ข้ามไปยังเนื้อหา

ข้ามไปยังสารบัญ

จากบทสู่จอ

จากบทสู่จอ

จาก​บท​สู่​จอ

ใน​ช่วง​ไม่​กี่​สิบ​ปี​มา​นี้ ฮอลลีวูด​ได้​ผลิต​ภาพยนตร์​เงิน​ล้าน​ออก​มา​หลาย​ต่อ​หลาย​เรื่อง. ปรากฏการณ์​นี้​ทำ​ให้​ทั้ง​โลก​สั่น​สะเทือน เนื่อง​จาก​ภาพยนตร์​ของ​อเมริกา​หลาย​เรื่อง​ถูก​นำ​ไป​เปิด​ตัว​ใน​ต่าง​ประเทศ​หลัง​จาก​ฉาย​รอบ​ปฐมทัศน์​ใน​สหรัฐ​ได้​เพียง​ไม่​กี่​สัปดาห์ หรือ​เพียง​ไม่​กี่​วัน​สำหรับ​บาง​เรื่อง. ภาพยนตร์​บาง​เรื่อง​ถูก​นำ​ออก​ฉาย​ทั่ว​โลก​ใน​วัน​เดียว​กัน​ด้วย​ซ้ำ. “ตลาด​ต่าง​ประเทศ​กำลัง​เติบโต​ขึ้น​เรื่อย ๆ และ​คึกคัก​มาก” แดน เฟลล์แมน ประธาน​ฝ่าย​จัด​จำหน่าย​ใน​ประเทศ​ของ​บริษัท​วอร์เนอร์ บราเทอร์ส พิกเจอร์ส กล่าว “ดัง​นั้น ตอน​ที่​เรา​สร้าง​หนัง เรา​คิด​ว่า​เรา​กำลัง​สร้าง​เพื่อ​จะ​นำ​ไป​ขาย​ทั่ว​โลก.” ปัจจุบัน​นี้​ฮอลลีวูด​มี​อิทธิพล​ต่อ​อุตสาหกรรม​บันเทิง​ตลอด​ทั่ว​โลก​มาก​กว่า​ทุก​ยุค​ทุก​สมัย​ที่​ผ่าน​มา. *

แต่​การ​สร้าง​ภาพยนตร์​ให้​ได้​กำไร​นั้น​ไม่​ใช่​เรื่อง​ง่าย ๆ อย่าง​ที่​คิด. หนัง​หลาย​เรื่อง​ต้อง​ทำ​ราย​ได้​ให้​สูง​กว่า 100 ล้าน​ดอลลาร์​เพียง​เพื่อ​จะ​คุ้ม​ต้น​ทุน​การ​ผลิต​และ​ต้น​ทุน​ทาง​การ​ตลาด. และ​ภาพยนตร์​จะ​ประสบ​ความ​สำเร็จ​หรือ​ไม่​นั้น​ก็​ขึ้น​อยู่​กับ​คน​ดู​เพียง​อย่าง​เดียว ซึ่ง​ก็​คาด​คะเน​อะไร​ไม่​ได้. “คุณ​ไม่​มี​ทาง​รู้​ได้​เลย​ว่า​คน​ดู​ใน​ช่วง​ใด​ช่วง​หนึ่ง​จะ​คิด​ว่า​หนัง​แบบ​ไหน​น่า​ตื่นเต้น​หรือ​น่า​ดู​สำหรับ​เขา” เดวิด คุก ศาสตราจารย์​ด้าน​วิชาการ​ภาพยนตร์​แห่ง​มหาวิทยาลัย​เอมอรี​กล่าว. แล้ว​คน​สร้าง​หนัง​ทำ​อย่าง​ไร​เพื่อ​จะ​มี​โอกาส​ประสบ​ความ​สำเร็จ​มาก​ขึ้น? เพื่อ​จะ​ได้​คำ​ตอบ ตอน​แรก​เรา​ต้อง​เข้าใจ​ขั้น​ตอน​พื้น​ฐาน​ใน​การ​สร้าง​ภาพยนตร์​เสีย​ก่อน. *

พรีโพรดักชัน—การ​เตรียม​การ

ช่วง​พรีโพรดักชัน​หรือ​ช่วง​เตรียม​การ​ก่อน​ถ่าย​ทำ มัก​จะ​เป็น​ช่วง​ที่​ยาว​นาน​ที่​สุด​และ​สำคัญ​ที่​สุด​ใน​การ​สร้าง​หนัง. การ​สร้าง​หนัง​ก็​เหมือน​กับ​โครงการ​ขนาด​ใหญ่​ทุก​โครงการ คือ​ต้อง​เตรียม​การ​ล่วง​หน้า​เพื่อ​จะ​ประสบ​ความ​สำเร็จ. คน​ทำ​หนัง​หวัง​ว่า​เงิน​ทุก​บาท​ทุก​สตางค์​ที่​ใช้​ไป​ใน​ช่วง​พรีโพรดักชัน​จะ​ทำ​ให้​ประหยัด​เงิน​ได้​หลาย​เท่า​ใน​ช่วง​การ​ถ่าย​ทำ.

