ข้ามไปยังเนื้อหา

ข้ามไปยังสารบัญ

ความกดดันของวัยรุ่นสมัยนี้

ความกดดันของวัยรุ่นสมัยนี้

ความ​กดดัน​ของ​วัยรุ่น​สมัย​นี้

แม้​จะ​มี​ทุก​อย่าง​เพียบ​พร้อม วัยรุ่น​ก็​อาจ​เป็น​ช่วง​เวลา​ที่​ว้าวุ่น​สับสน. เมื่อ​อยู่​ใน​วัย​เริ่ม​เจริญ​พันธุ์ อารมณ์​ความ​รู้สึก​ใหม่ ๆ จะ​ประดัง​เข้า​มา​หา​คน​หนุ่ม​สาว. พวก​เขา​ถูก​กดดัน​ทั้ง​จาก​ครู​และ​วัยรุ่น​คน​อื่น​ไม่​เว้น​แต่​ละ​วัน. พวก​เขา​ได้​รับ​อิทธิพล​อย่าง​ไม่​หยุดหย่อน​จาก​ทีวี, ภาพยนตร์, วงการ​ดนตรี, และ​อินเทอร์เน็ต. ด้วย​เหตุ​นี้ รายงาน​ของ​สหประชาชาติ​ฉบับ​หนึ่ง​จึง​พรรณนา​ถึง​วัยรุ่น​ว่า​เป็น “ช่วง​แห่ง​การ​เปลี่ยน​แปลง​ซึ่ง​โดย​ทั่ว​ไป​จะ​มี​ความ​เครียด​และ​ความ​กังวล​มาก.”

น่า​เสียดาย วัยรุ่น​มัก​จะ​มี​ประสบการณ์​น้อย​เกิน​กว่า​ที่​จะ​รับมือ​กับ​ความ​เครียด​และ​ความ​กังวล​อย่าง​ที่​เกิด​ผล​ดี. (สุภาษิต 1:4) ถ้า​ไม่​มี​การ​ชี้​นำ​ที่​เหมาะ​สม ก็​ง่าย​ที​เดียว​ที่​พวก​เขา​จะ​มี​พฤติกรรม​ที่​ก่อ​ความ​เสียหาย. เพื่อ​เป็น​ตัว​อย่าง รายงาน​จาก​สหประชาชาติ​กล่าว​ว่า “การ​วิจัย​แสดง​ว่า​คน​ที่​ใช้​ยา​เสพ​ติด​มัก​จะ​เริ่ม​ใช้​ตั้ง​แต่​วัยรุ่น​หรือ​วัย​หนุ่ม​สาว.” การ​กระทำ​ผิด​อื่น ๆ เช่น ความ​รุนแรง​และ​การ​สำส่อน​ทาง​เพศ ก็​มัก​จะ​เริ่ม​ต้น​ใน​ช่วง​นี้​ด้วย​เช่น​กัน.

พ่อ​แม่​ที่​คิด​ว่า​เรื่อง​นี้​เกิด​ขึ้น​เฉพาะ​กับ “คน​จน” หรือ​คน​ใน​กลุ่ม​ชาติ​พันธุ์​กลุ่ม​ใด​กลุ่ม​หนึ่ง​เท่า​นั้น​ก็​คง​จะ​เข้าใจ​ผิด​อย่าง​น่า​เศร้า. ปัญหา​ที่​วัยรุ่น​สมัย​นี้​เผชิญ​อยู่​ส่ง​ผล​กระทบ​ต่อ​หนุ่ม​สาว​ทุก​คน​ไม่​ว่า​จะ​มี​ฐานะ​ทาง​เศรษฐกิจ​และ​สังคม​เช่น​ไร หรือ​มี​เชื้อชาติ​ใด. นัก​เขียน​ชื่อ​สกอตต์ วอลเตอร์ เขียน​ว่า “ถ้า​คุณ​คิด​ว่า ‘เยาวชน​ที่​ทำ​ความ​ผิด’ หมาย​ถึง​เฉพาะ​วัยรุ่น​ชาย​อายุ 17 ปี​ซึ่ง​เป็น​ชน​กลุ่ม​น้อย​ที่​อาศัย​อยู่​ใน​เขต​เมือง​ชั้น​ใน และ​มี​แม่​ยาก​จน​ซึ่ง​ต้อง​อาศัย​เงิน​สวัสดิการ​ของ​หลวง คุณ​ก็​ไม่​ทัน​กับ​สถานการณ์​โลก​ใน​ปัจจุบัน. เด็ก​ที่​มี​ปัญหา​ใน​สมัย​นี้​อาจ​เป็น​คน​ผิว​ขาว, อาจ​อยู่​ใน​ครอบครัว​ชั้น​กลาง​หรือ​ค่อนข้าง​สูง, อาจ​มี​อายุ​ต่ำ​กว่า 16 ปี (มาก), และ​อาจ​เป็น​ผู้​หญิง​ก็​ได้.”

