ข้ามไปยังเนื้อหา

ข้ามไปยังสารบัญ

เหตุผลที่ชีวิตต้องพึ่งพาอาศัยกัน

เหตุผลที่ชีวิตต้องพึ่งพาอาศัยกัน

เหตุ​ผล​ที่​ชีวิต​ต้อง​พึ่ง​พา​อาศัย​กัน

“ไม่​มี​สิ่ง​มี​ชีวิต​ใด​ที่​อยู่​ได้​โดย​ลำพัง—แต่​ละ​ชีวิต​ล้วน​มี​ความ​สัมพันธ์​ซึ่ง​กัน​และ​กัน ไม่​ว่า​โดย​ทาง​ตรง​หรือ​ทาง​อ้อม.”—“ซิมไบโอซิส—ความ​สัมพันธ์​ทาง​ชีวภาพ​เบื้อง​ต้น” (ภาษา​อังกฤษ).

ชีวิต​ทั้ง​มวล​ล้วน​เกี่ยว​ข้อง​เชื่อม​โยง​กัน​เป็น​ข่าย​ใย และ​ต้อง​พึ่ง​พา​อาศัย​ซึ่ง​กัน​และ​กัน​อย่าง​แท้​จริง! มนุษย์​เป็น​ส่วน​หนึ่ง​ของ​ข่าย​ใย​นั้น​อย่าง​แยก​ไม่​ได้. ถ้า​จะ​ดู​ข้อ​พิสูจน์ คุณ​ก็​ไม่​ต้อง​มอง​ไป​ไกล​หรอก แค่​พิจารณา​ดู​ร่าง​กาย​ของ​คุณ​เอง​ก็​พอ. ใน​ทาง​เดิน​อาหาร​ของ​คุณ​มี​แบคทีเรีย​ที่​มี​ประโยชน์​จำนวน​มหาศาล​ซึ่ง​ทำ​งาน​อย่าง​เงียบ​เชียบ และ​ช่วย​คุณ​ให้​มี​สุขภาพ​ดี​อยู่​เสมอ​โดย​ทำลาย​ผู้​บุกรุก​ที่​เป็น​อันตราย​และ​ช่วย​ใน​การ​ย่อย​อาหาร​และ​สร้าง​วิตามิน​ที่​สำคัญ. ส่วน​คุณ​ซึ่ง​เป็น​ผู้​ให้​อาศัย​ก็​ตอบ​แทน​แบคทีเรีย​โดย​ให้​อาหาร​และ​สภาพ​แวด​ล้อม​ที่​เหมาะ​จะ​อาศัย​อยู่​ได้​แก่​แบคทีเรีย.

ใน​อาณาจักร​สัตว์​ก็​มี​การ​อยู่​ร่วม​กัน​เช่น​นี้​ด้วย โดย​เฉพาะ​อย่าง​ยิ่ง​ท่ามกลาง​สัตว์​เคี้ยว​เอื้อง เช่น วัว, กวาง, และ​แกะ. กระเพาะ​ซึ่ง​มี​หลาย​ส่วน​ของ​มัน​มี​ส่วน​ที่​หนึ่ง​ที่​เรียก​ว่า​ผ้า​ขี้ริ้ว. กระเพาะ​ส่วน​ที่​หนึ่ง​นี้​มี​แบคทีเรีย, รา, และ​โปรโตซัว​อาศัย​อยู่​มาก​มาย​เป็น​ระบบ​นิเวศ. จุลชีพ​เหล่า​นี้​ย่อย​สลาย​เซลลูโลส ซึ่ง​เป็น​เส้นใย​คาร์โบไฮเดรต​ใน​พืช ด้วย​การ​หมัก​ให้​กลาย​เป็น​สาร​อาหาร​หลาก​หลาย​ชนิด. แม้​แต่​แมลง​บาง​ชนิด​ที่​กิน​เซลลูโลส​เป็น​อาหาร เช่น แมลง​ปีก​แข็ง, แมลง​สาบ, แมลง​สาม​ง่าม, ปลวก, และ​ตัว​ต่อ ก็​ใช้​แบคทีเรีย​ใน​การ​ย่อย​อาหาร.

การ​พึ่ง​พา​อาศัย​กัน​ระหว่าง​สิ่ง​มี​ชีวิต​ต่าง​ชนิด​ใน​ลักษณะ​นี้​เรียก​ว่า ซิมไบโอซิส ซึ่ง​หมาย​ความ​ว่า “การ​อยู่​ร่วม​กัน.” * ทอม เวกฟอร์ด กล่าว​ใน​หนังสือ​ของ​เขา​ชื่อ​สัมพันธ์​ชีวิต ว่า “การ​อยู่​ร่วม​กัน​เช่น​นี้​เป็น​พื้น​ฐาน​สำหรับ​การ​พัฒนา​ระบบ​ของ​ชีวิต​ทุก​ระบบ.” ขอ​ให้​เรา​พิจารณา​เรื่อง​ดิน​สัก​ครู่ เนื่อง​จาก​ดิน​เป็น​ต้น​กำเนิด​ระบบ​ของ​ชีวิต​ใน​โลก​หลาย​ระบบ.

ดิน—แทบ​จะ​เรียก​ได้​ว่า​สิ่ง​มี​ชีวิต!

