ภัยธรรมชาติกับน้ำมือมนุษย์
ภัยธรรมชาติกับน้ำมือมนุษย์
ถ้ารถยนต์ได้รับการดูแลรักษาเป็นอย่างดี เราก็ขับไปไหนมาไหนได้อย่างปลอดภัย. แต่ถ้ารถยนต์ถูกใช้ผิดวิธีและไม่ได้รับการดูแลรักษา มันก็อาจเป็นอันตรายได้. ในบางแง่ โลกของเราก็เป็นเช่นเดียวกัน.
ในความเห็นของนักวิทยาศาสตร์หลายคน การเปลี่ยนแปลงในบรรยากาศและมหาสมุทรของโลกที่เกิดจากน้ำมือมนุษย์ทำให้โลกของเราเป็นสถานที่ที่อันตรายโดยมีส่วนทำให้เกิดภัยธรรมชาติบ่อยขึ้นและรุนแรงขึ้น. ส่วนอนาคตก็ไม่อาจจะคาดคะเนอะไรได้. “เรากำลังทำการทดลองขนานใหญ่กับโลกใบเดียวที่เรามีอยู่โดยที่เราไม่แน่ใจว่าผลสุดท้ายจะเป็นอย่างไร” บทบรรณาธิการเรื่องการเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศในวารสารไซเยนซ์ กล่าวไว้.
เพื่อเราจะเข้าใจดีขึ้นว่าการกระทำของมนุษย์อาจทำให้เกิดภัยธรรมชาติบ่อยขึ้นและรุนแรงขึ้นได้อย่างไร เราต้องเข้าใจบางอย่างเกี่ยวกับปรากฏการณ์ทางธรรมชาติที่เป็นสาเหตุเสียก่อน. ตัวอย่างเช่น อะไรทำให้เกิดพายุขนาดใหญ่เช่นพายุเฮอร์ริเคน?
เครื่องถ่ายเทความร้อนของโลก
มีการเปรียบระบบภูมิอากาศของโลกเป็นเสมือนเครื่องที่แปลงพลังงานและกระจายพลังงานจากดวงอาทิตย์. เนื่อง * การหมุนรอบตัวเองของโลกแต่ละวันทำให้อากาศชื้นที่เคลื่อนไหวนี้กลายเป็นกระแสลมวน ซึ่งบางส่วนกลายเป็นดีเปรสชัน หรือหย่อมความกดอากาศต่ำ. แล้วหย่อมความกดอากาศเหล่านี้ก็อาจมีกำลังแรงขึ้นจนกลายเป็นพายุ.
จากพื้นที่ในเขตร้อนได้รับพลังงานความร้อนมากที่สุดจากดวงอาทิตย์ จึงทำให้มีอุณหภูมิแตกต่างกันและทำให้อากาศมีการเคลื่อนไหว.ถ้าคุณพิจารณาเส้นทางทั่ว ๆ ไปของพายุโซนร้อน คุณจะเห็นว่ามันมักจะเคลื่อนตัวออกจากเส้นศูนย์สูตร—ไม่ว่าทางเหนือหรือใต้—ไปยังพื้นที่ที่เย็นกว่า. เมื่อเป็นอย่างนี้ พายุยังทำหน้าที่เป็นเครื่องถ่ายเทความร้อนขนาดมหึมาของโลก และช่วยให้ภูมิอากาศไม่ร้อนจัดหรือหนาวจัดเกินไป. แต่เมื่ออุณหภูมิที่ผิวน้ำของมหาสมุทร—ซึ่งเป็นเหมือน “ห้องต้มน้ำ” ของระบบภูมิอากาศ—สูงเกินกว่า 27 องศาเซลเซียส พายุเขตร้อนก็อาจได้รับพลังมากพอที่จะกลายเป็นพายุไซโคลน, พายุเฮอร์ริเคน, หรือพายุไต้ฝุ่น—ซึ่งเป็นชื่อเรียกปรากฏการณ์เดียวกันในแต่ละภูมิภาค.