แต่​ทำไม​วัยรุ่น​จำนวน​มาก​จึง​มี​โอกาส​เสี่ยง​ที่​จะ​เข้า​ไป​พัวพัน​กับ​ปัญหา? วัยรุ่น​สมัย​ก่อน​ก็​มี​ปัญหา​และ​ถูก​ล่อ​ใจ​ด้วย​ไม่​ใช่​หรือ? ใช่ แต่​พวก​เรา​มี​ชีวิต​อยู่​ใน​สมัย​ที่​คัมภีร์​ไบเบิล​เรียก​ว่า “กลี​ยุค” หรือ​วิกฤตกาล​ซึ่ง​ยาก​ที่​จะ​รับมือ​ได้. (2 ติโมเธียว 3:1-5) สภาพการณ์​และ​ความ​กดดัน​หลาย​อย่าง​ที่​วัยรุ่น​สมัย​นี้​ต้อง​เผชิญ​ไม่​เคย​เกิด​ขึ้น​มา​ก่อน​ใน​ประวัติศาสตร์. ขอ​ให้​เรา​พิจารณา​ดู​บาง​อย่าง.

ครอบครัว​เปลี่ยน​ไป

ยก​ตัว​อย่าง ขอ​ให้​คิด​ถึง​สภาพ​ของ​ครอบครัว​ที่​กำลัง​เปลี่ยน​แปลง. วารสาร​จิตวิทยา​การ​สอน (ภาษา​อังกฤษ) รายงาน​ว่า “มาก​กว่า​หนึ่ง​ใน​สาม​ของ​เยาวชน​ชาว​อเมริกัน​จะ​เจอ​ปัญหา​พ่อ​แม่​หย่าร้าง​กัน​ก่อน​เขา​อายุ​ครบ 18 ปี.” เรา​อาจ​อ้าง​ถึง​สถิติ​คล้าย ๆ กัน​ใน​ประเทศ​อื่น ๆ ทาง​ตะวัน​ตก. เมื่อ​ชีวิต​สมรส​ของ​พ่อ​แม่​จบ​สิ้น​ลง วัยรุ่น​ก็​มัก​ต้อง​ประสบ​กับ​ความ​รู้สึก​ที่​ปวด​ร้าว. วารสาร นี้​กล่าว​ว่า “โดย​ทั่ว​ไป เด็ก​ที่​ครอบครัว​เพิ่ง​แตก​แยก​เมื่อ​ไม่​นาน​มา​นี้​จะ​มี​ปัญหา​เรื่อง​การ​เรียน​และ​การ​เข้า​สังคม​ที่​โรง​เรียน​มาก​กว่า​เด็ก​ที่​มา​จาก​ครอบครัว​ที่​ไม่​มี​ปัญหา หรือ​มี​แต่​พ่อ​หรือ​แม่​เพียง​ฝ่าย​เดียว​มา​นาน​แล้ว หรือ​ครอบครัว​ที่​มี​พ่อ​เลี้ยง​หรือ​แม่​เลี้ยง . . . นอก​จาก​นั้น การ​หย่า​ของ​พ่อ​แม่​มัก​จะ​ส่ง​ผล​ต่อ​ความ​มั่นคง​ทาง​อารมณ์​และ​ความ​นับถือ​ตัว​เอง​ของ​เด็ก.”