คัมภีร์​ไบเบิล​บอก​ว่า​ดิน​มี “พลัง.” (เยเนซิศ 4:12, ล.ม.) คำ​กล่าว​นี้​นับ​ว่า​มี​เหตุ​ผล เพราะ​ดิน​ดี​ไม่​ได้​เป็น​แค่​ผง​ธุลี​ที่​ปราศจาก​ชีวิต​เท่า​นั้น. ดิน​มี​ส่วน​ประกอบ​ที่​สลับ​ซับซ้อน​ซึ่ง​เอื้ออำนวย​ให้​มี​การ​เจริญ​เติบโต อีก​ทั้ง​ยัง​เต็ม​ไป​ด้วย​สิ่ง​ที่​มี​ชีวิต. ดิน​เพียง​หนึ่ง​กิโลกรัม​อาจ​มี​แบคทีเรีย​มาก​กว่า 5 แสน​ล้าน​ตัว, รา​หนึ่ง​พัน​ล้าน​ตัว, และ​อาจ​มี​สิ่ง​มี​ชีวิต​หลาย​เซลล์ อย่าง​เช่น แมลง​หรือ​หนอน​ถึง 500 ล้าน​ตัว. สิ่ง​มี​ชีวิต​เหล่า​นี้​หลาย​ชนิด​ทำ​งาน​ร่วม​กัน โดย​ย่อย​สลาย​สาร​อินทรีย์​ต่าง ๆ เช่น เศษ​ใบ​ไม้​และ​มูล​สัตว์ และ​ใน​เวลา​เดียว​กัน​ก็​สกัด​ไนโตรเจน​ออก​มา ซึ่ง​พวก​มัน​จะ​เปลี่ยน​ให้​เป็น​รูป​แบบ​ที่​พืช​สามารถ​ดูด​ซึม​ได้. มัน​ยัง​เปลี่ยน​คาร์บอน​ให้​เป็น​คาร์บอนไดออกไซด์​และ​สาร​ประกอบ​อื่น ๆ ซึ่ง​พืช​จำเป็น​ต้อง​ใช้​เพื่อ​การ​สังเคราะห์​แสง​อีก​ด้วย.

พืช​ตระกูล​ถั่ว เช่น อัลฟัลฟา, โคลเวอร์, ถั่ว​ลันเตา, และ​ถั่ว​เหลือง มี​ความ​สัมพันธ์​กับ​แบคทีเรีย​เป็น​พิเศษ โดย​ที่​พืช​เหล่า​นี้​ยอม​ให้​แบคทีเรีย​อาศัย​อยู่​ใน​ระบบ​ราก​ของ​มัน. แต่​แทน​ที่​จะ​เป็น​ผล​เสีย​ต่อ​พืช แบคทีเรีย​จะ​กระตุ้น​ราก​ของ​พืช​ให้​สร้าง​ปม​เล็ก ๆ ขึ้น​มา. แบคทีเรีย​จะ​อาศัย​อยู่​ใน​ปม​เหล่า​นั้น​และ​เจริญ​เติบโต​ใหญ่​ขึ้น​กว่า​เดิม​ถึง 40 เท่า เรียก​ว่า​แบคทีรอยด์. งาน​ของ​แบคทีรอยด์​เหล่า​นี้​คือ “ตรึง” ไนโตรเจน​แล้ว​เปลี่ยน​ให้​เป็น​สาร​ประกอบ​ที่​พืช​ตระกูล​ถั่ว​สามารถ​นำ​ไป​ใช้​ได้. ส่วน​แบคทีเรีย​ก็​ได้​รับ​อาหาร​จาก​พืช​เป็น​การ​ตอบ​แทน.

เชื้อ​รา​ก็​มี​ส่วน​สำคัญ​ใน​การ​เจริญ​เติบโต​ของ​พืช​เช่น​กัน. ที่​จริง ไม้​ยืน​ต้น, ไม้​พุ่ม, และ​หญ้า​แทบ​ทุก​ชนิด​มี​ความ​สัมพันธ์​ลับ​ใต้​ดิน​กับ​รา. รา​เหล่า​นี้​ยัง​อาศัย​อยู่​ใน​ระบบ​ราก และ​ช่วย​พืช​ดูด​ซึม​น้ำ​รวม​ทั้ง​แร่​ธาตุ​ที่​สำคัญ อย่าง​เช่น เหล็ก, ฟอสฟอรัส, โพแทสเซียม, และ​สังกะสี. เพื่อ​เป็น​การ​แลก​เปลี่ยน​กัน รา​ซึ่ง​ไม่​สามารถ​ผลิต​อาหาร​เอง​ได้​เนื่อง​จาก​ไม่​มี​คลอโรฟิลล์ ก็​ดูด​ซึม​คาร์โบไฮเดรต​จาก​พืช.

