ข้ามไปยังเนื้อหา

ข้ามไปยังสารบัญ

เคล็ดลับห้าประการเพื่อจะหางานได้

เคล็ดลับห้าประการเพื่อจะหางานได้

เคล็ดลับ​ห้า​ประการ​เพื่อ​จะ​หา​งาน​ได้

คน​ประเภท​ไหน​ที่​มัก​จะ​ได้​งาน​ดี ๆ ทำ? คน​ที่​มี​คุณสมบัติ​มาก​ที่​สุด​จะ​ได้​งาน​เสมอ​ไป​ไหม? “เปล่า” ไบรอัน​ซึ่ง​เป็น​ที่​ปรึกษา​ด้าน​การ​จ้าง​งาน​กล่าว. “คน​ที่​หา​งาน​เก่ง​ที่​สุด​นั่น​แหละ​ที่​มัก​จะ​ได้​งาน.” คุณ​จะ​ทำ​อย่าง​ไร​เพื่อ​จะ​หา​งาน​ได้​เก่ง​ขึ้น? ให้​เรา​มา​พิจารณา​เคล็ดลับ​ห้า​ประการ​ใน​เรื่อง​นี้.

มี​ระเบียบ

ถ้า​คุณ​เคย​มี​งาน​ที่​ดี​ทำ​แต่​ต้อง​มา​ตก​งาน​หรือ​ว่าง​งาน​มา​ระยะ​หนึ่ง​แล้ว คุณ​ก็​อาจ​จะ​ท้อ​ใจ​ได้​ง่าย. คา​ทา​รีนา​ซึ่ง​เป็น​ช่าง​ตัด​เสื้อ​ใน​เยอรมนี​กล่าว​ว่า “ตอน​ที่​ดิฉัน​เพิ่ง​ตก​งาน​ใหม่ ๆ ดิฉัน​คิด​ใน​แง่​ดี​ว่า​เดี๋ยว​ก็​คง​จะ​หา​งาน​ใหม่​ได้ แต่​พอ​เวลา​หลาย​เดือน​ผ่าน​ไป​อย่าง​เชื่อง​ช้า​และ​ดิฉัน​ยัง​หา​งาน​ทำ​ไม่​ได้ ดิฉัน​ก็​เริ่ม​รู้สึก​กลุ้ม​ใจ. ใน​ที่​สุด ดิฉัน​รู้สึก​ว่า​แม้​แต่​จะ​พูด​เรื่อง​นี้​กับ​เพื่อน ๆ ก็​ลำบาก​ใจ.”

คุณ​จะ​แก้ไข​ความ​รู้สึก​สิ้น​หวัง​ได้​อย่าง​ไร? หนังสือ​หา​งาน​ได้​ภาย​ใน 30 วัน​หรือ​เร็ว​กว่า​นั้น (ภาษา​อังกฤษ) แนะ​นำ​ไว้​ว่า “นับ​ว่า​สำคัญ​มาก​ที่​คุณ​จะ​ต้อง​กำหนด ‘วัน​ทำ​งาน’ ของ​คุณ​เอง​ขึ้น​มา เพื่อ​ว่า​พอ​คุณ​เริ่ม​วัน​ใหม่ คุณ​ก็​รู้​ว่า​จะ​ต้อง​ทำ​อะไร.” ผู้​เขียน​แนะ​นำ​ให้​คุณ “ตั้ง​เป้าหมาย​ของ​แต่​ละ​วัน​และ​จด​บันทึก​ว่า​คุณ​ทำ​อะไร​ไป​บ้าง.” นอก​จาก​นั้น ผู้​เขียน​ยัง​บอก​ว่า “ทุก ๆ เช้า คุณ​ควร​จะ​เริ่ม​ด้วย​การ​แต่ง​ตัว​เหมือน​กับ​จะ​ไป​ทำ​งาน.” เพราะ​อะไร? “การ​แต่ง​ตัว​อย่าง​เหมาะ​สม​จะ​ทำ​ให้​คุณ​มี​ความ​มั่น​ใจ​เพิ่ม​ขึ้น แม้​แต่​ตอน​ที่​พูด​โทรศัพท์.”

ใช่​แล้ว คุณ​ต้อง​ถือ​ว่า​การ​หา​งาน​เป็น​งาน​ของ​คุณ ไม่​ว่า​จะ​ต้อง​ใช้​เวลา​นาน​สัก​แค่​ไหน. คา​ทา​รีนา ซึ่ง​เรา​กล่าว​ถึง​ก่อน​หน้า​นี้​ก็​ใช้​วิธี​ที่​จริงจัง​แบบ​นี้. เธอ​บอก​ว่า “ดิฉัน​ไป​ที่​สำนักงาน​จัด​หา​งาน​และ​ขอ​ที่​อยู่​กับ​หมาย​เลข​โทรศัพท์​ของ​ผู้​ที่​อาจ​ต้องการ​จ้าง​คน​งาน​เพิ่ม. ดิฉัน​เขียน​จดหมาย​ไป​หา​บริษัท​ที่​ลง​โฆษณา​ใน​หนังสือ​พิมพ์. ดิฉัน​ดู​สมุด​โทรศัพท์​อย่าง​ละเอียด​และ​เขียน​ราย​ชื่อ​บริษัท​ที่​อาจ​มี​ตำแหน่ง​งาน​ว่าง​แต่​ยัง​ไม่​ได้​ลง​โฆษณา แล้ว​ก็​ติด​ต่อ​บริษัท​เหล่า​นั้น. ดิฉัน​ยัง​เขียน​ประวัติ​ย่อ (résumé) ของ​ตัว​เอง​และ​ส่ง​ไป​ยัง​บริษัท​เหล่า​นั้น​ด้วย.” หลัง​จาก​หา​งาน​อย่าง​เป็น​ระบบ คาทารีนา​ก็​หา​งาน​ที่​เธอ​ต้องการ​ได้.

