ข้ามไปยังเนื้อหา

ข้ามไปยังสารบัญ

จันทาร์ มันทาร์—หอดูดาวที่ไม่มีกล้องโทรทรรศน์

จันทาร์ มันทาร์—หอดูดาวที่ไม่มีกล้องโทรทรรศน์

จันทาร์ มันทาร์—หอ​ดู​ดาว​ที่​ไม่​มี​กล้อง​โทรทรรศน์

โดย​ผู้​เขียน​ตื่นเถิด! ใน​อินเดีย

ผู้​ที่​ไป​เยี่ยม​ชม​จันทาร์ มันทาร์ ใน​นิวเดลี ประเทศ​อินเดีย อาจ​จ้อง​มอง​สิ่ง​ก่อ​สร้าง​รูป​ร่าง​ประหลาด​เหล่า​นั้น​ด้วย​ความ​แปลก​ใจ และ​นึก​สงสัย​ว่า ‘นี่​เป็น​หอ​ดู​ดาว​จริง ๆ หรือ?’ สำหรับ​คน​ที่​คุ้น​เคย​กับ​อาคาร​สมัย​ใหม่​ซึ่ง​เพียบ​พร้อม​ด้วย​อุปกรณ์​ดู​ดาว​ทัน​สมัย คง​ไม่​คิด​ว่า​อิฐ​ก่อ​หน้า​ตา​ประหลาด​ที่​ตั้ง​อยู่​กลาง​สวน​ขนาด​ใหญ่​นั้น​เป็น​หอ​ดู​ดาว. แต่​จันทาร์ มันทาร์ เมื่อ​ถูก​สร้าง​ขึ้น​ใน​ตอน​ต้น​ศตวรรษ​ที่ 18 ก็​เป็น​หอ​ดู​ดาว​จริง ๆ. น่า​สังเกต​ว่า แม้​จะ​ไม่​มี​กล้อง​โทรทรรศน์​หรือ​อุปกรณ์​อื่น ๆ ที่​ทาง​ยุโรป​มี​ใน​เวลา​นั้น แต่​หอ​ดู​ดาว​แห่ง​นี้​ก็​ให้​ข้อมูล​เกี่ยว​กับ​เทหวัตถุ​บน​ท้องฟ้า​ได้​อย่าง​ละเอียด​และ​ถูก​ต้อง​แม่นยำ​ที​เดียว.

จันทาร์ มันทาร์ เป็น​ชื่อ​ที่​คน​ทั่ว​ไป​เรียก​หอ​ดู​ดาว​สาม​ใน​ห้า​แห่ง​ซึ่ง​สร้าง​โดย​มหา​ราชา​ไสว ใจ สิงห์​ที่​สอง ผู้​ปกครอง​ชาว​ราชปุตร. คำ​ว่า “จันทาร์” มา​จาก​คำ​ภาษา​สันสกฤต “ยันตระ” ซึ่ง​แปล​ว่า “อุปกรณ์” ส่วน​คำ “มันทาร์” มา​จาก “มันตระ” ซึ่ง​แปล​ว่า “สูตร.” การ​เติม​คำ​ให้​มี​เสียง​คล้อง​จอง​เพื่อ​เน้น​จึง​ทำ​ให้​เกิด​ชื่อ “จันทาร์ มันทาร์” ขึ้น​มา.