การ​สร้าง​หนัง​จะ​เริ่ม​ด้วย​เค้าโครง​เรื่อง ซึ่ง​อาจ​เป็น​เรื่อง​แต่ง​หรือ​อาศัย​เรื่อง​จริง​ก็​ได้. นัก​เขียน​จะ​เอา​เค้าโครง​เรื่อง​ไป​แต่ง​เป็น​บท​ภาพยนตร์. บท​ภาพยนตร์​อาจ​ถูก​แก้ไข​ปรับ​เปลี่ยน​หลาย​ครั้ง​กว่า​จะ​ได้​บท​จริง หรือ​บท​สำหรับ​ถ่าย​ภาพยนตร์. บท​ภาพยนตร์​นี้​จะ​มี​บท​พูด​ของ​ตัว​ละคร​รวม​ทั้ง​คำ​อธิบาย​สั้น ๆ ว่า​มี​การ​แสดง​ท่า​ทาง​อย่าง​ไร​หรือ​เกิด​เหตุ​การณ์​อะไร​บ้าง. บท​นี้​ยัง​บอก​ราย​ละเอียด​ทาง​เทคนิค​ด้วย เช่น เรื่อง​มุม​กล้อง​และ​การ​เชื่อม​จาก​ฉาก​หนึ่ง​ไป​อีก​ฉาก​หนึ่ง.

อนึ่ง ใน​ช่วง​ต้น ๆ นี้​เอง​ที่​บท​ภาพยนตร์​จะ​ถูก​เสนอ​ขาย​ให้​ผู้​อำนวย​การ​สร้าง. * บท​ภาพยนตร์​แบบ​ไหน​ที่​ผู้​อำนวย​การ​สร้าง​อาจ​จะ​สนใจ​ซื้อ? หนัง​ช่วง​หน้า​ร้อน​โดย​ทั่ว​ไป​มัก​จะ​เป็น​เรื่อง​สำหรับ​วัยรุ่น​และ​หนุ่ม​สาว ซึ่ง​เป็น​กลุ่ม​คน​ดู​ที่​นัก​วิจารณ์​หนัง​คน​หนึ่ง​เรียก​ว่า “ชาว​ป๊อปคอร์น.” ดัง​นั้น ผู้​อำนวย​การ​สร้าง​จึง​อาจ​สนใจ​บท​ภาพยนตร์​ที่​เอา​ใจ​วัยรุ่น.

ถ้า​จะ​ให้​ดี​ยิ่ง​กว่า​นี้​ก็​ต้อง​เป็น​บท​ภาพยนตร์​ที่​น่า​สนใจ​สำหรับ​คน​ทุก​วัย. ยก​ตัว​อย่าง หนัง​ยอด​มนุษย์​ที่​สร้าง​จาก​หนังสือ​การ์ตูน​คง​ทำ​ให้​เด็ก ๆ ที่​รู้​จัก​ตัว​ละคร​ใน​เรื่อง​อยาก​ดู. และ​ไม่​ต้อง​สงสัย​ว่า​พ่อ​แม่​ก็​จะ​ไป​ดู​กับ​ลูก​ด้วย. แต่​คน​ทำ​หนัง​จะ​เรียก​คน​ดู​ที่​เป็น​วัยรุ่น​และ​หนุ่ม​สาว​ได้​อย่าง​ไร? ลิซา มันดี แห่ง​นิตยสาร​เดอะ วอชิงตัน โพสต์ เขียน​ว่า ที่​จะ​ทำ​อย่าง​นั้น​ได้​ก็​ต้อง​ใส่ “เนื้อหา​ที่​ล่อแหลม” เข้า​ไป. การ​สอด​แทรก​คำ​หยาบ, ภาพ​ที่​รุนแรง, และ​ฉาก​เกี่ยว​กับ​เรื่อง​เพศ​เข้า​ไป​ใน​ภาพยนตร์​มาก ๆ เป็น​วิธี​ที่​จะ “ทำ​ให้​หนัง​เรื่อง​นั้น​ได้​กำไร​สูง​สุด​เต็ม​ศักยภาพ​โดย​ทำ​ให้​เป็น​ที่​สนใจ​ของ​คน​ดู​ทุก​วัย.”

