ข้ามไปยังเนื้อหา

ข้ามไปยังสารบัญ

คุณจะดูหนังเรื่องอะไร?

คุณจะดูหนังเรื่องอะไร?

คุณ​จะ​ดู​หนัง​เรื่อง​อะไร?

ใน​ช่วง​ไม่​กี่​สิบ​ปี​มา​นี้ เรื่อง​ทาง​เพศ, ความ​รุนแรง, และ​คำ​หยาบ​มี​เพิ่ม​ขึ้น​มาก​ใน​ภาพยนตร์ และ​แต่​ละ​คน​ก็​มี​ความ​เห็น​แตกต่าง​กัน​ออก​ไป​ใน​เรื่อง​นี้. บาง​คน​บอก​ว่า​ฉาก​ที่​เกี่ยว​กับ​เรื่อง​ทาง​เพศ​บาง​ฉาก​เป็น​สิ่ง​ที่​ลามก แต่​บาง​คน​กลับ​บอก​ว่า​เป็น​งาน​ศิลป์. บาง​คน​บอก​ว่า​ความ​รุนแรง​ใน​หนัง​เป็น​สิ่ง​ที่​ไร้​เหตุ​ผล ส่วน​บาง​คน​กลับ​บอก​ว่า​เป็น​สิ่ง​ที่​เหมาะ​สม​แล้ว. บาง​คน​บอก​ว่า​การ​ใช้​คำ​หยาบ​มาก ๆ เป็น​สิ่ง​ที่​น่า​รังเกียจ ส่วน​บาง​คน​กลับ​บอก​ว่า​เป็น​สิ่ง​ที่​สม​จริง. คน​หนึ่ง​เรียก​มัน​ว่า​ลามก​อนาจาร ส่วน​อีก​คน​หนึ่ง​เรียก​มัน​ว่า​เสรีภาพ​ใน​การ​แสดง​ออก. ถ้า​ฟัง​ทั้ง​สอง​ฝ่าย ก็​อาจ​ดู​เหมือน​เป็น​เพียง​การ​เถียง​กัน​ใน​เรื่อง​เล็ก ๆ น้อย ๆ.

แต่​เนื้อหา​ใน​ภาพยนตร์​ไม่​ได้​เป็น​เพียง​การ​เถียง​กัน​ใน​เรื่อง​เล็ก ๆ น้อย ๆ. เรื่อง​นี้​เป็น​เรื่อง​ที่​น่า​เป็น​ห่วง​จริง ๆ ไม่​เพียง​สำหรับ​ผู้​ที่​เป็น​พ่อ​แม่​เท่า​นั้น แต่​ทุก​คน​ที่​ยึด​มั่น​กับ​หลัก​ศีลธรรม​ก็​ควร​เป็น​ห่วง​เรื่อง​นี้​ด้วย. “เมื่อ​ไร​ก็​ตาม​ที่​ดิฉัน​ยอม​เสี่ยง​ที่​จะ​ฝืน​วิจารณญาณ​ของ​ตัว​เอง​และ​กลับ​เข้า​ไป​ใน​โรง​หนัง ตอน​ที่​ออก​มา​ดิฉัน​จะ​รู้สึก​ว่า​ตัว​เอง​เป็น​คน​ที่​เลว​ลง​ทุก​ครั้ง” ผู้​หญิง​คน​หนึ่ง​กล่าว​ด้วย​ความ​เศร้า​ใจ. “ดิฉัน​ละอายใจ​แทน​คน​ที่​สร้าง​หนัง​น่า​เกลียด​อย่าง​นั้น​ขึ้น​มา และ​ดิฉัน​ละอายใจ​ตัว​เอง. การ​ดู​หนัง​อย่าง​นั้น​เหมือน​กับ​ทำ​ให้​ค่า​ความ​เป็น​คน​ของ​ดิฉัน​ลด​น้อย​ลง.”

ตั้ง​มาตรฐาน

ประเด็น​เรื่อง​เนื้อหา​ของ​ภาพยนตร์​นั้น​ไม่​ได้​เพิ่ง​มา​เริ่ม​เป็น​ห่วง​กัน​ใน​ตอน​นี้. ใน​ยุค​แรก ๆ ของ​วงการ​ภาพยนตร์ เคย​มี​ความ​เดือดดาล​กัน​เพราะ​เรื่อง​ทาง​เพศ​และ​อาชญากรรม​ที่​ปรากฏ​ใน​ภาพยนตร์​จอ​เงิน. ใน​ที่​สุด ช่วง​ทศวรรษ 1930 สหรัฐ​ได้​ออก​กฎหมาย​ซึ่ง​เข้มงวด​อย่าง​มาก​ว่า​จะ​แสดง​ภาพ​อะไร​ได้​บ้าง​ใน​ภาพยนตร์.