เข้า​ถึง​ตลาด​งาน​ที่​ไม่​มี​การ​โฆษณา

ชาว​ประมง​ที่​มี​อวน​ใหญ่​ที่​สุด​คง​จะ​จับ​ปลา​ได้​มาก​ที่​สุด. ใน​ทำนอง​เดียว​กัน ถ้า​คุณ​รู้​วิธี​ทำ “อวน” ของ​คุณ​ให้​ใหญ่​ขึ้น โอกาส​ที่​คุณ​จะ​ได้​งาน​ทำ​ก็​มี​มาก​ขึ้น​ด้วย. ถ้า​คุณ​หา​งาน​โดย​เพียง​แค่​ดู​โฆษณา​ใน​หนังสือ​พิมพ์​หรือ​ใน​อินเทอร์เน็ต งาน​ส่วน​ใหญ่​ที่​มี​อยู่​คง​จะ​หลุด​ไป​จาก​อวน​ของ​คุณ. งาน​ดี ๆ หลาย​ตำแหน่ง​ไม่​เคย​มี​การ​ลง​โฆษณา. คุณ​จะ​เข้า​ไป​ถึง​ตลาด​งาน​ที่​ไม่​มี​การ​โฆษณา​นี้​ได้​อย่าง​ไร?

นอก​จาก​การ​เขียน​จดหมาย​ไป​หา​ผู้​ลง​โฆษณา​แล้ว คุณ​ต้อง​ทำ​เหมือน​คาทารีนา คือ​จัด​เวลา​ทุก ๆ สัปดาห์​ไว้​เพื่อ​ไป​ติด​ต่อ​กับ​บริษัท​ต่าง ๆ ที่​คุณ​คิด​ว่า​อาจ​จะ​มี​งาน​ที่​คุณ​ทำ​ได้. อย่า​รอ​ให้​บริษัท​เหล่า​นั้น​ลง​โฆษณา. ถ้า​ผู้​จัด​การ​ของ​บริษัท​เหล่า​นี้​บอก​ว่า​ไม่​มี​ตำแหน่ง​ว่าง ให้​ถาม​เขา​ว่า​มี​ที่​อื่น​ไหม​ที่​อาจ​มี และ​คุณ​ควร​จะ​ติด​ต่อ​กับ​ใคร​โดย​ตรง. ถ้า​เขา​แนะ​นำ​มา ก็​ให้​ติด​ต่อ​ขอ​นัด​กับ​ที่​นั่น แล้ว​บอก​ด้วย​ว่า​ใคร​แนะ​นำ​ให้​คุณ​มา.

โทนี ซึ่ง​กล่าว​ถึง​ใน​บทความ​ก่อน หา​งาน​ได้​ด้วย​วิธี​นี้. เขา​อธิบาย​ว่า “ผม​เริ่ม​ติด​ต่อ​กับ​บริษัท​ต่าง ๆ แม้​ว่า​พวก​เขา​จะ​ไม่​ได้​ลง​โฆษณา. บริษัท​แห่ง​หนึ่ง​บอก​ว่า​ยัง​ไม่​มี​ตำแหน่ง​ว่าง แต่​อีก​สาม​เดือน​ให้​ผม​ลอง​ติด​ต่อ​ไป​ใหม่. ผม​ทำ​ตาม​แล้ว​ก็​ได้​งาน.”

พริมโรส คุณ​แม่​ไร้​คู่​ใน​แอฟริกา​ใต้ ก็​ทำ​แบบ​เดียว​กัน. เธอ​บอก​ว่า “ตอน​ที่​ดิฉัน​เข้า​อบรม​หลัก​สูตร​ปฐม​พยาบาล ดิฉัน​เห็น​ที่​ดิน​ฝั่ง​ตรง​ข้าม​ถนน​กำลัง​มี​การ​ก่อ​สร้าง​ตึก​ใหม่ และ​ทราบ​ว่า​เขา​กำลัง​สร้าง​บ้าน​พัก​คน​ชรา. ดิฉัน​พยายาม​ขอ​นัด​หมาย​กับ​ผู้​จัด​การ​บ้าน​พัก​คน​ชรา​นั้น. ใน​ที่​สุด​เขา​ก็​บอก​ดิฉัน​ว่า​ใน​ขณะ​นั้น​ยัง​ไม่​มี​ตำแหน่ง​งาน​ว่าง. อย่าง​ไร​ก็​ตาม ดิฉัน​ติด​ต่อ​กลับ​ไป​เรื่อย ๆ เพื่อ​ดู​ว่า​ดิฉัน​จะ​ทำ​งาน​ที่​นั่น​ได้​ไหม แม้​ว่า​จะ​เป็น​แค่​อาสา​สมัคร​ก็​ตาม. ใน​ที่​สุด ดิฉัน​ก็​ได้​เป็น​ลูกจ้าง​ชั่ว​คราว. ดิฉัน​เต็ม​ใจ​ทำ​งาน​ทุก​อย่าง​ที่​มี​การ​มอบหมาย​ให้​ดิฉัน​ทำ. ผล​ก็​คือ ดิฉัน​มี​คุณสมบัติ​มาก​ขึ้น​และ​ได้​งาน​ประจำ​ที่​บ้าน​พัก​แห่ง​นั้น.”

