ข้ามไปยังเนื้อหา

ข้ามไปยังสารบัญ

ทานตะวัน—สวยงามและมีคุณค่า

ทานตะวัน—สวยงามและมีคุณค่า

ทานตะวัน—สวย​งาม​และ​มี​คุณค่า

โดย​ผู้​เขียน​ตื่นเถิด! ใน​สวิตเซอร์แลนด์

ถ้า​วัน​ไหน​ดวง​ตะวัน​ส่อง​แสง​สดใส เรา​ก็​มัก​จะ​รู้สึก​ร่าเริง​แจ่ม​ใส​ไป​ด้วย. ดัง​นั้น​จึง​ไม่​แปลก​ที่​ผู้​คน​ทั่ว​โลก​รู้สึก​ชื่น​บาน​ยาม​ได้​เห็น​ดอกไม้​ที่​มี​ชื่อ​ตาม​ดวง​ตะวัน—ดอก​ทานตะวัน​นั่น​เอง! แม้​จะ​มี​ดอก​ทานตะวัน​ที่​เบ่ง​บาน​สดใส​อยู่​เพียง​ดอก​เดียว​ใน​สวน อะไร ๆ ก็​ดู​มี​ชีวิต​ชีวา​ขึ้น​มาก. และ​ยิ่ง​ถ้า​มี​ดอก​ทานตะวัน​สี​เหลือง​สด​บาน​สะพรั่ง​อยู่​เต็ม​ทุ่ง​กว้าง ทุก​สิ่ง​ทุก​อย่าง​ก็​ยิ่ง​ดู​สดใส​มาก​กว่า​นั้น​สัก​เท่า​ใด!

แต่​คุณ​รู้​ไหม​ว่า​เพราะ​เหตุ​ใด​ดอกไม้​ที่​ดู​มี​ชีวิต​ชีวา​นี้​จึง​เป็น​ที่​นิยม​ชม​ชอบ​มาก​ขนาด​นั้น? ดอก​ทานตะวัน​หัน​ตาม​ดวง​อาทิตย์​จริง ๆ หรือ? และ​ดอกไม้​ชนิด​นี้​มี​ประโยชน์​มาก​จริง ๆ หรือ?

เดิน​ทาง​รอบ​โลก

ถิ่น​กำเนิด​เดิม​ของ​ทานตะวัน​ครอบ​คลุม​บริเวณ​ตั้ง​แต่​อเมริกา​กลาง​จน​ถึง​พื้น​ที่​ซึ่ง​ปัจจุบัน​คือ​ภาค​ใต้​ของ​แคนาดา. ชาว​อินเดียน​แดง​ปลูก​ทานตะวัน​ใน​พื้น​ที่​นี้. หลัง​จาก​นัก​สำรวจ​ชาว​สเปน​นำ​ทานตะวัน​ข้าม​มหาสมุทร​แอตแลนติก​ไป​สู่​ยุโรป​ใน​ปี​สากล​ศักราช 1510 ดอกไม้​นี้​ก็​แพร่​ไป​ทั่ว​ยุโรป​ตะวัน​ตก​อย่าง​รวด​เร็ว. ที​แรก คน​สมัย​นั้น​ใช้​ต้น​ทานตะวัน​เป็น​เพียง​ไม้​ประดับ​ตาม​สวน​พฤกษศาสตร์​และ​สวน​ใน​บ้าน. แต่​พอ​ราว ๆ กลาง​ศตวรรษ​ที่ 18 ผู้​คน​เริ่ม​เห็น​ว่า​เมล็ด​ของ​มัน​เป็น​อาหาร​รส​เลิศ. คน​สมัย​นั้น​ยัง​ใช้​ใบ​และ​ดอก​ของ​มัน​ทำ​เป็น​ชา​เพื่อ​รักษา​ไข้​ด้วย.

