ข้ามไปยังเนื้อหา

ข้ามไปยังสารบัญ

การเพ่งดูโลก

การเพ่งดูโลก

การ​เพ่ง​ดู​โลก

พบ​จระเข้​เผือก

หนังสือ​พิมพ์​เดอะ ฮินดู ของ​อินเดีย กล่าว​ว่า “เจ้าหน้าที่​ป่า​ไม้​ใน​อุทยาน​แห่ง​ชาติ​บิทาร์คานิกา​ใน​รัฐ​โอริสสา​ได้​พบ​จระเข้​เผือก​หา​ยาก 15 ตัว . . . ระหว่าง​การ​นับ​จำนวน​จระเข้​ประจำ​ปี.” จระเข้​เผือก​เป็น​สัตว์​ที่​หา​ยาก​มาก​และ “ไม่​พบ​ใน​ส่วน​อื่น​ของ​โลก.” เนื่อง​จาก​มี​การ​ลักลอบ​ล่า​สัตว์​กัน​อย่าง​แพร่​หลาย จระเข้​น้ำ​เค็ม​ใน​บริเวณ​นี้​จึง​เคย​เกือบ​สูญ​พันธุ์​ไป​เมื่อ​ปี 1970 แต่​แล้ว​ทาง​รัฐ​โอริสสา​ได้​จัด​ให้​มี​โครงการ​เลี้ยง​จระเข้​ภาย​ใน​อุทยาน​แห่ง​นี้ โดย​ได้​รับ​ความ​ช่วยเหลือ​จาก​โครงการ​ต่าง ๆ ของ​สหประชาชาติ. เนื่อง​จาก​บริเวณ​นี้​มี​ต้น​โกง​กาง​อยู่​มาก, น้ำ​ไม่​เน่า​เสีย, มี​อาหาร​อุดม​สมบูรณ์, และ​ไม่​มี​มนุษย์​มา​รบกวน​มาก​นัก โครงการ​ดัง​กล่าว​จึง​ประสบ​ความ​สำเร็จ. ตาม​ที่​กล่าว​ไว้​ใน​หนังสือ​พิมพ์​เดอะ ฮินดู ปัจจุบัน​ใน​อุทยาน​แห่ง​นี้​นอก​จาก​จะ​มี​จระเข้​เผือก​ที่​หา​ยาก​แล้ว ยัง​มี​จระเข้​ธรรมดา​อีก​ประมาณ 1,500 ตัว​ด้วย.

ยาสูบ, ความ​ยาก​จน, และ​ความ​เจ็บ​ป่วย

หนังสือ​พิมพ์​เดียรีโอ เมดีโก ของ​สเปน​กล่าว​ว่า “องค์การ​อนามัย​โลก (WHO) เตือน​ว่า เกือบ 84 เปอร์เซ็นต์​ของ​ผู้​สูบ​บุหรี่​อาศัย​อยู่​ใน​ประเทศ​ยาก​จน ซึ่ง​ใน​ประเทศ​เหล่า​นั้น​การ​ใช้​ยาสูบ​และ​ความ​ยาก​จน​ได้​กลาย​เป็น​ปัญหา​ที่​เกี่ยว​โยง​กัน​เป็น​วัฏจักร​อัน​เลว​ร้าย.” ยิ่ง​กว่า​นั้น ใน​ทุก​ประเทศ “กลุ่ม​คน​ที่​สูบ​บุหรี่​มาก​ที่​สุด​และ​มี​ปัญหา​สืบ​เนื่อง​จาก​การ​ใช้​ยาสูบ​มาก​ที่​สุด​คือ​กลุ่ม​ประชากร​ที่​ยาก​จน​ที่​สุด.” หนังสือ​พิมพ์​นี้​รายงาน​ว่า แม้​ใน​ประเทศ​ที่​พัฒนา​แล้ว​ส่วน​ใหญ่​จะ​มี​การ​ใช้​ยาสูบ​น้อย​ลง แต่​ตลอด​ทั่ว​โลก การ​ใช้​ยาสูบ​เป็น “ปัจจัย​สำคัญ​ที่​สุด​อันดับ​สี่​ที่​ทำ​ให้​เจ็บ​ป่วย.” ใน​สเปน ซึ่ง​มี​อัตรา​การ​เสีย​ชีวิต​เนื่อง​จาก​การ​ใช้​ยาสูบ​สูง​ถึง 60,000 คน​ต่อ​ปี การ​สูบ​บุหรี่​ได้​กลาย​เป็น “สาเหตุ​หลัก​ของ​ความ​เจ็บ​ป่วย, ความ​ทุพพลภาพ, และ​ความ​ตาย​ที่​หลีก​เลี่ยง​ได้.”