เกี่ยวกับจำนวนผู้เสียชีวิต ภัยธรรมชาติที่ร้ายแรงที่สุดในประวัติศาสตร์ของสหรัฐเกิดจากพายุเฮอร์ริเคนซึ่งพัดกระหน่ำเมืองกัลเวสตันที่อยู่บนเกาะในรัฐเทกซัส เมื่อวันที่ 8 กันยายน 1900. คลื่นในทะเลจากพายุลูกนี้ทำให้คนที่อยู่ในเมืองเสียชีวิต 6,000 ถึง 8,000 คน ทั้งยังทำให้ผู้คนในพื้นที่ใกล้เคียงเสียชีวิตถึง 4,000 คนและทำลายบ้านเรือนประมาณ 3,600 หลัง. ที่จริง ไม่มีสิ่งก่อสร้างใดของมนุษย์ในเมืองกัลเวสตันที่ไม่ได้รับความเสียหาย.
ดังที่กล่าวไว้ในบทความก่อน มีพายุที่รุนแรงหลายลูกเกิดขึ้นในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา. นักวิทยาศาสตร์กำลังศึกษาว่าเรื่องนี้เกี่ยวข้องกับภาวะที่โลกร้อนขึ้นหรือไม่ ซึ่งภาวะนี้อาจทำให้พายุมีกำลังแรงขึ้น. อย่างไรก็ตาม การเปลี่ยนแปลงของลมฟ้าอากาศอาจเป็นเพียงอาการอย่างหนึ่งของภาวะที่โลกร้อนขึ้น. ผลพวงอีกอย่างหนึ่งที่อาจก่อความเสียหายได้นั้นอาจปรากฏให้เห็นอยู่แล้ว.
ระดับน้ำทะเลสูงขึ้นและการทำลายป่า
บทบรรณาธิการในวารสารไซเยนซ์ กล่าวว่า “ในช่วง 100 ปีที่ผ่านมา ระดับน้ำทะเลได้สูงขึ้น 10 ถึง 20 เซนติเมตรและมีแนวโน้มว่าจะสูงขึ้นอีก.” เรื่องนี้อาจเกี่ยวข้องกับภาวะที่โลกร้อนขึ้นอย่างไร? นักวิจัยชี้ไปยังกลไกสองอย่างที่เป็นไปได้. อย่างหนึ่งคือ น้ำแข็งและธารน้ำแข็งขั้วโลกที่อยู่บนพื้นดินอาจจะละลาย และทำให้น้ำในมหาสมุทรมีปริมาตรเพิ่มขึ้น. อีกปัจจัยหนึ่งคือ การขยายตัวเพราะความร้อน คือเมื่อมหาสมุทรอุ่นขึ้น น้ำก็จะมีปริมาตรเพิ่มขึ้นด้วย.
เกาะเล็ก ๆ ในมหาสมุทรแปซิฟิกที่ชื่อตูวาลูอาจกำลังได้รับผลกระทบจากระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้นอยู่แล้ว. วารสารสมิทโซเนียน กล่าวว่า ข้อมูลที่เก็บรวบรวมบนเกาะปะการังวงแหวนฟูนาฟูตีแสดงว่า ระดับน้ำทะเลที่นั่นสูงขึ้น “โดยเฉลี่ยปีละ 0.22 นิ้ว [5.6 มิลลิเมตร] ในระยะสิบปีหลังนี้.”