แผ่น​จารึก​ซึ่ง​นำ​ไป​ติด​ไว้​ที่​อุปกรณ์​ชิ้น​หนึ่ง​ใน​จันทาร์ มันทาร์ ที่​นิวเดลี​เมื่อ​ปี 1910 ระบุ​ปี 1710 ว่า​เป็น​ปี​ที่​มี​การ​สร้าง​หอ​ดู​ดาว​แห่ง​นี้​ขึ้น. อย่าง​ไร​ก็​ตาม การ​ศึกษา​ค้นคว้า​ใน​เวลา​ต่อ​มา​บ่ง​ชี้​ว่า​การ​ก่อ​สร้าง​น่า​จะ​เสร็จ​สมบูรณ์​ใน​ปี 1724. ดัง​ที่​เรา​จะ​ได้​เห็น ข้อมูล​ทาง​ชีวประวัติ​ของ​ใจ สิงห์​ให้​หลักฐาน​สนับสนุน​ข้อ​สรุป​นี้. แต่​ก่อน​อื่น ให้​เรา​มา​ดู​อุปกรณ์​ต่าง ๆ ที่​ใช้​ใน​หอ​ดู​ดาว​แห่ง​นี้​อย่าง​คร่าว ๆ ซึ่ง​ถือ​กัน​ว่า​เป็น​อุปกรณ์​ดู​ดาว​ที่​เก่า​แก่​ที่​สุด​ใน​โลก.

อุปกรณ์​ที่​สร้าง​จาก​อิฐ​และ​หิน

หอ​ดู​ดาว​แห่ง​นี้​มี​อุปกรณ์​ที่​สร้าง​ด้วย​อิฐ​และ​หิน​อยู่​สี่​ชิ้น. อุปกรณ์​ที่​เด่น​ที่​สุด​ได้​แก่ สัมรัต ยันตรา หรือ​อุปกรณ์​ชิ้น​เยี่ยม ซึ่ง “โดย​พื้น​ฐาน​แล้ว​ก็​คือ​นาฬิกา​แดด​ที่​แบ่ง​เป็น​ชั่วโมง​เท่า ๆ กัน.” นี่​เป็น​ผล​งาน​ชิ้น​สำคัญ​ที่​สุด​ของ​ใจ สิงห์. อุปกรณ์​ชิ้น​นี้​ประกอบ​ด้วย​อิฐ​ก่อ​รูป​สาม​เหลี่ยม​สูง 21.3 เมตร, ฐาน​ยาว 34.6 เมตร, และ​กว้าง 3.2 เมตร. ด้าน​ตรง​ข้าม​มุม​ฉาก​ซึ่ง​ยาว 39 เมตร​ขนาน​ไป​กับ​แกน​โลก​และ​ชี้​ไป​ทาง​ขั้ว​โลก​เหนือ. ทั้ง​สอง​ด้าน​ของ​รูป​สาม​เหลี่ยม หรือ​นาฬิกา​แดด​นี้​มี​ขีด​บอก​ชั่วโมง, นาที, และ​วินาที. แม้​นาฬิกา​แดด​แบบ​ธรรมดา​จะ​มี​มา​นาน​หลาย​ร้อย​ปี​แล้ว​ก็​ตาม แต่​ใจ สิงห์​ได้​เอา​เครื่อง​มือ​ธรรมดา​ที่​ใช้​วัด​เวลา​นี้​มา​ทำ​เป็น​อุปกรณ์​วัด​เดคลิเนชัน​ของ​ดวง​ดาว​และ​พิกัด​ต่าง ๆ ที่​เกี่ยว​ข้อง​ได้​อย่าง​แม่นยำ​ที​เดียว.