พืช​ที่​พึ่ง​อาศัย​รา​เป็น​พิเศษ​คือ​กล้วยไม้. ใน​กรณี​ที่​กล้วยไม้​ขึ้น​ตาม​ธรรมชาติ ความ​สัมพันธ์​นี้​เริ่ม​ขึ้น​ตั้ง​แต่​กล้วยไม้​ยัง​เป็น​เมล็ด​เล็ก ๆ คล้าย​ฝุ่น โดย​ที่​รา​จะ​ช่วย​ให้​มัน​งอก​ขึ้น​ได้. รา​ยัง​ช่วย​กล้วยไม้​ที่​โต​แล้ว​ด้วย โดย​ช่วย​ระบบ​ราก​ที่​ค่อนข้าง​เล็ก​ของ​มัน​ให้​ดูด​ซึม​สาร​อาหาร​ต่าง ๆ ดี​ขึ้น. เวกฟอร์ด​กล่าว​ว่า รา “กลาย​เป็น​โครง​ข่าย​หา​อาหาร​ขนาด​ใหญ่​ซึ่ง​ไม่​หยุด​นิ่ง และ​ดู​แล​ให้​กล้วยไม้​รับ​สาร​อาหาร​อย่าง​เพียง​พอ. ใน​ทาง​กลับ​กัน [รา] ก็​อาจ​ได้​รับ​วิตามิน​และ​สาร​ประกอบ​ไนโตรเจน​เล็ก​น้อย​จาก​พืช. อย่าง​ไร​ก็​ตาม ความ​เอื้อเฟื้อ​ของ​กล้วยไม้​ก็​มี​ขอบ​เขต​ที่​ชัดเจน. กล้วยไม้​ควบคุม​รา​โดย​ใช้​ยา​ฆ่า​เชื้อ​รา​ตาม​ธรรมชาติ ถ้า​รา​แสดง​ท่าที​ว่า​จะ​ลุก​ลาม​จาก​ราก​ที่​มัน​อาศัย​อยู่​ขึ้น​ไป​บน​กิ่ง​ของ​กล้วยไม้.”

สำหรับ​พืช​ดอก ความ​สัมพันธ์​ใน​ดิน​เป็น​แค่​ส่วน​หนึ่ง​ของ​การ​พึ่ง​พา​อาศัย​กัน​เท่า​นั้น; พืช​ดอก​ยัง​มี​ความ​สัมพันธ์​ใน​ด้าน​อื่น​ซึ่ง​เห็น​ได้​ชัดเจน​กว่า​นี้​ด้วย.

ร่วม​มือ​กัน​เพื่อ​การ​ขยาย​พันธุ์

เมื่อ​ผึ้ง​เกาะ​บน​ดอกไม้ มัน​ก็​เข้า​สู่​ความ​สัมพันธ์​แบบ​ซิมไบโอซิส​กับ​พืช​ดอก. ผึ้ง​ได้​น้ำ​หวาน​และ​เรณู ส่วน​ดอกไม้​ก็​ได้​รับ​ละออง​เรณู​จาก​ดอก​อื่น ๆ ใน​ชนิด​เดียว​กัน. ความ​สัมพันธ์​นี้​ทำ​ให้​พืช​ดอก​สามารถ​แพร่​พันธุ์​ต่อ​ไป​ได้. หลัง​จาก​ถ่าย​เรณู​แล้ว ดอกไม้​ก็​เลิก​ผลิต​อาหาร. แมลง​รู้​ได้​อย่าง​ไร​ว่า​ตอน​นี้ “ร้าน​อาหาร” ปิด​แล้ว? ดอกไม้ “บอก” มัน​ใน​หลาย​วิธี. กลิ่น​หอม​ของ​ดอกไม้​อาจ​จะ​หมด​ไป, กลีบ​ดอก​อาจ​ร่วง, ดอก​อาจ​หัน​ไป​อีก​ทาง​หนึ่ง​หรือ​เปลี่ยน​สี—บาง​ที​อาจ​จะ​กลาย​เป็น​สี​หม่น ๆ. นี่​อาจ​ทำ​ให้​เรา​ผิด​หวัง แต่​ก็​เป็น “ความ​เอื้อเฟื้อ” อย่าง​มาก​แก่​ผึ้ง​ที่​ทำ​งาน​หนัก ซึ่ง​ตอน​นี้​มัน​จะ​ได้​ทุ่มเท​แรง​กาย​ให้​กับ​ดอกไม้​ที่​ยัง​เปิด​บริการ​อยู่.

ไม่​กี่​ปี​มา​นี้ จำนวน​ของ​สัตว์​ที่​ช่วย​ถ่าย​เรณู​ได้​ลด​ลง​อย่าง​มาก​ใน​บาง​พื้น​ที่ โดย​เฉพาะ​อย่าง​ยิ่ง​ผึ้ง. นี่​เป็น​แนว​โน้ม​ที่​น่า​เป็น​ห่วง​มาก เพราะ​เกือบ 70 เปอร์เซ็นต์​ของ​พืช​ดอก​ต้อง​อาศัย​แมลง​เป็น​พาหะ​ถ่าย​เรณู. นอก​จาก​นั้น อาหาร​ของ​เรา​ราว ๆ 30 เปอร์เซ็นต์​ก็​มา​จาก​พืช​ผล​ซึ่ง​ผึ้ง​ช่วย​ถ่าย​เรณู​ให้.

มด​ทำ​สวน

มด​บาง​ชนิด​มี​ความ​สัมพันธ์​แบบ​ซิมไบโอซิส​กับ​พืช​เช่น​กัน. มด​เหล่า​นี้​อาจ​ช่วย​ถ่าย​เรณู​ให้​พืช, กระจาย​เมล็ด​พันธุ์, ช่วย​ให้​สาร​อาหาร, หรือ​ปก​ป้อง​พืช​จาก​สัตว์​กิน​พืช ไม่​ว่า​จะ​เป็น​แมลง​หรือ​สัตว์​เลี้ยง​ลูก​ด้วย​นม​ก็​ตาม แล้ว​มด​ก็​มี​สถาน​ที่​ทำ​รัง​และ​อาหาร​เป็น​การ​ตอบ​แทน. มด​ชนิด​หนึ่ง​ซึ่ง​ทำ​รัง​ใน​กระเปาะ​หนาม​กลวง ๆ ของ​ต้น​อาเคเชีย ถึง​กับ​กำจัด​เถาวัลย์​ที่​เป็น​อันตราย ซึ่ง​มัน​พบ​ขณะ​ที่​เดิน​ลาด​ตระเวน​ใน​พื้น​ที่​รอบ ๆ ต้น​ไม้. ต้น​อาเคเชีย​ขอบคุณ​มด​สำหรับ​บริการ​ทำ​สวน​ชั้น​เยี่ยม​นี้​โดย​ให้​น้ำ​หวาน​แก่​มด.