แกะ​จำ​หน้า​ได้

คีท เคนดริก นัก​ชีววิทยา​ทาง​ประสาท​เขียน​ไว้​ใน​วารสาร​นิว ไซเยนติสต์ ว่า “เรา​พบ​ว่า​แกะ​สามารถ​จำ​หน้า​แกะ​ตัว​อื่น ๆ ได้​อย่าง​น้อย 50 ตัว​และ​หน้า​คน​อย่าง​น้อย 10 คน.” เคนดริก​และ​ทีม​ของ​เขา​พบ​ว่า​หลัง​จาก​ที่​แกะ 60 ตัว​ได้​เห็น​หน้า​กัน​ใน​ช่วง​ไม่​กี่​สัปดาห์ มัน​สามารถ​จำ​หน้า​พวก​มัน​ทุก​ตัว​ได้ “อย่าง​น้อย​สอง​ปี.” แกะ​ไม่​เพียง​แต่​จำ​หน้า​ได้​เท่า​นั้น แต่​มัน​ยัง​สามารถ “อ่าน​ความ​รู้สึก​จาก​สี​หน้า” เหมือน​ที่​คน​เรา​ทำ​ได้​ด้วย. วารสาร​ดัง​กล่าว​ยัง​รายงาน​ว่า แกะ “รู้​ว่า​สี​หน้า​ที่​แตกต่าง​กัน​ของ​คน​มี​ความ​หมาย​อย่าง​ไร​และ​รู้​ว่า​แกะ​ตัว​ไหน​กังวล​โดย​ดู​จาก​สี​หน้า​ที่​เปลี่ยน​ไป. พวก​มัน​ยัง​ชอบ​คน​ที่​มี​หน้า​ยิ้ม​แย้ม​มาก​กว่า​คน​ที่​มี​หน้า​บึ้ง​ตึง.” นัก​วิจัย​พบ​ว่า “ใน​ที่​สุด แกะ​จะ​ถือ​ว่า​หน้า​ของ​คน​เลี้ยง​เป็น​เหมือน​กับ​หน้า​ของ​สมาชิก​ใน​ฝูง​ที่​มัน​รู้​จัก​คุ้น​เคย​เป็น​อย่าง​ดี.” เคนดริก​กล่าว​ว่า “คน​ที่​เป็น​มิตร​จะ​ถูก​จัด​อยู่​ใน​ประเภท​แกะ​กิตติมศักดิ์. นี่​แสดง​ว่า​แกะ​รู้สึก​ผูก​พัน​กับ​คน​ที่​เลี้ยง​มัน.”

มลพิษ​จาก​ก๊าซ​ก่อ​ภาวะ​เรือน​กระจก​ใน​ออสเตรเลีย

สถาบัน​ออสเตรเลีย​กล่าว​ว่า “ใน​บรรดา​ประเทศ​อุตสาหกรรม​ทั้ง​หมด ออสเตรเลีย​ปล่อย​ก๊าซ​ก่อ​ภาวะ​เรือน​กระจก​ออก​มา​ใน​ปริมาณ​มาก​ที่​สุด​เมื่อ​คิด​เฉลี่ย​ต่อ​ประชากร​หนึ่ง​คน.” ใน​ช่วง​ปี 2001 ออสเตรเลีย​ปล่อย​คาร์บอนไดออกไซด์​และ​ก๊าซ​อื่น ๆ ที่​ก่อ​ภาวะ​เรือน​กระจก​เฉลี่ย​แล้ว 27.2 ตัน​ต่อ​คน. รายงาน​ฉบับ​หนึ่ง​จาก​สถาบัน​วิจัย​แห่ง​นี้​กล่าว​ว่า ที่​ตัว​เลข​สูง​เช่น​นี้​เนื่อง​จาก​ออสเตรเลีย​ใช้​ถ่าน​หิน​ผลิต​กระแส​ไฟฟ้า รวม​ทั้ง​มี​การ​ปล่อย​ก๊าซ​จาก​ยาน​พาหนะ​และ​อุตสาหกรรม​อะลูมิเนียม. ประเทศ​ที่​ปล่อย​ก๊าซ​ก่อ​ภาวะ​เรือน​กระจก​ออก​มา​ใน​ปริมาณ​รอง​ลง​มา​เมื่อ​คิด​เฉลี่ย​ต่อ​ประชากร​หนึ่ง​คน​คือ แคนาดา (22 ตัน) และ​สหรัฐ (21.4 ตัน). ประเทศ​ที่​มี​ตัว​เลข​ต่ำ​สุด​ใน​ปี 2001 ได้​แก่ ลัตเวีย ซึ่ง​ปล่อย​ก๊าซ​ก่อ​ภาวะ​เรือน​กระจก​ออก​มา 0.95 ตัน​ต่อ​ประชากร​หนึ่ง​คน. รายงาน​นั้น​กล่าว​ว่า ถึง​แม้​ออสเตรเลีย​จะ​มี​ประชากร​ไม่​มาก แต่​ปริมาณ​การ​ปล่อย​ก๊าซ​ก่อ​ภาวะ​เรือน​กระจก​ของ​ทั้ง​ประเทศ “สูง​กว่า​ประเทศ​ยักษ์​ใหญ่​ทาง​เศรษฐกิจ​ใน​ยุโรป เช่น ฝรั่งเศส​และ​อิตาลี​เสีย​อีก (ทั้ง​สอง​ประเทศ​มี​ประชากร​มาก​กว่า​ออสเตรเลีย​ประมาณ​สาม​เท่า).”