สิ่ง​ก่อ​สร้าง​อีก​สาม​อย่าง​ใน​หอ​ดู​ดาว​แห่ง​นี้​คือ​อุปกรณ์​ที่​เรียก​ว่า​ราม ยันตรา, ใจ​ประกาศ ยันตรา, และ​มิสรา ยันตรา. อุปกรณ์​ทั้ง​สาม​มี​การ​ออก​แบบ​อย่าง​ละเอียด​ซับซ้อน​เพื่อ​ใช้​วัด​เดคลิเนชัน (ระยะ​ทาง​เชิง​มุม​ทาง​เหนือ​หรือ​ทาง​ใต้​ที่​วัด​จาก​เส้น​ศูนย์​สูตร​ท้องฟ้า), มุม​เงย (ค่า​มุม​เงย​วัด​จาก​เส้น​ขอบ​ฟ้า​ขึ้น​ไป​ตาม​วง​กลม​แนว​ดิ่ง), และ​มุม​ราบ (ค่า​ระยะ​ทาง​เชิง​มุม​ที่​วัด​จาก​จุด​เหนือ​ไป​ทาง​ทิศ​ตะวัน​ออก​ตาม​เส้น​ขอบ​ฟ้า จน​ถึง​วง​กลม​แนว​ดิ่ง) ของ​ดวง​อาทิตย์​และ​ดวง​ดาว​ต่าง ๆ. อุปกรณ์​ที่​ชื่อ​มิสรา​ยัง​บอก​เวลา​เที่ยง​วัน​ของ​เมือง​ต่าง ๆ ทั่ว​โลก​ได้​ด้วย.

ผู้​คิด​ค้น​อุปกรณ์​ทั้ง​หมด​ที่​กล่าว​ไป เว้น​แต่​มิสรา ยันตรา คือ​ใจ สิงห์. อุปกรณ์​ทั้ง​สาม​ชิ้น​นี้​ซับซ้อน​กว่า​และ​ใช้​งาน​ได้​ดี​กว่า​อุปกรณ์​อื่น ๆ ที่​มี​อยู่​ใน​อินเดีย​ใน​เวลา​นั้น และ​ยัง​ทำ​ให้​มี​การ​พัฒนา​ปฏิทิน​และ​ตาราง​ทาง​ดาราศาสตร์​ที่​ถูก​ต้อง​แม่นยำ​ขึ้น​ด้วย. อุปกรณ์​เหล่า​นี้​ได้​รับ​การ​ออก​แบบ​อย่าง​สวย​งาม และ​ให้​ข้อมูล​ที่​เป็น​ประโยชน์​อย่าง​ยิ่ง ก่อน​ที่​กล้อง​โทรทรรศน์​และ​สิ่ง​ประดิษฐ์​อื่น ๆ จะ​เข้า​มา​แทน​ที่. เพราะ​เหตุ​ใด​เจ้า​ชาย​ผู้​ฉลาด​หลักแหลม​และ​มี​ความ​รู้​จึง​ไม่​นำ​เครื่อง​มือ​และ​อุปกรณ์​บาง​ชิ้น​ที่​มี​ใน​ยุโรป รวม​ทั้ง​กล้อง​โทรทรรศน์ มา​ใช้​ใน​การ​ศึกษา​ค้นคว้า​ด้าน​ดาราศาสตร์​ของ​พระองค์? ภูมิหลัง​ของ​มหา​ราชา​องค์​นี้​และ​ประวัติศาสตร์​ใน​สมัย​นั้น​จะ​ให้​คำ​ตอบ.

‘ทุ่มเท​ให้​กับ​การ​ศึกษา​ด้าน​ดาราศาสตร์’

ใจ สิงห์​ประสูติ​เมื่อ​ปี ค.ศ. 1688 ใน​รัฐ​ราชสถาน​ของ​อินเดีย. พระ​บิดา​ของ​ท่าน​ซึ่ง​เป็น​มหา​ราชา​ผู้​ครอง​เมือง​อัมเบอร์ เมือง​หลวง​ของ​ตระกูล​กาชาวาฮา​ซึ่ง​เป็น​ตระกูล​หนึ่ง​ของ​ชาว​ราชปุตร ทรง​ปกครอง​ภาย​ใต้​อำนาจ​ราชวงศ์​โมกุล​ใน​กรุง​เดลี. เจ้า​ชาย​หนุ่ม​ทรง​ศึกษา​ภาษา​ต่าง ๆ เช่น ฮินดี, สันสกฤต, เปอร์เซีย, และ​อาระบิก. พระองค์​ยัง​ทรง​ได้​รับ​การ​ศึกษา​ด้าน​คณิตศาสตร์, ดาราศาสตร์, และ​ยุทธศาสตร์​อีก​ด้วย. แต่​มี​วิชา​หนึ่ง​ที่​เจ้า​ชาย​ทรง​โปรดปราน​เป็น​พิเศษ. ข้อ​ความ​ที่​บันทึก​ใน​สมัย​ของ​พระองค์​กล่าว​ว่า “ตั้ง​แต่​ที่​ไสว ใจ สิงห์​ทรง​สามารถ​คิด​หา​เหตุ​ผล​ด้วย​พระองค์​เอง และ​ตลอด​ช่วง​ที่​ทรง​เจริญ​วัย​เป็น​ผู้​ใหญ่ พระองค์​ทรง​ทุ่มเท​ความ​พยายาม​อย่าง​เต็ม​ที่​ให้​กับ​การ​ศึกษา​ด้าน​วิทยาศาสตร์​และ​การ​คำนวณ (ดาราศาสตร์).”