ถ้า​ผู้​อำนวย​การ​สร้าง​คิด​ว่า​บท​ภาพยนตร์​นั้น​ดู​เข้า​ท่า เขา​อาจ​ซื้อ​ลิขสิทธิ์​และ​หา​ทาง​เซ็น​สัญญา​จ้าง​ผู้​กำกับ​ภาพยนตร์​ที่​มี​ชื่อเสียง​และ​นัก​แสดง​นำ​ชื่อ​ดัง​ทั้ง​ฝ่าย​หญิง​และ​ฝ่าย​ชาย. ถ้า​มี​ทั้ง​ผู้​กำกับ​และ​ดารา​ที่​มี​ชื่อเสียง ผู้​คน​ก็​อยาก​จะ​เข้า​ไป​ดู​กัน​มาก ๆ. นอก​จาก​นั้น ถ้า​มี​ผู้​กำกับ​และ​ดารา​ชื่อ​ดัง นัก​ลง​ทุน​ก็​อาจ​สนใจ​หนัง​ตั้ง​แต่​ระยะ​แรก ๆ นี้​ด้วย​ซ้ำ ซึ่ง​นัก​ลง​ทุน​เหล่า​นี้​ก็​จำเป็น​มาก​เพื่อ​จะ​ได้​เงิน​ทุน​มา​สร้าง​หนัง.

งาน​อีก​อย่าง​หนึ่ง​ใน​ช่วง​พรีโพรดักชัน​คือ​การ​ทำ​สตอรีบอร์ด​หรือ​บท​ภาพ. สตอรีบอร์ด​คือ​ชุด​ภาพ​สเก็ตช์​หรือ​ภาพ​ร่าง​ที่​เป็น​เรื่อง​ราว​บาง​ตอน​ของ​ภาพยนตร์ โดย​เฉพาะ​อย่าง​ยิ่ง​ใน​ฉาก​ที่​มี​การ​เคลื่อน​ไหว​และ​มี​เหตุ​การณ์​ต่าง ๆ เกิด​ขึ้น. สตอรีบอร์ด​เปรียบ​เหมือน​แบบ​พิมพ์​เขียว​สำหรับ​นัก​ถ่าย​ทำ​ภาพยนตร์ และ​ช่วย​ประหยัด​เวลา​ใน​การ​ถ่าย​ทำ​มาก. แฟรงก์ ดาราบอนต์ ผู้​กำกับ​และ​ผู้​เขียน​บท กล่าว​ไว้​ว่า “ไม่​มี​อะไร​จะ​แย่​ไป​กว่า​การ​เดิน​ไป​เดิน​มา​อยู่​ใน​กอง​ถ่าย​และ​เสีย​เวลา​ถ่าย​ทำ​ไป​เป็น​วัน ๆ เพียง​เพื่อ​พยายาม​คิด​ว่า​ควร​ตั้ง​กล้อง​ไว้​ที่​ไหน.”

ยัง​มี​อีก​หลาย​เรื่อง​ที่​ต้อง​จัด​การ​ให้​เรียบร้อย​ใน​ช่วง​พรีโพรดักชัน​นี้. ตัว​อย่าง​เช่น จะ​ถ่าย​ทำ​กัน​ที่​ไหน? จะ​ต้อง​เดิน​ทาง​ไป​นอก​สถาน​ที่​ไหม? จะ​สร้าง​และ​ออก​แบบ​ฉาก​ภาย​ใน​อาคาร​อย่าง​ไร? จำเป็น​ต้อง​ใช้​เครื่อง​แต่ง​กาย​พิเศษ​ไหม? ใคร​จะ​จัด​แสง, แต่ง​หน้า, และ​ทำ​ผม? แล้ว​เรื่อง​เสียง, สเปเชียลเอฟเฟกต์, และ​งาน​สตันต์ (นัก​แสดง​แทน) ล่ะ? ทั้ง​หมด​นี้​เป็น​ตัว​อย่าง​เพียง​เล็ก​น้อย​ว่า​จะ​ต้อง​คิด​ถึง​เรื่อง​อะไร​บ้าง​ก่อน​ที่​จะ​เริ่ม​ถ่าย​ช็อต​แรก​ด้วย​ซ้ำ. ถ้า​คุณ​ดู​ตอน​ท้าย​ของ​ภาพยนตร์​ฟอร์ม​ใหญ่ คุณ​อาจ​จะ​เห็น​ราย​ชื่อ​ของ​คน​ที่​ทำ​งาน​อยู่​เบื้อง​หลัง​นับ​ร้อย​คน​ที​เดียว! “ต้อง​ใช้​คน​มหาศาล​เพื่อ​จะ​สร้าง​ภาพยนตร์​สัก​เรื่อง​หนึ่ง” ช่าง​คน​หนึ่ง​ซึ่ง​เคย​ทำ​งาน​ใน​กอง​ถ่าย​ภาพยนตร์​หลาย​เรื่อง​กล่าว​ไว้.