ในหลายส่วนของโลก จำนวนประชากรที่เพิ่มขึ้นหมายถึง มีการขยายเขตเมืองเพิ่มขึ้นโดยไม่มีการควบคุม, มีชุมชนแออัดเพิ่มขึ้น, และมีความเสื่อมโทรมทางสิ่งแวดล้อม
มากขึ้น. แนวโน้มนี้อาจทำให้ภัยธรรมชาติมีความรุนแรงมากขึ้น. ขอพิจารณาบางตัวอย่าง.เฮติเป็นประเทศหนึ่งที่มีประชากรหนาแน่นและมีการทำลายป่ามานาน. รายงานข่าวเมื่อเร็ว ๆ นี้กล่าวว่า แม้เศรษฐกิจ, การเมือง, และปัญหาสังคมของเฮติจะย่ำแย่สักเพียงไร แต่ก็ไม่มีอะไรที่คุกคามความอยู่รอดของประเทศมากไปกว่าการตัดไม้ทำลายป่า. ภัยที่เกิดจากการทำลายป่านี้ปรากฏผลที่น่าเศร้าในปี 2004 เมื่อพายุฝนได้ทำให้เกิดโคลนถล่มจนมีผู้เสียชีวิตหลายพันคน.
วารสารไทม์ ฉบับเอเชียชี้ว่า “ภาวะที่โลกร้อนขึ้น, เขื่อน, การทำลายป่าและการทำไร่เลื่อนลอย” เป็นปัจจัยที่ทำให้ภัยธรรมชาติมีความรุนแรงยิ่งขึ้นซึ่งได้สร้างความหายนะให้แก่เอเชียใต้. ในอีกด้านหนึ่ง การตัดไม้ทำลายป่าอาจทำให้เกิดความแห้งแล้งยิ่งขึ้น เนื่องจากทำให้ดินแห้งเร็วขึ้น. ในช่วงไม่กี่ปีมานี้ ภัยแล้งที่อินโดนีเซียและบราซิลทำให้เกิดไฟป่าครั้งร้ายแรงที่สุดเป็นประวัติการณ์ ทั้ง ๆ ที่ปกติแล้วป่าแถบนั้นจะมีความชุ่มชื้นมากเกินกว่าที่จะเกิดไฟไหม้ได้. อย่างไรก็ตาม สภาพอากาศที่ผิดปกติอย่างมากไม่ใช่สาเหตุเพียงอย่างเดียวที่ทำให้เกิดภัยธรรมชาติ. หลายประเทศประสบภัยพิบัติที่เกิดขึ้นใต้พื้นโลก.
เมื่อแผ่นดินสะเทือนหวั่นไหว
เปลือกโลกชั้นนอกประกอบด้วยแผ่นเปลือกโลกหลาย ๆ ขนาดซึ่งมีการเคลื่อนที่ในทิศทางต่าง ๆ กัน. ที่จริง มีการเคลื่อนที่ของเปลือกโลกมากถึงขนาดที่ทำให้มีแผ่นดินไหวเกิดขึ้นนับล้านครั้งในแต่ละปี. แน่นอน แผ่นดินไหวเหล่านี้จำนวนมากเราไม่อาจตรวจจับได้.
กล่าวกันว่าประมาณ 90 เปอร์เซ็นต์ของแผ่นดินไหวทั้งหมดเกิดขึ้นที่รอยเลื่อนตามขอบแผ่นเปลือกโลก. แม้ว่าแผ่นดินไหวที่เกิดขึ้นกลางแผ่นเปลือกโลกมีไม่บ่อยนัก แต่บางครั้งก็สร้างความเสียหายอย่างมาก. ตามการกะประมาณ แผ่นดินไหวครั้งที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตมากที่สุดในประวัติศาสตร์คือ แผ่นดินไหวที่เกิดขึ้นในสามมณฑลของประเทศจีนเมื่อปี 1556. ครั้งนั้นอาจมีผู้เสียชีวิตมากถึง 830,000 คน!