ใน​ปี 1700 เมื่อ​พระ​ชนมายุ​ได้ 11 ปี ใจ สิงห์​ได้​ครอง​เมือง​อัมเบอร์ หลัง​จาก​ที่​พระ​ราชบิดา​สิ้น​พระ​ชนม์. ต่อ​มา​ไม่​นาน ยุวกษัตริย์​พระองค์​นี้​ก็​ได้​รับ​คำ​สั่ง​จาก​จักรพรรดิ​ราชวงศ์​โมกุล​ให้​เข้า​เฝ้า ณ ราชสำนัก​ทาง​ใต้​ของ​อินเดีย ซึ่ง​ที่​นั่น​กษัตริย์​ใจ สิงห์​ทรง​พบ​กับ​จะกันนาทา ผู้​เชี่ยวชาญ​ด้าน​คณิตศาสตร์​และ​ดาราศาสตร์​ซึ่ง​ได้​มา​เป็น​ผู้​ช่วย​คน​สำคัญ​ของ​พระองค์​ใน​เวลา​ต่อ​มา. สถานะ​ทาง​การ​เมือง​ของ​มหา​ราชา​หนุ่ม​ไม่​มั่นคง​เท่า​ไร​นัก จน​กระทั่ง​ปี 1719 เมื่อ​มุฮัมมัด ชาห์ ขึ้น​ครอง​ราชย์. ใจ สิงห์​ทรง​ถูก​เรียก​ให้​เข้า​เฝ้า​ผู้​ปกครอง​องค์​ใหม่​แห่ง​ราชวงศ์​โมกุล​ที่​กรุง​เดลี​ซึ่ง​เป็น​เมือง​หลวง. ดู​เหมือน​ว่า​ใน​การ​เข้า​เฝ้า​ครั้ง​นี้ ซึ่ง​มี​ขึ้น​ใน​เดือน​พฤศจิกายน ปี 1720 ใจ สิงห์​ได้​ทรง​เสนอ​ให้​มี​การ​สร้าง​หอ​ดู​ดาว​ขึ้น และ​เป็น​ไป​ได้​ว่า​ข้อ​เสนอ​ดัง​กล่าว​เป็น​รูป​เป็น​ร่าง​ขึ้น​มา​ใน​ปี 1724.