การ​ที่​ผู้​หญิง​จำนวน​มาก​ขึ้น​เข้า​สู่​ตลาด​แรงงาน​ก็​ได้​ทำ​ให้​สภาพ​ของ​ครอบครัว​เปลี่ยน​ไป​ด้วย. การ​ศึกษา​ครั้ง​หนึ่ง​เกี่ยว​กับ​อาชญากรรม​ของ​เยาวชน​ใน​ญี่ปุ่น​กล่าว​ว่า ครอบครัว​ที่​ทั้ง​พ่อ​และ​แม่​ต้อง​ทำ​งาน​อาชีพ​จะ​ดู​แล​ลูก ๆ ได้​ยาก​กว่า​ครอบครัว​ที่​พ่อ​หรือ​แม่​คน​ใด​คน​หนึ่ง​อยู่​กับ​บ้าน.

จริง​อยู่ หลาย​ครอบครัว​ทั้ง​พ่อ​และ​แม่​จำเป็น ต้อง​ทำ​งาน​เพื่อ​จะ​มี​ราย​ได้​เพียง​พอ​สำหรับ​สิ่ง​จำเป็น​ใน​ชีวิต. การ​ที่​ทั้ง​พ่อ​และ​แม่​ทำ​งาน​ยัง​อาจ​ทำ​ให้​ลูก ๆ มี​ชีวิต​ที่​สะดวก​สบาย​ขึ้น​ด้วย. แต่​ข้อ​เสีย​คือ เด็ก​หลาย​ล้าน​คน​กลับ​มา​จาก​โรง​เรียน​แล้ว​ไม่​มี​ใคร​อยู่​บ้าน. เมื่อ​พ่อ​แม่​กลับ​มา พวก​เขา​ก็​มัก​จะ​เหน็ด​เหนื่อย​และ​มัว​แต่​คิด​ถึง​ปัญหา​ใน​ที่​ทำ​งาน. ผล​เป็น​อย่าง​ไร? วัยรุ่น​หลาย​คน​ได้​รับ​การ​ดู​แล​จาก​พ่อ​แม่​น้อย​ลง. เด็ก​หนุ่ม​คน​หนึ่ง​กล่าว​ด้วย​ความ​เศร้า​ใจ​ว่า “ครอบครัว​ของ​ผม​ไม่​ได้​ใช้​เวลา​อยู่​ด้วย​กัน​เลย.”

ผู้​สังเกตการณ์​หลาย​คน​เชื่อ​ว่า​เรื่อง​นี้​ไม่​เป็น​ผล​ดี​ต่อ​อนาคต​ของ​วัยรุ่น. นาย​แพทย์​โรเบิร์ต ชอว์ กล่าว​ว่า “ผม​เชื่อ​ว่า​แนว​โน้ม​ใน​การ​เลี้ยง​ดู​ลูก​ซึ่ง​พัฒนา​ขึ้น​ใน​ช่วง​สาม​สิบ​ปี​มา​นี้​ส่ง​เสริม​ให้​เกิด​เด็ก​ที่​ชอบ​แยก​ตัว, ไม่​ชอบ​ติด​ต่อ​สื่อ​ความ, มี​ปัญหา​ใน​การ​เรียน, และ​ควบคุม​ไม่​ได้. พ่อ​แม่​กลาย​เป็น​ทาส​สังคม​ที่​เน้น​วัตถุ​และ​ความ​สำเร็จ​มาก​เกิน​ไป ทำ​ให้​ต้อง​ทุ่มเท​เวลา​กับ​งาน​และ​ใช้​เงิน​มาก​มาย​จน​ไม่​มี​เวลา​ทำ​สิ่ง​ที่​จำเป็น​เพื่อ​สร้าง​ความ​ผูก​พัน​กับ​ลูก ๆ.”

อันตราย​อีก​อย่าง​หนึ่ง​ต่อ​สวัสดิภาพ​ของ​วัยรุ่น​คือ ลูก ๆ ที่​มี​พ่อ​แม่​ทำ​งาน​อาชีพ​มัก​จะ​อยู่​ตาม​ลำพัง​โดย​ไม่​มี​ผู้​ใหญ่​คอย​ดู​แล​เป็น​เวลา​หลาย​ชั่วโมง. เมื่อ​ไม่​ได้​รับ​การ​ดู​แล​จาก​พ่อ​แม่​อย่าง​เพียง​พอ​ก็​ง่าย​ที่​จะ​เกิด​ปัญหา.

