ทำไมฉันชอบคบคนที่ไม่น่าจะยุ่งเกี่ยวด้วย?
หนุ่มสาวถามว่า . . .
ทำไมฉันชอบคบคนที่ไม่น่าจะยุ่งเกี่ยวด้วย?
“ฉันรู้ว่าไม่น่าจะสนิทสนมกับเขามากเกินไป แต่ฉันก็ปล่อยเลยตามเลย. ฉันไม่อยากเชื่อเลยว่าผู้ชายจะอยากไปไหนมาไหนกับฉัน.”—แนนซี. *
“ผมจะไปที่ลานสเกตคนเดียว และไม่นานนักผมก็เริ่มคบ ‘เพื่อน ๆ’ ที่นั่นเป็นประจำ. ไม่นานเท่าไร ผมก็ใช้ชีวิตอย่างคนทำผิดศีลธรรม.”—แดน.
ทั้งแนนซีและแดนต่างก็เป็นคริสเตียนที่มีความเชื่อเข้มแข็งในตอนเริ่มต้น. แนนซีได้รับการเลี้ยงดูในครอบครัวที่เกรงกลัวพระเจ้า และเธอเริ่มบอกเล่าสิ่งที่เธอเชื่อให้คนอื่น ๆ รู้เมื่ออายุเก้าขวบ. แดนเป็นผู้เผยแพร่เต็มเวลาตั้งแต่ตอนที่เป็นวัยรุ่น. กระนั้น ความก้าวหน้าในการรับใช้พระเจ้าของทั้งสองคนกลับหยุดชะงัก. เพราะอะไร? เพราะเขาทั้งสองเข้าไปคบหากับคนที่ไม่น่าคบเป็นเพื่อน.
คุณเคยประสบด้วยตัวเองไหมว่าจู่ ๆ คุณก็นึกชอบบางคนขึ้นมา โดยที่คุณเองก็รู้ดีแก่ใจว่าเขาจะชักจูงคุณไปในทางเสื่อมเสีย? คนนั้นอาจเป็นเพื่อนร่วมชั้น ซึ่งชอบอะไร ๆ เหมือนกับคุณ หรืออาจเป็นเพศตรงกันข้ามที่คุณรู้สึกหลงรักเขาด้วยซ้ำ.
คุณอาจจำคำแนะนำในคัมภีร์ไบเบิลได้ที่ว่า “การคบหาสมาคมที่ไม่ดีย่อมทำให้นิสัยดีเสียไป.” (1 โกรินโธ 15:33, ล.ม.) แต่การคบหากับทุกคนที่ไม่นมัสการพระยะโฮวาเป็นการคบหาสมาคมที่ไม่ดี ไหม? จะว่าอย่างไรหากเขามีนิสัยบางอย่างที่น่าชื่นชอบ และน่าชมเชยด้วยซ้ำ? จะว่าอย่างไรเกี่ยวกับผู้ที่ได้ชื่อว่าเป็นเพื่อนร่วมความเชื่อ ทว่า กลับวางตัวอย่างที่ไม่ดีในฐานะเป็นคริสเตียน? ก่อนจะตอบคำถามเหล่านี้ ให้เราพิจารณาว่าสิ่งที่ดึงดูดใจเรานั้นอาจเกิดขึ้นได้อย่างไร และเพราะเหตุใด.
อะไรทำให้คุณรู้สึกชอบเขา?
เนื่องจากมนุษย์ทั้งปวงถูกสร้างตามแบบพระเจ้า จึงคาดหมายได้ว่าคนที่ไม่รู้จักพระยะโฮวาก็แสดงคุณลักษณะที่ดีได้. ผลก็คือ คุณอาจรู้สึกว่าบางคนเป็นคนที่น่านับถือและน่าคบหาด้วยซ้ำ แม้ว่าเขาไม่นมัสการพระเจ้าองค์เที่ยงแท้. คุณควรหลีกเลี่ยงคนเช่นนั้นเพียงเพราะพวกเขาไม่รู้ความจริงเกี่ยวกับคัมภีร์ไบเบิลไหม? ไม่ใช่อย่างนั้น. เมื่อคัมภีร์ไบเบิลแนะนำให้เรา “กระทำการดีแก่คนทั้งปวง” นั่นหมายรวมถึงคนเหล่านั้นที่นับถือศาสนาต่างจากคุณ. (ฆะลาเตีย 6:10) ฉะนั้น การเป็นคนรอบคอบในการเลือกคนที่คุณจะคบหาด้วยจึงไม่ได้หมายความว่าคุณควรทำราวกับว่าตัวเองเหนือกว่าผู้อื่น. (สุภาษิต 8:13; ฆะลาเตีย 6:3) การประพฤติแบบนั้นจะสะท้อนให้เห็นว่าคุณเป็นคริสเตียนที่ยังไม่เข้มแข็งในความเชื่อ.