อะไร​ทำ​ให้​มหา​ราชา​ทรง​คิด​จะ​สร้าง​หอ​ดู​ดาว? ใจ สิงห์​ทรง​ตระหนัก​ว่า​ปฏิทิน​และ​แผนภูมิ​ทาง​ดาราศาสตร์​ที่​มี​อยู่​ใน​อินเดีย​เวลา​นั้น​ยัง​ขาด​ความ​ถูก​ต้อง​แม่นยำ ประกอบ​กับ​มี​ความ​ก้าว​หน้า​เพียง​เล็ก​น้อย​ใน​สาขา​วิชา​ดาราศาสตร์. ดัง​นั้น พระองค์​จึง​ตั้ง​พระทัย​จะ​ทำ​แผนภูมิ​ใหม่​ที่​ถูก​ต้อง​ตรง​กับ​ดวง​ดาว​ที่​มอง​เห็น​จริง ๆ. นอก​จาก​นั้น พระองค์​ทรง​ประสงค์​จะ​สร้าง​อุปกรณ์​ดู​ดาว​ที่​ทุก​คน​ซึ่ง​สนใจ​ศึกษา​ด้าน​ดาราศาสตร์​จะ​ใช้​ได้. ดัง​นั้น ห้อง​สมุด​ของ​ใจ สิงห์​จึง​มี​หนังสือ​มาก​มาย​จาก​ฝรั่งเศส, อังกฤษ, โปรตุเกส, และ​เยอรมนี. ใจ สิงห์ ทรง​เชิญ​ปราชญ์​จาก​สำนัก​ต่าง ๆ ด้าน​ดาราศาสตร์​ของ​ฮินดู, อิสลาม, และ​ยุโรป​มา​ที่​ราชสำนัก. พระองค์​ถึง​กับ​ส่ง​คณะ​ค้น​หา​ความ​จริง​ชุด​แรก​จาก​ตะวัน​ออก​ไป​ยัง​ยุโรป​เพื่อ​รวบ​รวม​ข้อมูล​ด้าน​ดาราศาสตร์ และ​ทรง​สั่ง​ให้​พวก​เขา​นำ​หนังสือ​กับ​อุปกรณ์​และ​เครื่อง​มือ​ต่าง ๆ กลับ​มา​ด้วย.

ตะวัน​ออก​กับ​ตะวัน​ตก​ไม่​อาจ​จะ​บรรจบ​กัน

ทำไม​ใจ สิงห์​จึง​ทรง​สร้าง​อุปกรณ์​ที่​ทำ​จาก​อิฐ​และ​หิน​ขึ้น​มา ทั้ง ๆ ที่​ใน​เวลา​นั้น​กล้อง​โทรทรรศน์, ไมโคร​มิเตอร์ (เครื่อง​มือ​วัด​สิ่ง​ที่​เล็ก​มาก), และ​เวอเนียร์ (ไม้บรรทัด​วัด​ระยะ​แบบ​ละเอียด) ก็​มี​ใช้​กัน​ใน​ยุโรป​แล้ว? และ​ทำไม​จึง​ดู​เหมือน​ว่า​พระองค์​ไม่​ทรง​ทราบ​เรื่อง​การ​ค้น​พบ​ของ​โคเพอร์นิคัส​และ​กาลิเลโอ​เรื่อง​ดวง​อาทิตย์​เป็น​ศูนย์กลาง​ของ​ดาว​เคราะห์?

