ข้ามไปยังเนื้อหา

ข้ามไปยังสารบัญ

การเก็บน้ำฝน—สมัยโบราณและปัจจุบัน

การเก็บน้ำฝน—สมัยโบราณและปัจจุบัน

การ​เก็บ​น้ำ​ฝน—สมัย​โบราณ​และ​ปัจจุบัน

โดย​ผู้​เขียน​ตื่นเถิด! ใน​อินเดีย

วัฏจักร​ของ​น้ำ​เกิด​ขึ้น​มา​เป็น​เวลา​หลาย​พัน​ปี​แล้ว ตาม​กระบวนการ​ทาง​ธรรมชาติ น้ำ​จะ​ระเหย​จาก​แผ่นดิน​และ​ทะเล, ก่อ​ตัว​เป็น​เมฆ, และ​ตก​ลง​มา​เป็น​ฝน. ระบบ​อัน​แสน​ประหยัด​นี้​ทำ​ให้​ทุก​คน​บน​โลก​มี​น้ำ​ใช้​อย่าง​เหลือ​เฟือ. แต่​เหตุ​ใด​มนุษยชาติ​จึง​ประสบ​ปัญหา​เรื่อง​น้ำ​อย่าง​รุนแรง? อะไร​คือ​ทาง​แก้​ที่​พอ​จะ​ทำ​ได้? เพื่อ​จะ​ได้​คำ​ตอบ ขอ​ให้​เรา​พิจารณา​สถานการณ์​เรื่อง​น้ำ​ใน​ประเทศ​อินเดีย.

เนื่อง​จาก​อินเดีย​มี​ประชากร​มาก​กว่า​หนึ่ง​พัน​ล้าน​คน ปัญหา​เรื่อง​แหล่ง​น้ำ​จึง​ตก​อยู่​ใน​ภาวะ​วิกฤติ. น้ำ​ที่​ใช้​ใน​อินเดีย​มา​จาก​ไหน? ใน​ช่วง​ฤดู​ใบ​ไม้​ผลิ แม่น้ำ​ที่​อยู่​ทาง​ภาค​เหนือ​ตอน​บน​จะ​ได้​รับ​น้ำ​ที่​ละลาย​มา​จาก​หิมะ​และ​ธาร​น้ำ​แข็ง​ของ​เทือก​เขา​หิมาลัย. แต่​พื้น​ที่​ส่วน​ใหญ่​แห่ง​อนุ​ทวีป​อินเดีย​ต้อง​อาศัย​ฝน​ที่​มา​กับ​ลม​มรสุม​ใน​แต่​ละ​ปี​เพื่อ​ทำ​ให้​แผ่นดิน​อัน​แห้ง​แล้ง​มี​ความ​ชุ่ม​ชื้น​ขึ้น, เพิ่ม​ปริมาณ​น้ำ​ใน​บ่อ​น้ำ​และ​ทะเลสาบ, และ​ทำ​ให้​แม่น้ำ​สาย​ใหญ่ ๆ ที่​อยู่​ใน​ประเทศ​มี​น้ำ​เอ่อ​ขึ้น​มา. ลม​มรสุม​ใน​อินเดีย​มัก​เอา​แน่​ไม่​ได้ และ​ได้​รับ​การ​พรรณนา​ว่า​เป็น “หนึ่ง​ใน​ปรากฏการณ์​ที่​คาด​การณ์​ล่วง​หน้า​ได้​ยาก​ที่​สุด​จน​ทำ​ให้​ข้องขัดใจ” ซึ่ง “แม้​จะ​มี​เทคโนโลยี​อัน​ทัน​สมัย​จาก​ดาว​เทียม​และ​คอมพิวเตอร์​ที่​ทรง​ประสิทธิภาพ . . . , แต่​ก็​คาด​ไม่​ถึง​ว่า​จะ​พยากรณ์​ได้​ยาก​ถึง​เพียง​นี้.”