การ​ถ่าย​ทำ

การ​ถ่าย​ภาพยนตร์​อาจ​ต้อง​ใช้​เวลา​มาก, เป็น​งาน​ที่​น่า​เหนื่อย​หน่าย, และ​เสีย​ค่า​ใช้​จ่าย​สูง. ที่​จริง หาก​เสีย​เวลา​ไป​เพียง​นาที​เดียว​ก็​อาจ​ทำ​ให้​สูญ​เงิน​ไป​นับ​หมื่น​บาท. บาง​ครั้ง​ต้อง​มี​การ​เคลื่อน​ย้าย​นัก​แสดง, เจ้าหน้าที่​กอง​ถ่าย, และ​อุปกรณ์​เครื่อง​ใช้​ไป​ยัง​ประเทศ​ที่​อยู่​ห่าง​ไกล. แต่​ไม่​ว่า​จะ​ที่​ไหน แต่​ละ​วัน​ที่​ใช้​ไป​ใน​การ​ถ่าย​ทำ​ก็​ทำ​ให้​สิ้น​เปลือง​งบประมาณ​ไป​มาก​ที​เดียว.

ช่าง​จัด​แสง, ช่าง​ทำ​ผม, และ​ช่าง​แต่ง​หน้า​เป็น​พวก​แรก ๆ ที่​มา​ถึง​สถาน​ที่​ถ่าย​ทำ. ใน​วัน​ถ่าย​ทำ​แต่​ละ​วัน ดารา​อาจ​ใช้​เวลา​เป็น​ชั่วโมง ๆ ใน​การ​แต่ง​หน้า​ทำ​ผม. แล้ว​วัน​อัน​ยาว​นาน​ใน​การ​ถ่าย​ทำ​ก็​เริ่ม​ขึ้น.

ผู้​กำกับ​จะ​ดู​แล​การ​ถ่าย​แต่​ละ​ฉาก​อย่าง​ใกล้​ชิด. แม้​แต่​ฉาก​ที่​ค่อนข้าง​ง่าย​ก็​อาจ​ใช้​เวลา​ถ่าย​ทั้ง​วัน. ฉาก​ส่วน​ใหญ่​ใน​หนัง​จะ​ใช้​กล้อง​ตัว​เดียว​ถ่าย และ​เพราะ​เหตุ​นี้​จึง​ต้อง​แสดง​ฉาก​เดียว​กัน​ซ้ำ​แล้ว​ซ้ำ​อีก​เพื่อ​จะ​ได้​มุม​กล้อง​ต่าง ๆ กัน. นอก​จาก​นั้น อาจ​ต้อง​ถ่าย​ช็อต​เดียว​กัน​ซ้ำ​หลาย​รอบ​เพื่อ​จะ​ได้​ภาพ​การ​แสดง​ที่​ดี​ที่​สุด​หรือ​เพื่อ​แก้ไข​ปัญหา​ทาง​เทคนิค. การ​ถ่าย​แต่​ละ​ครั้ง​เรียก​ว่า เทก. ถ้า​เป็น​ฉาก​ใหญ่ ๆ อาจ​ต้อง​ใช้​ถึง 50 เทก​หรือ​มาก​กว่า​นั้น! หลัง​จาก​นั้น ส่วน​ใหญ่​เป็น​ตอน​สิ้น​สุด​ของ​วัน​ถ่าย​ทำ ผู้​กำกับ​จะ​ดู​เทก​ต่าง ๆ ทั้ง​หมด​และ​ตัดสิน​ใจ​ว่า​จะ​เก็บ​เทก​ไหน​ไว้. รวม​ทั้ง​หมด​แล้ว ขั้น​ตอน​การ​ถ่าย​ทำ​อาจ​ใช้​เวลา​หลาย​สัปดาห์​หรือ​หลาย​เดือน.