ที่​เป็น​เช่น​นี้ ส่วน​หนึ่ง​ก็​เนื่อง​มา​จาก​การ​ติด​ต่อ​สื่อสาร​ที่​ไม่​ดี​พอ​ระหว่าง​ตะวัน​ออก​และ​ตะวัน​ตก. แต่​ยัง​มี​สาเหตุ​อย่าง​อื่น​ด้วย. บรรยากาศ​ทาง​ศาสนา​ใน​เวลา​นั้น​ก็​เป็น​อีก​สาเหตุ​หนึ่ง. พวก​ปราชญ์​ใน​ศาสนา​พราหมณ์​ไม่​ยอม​เดิน​ทาง​ไป​ยุโรป เนื่อง​จาก​การ​เดิน​ทาง​ข้าม​มหาสมุทร​จะ​ทำ​ให้​พวก​เขา​กลาย​เป็น​คน​นอก​วรรณะ. ผู้​ช่วย​ชาว​ยุโรป​ที่​ช่วย​มหา​ราชา​ใจ สิงห์​รวบ​รวม​ข้อมูล ส่วน​ใหญ่​ก็​เป็น​ผู้​คง​แก่​เรียน​นิกาย​เยซูอิต. ตาม​คำ​กล่าว​ของ วี. เอ็น. ชาร์มา ผู้​เขียน​ชีวประวัติ​ของ​ใจ สิงห์ ผู้​ที่​นับถือ​นิกาย​เยซูอิต​และ​ฆราวาส​ชาว​คาทอลิก​ถูก​ศาล​ศาสนา​โรมัน​คาทอลิก​สั่ง​ห้าม​ไม่​ให้​ยอม​รับ​แนว​คิด​ของ​กาลิเลโอ​และ​นัก​วิทยาศาสตร์​หลาย​คน​ซึ่ง​เชื่อ​มั่น​เรื่อง​โลก​หมุน​รอบ​ดวง​อาทิตย์. สำหรับ​คริสตจักร แนว​คิด​ดัง​กล่าว​เป็น​ความ​เห็น​นอก​รีต​และ​เป็น​แนว​คิด​แบบ​อเทวนิยม. ดัง​นั้น จึง​ไม่​น่า​แปลก​ใจ​ที่​ใน​รายการ​สิ่ง​ของ​ที่​จะ​ซื้อ​กลับ​อินเดีย​ของ​บรรดา​ตัว​แทน​ที่​มหา​ราชา​ใจ สิงห์​ทรง​ส่ง​ไป​ยุโรป จะ​ไม่​มี​ผล​งาน​ของ​โคเพอร์นิคัส​และ​กาลิเลโอ รวม​ทั้ง​อุปกรณ์​ใหม่ ๆ ที่​มี​การ​ใช้​กัน​เพื่อ​สนับสนุน​ทฤษฎี​เกี่ยว​กับ​ดวง​อาทิตย์​เป็น​ศูนย์กลาง​รวม​อยู่​ด้วย.

การ​ค้น​หา​ดำเนิน​ต่อ​ไป

ใจ สิงห์​ทรง​มี​ชีวิต​อยู่​ใน​ยุค​ที่​มี​ทิฐิ​และ​การ​ไม่​ยอม​รับ​ความ​คิด​ที่​ต่าง​ออก​ไป​ใน​ด้าน​ศาสนา. แม้​มหา​ราชา​จะ​ทรง​มี​สติ​ปัญญา​เฉลียวฉลาด​และ​มี​ผล​งาน​ยอด​เยี่ยม​ใน​การ​ปรับ​ปรุง​ความ​รู้​เรื่อง​ดวง​ดาว​ให้​ทัน​สมัย แต่​ตลอด​หลาย​สิบ​ปี​การ​ศึกษา​ด้าน​นี้​ใน​อินเดีย​กลับ​มี​ความ​ก้าว​หน้า​เพียง​เล็ก​น้อย. อย่าง​ไร​ก็​ตาม หอ​ดู​ดาว​จันทาร์ มันทาร์ ก็​เป็น​พยาน​หลักฐาน​อย่าง​หนึ่ง​ที่​แสดง​ถึง​ความ​พยายาม​ของ​บุรุษ​ผู้​กระหาย​ความ​รู้.

เป็น​เวลา​หลาย​ศตวรรษ ก่อน​ที่​ใจ สิงห์​จะ​ทรง​สน​พระทัย​ใน​เรื่อง​การ​เคลื่อน​ที่​ของ​ดวง​ดาว​บน​ท้องฟ้า มนุษย์​ที่​ช่าง​คิด​หลาย​คน​เคย​มอง​ดู​ท้องฟ้า และ​พยายาม​จะ​เข้าใจ​ความ​น่า​พิศวง​ของ​เอกภพ. ไม่​ต้อง​สงสัย​ว่า มนุษยชาติ​ยัง​คง “เงย​หน้า​มอง​ขึ้น​ไป” ยัง​ท้องฟ้า​เพื่อ​ค้น​หา​ความ​รู้​เพิ่ม​เติม​ใน​เรื่อง​ผล​งาน​การ​ทรง​สร้าง​ของ​พระเจ้า.—ยะซายา 40:26; บทเพลง​สรรเสริญ 19:1.