สารานุกรม​บริแทนนิกา​ฉบับ​ใหม่ กล่าว​ว่า กฎหมาย​ใหม่​นี้ “เป็น​การ​ตั้ง​ข้อ​จำกัด​อย่าง​สุด​โต่ง โดย​ห้าม​การ​แสดง​ภาพ​เกือบ​ทุก​รูป​แบบ​ที่​เกี่ยว​ข้อง​กับ​สิ่ง​ที่​ผู้​ใหญ่​ทำ​กัน​เป็น​เรื่อง​ปกติ. กฎหมาย​นี้​ห้าม​มี ‘ฉาก​ที่​แสดง​ความ​รัก’ และ​แม้​แต่​จะ​กล่าว​ถึง​การ​เล่นชู้, การ​มี​เพศ​สัมพันธ์​นอก​กฎหมาย, การ​ล่อ​ลวง, และ​การ​ข่มขืน​ก็​ไม่​ได้ นอก​จาก​สิ่ง​นั้น​จะ​มี​ความ​สำคัญ​อย่าง​ยิ่ง​ต่อ​พล็อต​เรื่อง​และ​จะ​ได้​รับ​การ​ลง​โทษ​อย่าง​สา​สม​เมื่อ​ถึง​ตอน​จบ​ของ​หนัง​เท่า​นั้น.”

ใน​เรื่อง​ความ​รุนแรง มี​การ “ห้าม [ภาพยนตร์] แสดง​ภาพ​หรือ​กล่าว​ถึง​อาวุธ​ที่​ใช้​กัน​ทั่ว​ไป, หรือ​แสดง​ขั้น​ตอน​อย่าง​ละเอียด​ของ​การ​ทำ​อาชญากรรม, หรือ​แสดง​ภาพ​เจ้าหน้าที่​ทาง​กฎหมาย​ถูก​ฆ่า​ตาย​ใน​เงื้อม​มือ​ของ​อาชญากร, หรือ​กล่าว​เป็น​นัย​ถึง​ความ​โหด​เหี้ยม​ทารุณ​เกิน​เหตุ​หรือ​การ​สังหาร​หมู่, หรือ​ใช้​ฉาก​การ​ฆาตกรรม​หรือ​การ​ฆ่า​ตัว​ตาย นอก​จาก​สิ่ง​เหล่า​นี้​จะ​สำคัญ​ต่อ​พล็อต​เรื่อง​อย่าง​ที่​ขาด​ไม่​ได้. . . . ไม่​ว่า​ใน​กรณี​ใด ๆ จะ​แสดง​ว่า​อาชญากรรม​เป็น​สิ่ง​สม​เหตุ​สม​ผล​ไม่​ได้.” สรุป​คือ กฎหมาย​นี้​กล่าว​ว่า “ต้อง​ไม่​มี​การ​แสดง​ภาพ​ที่​จะ​ทำ​ให้​มาตรฐาน​ทาง​ศีลธรรม​ของ​คน​ดู​ต่ำ​ลง.”

จาก​ข้อ​ห้าม​ถึง​การ​จัด​เรต

พอ​ถึง​ปี 1950 ผู้​อำนวย​การ​สร้าง​ใน​ฮอลลีวูด​หลาย​คน​ได้​ท้าทาย​กฎหมาย​ฉบับ​นี้ เพราะ​คิด​ว่า​มัน​ล้า​สมัย. ด้วย​เหตุ​นี้ ใน​ปี 1968 กฎหมาย​นี้​จึง​ถูก​ยก​เลิก​และ​มี​ระบบ​จัด​เรต​หนัง​เข้า​มา​แทน. * พอ​มี​ระบบ​จัด​เรต​นี้ ภาพยนตร์​จะ​มี​เนื้อหา​ที่​ลามก​หรือ​รุนแรง​ได้ แต่​จะ​ถูก​จัด​ระดับ​ด้วย​สัญลักษณ์​ซึ่ง​จะ​เตือน​คน​ทั่ว​ไป​ให้​รู้​ว่า​หนัง​เรื่อง​นั้น​มี​เนื้อหา​ที่​ไม่​เหมาะ​สม​มาก​น้อย​แค่​ไหน. แจ็ก วาเลนติ ผู้​ซึ่ง​เป็น​นายก​สมาคม​ภาพยนตร์​แห่ง​อเมริกา​มา​เกือบ​สี่​สิบ​ปี กล่าว​ว่า เป้าหมาย​คือ “เพื่อ​เตือน​พ่อ​แม่​ล่วง​หน้า แล้ว​พวก​เขา​จะ​ได้​ตัดสิน​ด้วย​ตัว​เอง​ว่า​หนัง​เรื่อง​ไหน​ที่​ลูก​ของ​ตน​ควร​ดู​หรือ​ไม่​ควร​ดู.”

เมื่อ​เริ่ม​ใช้​ระบบ​จัด​เรต เขื่อน​ก็​พัง​ทลาย​ลง. เรื่อง​ทาง​เพศ, ความ​รุนแรง, และ​คำ​หยาบ​ก็​ทะลัก​เข้า​มา​ใน​บท​ภาพยนตร์​ทั่ว​ไป​ของ​ฮอลลีวูด. เสรีภาพ​ชนิด​ใหม่​นี้​ทำ​ให้​เกิด​แนว​โน้ม​ที่​ไม่​อาจ​หยุด​ยั้ง​ได้​เหมือน​คลื่น​ยักษ์​ที่​ถา​โถม. กระนั้น เมื่อ​มี​ระบบ​จัด​เรต ประชาชน​ทั่ว​ไป​ก็​จะ​ได้​รับ​คำ​เตือน​ล่วง​หน้า. แต่​การ​จัด​เรต​ทำ​ให้​คุณ​รู้​ข้อมูล​ที่​จำเป็น​ทุก​อย่าง​ไหม?