นอก​จาก​นั้น คุณ​อาจ​ขอ​เพื่อน, คน​ใน​ครอบครัว, และ​คน​อื่น ๆ ให้​ช่วย​คุณ​หา​งาน​ใน​ตลาด​งาน​ที่​ไม่​ได้​ลง​โฆษณา. ยาโคบุส เจ้าหน้าที่​ดู​แล​ด้าน​ความ​ปลอด​ภัย​ใน​การ​ปฏิบัติ​งาน​ซึ่ง​อยู่​ที่​แอฟริกา​ใต้ หา​งาน​ได้​ด้วย​วิธี​นี้. เขา​เล่า​ว่า “เมื่อ​บริษัท​ที่​ผม​ทำ​งาน​อยู่​ปิด​กิจการ ผม​ก็​บอก​เพื่อน ๆ และ​คน​ใน​ครอบครัว​ให้​รู้​ว่า​ผม​กำลัง​หา​งาน. วัน​หนึ่ง​เพื่อน​ผม​บังเอิญ​ได้​ยิน​ผู้​หญิง​สอง​คน​คุย​กัน​ตอน​ที่​เข้า​แถว​ใน​ซูเปอร์มาร์เกต. ผู้​หญิง​คน​หนึ่ง​ถาม​อีก​คน​ว่า​รู้​จัก​ใคร​ที่​กำลัง​หา​งาน​ทำ​ไหม. เพื่อน​ของ​ผม​เข้า​ไป​ขัด​จังหวะ​และ​บอก​เรื่อง​ของ​ผม​ให้​ผู้​หญิง​คน​นั้น​ฟัง. มี​การ​นัด​หมาย​กัน​และ​ผม​ก็​ได้​งาน.”

พร้อม​ที่​จะ​ปรับ​ตัว

เพื่อ​จะ​มี​โอกาส​ได้​งาน​เพิ่ม​ขึ้น คุณ​ต้อง​พร้อม​ที่​จะ​ปรับ​ตัว. ไคเม ซึ่ง​เรา​กล่าว​ถึง​ใน​บทความ​ที่​แล้ว ให้​ข้อ​สังเกต​ว่า “คง​เป็น​เรื่อง​ยาก​ที่​คุณ​จะ​ได้​งาน​ตาม​ที่​คุณ​หวัง​ไว้​ทุก​อย่าง. คุณ​ต้อง​เรียน​ที่​จะ​พอ​ใจ​กับ​งาน​นั้น แม้​งาน​นั้น​จะ​ไม่​ได้​เป็น​อย่าง​ที่​คุณ​คาด​หวัง​ไว้.”

การ​ปรับ​ตัว​อาจ​หมาย​ถึง​การ​เลิก​รังเกียจ​งาน​บาง​ชนิด. ขอ​พิจารณา​กรณี​ของ​เอริกา ซึ่ง​อยู่​ใน​เม็กซิโก. เธอ​เคย​รับ​การ​ฝึก​อบรม​เป็น​เลขาธิการ​ฝ่าย​บริหาร แต่​ใน​ตอน​แรก​เธอ​หา​งาน​อย่าง​ที่​เธอ​ชอบ​ไม่​ได้. เธอ​บอก​ว่า “ดิฉัน​เรียน​รู้​ที่​จะ​ยอม​ทำ​งาน​ใด ๆ ก็​ตาม​ที่​พอ​ทำ​ได้. ดิฉัน​ทำ​งาน​เป็น​ผู้​ช่วย​พนักงาน​ขาย​อยู่​พัก​หนึ่ง. ดิฉัน​ยัง​เคย​ขาย​ทาโก (อาหาร​ชนิด​หนึ่ง) ตาม​ข้าง​ถนน​และ​ทำ​งาน​ทำ​ความ​สะอาด​บ้าน. ใน​ที่​สุด ดิฉัน​ก็​สามารถ​หา​งาน​ที่​ดิฉัน​ถนัด​ได้.”

เมื่อ​แมรี ซึ่ง​เรา​กล่าว​ถึง​ใน​บทความ​ที่​แล้ว ถูก​ปลด​ออก​จาก​การ​เป็น​เสมียน เธอ​ก็​เห็น​ว่า​เธอ​จำเป็น​ต้อง​ปรับ​ตัว​ด้วย. เธอ​อธิบาย​ว่า “ดิฉัน​ไม่​ได้​คิด​ว่า​จะ​ต้อง​หา​งาน​แบบ​เดิม​ให้​ได้. ดิฉัน​เสาะ​หา​งาน​ทุก​อย่าง​ที่​ดิฉัน​ได้​ยิน​ว่า​ว่าง​อยู่ แม้​ว่า​จะ​เป็น​งาน​ที่​บาง​คน​อาจ​ดูถูก. ผล​ก็​คือ ดิฉัน​สามารถ​หา​งาน​เพื่อ​เลี้ยง​ดู​ลูก​ทั้ง​สอง​ของ​ดิฉัน​ได้.”

เขียน​ประวัติ​ย่อ​อย่าง​ดี

สำหรับ​คน​ที่​กำลัง​สมัคร​งาน​ใน​ตำแหน่ง​ผู้​บริหาร การ​เขียน​ประวัติ​ย่อ (résumé) ที่​มี​ลักษณะ​เป็น​มือ​อาชีพ​และ​ส่ง​ไป​ยัง​บริษัท​ต่าง ๆ นับ​ว่า​จำเป็น​มาก. แต่​ไม่​ว่า​คุณ​จะ​หา​งาน​ประเภท​ใด ประวัติ​ย่อ​ที่​เตรียม​อย่าง​ดี​ก็​อาจ​มี​ประโยชน์​มาก. ไนเจล​ซึ่ง​เป็น​ที่​ปรึกษา​ด้าน​การ​จ้าง​งาน​ใน​ออสเตรเลีย​กล่าว​ว่า “ประวัติ​ย่อ​ไม่​เพียง​บอก​ผู้​ที่​อาจ​เป็น​นาย​จ้าง​ของ​คุณ​ว่า​คุณ​คือ​ใคร แต่​ยัง​บอก​ด้วย​ว่า​คุณ​เคย​ทำ​อะไร​สำเร็จ​มา​แล้ว​บ้าง และ​ทำไม​พวก​เขา​จึง​ต้องการ​คุณ.”

