ข้ามไปยังเนื้อหา

ข้ามไปยังสารบัญ

บุรุษผู้ “หมุนโลก”

บุรุษผู้ “หมุนโลก”

บุรุษ​ผู้ “หมุน​โลก”

โดย​ผู้​เขียน​ตื่นเถิด! ใน​โปแลนด์

“มี ‘พวก​ที่​ชอบ​พูด​จา​ไร้​สาระ’ บาง​คน​ที่​ถือ​ดี​มา​วิพากษ์วิจารณ์​งาน​ของ​ข้าพเจ้า​ทั้ง ๆ ที่​พวก​เขา​ไม่​มี​ความ​รู้​ทาง​คณิตศาสตร์​เลย​สัก​นิด และ​โดย​การ​บิดเบือน​ความ​หมาย​ของ​ข้อ​ความ​ใน​คำ​จารึก​อัน​ศักดิ์สิทธิ์​ให้​เข้า​กัน​กับ​จุด​ประสงค์​ของ​พวก​เขา​อย่าง​ไร้​ยางอาย พวก​เขา​จึง​กล้า​ประณาม​และ​โจมตี​งาน​ของ​ข้าพเจ้า แต่​นั่น​ไม่​ได้​ทำ​ให้​ข้าพเจ้า​รู้สึก​ทุกข์​ใจ​แม้​แต่​น้อย ข้าพเจ้า​กลับ​ดูหมิ่น​การ​วิพากษ์วิจารณ์​ของ​พวก​เขา​ด้วย​ซ้ำ​ว่า​เป็น​ความ​กล้า​แบบ​ไม่​เข้า​เรื่อง.”

นิโคเลาส์ โคเพอร์นิคัส กล่าว​กับ​โปป พอล​ที่​สาม ดัง​ข้อ​ความ​ที่​เขียน​ข้าง​ต้น​นี้. โคเพอร์นิคัส​ใส่​ข้อ​ความ​นี้​ไว้​ใน​คำนำ​สำหรับ​งาน​เขียน​ชิ้น​สำคัญ​ของ​เขา​ที่​มี​ชื่อ​ว่า เรื่อง​การ​โคจร​ของ​ดวง​ดาว​ต่าง ๆ ใน​ทรง​กลม​โปร่ง​ใส​ของ​ท้องฟ้า ซึ่ง​ตี​พิมพ์​ใน​ปี 1543. เกี่ยว​กับ​แนว​คิด​ต่าง ๆ ที่​มี​กล่าว​ไว้​ใน​หนังสือ​เล่ม​นี้ คริสตอฟ คลาวิอุส นัก​บวช​นิกาย​เยสุอิต​แห่ง​ศตวรรษ​ที่ 16 กล่าว​ว่า “ทฤษฎี​ของ​โคเพอร์นิคัส​มี​แต่​เรื่อง​ไร้​สาระ​และ​มี​ข้อ​อ้างอิง​ที่​ผิด​พลาด​มาก​มาย.” มาร์ติน ลูเทอร์ นัก​เทววิทยา​ชาว​เยอรมัน​กล่าว​ด้วย​ความ​ผิด​หวัง​ว่า “คน​โง่​คน​นี้​ต้องการ​จะ​คัดค้าน​ความ​รู้​ทาง​ดาราศาสตร์​ทั้ง​มวล.”

นิโคเลาส์ โคเพอร์นิคัส​เป็น​ใคร? เหตุ​ใด​แนว​คิด​ของ​เขา​จึง​ก่อ​ให้​เกิด​ความ​ขัด​แย้ง​มาก​ถึง​เพียง​นี้? และ​เขา​ก่อ​ผล​กระทบ​ต่อ​แนว​คิด​ใน​ปัจจุบัน​อย่าง​ไร?