ตาม​ปกติ​แล้ว ฤดู​มรสุม​จะ​กิน​เวลา​ประมาณ​สาม​ถึง​สี่​เดือน แต่​แทน​ที่​ฝน​จะ​ตก​อย่าง​สม่ำเสมอ​ตลอด​ฤดู​นั้น ฝน​กลับ​ตก​อย่าง​หนัก​ราว​กับ​ฟ้า​รั่ว​แค่​ช่วง​สั้น ๆ. ผล​ก็​คือ มี​น้ำ​เต็ม​เขื่อน​จน​ต้อง​ระบาย​ออก. น้ำ​ใน​แม่น้ำ​เอ่อ​ล้น​ตลิ่ง ไหล​ท่วม​ไร่​นา​และ​บ้าน​เรือน. เนื่อง​จาก​สังคม​เปลี่ยน​ไป​เป็น​แบบ​อุตสาหกรรม​สมัย​ใหม่​และ​มี​การ​ขยาย​เขต​เมือง​ออก​ไป​ส่ง​ผล​ให้​มี​การ​ตัด​ไม้​ทำลาย​ป่า​อย่าง​มาก และ​ด้วย​เหตุ​นี้​จึง​ไม่​มี​ต้น​ไม้​มาก​พอ​ที่​จะ​ดูด​ซับ​น้ำ​ฝน​ไว้​ที่​ราก​แล้ว​ค่อย ๆ ปล่อย​ออก​มา​ใน​ดิน. ดัง​นั้น กระแส​น้ำ​ที่​ไหล​เชี่ยว​จึง​ชะ​หน้า​ดิน​ออก​ไป​และ​เซาะกร่อน​พื้น​ดิน. ตะกอน​ที่​ไหล​ลง​ไป​สะสม​อยู่​ใน​ทะเลสาบ​และ​หนอง​น้ำ​ทำ​ให้​แหล่ง​น้ำ​ตื้น​เขิน​จน​เก็บ​น้ำ​ได้​น้อย​ลง. ผล​ก็​คือ น้ำ​ฝน​อัน​มี​ค่า​ส่วน​ใหญ่​สูญ​หาย​ไป​หมด.

ครั้น​แล้ว ฤดู​มรสุม​ก็​ผ่าน​พ้น​ไป. ช่วง​ที่​เหลือ​ของ​ปี​มี​แสง​แดด​แผด​จ้า​ทุก​วัน ซึ่ง​มี​เดือน​ที่​ร้อน​จัด​ที่​สุด​ถึง​หลาย​เดือน! ผืน​ดิน​แห้ง​และ​แตก​ระแหง​อย่าง​รวด​เร็ว. แม่น้ำ​ที่​เคย​ไหล​เชี่ยว​กลาย​เป็น​ลำธาร​ที่​ไหล​เอื่อย ๆ ใน​ก้น​แม่น้ำ​กว้าง ๆ ที่​มี​แต่​ทราย. น้ำ​ตก​ไม่​มี​น้ำ​อีก​ต่อ​ไป. การ​เจาะ​บ่อ​บาดาล​ก็​ต้อง​เจาะ​ให้​ลึก​กว่า​เดิม​เพื่อ​จะ​ได้​น้ำ​มา​ใช้ และ​ระดับ​น้ำ​ใต้​ดิน​ก็​ลด​ลง. เมื่อ​ฝน​ไม่​ตก ความ​แห้ง​แล้ง​เริ่ม​ทำ​ให้​พืช​ผล​เสียหาย, วัว​ควาย​ล้ม​ตาย, และ​คน​ใน​หมู่​บ้าน​ต่าง​อพยพ​เข้า​ไป​อยู่​ใน​เมือง​ซึ่ง​ทำ​ให้​ชุมชน​เมือง​มี​ปัญหา​เรื่อง​น้ำ​มาก​ขึ้น.