การ​จัด​เรต​ไม่​ได้​บอก​อะไร​คุณ​บ้าง?

บาง​คน​รู้สึก​ว่า​เมื่อ​เวลา​ผ่าน​ไป ระบบ​จัด​เรต​ได้​หย่อน​ยาน​ลง. การ​ศึกษา​โดย​คณะ​สาธารณสุข มหาวิทยาลัย​ฮาร์เวิร์ด​ยืน​ยัน​ข้อ​นี้ เพราะ​ได้​พบ​ว่า​ภาพยนตร์​ที่​ถือ​ว่า​ยอม​รับ​ได้​สำหรับ​วัยรุ่น​อายุ​น้อย ๆ ใน​ปัจจุบัน​มี​ความ​รุนแรง​และ​เรื่อง​ทาง​เพศ​มาก​ขึ้น​เมื่อ​เทียบ​กับ​เพียง​เมื่อ​สิบ​ปี​ที่​แล้ว. การ​ศึกษา​นี้​สรุป​ว่า “ภาพยนตร์​ที่​ถูก​จัด​อยู่​ใน​เรต​เดียว​กัน​อาจ​มี​ปริมาณ​และ​ชนิด​ของ​เนื้อหา​ที่​ไม่​เหมาะ​สม​แตกต่าง​กัน​มาก” และ​บอก​ว่า “การ​จัด​เรต​โดย​อาศัย​กลุ่ม​อายุ​อย่าง​เดียว​ไม่​ได้​ให้​ข้อมูล​เพียง​พอ​ว่า​ภาพยนตร์​นั้น​มี​ภาพ​หรือ​เนื้อหา​เกี่ยว​กับ​ความ​รุนแรง, เรื่อง​ทาง​เพศ, คำ​หยาบ​และ​เรื่อง​อื่น ๆ มาก​เท่า​ไร.” *

พ่อ​แม่​ที่​ปล่อย​ให้​ลูก​ไป​ดู​หนัง​โดย​ลำพัง​อาจ​ไม่​รู้​ว่า​หนัง​เรื่อง​ใด​บ้าง​ใน​สมัย​นี้​เหมาะ​ที่​จะ​ดู. ตัว​อย่าง​เช่น นัก​วิจารณ์​ภาพยนตร์​คน​หนึ่ง​พรรณนา​ตัว​ละคร​หลัก​ของ​หนัง​เรื่อง​หนึ่ง​ใน​สหรัฐ​ที่​ได้​รับ​การ​จัด​เรต​ว่า​วัยรุ่น​ดู​ได้​ดัง​นี้: เธอ​เป็น “เด็ก​สาว​วัย 17 ที่​ไม่​ค่อย​มี​กฎเกณฑ์​และ​ทุก ๆ วัน​ก็​พร้อม​จะ​ดื่ม​จน​เมา, ใช้​ยา​เสพ​ติด, ร่วม​งาน​เลี้ยง​ที่​มั่วสุม​และ​ร่วม​เพศ​กับ​ชาย​หนุ่ม​ที่​เพิ่ง​พบ​กัน​อย่าง​เร่าร้อน.” เรื่อง​ราว​แบบ​นี้​ไม่​ใช่​เป็น​เรื่อง​ผิด​ปกติ. ที่​จริง นิตยสาร​เดอะ วอชิงตัน โพสต์ กล่าว​ว่า การ​พูด​ถึง​การ​ร่วม​เพศ​ทาง​ปาก​ดู​เหมือน​เป็น​ที่ “ยอม​รับ​ว่า​เป็น​เรื่อง​ธรรมดา” ใน​ภาพยนตร์​ที่​มี​เรต​สำหรับ​วัยรุ่น. เห็น​ได้​ชัด การ​จัด​เรต​ไม่​ควร​จะ​เป็น​ปัจจัย​อย่าง​เดียว ใน​การ​ประเมิน​เนื้อหา​ของ​ภาพยนตร์. มี​เครื่อง​บ่ง​ชี้​ที่​ดี​กว่า​นี้​ไหม?

“จง​เกลียด​การ​ชั่ว”

เรา​ไม่​สามารถ​ใช้​ระบบ​จัด​เรต​แทน​สติ​รู้สึก​ผิด​ชอบ​ที่​ได้​รับ​การ​ฝึกฝน​ตาม​หลัก​พระ​คัมภีร์​ได้. ใน​การ​ตัดสิน​ใจ​ทุก​เรื่อง รวม​ทั้ง​เรื่อง​ความ​บันเทิง คริสเตียน​พยายาม​นำ​ข้อ​เตือน​ใจ​ใน​คัมภีร์​ไบเบิล​ที่​บทเพลง​สรรเสริญ 97:10 มา​ใช้​ที่​ว่า “จง​เกลียด​การ​ชั่ว.” คน​ที่​เกลียด​การ​ชั่ว​จะ​ถือ​ว่า​การ​ชม​สิ่ง​บันเทิง​ที่​พระเจ้า​ทรง​รังเกียจ​นั้น​เป็น​การ​ผิด.

