คุณจำเป็นต้องออกกำลังกายจริง ๆ หรือ?
คุณจำเป็นต้องออกกำลังกายจริง ๆ หรือ?
“บริหารร่างกายสัปดาห์ละสองครั้งเพื่อให้ร่างกายแข็งแรง. จงออกกำลังกายวันละ 30 นาที. หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์เพื่อป้องกันมะเร็ง. ดื่มแอลกอฮอล์เพื่อลดความเสี่ยงที่จะเป็นโรคหัวใจ. คุณเคยรู้สึกไหมว่ามีคำแนะนำดี ๆ มากมายเหลือเกิน? วันหนึ่งพาดหัวข่าวบอกอย่างหนึ่ง สัปดาห์ถัดไปกลับบอกอีกอย่างหนึ่งเลย. . . . ทำไมพวกนักวิทยาศาสตร์จึงเห็นพ้องกันไม่ได้? ทำไมสัปดาห์นี้กาแฟเป็นอันตรายแต่สัปดาห์หน้ากลับไม่เป็นอันตราย?”—บาร์บารา เอ. เบรห์ม ศาสตราจารย์ที่ศึกษาด้านการออกกำลังกายและกีฬา.
ผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพมักจะมีความเห็นไม่ตรงกันในเรื่องโภชนาการและความสมบูรณ์แข็งแรงของร่างกาย. หลายคนสับสนกับข้อมูลอันล้นหลามที่ว่าอะไรควรทำและอะไรไม่ควรทำเพื่อจะมีสุขภาพที่แข็งแรง. อย่างไรก็ตาม ในเรื่องความจำเป็นที่ต้องทำกิจกรรมที่ใช้แรงกายอย่างพอเหมาะนั้น ดูเหมือนนักวิทยาศาสตร์ทุกคนเห็นพ้องกันว่า ถ้าคุณอยากมีสุขภาพที่ดีขึ้น คุณต้องออกกำลังกายเป็นประจำ!
การขาดกิจกรรมที่ต้องใช้แรงกายนั้นเป็นปัญหาใหญ่ที่สุดเรื่องหนึ่งในปัจจุบัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศอุตสาหกรรม. หลายชั่วอายุที่ผ่าน ๆ มา หลายคนในประเทศเหล่านั้นต้องทำงานที่ใช้แรงกายอย่างหนัก ไม่ว่าจะในการเกษตร, การล่าสัตว์, หรือการก่อสร้าง. จริงอยู่ การที่ต้องทำงานหนักขนาดนั้นเพียงเพื่อจะอยู่รอดได้นั้นบ่อยครั้งก็ทำให้บรรพบุรุษของเรามีชีวิตที่ลำบาก หรือถึงกับทำให้พวกเขาอายุสั้น. สารานุกรมบริแทนนิกา กล่าวว่า “ในกรีซและโรมยุคโบราณ อายุขัยโดยเฉลี่ยของประชาชนอยู่ที่ราว ๆ 28 ปี.” แต่เมื่อถึงตอนปลายศตวรรษที่ 20 อายุขัยโดยเฉลี่ยในประเทศที่พัฒนาแล้วอยู่ที่ราว ๆ 74 ปี. ทำไมอายุขัยโดยเฉลี่ยจึงเพิ่มขึ้นเช่นนี้?
เทคโนโลยี—ให้คุณหรือให้โทษ?
ประชาชนในสมัยนี้มีสุขภาพค่อนข้างดีกว่าและมีอายุยืนยาวกว่าคนที่มีชีวิตอยู่เมื่อหลายร้อยปีที่แล้ว. ส่วนหนึ่งเป็นเพราะการปฏิวัติทางเทคโนโลยี. การคิดค้นสิ่งใหม่ ๆ ทำให้วิธีการทำงานของเราเปลี่ยนไป และงานหนักหลายอย่างก็กลายเป็นงานเบาขึ้น. วงการแพทย์มีความก้าวหน้าอย่างมากในการต่อสู้กับโรคต่าง ๆ และทำให้ประชาชนส่วนใหญ่มีสุขภาพดีขึ้น. อย่างไรก็ตาม น่าแปลกที่เรื่องนี้กลับทำให้เกิดผลเสียตามมา.