ชาย​หนุ่ม​ที่​กระหาย​ความ​รู้

โคเพอร์นิคัส​เกิด​เมื่อ​วัน​ที่ 19 กุมภาพันธ์ 1473 ใน​เมือง​โตอุน โปแลนด์ ชื่อ​จริง​ของ​เขา​คือ มีโกไล โคเปอร์นิก. ต่อ​มา​เมื่อ​เขา​เริ่ม​เขียน​หนังสือ​ด้าน​วิชาการ มีโกไล​จึง​ใช้​ชื่อ​ภาษา​ลาติน​ว่า นิโคเลาส์ โคเพอร์นิคัส. บิดา​ของ​เขา​เป็น​พ่อค้า​ใน​เมือง​โตอุน มี​บุตร​สี่​คน​โดย​มี​นิโคเลาส์​เป็น​บุตร​คน​เล็ก. เมื่อ​นิโคเลาส์​อายุ​ได้ 11 ขวบ บิดา​ของ​เขา​เสีย​ชีวิต. ลุง​ที่​ชื่อ​ลูคัส วัตเซนโรเดอ ได้​อุปการะ​เลี้ยง​ดู​นิโคเลาส์​และ​พวก​พี่ ๆ. เขา​ส่ง​เสีย​นิโคเลาส์​ให้​ได้​รับ​การ​ศึกษา​สูง ๆ และ​สนับสนุน​ให้​เป็น​นัก​บวช.

นิโคเลาส์​เริ่ม​เรียน​หนังสือ​ใน​เมือง​ที่​เขา​เกิด แต่​ต่อ​มา​เขา​ไป​ศึกษา​ต่อ​ที่​เมือง​เคลมโน​ซึ่ง​อยู่​ใกล้ ๆ เขา​จึง​มี​โอกาส​เรียน​ภาษา​ลาติน​และ​ศึกษา​งาน​เขียน​สมัย​โบราณ​ที่​นั่น. เมื่อ​อายุ 18 ปี เขา​ย้าย​ไป​ที่​คราคอฟ ซึ่ง​เป็น​เมือง​หลวง​ของ​โปแลนด์​ใน​สมัย​นั้น. ที่​นั่น​เอง เขา​ได้​สมัคร​เข้า​เรียน​ใน​มหาวิทยาลัย​และ​มุ่ง​ติด​ตาม​ความ​ใฝ่ฝัน​ที่​อยาก​จะ​เป็น​นัก​ดาราศาสตร์. หลัง​จาก​สำเร็จ​การ​ศึกษา​จาก​เมือง​คราคอฟ ลุง​ของ​นิโคเลาส์ ซึ่ง​ดำรง​ตำแหน่ง​บิชอป​แห่ง​วา​เมีย​อยู่​ใน​ตอน​นั้น ได้​ขอ​ให้​เขา​ย้าย​ไป​ที่​ฟรอม​บอร์ก ซึ่ง​เป็น​เมือง​ที่​อยู่​ใน​แถบ​ชายฝั่ง​ทะเล​บอลติก. วัตเซนโรเดอ​ต้องการ​ให้​หลาน​ชาย​ได้​งาน​ใน​ตำแหน่ง​นัก​สารบบ​พระ​คัมภีร์​ประจำ​มหา​วิหาร.

อย่าง​ไร​ก็​ตาม เมื่อ​อายุ 23 ปี นิโคเลาส์​กระหาย​ที่​จะ​ศึกษา​หา​ความ​รู้ เขา​จึง​อ้อน​วอน​ลุง​เพื่อ​อนุญาต​ให้​เขา​ไป​ศึกษา​วิชา​กฎหมาย​สารบบ (วิชา​กฎหมาย​ศาสนจักร), วิชา​แพทย์, และ​คณิตศาสตร์​ที่​มหาวิทยาลัย​โบโลนญา​และ​ปาดัว​ใน​อิตาลี. ที่​นั่น​เอง นิโคเลาส์​ได้​คบหา​กับ​นัก​ดาราศาสตร์​ที่​ชื่อ​โดเมนิโก มารีอา โนวารา และ​นัก​ปรัชญา​ที่​ชื่อ​ปีเอโตร ปอมโปนาสซี. สตานีสลอฟ บรอสเควิช นัก​ประวัติศาสตร์​กล่าว​ว่า คำ​สอน​ของ​ปอมโปนาสซี​ช่วย​ปลด​ปล่อย “ความ​คิด​ของ​นัก​ดาราศาสตร์​หนุ่ม​ให้​หลุด​พ้น​จาก​อิทธิพล​ของ​แนว​คิด​ใน​ยุค​กลาง.”

