง​เช่น ใน​จำนวน​ประชากร​ออสเตรเลีย 20 ล้าน​คน มาก​กว่า 15 ล้าน​คน​มี​โทรศัพท์​มือ​ถือ. ลูก​ค้า​ของ​บริษัท​โทรศัพท์​ใน​ประเทศ​นั้น​เพียง​บริษัท​เดียว​ใช้​โทรศัพท์​มือ​ถือ 7,500 ล้าน​ครั้ง​ใน​หนึ่ง​ปี​เมื่อ​ไม่​นาน​มา​นี้. ตลอด​ทั่ว​โลก โทรศัพท์​มือ​ถือ​สร้าง​ราย​ได้​ปี​ละ​นับ​ล้าน​ล้าน​บาท​ให้​กับ​บริษัท​โทรคมนาคม​ต่าง ๆ. คุณ​คง​เข้าใจ​แล้ว​ว่า เหตุ​ใด​บริษัท​ใหญ่ ๆ จึง​มอง​ว่า​โทรศัพท์​มือ​ถือ​เป็น​ประโยชน์​สำหรับ​พวก​เขา.

ทำ​ให้​เกิด​ภาษา​ใหม่

ใน​จำนวน​นับ​ล้าน​ครั้ง​ที่​มี​การ​ใช้​อุปกรณ์​ไฮเทค​ชนิด​นี้​ถ่ายทอด​ข่าวสาร​ถึง​กัน หลาย​ครั้ง​ไม่​ได้​ใช้​เป็น​รูป​แบบ​ของ​คำ​พูด แต่​เป็น​รูป​แบบ​ของ​ตัว​อักษร. แทน​ที่​จะ​ใช้​โทรศัพท์​พูด​คุย​กัน ผู้​ใช้​บริการ​ที่​เพิ่ม​จำนวน​ขึ้น​เรื่อย ๆ โดย​เฉพาะ​วัยรุ่น กำลัง​หัน​ไป​ใช้​บริการ​ที่​เรียก​ว่า บริการ​รับ​ส่ง​ข้อ​ความ​ทาง​โทรศัพท์​มือ​ถือ (เอสเอ็มเอส). ผู้​ใช้​บริการ​นี้​จะ​พิมพ์​ข้อ​ความ​สั้น ๆ และ​ส่ง​ให้​อีก​คน​หนึ่ง​โดย​เสีย​ค่า​บริการ​ค่อนข้าง​ถูก. เนื่อง​จาก​การ​ติด​ต่อ​สื่อสาร​วิธี​นี้​เป็น​การ​พิมพ์​ข้อ​ความ​ด้วย​การ​กด​ปุ่ม​เล็ก ๆ บน​โทรศัพท์ คน​ที่​คลั่งไคล้​การ​ส่ง​ข้อ​ความ​จึง​ใช้​ภาษา​ที่​ใช้​ตัว​ย่อ​ซึ่ง​มี​ทั้ง​ตัว​อักษร​และ​ตัว​เลข​เพื่อ​สร้าง​คำ​ที่​อ่าน​ออก​เสียง​เหมือน​กับ​คำ​ที่​ต้องการ. แม้​การ​เรียบเรียง​คำ​และ​การ​พิมพ์​ข้อ​ความ​จะ​ไม่​สะดวก​เหมือน​กับ​การ​พูด​โทรศัพท์ แต่​ตลอด​ทั่ว​โลก​ก็​มี​การ​ส่ง​ข้อ​ความ​ถึง​กัน​ประมาณ 30,000 ล้าน​ข้อ​ความ​ทุก​เดือน.

ข้อ​ความ​ทั้ง​หมด​นี้​มี​เรื่อง​อะไร​บ้าง? งาน​วิจัย​ใน​บริเตน​พบ​ว่า 42 เปอร์เซ็นต์​ของ​หนุ่ม​สาว​ที่​มี​อายุ​ระหว่าง 18-24 ปี​ใช้​การ​ส่ง​ข้อ​ความ​เพื่อ​ติด​ต่อ​ฝาก​รัก, 20 เปอร์เซ็นต์​ใช้​รูป​แบบ​การ​ติด​ต่อ​สื่อสาร​ที่​ทัน​สมัย​นี้​เพื่อ​นัด​อีก​คน​หนึ่ง​ไป​เที่ยว, และ 13 เปอร์เซ็นต์​ใช้​การ​ส่ง​ข้อ​ความ​เพื่อ​ตัด​ความ​สัมพันธ์.

