เชิญไปเที่ยวกับเราที่เกาะแมน
เชิญไปเที่ยวกับเราที่เกาะแมน
โดยผู้เขียนตื่นเถิด! ในบริเตน
คุณจะไปชมปลาฉลามแบสกิ้งได้ที่ไหน? ที่ที่เหมาะที่สุดแห่งหนึ่งก็คือรอบ ๆ เกาะแมนในทะเลไอริช. นักท่องเที่ยวลงเรือจากเกาะแมน ซึ่งอยู่ตรงกลางระหว่างอังกฤษ, ไอร์แลนด์, สกอตแลนด์, กับเวลส์ เพื่อไปชมปลาขนาดห้าตันที่มีนิสัยอ่อนโยนเหล่านี้กินแพลงก์ตอนซึ่งเป็นอาหารอย่างเดียวของมัน. ที่นี่เป็น “สถานที่ที่เหมาะที่สุดสำหรับการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์” บิลล์ เดล นักธรรมชาติวิทยาในเกาะนี้กล่าว.
เกาะแมนแห่งนี้มีลักษณะเป็นอย่างไร? เกาะนี้มีพื้นที่ 570 ตารางกิโลเมตร ประกอบไปด้วยหุบเขาอันเขียวขจี, ทุ่งหญ้ามัวร์สีน้ำตาล, ทะเลสาบและลำธารหลายแห่ง, อ่าวที่ดูงดงามตรึงใจ, หน้าผา, และชายฝั่งที่เป็นโขดหิน. เกาะนี้มีประชากรอาศัยอยู่ประมาณ 70,000 คน. เชิญเดินทางมากับเราเพื่อสำรวจสมบัติอันล้ำค่าบางอย่างของเกาะที่มีประวัติอันยาวนานแห่งนี้ซึ่งเป็นส่วนของหมู่เกาะบริติช.
สิ่งที่ดึงดูดนักท่องเที่ยว
นักท่องเที่ยวที่มาเยือนเกาะแมนมักจะมองหาแมวพันธุ์แมงซ์. แมวที่มีรูปร่างแปลก ๆ ชนิดนี้มีหน้าตาเหมือนแมวธรรมดา แต่ขาหลังของมันยาวกว่าขาหน้า ทำให้มันมีท่ายืนเหมือนกระต่าย. นอกจากนั้น แมวแมงซ์นี้ไม่มีหาง. แม้จะไม่รู้แน่ชัดว่าแมวนี้มีต้นกำเนิดมาจากไหน แต่มีการสันนิษฐานว่าหลายศตวรรษมาแล้ว กะลาสีบางคนได้นำลูกแมวมาจากเอเชีย ซึ่งเป็นถิ่นที่มีแมวพันธุ์ไร้หางอาศัยอยู่ ด้วยเหตุนี้จึงมีแมวพันธุ์นี้ในเกาะแมน.
การแข่งขันมอเตอร์ไซค์รายการทัวริสต์โทรฟีแห่งเกาะแมน ซึ่งจัดขึ้นในฤดูใบไม้ผลิ ก็เป็นที่สนใจสำหรับนักท่องเที่ยวด้วย. เส้นทางการแข่งขันก็คือถนนสายหลักที่มีระยะทางกว่า 60 กิโลเมตร. ในการแข่งขันครั้งแรกซึ่งจัดขึ้นเมื่อปี 1907 ความเร็วเฉลี่ยสูงสุดนั้นยังไม่ถึง 65 กิโลเมตรต่อชั่วโมง. ปัจจุบัน รถคันที่ชนะนั้นมีความเร็วเฉลี่ยสูงกว่า 190 กิโลเมตรต่อชั่วโมง. แน่นอน นี่เป็นกีฬาที่อันตราย และในช่วงหลายปีที่ผ่านมาก็มีนักแข่งหลายคนเสียชีวิต.
รถรางที่ใช้ม้าลากจูงเลียบทางเดินเท้าที่เมืองดักลาส เมืองหลวงของเกาะนี้ เป็นสิ่งที่ชวนให้นึกถึงสมัยก่อน เช่นเดียวกับทางรถจักรไอน้ำแห่งเกาะแมนระยะทาง 24 กิโลเมตร. ทางรถไฟนี้เป็นทางรถไฟรางแคบช่วงเดียวที่ยังหลงเหลืออยู่จากสมัยก่อนซึ่งเคยมีอยู่ทั่วไปบนเกาะ. เพียงเมื่อ 100 กว่าปีนี้เองที่บริษัทรถไฟฟ้าแมงซ์ได้เริ่มดำเนินกิจการ และรถรางของบริษัทนี้บางคันยังคงไต่ขึ้นไปสูงกว่า 600 เมตรสู่ยอดเขาสเนเฟลล์ ภูเขาที่สูงที่สุดของเกาะแมน.