แผ่นดินไหวอาจส่งผลกระทบที่ร้ายแรงมากตามมา. ตัวอย่างเช่น เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 1755 แผ่นดินไหว
ได้ทำลายกรุงลิสบอน ประเทศโปรตุเกส ซึ่งมีประชากร 275,000 คน จนราบเป็นหน้ากลอง. แต่ความสยดสยองยังไม่จบแค่นี้. แผ่นดินไหวครั้งนั้นทำให้เกิดไฟไหม้และคลื่นสึนามิ ซึ่งเชื่อกันว่าสูงถึง 15 เมตรจากมหาสมุทรแอตแลนติกโถมกระหน่ำเข้าสู่เมืองนี้. เมื่อคิดรวมทั้งหมดแล้ว ยอดผู้เสียชีวิตในเมืองนี้มีสูงกว่า 60,000 คน.อย่างไรก็ตาม ในกรณีนี้ก็เช่นกันที่ความรุนแรงของภัยพิบัติเหล่านี้เกี่ยวข้องกับสิ่งที่มนุษย์ทำในระดับหนึ่ง. ปัจจัยหนึ่งก็คือ การที่คนอาศัยอยู่อย่างหนาแน่นในพื้นที่ที่มีความเสี่ยงสูง. นักเขียนชื่อแอนดรูว์ โรบินสัน เขียนว่า “เกือบครึ่งหนึ่งของเมืองใหญ่ ๆ ในโลกตอนนี้ตั้งอยู่ในพื้นที่ที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดแผ่นดินไหว.” อีกปัจจัยหนึ่งคือตัวอาคารเอง รวมทั้งวัสดุและความแข็งแรงของโครงสร้าง. คำพูดที่ว่า “แผ่นดินไหวไม่ได้ทำให้คนตาย; แต่อาคารทำให้คนตาย” ก็ปรากฏว่าเป็นความจริงในหลายต่อหลายครั้ง. แต่ผู้คนจะมีทางเลือกอะไรในเมื่อพวกเขายากจนเกินกว่าที่จะสร้างบ้านที่ทนแผ่นดินไหวได้?
ภูเขาไฟ—ผู้สร้างและผู้ทำลาย
“ภูเขาไฟอย่างน้อย 20 ลูกอาจกำลังปะทุอยู่ในขณะที่คุณอ่านข้อความนี้” รายงานโดยสถาบันสมิทโซเนียนในสหรัฐกล่าว. พูดอย่างกว้าง ๆ ทฤษฎีการเคลื่อนที่ของแผ่นเปลือกโลกกล่าวว่า แผ่นดินไหวและภูเขาไฟจะเกิดขึ้นในพื้นที่ที่มีลักษณะเดียวกัน คือตามหุบเขาทรุด โดยเฉพาะอย่างยิ่งหุบเขาทรุดใต้มหาสมุทร; ในแผ่นเปลือกโลก ที่ซึ่งหินหนืดหรือแมกมาทะลักจากเนื้อโลกขึ้นมาทางรอยแยก; รวมทั้งตามเขตมุดตัวของเปลือกโลกที่ซึ่งแผ่นเปลือกโลกแผ่นหนึ่งมุดเข้าไปข้างใต้อีกแผ่นหนึ่ง.
ภูเขาไฟที่เกิดขึ้นตามเขตมุดตัวเป็นภัยที่ร้ายแรงที่สุดต่อผู้คนทั้งในด้านจำนวนการปะทุที่เห็นได้และการที่มันอยู่ใกล้กับพื้นที่ที่มีประชากรอาศัยอยู่. เขตรอบ ๆ มหาสมุทรแปซิฟิก ซึ่งถูกเรียกว่าวงแหวนแห่งไฟ มีภูเขาไฟลักษณะนี้มากมายหลายร้อยลูก. นอกจากนี้ มีภูเขาไฟบางลูกอยู่ตรงจุดร้อนซึ่งอยู่ห่างจากขอบแผ่นเปลือกโลกด้วย. หมู่เกาะฮาวาย, หมู่เกาะอะซอร์ส, หมู่เกาะกาลาปากอส, หมู่เกาะโซไซเอตีล้วนเกิดจากภูเขาไฟที่อยู่ตรงจุดร้อนทั้งสิ้น.