โดย​เฉพาะ​อย่าง​ยิ่ง พ่อ​แม่​ต้อง​ระวัง​ให้​ดี​ว่า​หนัง​ที่​พวก​เขา​ยอม​ให้​ลูก ๆ ดู​นั้น​เป็น​หนัง​ประเภท​ใด. คง​จะ​ถือ​ว่า​เขา​นิ่ง​นอน​ใจ​เกิน​ไป​หาก​เพียง​แค่​ตรวจ​ดู​เรต​ของ​หนัง​คร่าว ๆ เท่า​นั้น. เป็น​ไป​ได้​ที่​ภาพยนตร์​ซึ่ง​มี​เรต​เหมาะ​กับ​เด็ก​วัย​เดียว​กับ​ลูก​ของ​คุณ​อาจ​ส่ง​เสริม​ค่า​นิยม​ที่​คุณ​ฐานะ​เป็น​พ่อ​แม่​ไม่​ปรารถนา​เลย. เรื่อง​นี้​ไม่​ทำ​ให้​คริสเตียน​แปลก​ใจ เนื่อง​จาก​โลก​ได้​รับ​เอา​วิธี​คิด​และ​การ​กระทำ​ซึ่ง​ขัด​กับ​มาตรฐาน​ของ​พระเจ้า. *เอเฟโซ 4:17, 18; 1 โยฮัน 2:15-17.

นี่​ไม่​ได้​หมาย​ความ​ว่า​จะ​หา​ภาพยนตร์​ดี ๆ ไม่​ได้​เลย. เพียง​แต่​ต้อง​ใช้​ความ​ระมัดระวัง. ใน​เรื่อง​นี้ ตื่นเถิด! (ภาษา​อังกฤษ) ฉบับ 22 พฤษภาคม 1997 กล่าว​ดัง​นี้: “แต่​ละ​คน​ควร​คิด​พิจารณา​ให้​รอบคอบ​และ​ตัดสิน​ใจ​อย่าง​ที่​จะ​ทำ​ให้​เขา​มี​สติ​รู้สึก​ผิด​ชอบ​ที่​สะอาด​ทั้ง​ต่อ​พระเจ้า​และ​มนุษย์.”—1 โกรินโธ 10:31-33.

การ​หา​ความ​บันเทิง​ที่​เหมาะ​สม

พ่อ​แม่​ควร​ทำ​อย่าง​ไร​เมื่อ​ต้อง​ตัดสิน​ใจ​ว่า​ภาพยนตร์​เรื่อง​ใด​ที่​ครอบครัว​ของ​เขา​จะ​ชม​ได้? ขอ​พิจารณา​คำ​พูด​ต่อ​ไป​นี้​จาก​บรรดา​พ่อ​แม่​ทั่ว​โลก. คำ​พูด​ของ​พวก​เขา​อาจ​ช่วย​คุณ​ให้​หา​ความ​บันเทิง​ที่​ดี​สำหรับ​ครอบครัว​ของ​คุณ​ได้.—ดู​กรอบ “ความ​บันเทิง​รูป​แบบ​อื่น” ใน​หน้า 14 ด้วย.

“ผม​หรือ​ภรรยา​ไป​ดู​หนัง​กับ​ลูก ๆ เสมอ​ตอน​ที่​พวก​เขา​ยัง​เล็ก” ควน จาก​สเปน​กล่าว. “พวก​เขา​ไม่​เคย​ไป​ดู​หนัง​กัน​เอง​ตาม​ลำพัง​โดย​ไม่​มี​เรา​หรือ​ไป​กัน​แต่​กับ​เด็ก​คน​อื่น ๆ. ตอน​นี้​พวก​เขา​เป็น​วัยรุ่น​แล้ว พวก​เขา​ไม่​ได้​ไป​ดู​หนัง​ใน​รอบ​แรก ๆ ที่​ออก​ฉาย แต่​เรา​ให้​ลูก ๆ รอ​จน​กระทั่ง​เรา​ได้​อ่าน​บท​วิจารณ์​หรือ​ได้​ฟัง​ความ​เห็น​เกี่ยว​กับ​หนัง​เรื่อง​นั้น​จาก​คน​อื่น​ที่​เรา​ไว้​ใจ. จาก​นั้น เรา​ก็​จะ​ร่วม​กัน​ตัดสิน​ใจ​เป็น​ครอบครัว​ว่า​เรา​ควร​ไป​ดู​หนัง​เรื่อง​นั้น​ไหม.”