นัก​วิจารณ์​สังคม​บาง​คน​วิตก​ว่า การ​สะกด​คำ​และ​การ​แต่ง​ประโยค​แบบ​สั้น ๆ ย่อ ๆ ที่​ใช้​ใน​ข้อ​ความ​ต่าง ๆ จะ​มี​ผล​เสีย​ต่อ​ทักษะ​การ​อ่าน​การ​เขียน​ของ​เด็ก. ส่วน​คน​อื่น ๆ ที่​ไม่​เห็น​ด้วย​กล่าว​ว่า ปรากฏการณ์​รับ​ส่ง​ข้อ​ความ​ทาง​โทรศัพท์​มือ​ถือ​เป็น “การ​กระตุ้น​ให้​คน​รุ่น​ใหม่​หัน​มา​สนใจ​การ​เขียน​อีก​ครั้ง.” โฆษก​ของ​บริษัท​ผู้​ผลิต​พจนานุกรม​ออสเตรเลีย​บอก​กับ​หนังสือ​พิมพ์​ซัน-เฮรัลด์ ว่า “โอกาส​ที่​เรา​จะ​คิด​ค้น [ภาษา] ที่​มี​รูป​แบบ​ใหม่​ทั้ง​หมด​คง​จะ​มี​น้อย​มาก . . . แต่​การ​ส่ง​ข้อ​ความ​ทาง​โทรศัพท์​มือ​ถือ [เอส​เอ็ม​เอส] และ​อินเทอร์เน็ต​จะ​ทำ​ให้​เยาวชน​เขียน​มาก​ขึ้น. [พวก​เขา] ต้อง​ใช้​ภาษา​ได้​อย่าง​คล่องแคล่ว​และ​หัว​ไว​พอ​ที่​จะ​เรียน​รู้​และ​ใช้​ตัว​ย่อ​ที่​ผู้​คน​นิยม​กับ​รหัส​ต่าง ๆ . . . แบบ​นี้​ได้​อย่าง​ชำนาญ.”

แนว​โน้ม​บาง​อย่าง​ที่​ให้​โทษ

ขณะ​ที่​โทรศัพท์​มือ​ถือ​เป็น​เครื่อง​มือ​ที่​มี​ประโยชน์​ทั้ง​สำหรับ​การ​คบหา​สมาคม​และ​การ​ทำ​ธุรกิจ แต่​สำหรับ​ลูกจ้าง​หลาย​คน​แล้ว บาง​ครั้ง​อุปกรณ์​นี้​ดู​เหมือน​กับ​เป็น​โซ่​ตรวน​มาก​กว่า คือ​ทำ​ให้​พวก​เขา​รู้สึก​เหมือน​กับ​ว่า​ถูก​ล่าม​ติด​กับ​สำนักงาน. ใน​การ​สำรวจ​คราว​หนึ่ง​พบ​ว่า 80 เปอร์เซ็นต์​ของ​พนักงาน​บริษัท​โฆษณา​และ 60 เปอร์เซ็นต์​ของ​คน​งาน​ก่อ​สร้าง​รู้สึก​ว่า พวก​เขา​ต้อง​พร้อม​ที่​จะ​ให้​เจ้านาย​และ​ลูก​ค้า​ตาม​ตัว​ได้​ตลอด​เวลา. ความ​กดดัน​ที่​ผู้​คน​รู้สึก​ว่า​ต้อง​รับ​โทรศัพท์​มือ​ถือ​ไม่​ว่า​จะ​อยู่​ที่​ไหน​หรือ​ทำ​อะไร​อยู่ กำลัง​ทำ​ให้​เกิด​สิ่ง​ที่​นัก​วิจัย​คน​หนึ่ง​เรียก​ว่า “พฤติกรรม​ที่​สร้าง​ความ​รำคาญ.” เพื่อ​แก้​ปัญหา​นี้ วิศวกร​ได้​คิด​ค้น​วัสดุ​ก่อ​สร้าง​ชนิด​พิเศษ​เพื่อ​ใช้​กับ​ร้าน​อาหาร​และ​โรง​ภาพยนตร์​ซึ่ง​สามารถ​ป้องกัน​สัญญาณ​โทรศัพท์​มือ​ถือ​ได้.—ดู​กรอบ “ข้อ​แนะ​สำหรับ​การ​ใช้​โทรศัพท์​มือ​ถือ.”