แต่​ใช่​ว่า​จะ​ต้อง​เป็น​เช่น​นี้​เสมอ​ไป. ใน​สมัย​โบราณ ผู้​คน​ที่​อาศัย​อยู่​ตาม​ส่วน​ต่าง ๆ ของ​อินเดีย​เรียน​รู้​ว่า เป็น​การ​ดี​ที่​สุด​ที่​จะ​ไม่​พึ่ง​น้ำ​จาก​แม่น้ำ​และ​ทะเลสาบ​เพียง​อย่าง​เดียว ซึ่ง​มัก​จะ​แห้ง​ขอด​เมื่อ​หมด​ฤดู​มรสุม. พวก​เขา​จึง​คิด​ค้น​วิธี​รอง​น้ำ​ฝน เพื่อ​จะ​นำ​ไป​ใช้​ตาม​ความ​จำเป็น​ใน​ตอน​นั้น​และ​เก็บ​ไว้​ใช้​ตอน​ที่​ฝน​ไม่​ตก. นี่​คือ​การ​เก็บ​น้ำ​ฝน.

ความ​จำเป็น​ใน​ปัจจุบัน

บาง​คน​คง​คิด​ว่า การ​มี​เทคโนโลยี​สมัย​ใหม่​ประกอบ​กับ​การ​สร้าง​เขื่อน​ที่​ใหญ่​โต, ทำนบ​กั้น​น้ำ, และ​คลอง​ชล​ประทาน—ซึ่ง​ทั้ง​หมด​นี้​มี​อยู่​มาก​มาย​ใน​อินเดีย—คง​จะ​ทำ​ให้​ไม่​มี​ใคร​สนใจ​ระบบ​เก็บ​กัก​น้ำ​ฝน​แบบ​โบราณ. ที่​จริง ผู้​คน​เลิก​ใช้​วิธี​ส่วน​ใหญ่​เหล่า​นี้​ไป​แล้ว​เมื่อ​พวก​เขา​สามารถ​ใช้​น้ำ​ได้​โดย​เปิด​จาก​ก๊อก​ใน​บ้าน​หรือ​ใน​หมู่​บ้าน. แต่​ก็​มี​เหตุ​ผล​ที่​จะ​เป็น​ห่วง​เรื่อง​นี้. ใน​ช่วง 50 กว่า​ปี​มา​นี้ โครงการ​ใหญ่ ๆ ที่​เกี่ยว​ข้อง​กับ​การ​จัด​การ​เรื่อง​น้ำ​ไม่​สามารถ​จัด​หา​น้ำ​ได้​ทัน​กับ​ความ​ต้องการ​ของ​ประชาชน​ที่​มี​เพิ่ม​ขึ้น​อย่าง​รวด​เร็ว​และ​ทัน​กับ​การ​เปลี่ยน​แปลง​รูป​แบบ​สังคม​จาก​สังคม​ที่​เคย​ทำ​เกษตรกรรม​แทบ​ทุก​ครัว​เรือน​ไป​เป็น​สังคม​อุตสาหกรรม​อย่าง​รวด​เร็ว. น้ำ​ที่​เก็บ​ไว้​จึง​ไม่​เพียง​พอ​ต่อ​ความ​ต้องการ​ของ​ผู้​คน​ทั้ง​ประเทศ.

ทุก​วัน​นี้ นัก​อนุรักษ์​สิ่ง​แวด​ล้อม​และ​เจ้าหน้าที่​หลาย​คน​ที่​สนใจ​และ​เป็น​ห่วง​เรื่อง​นี้​รู้สึก​ว่า​จำเป็น​ต้อง​สนับสนุน​ให้​ประชาชน​มี​ส่วน​ร่วม​ใน​การ​เก็บ​น้ำ​ไว้​ใช้. จึง​มี​การ​ส่ง​เสริม​ให้​เก็บ​น้ำ​ฝน​ที่​บ้าน, ที่​โรง​งาน, ที่​โรง​เรียน, และ​ที่​ใด​ก็​ตาม​ที่​สามารถ​เก็บ​น้ำ​ใน​ปริมาณ​น้อย ๆ ได้. อัน​ที่​จริง เมือง​และ​รัฐ​ต่าง ๆ หลาย​แห่ง​ได้​ออก​กฎ​ข้อ​บังคับ​ให้​อาคาร​ที่​สร้าง​ใหม่​ต้อง​มี​อุปกรณ์​สำหรับ​เก็บ​น้ำ​ฝน​ด้วย!