มาร์ก ซึ่ง​อยู่​ที่​แอฟริกา​ใต้ กระตุ้น​ให้​ลูก​ชาย​วัยรุ่น​ของ​เขา​บอก​เล่า​ความ​รู้สึก​เกี่ยว​กับ​ภาพยนตร์​ที่​กำลัง​ฉาย​ใน​โรง. มาร์ก​กล่าว​ว่า “ผม​กับ​ภรรยา​จะ​เริ่ม​พูด​คุย​เรื่อง​นี้ โดย​ถาม​ว่า​เขา​คิด​อย่าง​ไร​กับ​หนัง​เรื่อง​นั้น. นี่​ทำ​ให้​เรา​ได้​รู้​ความ​คิด​ของ​เขา​และ​หา​เหตุ​ผล​กับ​เขา​ได้. ผล​ก็​คือ เรา​สามารถ​เลือก​ภาพยนตร์​ที่​จะ​ดู​ด้วย​กัน​ได้​ทั้ง​ครอบครัว.”

โรเชรีอู ซึ่ง​อยู่​ที่​บราซิล ก็​เช่น​กัน​ได้​ใช้​เวลา​กับ​ลูก​ใน​การ​วิเคราะห์​ภาพยนตร์​ที่​พวก​เขา​อยาก​จะ​ดู. เขา​กล่าว​ว่า “ผม​อ่าน​บท​วิจารณ์​ให้​ลูก ๆ ฟัง. ผม​ไป​ร้าน​วิดีโอ​กับ​พวก​เขา​เพื่อ​สอน​วิธี​ดู​หน้า​ปก​วิดีโอ​และ​สังเกต​ว่า​มี​อะไร​ไม่​เหมาะ​สม​ไหม.”

แมททิว ซึ่ง​อยู่​ใน​บริเตน พบ​ว่า​เป็น​ประโยชน์​ที่​จะ​คุย​กับ​ลูก ๆ เกี่ยว​กับ​หนัง​ที่​พวก​เขา​อยาก​จะ​ดู. เขา​บอก​ว่า “ตั้ง​แต่​เล็ก ๆ ลูก​ของ​เรา​จะ​อยู่​ร่วม​ด้วย​เสมอ​เมื่อ​เรา​พูด​ถึง​เนื้อหา​ของ​ภาพยนตร์​ที่​พวก​เรา​ทั้ง​ครอบครัว​สนใจ​จะ​ดู. ถ้า​เรา​ตัดสิน​ใจ​ว่า​จะ​ไม่​ไป​ดู​หนัง​เรื่อง​ใด ผม​กับ​ภรรยา​ก็​จะ​อธิบาย​ว่า​มี​เหตุ​ผล​อะไร แทน​ที่​จะ​บอก​ว่า​ไม่​อย่าง​เดียว.”

นอก​จาก​นั้น พ่อ​แม่​บาง​คน​พบ​ว่า​เป็น​ประโยชน์​ที่​จะ​ค้นคว้า​ข้อมูล​เกี่ยว​กับ​ภาพยนตร์​ใน​อินเทอร์เน็ต. มี​เว็บไซต์​หลาย​แห่ง​ที่​ให้​รายงาน​อย่าง​ละเอียด​เกี่ยว​กับ​เนื้อหา​ของ​ภาพยนตร์. คุณ​อาจ​ใช้​เว็บไซต์​เหล่า​นี้​เพื่อ​ได้​รับ​ข้อมูล​ที่​ชัดเจน​มาก​ขึ้น​ว่า​หนัง​บาง​เรื่อง​ส่ง​เสริม​ค่า​นิยม​เช่น​ไร.

ผล​ประโยชน์​ของ​สติ​รู้สึก​ผิด​ชอบ​ที่​ได้​รับ​การ​ฝึกฝน​แล้ว

คัมภีร์​ไบเบิล​พูด​ถึง​คน​ที่ “ได้​ฝึกฝน​ความ​สามารถ​ใน​การ​สังเกต​เข้าใจ​เพื่อ​แยก​ออก​ว่า​อะไร​ถูก​อะไร​ผิด.” (เฮ็บราย 5:14, ล.ม.) ด้วย​เหตุ​นี้ พ่อ​แม่​หลาย​คน​มี​เป้าหมาย​ที่​จะ​ปลูกฝัง​ค่า​นิยม​ใน​ตัว​ลูก ๆ ซึ่ง​จะ​ช่วย​พวก​เขา​ให้​ตัดสิน​ใจ​ได้​อย่าง​สุขุม​เมื่อ​เขา​มี​อิสระ​ที่​จะ​เลือก​ความ​บันเทิง​ด้วย​ตัว​เอง.