นอก​จาก​สร้าง​ความ​รำคาญ​แล้ว อุปกรณ์​สื่อสาร​ที่​เรา​เห็น​ได้​ทุก​หน​แห่ง​นี้​ยัง​อาจ​ทำ​ให้​เกิด​อันตราย​กับ​คน​ส่วน​ใหญ่​ด้วย. งาน​วิจัย​ใน​แคนาดา​พบ​ว่า การ​ใช้​โทรศัพท์​มือ​ถือ​ขณะ​ขับ​รถ​อันตราย​พอ ๆ กับ​การ​ขับ​รถ​ขณะ​เมา​เหล้า. ศาสตราจารย์​มาร์ก สตีเวนสัน จาก​ศูนย์​วิจัย​เรื่อง​การ​บาดเจ็บ​แห่ง​มหาวิทยาลัย​เวสเทิร์น​ออสเตรเลีย อธิบาย​ว่า การ​พูด​โทรศัพท์​ขณะ​ขับ​รถ​ยาก​กว่า​การ​พูด​คุย​กับ​คน​ที่​อยู่​ใน​รถ​มาก. แม้​จะ​อันตราย​และ​ประกอบ​กับ​ข้อ​เท็จ​จริง​ที่​ว่า​ตำรวจ​บาง​แห่ง​สามารถ​ปรับ​ผู้​ขับ​ขี่​ที่​ใช้​โทรศัพท์​ขณะ​ขับ​รถ​ได้ แต่​การ​สำรวจ​เมื่อ​เร็ว ๆ นี้​พบ​ว่า ผู้​ขับ​ขี่​ชาว​ออสเตรเลีย 1 ใน 5 ส่ง​ข้อ​ความ​ทาง​โทรศัพท์​มือ​ถือ​และ​หนึ่ง​ใน​สาม​ใช้​โทรศัพท์​ขณะ​ขับ​รถ.

อันตราย​ของ​การ​ใช้​โทรศัพท์​มือ​ถือ​อย่าง​ไม่​เหมาะ​สม​ยัง​เกี่ยว​ข้อง​กับ​การ​เดิน​ทาง​โดย​เครื่องบิน​ด้วย. แม้​สาย​ไฟ​ใน​เครื่องบิน​รุ่น​ใหม่​มี​ฉนวน​ป้องกัน​สัญญาณ​โทรศัพท์​มือ​ถือ แต่​เครื่องบิน​บาง​ลำ​ที่​ยัง​ให้​บริการ​อยู่​อาจ​ถูก​รบกวน​จาก​สัญญาณ​ดัง​กล่าว​ได้. วารสาร​นิว ไซเยนติสต์ รายงาน​ว่า “ใน​การ​ทดสอบ​เครื่องบิน​ของ​สาย​การ​บิน​สอง​แห่ง เจ้าหน้าที่​การ​บิน​พลเรือน [ซีเอเอ] ของ​บริเตน ยืน​ยัน​ว่า คลื่น​ที่​โทรศัพท์​มือ​ถือ​ปล่อย​ออก​มา​นั้น​รบกวน​อุปกรณ์​อิเล็กทรอนิกส์​ที่​สำคัญ​ต่อ​ความ​ปลอด​ภัย​ใน​การ​บิน.” เพื่อ​จะ​อธิบาย​ถึง​อันตราย​ของ​โทรศัพท์​มือ​ถือ โฆษก​ของ​ซี​เอ​เอ​กล่าว​ว่า “ยิ่ง​อยู่​ไกล​จาก​สถานี​ฐาน​มาก​เท่า​ไร โทรศัพท์​มือ​ถือ​ก็​จะ​ยิ่ง​ปล่อย​กำลัง​ส่ง​แรง​ขึ้น​เท่า​นั้น. ดัง​นั้น เมื่อ​เครื่องบิน​ไต่​ระดับ​ขึ้น กำลัง​ส่ง​ของ​โทรศัพท์​มือ​ถือ​ก็​จะ​ยิ่ง​แรง​ขึ้น​จน​ถึง​ระดับ​ที่​ไป​รบกวน​ช่วง​ที่​สำคัญ​ของ​การ​บิน.” งาน​วิจัย​ของ​ออสเตรเลีย​พบ​ว่า อุปกรณ์​อิเล็กทรอนิกส์​ส่วน​ตัว รวม​ทั้ง​โทรศัพท์​มือ​ถือ เป็น​สาเหตุ​ที่​ทำ​ให้​เครื่องบิน​พาณิชย์​มี​ปัญหา​ขณะ​บิน​หลาย​ครั้ง เนื่อง​จาก​ผู้​โดยสาร​ไม่​สนใจ​คำ​เตือน​ที่​ให้​ปิด​อุปกรณ์​เหล่า​นี้​เมื่อ​อยู่​บน​เครื่องบิน.