นอก​จาก​นั้น มด​บาง​ชนิด​ชอบ​ทำ​ตัว​เป็น “สัตวบาล” โดย​ดู​แล​เพลี้ย​ซึ่ง​จะ​หลั่ง​น้ำ​หวาน​ออก​มา​เมื่อ​มด​ใช้​หนวด​ถู​บน​ตัว​เพลี้ย​เบา ๆ. หนังสือ​ซิมไบโอซิส กล่าว​ถึง​เพลี้ย​ว่า “มด​ดู​แล​แมลง​ชนิด​นี้​เหมือน​กับ​มนุษย์​ดู​แล​ฝูง​ปศุสัตว์ คือ​มัน​จะ​รีด​น้ำ​หวาน​ราว​กับ​รีด​นม​วัว​อีก​ทั้ง​ยัง​ปก​ป้อง​พวก​เพลี้ย​จาก​สัตว์​นัก​ล่า.” เช่น​เดียว​กับ​เกษตรกร​ที่​อาจ​นำ​โค​กลับ​เข้า​คอก​ตอน​กลางคืน มด​ก็​มัก​จะ​ขน​เพลี้ย​กลับ​เข้า​รัง​มด​ใน​ตอน​เย็น​เพื่อ​ความ​ปลอด​ภัย​แล้ว​นำ​ออก​ไป​เกาะ​บน​ใบ​ไม้​ที่​เป็น​เหมือน “ทุ่ง​หญ้า” ใน​ตอน​เช้า ซึ่ง​ตาม​ปกติ​แล้ว​มัก​จะ​เป็น​ใบ​อ่อน ๆ ที่​มี​สาร​อาหาร​มาก​กว่า​เดิม. และ​เรา​ไม่​ได้​พูด​ถึง​เพลี้ย​แค่​ไม่​กี่​ตัว. มด​อาจ​เลี้ยง​เพลี้ย​ไว้​เป็น “ฝูง” ซึ่ง​มี​จำนวน​นับ​พัน​ตัว​ใน​รัง​เดียว!

ขณะ​ที่​ยัง​เป็น​หนอน ผีเสื้อ​บาง​ชนิด​ได้​รับ​การ​ดู​แล​จาก​มด​เช่น​กัน. ตัว​อย่าง​เช่น ผีเสื้อ​สี​ฟ้า​ใหญ่​มี​ความ​สัมพันธ์​แบบ​ซิมไบโอซิส​กับ​มด​แดง. ที่​จริง วงจร​ชีวิต​ของ​มัน​จะ​ไม่​ครบ​สมบูรณ์​ถ้า​ไม่​มี​มด​ช่วย. ขณะ​ที่​ยัง​เป็น​หนอน​ผีเสื้อ มัน​จะ​หลั่ง​น้ำ​หวาน​ออก​มา​เป็น​รางวัล​ให้​มด. ต่อ​มา เมื่อ​ผีเสื้อ​ออก​มา​จาก​ดักแด้​แล้ว มัน​ก็​จะ​ออก​จาก​รัง​มด​อย่าง​ปลอด​ภัย​โดย​ไม่​ได้​รับ​อันตราย​ใด ๆ ทั้ง​สิ้น.

มี​ชีวิต​อยู่​ด้วย​ความ​เสี่ยง

ถ้า​คุณ​เป็น​นก คุณ​จะ​นำ​งู​ที่​ยัง​มี​ชีวิต​เข้า​มา​ใน​รัง​ไหม? คุณ​คง​จะ​บอก​ว่า “ไม่​มี​ทาง!” แต่​นก​ชนิด​หนึ่ง​ทำ​อย่าง​นั้น​จริง ๆ นั่น​คือ​นก​เค้า​สกรีช. งู​ที่​มัน​นำ​เข้า​มา​ใน​รัง​นั้น​เรียก​ว่า​งู​ไบลนด์. แทน​ที่​จะ​ทำ​ร้าย​ลูก​นก งู​จะ​กิน​มด, แมลงวัน, รวม​ทั้ง​แมลง​อื่น ๆ และ​ตัว​อ่อน​หรือ​ดักแด้​ของ​แมลง​พวก​นี้​ด้วย. ตาม​รายงาน​ใน​วารสาร​นิว ไซเยนติสต์ ลูก​นก​ที่​โต​ขึ้น​ใน​รัง​ที่​มี​งู​ชนิด​นี้​อยู่​ด้วย จะ “โต​เร็ว​กว่า​และ​มี​โอกาส​รอด​มาก​กว่า” ลูก​นก​ที่​โต​ขึ้น​โดย​ไม่​มี​เครื่อง​ดูด​ฝุ่น​ที่​มี​ชีวิต​ชนิด​นี้​อยู่​ด้วย.