กังหันน้ำเกรตแลกซีย์
ตะกั่ว, เงิน, และสังกะสีมีบทบาทในการพัฒนาเกาะนี้ด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเหมืองเกรตแลกซีย์. กังหันน้ำเกรตแลกซีย์ที่สูงตระหง่านเป็นอนุสรณ์ที่แสดงถึงความเชี่ยวชาญของวิศวกรยุควิกตอเรียซึ่งสร้างกังหันนี้ขึ้นเมื่อปี 1854 และทำให้นึกถึงผู้ออกแบบกังหันนี้ คือโรเบิร์ต เคสเมนต์ ลูกชายของช่างทำกังหันในเกาะนี้. กังหันนี้มีเส้นผ่าศูนย์กลางมากกว่า 20 เมตร และได้รับแรงขับจากน้ำที่ไหลลงมาตามแรงโน้มถ่วงจากที่เก็บกักน้ำซึ่งอยู่ด้านบนของหุบเขา. ขณะที่กังหันน้ำหมุนไปนาทีละสองรอบครึ่ง มันก็สูบน้ำ 950 ลิตรจากระดับความลึก 360 เมตรขึ้นมา และทำให้น้ำไม่ท่วมปล่องเหมือง. ข้อเหวี่ยงซึ่งติดอยู่กับแกนที่ยาวประมาณ 180 เมตรเป็นตัวขับเคลื่อนระบบสูบน้ำของเหมืองนี้. เฉพาะแค่เพลาของมันก็มีน้ำหนักถึงสิบตัน.
ด้านใต้ของโรงกังหันน้ำนี้มีเหล็กหล่อรูปสามขาแห่งเกาะแมนตั้งอยู่. เหล็กหล่อนี้มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 2 เมตร. สัญลักษณ์นี้ปัจจุบันเป็นเครื่องหมายของเกาะแมน. แต่มันมีที่มาและความหมายอย่างไร?
หลังปี 1246 รูปสามขาแห่งเกาะแมนปรากฏอยู่ในสัญลักษณ์ที่เป็นทางการของเกาะนี้บนตราประทับกฎบัตร. รูปสัญลักษณ์นี้ปรากฏบนแจกันของกรีกในศตวรรษที่หกก่อนสากลศักราช และมีความเกี่ยวพันกับกางเขนของกรีก. เป็นที่ยอมรับกันทั่วไปว่าสัญลักษณ์นี้เป็นเครื่องหมายถึงรัศมีของดวงอาทิตย์และเกี่ยวข้องกับการนมัสการดวงอาทิตย์. สัญลักษณ์นี้เดินทางไปถึงเกาะแมนได้โดยวิธีใด? สัญลักษณ์นี้อาจมาจากเมดิเตอร์เรเนียนเมื่อมีการค้าขายกับเกาะซิซิลี ซึ่งเป็นเกาะที่เคยใช้สัญลักษณ์นี้ด้วย หรือจากเหรียญกษาปณ์ของชาวนอร์ส ซึ่งก็คือชาวไวกิง. กษัตริย์แห่งเกาะแมนองค์ต่อ ๆ มาได้นำรูปสามขาที่สวมเกราะดังที่เห็นอยู่ในทุกวันนี้มาเป็นตราสัญลักษณ์.