เยาวชน​หลาย​คน​ท่ามกลาง​พยาน​พระ​ยะโฮวา​ได้​รับ​การ​ฝึกฝน​ที่​ยอด​เยี่ยม​จาก​พ่อ​แม่​ใน​เรื่อง​นี้. ตัว​อย่าง​เช่น บิลล์​กับ​เชรี​ซึ่ง​อยู่​ใน​สหรัฐ ชอบ​ไป​ดู​หนัง​กับ​ลูก​ชาย​วัยรุ่น​ทั้ง​สอง​ของ​เขา. บิลล์​บอก​ว่า “หลัง​จาก​ออก​จาก​โรง เรา​มัก​วิเคราะห์​หนัง​เรื่อง​นั้น​กัน​ทั้ง​ครอบครัว—หนัง​เรื่อง​นั้น​สอน​ค่า​นิยม​อะไร​และ​เรา​เห็น​ด้วย​หรือ​ไม่​กับ​ค่า​นิยม​นั้น.” แน่นอน บิลล์​กับ​เชรี​ตระหนัก​ถึง​ความ​จำเป็น​ต้อง​ตัดสิน​ใจ​เลือก​ให้​สุขุม. “เรา​อ่าน​ข้อมูล​เกี่ยว​กับ​หนัง​ก่อน และ​เรา​ไม่​รู้สึก​อาย​ที่​จะ​เดิน​ออก​จาก​โรง​ถ้า​มี​สิ่ง​ที่​ไม่​เหมาะ​สม​ซึ่ง​เรา​ไม่​ได้​คาด​ไว้​ล่วง​หน้า” บิลล์​กล่าว. โดย​ให้​ลูก ๆ ของ​เขา​มี​ส่วน​ร่วม​ใน​การ​ตัดสิน​ใจ​ซึ่ง​เป็น​หน้า​ที่​สำคัญ บิลล์​กับ​เช​รี​รู้สึก​ว่า​ลูก ๆ ของ​เขา​กำลัง​ได้​รับ​การ​ช่วยเหลือ​ให้​พัฒนา​ความ​สามารถ​ใน​การ​แยก​ว่า​อะไร​ถูก​อะไร​ผิด. “พวก​เขา​ตัดสิน​ใจ​ได้​สุขุม​ขึ้น​ใน​เรื่อง​การ​เลือก​หนัง​ที่​อยาก​จะ​ดู” บิลล์​กล่าว.

เช่น​เดียว​กับ​บิลล์​และ​เช​รี พ่อ​แม่​หลาย​คน​ได้​ฝึกฝน​ความ​สามารถ​ใน​การ​สังเกต​เข้าใจ​ของ​ลูก ๆ ใน​เรื่อง​ความ​บันเทิง. จริง​อยู่ หลาย​สิ่ง​ที่​อุตสาหกรรม​ภาพยนตร์​ผลิต​ออก​มา​นั้น​ไม่​เหมาะ​สม. ใน​อีก​ด้าน​หนึ่ง เมื่อ​พวก​เขา​ได้​รับ​การ​ชี้​นำ​จาก​หลักการ​ใน​คัมภีร์​ไบเบิล คริสเตียน​ก็​สามารถ​ชม​ความ​บันเทิง​ที่​ดี​มี​ประโยชน์​และ​ทำ​ให้​สดชื่น​ได้.

[เชิงอรรถ]

^ วรรค 9 หลาย​ประเทศ​ใน​โลก​ได้​ตั้ง​ระบบ​คล้าย ๆ กัน​ขึ้น​มา​ซึ่ง​มี​สัญลักษณ์​จัด​เรต​ระบุ​กลุ่ม​อายุ​ที่​เหมาะ​จะ​ดู​ภาพยนตร์​เรื่อง​นั้น ๆ.

^ วรรค 12 นอก​จาก​นั้น บรรทัดฐาน​ที่​ใช้​ใน​การ​จัด​เรต​หนัง​อาจ​แตกต่าง​กัน​ใน​แต่​ละ​ประเทศ. หนัง​ที่​ถูก​จัด​ว่า​ไม่​เหมาะ​สำหรับ​วัยรุ่น​ใน​ประเทศ​หนึ่ง​อาจ​ได้​เรต​ที่​คน​ทั่ว​ไป​ดู​ได้​ใน​อีก​ประเทศ​หนึ่ง.

^ วรรค 16 คริสเตียน​ควร​คำนึง​ถึง​ด้วย​ว่า ภาพยนตร์​สำหรับ​เด็ก​และ​วัยรุ่น​บาง​เรื่อง​อาจ​เกี่ยว​ข้อง​กับ​เวทมนตร์​หรือ​ลัทธิ​ภูตผี​ปิศาจ​ชนิด​อื่น ๆ ด้วย.—1 โกรินโธ 10:21.

[กรอบ/ภาพ​หน้า 12

“เรา​ตัดสิน​ใจ​ร่วม​กัน”