น้ำ​ฝน​นับ​ล้าน​ลิตร​ตก​ลง​มา​ใน​พื้น​ที่​ที่​ไม่​มี​ทาง​ระบาย​ไป​สู่​ที่​เก็บ แต่​จะ​ระเหย​หรือ​ไหล​ลง​ไป​สู่​ทะเล. อย่าง​ไร​ก็​ตาม การ​เก็บ​น้ำ​ฝน​อาศัย​พื้น​ฐาน​ของ​แนว​คิด​ที่​ว่า​ฝน​ตก​ที่​ไหน​ก็​เก็บ​ที่​นั่น ดัง​นั้น ใคร ๆ ก็​เก็บ​น้ำ​ฝน​ไว้​ใช้​ได้. และ​ไม่​เหมือน​น้ำ​จาก​เขื่อน​หรือ​ลำ​คลอง​ที่​ต้อง​จ่าย​เงิน​เพื่อ​ซื้อ​มา​ใช้​ซึ่ง​เป็น​ภาระ​หนัก​สำหรับ​คน​จน แต่​น้ำ​ฝน​นี้​เรา​ได้​มา​ฟรี ๆ!

ผู้​ที่​ริเริ่ม

ดัง​นั้น หลาย​คน​ใน​อินเดีย​ที่​เป็น​ห่วง​เรื่อง​นี้​จึง​ลง​มือ​ดำเนิน​การ​เก็บ​กัก​น้ำ​ฝน. บาง​คน​ได้​รับ​รางวัล​ระดับ​นานา​ชาติ ดัง​เช่น​กรณี​ของ​ราเจนดรา สิงห์ ผู้​ได้​รับ​รางวัล​แมกไซไซ​อัน​มี​เกียรติ​สาขา​การ​พัฒนา​ชุมชน​ใน​ปี 2001. สิงห์​จัด​ตั้ง​องค์กร​ที่​ไม่​ขึ้น​กับ​รัฐบาล เขา​ทำ​ให้​แม่น้ำ​อะรา​วารี​ใน​รัฐ​ราชสถาน​ที่​เกือบ​จะ​แห้ง​ขอด​กลับ​มา​สมบูรณ์​อีก​ครั้ง ทำ​ให้​รัฐ​นี้​ซึ่ง​มี​ประชากร​ประมาณ 8 เปอร์เซ็นต์​แต่​มี​แหล่ง​น้ำ​เพียง 1 เปอร์เซ็นต์​ของ​ทั้ง​ประเทศ​ได้​รับ​ประโยชน์​อย่าง​มาก. มาก​กว่า 15 ปี​แล้ว​ที่​คณะ​ทำ​งาน​ของ​สิงห์​ได้​ปลูก​ต้น​ไม้​และ​ทำ​ถัง​เก็บ​น้ำ​แบบ​ดั้งเดิม​ที่​เรียก​ว่า โยฮัดส์ ขึ้น​มา​จำนวน 3,500 ถัง ทำ​ให้​คน​ใน​หมู่​บ้าน​มี​ความ​เป็น​อยู่​ดี​ขึ้น. ส่วน​คน​อื่น ๆ ก็​พยายาม​เก็บ​น้ำ​ฝน​เช่น​กัน แม้​ว่า​จะ​ไม่​ได้​เป็น​ที่​สังเกต​ของ​คน​ส่วน​ใหญ่​แต่​พวก​เขา​ก็​พอ​ใจ​ที่​รู้​ว่า​ตน​มี​ส่วน​ช่วย.