คุณ​จะ​เขียน​ประวัติ​ย่อ​อย่าง​ไร? ให้​บอก​ชื่อ​นามสกุล, ที่​อยู่, หมาย​เลข​โทรศัพท์, และ​ที่​อยู่​อีเมล. บอก​จุด​ประสงค์​ของ​คุณ. บอก​วุฒิ​การ​ศึกษา​ของ​คุณ เน้น​การ​ฝึก​อบรม​และ​ความ​ชำนาญ​ซึ่ง​เกี่ยว​ข้อง​กับ​สาย​งาน​ที่​คุณ​กำลัง​ต้องการ. บอก​ราย​ละเอียด​เกี่ยว​กับ​ประสบการณ์​ใน​การ​ทำ​งาน​ที่​คุณ​เคย​ทำ​มา​แล้ว. อย่า​เพียง​แต่​บอก​ว่า​คุณ​เคย​ทำ​งาน​อะไร​เท่า​นั้น แต่​ให้​ยก​ตัว​อย่าง​ว่า​คุณ​ประสบ​ความ​สำเร็จ​อะไร​มา​บ้าง​และ​คุณ​ทำ​ประโยชน์​อะไร​ให้​กับ​นาย​จ้าง​คน​ก่อน​ของ​คุณ​บ้าง. นอก​จาก​นั้น ให้​เน้น​ว่า​งาน​ที่​คุณ​เคย​ทำ​มี​แง่​มุม​อะไร​ที่​ทำ​ให้​คุณ​มี​คุณสมบัติ​จะ​ทำ​งาน​ใน​ตำแหน่ง​ที่​คุณ​ต้องการ. ให้​รวม​เอา​ข้อมูล​ส่วน​ตัว​เช่น คุณลักษณะ, ความ​สนใจ, และ​งาน​อดิเรก​ของ​คุณ. เนื่อง​จาก​บริษัท​แต่​ละ​แห่ง​มี​ความ​ต้องการ​ไม่​เหมือน​กัน คุณ​อาจ​ต้อง​ปรับ​ประวัติ​ย่อ​สำหรับ​การ​สมัคร​งาน​แต่​ละ​ครั้ง.

คุณ​ควร​ทำ​ประวัติ​ย่อ​ไหม​ถ้า​คุณ​กำลัง​สมัคร​งาน​เป็น​ครั้ง​แรก? ใช่​แล้ว! คุณ​อาจ​เคย​ทำ​อะไร​หลาย​อย่าง​ที่​จัด​ได้​ว่า​เป็น​ประสบการณ์​ใน​การ​ทำ​งาน. เพื่อ​เป็น​ตัว​อย่าง คุณ​มี​งาน​อดิเรก​ไหม อย่าง​เช่น งาน​ช่าง​ไม้​หรือ​อาจ​เป็น​การ​ซ่อม​รถ​เก่า? คุณ​อาจ​เขียน​บอก​เรื่อง​เหล่า​นี้​ได้. คุณ​เคย​ทำ​งาน​อาสา​สมัคร​ใด ๆ ไหม? ให้​บอก​ว่า​คุณ​เคย​ทำ​งาน​อาสา​สมัคร​ประเภท​ใด​บ้าง​และ​คุณ​มี​ผล​งาน​อะไร​บ้าง.—ดู​กรอบ “ตัว​อย่าง​ประวัติ​ย่อ​ของ​ผู้​ที่​ไม่​มี​ประสบการณ์​ใน​การ​ทำ​งาน.”

ถ้า​ผู้​ที่​อาจ​เป็น​นาย​จ้าง​ไม่​ได้​เรียก​คุณ​ไป​สัมภาษณ์ ก็​ให้​คุณ​ฝาก​บัตร​เล็ก ๆ ไว้—ขนาด​ที่​เหมาะ​คือ​กว้าง 10 เซนติเมตร​ยาว 15 เซนติเมตร—โดย​เขียน​ชื่อ, ที่​อยู่, หมาย​เลข​โทรศัพท์, และ​ที่​อยู่​อีเมล รวม​ทั้ง​บอก​ความ​ชำนาญ​และ​สิ่ง​ที่​คุณ​เคย​ทำ​สำเร็จ​มา​แล้ว​อย่าง​ย่อ ๆ. ถ้า​เหมาะ​สม คุณ​อาจ​ติด​รูป​ถ่าย​ของ​คุณ​หรือ​รูป​ที่​คุณ​ถ่าย​กับ​ครอบครัว​ไว้​ข้าง​หลัง​บัตร​นั้น​ก็​ได้. แจก​บัตร​แบบ​นี้​แก่​ทุก​คน​ที่​อาจ​ช่วย​คุณ​หา​งาน ขอ​ให้​พวก​เขา​เอา​บัตร​นี้​ไป​ให้​คน​ที่​พวก​เขา​รู้​จัก​ซึ่ง​มี​งาน​ชนิด​ที่​คุณ​กำลัง​หา​อยู่. เมื่อ​ผู้​ที่​อาจ​เป็น​นาย​จ้าง​เห็น​บัตร​นี้​แล้ว เขา​อาจ​เรียก​คุณ​เข้า​ไป​สัมภาษณ์​ซึ่ง​ทำ​ให้​คุณ​ได้​งาน​ใน​ที่​สุด!