ประวัติศาสตร์ที่มีทั้งรุ่งเรืองและตกต่ำ
ชาวโรมันพิชิตอังกฤษในปี ส.ศ. 43 และยึดครองอยู่ประมาณ 400 ปี แต่ดูเหมือนพวกเขาไม่สนใจเกาะแมน ที่จูเลียส ซีซาร์เรียกว่าโมนา. ชาวนอร์สบุกดินแดนนี้ในศตวรรษที่ 9 และอยู่ที่นี่จนถึงกลางศตวรรษที่ 13. นักสำรวจที่ไม่หวั่นกลัวจากสแกนดิเนเวียเหล่านี้มองว่าเกาะแมนเป็นที่ที่เหมาะกับการตั้งฐานสำหรับการค้าและสำหรับการบุกโจมตีดินแดนใกล้เคียง. ระหว่างช่วงนั้นก็มีการก่อตั้งสภาทินวอล์ด ซึ่งเป็นรัฐสภาของเกาะแมน. ถือกันว่าสภาแห่งนี้เป็นรัฐสภาที่เก่าแก่ที่สุดในโลกซึ่งดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง. *
ต่อมา สกอตแลนด์, เวลส์, ไอร์แลนด์, อังกฤษ, และนอร์เวย์ก็ผลัดเปลี่ยนกันเข้ามาครอบครองเกาะแมน. จากนั้น ในปี 1765 รัฐสภาของบริเตนได้ซื้อเกาะนี้. ปัจจุบันนี้ เกาะนี้มีรองผู้สำเร็จราชการทำหน้าที่เป็นผู้แทนพระองค์ของสมเด็จพระราชินีแห่งอังกฤษ. เกาะนี้เป็นดินแดนปกครองตนเองซึ่งอยู่ภายใต้การดูแลของราชวงศ์อังกฤษ แต่ก็มีอิสระในระดับหนึ่งฐานะเป็นศูนย์กลางทางการเงินนอกประเทศ. เกาะนี้ยังพิมพ์แสตมป์เองและมีเหรียญกษาปณ์และธนบัตรของตนเอง ซึ่งมีอัตราแลกเปลี่ยนเท่ากับเงินอังกฤษ.
ภาษาแมงซ์เกี่ยวข้องกับภาษาเคลติก
ภาษาโบราณของเกาะแมนคือภาษาแมงซ์ ซึ่งอยู่ในกลุ่มภาษาเคลติกในวงศ์ภาษาอินโด-ยุโรปซึ่งใหญ่มาก. ภาษาแมงซ์แตกออกมาจากภาษาไอริชเกลิก และเกี่ยวข้องกับภาษาสกอตติชเกลิก. เมื่อกว่า 100 ปีที่แล้วมีการพูดถึงภาษาแมงซ์ว่า “เป็นภาษาที่จะสาบสูญไปอย่างแน่นอน เหมือนกับภูเขาน้ำแข็งที่กำลังลอยไปทางใต้.” และก็เป็นเช่นนั้นจริง ๆ. คนที่พูดภาษาแมงซ์แต่กำเนิดคนสุดท้ายได้เสียชีวิตไปเมื่อปี 1974 ด้วยวัย 97 ปี แต่เนื่องจากภาษานี้เป็นมรดกของเกาะ ปัจจุบันจึงมีการสอนภาษาแมงซ์ในโรงเรียนอีก.
ไม่เหมือนกับภาษาไอริชเกลิกหรือสกอตติชเกลิก ภาษาแมงซ์มีแต่ภาษาพูดอย่างเดียวจนกระทั่งปี 1610. ในปี 1707 หนังสือหลักการและหน้าที่ของ
ศาสนาคริสต์ เป็นหนังสือเล่มแรกที่พิมพ์ในภาษาแมงซ์. หลังจากนั้น ก็มีหนังสือเล่มอื่น ๆ ตามมา.พอถึงปี 1763 มีการร้องขอให้ทำการแปลคัมภีร์ไบเบิลเป็นภาษาแมงซ์โดยด่วน เพราะในตอนนั้น สองในสามของประชากรบนเกาะพูดได้แต่ภาษาแมงซ์. เนื่องจากมีเครื่องมือน้อยและมีผู้เชี่ยวชาญไม่กี่คนที่จะทำงานนี้ได้ ฉบับแปลพระธรรมต่าง ๆ ของคัมภีร์ไบเบิลจึงค่อย ๆ ทยอยพิมพ์ออกมาตั้งแต่ปี 1748. คัมภีร์ไบเบิลครบชุดจำนวนสี่สิบเล่มสำหรับให้นักเทศน์ใช้ก็ได้รับการจัดพิมพ์ในปี 1775 และเมื่อถึงปี 1819 ก็มีการพิมพ์ฉบับสำหรับคนทั่วไปจำนวน 5,000 เล่ม. การตอบสนองเป็นอย่างไร? เมื่อลูกชายของหญิงคนหนึ่งอ่านคัมภีร์ไบเบิลฉบับภาษาแมงซ์ให้เธอฟังเป็นครั้งแรก ผู้หญิงคนนั้นพูดไว้อย่างกินใจว่า “เราอยู่ในความมืดมนมานานจนกระทั่งตอนนี้.”