โพสต์​โพรดักชัน—การ​ประกอบ​ส่วน​ต่าง ๆ เข้า​ด้วย​กัน

ใน​ช่วง​โพสต์​โพรดักชัน​หรือ​ช่วง​การ​ผลิต​หลัง​การ​ถ่าย​ทำ จะ​มี​การ​ตัด​ต่อ​ฟิล์ม​แต่​ละ​ช่วง​ให้​เป็น​ภาพยนตร์​ที่​ต่อ​เนื่อง​กัน. ตอน​แรก จะ​มี​การ​ใส่​เสียง​ให้​ตรง​กับ​ภาพ​ใน​ฟิล์ม. แล้ว​ผู้​ตัด​ต่อ​ก็​จะ​ปะติดปะต่อ​ฟิล์ม​แต่​ละ​ช่วง​เข้า​ด้วย​กัน​อย่าง​หยาบ ๆ.

เสียง​ประกอบ​และ​เทคนิค​พิเศษ​ทาง​ภาพ​ก็​จะ​ถูก​ใส่​เข้า​ไป​ใน​ช่วง​นี้​ด้วย. บาง​ครั้ง จะ​ใช้​ภาพ​กราฟิกส์​คอมพิวเตอร์​ช่วย​ใน​การ​ทำ​เทคนิค​พิเศษ​ต่าง ๆ ซึ่ง​ถือ​เป็น​ส่วน​ที่​ซับซ้อน​ที่​สุด​ใน​การ​สร้าง​หนัง. ภาพ​ที่​ได้​จะ​น่า​ตื่น​ตา​ตื่น​ใจ​และ​ดู​เหมือน​จริง​มาก.

เพลง​ประกอบ​ภาพยนตร์​จะ​ถูก​ใส่​เข้า​ไป​ใน​ช่วง​โพสต์​โพรดักชัน​นี้​ด้วย และ​เพลง​ก็​มี​ความ​สำคัญ​มาก​ขึ้น​เรื่อย ๆ สำหรับ​ภาพยนตร์​สมัย​นี้. “อุตสาหกรรม​ภาพยนตร์​ยุค​นี้​เรียก​ร้อง​ให้​มี​ดนตรี​ประกอบ​ที่​แต่ง​ขึ้น​เฉพาะ​สำหรับ​หนัง​เรื่อง​นั้น ๆ มาก​กว่า​ยุค​ก่อน และ​ไม่​ใช่​แค่​ยี่​สิบ​นาที​หรือ​เฉพาะ​ช่วง​ที่​น่า​ตื่นเต้น​เพียง​ไม่​กี่​ตอน​เท่า​นั้น แต่​บ่อย​ครั้ง​ต้อง​มี​ดนตรี​ประกอบ​ยาว​กว่า​หนึ่ง​ชั่วโมง” เอดวิน แบลก เขียน​ใน​เพลง​ประกอบ​ภาพยนตร์​ราย​เดือน (ภาษา​อังกฤษ).

บาง​ครั้ง จะ​มี​การ​ฉาย​ภาพยนตร์​ที่​ตัด​ต่อ​เสร็จ​ใหม่ ๆ ให้​แก่​คน​ดู​กลุ่ม​ทดลอง ซึ่ง​อาจ​เป็น​เพื่อน​ฝูง​หรือ​เพื่อน​ร่วม​งาน​ของ​ผู้​กำกับ​ที่​ไม่​มี​ส่วน​เกี่ยว​ข้อง​กับ​การ​ทำ​หนัง​เรื่อง​นั้น. โดย​อาศัย​ปฏิกิริยา​ของ​คน​เหล่า​นี้ ผู้​กำกับ​อาจ​ถ่าย​บาง​ฉาก​ใหม่​หรือ​ตัด​บาง​ฉาก​ออก. ใน​บาง​กรณี ตอน​จบ​ทั้ง​หมด​ของ​ภาพยนตร์​อาจ​ถูก​เปลี่ยน​ไป​เลย เพราะ​คน​ดู​กลุ่ม​ทดลอง​ไม่​ชอบ​ตอน​จบ​แบบ​เดิม.

