ข้ามไปยังเนื้อหา

ข้ามไปยังสารบัญ

ภัยธรรมชาติกำลังเพิ่มขึ้นหรือ?

ภัยธรรมชาติกำลังเพิ่มขึ้นหรือ?

ภัย​ธรรมชาติ​กำลัง​เพิ่ม​ขึ้น​หรือ?

“เรา​เกรง​ว่า​ภัย​พิบัติ​ซึ่ง​มี​สาเหตุ​มา​จาก​การ​เปลี่ยน​แปลง​ของ​สภาพ​ภูมิอากาศ​จะ​ส่ง​ผล​ที่​ร้ายแรง​มาก​ขึ้น​เรื่อย ๆ ใน​อนาคต. นี่​หมาย​ความ​ว่า​เรา​ต้อง​เตรียม​ตัว​รับมือ​กับ​ภัย​ใหม่ ๆ ที่​จะ​เกิด​จาก​ลม​ฟ้า​อากาศ​ซึ่ง​อาจ​สร้าง​ความ​เสียหาย​มาก​ขึ้น. . . . ตาม​มาตรการ​ป้องกัน เรา​ควร​จะ​เตรียม​ตัว​ให้​พร้อม​เพื่อ​เผชิญ​กับ​การ​เปลี่ยน​แปลง​ที่​น่า​ตกตะลึง.”—“ทอพิกส์​จีโอรายงาน​ประจำ​ปี: มหันตภัย​ธรรมชาติ 2003.”

ใน​ฤดู​ร้อน​ปี 2003 หลาย​ส่วน​ของ​ยุโรป​มี​อากาศ​ร้อน​จัด. ความ​ร้อน​ทำ​ให้​มี​คน​เสีย​ชีวิต​ใน​เบลเยียม, บริเตน, ฝรั่งเศส, อิตาลี, เนเธอร์แลนด์, โปรตุเกส, และ​สเปน​รวม​กัน​ประมาณ 30,000 คน. คลื่น​ความ​ร้อน​ก่อน​ฤดู​มรสุม​ใน​บังกลาเทศ, อินเดีย, และ​ปากีสถาน ทำ​ให้​มี​ผู้​เสีย​ชีวิต 1,500 คน ขณะ​ที่​ความ​แห้ง​แล้ง​และ​ความ​ร้อน​ที่​สูง​เป็น​ประวัติการณ์​ใน​ออสเตรเลีย​ทำ​ให้​เกิด​ไฟ​ป่า​ซึ่ง​เผา​ผลาญ​พื้น​ที่​ไป​กว่า 17 ล้าน​ไร่.

องค์การ​อุตุนิยมวิทยา​โลก​รายงาน​ว่า “ใน​ฤดู​ที่​เกิด​เฮอร์ริเคน​ใน​มหาสมุทร​แอตแลนติก​เมื่อ​ปี 2003 นั้น มี​พายุ​ที่​มี​การ​ตั้ง​ชื่อ​เกิด​ขึ้น 16 ลูก ซึ่ง​สูง​กว่า​จำนวน​เฉลี่ย​ของ​ปี 1944-1996 มาก เนื่อง​จาก​จำนวน​เฉลี่ย​ของ​ช่วง​ปี​เหล่า​นั้น​อยู่​ที่ 9.8 กระนั้น​ก็​สอดคล้อง​กับ​แนว​โน้ม​ที่​พายุ​เขต​ร้อน​ประจำ​ปี​ได้​เพิ่ม​ขึ้น​มาก​นับ​ตั้ง​แต่​กลาง​ทศวรรษ 1990.” แนว​โน้ม​นี้​มี​ต่อ​เนื่อง​มา​ถึง​ปี 2004 ซึ่ง​มี​พายุ​เฮอร์ริเคน​หลาย​ลูก​พัด​ถล่ม​แถบ​ทะเล​แคริบเบียน​และ​อ่าว​เม็กซิโก​จน​เกิด​ความ​เสียหาย​อย่าง​หนัก และ​ทำ​ให้​มี​ผู้​เสีย​ชีวิต​ประมาณ 2,000 คน​และ​ยัง​ทิ้ง​ร่องรอย​แห่ง​ความ​เสียหาย​เอา​ไว้​เบื้อง​หลัง.