การ​ทำ​ประวัติ​ย่อ​จะ​ช่วย​ให้​คุณ​รู้สึก​ว่า​สามารถ​ควบคุม​สถานการณ์​ได้​ใน​ระดับ​หนึ่ง​ขณะ​ที่​คุณ​หา​งาน​ทำ. ไนเจล ซึ่ง​กล่าว​ถึง​ข้าง​ต้น กล่าว​ว่า “การ​เขียน​ประวัติ​ย่อ​ช่วย​ให้​คุณ​จัด​ระเบียบ​ความ​คิด​และ​เป้าหมาย​ของ​ตัว​เอง. การ​ทำ​อย่าง​นี้​ยัง​ช่วย​ให้​คุณ​มี​ความ​มั่น​ใจ​มาก​ขึ้น โดย​ช่วย​ให้​คุณ​พร้อม​ที่​จะ​ตอบ​คำ​ถาม​ที่​อาจ​มี​การ​ถาม​คุณ​ระหว่าง​การ​สัมภาษณ์.”—ดู​กรอบ​หน้า 7.

เตรียม​ตัว​ให้​ดี​สำหรับ​การ​สัมภาษณ์

คุณ​ต้อง​ทำ​อะไร​บ้าง​เพื่อ​เตรียม​ตัว​สำหรับ​การ​สัมภาษณ์? คุณ​อาจ​ต้องการ​ค้นคว้า​เกี่ยว​กับ​บริษัท​ที่​คุณ​อยาก​จะ​เข้า​ไป​ทำ​งาน. ยิ่ง​คุณ​รู้​เกี่ยว​กับ​บริษัท​นั้น​มาก​เท่า​ใด คุณ​ก็​ยิ่ง​จะ​สร้าง​ความ​ประทับใจ​ระหว่าง​การ​สัมภาษณ์​ได้​มาก​ขึ้น. นอก​จาก​นี้​การ​หา​ข้อมูล​จะ​ช่วย​ให้​คุณ​ตัดสิน​ใจ​ได้​ว่า​บริษัท​นั้น​มี​งาน​ประเภท​ที่​คุณ​ต้องการ​หรือ​เป็น​บริษัท​ที่​คุณ​อยาก​จะ​ร่วม​งาน​ด้วย​หรือ​ไม่.

ต่อ​จาก​นั้น ให้​คิด​ว่า​คุณ​จะ​ใส่​ชุด​อะไร​เมื่อ​มี​การ​เรียก​คุณ​ไป​สัมภาษณ์​งาน. ถ้า​งาน​ที่​คุณ​ต้องการ​เป็น​งาน​ใช้​แรง​กาย ก็​ให้​สวม​ใส่​เสื้อ​ผ้า​ที่​เหมาะ​สม​และ​ดู​สะอาด​เรียบร้อย. การ​แต่ง​กาย​อย่าง​เรียบร้อย​ทำ​ให้​ผู้​ที่​อาจ​เป็น​นาย​จ้าง​รู้​ว่า​คุณ​ภูมิ​ใจ​ใน​ตัว​เอง​และ​คง​จะ​ภูมิ​ใจ​ใน​งาน​ที่​คุณ​ทำ. ถ้า​คุณ​กำลัง​หา​งาน​ใน​สำนักงาน ก็​ให้​เลือก​ชุด​สำหรับ​ทำ​งาน​ใน​สำนักงาน​ที่​ถือ​ว่า​เหมาะ​กับ​ท้องถิ่น​ที่​คุณ​อยู่. ไนเจล​กล่าว​ว่า “ควร​เลือก​เสื้อ​ผ้า​แต่​เนิ่น ๆ ก่อน​ถึง​วัน​สัมภาษณ์ เพื่อ​คุณ​จะ​ไม่​ต้อง​รู้สึก​รีบ​เร่ง​และ​ทำ​ให้​มี​ความ​เครียด​เพิ่ม​ขึ้น​โดย​ไม่​จำเป็น​ก่อน​ที่​จะ​มี​การ​สัมภาษณ์.”

ไนเจล​ยัง​แนะ​นำ​ให้​ไป​ถึง​สถาน​ที่​สัมภาษณ์​ก่อน​เวลา​ประมาณ 15 นาที. แน่นอน การ​ไป​ถึง​ก่อน​เวลา​มาก​เกิน​ไป​ก็​ไม่​ดี. แต่​การ​ไป​สาย​อาจ​มี​ผล​เสีย​อย่าง​มาก. ผู้​เชี่ยวชาญ​กล่าว​ว่า สาม​วินาที​แรก​ของ​การ​สัมภาษณ์​เป็น​ช่วง​ที่​สำคัญ​จริง ๆ. ใน​ช่วง​เวลา​สั้น ๆ นั้น ผู้​สัมภาษณ์​จะ​ประเมิน​การ​แต่ง​กาย​และ​กิริยา​ท่า​ทาง​ของ​คุณ​ซึ่ง​จะ​มี​อิทธิพล​ต่อ​ความ​คิด​ของ​เขา​เกี่ยว​กับ​ตัว​คุณ​เป็น​อย่าง​มาก. ถ้า​คุณ​ไป​สาย คุณ​จะ​สร้าง​ความ​รู้สึก​ใน​แง่​ลบ​เกี่ยว​กับ​ตัว​คุณ​มาก​ที​เดียว. จง​จำ​ไว้​ว่า ความ​ประทับใจ​ครั้ง​แรก​นั้น​สำคัญ​ที​เดียว และ​คุณ​ไม่​มี​โอกาส​จะ​แก้​ตัว​ใหม่​ได้.

