ข้ามไปยังเนื้อหา

ข้ามไปยังสารบัญ

ไปเยือน “ภูเขาแห่งอัคนี”

ไปเยือน “ภูเขาแห่งอัคนี”

ไป​เยือน “ภูเขา​แห่ง​อัคนี”

โดย​ผู้​เขียน​ตื่นเถิด! ใน​อิตาลี

คง​มี​อยู่​เพียง​ไม่​กี่​แห่ง​ใน​โลก​ที่​คุณ​จะ​เห็น​ทัศนียภาพ​อัน​สวย​งาม​ของ​ภูเขา​ไฟ​ลูก​เดียว​กัน​ได้ ไม่​ว่า​คุณ​จะ​อยู่​ใน​ชนบท, ที่​ชาย​หาด, หรือ​ใน​เมือง. ถ้า​คุณ​อยู่​ใน​เมือง​กาตาเนีย​และ​มอง​ไป​เห็น​ภูเขา​ไฟ คุณ​ก็​กำลัง​มอง​ภูเขา​เอ็ตนา​ซึ่ง​มี​ความ​สูง 3,300 เมตร และ​เป็น​ภูเขา​ไฟ​มี​พลัง​หรือ​ยัง​คุ​กรุ่น​อยู่​ที่​สูง​ที่​สุด​ใน​ยุโรป​โดย​ตั้ง​อยู่​ทาง​ตอน​เหนือ​ของ​ฝั่ง​ทะเล​ตะวัน​ออก​ของ​เกาะ​ซิซิลี.

ภูเขา​ไฟ​ที่​ถูก​จับตา​มอง​มา​นาน

ชาว​อาหรับ​ที่​เคย​ปกครอง​เกาะ​ซิซิลี​มา​นาน​เรียก​ภูเขา​นี้​ว่า ภูเขา​แห่ง​อัคนี และ​ชื่อ​เอ็ตนา​ก็​นับ​ว่า​เหมาะ​อย่าง​ยิ่ง​เนื่อง​จาก​มัน​มัก​จะ​พ่น​ลาวา​ที่​ร้อน​จัด​ออก​มา​เป็น​ประจำ​จาก​ส่วน​ที่​ลึก​ลง​ไป​ใน​ภูเขา. เอกสาร​เก่า​แก่​ที่​สุด​สอง​ฉบับ​ที่​เหลือ​อยู่​ซึ่ง​รายงาน​เกี่ยว​กับ​การ​ระเบิด​ของ​ภูเขา​ไฟ​เอ็ตนา​นั้น​เขียน​โดย​พินดาร์​และ​แอสคีลุส ซึ่ง​ทั้ง​สอง​ได้​พรรณนา​ถึง​การ​ระเบิด​ที่​เกิด​ใน​ปี 475 ก่อน​สากล​ศักราช. มาก​กว่า​หนึ่ง​ครั้ง​ที่​เรา​เห็น​ภาพ​ที่​น่า​ตื่น​ตา​ตื่น​ใจ​ของ​ลาวา เมื่อ​มัน​ไหล​ลง​มา​เป็น​สาย​มอง​ดู​คล้าย​งู​เพลิง ที่​ค่อย ๆ ไหล​เลื้อย​ลง​มา​จาก​ภูเขา​ไฟ​ก่อน​จะ​ไหล​ลง​สู่​ทะเล. เหตุ​การณ์​เช่น​ที่​ว่า​นี้​เกิด​ขึ้น​ใน​ปี 396 ก่อน ส.ศ., ปี 1329 ส.ศ., และ​ใน​ปี 1669 ส.ศ. คือ​การ​ระเบิด​ครั้ง​หลัง​สุด​ที่​ถือ​กัน​ว่า​เป็น​การ​ระเบิด​ครั้ง​ที่​โด่งดัง​ที่​สุด​ใน​ประวัติศาสตร์ “สมัย​ใหม่” ของ​ภูเขา​ไฟ​ลูก​นี้​เลย​ที​เดียว. คราว​นั้น กระแส​ลาวา​กว้าง​ประมาณ 2 กิโลเมตร​และ​ไหล​ไป​ไกล​ถึง 25 กิโลเมตร​ท่วม​ทับ​กำแพง​เมือง​กาตาเนีย ทำลาย​บ้าน​เรือน​ที่​มี​ผู้​อยู่​อาศัย​มาก​กว่า 27,000 คน​และ​กลบ​ฝัง​ท่า​เรือ​บาง​ส่วน.