มีผู้แปล 25 คนที่แปลคัมภีร์ไบเบิลฉบับนี้จากฉบับแปลคิงเจมส์ ปี 1611 ภาษาอังกฤษ และมีบางคนที่สามารถค้นดูฉบับเซปตัวจินต์ ซึ่งเป็นฉบับแปลภาษากรีกของพระคัมภีร์ภาคภาษาฮีบรูด้วย. พระนามของพระเจ้ายังเขียนเหมือนภาษาอังกฤษ คือ Jehovah (จิโฮวา). * จริงทีเดียว ดังที่ ดับเบิลยู. ที. แรดคลิฟฟ์ เขียนไว้เมื่อปี 1895 คัมภีร์ไบเบิลฉบับนี้เป็น “อนุสรณ์แห่งการเรียนรู้ซึ่งไม่มีชาวเกาะแมนที่มีการศึกษาคนใดจะดูหมิ่น.”
ศาสนาคริสต์ในสมัยนี้
ท่ามกลางชาวเกาะนี้ ความนับถือที่มีต่อคัมภีร์ไบเบิลไม่ได้ลดน้อยลงไป และพยานพระยะโฮวาก็เป็นที่รู้จักกันดีในเกาะนี้เนื่องจากการศึกษาคัมภีร์ไบเบิล. พวกเขาสร้างหอประชุมหลังล่าสุดขึ้นในเดือนพฤษภาคมปี 1999 ซึ่งตั้งอยู่ในบริเวณที่สวยงาม ณ เชิงเขาเบลมอนต์ฮิลล์ เมืองดักลาส. หนังสือพิมพ์ไอเอิล ออฟ แมน เอ็กแซมมิเนอร์ ได้ลงข่าวเรื่องการสร้างหอประชุมหลังนี้ซึ่งเสร็จสมบูรณ์ภายในเวลาหกวันเท่านั้นโดยพวกอาสาสมัครที่เป็นพยานพระยะโฮวาทุกคน และกล่าวว่า “ถือได้ว่าเป็นการอัศจรรย์ขนาดย่อม.”
ถ้าคุณสามารถไปเยือนเกาะที่สวยงามแห่งนี้ ขอให้มั่นใจว่าชาวเกาะแมนที่เป็นคนพูดจานุ่มนวลจะทำให้การไปเยือนของคุณน่าเพลิดเพลินและน่าจดจำไปอีกนาน. แต่วลาพูดกับชาวเกาะแมนขอให้จำไว้ว่า สำหรับพวกเขาแล้ว “แผ่นดินใหญ่” คือเกาะแมน; ส่วนประเทศอังกฤษเป็น “อีกเกาะหนึ่ง.”
[เชิงอรรถ]
^ วรรค 14 รัฐสภาอีกสองแห่ง คือสภาลักติง แห่งหมู่เกาะฟาโรและสภาอัลติง แห่งไอซ์แลนด์ถูกก่อตั้งก่อนหน้านี้ แต่สภาทั้งสองไม่ได้ดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง.
^ วรรค 20 พระนามของพระเจ้าทั้งในภาษาไอริชเกลิกและสกอตติชเกลิกคือ Yehobhah (เยโฮบาห์) ส่วนในภาษาเวลส์คือ Jehofah (เจโฮฟาห์).
[แผนที่หน้า 14]
(รายละเอียดดูจากวารสาร)
ไอร์แลนด์
สกอตแลนด์
อังกฤษ
เวลส์
ทะเลไอริช
เกาะแมน
[ภาพหน้า 15]
รถรางของบริษัทรถไฟฟ้าแห่งเกาะแมน
[ภาพหน้า 15]
กังหันน้ำเกรตแลกซีย์
[ภาพหน้า 14, 15]
ทางรถจักรไอน้ำแห่งเกาะแมน
[ภาพหน้า 15]
แมวแมงซ์ที่ไม่มีหาง
[ภาพหน้า 16]
ฉลามแบสกิ้ง
[ภาพหน้า 16]
ทิวทัศน์ชายทะเลจากเขาพีล
[ภาพหน้า 16, 17]
อ่าวพีล ด้านหลังคือปราสาทพีล
[ที่มาของภาพหน้า 15]
All photos except center emblem: Copyright Bill Dale, IsleOfManPhotos.com
[ที่มาของภาพหน้า 16]
Shark: The Basking Shark Society; right inset and background: Copyright Bill Dale, IsleOfManPhotos.com