นก​ที่​เรียก​ว่า​นก​กระแต​ผี​น้ำ​ไม่​ได้​เพียง​แค่​ร่วม​งาน​กับ​งู; มัน​ชอบ​สร้าง​รัง​อยู่​ใกล้​กับ​รัง​ของ​จระเข้​แม่น้ำ​ไนล์ ซึ่ง​เป็น​สัตว์​ที่​มัก​จะ​กิน​นก​บาง​ชนิด​เป็น​อาหาร! อย่าง​ไร​ก็​ตาม แทน​ที่​นก​กระแต​ผี​น้ำ​จะ​กลาย​เป็น​อาหาร​ของ​จระเข้ มัน​กลับ​ทำ​หน้า​ที่​เป็น​ยาม. ถ้า​มี​อันตราย​เข้า​มา​ใกล้​รัง​ของ​มัน​หรือ​รัง​ของ​จระเข้ นก​จะ​ส่ง​เสียง​ร้อง​เตือน. ถ้า​จระเข้​ไม่​อยู่ เสียง​ร้อง​นี้​จะ​ทำ​ให้​จระเข้​รีบ​กลับ​มา​ที่​รัง.

ทำ​ความ​สะอาด​โดย​การ​จิก​และ​ดูด

คุณ​เคย​เห็น​นก​บาง​ชนิด เช่น นก​ยาง​หรือ​นก​เอี้ยง​เกาะ​อยู่​บน​หลัง​วัว, ควาย, แอนทีโลป, หรือ​ยีราฟ และ​จิก​ตาม​ผิวหนัง​ของ​สัตว์​เหล่า​นั้น​ไหม? แทน​ที่​จะ​สร้าง​ความ​รำคาญ นก​กำลัง​บริการ​สัตว์​เหล่า​นี้ โดย​กิน​เห็บ, หมัด, และ​ปรสิต​อื่น ๆ ที่​สัตว์​เหล่า​นี้​กำจัด​เอง​ไม่​ได้. นก​ยัง​กิน​เนื้อ​เยื่อ​ที่​เป็น​แผล​ติด​เชื้อ​และ​หนอน​อีก​ด้วย. นก​เอี้ยง​ยัง​ส่ง​เสียง​เตือน​ด้วย​ถ้า​มี​อันตราย​เข้า​มา​ใกล้.

เนื่อง​จาก​ฮิปโปโปเตมัส​มี​นิสัย​ชอบ​อยู่​ใน​น้ำ มัน​จึง​ได้​รับ​การ​ทำ​ความ​สะอาด​ทั้ง​จาก “สหาย” ที่​มี​ขน​และ​ที่​มี​ครีบ. เมื่อ​ฮิปโป​อยู่​ใน​น้ำ ปลา​ที่​เรียก​ว่า​แบล็ก​เล​บี​โอ ซึ่ง​เป็น​ปลา​คาร์ป​ชนิด​หนึ่ง จะ “ดูด” สาหร่าย, ผิวหนัง​ที่​ตาย​แล้ว, และ​ปรสิต—เกือบ​ทุก​อย่าง​ที่​ติด​อยู่​บน​ตัว​มัน​ออก​จน​หมด. ปลา​พวก​นี้​ถึง​กับ​ทำ​ความ​สะอาด​แม้​แต่​เหงือก​และ​ฟัน​ของ​ฮิปโป​ด้วย​ซ้ำ! ปลา​ชนิด​อื่น ๆ ก็​ช่วย​ด้วย บาง​ชนิด​ทำ​ความ​สะอาด​แผล ส่วน​บาง​ชนิด​ใช้​ปาก​ที่​แหลม​ยาว​ของ​มัน​สอด​เข้า​ไป​ตาม​ซอก​นิ้ว​เท้า​และ​จุด​อื่น ๆ ที่​เข้า​ถึง​ยาก​ของ​ฮิปโป.

แน่นอน ปลา​เอง​ก็​มี​อะไร​มา​เกาะ​อยู่​ตาม​ตัว​มัน​ด้วย อย่าง​เช่น สัตว์​จำพวก​กุ้ง, แบคทีเรีย​ที่​เกาะ​อยู่​บน​ตัว​ปลา, รา, และ​แมลง​ปรสิต รวม​ทั้ง​เนื้อ​เยื่อ​ของ​แผล​หรือ​ส่วน​ที่​ติด​โรค ซึ่ง​ก็​ต้อง​มี​การ​กำจัด​ออก​ไป. เพื่อ​จะ​ทำ​อย่าง​นั้น​ได้ ปลา​ทะเล​มัก​จะ​ไป​แวะ​ที่​จุด​พยาบาล​ใกล้​บ้าน. ที่​นั่น​ปลา​บู่​สี​สด, ปลา​นก​ขุน​ทอง​สาม​สี, และ​กุ้ง​พยาบาล​ก็​บริการ​ลูก​ค้า​ด้วย​การ​ขัด​สี​ฉวี​วรรณ​ให้​อย่าง​สะอาด​หมดจด และ​ก็​ได้​กิน​อาหาร​ไป​ด้วย​ขณะ​ทำ​ความ​สะอาด. ปลา​ขนาด​ใหญ่​อาจ​ถึง​กับ​มี​ทีม​บริการ​ทำ​ความ​สะอาด​ประจำ​ตัว​ด้วย​ซ้ำ!