ขณะที่เทคโนโลยีสมัยใหม่ส่งเสริมให้ประชาชนมีสุขภาพดีขึ้น แต่เมื่อเวลาผ่านไป สิ่งนี้กลับทำให้ประชาชนจำนวนมากมีชีวิตแบบที่เอาแต่นั่ง ๆ นอน ๆ. ในรายงานที่จัดพิมพ์ขึ้นเมื่อไม่นานมานี้เรื่องสถิติของโรคหัวใจร่วมหลอดเลือดนานาชาติ (ภาษาอังกฤษ) สมาคมหัวใจแห่งอเมริกาอธิบายว่า “การเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ, การขยายเขตเมือง, ความก้าวหน้าทางอุตสาหกรรมและโลกาภิวัตน์ทำให้รูปแบบชีวิตเปลี่ยนไปซึ่งส่งเสริมให้เป็นโรคหัวใจ.” รายงานนี้กล่าวถึง “การไม่ได้ทำกิจกรรมที่ต้องออกแรงและการกินอาหารที่ไม่ดีต่อสุขภาพ” ว่าเป็นปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญอย่างหนึ่ง.
เพิ่งเมื่อ 50 ปีที่แล้วนี้เองในหลายประเทศ บางคนต้องตรากตรำทำไร่ไถนา ขี่จักรยานเข้าไปในหมู่บ้าน
เพื่อจะติดต่อกับธนาคาร แล้วในตอนเย็นก็ยังต้องซ่อมบ้านของตัวเอง. แต่ชีวิตของคนรุ่นหลานนั้นต่างกันอย่างสิ้นเชิง. คนทำงานในสมัยนี้อาจนั่งอยู่หน้าคอมพิวเตอร์เกือบทั้งวัน, เมื่อจะต้องไปที่ไหนก็จะขับรถยนต์ไป, ส่วนตอนเย็นก็ใช้เวลานั่งดูทีวี.ตามการศึกษาวิจัยรายหนึ่ง คนงานตัดไม้ชาวสวีเดนในสมัยก่อนเผาผลาญแคลอรีถึงวันละเกือบ 7,000 แคลอรีในการโค่นต้นไม้และขนย้ายท่อนซุง แต่มาสมัยนี้พวกเขายืนดูเครื่องจักรทันสมัยทำงานหนัก ๆ แทนแทบทั้งหมด. เมื่อก่อนถนนหนทางส่วนใหญ่ต้องสร้างและบำรุงรักษาโดยคนงานที่ใช้อีเต้อและพลั่ว. แต่ตอนนี้ แม้แต่ในประเทศกำลังพัฒนา ก็ยังใช้รถปราบดินและเครื่องจักรขนาดใหญ่อื่น ๆ ทำหน้าที่ขุดและขนดิน.
ในบางภูมิภาคของประเทศจีน ผู้คนเริ่มเปลี่ยนไปใช้รถมอเตอร์ไซค์แทนรถจักรยานมากขึ้นเรื่อย ๆ. ในสหรัฐ 25 เปอร์เซ็นต์ของการเดินทางทั้งหมด เป็นการเดินทางที่ไม่ถึงหนึ่งไมล์ (1.6 กิโลเมตร) แต่ในการเดินทางระยะสั้น ๆ เหล่านี้ มีการใช้รถยนต์ถึง 75 เปอร์เซ็นต์.
เทคโนโลยีสมัยใหม่ยังทำให้เกิดเด็กรุ่นที่ชอบนั่งอยู่กับที่. การศึกษาวิจัยรายหนึ่งระบุว่า วิดีโอเกม “สนุกมากขึ้นและสมจริงมากขึ้นจนเด็ก ๆ . . . ใช้เวลาอยู่กับเครื่องเล่นเกมนานขึ้น.” มีการลงความเห็นคล้าย ๆ กันในเรื่องการดูทีวีและความบันเทิงแบบอื่น ๆ ที่ทำให้เด็กนั่งอยู่กับที่.