อย่างไรก็ดี เยาวชนคริสเตียนบางคนทำเลยกว่านั้น คือไม่เพียงแสดงท่าทางสุภาพเท่านั้น พวกเขาเริ่มสัมพันธ์ใกล้ชิดกับคนที่ไม่ค่อยสนใจหรือไม่สนใจสิ่งฝ่ายวิญญาณด้วยซ้ำ. แดนเด็กหนุ่มที่กล่าวถึงตอนต้น กลายเป็นนักสเกตน้ำแข็งที่เล่นได้เก่งมาก. คนที่เขาเริ่มคบเป็นประจำที่ลานสเกตแห่งนั้นไม่ใช่คริสเตียนพยานพระยะโฮวา. ในที่สุด แดนก็สมทบกับ “เพื่อน” ใหม่โดยการเข้าไปพัวพันกับการประพฤติที่ผิดศีลธรรมและลองเสพยา. เมื่อตระหนักว่ารูปแบบชีวิตของตนเข้ากับหลักการคริสเตียนไม่ได้ แดนจึงเลิกงานรับใช้ และไม่เข้าร่วมการประชุมประชาคม. กว่าเขาจะรวบรวมพลังเพื่อทำการเปลี่ยนแปลงที่จำเป็นเพื่อจะกลับสู่การนมัสการแท้ได้ก็ใช้เวลานานหลายปีทีเดียว.
เมลานี รู้สึกอยากอยู่ใกล้เพื่อนร่วมความเชื่อคนหนึ่งซึ่งไม่ค่อยเอาจริงเอาจังในการรับใช้พระเจ้า. เมลานีชี้แจงว่า “มีคนบอกฉันว่าเธอต้องการกำลังใจ ฉันจึงเริ่มแสดงตัวเป็นเพื่อนกับเธอ.” จริงอยู่ คัมภีร์ไบเบิลสนับสนุนคริสเตียน “ให้ชูกำลังคนที่อ่อนกำลัง.” (1 เธซะโลนิเก 5:14) แต่เมลานีเริ่มคบเพื่อนคนใหม่ของเธอที่ร้านเหล้า ซึ่งจากการคบสนิทสนมกันมากขึ้นเรื่อย ๆ นี้เองทำให้เมลานีตกเข้าสู่การประพฤติที่น่าอับอาย.
บทบาทของครอบครัว
สภาพการณ์ในครอบครัวอาจเป็นปัจจัยอย่างหนึ่งที่ทำให้คุณอยากคบหากับคนเหล่านั้น. มิเชลล์นึกแปลกใจอยู่ว่าทำไมเธอดูเหมือนจะชอบพวกเด็กหนุ่มท่าทางหงอย ๆ และไม่สนใจไยดีใคร. เธอลงความเห็นว่า เด็กหนุ่มเหล่านั้นสะกิดใจเธอให้นึกถึงพ่อตัวเอง ซึ่งเธอไม่ค่อยได้ใกล้ชิด และดูเหมือนไม่เคยมีเวลาให้เธอเลย. เธอคิดว่าตัวเองชินเสียแล้วกับการพยายามทำตัวให้เป็นที่ยอมรับและได้รับความสนใจจากคนที่เข้าหาได้ยาก ซึ่งโดยไม่รู้ตัว เธอรู้สึกอยากคบหาเป็นเพื่อนกับคนแบบนั้น.
ในทางตรงกันข้าม หนุ่มสาวที่เติบโตมาในครอบครัวคริสเตียนอาจอยากรู้ว่าคนอื่นใช้ชีวิตอย่างไร เนื่องจากเขารู้สึกว่าได้รับการปกป้องจากพ่อแม่มากเกินไป. ไม่ว่าเด็กหนุ่มสาวจะคิดเช่นนั้นหรือไม่ ความพยายามที่อยากชดเชยความเข้มงวดของพ่อแม่โดยหันไปคบหากับ ‘เพื่อนที่ไม่ใช่คริสเตียน’ จะเป็นทางแก้ปัญหาไหม? (ยาโกโบ 4:4) ขอพิจารณาสิ่งที่เกิดขึ้นกับบิลล์.