ใน​ช่วง​ที่​มี​เวลา​ว่าง โคเพอร์นิคัส​ศึกษา​งาน​เขียน​ของ​นัก​ดาราศาสตร์​รุ่น​ก่อน ๆ เขา​ศึกษา​อย่าง​ลึกซึ้ง​จน​รู้สึก​ว่า​งาน​เขียน​ภาษา​ลาติน​ยัง​มี​ไม่​ครบ เขา​จึง​เรียน​ภาษา​กรีก​เพื่อ​จะ​ศึกษา​ข้อ​ความ​ต้น​ฉบับ. เมื่อ​สำเร็จ​การ​ศึกษา นิโคเลาส์​ได้​รับ​ปริญญา​เอก​ทาง​ด้าน​กฎหมาย​ศาสนจักร, เป็น​นัก​คณิตศาสตร์, และ​แพทย์. นอก​จาก​นี้ เขา​ยัง​เป็น​ผู้​เชี่ยวชาญ​ด้าน​ภาษา​กรีก​ด้วย โดย​เป็น​คน​แรก​ที่​แปล​เอกสาร​จาก​ภาษา​กรีก​เป็น​ภาษา​โปแลนด์​โดย​ตรง.

เปิด​ประตู​สู่​ทฤษฎี​ใหม่

เมื่อ​โคเพอร์นิคัส​กลับ​ไป​ที่​โปแลนด์ ลุง​ของ​เขา​ซึ่ง​เป็น​บิชอป​ได้​แต่ง​ตั้ง​เขา​ให้​เป็น​เลขา​ส่วน​ตัว, ที่​ปรึกษา, และ​นาย​แพทย์ ซึ่ง​เป็น​ตำแหน่ง​อัน​ทรง​เกียรติ. ระหว่าง​ทศวรรษ​ต่อ​มา นิโคเลาส์​ดำรง​ตำแหน่ง​ต่าง ๆ ที่​เกี่ยว​กับ​การ​บริหาร ทั้ง​ใน​วง​ราชการ​และ​วงการ​ศาสนา. แม้​เขา​จะ​ทำ​งาน​หนัก​มาก แต่​เขา​ก็​ยัง​คง​ศึกษา​ค้นคว้า​เกี่ยว​กับ​ดวง​ดาว​และ​ดาว​เคราะห์​ต่อ​ไป โดย​รวบ​รวม​หลักฐาน​เพื่อ​สนับสนุน​ทฤษฎี​การ​โคจร​ที่​ว่า โลก​ไม่​ได้​เป็น​ศูนย์กลาง​ของ​จักรวาล แต่​โลก​หมุน​รอบ​ดวง​อาทิตย์.

ทฤษฎี​นี้​ตรง​ข้าม​กับ​คำ​สอน​ของ​นัก​ปรัชญา​อาริสโตเติล​ที่​ได้​รับ​ความ​นับถือ​อย่าง​สูง และ​ขัด​แย้ง​กับ​ข้อ​สรุป​ของ​นัก​คณิตศาสตร์​ชาว​กรีก​ที่​ชื่อ​ปโตเลมี. นอก​จาก​นี้ ทฤษฎี​ของ​โคเพอร์นิคัส​ปฏิเสธ​สิ่ง​ที่​ดู​เหมือน​เป็น “ข้อ​เท็จ​จริง” ที่​ว่า ดวง​อาทิตย์​ขึ้น​ทาง​ทิศ​ตะวัน​ออก​และ​เคลื่อน​ข้าม​ฟาก​ฟ้า​ไป​ตก​ทาง​ทิศ​ตะวัน​ตก ใน​ขณะ​ที่​โลก​ยัง​คง​อยู่​ที่​เดิม.