ทัศนะ​เรื่อง​การ​อบรม​สั่ง​สอน​ที่​เปลี่ยน​ไป

ทัศนะ​ที่​เปลี่ยน​ไป​ใน​เรื่อง​ที่​ว่า​พ่อ​แม่​ควร​อบรม​สั่ง​สอน​ลูก ๆ อย่าง​ไร​ได้​ส่ง​ผล​ต่อ​วัยรุ่น​สมัย​นี้​ด้วย. ดร. รอน ทัฟเฟิล พูด​ตรง ๆ ว่า พ่อ​แม่​หลาย​คน “สละ​อำนาจ​ของ​ตน.” เมื่อ​เป็น​อย่าง​นี้ วัยรุ่น​จึง​เติบโต​ขึ้น​มา​โดย​แทบ​ไม่​มี​กฎ​ระเบียบ​อะไร​ที่​ควบคุม​ความ​ประพฤติ​ของ​พวก​เขา.

ใน​บาง​กรณี ดู​เหมือน​ว่า​พ่อ​แม่​ทำ​อย่าง​นี้​เพราะ​พวก​เขา​มี​ประสบการณ์​ที่​ไม่​ดี​ตอน​เป็น​เด็ก. พวก​เขา​ต้องการ​เป็น​เพื่อน​กับ​ลูก​ของ​ตน ไม่​ใช่​ผู้​คุม​ระเบียบ. คุณ​แม่​คน​หนึ่ง​ยอม​รับ​ว่า “ดิฉัน​ตาม​ใจ​ลูก​เกิน​ไป. คุณ​พ่อ​คุณ​แม่​ของ​ดิฉัน​เป็น​คน​ที่​เข้มงวด​เหลือ​เกิน และ​ดิฉัน​ต้องการ​จะ​เลี้ยง​ลูก​ใน​วิธี​ที่​แตกต่าง​ออก​ไป. ดิฉัน​พลาด​ไป​จริง ๆ.”

พ่อ​แม่​บาง​คน​ทำ​ถึง​ขนาด​ไหน​ใน​เรื่อง​นี้? รายงาน​ใน​ยูเอสเอ ทูเดย์ บอก​ว่า “การ​สำรวจ​ครั้ง​ใหม่​กับ​วัยรุ่น​เกือบ 600 คน​ใน​สถาน​บำบัด​ยา​เสพ​ติด​ที่​นิวยอร์ก, เทกซัส, ฟลอริดา, และ​แคลิฟอร์เนีย​พบ​ว่า เด็ก 20% เคย​ใช้​ยา​เสพ​ติด​ร่วม​กับ​พ่อ​แม่​ของ​ตน, และ​ประมาณ 5% รู้​จัก​ยา​เสพ​ติด​ครั้ง​แรก—ซึ่ง​ส่วน​ใหญ่​เป็น​กัญชา—จาก​พ่อ​หรือ​แม่​ของ​ตน.” อะไร​ทำ​ให้​พ่อ​แม่​ทำ​สิ่ง​ที่​ขาด​ความ​รับผิดชอบ​เช่น​นี้​ได้? แม่​คน​หนึ่ง​ยอม​รับ​ว่า “ดิฉัน​บอก​ลูก​ว่า ดิฉัน​อยาก​ให้​เธอ​เสพ​ยา​ใน​บ้าน​ดี​กว่า​จะ​ให้​ไป​เสพ​ที่​อื่น เพราะ​ดิฉัน​จะ​ดู​แล​เธอ​ได้.” สำหรับ​คน​อื่น​แล้ว ดู​เหมือน​เขา​รู้สึก​ว่า​การ​เสพ​ยา​ร่วม​กัน​เป็น​วิธี​สร้าง “ความ​ผูก​พัน” กับ​ลูก​ของ​ตน.