แม้ว่าแม่ได้สอนพระคัมภีร์เขามาตั้งแต่ในวัยเด็ก กระนั้น บิลล์ก็ไม่ได้ตัดสินใจอุทิศชีวิตแด่พระยะโฮวา เพราะกลัวว่าเขาจะไม่มีอิสระอีกต่อไป. เนื่องจากต้องการหาคำตอบด้วยตัวเองว่า
ชีวิตจะเป็นเช่นไรหากเขาไม่ได้เป็นคริสเตียนแท้ เขาเริ่มเข้าแก๊ง พาชีวิตตัวเองเข้าไปพัวพันกับยาเสพติด, ความรุนแรง, และอาชญากรรม. ผลของการพยายามหนีการไล่กวดจับของตำรวจ เขาได้รับบาดเจ็บและอยู่ในอาการขั้นโคม่านานหลายเดือน. แพทย์ที่รักษาคิดว่าเขาคงไม่รอด. แต่น่ายินดีที่บิลล์พ้นจากอาการโคม่า. ทว่าเขาต้องกลายเป็นคนตาบอดและพิการ. เขาได้บทเรียนจากประสบการณ์ที่ร้ายแรงครั้งนั้น และตอนนี้เขาได้เข้ามาเป็นคริสเตียนที่อุทิศตัวแล้ว. นอกจากนี้ บิลล์ยังได้สำนึกว่าการเรียนรู้จากประสบการณ์ที่แสนยากลำบากนั้นส่งผลกระทบยาวนานตลอดชีวิตทีเดียว.อิทธิพลอื่น ๆ
บางครั้งสื่อบันเทิงมีอิทธิพลต่อแง่คิดของเยาวชนเกี่ยวกับเพื่อนในอุดมคติ. ตัวอย่างเช่น ไม่ใช่เรื่องแปลกที่หนังสือ, รายการโทรทัศน์, ภาพยนตร์, และมิวสิกวิดีโอได้สร้างภาพลักษณ์พระเอกให้ดูเป็นคนแข็งกร้าวในตอนแรก แล้วภายหลังจึงเผยให้เห็นว่าเขาเป็นคนใจอ่อน มีความเมตตาปรานีผู้อื่น. นี่เป็นการสร้างความประทับใจที่ว่า บุคคลซึ่งดูท่าทางเป็นคนเย็นชาไม่คำนึงถึงความรู้สึกของคนอื่น จริง ๆ แล้วเป็นคนมีความรู้สึกอ่อนไหวและใส่ใจผู้อื่น. นอกจากนี้ สื่อต่าง ๆ ยังอาจถ่ายทอดแนวคิดที่ว่าหากเขามีเพื่อนที่ดีซึ่งมักจะเป็นเพศตรงข้าม จะช่วยดึงคุณสมบัติที่ดี ๆ ในตัวเขาออกมา. จริงอยู่ แนวคิดดังกล่าวทำเงินได้. แต่คุณคิดว่าเรื่องรัก ๆ ใคร่ ๆ ทำนองนี้จะเกิดขึ้นในชีวิตจริงบ่อยสักแค่ไหน? น่าเศร้า หนุ่มสาวบางคนถูกหลอกให้เคลิบเคลิ้มไปกับความเพ้อฝันที่เป็นภัย และคบหากระทั่งแต่งงานกับคนเห็นแก่ตัว คนที่ชอบความรุนแรง แล้วก็ได้แต่หวังลม ๆ แล้ง ๆ ว่าคนนั้นจะ “เปลี่ยน” เป็นคนมีจิตใจดี.
ขอให้พิจารณาเหตุผลอีกข้อหนึ่งว่าทำไมบางคนจึงชอบคบกับคนที่ไม่น่าคบ: พวกเขาคงคิดว่าไม่มีใครอยากคบด้วย ดังนั้นจึงเลือกคบคนที่มีท่าทีว่าชอบเขา. แนนซีที่กล่าวถึงในตอนต้นรู้อยู่ว่าคัมภีร์ไบเบิลแนะนำให้สมรส “เฉพาะในองค์พระผู้เป็นเจ้าเท่านั้น.” (1 โกรินโธ 7:39, ล.ม.) กระนั้น เธอคิดเสมอว่าตัวเองไม่สวย และเมื่อผู้ชายในที่ทำงานซึ่งไม่มีความเชื่อเหมือนเธอได้แสดงทีท่ารักใคร่ชอบพอ เธอจึงรู้สึกภูมิใจ. แล้วเริ่มออกไปไหนมาไหนด้วยกันและเกือบจะถึงขั้นทำผิดศีลธรรมทางเพศทีเดียว.