โคเพอร์นิคัส​ไม่​ใช่​คน​แรก​ที่​ลง​ความ​เห็น​ว่า​โลก​โคจร​รอบ​ดวง​อาทิตย์. นัก​ดาราศาสตร์​ชาว​กรีก​ที่​ชื่อ​อาริสตาร์คัส​แห่ง​ซามอส เป็น​ผู้​เสนอ​ทฤษฎี​นี้​ใน​ศตวรรษ​ที่​สาม​ก่อน​สากล​ศักราช. เหล่า​สานุศิษย์​ของ​พีทากอรัส​เคย​สอน​ว่า ทั้ง​โลก​และ​ดวง​อาทิตย์​โคจร​รอบ​ไฟ​ที่​เป็น​จุด​ศูนย์กลาง. อย่าง​ไร​ก็​ตาม ปโตเลมี​เขียน​ว่า ถ้า​โลก​หมุน​เคลื่อน “สัตว์​และ​สิ่ง​ต่าง ๆ ที่​มี​น้ำหนัก​ก็​จะ​ลอย​เคว้ง​ใน​อากาศ และ​โลก​ก็​จะ​หลุด​ออก​ไป​นอก​จักรวาล​อย่าง​รวด​เร็ว.” เขา​ยัง​เสริม​อีก​ว่า “แค่​คิด​ว่า​จะ​เป็น​อย่าง​ที่​ว่า​นี้​ก็​น่า​หัวเราะ​แล้ว.”

ปโตเลมี​สนับสนุน​แนว​คิด​ของ​อาริสโตเติล​ที่​ว่า โลก​หยุด​นิ่ง​อยู่​กับ​ที่ ณ ใจ​กลาง​ของ​จักรวาล​และ​มี​ทรง​กลม​โปร่ง​ใส​ที่​ซ้อน​กัน​หลาย ๆ ชั้น​ล้อม​รอบ​อยู่ และ​ใน​ทรง​กลม​แต่​ละ​ชั้น​มี​ดวง​อาทิตย์, ดาว​เคราะห์, และ​ดวง​ดาว​ต่าง ๆ ที่​ถูก​ตรึง​อยู่​กับ​ที่. เขา​คิด​ว่า การ​ขับ​เคลื่อน​ของ​ทรง​กลม​โปร่ง​ใส​ที่​ซ้อน​กัน​หลาย ๆ ชั้น​เหล่า​นั้น​เป็น​สาเหตุ​ที่​ทำ​ให้​ดาว​เคราะห์​และ​ดวง​ดาว​ต่าง ๆ เคลื่อน​ที่. วิธี​คำนวณ​ของ​ปโตเลมี​อธิบาย​การ​เคลื่อน​ที่​ของ​ดาว​เคราะห์​ต่าง ๆ ใน​ท้องฟ้า​ยาม​ค่ำ​คืน​ได้​ถูก​ต้อง​ใน​ระดับ​หนึ่ง.

แต่​ทฤษฎี​ของ​ปโตเลมี​ก็​มี​จุด​อ่อน จึง​ทำ​ให้​โคเพอร์นิคัส​ค้น​หา​คำ​อธิบาย​อย่าง​อื่น​เกี่ยว​กับ​การ​เคลื่อน​ที่​ของ​ดาว​เคราะห์​ที่​ต่าง​ไป​จาก​ทฤษฎี​ดัง​กล่าว. เพื่อ​จะ​สนับสนุน​ทฤษฎี​ของ​เขา โคเพอร์นิคัส​จึง​สร้าง​อุปกรณ์​ต่าง ๆ ที่​นัก​ดาราศาสตร์​รุ่น​ก่อน​เคย​ใช้​ขึ้น​ใหม่. แม้​เป็น​อุปกรณ์​ง่าย ๆ เมื่อ​เทียบ​กับ​เครื่อง​มือ​สมัย​ปัจจุบัน แต่​อุปกรณ์​นั้น​ก็​ช่วย​ให้​เขา​คำนวณ​ระยะ​ทาง​ที่​สัมพันธ์​กัน​ระหว่าง​ดาว​เคราะห์​ต่าง ๆ กับ​ดวง​อาทิตย์. เขา​ใช้​เวลา​หลาย​ปี​กำหนด​วัน​เวลา​ที่​แน่นอน​เกี่ยว​กับ​การ​สังเกตการณ์​ทาง​ดาราศาสตร์​ที่​สำคัญ​ซึ่ง​นัก​ดาราศาสตร์​รุ่น​ก่อน ๆ ได้​บันทึก​ไว้. โดย​อาศัย​ข้อมูล​เหล่า​นี้ โคเพอร์นิคัส​เริ่ม​ทำ​เอกสาร​ที่​เป็น​เหตุ​ให้​เกิด​ความ​ขัด​แย้ง​ซึ่ง​กล่าว​ว่า​โลก​แห่ง​มนุษยชาติ​ไม่​ใช่​ศูนย์กลาง​ของ​เอกภพ.