“เมื่อ​ก่อน​ตอน​ที่​ดิฉัน​อายุ​น้อย​กว่า​นี้ เรา​ไป​ดู​หนัง​ด้วย​กัน​ทั้ง​ครอบครัว. ตอน​นี้​เมื่อ​ดิฉัน​โต​ขึ้น ดิฉัน​จึง​ได้​รับ​อนุญาต​ให้​ไป​ดู​หนัง​ได้​โดย​ที่​พ่อ​แม่​ไม่​ต้อง​ไป​ด้วย. อย่าง​ไร​ก็​ตาม ก่อน​ที่​พวก​ท่าน​จะ​ให้​ดิฉัน​ไป พ่อ​แม่​ต้องการ​รู้​ชื่อ​ของ​หนัง​และ​รู้​ว่า​เป็น​หนัง​เกี่ยว​กับ​อะไร. ถ้า​พวก​ท่าน​ไม่​เคย​ได้​ยิน​ชื่อ พวก​ท่าน​ก็​จะ​อ่าน​บท​วิจารณ์​หรือ​ดู​ตัว​อย่าง​หนัง​ใน​ทีวี. พวก​ท่าน​ยัง​หา​ดู​ข้อมูล​เกี่ยว​กับ​หนัง​เรื่อง​นั้น​ใน​อินเทอร์เน็ต​ด้วย. ถ้า​พวก​ท่าน​รู้สึก​ว่า​หนัง​เรื่อง​นั้น​ไม่​เหมาะ พวก​ท่าน​ก็​จะ​อธิบาย​เหตุ​ผล. พวก​ท่าน​ยอม​ให้​ดิฉัน​แสดง​ความ​คิด​เห็น​ด้วย. เรา​พูด​คุย​กัน​อย่าง​ตรง​ไป​ตรง​มา และ​เรา​ตัดสิน​ใจ​ร่วม​กัน.”—เอโลอีซ อายุ 19 ปี ฝรั่งเศส.

[กรอบ/ภาพ​หน้า 13]

จง​พูด​คุย​กัน!

“ถ้า​พ่อ​แม่​ห้าม​ลูก​ทำ​อะไร​บาง​อย่าง​และ​ไม่​ได้​หา​สิ่ง​อื่น​ที่​มี​ประโยชน์​มา​ให้​ลูก​ทำ​แทน ลูก ๆ ก็​อาจ​จะ​แอบ​ไป​ทำ​สิ่ง​ที่​เขา​อยาก​ทำ​โดย​ไม่​ให้​พ่อ​แม่​รู้. ดัง​นั้น ถ้า​ลูก ๆ แสดง​ให้​เห็น​ว่า​พวก​เขา​อยาก​ดู​ความ​บันเทิง​ที่​ไม่​เหมาะ​สม​บาง​อย่าง พ่อ​แม่​บาง​คน​จึง​ไม่​ได้​ห้าม​ลูก​ทันที​แต่​ขณะ​เดียว​กัน​ก็​ไม่​ได้​อนุญาต​ด้วย. พวก​เขา​จะ​ปล่อย​ให้​เวลา​ผ่าน​ไป​สัก​พัก. พอ​สอง​สาม​วัน​ผ่าน​ไป พวก​เขา​ก็​จะ​คุย​ถึง​เรื่อง​นั้น​โดย​ไม่​ได้​แสดง​ท่าที​ว่า​ไม่​พอ​ใจ พวก​เขา​จะ​ถาม​ลูก​ว่า​ทำไม​ลูก​คิด​ว่า​ความ​บันเทิง​อย่าง​นั้น​เป็น​สิ่ง​ที่​ดี. โดย​การ​พูด​คุย​กัน บ่อย​ครั้ง​เด็ก​จะ​เห็น​ด้วย​กับ​พ่อ​แม่​และ​ถึง​กับ​กล่าว​ขอบคุณ​อีก​ด้วย. จาก​นั้น โดย​ที่​พ่อ​แม่​เป็น​ผู้​นำ​หน้า พวก​เขา​จะ​เลือก​ความ​บันเทิง​บาง​ชนิด​ที่​ทั้ง​ครอบครัว​จะ​ทำ​ร่วม​กัน​ได้.”—มาซาอากิ ผู้​ดู​แล​เดิน​ทาง​ใน​ญี่ปุ่น.

[กรอบ/ภาพ​หน้า 14]

ความ​บันเทิง​รูป​แบบ​อื่น

▪ “เยาวชน​มี​ความ​ต้องการ​ตาม​ธรรมชาติ​ที่​จะ​อยู่​กับ​เด็ก​วัย​เดียว​กัน ดัง​นั้น เรา​จึง​จัด​ให้​ลูก​สาว​ของ​เรา​มี​เพื่อน​ที่​ดี​เสมอ​โดย​ที่​เรา​คอย​ดู​แล. เนื่อง​จาก​มี​เด็ก​ที่​มี​ความ​ประพฤติ​ดี​หลาย​คน​ใน​ประชาคม​ของ​เรา เรา​จึง​สนับสนุน​ให้​ลูก​สาว​ของ​เรา​เป็น​เพื่อน​กับ​เด็ก​เหล่า​นี้.”—เอลีซา อิตาลี.

▪ “เรา​มี​ส่วน​ร่วม​อย่าง​มาก​ใน​กิจกรรม​นันทนาการ​ของ​ลูก ๆ. เรา​จัด​ให้​มี​กิจกรรม​ที่​ดี​สำหรับ​พวก​เขา เช่น การ​เดิน​เล่น, จัด​เลี้ยง​บาร์บีคิว, ไป​ปิกนิก, และ​การ​สังสรรค์​กับ​เพื่อน​คริสเตียน​ทุก​เพศ​ทุก​วัย. โดย​วิธี​นี้ ลูก ๆ ของ​เรา​จึง​ไม่​ได้​มอง​ว่า​พวก​เขา​จะ​ต้อง​มี​กิจกรรม​นันทนาการ​เฉพาะ​กับ​คน​รุ่น​เดียว​กัน​เท่า​นั้น.”—จอห์น บริเตน.