ปลา​ที่​มา​รับ​บริการ​มี​หลาย​วิธี​ที่​จะ​ส่ง​สัญญาณ​ว่า​มัน​ต้องการ​ให้​ทำ​ความ​สะอาด. เพื่อ​เป็น​ตัว​อย่าง ปลา​บาง​ชนิด​ทำ​ท่า​แปลก ๆ เช่น เอา​หัว​ทิ่ม​ลง​และ​เอา​หาง​ชี้​ขึ้น. หรือ​มัน​อาจ​อ้า​ปาก​และ​เหงือก​ของ​มัน​ค้าง​ไว้​เหมือน​กับ​จะ​บอก​ว่า “เข้า​มา​เถอะ. ฉัน​ไม่​กัด​หรอก.” ทีม​งาน​ทำ​ความ​สะอาด​ก็​พร้อม​จะ​เข้า​มา แม้​ว่า​ลูก​ค้า​จะ​เป็น​สัตว์​นัก​ล่า​ที่​น่า​กลัว​อย่าง​ปลา​ไหล​มอ​เรย์​หรือ​ปลา​ฉลาม. ขณะ​ที่​รับ​บริการ ลูก​ค้า​บาง​ตัว​จะ​เปลี่ยน​สี ซึ่ง​อาจ​ทำ​ให้​มอง​เห็น​ปรสิต​ได้​ชัด​ขึ้น. ใน​ตู้​ปลา​ที่​ไม่​มี​ปลา​พยาบาล ไม่​นาน​นัก​ปลา​ทะเล​ใน​ตู้​ก็ “มี​ปรสิต​เกาะ​เต็ม​ไป​หมด​และ​ป่วย” หนังสือ​ความ​ร่วม​มือ​กัน​ของ​สัตว์ (ภาษา​อังกฤษ) กล่าว. “แต่​ทันที​ที่​พอ​ปล่อย​ปลา​ทำ​ความ​สะอาด​ลง​ใน​ตู้​ปลา มัน​ก็​เริ่ม​งาน​ทำ​ความ​สะอาด​ปลา​เหล่า​นั้น​ทันที และ​ปลา​ตัว​อื่น ๆ ก็​เหมือน​กับ​รู้​ว่า​เกิด​อะไร​ขึ้น พวก​มัน​มา​เข้า​คิว​กัน​เพื่อ​รอ​รับ​บริการ.”

ยิ่ง​เรา​เรียน​รู้​มาก​เท่า​ไร เรา​ก็​ยิ่ง​รู้สึก​ทึ่ง​กับ​การ​ประสาน​งาน​และ​การ​พึ่ง​พา​อาศัย​กัน​ใน​โลก​แห่ง​สิ่ง​มี​ชีวิต​รอบ​ตัว​เรา. เช่น​เดียว​กับ​นัก​ดนตรี​ใน​วง​ออร์เคสตรา สิ่ง​มี​ชีวิต​ทุก​ตัว​มี​บทบาท​ของ​ตน​เอง ทำ​ให้​ชีวิต​ทั้ง​มวล รวม​ทั้ง​ชีวิต​มนุษย์ ดำรง​อยู่​ได้​และ​น่า​เพลิดเพลิน​ยินดี. จริง​ที​เดียว นี่​เป็น​ข้อ​พิสูจน์​ว่า​มี​การ​ออก​แบบ​ที่​ชาญ​ฉลาด​และ​มี​ผู้​ออก​แบบ​องค์​สูง​สุด!—เยเนซิศ 1:31; วิวรณ์ 4:11.

ต้น​เหตุ​อย่าง​เดียว​แห่ง​การ​ไม่​ประสาน​ลง​รอย​กัน

เป็น​เรื่อง​น่า​เศร้า​จริง ๆ ที่​มนุษย์​มัก​จะ​ไม่​ให้​ความ​ร่วม​มือ​กับ​ธรรมชาติ. ไม่​เหมือน​สัตว์​ซึ่ง​ถูก​ควบคุม​โดย​สัญชาตญาณ​เป็น​ส่วน​ใหญ่ มนุษย์​มี​แรง​กระตุ้น​หลาย​อย่าง ตั้ง​แต่​ความ​รัก​และ​คุณลักษณะ​ที่​ดี​อื่น ๆ ไป​จน​ถึง​ความ​เกลียด​ชัง​และ​ความ​โลภ​เห็น​แก่​ตัว.

เนื่อง​จาก​มนุษย์​ดู​เหมือน​ถูก​ควบคุม​โดย​ความ​โลภ​เห็น​แก่​ตัว​มาก​ขึ้น​เรื่อย ๆ หลาย​คน​จึง​เป็น​ห่วง​อนาคต​โลก​เรา. (2 ติโมเธียว 3:1-5) แต่​พวก​เขา​ไม่​ได้​คิด​ถึง​พระ​ผู้​สร้าง. เมื่อ​พระ​ประสงค์​ของ​พระเจ้า​สำหรับ​โลก​สำเร็จ​เป็น​จริง พระองค์​ไม่​เพียง​แต่​จะ​ฟื้นฟู​ความ​สมดุล​สู่​ธรรมชาติ​เท่า​นั้น แต่​ยัง​จะ​ทำ​ให้​เกิด​การ​ประสาน​ลง​รอย​กัน​ท่ามกลาง​สิ่ง​มี​ชีวิต​ทั้ง​สิ้น รวม​ทั้ง​มนุษย์​ด้วย อย่าง​ที่​ไม่​เคย​เป็น​มา​ก่อน.