อันตรายของรูปแบบชีวิตแบบนั่ง ๆ นอน ๆ
เมื่อผู้คนทำงานที่ต้องออกแรงน้อยลงกว่าเดิมมาก ก็ทำให้เกิดปัญหาทางสุขภาพหลายอย่างทั้งทางกาย, ทางจิต, และทางอารมณ์. ยกตัวอย่าง หน่วยงานสาธารณสุขแห่งหนึ่งในบริเตนรายงานเมื่อไม่นานมานี้ว่า “เด็กที่ไม่ค่อยทำอะไรมีโอกาสจะขาดความนับถือตัวเอง มีความกังวลและความเครียดมากกว่าเด็กคนอื่น. เด็กเหล่านี้ยังมีโอกาสจะสูบบุหรี่และเสพยามากกว่าเด็กที่ไม่ชอบอยู่เฉย ๆ. ลูกจ้างที่มักนั่งเฉย ๆ จะขาดงานบ่อยกว่าลูกจ้างที่มักออกแรงทำงาน. เมื่ออายุมากขึ้น คนที่ไม่ค่อยออกแรงทำอะไรจะไม่มีกำลังวังชาและความยืดหยุ่นสำหรับการทำกิจวัตรประจำวัน. ผลก็คือ หลายคนต้องพึ่งพาคนอื่นและมีสุขภาพจิตแย่ลง.”
โครา เครก ประธานสถาบันวิจัยความแข็งแรงและรูปแบบชีวิตของชาวแคนาดา อธิบายว่า “ชาวแคนาดาทำงานที่ต้องออกแรงน้อยกว่าสมัยก่อนมาก . . . โดยรวมแล้วกิจกรรมที่ต้องใช้กำลังมีน้อยลง.” หนังสือพิมพ์เดอะ โกลบ แอนด์ เมล์ แห่งแคนาดารายงานว่า “ประมาณ 48 เปอร์เซ็นต์ของชาวแคนาดามีน้ำหนักมากเกินไป และ 15 เปอร์เซ็นต์
เป็นโรคอ้วน.” หนังสือพิมพ์นี้เสริมว่าในแคนาดา ผู้ใหญ่ถึง 59 เปอร์เซ็นต์เป็นคนที่มักจะนั่งอยู่เฉย ๆ. นายแพทย์มัตติ อูซีตูปา จากมหาวิทยาลัยกูโอปีโอ ประเทศฟินแลนด์ เตือนว่า “มีผู้เป็นโรคเบาหวานชนิดที่ 2 เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วทั่วโลก เนื่องจากโรคอ้วนและรูปแบบชีวิตที่มักอยู่เฉย ๆ กำลังเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ.”ที่ฮ่องกง การศึกษาวิจัยเมื่อไม่นานมานี้บ่งชี้ว่า ในบรรดาผู้เสียชีวิตที่มีอายุ 35 ปีขึ้นไป ประมาณ 20 เปอร์เซ็นต์เกี่ยวข้องกับการขาดกิจกรรมที่ต้องออกแรง. การศึกษานี้ซึ่งนำโดยศาสตราจารย์ไท-ฮิง ลัมแห่งมหาวิทยาลัยฮ่องกง และได้ตีพิมพ์ในปี 2004 โดยหนังสือรายปีวิทยาการระบาด (ภาษาอังกฤษ) ลงความเห็นว่า ในท่ามกลางประชากรชาวจีนของฮ่องกง “การขาดกิจกรรมที่ต้องออกแรงมีอันตรายมากกว่าการสูบบุหรี่.” นักวิจัยคาดคะเนว่าประเทศจีนส่วนอื่น ๆ “จะมีอัตราการเสียชีวิตในระดับที่สูงพอ ๆ กัน.”