ขัด​แย้ง​กัน​ใน​เรื่อง​ต้น​ฉบับ

ใน​ช่วง​ท้าย ๆ ของ​ชีวิต โคเพอร์นิคัส​พยายาม​ขัด​เกลา​และ​เพิ่ม​ข้อ​พิสูจน์ รวม​ทั้ง​วิธี​คำนวณ​ที่​สนับสนุน​ทฤษฎี​ของ​เขา. มาก​กว่า 95 เปอร์เซ็นต์​ของ​เอกสาร​ฉบับ​สุด​ท้าย​มี​ราย​ละเอียด​ทาง​วิชาการ​ที่​สนับสนุน​ข้อ​สรุป​ของ​เขา. เอกสาร​ที่​เขา​เขียน​ขึ้น​นี้​ยัง​คง​เก็บ​รักษา​ไว้​ที่​มหาวิทยาลัย​ยากแยลโลเนียน ใน​คราคอฟ โปแลนด์. เอกสาร​นี้​ไม่​มี​ชื่อ. ด้วย​เหตุ​นี้ นัก​ดาราศาสตร์​ชื่อ​เฟรด ฮอยล์ จึง​เขียน​ว่า “เรา​ไม่​ทราบ​จริง ๆ ว่า​โคเพอร์นิคัส​อยาก​ตั้ง​ชื่อ​หนังสือ​นี้​ว่า​อะไร.”

แม้​แต่​ก่อน​ที่​งาน​เขียน​ของ​เขา​จะ​ถูก​นำ​ไป​ตี​พิมพ์ เนื้อหา​ใน​นั้น​ก็​เร้า​ความ​สนใจ​ผู้​คน. โคเพอร์นิคัส​ได้​ตี​พิมพ์​งาน​เขียน​ที่​เป็น​ข้อ​สรุป​เกี่ยว​กับ​แนว​คิด​ของ​เขา​ลง​ใน​หนังสือ​ที่​ชื่อ​ว่า คอมเมนทาริโอลิส (ภาษา​ลาติน). ผล​ก็​คือ รายงาน​การ​ค้น​พบ​ของ​เขา​แพร่​ไป​ถึง​เยอรมนี​และ​โรม. ช่วง​ต้น​ปี 1533 โปป​เคลมองต์​ที่ 7 ได้​ยิน​เกี่ยว​กับ​ทฤษฎี​ของ​โคเพอร์นิคัส. และ​ใน​ปี 1536 คาร์ดินัล​เชินเบอร์ก​ได้​เขียน​จดหมาย​ถึง​โคเพอร์นิคัส โดย​แนะ​นำ​ให้​เขา​ตี​พิมพ์​แนว​คิด​ทั้ง​หมด​ของ​เขา. เกออร์ก โยอาคิม แรทติคุส ศาสตราจารย์​แห่ง​มหาวิทยาลัย​วิทเทนแบร์ก​ใน​เยอรมนี สนใจ​งาน​เขียน​ของ​โคเพอร์นิคัส​มาก​จน​ถึง​กับ​ไป​หา​โคเพอร์นิคัส​และ​ใน​ที่​สุด​ก็​ได้​ใช้​เวลา​อยู่​กับ​นัก​ดาราศาสตร์​ผู้​นี้​สอง​ปี. ใน​ปี 1542 แรทติคุส​นำ​ฉบับ​สำเนา​กลับ​ไป​เยอรมนี​และ​ส่ง​ให้​ช่าง​พิมพ์​ที่​ชื่อ​เพทเทรยุส และ​ให้​นัก​บวช​ที่​ชื่อ​อันเดรอัส โอซิแอนเดอร์​เป็น​ผู้​พิสูจน์​อักษร.