นัก​อุตสาหกรรม​กำลัง​เห็น​ประโยชน์​ของ​การ​เก็บ​น้ำ​ฝน​ไว้​ใช้​นอก​เหนือ​จาก​การ​ใช้​น้ำ​ประปา. ที่​โรง​งาน​แห่ง​หนึ่ง​นอก​เมือง​บังคาลอร์​ที่​อยู่​ทาง​ภาค​ใต้​ของ​อินเดีย​มี​การ​เก็บ​น้ำ​ฝน​ไว้​ใช้​โดย​รอง​จาก​หลังคา​ซึ่ง​เป็น​วิธี​ที่​ง่าย​และ​เสีย​ค่า​ใช้​จ่าย​ไม่​มาก. แต่​ก่อน น้ำ​ฝน​จะ​ไหล​ทิ้ง​ไป​ตาม​ถนน แต่​เดี๋ยว​นี้​น้ำ​ฝน​จะ​ไหล​ลง​ราง​น้ำ​ที่​นำ​ไป​สู่​ถัง​เก็บ​ซึ่ง​จุ​ได้ 42,000 ลิตร. ใน​ช่วง​ฤดู​มรสุม โรง​งาน​แห่ง​นี้​ใช้​น้ำ​ฝน​ที่​เก็บ​ได้ นำ​ไป​ผ่าน​การ​กรอง​วัน​ละ 6,000 ลิตร​เพื่อ​ใช้​ใน​การ​ล้าง​จาน​ชาม​และ​ทำ​ความ​สะอาด​โรง​อาหาร. พวก​เขา​ไม่​ต้อง​พึ่ง​น้ำ​ประปา​เพื่อ​จุด​ประสงค์​นี้.

การ​เก็บ​น้ำ​ฝน​แบบ​นี้​อาจ​ทำ​ให้​บาง​คน​คิด​ถึง​สำนวน​ที่​ว่า “แค่​น้ำ​หยด​เดียว​ใน​ถัง” ซึ่ง​หมาย​ความ​ว่า​เล็ก​น้อย​มาก​จน​ไม่​สลัก​สำคัญ​อะไร. แต่​สมมุติ​ว่า คุณ​มี​บัญชี​ใน​ธนาคาร​ซึ่ง​มี​การ​เข้า​เงิน​ให้​ปี​ละ​ครั้ง. เนื่อง​จาก​ต้อง​ใช้​เงิน​ทุก​วัน​คุณ​จึง​ถอน​เงิน​ออก​จาก​บัญชี​มา​ใช้​จ่าย แต่​แล้ว​คุณ​ก็​ค่อย ๆ ถอน​ออก​มา​มาก​กว่า​ที่​มี​อยู่​ใน​บัญชี. ใน​ที่​สุด คุณ​ก็​ต้อง​เป็น​หนี้​ธนาคาร. แต่​ถ้า​ใน​ช่วง​สอง​สาม​เดือน​คุณ​ได้​งาน​ทำ​และ​ได้​ค่า​จ้าง​มาก​พอ​ที่​จะ​ใช้​จ่าย​สำหรับ​สิ่ง​จำเป็น​ใน​ชีวิต​ประจำ​วัน เงิน​ใน​บัญชี​ของ​คุณ​ก็​มี​โอกาส​จะ​งอก​เงย​ขึ้น. ที​นี้ ลอง​ใช้​หลักการ​เดียว​กัน​นี้​กับ​การ​เก็บ​น้ำ​ฝน. เมื่อ​คุณ​เก็บ​น้ำ​ฝน​ที​ละ​เล็ก​ที​ละ​น้อย​นับ​ครั้ง​ไม่​ถ้วน ประโยชน์​ที่​ได้​คือ​อะไร? แหล่ง​น้ำ​ต่าง ๆ จะ​กลับ​มา​เต็ม​อีก​ครั้ง, ระดับ​น้ำ​ใต้​ดิน​จะ​สูง​ขึ้น, น้ำ​บาดาล​จะ​มี​มาก​ขึ้น และ​คุณ​ก็​จะ​มี​น้ำ​ใช้​เมื่อ​ถึง​เวลา​ที่​ฝน​ไม่​ตก. จำ​ไว้​ว่า น้ำ​มี​จำกัด และ​ถ้า​น้ำ​หมด​ไป​ก็​ไม่​อาจ​หา​จาก​ที่​ไหน​มา​ใช้​ได้​อีก.