สุด​ท้าย ภาพยนตร์​ที่​เสร็จ​สมบูรณ์​ก็​ออก​ฉาย​ใน​โรง. เมื่อ​ถึง​ตอน​นี้ ก็​จะ​เห็น​ได้​แล้ว​ว่า​หนัง​เรื่อง​นี้​เป็น​หนัง​เงิน​ล้าน​หรือ​เป็น​หนัง​ขาด​ทุน—หรือ​แค่​เสมอ​ตัว. แต่​เงิน​ไม่​ได้​เป็น​เดิม​พัน​เพียง​อย่าง​เดียว​เท่า​นั้น. ถ้า​ทำ​หนัง​ออก​มา​ล้มเหลว​ติด​ต่อ​กัน​หลาย ๆ เรื่อง นัก​แสดง​ก็​อาจ​หมด​โอกาส​ที่​จะ​ได้​งาน​อีก​และ​ผู้​กำกับ​ก็​จะ​เสีย​ชื่อเสียง​ด้วย. “ผม​เคย​เห็น​ผู้​กำกับ​รุ่น​เดียว​กับ​ผม​หลาย​คน​ตก​งาน​เพราะ​ทำ​หนัง​ออก​มา​ล้มเหลว​สอง​สาม​ครั้ง” ผู้​กำกับ​ชื่อ จอห์น โบร์แมน กล่าว​เมื่อ​คิด​ถึง​ช่วง​แรก ๆ ที่​เขา​เริ่ม​สร้าง​หนัง. “ความ​เป็น​จริง​ที่​โหด​ร้าย​ของ​ธุรกิจ​ภาพยนตร์​ก็​คือ ถ้า​คุณ​ทำ​เงิน​ให้​เจ้านาย​ของ​คุณ​ไม่​ได้ คุณ​ก็​ถูก​ไล่​ออก.”

แน่นอน เมื่อ​คน​ส่วน​ใหญ่​ยืน​ดู​ป้าย​โฆษณา​ภาพยนตร์ เขา​ก็​ไม่​ได้​คิด​ว่า​คน​ทำ​หนัง​จะ​มี​งาน​ทำ​หรือ​ไม่. แต่​ที่​เขา​เป็น​ห่วง​ที่​สุด​ก็​คง​จะ​เป็น​เรื่อง​ต่อ​ไป​นี้: ‘ฉัน​จะ​ชอบ​หนัง​เรื่อง​นี้​ไหม? หนัง​เรื่อง​นี้​จะ​คุ้มค่า​ตั๋ว​ไหม? มัน​จะ​เป็น​หนัง​ที่​แย่​มาก​หรือ​น่า​รังเกียจ​ไหม? เหมาะ​ไหม​ถ้า​จะ​ให้​ลูก​ของ​ฉัน​ดู​หนัง​เรื่อง​นี้?’ คุณ​จะ​หา​คำ​ตอบ​ใน​เรื่อง​เหล่า​นี้​ได้​อย่าง​ไร​เมื่อ​ตัดสิน​ใจ​ว่า​คุณ​จะ​ชม​ภาพยนตร์​เรื่อง​ใด?

[เชิงอรรถ]

^ วรรค 2 อะนิตา เอลเบอร์เซ อาจารย์​แห่ง​วิทยาลัย​ธุรกิจ​ฮาร์เวิร์ด กล่าว​ว่า “แม้​ว่า​ตอน​นี้​ราย​ได้​จาก​การ​ขาย​ตั๋ว​ชม​ภาพยนตร์​ใน​ต่าง​ประเทศ​มัก​จะ​สูง​กว่า​ใน [สหรัฐ] แต่​ความ​สำเร็จ​ของ​ภาพยนตร์​ใน​สหรัฐ​เป็น​ปัจจัย​กระตุ้น​ว่า​หนัง​นั้น ๆ จะ​ทำ​เงิน​ได้​ดี​เพียง​ไร​ใน​ต่าง​ประเทศ.”

^ วรรค 3 แม้​ว่า​ราย​ละเอียด​ใน​การ​สร้าง​ภาพยนตร์​แต่​ละ​เรื่อง​จะ​ไม่​เหมือน​กัน แต่​สิ่ง​ที่​จะ​กล่าว​ถึง​ต่อ​ไป​นี้​เป็น​ลำดับ​ขั้น​ตอน​การ​สร้าง​หนัง​แบบ​หนึ่ง​ที่​เป็น​ไป​ได้.

^ วรรค 7 ใน​บาง​กรณี จะ​มี​การ​เสนอ​ขาย​เค้าโครง​เรื่อง​ให้​ผู้​อำนวย​การ​สร้าง​แทน​ที่​จะ​เป็น​บท​ภาพยนตร์. ถ้า​เขา​สนใจ เขา​อาจ​ซื้อ​ลิขสิทธิ์​แล้ว​จ้าง​คน​เขียน​เป็น​บท​ภาพยนตร์​ต่อ​ไป.