[เชิงอรรถ]

^ วรรค 5 ซิมไบโอซิส​แบ่ง​ได้​กว้าง ๆ เป็น​สาม​ประเภท: ภาวะ​พึ่ง​พา​กัน (mutualism) คือ​ทั้ง​สอง​ฝ่าย​ได้​ประโยชน์; ภาวะ​อิง​อาศัย (commensalism) คือ​ฝ่าย​หนึ่ง​ได้​ประโยชน์​ส่วน​อีก​ฝ่าย​หนึ่ง​ไม่​ได้​หรือ​ไม่​เสีย​ประโยชน์; ภาวะ​ปรสิต (parasitism) คือ​ฝ่าย​หนึ่ง​ได้​ประโยชน์​แต่​อีก​ฝ่าย​หนึ่ง​เสีย​ประโยชน์. บทความ​นี้​เน้น​เรื่อง​ภาวะ​พึ่ง​พา​กัน.

[กรอบ/ภาพ​หน้า 7]

สิ่ง​มี​ชีวิต​คู่

รอย​สี​เทา​หรือ​สี​เขียว​เป็น​หย่อม ๆ หรือ​เป็น​เกล็ด​ที่​คุณ​เห็น​บ่อย ๆ บน​หิน​และ​ลำ​ต้น​ของ​ต้น​ไม้​นั้น​อาจ​จะ​เป็น​ไลเคน. หนังสือ​อ้างอิง​บาง​เล่ม​กล่าว​ว่า​ไลเคน​อาจ​มี​ถึง 20,000 ชนิด! ไลเคน​อาจ​ดู​เหมือน​สิ่ง​มี​ชีวิต​เดี่ยว แต่​ความ​จริง​แล้ว​มัน​ประกอบ​ด้วย​รา​และ​สาหร่าย.

ทำไม​สิ่ง​มี​ชีวิต​ทั้ง​สอง​จึง​รวม​เป็น​หนึ่ง​เดียว​กัน? รา​ไม่​สามารถ​ผลิต​อาหาร​เอง​ได้. ดัง​นั้น รา​จึง​โอบ​สาหร่าย​ชนิด​หนึ่ง​ไว้​โดย​ใช้​เส้นใย​ขนาด​จิ๋ว และ​สาหร่าย​นั้น​ก็​ใช้​วิธี​สังเคราะห์​แสง​เพื่อ​ผลิต​น้ำตาล. น้ำตาล​เหล่า​นี้​บาง​ส่วน​ซึม​ผ่าน​ผนัง​สาหร่าย​ออก​มา​และ​รา​จะ​ดูด​ซับ​ไว้. ส่วน​สาหร่าย​ก็​ได้​รับ​ความ​ชื้น​จาก​รา​และ​ได้​รับ​การ​ปก​ป้อง​ไม่​ให้​ได้​รับ​แสง​แดด​มาก​เกิน​ไป.

นัก​วิทยาศาสตร์​คน​หนึ่ง​พูด​ถึง​ไลเคน​อย่าง​มี​อารมณ์​ขัน​ว่า​เป็น “รา​ที่​ค้น​พบ​วิธี​ทำ​การ​เกษตร.” และ​มัน​ก็​ทำ​ได้​ดี​ที​เดียว เพราะ​หนังสือ​ความ​สัมพันธ์​ของ​ชีวิต กล่าว​ว่า ไลเคน “ครอบ​คลุม​พื้น​ที่​ใน​โลก​มาก​กว่า​พื้น​ที่​ป่า​ดิบ​ชื้น​ถึง​สิบ​เท่า.” มัน​มี​อยู่​ตั้ง​แต่​เขต​อาร์กติก​ไป​จน​ถึง​แอนตาร์กติกา​และ​ถึง​กับ​งอกงาม​บน​หลัง​ของ​แมลง​ที่​ยัง​มี​ชีวิต​อยู่​ด้วย​ซ้ำ!

[กรอบ/ภาพ​หน้า 8]

ปะการัง—ความ​มหัศจรรย์​แห่ง​ซิมไบโอซิส

พืด​หิน​ปะการัง​ประกอบ​ด้วย​โพลิป​กับ​สาหร่าย. สาหร่าย​จะ​แทรกซึม​อยู่​ใน​ทุก​เนื้อ​เยื่อ​ของ​โพลิป​เท่า​ที่​จะ​เป็น​ไป​ได้ และ​มัน​ทำ​ให้​ปะการัง​มี​สี​สดใส. มัน​มัก​จะ​มี​น้ำหนัก​มาก​กว่า​โพลิป​เอง​เสีย​อีก ซึ่ง​บาง​ครั้ง​มาก​กว่า​ถึง​สาม​เท่า ทำ​ให้​ปะการัง​เป็น​พืช​มาก​กว่า​สัตว์! อย่าง​ไร​ก็​ตาม หน้า​ที่​หลัก​ของ​สาหร่าย​คือ​การ​ผลิต​สาร​อินทรีย์​โดย​วิธี​สังเคราะห์​แสง ซึ่ง 98 เปอร์เซ็นต์​ของ​สาร​ที่​ผลิต​ได้​ก็​จะ​จ่าย​ให้​แก่​โพลิป​เป็น “ค่า​เช่า​บ้าน.” โพลิป​ต้องการ​สาร​อาหาร​เหล่า​นี้​ไม่​เพียง​เพื่อ​จะ​อยู่​รอด​แต่​เพื่อ​จะ​สร้าง​โครง​ปะการัง​หินปูน​ด้วย.