การ​โจมตี​จาก​สื่อ

นอก​จาก​นั้น ก็​มี​อิทธิพล​ที่​มี​พลัง​ของ​สื่อ​ต่าง ๆ. ตาม​รายงาน​ของ​นัก​วิจัย​ชื่อ​มา​ริตา โมลล์ การ​สำรวจ​ครั้ง​หนึ่ง​แสดง​ว่า โดย​เฉลี่ย​แล้ว​วัยรุ่น​ใน​สหรัฐ​ใช้​เวลา​วัน​ละ​สี่​ชั่วโมง 48 นาที​ใน​การ​ดู​ทีวี​หรือ​ใช้​คอมพิวเตอร์.

นั่น​เป็น​เรื่อง​ไม่​ดี​เสมอ​ไหม? บทความ​ที่​ตี​พิมพ์​ใน​วารสาร​ไซเยนซ์ รายงาน​ว่า “วงการ​นัก​วิชา​ชีพ​ใหญ่ ๆ หก​แห่ง​ใน​สหรัฐ” รวม​ทั้ง​สมาคม​การ​แพทย์​อเมริกัน ได้​ลง​ความ​เห็น​เป็น​เอกฉันท์​ว่า ความ​รุนแรง​ใน​สื่อ​มี​ความ​เกี่ยว​ข้อง​กับ “พฤติกรรม​ที่​ก้าวร้าว​ของ​เยาวชน​บาง​คน.” วารสาร​ไซเยนซ์ กล่าว​ว่า “แม้​ผู้​เชี่ยวชาญ​จะ​เห็น​พ้อง​กัน แต่​คน​ทั่ว​ไป​ยัง​ดู​เหมือน​ไม่​เข้าใจ​สิ่ง​ที่​สำนัก​ข่าว​ต่าง ๆ พยายาม​จะ​บอก​ที่​ว่า ความ​รุนแรง​ใน​สื่อ​มี​ส่วน​ทำ​ให้​เกิด​สังคม​ที่​รุนแรง​มาก​ขึ้น.”

ขอ​พิจารณา​มิวสิก​วิดีโอ​เป็น​ตัว​อย่าง. พ่อ​แม่​มัก​จะ​ตกตะลึง​ที่​มิวสิก​วิดีโอ​บาง​เรื่อง​แสดง​ภาพ​เหมือน​จริง​และ​โจ่งแจ้ง​ทาง​เพศ​มาก. สิ่ง​นี้​จะ​ส่ง​ผล​ต่อ​พฤติกรรม​ของ​วัยรุ่น​บาง​คน​ได้​จริง ๆ ไหม? การ​ศึกษา​วิจัย​นัก​เรียน​ระดับ​อุดม​ศึกษา 500 คน​ครั้ง​หนึ่ง​บ่ง​ชี้​ว่า “เนื้อ​เพลง​ที่​รุนแรง​ทำ​ให้​ความ​คิด​และ​ความ​รู้สึก​ก้าวร้าว​ขึ้น.” ตาม​การ​ศึกษา​วิจัย​อีก​ราย​หนึ่ง​เมื่อ​เร็ว ๆ นี้ “วัยรุ่น​ที่​ใช้​เวลา​มาก​ใน​การ​ดู​ภาพ​ที่​มี​เนื้อหา​เกี่ยว​กับ​เรื่อง​เพศ​และ​ความ​รุนแรง​ใน . . . มิวสิก​วิดีโอ​เพลง​แรพ​แบบ​ที่​พวก​แก๊ง​ข้าง​ถนน​นิยม​กัน มี​โอกาส​จะ​แสดง​พฤติกรรม​เหล่า​นี้​ใน​ชีวิต​จริง​มาก​ขึ้น​ด้วย.” การ​ศึกษา​วิจัย​ราย​นี้​ซึ่ง​สำรวจ​เด็ก​ผู้​หญิง​กว่า 500 คน​แสดง​ว่า คน​ที่​ดู​มิวสิก​วิดีโอ​เพลง​แรพ​ข้าง​ถนน​มี​แนว​โน้ม​มาก​กว่า​คน​อื่น​ที่​จะ​ทำ​ร้าย​ครู, ถูก​ตำรวจ​จับ, และ​มี​คู่​นอน​หลาย​คน.