เสียง​เพลง​ของ​ไน​ติง​เกล​แข่ง​กับ​เสียง​จราจร

หนังสือ​พิมพ์​เบอร์ลิเนอร์ ไซทุง​ของ​เยอรมนี​ชี้​แจง​ว่า “เมื่อ​มี​เสียง​รบกวน​มาก​ขึ้น นก​ไน​ติง​เกล​ก็​ร้อง​ดัง​ขึ้น.” งาน​ศึกษา​วิจัย​ชิ้น​หนึ่ง​ของ​เฮน​ริก บรัมม์​แห่ง​สถาบัน​ชีววิทยา​ของ​มหาวิทยาลัย​ฟรี​ใน​เบอร์ลิน​ได้​พบ​ว่า เสียง​ที่​นก​ร้อง​เพื่อ​บอก​อาณา​เขต​ของ​มัน​และ​เพื่อ​ดึงดูด​ความ​สนใจ​ของ​นก​ตัว​เมีย​อาจ​ดัง​หรือ​เบา​ต่าง​กัน​ไป​ถึง 14 เดซิเบล ทั้ง​นี้​ขึ้น​อยู่​กับ​ความ​ดัง​ของ​เสียง​รบกวน​รอบ​ข้าง. บรัมม์​กล่าว​ว่า “ตัว​เลข​นี้​ดู​เหมือน​ไม่​มาก​มาย​อะไร แต่​นี่​แสดง​ให้​เห็น​ว่า​ความ​ดัน​เสียง​สูง​ขึ้น​ห้า​เท่า ซึ่ง​หมาย​ความ​ว่า​ความ​ดัน​ใน​ปอด​ของ​นก​ก็​ต้อง​สูง​ขึ้น​ถึง​ห้า​เท่า​เช่น​กัน.” ใน​ละแวก​ที่​เงียบ​สงบ เสียง​ร้อง​ของ​นก​วัด​ได้ 75 เดซิเบล. แต่​ใน​ละแวก​ที่​มี​การ​จราจร​หนา​แน่น เสียง​ร้อง​ของ​นก​ดัง​ถึง 89 เดซิเบล. หนังสือ​พิมพ์​นี้​กล่าว​ว่า “สิ่ง​ที่​ทำ​ให้​นัก​วิจัย​แปลก​ใจ​เป็น​พิเศษ​ก็​คือ​ข้อ​เท็จ​จริง​ที่​ว่า​นก​สามารถ​ปรับ​ตัว​เข้า​กับ​สภาพการณ์​ใหม่ ๆ ใน​แต่​ละ​วัน​ได้. ใน​วัน​สุด​สัปดาห์​ซึ่ง​ไม่​มี​คน​ขับ​รถ​ไป​ทำ​งาน นก​จะ​ร้อง​เสียง​เบา​กว่า​วัน​ธรรมดา.”