ความห่วงใยนี้เป็นเรื่องที่มีเหตุผลไหม? การที่ไม่ได้ใช้แรงทำงานก่อผลเสียต่อสุขภาพยิ่งกว่าการสูบบุหรี่จริง ๆ หรือ? เป็นที่ยอมรับกันทั่วไปว่า เมื่อเทียบกับคนที่ไม่อยู่เฉยแล้ว คนที่นั่ง ๆ นอน ๆ มีแนวโน้มจะมีความดันโลหิตสูงกว่า, มีความเสี่ยงที่จะเกิดโรคเส้นเลือดสมองและหัวใจวายสูงกว่า, มีความเสี่ยงที่จะเป็นมะเร็งบางชนิดสูงกว่า, มีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคกระดูกพรุนสูงกว่า, และมีแนวโน้มจะเป็นโรคอ้วนมากกว่า. *
หนังสือพิมพ์เดอะ วอลล์ สตรีต เจอร์นัล รายงานว่า “ในทุกทวีปทั่วโลก แม้แต่ในภูมิภาคที่มีภาวะทุโภชนาการอยู่อย่างแพร่หลาย คนที่น้ำหนักเกินหรือเป็นโรคอ้วนนั้นกำลังมีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วจนน่าตกใจ. ตัวการสำคัญ
คือ อาหารแคลอรีสูงประกอบกับพฤติกรรมที่เอาแต่นั่ง ๆ นอน ๆ ซึ่งทำให้โรคอ้วนระบาดในสหรัฐ.” นายแพทย์สเตฟาน รอสส์เนอร์ ศาสตราจารย์ด้านพฤติกรรมทางสุขภาพแห่งสถาบันคาโรลิงสกาในกรุงสตอกโฮล์ม ประเทศสวีเดน เห็นด้วยกับเรื่องนี้และถึงกับอ้างว่า “ไม่มีประเทศไหนในโลกที่โรคอ้วนไม่เพิ่มขึ้น.”ปัญหาระดับโลก
เห็นได้ชัดทีเดียว การทำงานที่ต้องออกแรงพอประมาณเป็นสิ่งที่สำคัญอย่างยิ่งเพื่อทำให้เรามีสุขภาพดี. แต่ทั้ง ๆ ที่มีการเผยแพร่เรื่องอันตรายของการอยู่เฉย ๆ จนเป็นที่รู้กันไปทั่ว แต่ประชากรโลกจำนวนมากก็ยังคงใช้ชีวิตแบบนั้น. สหพันธ์หัวใจโลกเชื่อว่า ประชากรโลกประมาณ 60 ถึง 85 เปอร์เซ็นต์ “ไม่ได้ทำกิจกรรมที่ใช้แรงมากพอที่จะเป็นประโยชน์ต่อสุขภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งพวกเด็กสาวและพวกผู้หญิง.” องค์กรนี้อ้างว่า “นอกจากนี้ เด็ก ๆ เกือบสองในสามก็ไม่ได้ทำกิจกรรมที่ใช้แรงมากพอที่จะมีสุขภาพดีได้.” ในสหรัฐ ผู้ใหญ่ประมาณ 40 เปอร์เซ็นต์เป็นคนที่เอาแต่นั่ง ๆ นอน ๆ และประมาณครึ่งหนึ่งของเยาวชนอายุระหว่าง 12 ถึง 21 ปีไม่ได้ทำกิจกรรมที่ต้องออกแรงมาก ๆ เป็นประจำ.
การศึกษาวิจัยที่พิจารณาเรื่องการใช้ชีวิตแบบนั่ง ๆ นอน ๆ ที่มีอยู่อย่างแพร่หลายในประเทศแถบยุโรป 15 ประเทศพบว่า จำนวนคนที่ชอบใช้ชีวิตแบบนี้มีตั้งแต่ 43 เปอร์เซ็นต์ในสวีเดนจนถึง 87 เปอร์เซ็นต์ในโปรตุเกส. ที่นครเซาเปาลู ประเทศบราซิล ประชากรประมาณ 70 เปอร์เซ็นต์เป็นประเภทที่มักจะนั่งอยู่กับที่. องค์การอนามัยโลกรายงานว่า “ข้อมูลที่รวบรวมได้จากการสำรวจด้านสุขภาพทั่วโลกตรงกันเลยทีเดียว.” ดังนั้น พวกเราจึงไม่ควรแปลกใจที่ทุกปีมีคนประมาณสองล้านคนเสียชีวิตเนื่องจากสาเหตุที่เกี่ยวข้องกับการขาดกิจกรรมที่ต้องออกแรง.
ผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพทั่วโลกมองแนวโน้มนี้ด้วยความวิตก. เพื่อแก้ไขสถานการณ์นี้ หน่วยงานของรัฐบาลทั่วโลกได้เริ่มโครงการต่าง ๆ เพื่อทำให้ประชาชนได้ตระหนักถึงผลประโยชน์ของการทำกิจกรรมที่ต้องออกแรงพอประมาณ. ออสเตรเลีย, ญี่ปุ่น, และสหรัฐหวังว่าเมื่อถึงปี 2010 ประชาชนของตนจะทำกิจกรรมที่ต้องออกแรงเพิ่มขึ้น 10 เปอร์เซ็นต์. สกอตแลนด์ตั้งเป้าว่าจะให้ประชากรวัยผู้ใหญ่ 50 เปอร์เซ็นต์เข้าร่วมในการทำกิจกรรมที่ต้องออกแรงเป็นประจำเมื่อถึงปี 2020. รายงานจากองค์การอนามัยโลกชี้แจงว่า “ประเทศอื่น ๆ ที่ให้ความสำคัญต่อโครงการระดับชาติของตนในเรื่องการทำกิจกรรมที่ต้องออกแรงก็คือเม็กซิโก, บราซิล, จาเมกา, นิวซีแลนด์, ฟินแลนด์, สหพันธรัฐรัสเซีย, โมร็อกโก, เวียดนาม, แอฟริกาใต้, และสโลวีเนีย.”
แม้ว่าจะมีความพยายามจากรัฐบาลและหน่วยงานด้านสาธารณสุข แต่ความรับผิดชอบที่สำคัญที่สุดในการดูแลสุขภาพของคนเราก็อยู่ที่ตัวเราแต่ละคน. ขอให้ถามตัวเองว่า ‘ฉันทำอะไรที่ต้องใช้แรงมากพอไหม? ฉันออกกำลังกายเพียงพอไหม? ถ้าไม่ ฉันจะทำอะไรได้บ้างเพื่อจะเลิกใช้ชีวิตแบบที่นั่งอยู่กับที่นี้?’ บทความถัดไปจะชี้ให้คุณเห็นว่าจะเพิ่มกิจกรรมที่ต้องออกแรงให้มากขึ้นได้อย่างไร.
[เชิงอรรถ]
^ วรรค 16 การที่ไม่ได้ทำกิจกรรมออกแรงอาจเพิ่มความเสี่ยงที่จะมีปัญหาสุขภาพที่เป็นอันตรายต่อชีวิต. เพื่อเป็นตัวอย่าง ตามรายงานของสมาคมหัวใจแห่งอเมริกา การที่ไม่ได้ทำกิจกรรมที่ต้องออกแรง “ทำให้มีความเสี่ยงที่จะเกิดโรคหัวใจเพิ่มขึ้นสองเท่าและความเสี่ยงที่จะเกิดโรคความดันโลหิตสูงเพิ่มขึ้นถึง 30 เปอร์เซ็นต์. นอกจากนี้ยังทำให้มีโอกาสเสียชีวิตด้วยโรคหัวใจร่วมหลอดเลือดและโรคเส้นเลือดสมองเพิ่มขึ้นถึงสองเท่าด้วย.”
[กรอบหน้า 4]
ความสูญเสียทางการเงินของการอยู่เฉย ๆ
รัฐบาลและหน่วยงานด้านสาธารณสุขหลายแห่งเป็นห่วงอย่างจริงจังในเรื่องค่าใช้จ่ายที่เป็นภาระของสังคมซึ่งเกิดจากการนั่งอยู่กับที่.