วัยรุ่น​กับ​คอมพิวเตอร์

ไม่​กี่​ปี​มา​นี้ คอมพิวเตอร์​มี​บทบาท​สำคัญ​ใน​การ​นวด​ปั้น​จิตใจ​ของ​วัยรุ่น. วารสาร​พีดีอาทริกส์ กล่าว​ว่า “จำนวน​คอมพิวเตอร์​ส่วน​บุคคล​ใน​บ้าน​ได้​เพิ่ม​ขึ้น​อย่าง​น่า​ทึ่ง​ใน​ไม่​กี่​สิบ​ปี​มา​นี้. ตลอด​ทั่ว​ประเทศ [สหรัฐ] สอง​ใน​สาม​ของ​ครอบครัว​ที่​มี​ลูก​วัย​เรียน (6-17 ปี) มี​คอมพิวเตอร์ . . . จำนวน​ของ​เยาวชน​ที่​มี​อายุ 3 ถึง 17 ปี​ใน​สหรัฐ​ซึ่ง​มี​คอมพิวเตอร์​อยู่​ใน​บ้าน​ได้​เพิ่ม​ขึ้น​จาก 55% ใน​ปี 1998 เป็น 65% ใน​ปี 2000.” การ​ใช้​คอมพิวเตอร์​ได้​เพิ่ม​ขึ้น​ใน​ประเทศ​อื่น ๆ ด้วย.

อย่าง​ไร​ก็​ตาม เพื่อ​เด็ก ๆ จะ​ใช้​คอมพิวเตอร์​ได้​นั้น​เขา​ก็​ไม่​จำเป็น​ต้อง​เป็น​เจ้าของ​คอมพิวเตอร์. นัก​วิจัย​คน​หนึ่ง​จึง​อ้าง​ว่า “ประมาณ 90% ของ​เยาวชน​อายุ​ระหว่าง 5 ถึง 17 ปี​เป็น​ผู้​ใช้​คอมพิวเตอร์ และ 59% ของ​จำนวน​นี้​ใช้​อินเทอร์เน็ต.” เรื่อง​นี้​ทำ​ให้​เยาวชน​มี​โอกาส​รับ​ข้อมูล​มาก​อย่าง​ที่​ไม่​เคย​เป็น​มา​ก่อน ซึ่ง​คง​เป็น​เรื่อง​ที่​ดี​ถ้า​มี​การ​ใช้​คอมพิวเตอร์​อย่าง​สำนึก​ถึง​ความ​รับผิดชอบ และ​มี​ผู้​ใหญ่​คอย​ดู​แล​อย่าง​เหมาะ​สม. แต่​พ่อ​แม่​จำนวน​มาก​ปล่อย​ให้​ลูก​ใช้​สื่อ​ชนิด​นี้​อย่าง​ไม่​มี​การ​ควบคุม.

เพื่อ​เป็น​หลักฐาน​ถึง​เรื่อง​นี้ นัก​วิจัย​ชื่อ​โมลล์​เขียน​ใน​วารสาร​ไพ เดลตา คัปพัน ว่า ตาม​การ​สำรวจ​ใน​ปี 2001 เรื่อง​การ​ใช้​อินเทอร์เน็ต “71 เปอร์เซ็นต์​ของ​พ่อ​แม่​คิด​ว่า​ตัว​เอง​รู้ ‘ค่อนข้าง​มาก​หรือ​รู้​พอ​สม​ควร’ ว่า​ลูก​ดู​อะไร​ใน​อินเทอร์เน็ต. แต่​เมื่อ​มี​การ​ถาม​คำ​ถาม​เดียว​กัน​กับ​เด็ก มี​เด็ก​ถึง 70% บอก​ว่า​พ่อ​แม่ ‘แทบ​ไม่​รู้​อะไร​เลย’ ว่า​พวก​เขา​ทำ​อะไร​ใน​อินเทอร์เน็ต.” ตาม​การ​สำรวจ​นี้ “30% ของ​เด็ก​อายุ 9 ถึง 10 ปี​บอก​ว่า​เคย​เข้า​ไป​ใน​ห้อง​สนทนา​เรื่อง​เพศ​ที่​มี​ไว้​สำหรับ​ผู้​ใหญ่​โดย​เฉพาะ. ปัญหา​นี้​ยิ่ง​ร้ายแรง​มาก​ขึ้น​เมื่อ​มี 58% ของ​เด็ก​อายุ 11 ถึง 12 ปี, 70% ของ​เด็ก​อายุ 13 ถึง 14 ปี, และ 72% ของ​เด็ก​อายุ 15 ถึง 17 ปี​บอก​ว่า​พวก​เขา​เคย​ทำ​อย่าง​นั้น. . . . ใน​การ​สำรวจ​ที่​บริเตน​เกี่ยว​กับ​การ​ใช้​อินเทอร์เน็ต​ตาม​บ้าน พ่อ​แม่​หนึ่ง​ใน​เจ็ด​ยอม​รับ​ว่า​ไม่​รู้​อะไร​เลย​ว่า​ลูก​ของ​ตน​ดู​อะไร​ใน​อินเทอร์เน็ต.”