การ​แก้​ปัญหา​ถาวร

ดาว​เคราะห์​ของ​เรา​มี​ทรัพยากร​ที่​จำเป็น​อย่าง​อุดม​สมบูรณ์​สำหรับ​ทุก​ชีวิต​ที่​อาศัย​บน​ดาว​ดวง​นี้. อย่าง​ไร​ก็​ตาม ตลอด​หลาย​ศตวรรษ ความ​ละโมบ​ของ​มนุษย์​และ​การ​มอง​แค่​เพียง​ผล​ประโยชน์​ที่​อยู่​ตรง​หน้า​ได้​สร้าง​ความ​เสียหาย​ต่อ​สภาพ​ความ​เป็น​อยู่​ของ​ผู้​คน​นับ​ล้าน​ที่​อาศัย​อยู่​บน​แผ่นดิน​โลก. แม้​หลาย​คน​จะ​พยายาม​อย่าง​จริง​ใจ แต่​ก็​เห็น​ได้​ชัด​ว่า มนุษย์​ไม่​มี​อำนาจ​ที่​จะ​แก้ไข​ปัญหา​เรื่อง​สิ่ง​แวด​ล้อม​บน​โลก​ให้​หมด​ไป​อย่าง​สิ้นเชิง. น่า​ยินดี​ที่​พระ​ผู้​สร้าง​แผ่นดิน​โลก​ทรง​สัญญา​ว่า “จะ​ทรง​ทำลาย​คน​ทั้ง​หลาย​เหล่า​นั้น​ที่​จะ​ทำ​ร้าย​แก่​แผ่นดิน​โลก” และ​ฟื้นฟู​วัฏจักร​ของ​น้ำ​ให้​มี​ความ​สมดุล เพื่อ “น้ำ​จะ​พุ​ขึ้น​ใน​ป่า​รก, และ​จะ​เกิด​ลำธาร​ขึ้น​ใน​ป่า​ทราย.” จริง​ที​เดียว “ทราย​ที่​ร้อน​ระอุ​จะ​กลับ​เป็น​บ่อ​น้ำ, และ​ดิน​ที่​แตก​ระแหง​จะ​เกิด​มี​น้ำ​พลุ่ง​ขึ้น​มา.” นั่น​จะ​เป็น​การ​เก็บ​น้ำ​ฝน​ที่​ทำ​ให้​รู้สึก​สดชื่น​จริง ๆ!—วิวรณ์ 11:18; ยะซายา 35:6, 7.