ใน​ปี 1716 ชาว​อังกฤษ​คน​หนึ่ง​ได้​รับ​ใบ​อนุญาต​เพื่อ​จะ​สกัด​น้ำมัน​จาก​ดอก​ทานตะวัน​เพื่อ​ใช้​ใน​อุตสาหกรรม​ทอ​ผ้า​และ​ฟอก​หนัง. กระนั้น น้ำมัน​ดอก​ทานตะวัน​ก็​แทบ​จะ​ไม่​เป็น​ที่​รู้​จัก​กัน​ใน​ยุโรป​ส่วน​อื่น ๆ จน​กระทั่ง​ศตวรรษ​ที่ 19. จริง​อยู่ ปีเตอร์​มหาราช ซาร์​แห่ง​รัสเซีย ได้​นำ​เมล็ด​ทานตะวัน​จาก​เนเธอร์แลนด์​ไป​ยัง​รัสเซีย​ใน​ปี 1698. อย่าง​ไร​ก็​ตาม การ​ผลิต​ดอก​ทานตะวัน​เพื่อ​การ​พาณิชย์​ใน​รัสเซีย​ก็​ไม่​ได้​เริ่ม​ขึ้น​จน​กระทั่ง​ทศวรรษ 1830. ไม่​กี่​ปี​ต่อ​มา เขต​โวโรเนช​ของ​รัสเซีย​ก็​ผลิต​น้ำมัน​ดอก​ทานตะวัน​ได้​ปี​ละ​หลาย​พัน​ตัน. ไม่​นาน​การ​ปลูก​ทานตะวัน​ก็​แพร่​เข้า​ไป​ใน​ประเทศ​เพื่อน​บ้าน เช่น บัลแกเรีย, ยูเครน, โรมาเนีย, ฮังการี, และ​ดินแดน​ที่​เคย​เป็น​ยูโกสลาเวีย.

น่า​แปลก พอ​ถึง​ตอน​ปลาย​ศตวรรษ​ที่ 19 ก็​มี​การ​นำ​ทานตะวัน​เข้า​ไป​ใน​อเมริกา​เหนือ​อีก​ครั้ง​โดย​ผู้​อพยพ​ชาว​รัสเซีย. ผู้​ตั้ง​ถิ่น​ฐาน​รุ่น​แรก ๆ ใน​อเมริกา​ไม่​ได้​เพาะ​ปลูก​ดอก​ทานตะวัน​อย่าง​ที่​ชาว​อินเดียน​แดง​เคย​ทำ. ปัจจุบัน ทุ่ง​ทานตะวัน​อัน​กว้าง​ใหญ่​มี​อยู่​ทั่ว​ไป​ใน​หลาย​ประเทศ​ตลอด​ทั่ว​โลก.

หัน​ตาม​ตะวัน

ดอก​ทานตะวัน​หัน​ตาม​ดวง​อาทิตย์​จริง ๆ หรือ? ใช่​แล้ว! ทั้ง​ใบ​และ​ดอก​ของ​มัน​จะ​หัน​ไป​หา​แสง​ตะวัน. ต้น​ทานตะวัน​จะ​เก็บ​สาร​ออกซิน​ไว้ ซึ่ง​เป็น​ฮอร์โมน​ของ​พืช​ที่​ควบคุม​การ​เจริญ​เติบโต. สาร​ออกซิน​จะ​มี​มาก​ใน​ด้าน​ที่​ถูก​บัง​จาก​แสง​และ​ทำ​ให้​ลำ​ต้น​งอก​ขึ้น​ไป​ใน​ทิศ​ทาง​ด้าน​ที่​มี​แสง. แต่​พอ​ดอก​ทานตะวัน​บาน​เต็ม​ที่​แล้ว มัน​ก็​ไม่​หัน​ไป​หา​แสง​อาทิตย์​อีก​ต่อ​ไป แต่​มัก​จะ​หัน​ไป​ทาง​ทิศ​ตะวัน​ออก​อยู่​อย่าง​นั้น​ตลอด.