การ​ใช้​อินเทอร์เน็ต​โดย​ไม่​ได้​รับ​การ​ดู​แล​อาจ​ทำ​ให้​เยาวชน​ได้​เห็น​ภาพ​ลามก. อย่าง​ไร​ก็​ตาม อันตราย​ไม่​ได้​มี​แค่​นั้น. ดร. ทัฟเฟิล ซึ่ง​กล่าว​ถึง​ก่อน​หน้า​นี้ กล่าว​ด้วย​ความ​เศร้า​ใจ​ว่า “เด็ก ๆ ของ​เรา​กำลัง​หา​เพื่อน​ใหม่​ใน​โรง​เรียน​และ​ใน​อินเทอร์เน็ต และ​ผล​ก็​คือ พวก​เขา​กำลัง​ใช้​เวลา​กับ​เด็ก​หลาย​คน​ที่​เรา​ไม่​รู้​จัก.”

เห็น​ได้​ชัด​ว่า วัยรุ่น​สมัย​นี้​ประสบ​ความ​กดดัน​และ​ปัญหา​ที่​คน​รุ่น​ก่อน ๆ ไม่​เคย​พบ​เห็น. ไม่​น่า​แปลก​ใจ​ที่​เยาวชน​หลาย​คน​มี​ปัญหา! จะ​ทำ​อะไร​ได้​บ้าง​เพื่อ​ช่วย​วัยรุ่น​สมัย​นี้?

[คำ​โปรย​หน้า 6]

“ผม​เชื่อ​ว่า​แนว​โน้ม​ใน​การ​เลี้ยง​ดู​ลูก​ซึ่ง​พัฒนา​ขึ้น​ใน​ช่วง​สาม​สิบ​ปี​มา​นี้​ส่ง​เสริม​ให้​เกิด​เด็ก​ที่​ชอบ​แยก​ตัว, ไม่​ชอบ​ติด​ต่อ​สื่อ​ความ, มี​ปัญหา​ใน​การ​เรียน, และ​ควบคุม​ไม่​ได้.”—นาย​แพทย์​โรเบิร์ต ชอว์

[ภาพ​หน้า 6]

การ​ที่​ผู้​หญิง​จำนวน​มาก​ขึ้น​เข้า​สู่​ตลาด​แรงงาน​ทำ​ให้​สภาพ​ครอบครัว​เปลี่ยน​ไป

[ภาพ​หน้า 7]

วัยรุ่น​ที่​ไม่​ได้​รับ​การ​ดู​แล​อาจ​ก่อ​ปัญหา​ได้​ง่าย

[ภาพ​หน้า 8]

นัก​วิจัย​เชื่อ​ว่า​มิวสิก​วิดีโอ​ที่​รุนแรง​มี​ส่วน​เกี่ยว​ข้อง​กับ​พฤติกรรม​ที่​รุนแรง

[ภาพ​หน้า 9]

คุณ​รู้​ไหม​ว่า​ลูก​ของ​คุณ​กำลัง​ดู​อะไร​ใน​อินเทอร์เน็ต?