[คำ​โปรย​หน้า 6]

“คุณ​ไม่​มี​ทาง​รู้​ได้​เลย​ว่า​คน​ดู​ใน​ช่วง​ใด​ช่วง​หนึ่ง​จะ​คิด​ว่า​หนัง​แบบ​ไหน​น่า​ตื่นเต้น​หรือ​น่า​ดู​สำหรับ​เขา.”—เดวิด คุก ศาสตราจารย์​ด้าน​วิชาการ​ภาพยนตร์

[กรอบ/ภาพ​หน้า 6, 7]

กลยุทธ์​การ​ตลาด​ของ​หนัง​เงิน​ล้าน

ภาพยนตร์​ถูก​สร้าง​เสร็จ​สมบูรณ์​แล้ว พร้อม​จะ​ฉาย​ให้​คน​ดู​นับ​ล้าน​คน. มัน​จะ​ประสบ​ความ​สำเร็จ​ไหม? เชิญ​อ่าน​วิธี​การ​บาง​อย่าง​ที่​ผู้​สร้าง​หนัง​ใช้​เพื่อ​โฆษณา​หนัง​ของ​ตน​และ​ทำ​ให้​มัน​กลาย​เป็น​หนัง​เงิน​ล้าน.

การ​วิพากษ์วิจารณ์​อย่าง​แพร่​หลาย: วิธี​ที่​ได้​ผล​ที่​สุด​วิธี​หนึ่ง​ใน​การ​ทำ​ให้​คน​ดู​เฝ้า​รอ​หนัง​สัก​เรื่อง​คือ​การ​พูด​กัน​ปาก​ต่อ​ปาก. บาง​ครั้ง มี​การ​เริ่ม​พูด​ถึง​หนัง​ก่อน​ที่​หนัง​จะ​ออก​ฉาย​นาน​เป็น​เดือน. บาง​ที​อาจ​มี​การ​ออก​ข่าว​ว่า​จะ​มี​ภาค​ต่อ​ของ​หนัง​ฮิต​ก่อน​หน้า​นี้. ดารา​ชุด​เดิม​จะ​กลับ​มา​แสดง​ไหม? ภาค​ต่อ​จะ​สนุก (หรือ​ไม่​สนุก) เหมือน​ภาค​แรก​ไหม?

บาง​ที​การ​วิพากษ์วิจารณ์​เช่น​นี้​เกิด​จาก​ประเด็น​ซึ่ง​เป็น​ที่​โต้​เถียง​กัน​ใน​หนัง เช่น การ​มี​ฉาก​ร่วม​เพศ​ซึ่ง​สม​จริง​มาก​เกิน​ไป​สำหรับ​ภาพยนตร์​ที่​ฉาย​แก่​คน​ทั่ว​ไป. ฉาก​นั้น​ไม่​เหมาะ​สม​จริง ๆ ไหม? หนัง​เรื่อง​นี้​ทำ​เกิน​ขอบ​เขต​ไป​ไหม? คน​สร้าง​หนัง​ชอบ​การ​โฆษณา​ฟรี​แบบ​นี้​ซึ่ง​เกิด​ขึ้น​ขณะ​ที่​มี​การ​โต้​เถียง​กัน​ไป​มา​ใน​วง​กว้าง. บาง​ครั้ง เมื่อ​มี​การ​โต้​แย้ง​กัน​ก็​รับประกัน​ได้​ว่า​รอบ​ปฐมทัศน์​ของ​ภาพยนตร์​เรื่อง​นั้น​จะ​มี​คน​ดู​แน่น​ขนัด.

สื่อ: วิธี​โฆษณา​ที่​ใช้​กัน​มา​นาน​แล้ว​ก็​คือ​การ​โฆษณา​ใน​แผ่น​ป้าย, หนังสือ​พิมพ์, ทีวี, การ​ฉาย​หนัง​ตัว​อย่าง, และ​การ​สัมภาษณ์​ดารา​ที่​โฆษณา​หนัง​เรื่อง​ล่า​สุด​ของ​ตน. ตอน​นี้ อินเทอร์เน็ต​เป็น​เครื่อง​มือ​หลัก​ใน​การ​โฆษณา​ภาพยนตร์​ด้วย.