โทรศัพท์​มือ​ถือ​กับ​มะเร็ง

ยัง​คง​มี​การ​ถกเถียง​กัน​อยู่​ว่า คลื่น​ความ​ถี่​วิทยุ​จาก​โทรศัพท์​มือ​ถือ​และ​จาก​สถานี​ฐาน​ที่​ปล่อย​ออก​มา​เพื่อ​ถ่ายทอด​สัญญาณ​อาจ​ทำ​ให้​มนุษย์​เป็น​มะเร็ง​ได้. เนื่อง​จาก​มี​หลาย​ร้อย​ล้าน​คน​ใช้​อุปกรณ์​ชนิด​นี้ ดัง​นั้น แม้​ว่า​จะ​มี​ผู้​คน​เพียง​ไม่​กี่​เปอร์เซ็นต์​ที่​เกิด​ปัญหา​ด้าน​สุขภาพ ก็​ถือ​ได้​ว่า​เป็น​ความ​เสี่ยง​ด้าน​สุขภาพ​สำหรับ​คน​จำนวน​มาก​อยู่​ดี. ด้วย​เหตุ​นี้ จึง​มี​การ​ศึกษา​วิจัย​แบบ​เจาะ​ลึก​ทาง​วิทยาศาสตร์​มาก​มาย​เพื่อ​สืบ​หา​ว่า​คลื่น​ที่​โทรศัพท์​มือ​ถือ​ปล่อย​ออก​มา​มี​ผล​กระทบ​อย่าง​ไร​ต่อ​เนื้อ​เยื่อ​ของ​สิ่ง​มี​ชีวิต. มี​การ​ลง​ความ​เห็น​เช่น​ไร?

องค์กร​อิสระ​ของ​ผู้​เชี่ยวชาญ​ด้าน​โทรศัพท์​มือ​ถือ (ไออีจีเอ็มพี) ได้​ตี​พิมพ์​รายงาน​หนึ่ง​ซึ่ง​กล่าว​ว่า “องค์กร​อิสระ​นี้​เชื่อ​ว่า ตาม​หลักฐาน​ที่​มี​อยู่​ใน​ตอน​นี้ ประชาชน​โดย​ทั่ว​ไป​ไม่​จำเป็น​ต้อง​กังวล​เรื่อง​การ​ใช้​โทรศัพท์​มือ​ถือ.” วารสาร​นิว ไซเยนติสต์ ยัง​รายงาน​ด้วย​ว่า “แม้​รายงาน​เมื่อ​ไม่​กี่​ปี​มา​นี้​จะ​ทำ​ให้​ผู้​คน​รู้สึก​กลัว แต่​หลักฐาน​ส่วน​ใหญ่​ที่​มี​อยู่​จน​ถึง​เดี๋ยว​นี้​ก็​ชี้​ให้​เห็น​ว่า การ​ได้​รับ​คลื่น​ความ​ถี่​วิทยุ​ที่​โทรศัพท์​มือ​ถือ​ปล่อย​ออก​มา​นั้น​ไม่​เป็น​อันตราย​ต่อ​สุขภาพ. งาน​ศึกษา​วิจัย​ที่​แสดง​ถึง​ผล​กระทบ​ของ​เรื่อง​นี้ คง​ยาก​ที่​จะ​มี​การ​ทำ​ซ้ำ​อีก.”