จำ​ไว้​ด้วย​ว่า ผู้​ที่​สัมภาษณ์​คุณ​ไม่​ใช่​ศัตรู. เขา​เอง​ก็​คง​เคย​สมัคร​งาน​มา​แล้ว​เหมือน​กัน ดัง​นั้น เขา​รู้​ว่า​คุณ​รู้สึก​อย่าง​ไร. ที่​จริง เขา​อาจ​ประหม่า​ด้วย เนื่อง​จาก​เขา​อาจ​ไม่​ได้​รับ​หรือ​แทบ​ไม่​ได้​รับ​การ​ฝึก​อบรม​ว่า​จะ​ทำ​การ​สัมภาษณ์​อย่าง​ไร. นอก​จาก​นั้น ถ้า​ผู้​สัมภาษณ์​เป็น​นาย​จ้าง เขา​เอง​ก็​เป็น​คน​ที่​ได้​รับ​ความ​เสียหาย​มาก​ถ้า​เขา​เลือก​คน​ผิด​มา​ทำ​งาน.

เพื่อ​จะ​เริ่ม​ต้น​อย่าง​ดี ให้​ยิ้ม​และ​จับ​มือ​ผู้​สัมภาษณ์​ให้​มั่น ถ้า​ใน​ประเทศ​ของ​คุณ​มี​ธรรมเนียม​จับ​มือ​ทักทาย​กัน. ใน​ระหว่าง​การ​สัมภาษณ์ ให้​จดจ่อ​กับ​เรื่อง​ที่​ว่า​นาย​จ้าง​ต้องการ​อะไร​จาก​คุณ และ​คุณ​จะ​ให้​อะไร​เขา​ได้​บ้าง. สำหรับ​สิ่ง​ที่​ไม่​ควร​ทำ​นั้น ไนเจล​กล่าว​ว่า “อย่า​นั่ง​หลุกหลิก​หรือ​นั่ง​หลัง​โกง เพราะ​ท่า​ทาง​ที่​สง่า​ผ่าเผย​ทำ​ให้​คน​อื่น​รู้​ว่า​คุณ​มี​ความ​มั่น​ใจ​ใน​ตัว​เอง. อย่า​พูด​แบบ​เป็น​กัน​เอง​เกิน​ไป​หรือ​พูด​มาก​เกิน​ไป และ​ต้อง​ไม่​ใช้​คำ​หยาบ​โดย​เด็ดขาด. นอก​จาก​นั้น อย่า​พูด​ใน​แง่​ลบ​เกี่ยว​กับ​นาย​จ้าง​เก่า​หรือ​เพื่อน​ร่วม​งาน​เก่า—ถ้า​คุณ​พูด​อย่าง​นั้น ผู้​สัมภาษณ์​จะ​รู้สึก​ว่า​คุณ​คง​จะ​มี​ทัศนะ​ใน​แง่​ลบ​ต่อ​งาน​ใหม่​ของ​คุณ​เช่น​กัน.”

ใน​เรื่อง​สิ่ง​ที่​ควร​ทำ​และ​พูด​ระหว่าง​การ​เข้า​สัมภาษณ์ ผู้​เชี่ยวชาญ​แนะ​นำ​ไว้​ดัง​นี้: ให้​สบ​ตา​ผู้​สัมภาษณ์, ออก​ท่า​ทาง​อย่าง​เป็น​ธรรมชาติ​เมื่อ​คุณ​พูด, และ​พูด​ชัด ๆ. เมื่อ​ตอบ​คำ​ถาม จง​ตอบ​แบบ​รวบรัด​และ​ซื่อ​ตรง และ​ให้​ถาม​เรื่อง​เกี่ยว​กับ​บริษัท​และ​งาน​ที่​คุณ​อาจ​จะ​ได้​ทำ. เมื่อ​การ​สัมภาษณ์​จบ​แล้ว ถ้า​คุณ​ยัง​ต้องการ​งาน​นั้น​อยู่ ควร​ขอ​ให้​เขา​รับ​คุณ​เข้า​ทำ​งาน​นั้น. การ​ทำ​อย่าง​นั้น​จะ​แสดง​ให้​เห็น​ว่า​คุณ​อยาก​ได้​งาน​นั้น​จริง ๆ.

โดย​การ​ทำ​ตาม​คำ​แนะ​นำ​ที่​กล่าว​มา​คร่าว ๆ ข้าง​ต้น คุณ​อาจ​หา​งาน​ได้​ใน​ไม่​ช้า. ถ้า​คุณ​หา​งาน​ได้​แล้ว คุณ​จะ​ทำ​อย่าง​ไร​ไม่​ให้​ตก​งาน?

[กรอบ/ภาพ​หน้า 6]

ตัว​อย่าง​ประวัติ​ย่อ​ของ​ผู้​ที่​ไม่​มี​ประสบการณ์​ใน​การ​ทำ​งาน

ชื่อ​ของ​คุณ:

ที่​อยู่​ของ​คุณ:

หมาย​เลข​โทรศัพท์​และ​ที่​อยู่​อีเมล​ของ​คุณ:

จุด​ประสงค์: เพื่อ​สมัคร​เข้า​ทำ​งาน​ใน​ตำแหน่ง​เริ่ม​ต้น​ของ​ฝ่าย​การ​ผลิต.

การ​ศึกษา: ปวช. แผนก​ช่าง​ไฟฟ้า จาก​วิทยาลัย​อา​ชีวะ ปี 2004.

วิชา: ช่าง​ไฟฟ้า, ภาษา​อังกฤษ, คณิตศาสตร์, คอมพิวเตอร์, ช่าง​ไม้.

ความ​สามารถ​และ​ความ​ถนัด: ถนัด​งาน​ช่าง. เคย​รับจ้าง​เดิน​สาย​ไฟ​ตาม​บ้าน. ซ่อม​บำรุง​รถยนต์​ของ​ครอบครัว​เป็น​ประจำ. เคย​ทำ​โต๊ะ​และ​เก้าอี้​ไม้​เพื่อ​ใช้​ใน​บ้าน. ถนัด​คำนวณ​เลข​เมื่อ​ทำ​เฟอร์นิเจอร์. เคย​ปู​กระเบื้อง​หลังคา​ใน​โครงการ​ก่อ​สร้าง​ของ​อาสา​สมัคร. ใช้​คอมพิวเตอร์​ได้​และ​ชอบ​เรียน​โปรแกรม​ใหม่ ๆ.