ใน​ปี 2003 พายุ​ไซโคลน​พัด​ถล่ม​ศรีลังกา​และ​ทำ​ให้​เกิด​น้ำ​ท่วม​อย่าง​หนัก​และ​มี​ผู้​เสีย​ชีวิต​อย่าง​น้อย 250 คน. ใน​ปี 2004 มี​พายุ​ไต้ฝุ่น​ก่อ​ตัว​ขึ้น​ใน​เขต​มหาสมุทร​แปซิฟิก​ด้าน​ตะวัน​ตก​อย่าง​น้อย 23 ลูก​ซึ่ง​ถือ​เป็น​สถิติ​ใหม่. ใน​จำนวน​นี้​มี​สิบ​ลูก​พัด​ถล่ม​ประเทศ​ญี่ปุ่น ซึ่ง​ได้​ก่อ​ความ​เสียหาย​อย่าง​รุนแรง​และ​ทำ​ให้​มี​ผู้​เสีย​ชีวิต​กว่า 170 คน. น้ำ​ท่วม​ที่​เกิด​จาก​ฝน​มรสุม​ซึ่ง​ตก​หนัก​มาก​ส่ง​ผล​กระทบ​ต่อ​ประชากร​เกือบ 30 ล้าน​คน​ใน​เอเชีย​ใต้ โดย​เฉพาะ​อย่าง​ยิ่ง​ใน​บังกลาเทศ. หลาย​ล้าน​คน​ไร้​ที่​อยู่, เกือบ​สาม​ล้าน​คน​ต้อง​อพยพ, และ​กว่า 1,300 คน​เสีย​ชีวิต.

เกิด​แผ่นดิน​ไหว​ที่​รุนแรง​หลาย​ครั้ง​ใน​ปี 2003. เมื่อ​วัน​ที่ 21 พฤษภาคม ที่​กรุง​แอลเจียร์ ประเทศ​แอลจีเรีย เกิด​แผ่นดิน​ไหว​ซึ่ง​ทำ​ให้​มี​ผู้​ได้​รับ​บาดเจ็บ 10,000 คน​และ​ทำ​ให้​ผู้​คน 200,000 คน​ไร้​ที่​อยู่​อาศัย. เมื่อ​เวลา 5:26 น. ของ​วัน​ที่ 26 ธันวาคม เกิด​แผ่นดิน​ไหว​ห่าง​จาก​เมือง​บาม​ใน​ประเทศ​อิหร่าน​ลง​ไป​ทาง​ใต้ 8 กิโลเมตร. แผ่นดิน​ไหว​ครั้ง​นั้น​มี​ความ​รุนแรง 6.5 และ​ทำ​ให้​เมือง​นั้น​ได้​รับ​ความ​เสียหาย​ไป​ถึง 70 เปอร์เซ็นต์, มี​ผู้​เสีย​ชีวิต 40,000 คน, และ​กว่า 100,000 คน​ไร้​ที่​อยู่. นั่น​เป็น​ภัย​ธรรมชาติ​ที่​ร้ายแรง​ที่​สุด​ใน​รอบ​ปี. แผ่นดิน​ไหว​ครั้ง​นั้น​ยัง​ทำ​ให้​ป้อม​อาร์เกบาม​ที่​มี​อายุ 2,000 ปี​พัง​เสียหาย​ไป​มาก​ที​เดียว ทำ​ให้​ภูมิภาค​นี้​สูญ​เสีย​สถาน​ที่​ท่อง​เที่ยว​ที่​มี​ความ​สำคัญ​ทาง​เศรษฐกิจ​ไป.

จาก​นั้น​อีก​หนึ่ง​ปี​พอ​ดี แผ่นดิน​ไหว​ขนาด 9.0 ที่​เกิด​ขึ้น​ใกล้​ชายฝั่ง​ตะวัน​ตก​ทาง​เหนือ​ของ​เกาะ​สุมาตรา ประเทศ​อินโดนีเซีย ได้​ทำ​ให้​เกิด​คลื่น​สึนามิ​ที่​ทำ​ให้​มี​ผู้​เสีย​ชีวิต​มาก​ที่​สุด​ใน​ประวัติศาสตร์. คลื่น​มรณะ​นี้​ทำ​ให้​มี​ผู้​เสีย​ชีวิต​มาก​กว่า 200,000 คน​และ​ทำ​ให้​อีก​หลาย​คน​ได้​รับ​บาดเจ็บ, ไร้​ที่​อยู่, หรือ​ทั้ง​สอง​อย่าง. แม้​แต่​ชายฝั่ง​ตะวัน​ออก​ของ​แอฟริกา ซึ่ง​อยู่​ห่าง​จาก​ศูนย์กลาง​การ​เกิด​แผ่นดิน​ไหว​ไป​ทาง​ตะวัน​ตก 4,500 กิโลเมตร​หรือ​ไกล​กว่า​นั้น ก็​ประสบ​กับ​ความ​หายนะ​จาก​คลื่น​สึนามิ​เช่น​กัน.