อาชญากรรม​ใน​โรง​เรียน​ของ​โปแลนด์

วารสาร​ซิฟเยอร์ชาดโว ของ​โปแลนด์​รายงาน​ว่า ใน​ปี 2003 “มี​การ​โจรกรรม​สอง​หมื่น​ราย​เกิด​ขึ้น​ใน​โรง​เรียน [ใน​โปแลนด์].” วารสาร​นี้​ยัง​กล่าว​ด้วย​ว่า “80 เปอร์เซ็นต์​ของ​เด็ก​นัก​เรียน​ชาว​โปแลนด์​ไม่​ชอบ​ไป​โรง​เรียน​เนื่อง​จาก​รู้สึก​โดด​เดี่ยว ทั้ง​ยัง​เข้า​กับ​ครู​และ​เพื่อน​นัก​เรียน​ไม่​ค่อย​ได้.” ทำไม​จึง​มี​ปัญหา​มาก​มาย​เช่น​นี้? โวลเชค ไอ​เคล​เบอร์เกอร์​ผู้​ทำ​งาน​ด้าน​สุขภาพ​จิต​กล่าว​ว่า “โรง​เรียน​ไม่​ได้​ปลอด​จาก​อิทธิพล​ของ​โลก​ภาย​นอก. สิ่ง​เลว​ร้าย​ที่​เกิด​ขึ้น​ใน​สังคม​ก็​พบ​เห็น​ได้​ใน​โรง​เรียน​เช่น​กัน. เรา​กำหนด​ค่า​นิยม​และ​มาตรฐาน​ของ​สังคม​ขึ้น​มา และ​สิ่ง​นั้น​ก็​มี​อิทธิพล​ต่อ​โรง​เรียน​อย่าง​มาก.” ไอ​เคล​เบอร์เกอร์​แนะ​นำ​ว่า เพื่อ​จะ​สู้​กับ​ปัญหา​นี้​พ่อ​แม่​ควร​ใช้​เวลา​อยู่​กับ​ลูก เด็ก​จะ​ได้​รู้​ว่า​พ่อ​แม่​เห็น​ความ​สำคัญ​ของ​พวก​เขา.

ปัญหา​เรื่อง​รูป​ร่าง​หน้า​ตา

หนังสือ​พิมพ์​เดอะ โกลบ แอนด์ เมล์ ของ​แคนาดา กล่าว​ว่า “วัยรุ่น โดย​เฉพาะ​เด็ก​สาว ๆ ที่​กังวล​เรื่อง​รูป​ร่าง​หน้า​ตา​มี​อายุ​น้อย​ลง​เรื่อย ๆ และ​นี่​อาจ​ส่ง​ผล​กระทบ​ร้ายแรง​ต่อ​สุขภาพ​ของ​พวก​เขา.” มี​การ​สำรวจ​ความ​คิด​เห็น​ของ​เด็ก​ผู้​หญิง​อายุ​ระหว่าง 10 ถึง 14 ปี​มาก​กว่า 2,200 คน​เกี่ยว​กับ​เรื่อง​การ​รับประทาน​อาหาร. หนังสือ​พิมพ์​โกลบ รายงาน​ว่า “เด็ก​ผู้​หญิง​ที่​มี​น้ำหนัก​มาก​เกิน​ไป​มี​ไม่​ถึง 7 เปอร์เซ็นต์ แต่​มี​มาก​กว่า 31 เปอร์เซ็นต์​บอก​ว่า​ตัว​เอง ‘อ้วน​เกิน​ไป’ และ 29 เปอร์เซ็นต์​บอก​ว่า​พวก​เขา​กำลัง​ควบคุม​อาหาร​เพื่อ​ลด​น้ำหนัก.” ทำไม​เด็ก​ผู้​หญิง​ที่​มี​สุขภาพ​ดี​จึง​อยาก​ลด​น้ำหนัก? ตาม​ที่​กล่าว​ใน​หนังสือ​พิมพ์​ฉบับ​นี้ จริง ๆ แล้ว​ควร​จะ​โทษ​พวก​ผู้​ใหญ่​ที่​วาง​ตัว​อย่าง​ที่​ไม่​ดี​โดย​มัก​ควบคุม​อาหาร​เป็น​ประจำ​และ​ชอบ​หัวเราะ​เยาะ​คน​อ้วน. หนังสือ​พิมพ์​โกลบ กล่าว​ว่า “สื่อ​ต่าง ๆ ก็​มี​อิทธิพล​ต่อ​พฤติกรรม​ของ​วัยรุ่น​มาก​เช่น​กัน โดย​สื่อ​เหล่า​นั้น​มัก​แสดง​ภาพ​นาง​แบบ​ที่​มี​รูป​ร่าง​ผอม​มาก ๆ อยู่​ตลอด​เวลา.” ดร. เกล แมคเวย์ นัก​วิทยาศาสตร์​ด้าน​การ​วิจัย​ของ​โรง​พยาบาล​สำหรับ​ผู้​ป่วย​เด็ก​ใน​โทรอนโต​ให้​ความ​เห็น​ว่า ทั้ง​เด็ก ๆ, บิดา​มารดา, และ​ครู​ต่าง​ก็​ต้อง​ตระหนัก​ว่า “การ​มี​น้ำหนัก​เพิ่ม​ขึ้น​เป็น​เรื่อง​ธรรมดา​และ​เป็น​สิ่ง​จำเป็น​สำหรับ​เด็ก​ที่​กำลัง​เติบโต​เข้า​สู่​วัยรุ่น.”