ข้อมูล​ส่วน​ตัว: เป็น​คน​ไว้​ใจ​ได้—ขาด​เรียน​แค่ 2 วัน​เมื่อ​เรียน​ปี​สุด​ท้าย. ซื่อ​สัตย์—เคย​นำ​กระเป๋า​สตางค์​ที่​เก็บ​ได้​ไป​คืน​เจ้าของ. มี​น้ำใจ—ช่วย​งาน​อาสา​สมัคร​ใน​ชุมชน​เป็น​ประจำ และ​ชอบ​ช่วยเหลือ​ผู้​สูง​อายุ. เป็น​นัก​กีฬา—ชอบ​เล่น​บาสเกตบอล​มาก. งาน​อดิเรก—ชอบ​ซ่อม​เครื่อง​ใช้​ไฟฟ้า, ซ่อม​รถ​และ​ทำ​งาน​ช่าง​ไม้.

บุคคล​ที่​รับรอง​ได้: มี​ชื่อ​และ​ที่​อยู่​ที่​ติด​ต่อ​ได้​หาก​ต้องการ. *

[เชิงอรรถ]

^ วรรค 41 บุคคล​ที่​รับรอง​ได้​อาจ​เป็น​คุณ​ครู​ที่​โรง​เรียน​ซึ่ง​รู้​จัก​คุณ​ดี​หรือ​คน​ที่​ทำ​ธุรกิจ​ซึ่ง​เป็น​เพื่อน​กับ​คน​ใน​ครอบครัว​คุณ. ถ้า​คุณ​บอก​ว่า​คุณ​พร้อม​จะ​ให้​ชื่อ​และ​ที่​อยู่​ของ​บุคคล​เหล่า​นี้​หาก​ผู้​สัมภาษณ์​ต้องการ คุณ​ก็​จะ​รู้​ล่วง​หน้า​ได้​ว่า​เขา​เริ่ม​สนใจ​จะ​จ้าง​คุณ​หรือ​ไม่. อย่า​ลืม​ขอ​อนุญาต​ก่อน​ที่​คุณ​จะ​อ้าง​ถึง​ใคร​คน​ใด​คน​หนึ่ง.

[กรอบ/ภาพ​หน้า 7]

คำ​ถาม​ที่​อาจ​มี​การ​ถาม​ระหว่าง​การ​สัมภาษณ์

❑ ทำไม​คุณ​สมัคร​ทำ​งาน​ใน​ตำแหน่ง​นี้?

❑ ทำไม​คุณ​ต้องการ​มา​ทำ​งาน​กับ​บริษัท​นี้?

❑ คุณ​รู้​อะไร​บ้าง​เกี่ยว​กับ​งาน/บริษัท/ธุรกิจ​นี้?

❑ คุณ​เคย​ทำ​งาน​ประเภท​นี้​มา​ก่อน​ไหม?

❑ คุณ​ใช้​เครื่องจักร​ชนิด​ใด​ได้​บ้าง?

❑ คุณ​มี​ประสบการณ์​อะไร​บ้าง​เกี่ยว​กับ​งาน​ด้าน​นี้?

❑ คุณ​มี​ความ​สามารถ​หรือ​ทักษะ​อะไร​บ้าง​ที่​จะ​ใช้​กับ​งาน​นี้​ได้?

❑ ขอ​ช่วย​เล่า​ประวัติ​ของ​คุณ​ให้​ฟัง​หน่อย.

❑ ถ้า​จะ​ให้​บอก​ว่า​คุณ​เป็น​คน​อย่าง​ไร​โดย​ใช้​เพียง​ห้า​คำ คุณ​คิด​ว่า​คำ​ไหน​บ้าง​ที่​เหมาะ​กับ​ตัว​คุณ​ที่​สุด?

❑ คุณ​ทำ​งาน​ภาย​ใต้​ความ​กดดัน​ได้​ไหม?

❑ ทำไม​คุณ​ออก​จาก​ที่​ทำ​งาน​เก่า?

❑ ทำไม​คุณ​จึง​ว่าง​งาน​มา​นาน​ขนาด​นี้?

❑ นาย​จ้าง​คน​ก่อน​คิด​ว่า​คุณ​เป็น​คน​อย่าง​ไร?

❑ คุณ​ขาด​งาน​บ่อย​แค่​ไหน​ใน​งาน​ที่​คุณ​ทำ​ล่า​สุด?

❑ คุณ​วาง​แผน​จะ​ทำ​อะไร​ต่อ​ไป​ใน​อนาคต?

❑ คุณ​จะ​เริ่ม​งาน​ได้​เมื่อ​ไร?

❑ คุณสมบัติ​ที่​ดี​ที่​สุด​ของ​คุณ​คือ​อะไร?

[กรอบ/ภาพ​หน้า 9]

ควร​ใช้​บริการ​หา​งาน​ทาง​อินเทอร์เน็ต​ไหม?

เว็บไซต์​หา​งาน​ที่​ใหญ่​ที่​สุด​แห่ง​หนึ่ง​ใน​สหรัฐ​มี​ประวัติ​ย่อ 17 ล้าน​ฉบับ​ที่​ลง​ไว้​ให้​ผู้​ที่​ต้องการ​รับ​คน​งาน​เข้า​ไป​ดู​ได้ และ​มี​งาน 800,000 ตำแหน่ง​ที่​ให้​คน​ว่าง​งาน​พิจารณา. การ​สำรวจ​บ่ง​ชี้​ว่า ใน​บาง​ประเทศ​มี​คน​ถึง 96 เปอร์เซ็นต์​หา​งาน​ทาง​อินเทอร์เน็ต. อย่าง​ไร​ก็​ตาม การ​วิจัย​ของ​นัก​วิชาการ​จาก 40 ประเทศ​แสดง​ว่า ใน​จำนวน​คน​หา​งาน​ทั้ง​หมด​นี้ มี​เพียง 5 เปอร์เซ็นต์​เท่า​นั้น​ที่​ได้​งาน​จาก​อินเทอร์เน็ต.