ความ​หายนะ​ที่​ร้ายแรง​กว่า​นี้​ใกล้​เข้า​มา​หรือ?

เหตุ​การณ์​เช่น​นี้​บ่ง​ชี้​ถึง​สิ่ง​ที่​จะ​เกิด​ขึ้น​ใน​อนาคต​ไหม? ใน​เรื่อง​ภัย​พิบัติ​ที่​เกิด​จาก​ลม​ฟ้า​อากาศ นัก​วิทยาศาสตร์​หลาย​คน​เชื่อ​ว่า​ความ​เปลี่ยน​แปลง​ที่​เกิด​ขึ้น​ใน​บรรยากาศ​ซึ่ง​เป็น​ผล​พวง​จาก​น้ำ​มือ​มนุษย์​กำลัง​ทำ​ให้​ภูมิอากาศ​ของ​โลก​เปลี่ยน​ไป​และ​มี​ส่วน​ทำ​ให้​เกิด​สภาพ​อากาศ​ที่​รุนแรง​ผิด​ปกติ. ถ้า​เป็น​อย่าง​นั้น​จริง การ​ประเมิน​นี้​ก็​ไม่​ได้​บ่ง​ชี้​ว่า​อนาคต​จะ​ดี​ขึ้น​เลย. สิ่ง​ที่​ยิ่ง​ทำ​ให้​ความ​เสี่ยง​มี​เพิ่ม​ขึ้น​ก็​คือ ใน​ปัจจุบัน​มี​ผู้​คน​จำนวน​มาก​ขึ้น​เรื่อย ๆ อาศัย​อยู่​ใน​พื้น​ที่​ที่​มัก​เกิด​ภัย​พิบัติ ไม่​ว่า​โดย​สมัคร​ใจ​หรือ​เนื่อง​จาก​ไม่​มี​ทาง​เลือก.

สถิติ​บ่ง​ชี้​ว่า 95 เปอร์เซ็นต์​ของ​ผู้​เสีย​ชีวิต​จาก​ภัย​พิบัติ​อยู่​ใน​ประเทศ​กำลัง​พัฒนา. ใน​ทาง​กลับ​กัน ประเทศ​ที่​ร่ำรวย​มี​อัตรา​การ​เสีย​ชีวิต​ต่ำ​กว่า​แต่​ประสบ​ความ​สูญ​เสีย​ทาง​ด้าน​เศรษฐกิจ​ถึง 75 เปอร์เซ็นต์. บริษัท​ประกัน​บาง​แห่ง​ถึง​กับ​สงสัย​ว่า​ธุรกิจ​ของ​ตน​จะ​ยัง​คง​มี​เงิน​พอ​ชด​ใช้​ความ​เสียหาย​มาก​มาย​มหาศาล​ทั้ง​หมด​นี้​ไหม.

ใน​บทความ​ถัด​ไป เรา​จะ​พิจารณา​กระบวนการ​ทาง​ธรรมชาติ​บาง​อย่าง​ที่​ทำ​ให้​เกิด​ภัย​พิบัติ​และ​วิธี​ที่​มนุษย์​อาจ​ทำ​ให้​สิ่ง​นี้​มี​ความ​รุนแรง​มาก​ขึ้น. เรา​จะ​พิจารณา​ด้วย​ว่า​มนุษยชาติ​มี​ความ​สามารถ​และ​มี​ความ​ตั้งใจ​ที่​จะ​ทำ​ให้​เกิด​การ​เปลี่ยน​แปลง​ซึ่ง​จำเป็น​เพื่อ​จะ​ทำ​ให้​โลก​เป็น​บ้าน​ที่​ปลอด​ภัย​กว่า​สำหรับ​คน​รุ่น​ต่อ ๆ ไป​ไหม.

[ภาพ​หน้า 3]

ฝรั่งเศส 2003 คลื่น​ความ​ร้อน​ใน​ยุโรป​ทำ​ให้​มี​ผู้​เสีย​ชีวิต 30,000 คน; สเปน​มี​อุณหภูมิ​สูง​ถึง 44.8°ซ.

[ที่​มา​ของ​ภาพ]

Alfred/EPA/Sipa Press

[ภาพ​หน้า 4, 5]

อิหร่าน 2003 แผ่นดิน​ไหว​ที่​เมือง​บาม​ทำ​ให้​มี​ผู้​เสีย​ชีวิต 40,000 คน; พวก​ผู้​หญิง​ร่ำไห้​ให้​กับ​ญาติ​ที่​หลุม​ฝัง​ศพ​หมู่

[ที่​มา​ของ​ภาพ]

Background and women: © Tim Dirven/Panos Pictures