ที่จริงแล้ว ภูเขาไฟมีบทบาทเชิงสร้างสรรค์มานานในประวัติศาสตร์โลก. เว็บไซต์ของมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งกล่าวว่า มากถึง “90% ของทวีปและพื้นมหาสมุทรทั้งหมดเป็นผลผลิตของภูเขาไฟ.” แต่อะไรทำให้การปะทุในบางครั้งรุนแรงเหลือเกิน?
การปะทุเริ่มจากการที่หินหนืดเอ่อล้นออกมาจากภายในโลกซึ่งร้อนมาก. ภูเขาไฟบางลูกเพียงแต่ค่อย ๆ ปล่อยลาวาให้ไหลออกมา ซึ่งน้อยครั้งนักที่จะไหลเร็วถึงขนาดที่ไปถึงผู้คนโดยไม่ทันตั้งตัว. แต่ภูเขาไฟบางลูกก็ระเบิดด้วยพลังงานที่มากกว่าระเบิดนิวเคลียร์เสียอีก! ปัจจัยในเรื่องนี้ก็มีองค์ประกอบและความหนืดของวัตถุหลอมเหลวซึ่งให้พลังงานแก่ภูเขาไฟ และปริมาณของแก๊สและน้ำร้อนจัดซึ่งปนอยู่ในวัตถุนั้น. ขณะที่หินหนืดเอ่อขึ้นมาใกล้ถึงผิวโลก น้ำและแก๊สที่ถูกขังอยู่ก็จะขยายตัวอย่างรวดเร็ว. เมื่อ
มีองค์ประกอบที่เหมาะสมของหินหนืด ผลของมันก็ไม่ต่างอะไรกับโซดาซึ่งพุ่งออกมาจากกระป๋องเครื่องดื่ม.แต่ก็ยังดีที่ภูเขาไฟมักจะส่งสัญญาณเตือนล่วงหน้าก่อนที่จะระเบิด. ในกรณีของภูเขาไฟเปเล บนเกาะมาร์ตินีกในทะเลแคริบเบียนเมื่อปี 1902 ก็เป็นเช่นนี้ด้วย. อย่างไรก็ตาม ช่วงนั้นกำลังใกล้จะถึงการเลือกตั้งที่เมืองแซงปีแยร์ซึ่งอยู่ใกล้ ๆ กันนั้น และพวกนักการเมืองก็เกลี้ยกล่อมผู้คนให้อยู่ต่อ แม้ว่าจะมีเถ้าถ่านตกลงมา, มีผู้คนเจ็บป่วย, และความหวาดกลัวได้แพร่ไปทั่วเมือง. ที่จริง ห้างร้านส่วนใหญ่ก็ปิดเป็นเวลาหลายวันแล้ว!
วันที่ 8 พฤษภาคมเป็นวันฉลองที่เรียกว่าแอสเซนชัน และหลายคนไปที่มหาวิหารของคาทอลิกเพื่ออธิษฐานขอการช่วยให้รอดจากภูเขาไฟ. เช้าวันนั้น ไม่กี่นาทีก่อน 8:00 น. ภูเขาไฟเปเลก็ระเบิด และพ่นหินตะกอนภูเขาไฟที่ร้อนจัด—เถ้าถ่าน, กรวด, หินออบซิเดียน, หินพัมมิซ, และแก๊สที่มีความร้อนสูงมากซึ่งมีอุณหภูมิประมาณ 200 ถึง 500 องศาเซลเซียส. เมฆควันอันมืดมิดแห่งความตายจากการระเบิดพุ่งลงมาจากภูเขาและปกคลุมพื้นดิน, ท่วมทับเมืองนั้น, สังหารผู้คนไปเกือบ 30,000 คน, ทำให้ระฆังโบสถ์ละลาย, และทำให้เรือที่จอดอยู่ในอ่าวลุกเป็นไฟ. นั่นเป็นภูเขาไฟระเบิดที่ทำให้ผู้คนเสียชีวิตมากที่สุดในศตวรรษที่ 20. กระนั้น คงจะไม่มีคนตายมากขนาดนี้ถ้าผู้คนใส่ใจฟังคำเตือน.