การ​ขาย​สินค้า: การ​ขาย​สินค้า​อาจ​ทำ​ให้​คน​สนใจ​ภาพยนตร์​มาก​ขึ้น. ตัว​อย่าง​เช่น หนัง​ยอด​มนุษย์​ที่​สร้าง​จาก​หนังสือ​การ์ตูน​เรื่อง​หนึ่ง​มี​สินค้า​หลาย​อย่าง​ที่​เกี่ยว​ข้อง​กับ​หนัง เช่น กล่อง​อาหาร, แก้ว​น้ำ, เครื่อง​ประดับ, เสื้อ​ผ้า, พวง​กุญแจ, นาฬิกา, โคม​ไฟ, เกม​กระดาน, และ​ยัง​มี​อีก​มาก. “ตาม​ปกติ 40 เปอร์เซ็นต์​ของ​สินค้า​เกี่ยว​กับ​ภาพยนตร์​จะ​ขาย​ได้​ก่อน​ที่​หนัง​จะ​ออก​ฉาย​ด้วย​ซ้ำ” โจ ซิสโต เขียน​ใน​นิตยสาร​บันเทิง​ของ​สมาคม​ทนาย​ความ​อเมริกัน.

วิดีโอ: ภาพยนตร์​ที่​ขาด​ทุน​เมื่อ​ฉาย​ใน​โรง​อาจ​ถอน​ทุน​คืน​ได้​จาก​การ​ขาย​วิดีโอ. บรูซ แนช ซึ่ง​ติด​ตาม​ราย​ได้​ของ​ภาพยนตร์​หลาย​เรื่อง​กล่าว​ว่า “ตลาด​วิดีโอ​สร้าง​ราย​ได้​ถึง 40 หรือ 50 เปอร์เซ็นต์​ของ​ราย​ได้​ทั้ง​หมด.”

การ​จัด​เรต: ผู้​สร้าง​หนัง​ได้​มา​รู้​วิธี​ใช้​การ​จัด​เรต​หนัง (การ​จัด​ระดับ​ความ​เหมาะ​สม​ของ​ภาพยนตร์) ให้​เป็น​ประโยชน์. ยก​ตัว​อย่าง อาจ​มี​การ​ตั้งใจ​สอด​แทรก​เนื้อหา​เข้า​ไป​เพื่อ​ให้​หนัง​ถูก​จัด​อยู่​ใน​เรต​ที่​ดู​หมิ่นเหม่​มาก​ขึ้น ทำ​ให้​ดู​เหมือน​ว่า​หนัง​เรื่อง​นั้น​เหมาะ​สำหรับ​ผู้​ใหญ่. ใน​อีก​ด้าน​หนึ่ง อาจ​มี​การ​ตัด​เนื้อหา​บาง​ส่วน​ออก​เพื่อ​จะ​ให้​หนัง​ไม่​ได้​ถูก​จัด​อยู่​ใน​เรต​เฉพาะ​สำหรับ​ผู้​ใหญ่ และ​จะ​ได้​ขาย​ให้​วัยรุ่น​ได้. ลิซา มันดี เขียน​ใน​วารสาร​เดอะ วอชิงตัน โพสต์​ว่า เรต​สำหรับ​วัยรุ่น “ได้​กลาย​มา​เป็น​วิธี​การ​โฆษณา​อย่าง​หนึ่ง คือ​บริษัท​ที่​สร้าง​ภาพยนตร์​จะ​ใช้​เรต​นี้​เพื่อ​สื่อ​กับ​วัยรุ่น​และ​เด็ก ๆ ที่​อยาก​เป็น​วัยรุ่น​ว่า หนัง​เรื่อง​นั้น​มี​อะไร​เจ๋ง ๆ อยู่.” การ​จัด​เรต​เป็น​การ​สร้าง “ความ​ตึงเครียด​ระหว่าง​วัย” มัน​ดี​เขียน “คือ​เตือน​พ่อ​แม่​ให้​ระวัง​และ​พร้อม​กัน​นั้น​ก็​ดึงดูด​เด็ก ๆ ให้​มา​ดู.”

[ภาพ​หน้า 8, 9]

ขั้น​ตอน​การ​สร้าง​หนัง

บท​ภาพยนตร์

สตอรีบอร์ด

เครื่อง​แต่ง​กาย

การ​แต่ง​หน้า

การ​ถ่าย​ใน​สถาน​ที่​จริง

การ​ถ่าย​สเปเชียลเอฟเฟกต์

การ​ผสม​เสียง (มิกซ์)

การ​บันทึก​เสียง

ภาพ​เคลื่อน​ไหว​ที่​สร้าง​จาก​คอมพิวเตอร์

การ​ตัด​ต่อ