โอซิแอนเดอร์​ตั้ง​ชื่อ​งาน​เขียน​ชิ้น​นี้​ว่า เด รีโวลุดโยนิบัส ออร์เบียม โคเอเลสเตียม (On the Revolutions of the Heavenly Spheres, เรื่อง​การ​โคจร​ของ​ดวง​ดาว​ต่าง ๆ ใน​ทรง​กลม​โปร่ง​ใส​ของ​ท้องฟ้า). โดย​การ​เพิ่ม​วลี “ทรง​กลม​โปร่ง​ใส​ของ​ท้องฟ้า” (of the heavenly spheres) โอซิแอนเดอร์​บอก​เป็น​นัย ๆ ว่า งาน​เขียน​ชิ้น​นี้​ได้​รับ​อิทธิพล​จาก​แนว​คิด​ของ​อาริสโตเติล. นอก​จาก​นี้ โอซิแอนเดอร์​ยัง​เขียน​คำนำ​โดย​ไม่​ลง​นาม​ผู้​เขียน โดย​กล่าว​ว่า​สมมุติฐาน​ใน​หนังสือ​นี้​ไม่​ใช่​หลัก​ข้อ​เชื่อ​ทาง​ศาสนา และ​ไม่​จำเป็น​ต้อง​เป็น​ความ​จริง. โคเพอร์นิคัส​ไม่​ได้​รับ​หนังสือ​ที่​ตี​พิมพ์​ออก​มา​แล้ว ซึ่ง​มี​การ​เปลี่ยน​แปลง​และ​ปรับ​ทฤษฎี​ของ​เขา​หลาย​อย่าง​โดย​พลการ จน​กระทั่ง​ไม่​กี่​ชั่วโมง​ก่อน​ที่​เขา​จะ​เสีย​ชีวิต​ใน​ปี 1543.

เรื่อง​การ​โคจร—งาน​เขียน​ที่​ก่อ​ให้​เกิด​การ​เปลี่ยน​แปลง

การ​ที่​โอซิแอนเดอร์​ปรับ​ชื่อ​หนังสือ​ทำ​ให้​หนังสือ​เล่ม​นี้​พ้น​จาก​การ​ถูก​วิพากษ์วิจารณ์​ใน​ตอน​แรก. กาลิเลโอ นัก​ดาราศาสตร์​และ​นัก​ฟิสิกส์​ชาว​อิตาลี​เขียน​ใน​เวลา​ต่อ​มา​ว่า “เมื่อ​มี​การ​ตี​พิมพ์ คริสตจักร​อัน​ศักดิ์สิทธิ์​ก็​ยอม​รับ​หนังสือ​เล่ม​นี้​และ​ทุก​คน​ก็​อ่าน​และ​ศึกษา​กัน​โดย​ไม่​มี​ใคร​ต่อ​ต้าน​ข้อ​ความ​ใน​หนังสือ​นี้​แม้​แต่​น้อย. แต่​บัด​นี้​เมื่อ​มี​การ​เปิด​เผย​ข้อมูล​และ​ข้อ​พิสูจน์​ที่​จำเป็น​เพื่อ​จะ​ยืน​ยัน​ว่า​ถ้อย​คำ​เหล่า​นี้​เป็น​ความ​จริง ก็​กลาย​เป็น​ว่า​มี​คน​อยาก​จะ​ทำลาย​ชื่อเสียง​ของ​ผู้​เขียน​โดย​ไม่​อ่าน​หนังสือ​ของ​เขา​ให้​ดี​เสีย​ก่อน.”