● ออสเตรเลีย - ในประเทศนี้ ค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลประจำปีที่เกิดจากการอยู่เฉย ๆ ไม่ออกแรงมีมูลค่าสูงถึง 377 ล้านดอลลาร์.
● แคนาดา - ตามรายงานของสหพันธ์หัวใจโลก ในช่วงเวลาแค่หนึ่งปี แคนาดาใช้เงินไปกว่า 2 พันล้านดอลลาร์สำหรับการรักษาพยาบาลซึ่ง “เกิดขึ้นจากการอยู่เฉย ๆ ไม่ออกแรง.”
● สหรัฐ - ในช่วงปี 2000 สหรัฐใช้เงินสูงถึง 76,000 ล้านดอลลาร์สำหรับค่ารักษาด้านการแพทย์ซึ่งเกี่ยวข้องโดยตรงกับการอยู่เฉย ๆ ไม่ออกแรง.
[กรอบ/ภาพหน้า 5]
เด็ก ๆ ต้องมีกิจกรรมที่ต้องใช้กำลัง
การศึกษาวิจัยที่ทำเมื่อเร็ว ๆ นี้แสดงให้เห็นว่า เด็ก ๆ ที่ไม่ทำกิจกรรมที่ต้องใช้กำลังเป็นประจำมีจำนวนมากขึ้นเรื่อย ๆ. ปัญหานี้พบในหมู่เด็กผู้หญิงมากกว่าเด็กผู้ชาย. ดูเหมือนว่าขณะที่เด็กโตขึ้น กิจกรรมที่ต้องใช้กำลังกลับลดลงเรื่อย ๆ. ต่อไปนี้เป็นผลประโยชน์บางอย่างที่เด็ก ๆ จะได้รับจากการที่ได้ออกแรงเป็นประจำ:
● พัฒนากระดูกและกล้ามเนื้อให้แข็งแรง รวมทั้งข้อต่อต่าง ๆ
● ป้องกันไม่ให้มีน้ำหนักเกินและโรคอ้วน
● ป้องกันหรือชะลอปัญหาเรื่องความดันโลหิตสูง
● ป้องกันโรคเบาหวานชนิดที่ 2
● ทำให้มีความนับถือตัวเองมากขึ้นและการป้องกันความกังวลและความเครียด
● พัฒนารูปแบบชีวิตที่กระตือรือร้นซึ่งอาจป้องกันไม่ให้กลายเป็นผู้ใหญ่ที่ชอบอยู่เฉย ๆ
[กรอบ/ภาพหน้า 6]
สุขภาพที่ดีขึ้นสำหรับผู้สูงอายุ
มีการกล่าวว่า ยิ่งคุณอายุมากเท่าไร คุณก็ยิ่งได้รับประโยชน์มากขึ้นจากการออกกำลังกายเป็นประจำอย่างพอประมาณ. กระนั้น ผู้สูงอายุหลายคนก็ยังไม่กล้าทำกิจกรรมที่ต้องออกแรงเป็นประจำเพราะกลัวจะได้รับบาดเจ็บหรือไม่สบาย. จริงอยู่ ผู้สูงอายุควรปรึกษาแพทย์ก่อนที่จะเริ่มทำกิจกรรมที่ต้องออกแรงมาก ๆ. อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญเชื่อว่ากิจกรรมที่ต้องออกแรงอาจช่วยปรับปรุงคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุได้มากทีเดียว. ต่อไปนี้คือบางขอบเขตที่ผู้สูงอายุอาจจะปรับปรุงให้ดีขึ้นได้ถ้าเขาออกกำลังกายเป็นประจำ:
● ความตื่นตัว
● การทรงตัวและความยืดหยุ่นของร่างกาย
● สุขภาพจิต
● ความรวดเร็วในการฟื้นตัวจากความเจ็บป่วยหรือการบาดเจ็บ
● การทำงานของระบบทางเดินอาหารและตับ
● การดูดซึมอาหาร
● ระบบภูมิคุ้มกัน
● ความหนาแน่นของกระดูก
● ระดับพลังงาน