ชื่อ​ลาติน​ของ​ทานตะวัน (Helianthus annuus) มา​จาก​คำ​ภาษา​กรีก​ซึ่ง​แปล​ว่า “ดวง​อาทิตย์” กับ “ดอกไม้” และ​จาก​คำ​ภาษา​ลาติน​ซึ่ง​แปล​ว่า “ประจำ​ปี.” ตาม​ปกติ​ต้น​ทานตะวัน​จะ​สูง​ประมาณ​สอง​เมตร แต่​มี​บาง​ชนิด​ที่​มี​ขนาด​ใหญ่​มาก​อาจ​สูง​กว่า​นั้น​ถึง​สอง​เท่า. มัน​มี​ก้าน​แข็ง​และ​มี​ใบ​หยาบ ๆ สี​เขียว ส่วน​บน​ยอด​นั้น​ก็​มี​ดอก​กลม​ใหญ่​ซึ่ง​มี​กลีบ​ดอก​สี​เหลือง​สด​ล้อม​รอบ. กลีบ​ดอก​เหล่า​นี้​ล้อม​ส่วน​ที่​อยู่​ใจ​กลาง​เอา​ไว้​ซึ่ง​มี​สี​คล้ำ​และ​ประกอบ​ด้วย​ดอก​ทรง​กระบอก​เล็ก ๆ. เมื่อ​แมลง​มา​ผสม​เกสร​ให้ ดอก​เล็ก ๆ เหล่า​นี้​ก็​จะ​กลาย​เป็น​เมล็ด​ที่​กิน​ได้. ส่วน​ที่​อยู่​ใจ​กลาง​ดอก​ทานตะวัน​อาจ​มี​ขนาด​เส้น​ผ่า​ศูนย์กลาง​ตั้ง​แต่ 5 ถึง 50 เซนติเมตร และ​อาจ​มี​เมล็ด​ตั้ง​แต่ 100 ถึง 8,000 เมล็ด.

พืช​สกุล​นี้​มี​หลาย​สิบ​ชนิด และ​เวลา​นี้​มี​การ​ผสม​พันธุ์​ใหม่ ๆ ตลอด. ตาม​ปกติ​แล้ว มี​เพียง​สอง​ชนิด​ที่​ปลูก​เพื่อ​การ​เกษตร. ชนิด​หนึ่ง​คือ​เฮลิอันทุส อันนูส (Helianthus annuus) ซึ่ง​ส่วน​ใหญ่​ปลูก​เพื่อ​สกัด​น้ำมัน​ดอก​ทานตะวัน. อีก​ชนิด​หนึ่ง​คือ​เฮลิอันทุส ทูเบอโรซุส (Helianthus tuberosus) หรือ​ที่​เรียก​ว่า​ทานตะวัน​หัว ซึ่ง​ปลูก​เพื่อ​เอา​หัว​ที่​คล้าย​กับ​หัว​มันฝรั่ง. มี​การ​ใช้​หัว​ของ​พืช​ชนิด​นี้​เป็น​อาหาร​สัตว์​และ​ใช้​ผลิต​น้ำตาล​และ​แอลกอฮอล์.

คุณค่า​ทาง​เศรษฐกิจ

ทานตะวัน​ใน​ปัจจุบัน​ส่วน​ใหญ่​มี​การ​เพาะ​ปลูก​เพื่อ​เอา​เมล็ด ซึ่ง​สามารถ​นำ​ไป​ผลิต​น้ำมัน​คุณภาพ​เยี่ยม. มี​การ​ใช้​น้ำมัน​ดอก​ทานตะวัน​ใน​การ​ทำ​อาหาร, เป็น​น้ำ​สลัด, และ​ทำ​เนย​เทียม. เมล็ด​ทานตะวัน​มี​คุณค่า​ทาง​โภชนาการ​สูง คือ​มี​โปรตีน 18 ถึง 22 เปอร์เซ็นต์​และ​มี​สาร​อาหาร​อื่น ๆ ด้วย.