นิกาย​ลูเทอรัน​เป็น​กลุ่ม​แรก​ที่​เรียก​หนังสือ​เล่ม​นี้​ว่า “หนังสือ​ไร้​สาระ.” ส่วน​คริสตจักร​คาทอลิก แม้​ใน​ตอน​แรก​จะ​ไม่​ได้​แสดง​ความ​คิด​เห็น​อะไร แต่​ภาย​หลัง​กลับ​เห็น​ว่า​หนังสือ​เล่ม​นี้​ขัด​แย้ง​กับ​หลัก​ข้อ​เชื่อ​ของ​คาทอลิก และ​ใน​ปี 1616 งาน​เขียน​ของ​โคเพอร์นิคัส​ก็​ถูก​เพิ่ม​เข้า​ไป​ใน​บัญชี​ราย​ชื่อ​หนังสือ​ต้อง​ห้าม และ​ไม่​มี​การ​ลบ​ออก​จาก​บัญชี​ดัง​กล่าว​จน​ถึง​ปี 1828. ใน​บท​นำ​ของ​หนังสือ​ดัง​กล่าว​ที่​แปล​เป็น​ภาษา​อังกฤษ ชาลส์ เกลน วอลลิส ชี้​แจง​ว่า “ความ​ขัด​แย้ง​ระหว่าง​คาทอลิก​และ​โปรเตสแตนต์​ทำ​ให้​ทั้ง​สอง​นิกาย​นี้​ต่าง​ก็​กลัว​เรื่อง​ฉาวโฉ่​ที่​อาจ​ทำ​ให้​ตน​ไม่​ได้​รับ​ความ​นับถือ​ฐานะ​คริสตจักร​แห่ง​คัมภีร์​ไบเบิล และ​ผล​ที่​ตาม​มา​ก็​คือ พวก​เขา​ตี​ความ​พระ​คัมภีร์​ตาม​ตัว​อักษร​มาก​เกิน​ไป​และ​มี​แนว​โน้ม​จะ​ตำหนิ​ทฤษฎี​ใด ๆ ก็​ตาม​ที่​อาจ​ถือ​ว่า​ขัด​แย้ง​กับ​การ​ตี​ความ​คัมภีร์​ไบเบิล​ตาม​ตัว​อักษร.” * สำหรับ​ข้อ​กล่าวหา​ที่​ว่า​ทฤษฎี​ของ​โคเพอร์นิคัส​ขัด​แย้ง​กับ​คำ​สอน​ใน​คัมภีร์​ไบเบิล กาลิเลโอ​เขียน​ว่า “[โคเพอร์นิคัส] ไม่​เคย​มอง​ข้าม​คัมภีร์​ไบเบิล แต่​เขา​รู้​ดี​ว่า​ถ้า​ทฤษฎี​ของ​เขา​ได้​รับ​การ​พิสูจน์ ทฤษฎี​นั้น​จะ​ไม่​ขัด​แย้ง​กับ​คัมภีร์​ไบเบิล​เลย​หาก​มี​การ​เข้าใจ​พระ​คัมภีร์​อย่าง​ถูก​ต้อง.”

ทุก​วัน​นี้ ผู้​คน​มาก​มาย​ยกย่อง​โคเพอร์นิคัส​ฐานะ​บิดา​แห่ง​ดาราศาสตร์​สมัย​ใหม่. จริง​อยู่ คำ​อธิบาย​ของ​เขา​เกี่ยว​กับ​เอกภพ​ได้​รับ​การ​ปรับ​ปรุง​แก้ไข​โดย​นัก​วิทยาศาสตร์​รุ่น​ต่อ ๆ มา เช่น กาลิเลโอ, เคปเลอร์, และ​นิวตัน. แต่​โอเวน กิงกริช นัก​ดาราศาสตร์​ฟิสิกส์​ให้​ข้อ​สังเกต​ว่า “งาน​ของ​โคเพอร์นิคัส​แสดง​ให้​เรา​เห็น​ว่า แนว​คิด​ทาง​วิทยาศาสตร์​ที่​ได้​รับ​การ​ยกย่อง​มา​นาน​นั้น​เปราะ​บาง​เพียง​ใด.” โดย​การ​ค้นคว้า, การ​เฝ้า​สังเกต, และ​การ​คำนวณ โคเพอร์นิคัส​หักล้าง​แนว​คิด​ผิด ๆ ทาง​ศาสนา​และ​วิทยาศาสตร์​ที่​ฝัง​ราก​ลึก. สำหรับ​ความ​คิด​ของ​คน​ทั่ว​ไป​แล้ว เขา “จับ​ดวง​อาทิตย์​ไว้​แล้ว​หมุน​โลก.”