ภัยธรรมชาติจะเพิ่มขึ้นอีกไหม?
สหพันธ์สภากาชาดและสภาเสี้ยววงเดือนแดงระหว่างประเทศกล่าวในรายงานภัยธรรมชาติโลก 2004 (ภาษาอังกฤษ) ว่า ระหว่างสิบปีที่ผ่านมา ภัยพิบัติที่เกี่ยวข้องกับธรณีฟิสิกส์และลมฟ้าอากาศได้เพิ่มขึ้นกว่า 60 เปอร์เซ็นต์. รายงานนี้ซึ่งจัดพิมพ์ก่อนเกิดมหันตภัยคลื่นสึนามิในมหาสมุทรอินเดียเมื่อวันที่ 26 ธันวาคม กล่าวว่า “นี่แสดงให้เห็นแนวโน้มระยะยาว.” ไม่ต้องสงสัย ถ้าประชากรในพื้นที่ที่มีความเสี่ยงสูงยังคงเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ และป่าไม้ยังคงลดลงเรื่อย ๆ ก็ยากที่จะมองในแง่ดี.
นอกจากนั้น ประเทศอุตสาหกรรมหลายประเทศยังคงปล่อยแก๊สเรือนกระจกออกสู่บรรยากาศมากขึ้นทุกที. บทบรรณาธิการในวารสารไซเยนส์ กล่าวว่า การผัดวันประกันพรุ่งในเรื่องการลดปริมาณการปล่อยแก๊ส “ก็เหมือนกับการไม่ยอมกินยาทั้ง ๆ ที่โรคติดเชื้อกำลังลุกลาม คือรับรองได้ว่าจะต้องเสียค่าใช้จ่ายสูงขึ้นในภายหลัง.” เมื่อชี้ถึงค่าใช้จ่ายเหล่านี้ รายงานจากแคนาดาเรื่องการบรรเทาภัยพิบัติกล่าวว่า “การเปลี่ยนแปลงทางภูมิอากาศอาจถูกกล่าวถึงว่าเป็นปัญหาทางสิ่งแวดล้อมที่ส่งผลมากที่สุดและกว้างไกลที่สุดเท่าที่ประชาคมโลกเคยรับมือกันมา.”
อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันประชาคมโลกยังไม่สามารถเห็นพ้องกันด้วยซ้ำว่าสิ่งที่มนุษย์ทำนั้นมีส่วนทำให้เกิดภาวะที่โลกร้อนขึ้นหรือไม่ โดยยังไม่ต้องพูดถึงวิธีจัดการกับเรื่องนี้. สภาพการณ์นี้ทำให้เรานึกถึงความจริงที่กล่าวไว้ในคัมภีร์ไบเบิลที่ว่า “ไม่ใช่ที่มนุษย์ซึ่งดำเนินนั้นจะได้กำหนดก้าวของตัวได้.” (ยิระมะยา 10:23) กระนั้น ดังที่เราจะได้เห็นในบทความถัดไป สภาพการณ์ก็ไม่สิ้นหวัง. ที่จริง ความหายนะในปัจจุบัน รวมทั้งสภาพการณ์อันวุ่นวายที่เกิดขึ้นในสังคมมนุษย์ เป็นหลักฐานที่เพิ่มขึ้นว่าการแก้ปัญหาใกล้เข้ามาแล้ว.
[เชิงอรรถ]
^ วรรค 6 การแผ่ความร้อนจากดวงอาทิตย์ที่ไม่เท่ากันยังทำให้เกิดกระแสน้ำในมหาสมุทรซึ่งถ่ายเทพลังงานไปยังบริเวณที่เย็นกว่าด้วย.