เนื่อง​จาก​ผู้​คน​ยัง​คง​สงสัย​เรื่อง​ผล​กระทบ​ที่​โทรศัพท์​มือ​ถือ​มี​ต่อ​สุขภาพ จึง​มี​การ​ใช้​เงิน​หลาย​ล้าน​บาท​เพื่อ​ทำ​การ​ค้นคว้า​ต่อ​ไป. จน​กว่า​จะ​ได้​คำ​ตอบ​ที่​แน่ชัด ไออีจีเอ็มพี​ให้​ข้อ​เสนอ​แนะ​ดัง​ต่อ​ไป​นี้: “พูด​โทรศัพท์ [มือ​ถือ] โดย​ใช้​เวลา​น้อย​ที่​สุด​เท่า​ที่​เป็น​ไป​ได้. ใช้​โทรศัพท์​ที่​มี​ค่า​ของ​อัตรา​การ​ดูด​ซึม​พลังงาน​เฉพาะ (เอสเออาร์) ใน​ระดับ​ต่ำ. ใช้​โทรศัพท์​ที่​มี​แฮนด์​ฟรี​และ​อุปกรณ์​เสริม​อื่น ๆ ที่​พิสูจน์​แล้ว​ว่า​ช่วย​ลด​เอสเออาร์.” องค์กร​อิสระ​ยัง​เสนอ​แนะ​ด้วย​ว่า “ไม่​ควร​สนับสนุน​ให้​เด็ก​ที่​มี​อายุ​ต่ำ​กว่า​สิบ​หก​ปี​ใช้​โทรศัพท์​มือ​ถือ” เนื่อง​จาก​ระบบ​ประสาท​ของ​เด็ก​กำลัง​พัฒนา​ทำ​ให้ “ง่าย​ขึ้น​ที่​เด็ก​จะ​มี​โอกาส​เกิด​ปัญหา​ด้าน​สุขภาพ​ที่​ยัง​ไม่​เป็น​ที่​รู้​จัก​กัน.”

แม้​เป็น​หัวข้อ​ที่​มี​การ​โต้​เถียง​กัน​อยู่ แต่​โทรศัพท์​มือ​ถือ​ก็​มี​ผล​กระทบ​อย่าง​มาก​ทั้ง​ต่อ​เศรษฐกิจ​และ​สังคม. เช่น​เดียว​กับ​อุปกรณ์​อิเล็กทรอนิกส์​อื่น ๆ เช่น โทรทัศน์​และ​คอมพิวเตอร์ โทรศัพท์​มือ​ถือ​เป็น​ได้​ทั้ง​ทาส​ที่​มี​ประโยชน์​หรือ​เป็น​เจ้านาย​ที่​ควบคุม​ชีวิต. สิ่ง​ที่​จะ​กำหนด​ได้​ว่า​โทรศัพท์​มือ​ถือ​มี​คุณ​หรือ​มี​โทษ​นั้น จริง ๆ แล้ว​ขึ้น​อยู่​กับ​ผู้​ใช้​นั่น​เอง.

[เชิงอรรถ]

^ วรรค 4 บาง​ครั้ง​มี​การ​ให้​โทรศัพท์​มือ​ถือ​ฟรี​แก่​คน​ที่​ทำ​สัญญา​กับ​บริษัท​ที่​ให้​บริการ​โทรศัพท์​ว่า​จะ​โทร​ใน​ปริมาณ​ที่​กำหนด​ไว้​เป็น​ระยะ​เวลา​หนึ่ง.

[กรอบ/ภาพ​หน้า 19]

ข้อ​แนะ​สำหรับ​การ​ใช้​โทรศัพท์​มือ​ถือ

1. ไม่​ควร​พูด​เสียง​ดัง​เมื่อ​ใช้​โทรศัพท์​มือ​ถือ​ใน​ที่​สาธารณะ. ไมโครโฟน​ใน​โทรศัพท์​มี​ความ​ไว​สูง และ​คน​ที่​อยู่​รอบ ๆ ตัว​คุณ​คง​ไม่​อยาก​ฟัง​เรื่อง​ส่วน​ตัว​ของ​คุณ.

2. ปิด​โทรศัพท์​มือ​ถือ​หรือ​ใช้​ระบบ​สั่น​เมื่อ​เข้า​ร่วม​การ​ประชุม​ทาง​ศาสนา, การ​ประชุม​ของ​บริษัท, เมื่อ​อยู่​ใน​โรง​ภาพยนตร์​หรือ​ใน​ที่​สาธารณะ​อื่น ๆ, หรือ​ใน​ร้าน​อาหาร.

3. อย่า​ใช้​โทรศัพท์​โดย​ถือ​ไว้​ใน​มือ​ขณะ​ขับ​รถ.

[ภาพ​หน้า 18]

ตลอด​ทั่ว​โลก​มี​การ​ส่ง​ข้อ​ความ​ถึง​กัน​ประมาณ 30,000 ล้าน​ข้อ​ความ​ทุก​เดือน

[ภาพ​หน้า 20]

การ​ใช้​โทรศัพท์​มือ​ถือ​ขณะ​ขับ​รถ​อันตราย​พอ ๆ กับ​การ​ขับ​รถ​ขณะ​เมา​เหล้า