หลาย​คน​ชอบ​กิน​เมล็ด​ดอก​ทานตะวัน​คั่ว​ใส่​เกลือ​เล็ก​น้อย​เป็น​ของ​ว่าง. มี​การ​ใช้​แป้ง​ที่​ทำ​จาก​เมล็ด​นี้​ใน​การ​ทำ​ขนม​อบ. นอก​จาก​นั้น น้ำมัน​ดอก​ทานตะวัน​ยัง​เป็น​ส่วน​ผสม​ใน​น้ำ​ยา​สระ​ผม, ขี้ผึ้ง​ทา​ริมฝีปาก, ครีม​ทา​มือ, ครีม​ทา​ผิว, และ​ผลิตภัณฑ์​สำหรับ​เด็ก​อ่อน. น้ำมัน​นี้​ยัง​ใช้​ใน​การ​ผลิต​น้ำมัน​เครื่องจักร​อุตสาหกรรม​ด้วย. เมล็ด​ดอก​ทานตะวัน​ยัง​ใช้​เป็น​อาหาร​นก​และ​อาหาร​ของ​สัตว์​เล็ก​อีก​ด้วย.

ทุ่ง​ทานตะวัน​เป็น​เหมือน​กับ​อุทยาน​ของ​ผึ้ง—ทุ่ง​ทานตะวัน​ขนาด​หก​ไร่​อาจ​ผลิต​น้ำ​ผึ้ง​ได้​ตั้ง​แต่ 25 ถึง 50 กิโลกรัม. เมื่อ​การ​เก็บ​ดอก​ทานตะวัน​เสร็จ​สิ้น​ลง​แล้ว ก้าน​ที่​ยัง​เหลือ​อยู่​จะ​มี​เซลลูโลส​ประมาณ 43 ถึง 48 เปอร์เซ็นต์ ซึ่ง​สามารถ​นำ​ไป​ใช้​ประโยชน์​ใน​การ​ผลิต​กระดาษ​และ​ผลิตภัณฑ์​อย่าง​อื่น. ส่วน​ที่​เหลือ​ของ​ต้น​ทานตะวัน​ก็​นำ​ไป​เป็น​อาหาร​สัตว์​หรือ​เป็น​ปุ๋ย​ได้.

แน่นอน​ที​เดียว ทานตะวัน​เป็น​ของ​ประทาน​ที่​มี​ค่า​ต่อ​มนุษย์​มาก​มาย​จริง ๆ. ความ​งาม​ของ​ดอก​ทานตะวัน​เป็น​แรง​บันดาล​ใจ​ให้​เกิด​ผล​งาน​ทาง​ศิลปะ​มาก​มาย เช่น ภาพ​วาด​ที่​ชื่อ “ทานตะวัน” (“Sunflowers”) ของ​ฟินเซนต์ ฟาน ก็อก. ไม่​ว่า​จะ​ขึ้น​ที่​ไหน ก็​ดู​เหมือน​ว่า​ดอก​ทานตะวัน​ทำ​ให้​แสง​ตะวัน​สาด​ส่อง​เข้า​มา​ใน​บ้าน​เรือน​และ​ใน​สวน​ของ​เรา. เรา​อาจ​นึก​ถึง​ดอก​ที่​เบ่ง​บาน​สดใส​และ​มี​ประโยชน์​มาก​มาย​เมื่อ​เรา​อ่าน​ถ้อย​คำ​ของ​ผู้​ประพันธ์​บทเพลง​สรรเสริญ​ที่​ว่า “ข้า​แต่​พระ​ยะโฮวา​พระเจ้า​ของ​ข้าพเจ้า, พระองค์​ทรง​กระทำ​การ​อัศจรรย์​มาก, พระ​ดำริ​ของ​พระองค์​มี​ต่อ​พวก​ข้าพเจ้า​มาก​มาย . . . การ​เหล่า​นั้น​ก็​เหลือ​ที่​จะ​นับ​ได้.”—บทเพลง​สรรเสริญ 40:5.