โดย​ทั่ว​ไป​เชื่อ​กัน​ว่า การ​ปะทุ​ของ​ภูเขา​ไฟ​ลูก​นี้​ทวี​ความ​รุนแรง​ยิ่ง​ขึ้น​ใน​ศตวรรษ​ที่ 20 ซึ่ง​เป็น​ช่วง​ที่​มี​การ​ระเบิด​หลาย​ครั้ง. การ​ปะทุ​ครั้ง​รุนแรง​ที่​สุด​เกิด​ขึ้น​ใน​ปี 1928 ทำ​ให้​หมู่​บ้าน​มัสกาลี​ได้​รับ​ความ​เสียหาย. ใน​ช่วง​ไม่​กี่​ปี​มา​นี้ ลาวา​และ​เถ้า​ถ่าน​ที่​พวย​พุ่ง​ออก​มา​ได้​ก่อ​ให้​เกิด​ปัญหา​มาก​มาย​และ​ทำ​ให้​ชาว​บ้าน​ใน​หมู่​บ้าน​นั้น​วิตก​กังวล​อยู่​เสมอ.

ประวัติ​ย่อ​ของ “บิ๊กมัมมา”

มี​การ​พูด​กัน​ว่า ภูเขา​เอ็ตนา​เริ่ม​ก่อ​ตัว​ขึ้น​อย่าง​น้อย 170,000 ปี​มา​แล้ว​โดย​เกิด​จาก​การ​ปะทุ​ของ​แมก​มา​หรือ​หิน​หนืด. ภูเขา​ไฟ​ย่อย ๆ รูป​กรวย​ประมาณ 250 ลูก​ซึ่ง​เรียง​ราย​อยู่​รอบ​ภูเขา​ไฟ​เอ็ตนา เป็น​ผล​มา​จาก​การ​ระเบิด​ของ​ภูเขา​ไฟ​ลูก​นี้​ใน​ช่วง​เวลา​ต่าง ๆ กัน. ภูเขา​ไฟ​ย่อย ๆ เหล่า​นั้น​ดู​เหมือน​ลูก ๆ ที่​ยืน​ราย​ล้อม​ผู้​เป็น​แม่ และ​ด้วย​เหตุ​นี้​เอง​ภูเขา​ไฟ​ลูก​นี้​จึง​มี​ชื่อ​เล่น​ว่า บิ๊กมัมมา.

ถ้า​คุณ​ขับ​รถ​หรือ​นั่ง​รถไฟ​ชม​ทัศนียภาพ​ที่​สวย​งาม​รอบ​ภูเขา​ไฟ​เอ็ตนา คุณ​คง​สังเกต​ว่า​ทิวทัศน์​แต่​ละ​ด้าน​ของ​ภูเขา​ไฟ​มี​ความ​งดงาม​ต่าง​กัน​ไป เช่น ถ้า​คุณ​อยู่​ที่​นีโกโลซี คุณ​ก็​จะ​เห็น​มอนติ รอสซี (เนิน​เขา​สี​แดง) และ​ถ้า​คุณ​อยู่​ที่​จาร์เร​และ​ซัฟแฟรานา คุณ​ก็​จะ​เห็น​หุบ​ภูเขา​ไฟ​ซิลเวสตรี​และ​แอ่ง​ที่​ใหญ่​โต​มาก​ของ​หุบเขา​วัลเล เดล โบเว (หุบเขา​วัว).