การ​ลง​ประวัติ​ย่อ​ส่วน​ตัว​ใน​อินเทอร์เน็ต​ทำ​ให้​มี​คน​จำนวน​มาก​ขึ้น​ซึ่ง​อาจ​กำลัง​ต้องการ​คน​งาน​รู้​ว่า​คุณ​กำลัง​หา​งาน แต่​ก็​มี​ข้อ​ควร​ระวัง. การ​ทำ​อย่าง​นี้​ยัง​ทำ​ให้​คุณ​มี​โอกาส​มาก​ขึ้น​ที่​จะ​กลาย​เป็น​เหยื่อ​ของ​พวก​นัก​ต้ม​ตุ๋น​ด้วย. เพื่อ​ป้องกัน​ไม่​ให้​ถูก​หลอก ผู้​เชี่ยวชาญ​จึง​ให้​คำ​แนะ​นำ​ต่อ​ไป​นี้:

1. อ่าน​นโยบาย​การ​รักษา​ความ​ลับ (privacy policy) ของ​เว็บไซต์​นั้น​ก่อน​ที่​คุณ​จะ​ส่ง​ประวัติ​ของ​คุณ​ไป. เว็บไซต์​บาง​แห่ง​ขาย​ข้อมูล​ส่วน​ตัว​ของ​คุณ​ให้​บริษัท​ที่​ขาย​สินค้า​หรือ​บริษัท​อื่น ๆ ที่​สนใจ.

2. ลง​ประวัติ​ส่วน​ตัว​ของ​คุณ​ใน​เว็บไซต์​หา​งาน​ที่​มี​ชื่อเสียง​ดี​เพียง​ไม่​กี่​แห่ง. เป็น​เรื่อง​สำคัญ​ด้วย​ที่​จะ​ป้องกัน​ข้อมูล​ส่วน​ตัว​ของ​คุณ​เพื่อ​ไม่​ให้​ถูก​นำ​ไป​ใช้​อย่าง​ผิด ๆ. ประวัติ​ย่อ​ของ​คุณ​ไม่​ควร​มี​ข้อมูล​ที่​พวก​ขโมย​สามารถ​ใช้​แอบ​อ้าง​เป็น​คุณ​ได้​และ​ทำ​ให้​คุณ​มี​ปัญหา​ทาง​การ​เงิน​ไม่​จบ​สิ้น. คน​ที่​เป็น​นาย​จ้าง​จริง ๆ ไม่​จำเป็น​ต้อง​รู้​หมาย​เลข​บัญชี​ธนาคาร, หมาย​เลข​บัตร​เครดิต, หรือ​วัน​เกิด​ที่​แน่นอน​ของ​คุณ.

3. ระวัง​การ​เสนอ​งาน​แบบ​คลุมเครือ. แพม ดิกซัน นัก​วิจัย​ของ​คณะ​กรรมการ​เก็บ​ความ​ลับ​ส่วน​บุคคล​แห่ง​โลก​กล่าว​ว่า ยิ่ง​คำ​โฆษณา​งาน​นั้น​พูด​กว้าง​มาก​เท่า​ไร ก็​มี​โอกาส​เป็น​การ​หลอก​ลวง​มาก​ขึ้น​เท่า​นั้น. เธอ​กล่าว​ว่า “คำ​พูด​คลุมเครือ​เช่น ‘เรา​มี​งาน​เป็น​พัน ๆ อัตรา’ หรือ ‘เรา​ทำ​งาน​ร่วม​กับ​บริษัท​ยักษ์​ใหญ่’ ก็​เป็น​สัญญาณ​อันตราย. การ​ขอ​ให้​ส่ง​ประวัติ​ย่อ​ของ​คุณ​ไป​ใหม่​ก็​อาจ​เป็น​สัญญาณ​อันตราย​ด้วย.”

จำ​ไว้​ว่า แม้​แต่​เว็บไซต์​หา​งาน​ที่​มี​ชื่อเสียง​ที่​สุด​ก็​ไม่​อาจ​ควบคุม​สิ่ง​ที่​จะ​เกิด​ขึ้น​กับ​ประวัติ​ย่อ​ของ​คุณ​ได้​หลัง​จาก​ผู้​ที่​อาจ​เป็น​นาย​จ้าง​หรือ​บริษัท​อื่น ๆ ที่​แสดง​ความ​สนใจ​ดาวน์​โหลด​ข้อมูล​นั้น​ไป​แล้ว.

[แผนภูมิ/ภาพ​หน้า 5]

ได้​งาน​ทำ

เตรียม​ตัว​ให้​ดี​สำหรับ​การ​สัมภาษณ์

เขียน​ประวัติ​ย่อ​อย่าง​ดี

พร้อม​ที่​จะ​ปรับ​ตัว

เข้า​ถึง​ตลาด​งาน​ที่​ไม่​มี​การ​โฆษณา

มี​ระเบียบ

[ภาพ​หน้า 7]

การ​หา​งาน​ให้​ได้​นั้น​ต้อง​อาศัย​ความ​เพียร​พยายาม​และ​การ​ค้นคว้า​เป็น​อย่าง​ดี

[ภาพ​หน้า 8]

ท่า​ทาง​ที่​เอา​การ​เอา​งาน​จะ​ช่วย​คุณ​ใน​การ​สัมภาษณ์