[แผนภูมิ/ภาพ​หน้า 18]

(ราย​ละเอียด​ดู​จาก​วารสาร)

สัมรัต ยันตรา เป็น​นาฬิกา​แดด​ที่​มี​ความ​เที่ยง​ตรง. เงา​ของ​สาม​เหลี่ยม​ขนาด​ใหญ่​จะ​ทอด​ลง​บน​เสี้ยว​วง​กลม​รูป​โค้ง (ดู​ใน​วง​กลม​สี​ขาว) ที่​มี​เครื่องหมาย​ขีด

[แผนภูมิ/ภาพ​หน้า 18]

(ราย​ละเอียด​ดู​จาก​วารสาร)

ใจ​ประกาศ ยันตรา ประกอบ​ด้วย​หลุม​ทรง​กลม​ครึ่ง​ลูก​ซึ่ง​มี​เครื่องหมาย​ขีด​อยู่​ภาย​ใน. มี​ลวด​สอง​เส้น​ขึง​ตัด​กัน​จาก​ขอบ​ด้าน​หนึ่ง​ไป​อีก​ด้าน​หนึ่ง

จาก​ด้าน​ใน​ของ​ราม ยันตรา คน​ที่​เข้า​ไป​ชม​จะ​สังเกต​ตำแหน่ง​ของ​ดวง​ดาว​ได้​โดย​เทียบ​กับ​แนว​ของ​เครื่องหมาย​ต่าง ๆ หรือ​กับ​ขอบ​หน้าต่าง

[แผนภูมิ/ภาพ​หน้า 18]

(ราย​ละเอียด​ดู​จาก​วารสาร)

มิสรา ยันตรา บอก​เวลา​เที่ยง​วัน​ของ​เมือง​ต่าง ๆ

[แผนภูมิ/ภาพ​หน้า 19]

(ราย​ละเอียด​ดู​จาก​วารสาร)

การ​หา​พิกัด​เส้น​สายตา ดาราศาสตร์​รูป​แบบ​เก่า​แก่​ที่​สุด ซึ่ง​ใจ สิงห์​ทรง​ปรับ​ให้​มี​ความ​เที่ยง​ตรง​มาก

เพื่อ​จะ​หา​ตำแหน่ง​ของ​ดาว​สัก​ดวง คุณ​ต้อง​รู้​มุม​เงย (ความ​สูง​ใน​ท้องฟ้า) และ​มุม​ราบ (ระยะ​ทาง​เชิง​มุม​ซึ่ง​วัด​จาก​จุด​เหนือ) ของ​ดาว

ที่​สัมรัต ยันตรา ต้อง​ใช้​สอง​คน​เพื่อ​จะ​ระบุ​และ​บันทึก​ตำแหน่ง​ดวง​ดาว

[ที่​มา​ของ​ภาพ]

Bottom: Reproduced from the book SAWAI JAI SINGH AND HIS ASTRONOMY, published by Motilal Banarsidass Publishers (P) Ltd., Jawahar Nagar Delhi, India

[แผนที่​หน้า 19]

(ราย​ละเอียด​ดู​จาก​วารสาร)

อินเดีย

นิวเดลี

มธุระ

ชัยปุระ

วาราณสี

อุชเชน

ใจ สิงห์​ทรง​สร้าง​หอ​ดู​ดาว​ขึ้น​ห้า​แห่ง​ใน​อินเดีย ซึ่ง​แห่ง​หนึ่ง​อยู่​ใน​นิวเดลี

[ที่​มา​ของ​ภาพ​หน้า 18]

Portrait: Courtesy Roop Kishore Goyal