ดังที่เห็นจากประสบการณ์ข้างต้น มีเหตุผลหลายประการที่หนุ่มสาวคริสเตียนอาจนึกชอบคนที่มีอิทธิพลในทางที่ไม่ดี และดูเหมือนมีหลายวิธีที่จะคิดหาเหตุผลเข้าข้างตัวเองเพื่อจะได้คบหาใกล้ชิดกับคนเช่นนั้น. กระนั้น มิตรภาพแบบนั้นนำไปสู่อันตรายอย่างเลี่ยงไม่พ้น และถึงกับยังผลเป็นความหายนะด้วยซ้ำ. เพราะเหตุใด?
อานุภาพของมิตรภาพ
ความจริงคือ คุณจะเป็นเหมือนเพื่อนของคุณ. ด้วยเหตุนี้ ผู้ที่เราคลุกคลีด้วยนั้นมีผลกระทบอย่างมากและมีอิทธิพลเหนือเรา. สุภาษิต 13:20 (ล.ม.) บ่งชี้ว่า มิตรภาพอาจเป็นได้ทั้งพลังที่ดีและไม่ดี: “บุคคลที่ดำเนินกับคนมีปัญญาก็จะเป็นคนมีปัญญา แต่คนที่คบกับคนโฉดเขลาย่อมจะรับความเสียหาย.” เพื่อนสนิทเปรียบเหมือนกับสองคนที่นั่งอยู่ในรถคันเดียวกัน ซึ่งย่อมจะมุ่งไปในทิศทางเดียวกันและไปถึงปลายทางเดียวกันอย่างเลี่ยงไม่พ้น. ฉะนั้น ลองถามตัวเองซิว่า ‘เพื่อนของฉันอยู่บนถนนเส้นเดียวกันกับที่ฉันต้องการจะไปหรือเปล่า? ถนนเส้นนี้จะพาฉันไปใกล้เป้าหมายของฉันทางฝ่ายวิญญาณยิ่งขึ้นไหม?’
จริงอยู่ การวิเคราะห์อย่างซื่อสัตย์อาจทำได้ยาก. ความรู้สึกอันแรงกล้าอาจเข้ามาเกี่ยวข้องอยู่ด้วย. แต่จะอาศัยความรู้สึกเพียงอย่างเดียวพอไหมเพื่อชี้นำในการเลือกเพื่อน? คุณอาจเคยได้ยินคำแนะนำที่พูดกันอยู่บ่อย ๆ ว่า ‘ทำตามที่ใจคุณปรารถนาสิ.’ แต่สุภาษิต 28:26 (ฉบับแปลใหม่) บอกว่า “บุคคลที่วางใจในความคิดของตัวเป็นคนโง่.” ทำไม? เพราะ “หัวใจทรยศยิ่งกว่าสิ่งอื่นใดและสิ้นคิด.” (ยิระมะยา 17:9, ล.ม.; อาฤธโม 15:39) ทรยศหมายถึงการไม่ซื่อสัตย์ภักดี, หรือหลอกลวง, หรือเป็นคนตีสองหน้า. คุณจะไว้วางใจคนที่รู้จักกันว่าเป็นคนหลอกลวงและเป็นคนทรยศไหม? หัวใจโดยนัยของเราอาจคดโกง. ด้วยเหตุนี้ ความสัมพันธ์ใช่ว่าจะดีเสมอไป เพียงเพราะรู้สึกว่าถูก.
คำแนะนำที่น่าเชื่อถือมากกว่าคือพระคำของพระเจ้า. ไม่เหมือนกับหัวใจของคุณที่ไม่สมบูรณ์ หลักการในคัมภีร์ไบเบิลจะไม่ทรยศหรือทำให้คุณผิดหวังอย่างเด็ดขาด. หลักการต่าง ๆ ในคัมภีร์ไบเบิลจะช่วยคุณตัดสินใจได้อย่างไรว่าบุคคลนั้นจะเป็นเพื่อนที่ดีหรือไม่? และคุณจะหลีกเลี่ยงการตัดสินใจที่จะก่อความเสียหายแก่คุณในการเลือกคู่สมรสซึ่งจะเป็นเพื่อนคู่เคียงคุณไปตลอดชีวิตได้อย่างไร? จะมีการพิจารณาคำถามเหล่านี้ในบทความครั้งต่อไป.
[เชิงอรรถ]
^ วรรค 3 นามสมมุติ.
[ภาพหน้า 20]
สื่อต่าง ๆ อาจมีอิทธิพลต่อแนวคิดของเราเกี่ยวกับเพื่อนในอุดมคติ