[เชิงอรรถ]

^ วรรค 23 ตัว​อย่าง​เช่น ตาม​เรื่อง​ราว​ที่​บันทึก​ใน​ยะโฮซูอะ 10:13 ซึ่ง​กล่าว​ถึง​ดวง​อาทิตย์​หยุด​นิ่ง​นั้น เป็น​คำ​พูด​ที่​ใช้​เพื่อ​ยืน​ยัน​ว่า ดวง​อาทิตย์​เคลื่อน​ที่ ไม่​ใช่​โลก.

[กรอบ/ภาพ​หน้า 17]

เรื่อง​การ​โคจร​ของ​ดวง​ดาว​ต่าง ๆ ใน​ทรง​กลม​โปร่ง​ใส​ของ​ท้องฟ้า

โคเพอร์นิคัส​แบ่ง​เนื้อหา​ใน​หนังสือ​ของ​ตน​ออก​เป็น​หก​ตอน. ต่อ​ไป​นี้​เป็น​แนว​คิด​หลัก​บาง​ประการ​ที่​มี​อยู่​ใน​หนังสือ​ของ​เขา.

● โลก​ของ​เรา​เป็น​หนึ่ง​ใน​บรรดา “นัก​เดิน​ทาง” มาก​มาย​ที่​หมุน​เคลื่อน​เนื่อง​จาก​ถูก​ควบคุม​โดย ‘ดวง​อาทิตย์​ซึ่ง​นั่ง​อยู่​บน​บัลลังก์.’

● ดาว​เคราะห์​ต่าง ๆ โคจร​รอบ​ดวง​อาทิตย์​ไป​ใน​ทิศ​ทาง​เดียว​กัน. โลก​เป็น​หนึ่ง​ใน​ดาว​เคราะห์​เหล่า​นั้น​ที่​หมุน​รอบ​แกน​ครบ​รอบ​ใน​หนึ่ง​วัน​และ​โคจร​รอบ​ดวง​อาทิตย์​รอบ​ละ​หนึ่ง​ปี.

● ดาว​เคราะห์​ต่าง ๆ ห่าง​จาก​ดวง​อาทิตย์​ตาม​ลำดับ​คือ ดาว​พุธ​อยู่​ใกล้​ที่​สุด ถัด​มา​คือ​ดาว​ศุกร์, โลก​และ​ดวง​จันทร์, ดาว​อังคาร, ดาว​พฤหัสบดี และ​สุด​ท้าย​ดาว​เสาร์.

[ที่​มา​ของ​ภาพ]

Title page of Copernicus’ work: Zbiory i archiwum fot. Muzeum Okręgowego w Toruniu

[ภาพ​หน้า 14]

อุปกรณ์​ใน​การ​สังเกตการณ์​ที่​โคเพอร์นิคัส​ใช้

[ที่​มา​ของ​ภาพ]

Zbiory i archiwum fot. Muzeum Okręgowego w Toruniu

[ภาพ​หน้า 15]

สิ่ง​ของ​ต่าง ๆ ที่​โคเพอร์นิคัส​ใช้​ใน​การ​ศึกษา​ค้นคว้า​ซึ่ง​จัด​แสดง​ใน​หอ​ดู​ดาว​ของ​เขา​ที่​ฟรอม​บอร์ก โปแลนด์

[ที่​มา​ของ​ภาพ]

Zdjecie: Muzeum M. Kopernika we Fromborku; J. Semków

[ภาพ​หน้า 16]

โลก​เป็น​ศูนย์กลาง​ของ​เอกภพ

[ที่​มา​ของ​ภาพ]

© 1998 Visual Language

[ภาพ​หน้า 16]

ดวง​อาทิตย์​เป็น​ศูนย์กลาง​ของ​เอกภพ

[ที่​มา​ของ​ภาพ]

© 1998 Visual Language

[ภาพ​หน้า 16, 17]

ระบบ​สุริยะ​ตาม​ที่​เรา​เข้าใจ​ใน​ทุก​วัน​นี้