[กรอบ/ภาพ​หน้า 21

วิธี​เก็บ​น้ำ​ฝน​แบบ​โบราณ​ที่​นำ​กลับ​มา​ใช้​ใหม่

การ​รอง​น้ำ​จาก​หลังคา: เป็น​วิธี​ที่​ง่าย​และ​เสีย​ค่า​ใช้​จ่าย​ไม่​มาก. น้ำ​ฝน​จะ​ไหล​ลง​มา​ตาม​หลังคา​สู่​ราง​น้ำ และ​ไหล​ไป​ตาม​ท่อ​ลง​ใน​ถัง​กรอง​ที่​เตรียม​ไว้​เป็น​พิเศษ. ใน​ถัง​กรอง​นี้​มี​ตะแกรง​ลวด, ทราย, กรวด, และ​ถ่าน​ซึ่ง​จะ​ทำ​ให้​น้ำ​สะอาด​ขึ้น. จาก​นั้น น้ำ​จะ​ไหล​ลง​ถัง​เก็บ​ซึ่ง​อาจ​อยู่​บน​ดิน​หรือ​ใต้​ดิน​ก็​ได้. มี​การ​ยา​แนว​ถัง​น้ำ​เพื่อ​ป้องกัน​แสง​แดด​และ​ไม่​ให้​อากาศ​หรือ​สิ่ง​มี​ชีวิต​ตัว​เล็ก ๆ เข้า​ไป; ทั้ง​ยัง​แกว่ง​สาร​ส้ม​เพื่อ​ทำ​ให้​น้ำ​หาย​ขุ่น; และ​มี​การ​ใช้​ผง​ฟอก​ขาว​เพื่อ​ฆ่า​แบคทีเรีย. น้ำ​นี้​อาจ​นำ​ไป​ใช้​รด​ต้น​ไม้, ใส่​ชัก​โครก, และ​ซัก​เสื้อ​ผ้า. อาจ​นำ​น้ำ​ไป​ผ่าน​กระบวนการ​อื่น ๆ เพิ่ม​เติม​เพื่อ​จะ​ใช้​ดื่ม​ได้. น้ำ​ที่​เหลือ​ใช้​อาจ​เก็บ​ไว้​ใน​บ่อ​หรือ​ไม่​ก็​ปล่อย​ให้​ไหล​ลง​ดิน​เพื่อ​เพิ่ม​ระดับ​น้ำ​ใต้​ดิน. ผู้​คน​ใน​เมือง​นิยม​ใช้​วิธี​นี้.

โนลา: กำแพง​หิน​ที่​สร้าง​ขวาง​ลำธาร​เพื่อ​กัก​น้ำ​ไว้. มี​การ​ปลูก​ต้น​ไม้​ที่​ให้​ร่ม​เงา​ไว้​บน​ฝั่ง​เพื่อ​ให้​น้ำ​ระเหย​ช้า​ลง และ​จะ​ใส่​สมุนไพร​ลง​ใน​น้ำ​เพื่อ​ทำ​ให้​น้ำ​บริสุทธิ์.

ราพัท​หรือ​ที่​เก็บ​น้ำ​แบบ​ซึม: มี​การ​สร้าง​ที่​เก็บ​น้ำ​ขนาด​เล็ก​บน​ดิน​ทราย​หรือ​ดิน​ปน​หิน​เพื่อ​รอง​น้ำ​ฝน. น้ำ​บาง​ส่วน​จะ​ถูก​ใช้​ไป แต่​ส่วน​ที่​เหลือ​จะ​ซึม​ลง​ชั้น​หิน​อุ้ม​น้ำ​และ​ทำ​ให้​น้ำ​บาดาล​มี​เพิ่ม​ขึ้น.

บันดารา: มี​การ​สร้าง​ที่​เก็บ​น้ำ​ใต้​ดิน​เพื่อ​เก็บ​กัก​น้ำ​จาก​น้ำพุ โดย​น้ำ​จะ​ไหล​ผ่าน​ท่อ​ไป​ยัง​ถัง​เก็บ​เพื่อ​ใช้​ทำ​น้ำ​ประปา.

คา​นัท: ใน​พื้น​ที่​ที่​เป็น​เนิน​จะ​มี​การ​ขุด​ช่อง​ใน​แนว​ตั้ง​เพื่อ​ใช้​ดัก​น้ำ​ฝน. น้ำ​ที่​ได้​มา​จะ​ไหล​ไป​ตาม​ท่อ​ใต้​ดิน​โดย​อาศัย​แรง​โน้มถ่วง​และ​ไป​เก็บ​ไว้​ใน​บ่อ​ที่​อยู่​ไกล​ออก​ไป.

ชุด​ถัง​เก็บ​น้ำ​ฝน: น้ำ​ฝน​ที่​ล้น​ออก​มา​จาก​ถัง​จะ​ไหล​ไป​ตาม​ราง​น้ำ​ลง​ไป​ยัง​ถัง​อื่น ๆ ที่​อยู่​ระดับ​ต่ำ​กว่า​ไล่​ไป​ตาม​ลำดับ.

[ที่​มา​ของ​ภาพ​หน้า 19]

UN/DPI Photo by Evan Schneider

[ที่​มา​ของ​ภาพ​หน้า 20]

UN/DPI Photo by Evan Schneider