▪ “เรา​พบ​ว่า​การ​สังสรรค์​กับ​เพื่อน​ร่วม​ความ​เชื่อ​มี​ประโยชน์​มาก. ลูก ๆ ของ​ผม​ชอบ​เล่น​ฟุตบอล เรา​จึง​จัด​ให้​มี​การ​เล่น​กีฬา​ชนิด​นี้​กับ​คน​อื่น ๆ เป็น​ครั้ง​คราว.”—ควน สเปน.

▪ “เรา​สนับสนุน​ให้​เด็ก ๆ เล่น​ดนตรี. เรา​ยัง​ทำ​งาน​อดิเรก​หลาย​อย่าง​ร่วม​กัน​ด้วย เช่น เล่น​เทนนิส, วอลเลย์บอล, ขี่​จักรยาน, อ่าน​หนังสือ, และ​จัด​งาน​เลี้ยง​สังสรรค์​กับ​เพื่อน ๆ.”—มาร์ก บริเตน.

▪ “เรา​จัด​ไป​เล่น​โบว์ลิง​เป็น​ประจำ​ด้วย​กัน​ทั้ง​ครอบครัว​รวม​ทั้ง​เพื่อน ๆ ด้วย. นอก​จาก​นั้น เรา​พยายาม​จัด​กิจกรรม​บาง​อย่าง​เป็น​พิเศษ​ร่วม​กัน​เดือน​ละ​ครั้ง. เคล็ดลับ​สำหรับ​การ​เลี่ยง​ไม่​ให้​เกิด​ปัญหา​คือ​พ่อ​แม่​ต้อง​คอย​ระวัง.”—ดานีโล ฟิลิปปินส์.

▪ “การ​เข้า​ชม​การ​แสดง​สด​มัก​จะ​น่า​ตื่นเต้น​กว่า​การ​นั่ง​ดู​หนัง. เรา​คอย​สังเกต​ว่า​มี​การ​แสดง​อะไร​ใกล้ ๆ บ้าน เช่น นิทรรศการ​งาน​ศิลปะ, งาน​แสดง​รถ, หรือ​การ​แสดง​ดนตรี. การ​แสดง​เหล่า​นี้​มัก​จะ​ทำ​ให้​มี​โอกาส​พูด​คุย​กัน​ระหว่าง​ที่​กำลัง​ชม. เรา​ยัง​ระวัง​ไม่​จัด​ให้​มี​การ​บันเทิง​มาก​เกิน​ไป ด้วย. ไม่​ใช่​เพราะ​ปัจจัย​เรื่อง​เวลา​เท่า​นั้น แต่​ถ้า​หาก​มี​การ​บันเทิง​มาก​เกิน​ไป เรา​จะ​รู้สึก​ชินชา​และ​ไม่​ค่อย​ตื่นเต้น​กับ​กิจกรรม​เหล่า​นั้น​เท่า​ที่​ควร.”—จูดิท แอฟริกา​ใต้.

▪ “ไม่​ใช่​ว่า​ทุก​สิ่ง​ที่​เด็ก​คน​อื่น​ทำ​จะ​เหมาะ​สำหรับ​ลูก​ของ​ดิฉัน และ​ดิฉัน​พยายาม​ช่วย​พวก​เขา​ให้​เข้าใจ​เรื่อง​นี้. ใน​เวลา​เดียว​กัน ดิฉัน​กับ​สามี​ก็​พยายาม​จัด​ให้​พวก​เขา​มี​กิจกรรม​นันทนาการ​ที่​ดี. เรา​พยายาม​ทำ​อะไร​เพื่อ​เขา​จะ​ไม่​พูด​ว่า ‘ไม่​เห็น​เรา​ไป​ไหน​กัน​เลย. ไม่​เห็น​เรา​ทำ​อะไร​กัน​เลย.’ ครอบครัว​ของ​เรา​ไป​สวน​สาธารณะ​ด้วย​กัน​และ​จัด​งาน​สังสรรค์​ใน​บ้าน​โดย​เชิญ​คน​อื่น ๆ ใน​ประชาคม​มา​ร่วม.” *มาเรีย บราซิล.

[เชิงอรรถ]

^ วรรค 47 สำหรับ​ข้อมูล​เพิ่ม​เติม​เกี่ยว​กับ​งาน​สังสรรค์ ดู​วารสาร​หอสังเกตการณ์ ที่​ออก​คู่​กัน ฉบับ 15 สิงหาคม 1992 หน้า 15-20.

[ที่​มา​ของ​ภาพ]

James Hall Museum of Transport, Johannesburg, South Africa

[ภาพ​หน้า 11]

ตรวจ​บท​วิจารณ์​เกี่ยว​กับ​ภาพยนตร์​เรื่อง​นั้น​ก่อน​ที่​คุณ​จะ​ตัดสิน​ใจ

[ภาพ​หน้า 12, 13]

พ่อ​แม่​ทั้ง​หลาย จง​สอน​ลูก​ของ​คุณ​ให้​เป็น​คน​ที่​รู้​จัก​เลือก