[กรอบ/ภาพหน้า 6]
เมื่อมีสิ่งประหลาดงอกขึ้นในไร่ข้าวโพด
เมื่อปี 1943 ชาวไร่ข้าวโพดคนหนึ่งในเม็กซิโกเห็นอะไรบางอย่างที่ไม่ใช่ข้าวโพดงอกขึ้นในไร่ของเขา. เมื่ออยู่ในไร่ เขาเห็นรอยแยกที่พื้นดิน. วันถัดมา รอยแยกนั้นกลายเป็นภูเขาไฟลูกเล็ก ๆ. ในสัปดาห์ถัดมา กรวยภูเขาไฟก็โตขึ้นถึง 150 เมตร และในปีถัดมามันก็สูงขึ้นเป็น 360 เมตร. ในที่สุดกรวยภูเขาไฟนี้ ซึ่งตั้งอยู่สูงกว่าระดับน้ำทะเล 2,775 เมตร ก็มีความสูงอยู่ที่ 430 เมตร. ภูเขาไฟลูกนี้ที่เรียกกันว่า ปารีกูติน จู่ ๆ ก็หยุดปะทุในปี 1952 และสงบเงียบตั้งแต่นั้นมา.
[ที่มาของภาพ]
U. S. Geological Survey/Photo by R. E. Wilcox
[กรอบ/ภาพหน้า 8]
เมื่อพระเจ้าช่วยชาติต่าง ๆ ให้รอดพ้นจากภัยพิบัติ
การขาดแคลนอาหารเป็นภัยธรรมชาติอย่างหนึ่ง. การขาดแคลนอาหารครั้งแรก ๆ ในประวัติศาสตร์ที่มีบันทึกไว้เกิดขึ้นที่อียิปต์โบราณ ในสมัยของโยเซฟ บุตรของยาโคบหรืออิสราเอล. การขาดแคลนอาหารครั้งนั้นนานถึงเจ็ดปี และส่งผลกระทบต่ออียิปต์, คะนาอัน, รวมทั้งดินแดนอื่น ๆ. แต่เหตุการณ์ครั้งนั้นไม่ได้ทำให้คนจำนวนมหาศาลอดอยาก เพราะพระยะโฮวาทรงบอกเรื่องการขาดแคลนอาหารนั้นล่วงหน้าเจ็ดปี. พระองค์ยังเปิดเผยด้วยว่าช่วงก่อนจะเกิดการขาดแคลนอาหารนั้นจะเป็นช่วงที่มีอาหารอุดมสมบูรณ์ในอียิปต์. ภายใต้การดูแลของโยเซฟผู้เกรงกลัวพระเจ้า ซึ่งถูกแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีและผู้บริหารจัดการด้านอาหารโดยการแทรกแซงจากพระเจ้า ชาวอียิปต์จึงได้เก็บธัญญาหารไว้มากจน “มิได้คิดบัญชี.” ด้วยเหตุนี้ อียิปต์จึงมีอาหารซึ่งนอกจากจะสามารถเลี้ยงประชากรของตนแล้วยังเลี้ยง “ชนชาวทุกประเทศ” รวมทั้งครัวเรือนของโยเซฟได้ด้วย.—เยเนซิศ 41:49, 57; 47:11, 12.
[ภาพหน้า 7]
เฮติ 2004 เด็กผู้ชายแบกถังน้ำดื่มในถนนที่ถูกน้ำท่วม. การตัดไม้ทำลายป่าขนานใหญ่ทำให้เกิดโคลนถล่มครั้งใหญ่
[ที่มาของภาพ]
Background: Sophia Pris/EPA/Sipa Press; inset: Carl Juste/Miami Herald/Sipa Press
[ภาพหน้า 9]
หลายชาติยังคงปล่อยแก๊สเรือนกระจกออกมาสู่บรรยากาศอยู่เรื่อย ๆ
[ที่มาของภาพ]
© Mark Henley/Panos Pictures