สาหร่าย​ได้​ประโยชน์​จาก​ความ​สัมพันธ์​นี้​อย่าง​น้อย​ใน​สอง​ทาง. หนึ่ง มัน​ได้​อาหาร​ใน​รูป​ของ​เสีย​ของ​โพลิป ซึ่ง​ก็​คือ​คาร์บอนไดออกไซด์, สาร​ประกอบ​ไนโตรเจน, และ​ฟอสเฟต. สอง มัน​ได้​รับ​การ​ปก​ป้อง​จาก​โครง​ปะการัง​ที่​แข็งแรง. สาหร่าย​ยัง​ต้องการ​แสง​อาทิตย์​อีก​ด้วย; ด้วย​เหตุ​นี้ พืด​หิน​ปะการัง​จึง​เติบโต​ใน​ทะเล​ที่​มี​น้ำ​ใส​และ​มี​แสง​ส่อง​ถึง.

เมื่อ​มี​บาง​อย่าง​มา​กระทบ​ปะการัง เช่น อุณหภูมิ​ของ​น้ำ​สูง​ขึ้น โพลิป​ก็​จะ​ขับ​สาหร่าย​ออก​มา​และ​สี​ของ​ตัว​มัน​จะ​ซีด​ลง. ใน​ที่​สุด​มัน​ก็​อาจ​ตาย​เนื่อง​จาก​ขาด​อาหาร. ไม่​กี่​ปี​มา​นี้ นัก​วิทยาศาสตร์​ได้​เห็น​ว่า​ทั่ว​โลก​มี​ปะการัง​ที่​มี​สี​ซีด​ลง​เพิ่ม​ขึ้น​อย่าง​น่า​ตกใจ.

[กรอบ/ภาพ​หน้า 8, 9]

เรียน​รู้​จาก​การ​พึ่ง​พา​อาศัย​กัน

เครื่องบิน​ไอพ่น​สอง​ลำ​บิน​เรียง​กัน​เหมือน​นก​ที่​บิน​เรียง​กัน​ใน​ระยะ​ใกล้. นี่​ไม่​ใช่​การ​บิน​ตาม​ปกติ; แต่​เป็น​การ​ทดลอง​ทาง​วิทยาศาสตร์​โดย​อาศัย​งาน​วิจัย​เรื่อง​นก​กระทุง​ซึ่ง​ทำ​ไว้​ก่อน​หน้า​นั้น. นัก​วิจัย​พบ​ว่า​นก​กระทุง​ที่​บิน​เรียง​กัน​ได้​รับ​แรง​ยก​พิเศษ​จาก​นก​ตัว​ที่​บิน​นำ​หน้า ซึ่ง​ทำ​ให้​อัตรา​การ​เต้น​ของ​หัวใจ​ลด​ลง 15 เปอร์เซ็นต์​เมื่อ​เทียบ​กับ​ตอน​ที่​มัน​บิน​ตาม​ลำพัง. เครื่องบิน​จะ​ได้​ประโยชน์​จาก​หลัก​ทาง​อากาศ​พล​ศาสตร์​ข้อ​นี้​ไหม?

เพื่อ​จะ​ได้​คำ​ตอบ วิศวกร​ได้​ติด​ตั้ง​อุปกรณ์​อิเล็กทรอนิกส์​ที่​ซับซ้อน​ซึ่ง​ทำ​ให้​นัก​บิน​สามารถ​ควบคุม​เครื่องบิน​ให้​อยู่​ใน​ระยะ​ไม่​เกิน​หนึ่ง​ฟุต​จาก​จุด​ที่​กำหนด​ไว้​ห่าง​จาก​เครื่องบิน​ลำ​หน้า​ประมาณ 90 เมตร. (ดู​ภาพ) ผล​เป็น​อย่าง​ไร? เครื่องบิน​ของ​เขา​มี​แรง​ต้าน​น้อย​กว่า​การ​บิน​ตาม​ปกติ 20 เปอร์เซ็นต์ และ​เผา​ไหม้​เชื้อเพลิง​น้อย​ลง​ถึง 18 เปอร์เซ็นต์. นัก​วิจัย​เชื่อ​ว่า​การ​ค้น​พบ​เหล่า​นี้​อาจ​มี​ประโยชน์​ทั้ง​ทาง​ทหาร​และ​ทาง​พลเรือน.

[ที่​มา​ของ​ภาพ]

Jets: NASA Dryden Flight Research Center; birds: © Joyce Gross

[ภาพ​หน้า 5]

ใน​กระเพาะ​ช่อง​ที่​หนึ่ง​ของ​วัว​จะ​มี​ระบบ​นิเวศ​ของ​แบคทีเรีย, รา, และ​โปรโตซัว​มาก​มาย (ภาพ​แทรก​เป็น​ภาพ​ขยาย)

[ที่​มา​ของ​ภาพ]

Inset: Melvin Yokoyama and Mario Cobos, Michigan State University

[ภาพ​หน้า 7]

ผึ้ง​ทำ​ให้​พืช​ดอก​สามารถ​ขยาย​พันธุ์​ได้

[ภาพ​หน้า 8, 9]

วัว​กับ​นก​ยาง

[ภาพ​หน้า 10]

กุ้ง​พยาบาล​ลาย​จุด​บน​ดอกไม้​ทะเล

[ภาพ​หน้า 10]

ปลา​ผีเสื้อ​กับ​ปลา​พยาบาล​ตัว​เล็ก