แม้​จะ​ไม่​เข้าใจ​กัน​อย่าง​เต็ม​ที่​แต่​ภูเขา​ไฟ​ลูก​นี้​มี​ต้น​กำเนิด​ย้อน​หลัง​ไป​ตั้ง​แต่​อดีตกาล. การ​ปะทุ​ของ​แมก​มา​ใต้​ทะเล​และ​บริเวณ​ชายฝั่ง​ทำ​ให้​ทิศ​เหนือ​ของ​เมือง​กาตาเนีย​มี​ชายฝั่ง​ผุด​ขึ้น​มา. ส่วน​หนึ่ง​ของ​ชายฝั่ง​ดัง​กล่าว​รู้​จัก​กัน​ใน​ชื่อ​รี​วี​เอ​รา เด ซิคลอปปี หรือ​ชายฝั่ง​ไซคลอปส์ ซึ่ง​มี​ลักษณะ​เฉพาะ​คือ​มี​หน้าผา​สี​ดำ​ซึ่ง​เกิด​จาก​ลาวา. ตรง​ด้าน​หน้า​ของ​หน้าผา​อาชิ เทรสซามี​หิน​รูป​ร่าง​แปลก ๆ ที่​ผุด​ขึ้น​จาก​ทะเล​ซึ่ง​เรียก​กัน​ว่า​ฟาราลีโอนี.

ความ​ผูก​พัน​ที่​แนบแน่น

คุณ​อาจ​สงสัย​ว่า ผู้​คน​ที่​อาศัย​อยู่​ตาม​บริเวณ​เชิง​เขา​ลูก​นี้​จะ​หวั่น​วิตก​ไหม​ว่า​ภูเขา​ไฟ​ลูก​นี้​จะ​ปะทุ​ขึ้น​มา​ใน​เวลา​ใด​เวลา​หนึ่ง​อีก. เมื่อ​ภูเขา​เอ็ตนา​สงบ ผู้​คน​ที่​อาศัย​ใน​แถบ​นั้น​ซึ่ง​เรียก​กัน​ว่า​ชาว​เอ็ตเนียน แทบ​จะ​ลืม​ไป​ว่า​มี​ภูเขา​ไฟ​ลูก​นี้​อยู่. นัก​เขียน​ชาว​ฝรั่งเศส​แห่ง​ศตวรรษ​ที่ 19 ชื่อ​กี เดอ โมปัสซอง​เขียน​ใน​หนังสือ​ของ​เขา​ที่​ชื่อ​การ​เดิน​ทาง​เยือน​ซิซิลี (ภาษา​ฝรั่งเศส) ดัง​นี้: “เจ้า​ยักษ์​กำลัง​นอน​หลับ​สนิท​อยู่​ตรง​โน้น.” ถ้า​เห็น​กลุ่ม​ควัน​ลอย​ออก​มา ชาว​เอ็ตเนียน​ก็​อาจ​แค่​เหลือบ​ดู​มัน​สัก​ครู่​หนึ่ง. แต่​ถ้า​พวก​เขา​ได้​ยิน​เสียง​ระเบิด​กลาง​ดึก และ​เห็น​ว่า​ระเบียง​บ้าน​และ​ถนน​เต็ม​ไป​ด้วย​เถ้า​ถ่าน หรือ​รู้สึก​ว่า​เถ้า​ถ่าน​เข้า​ไป​ใน​จมูก​และ​ตา ท่าที​ของ​พวก​เขา​ก็​จะ​เปลี่ยน​ไป​เป็น​อีก​อย่าง​หนึ่ง. พวก​เขา​แสดง​ให้​เห็น​ว่า​รู้สึก​เกรง​ขาม​ภูเขา​ไฟ​เอ็ตนา​จริง ๆ โดย​เฉพาะ​อย่าง​ยิ่ง​เมื่อ​เห็น​กระแส​ลาวา​สี​แดง​ค่อย ๆ ไหล​ลง​มา​จาก​ภูเขา​ไฟ​อย่าง​ไม่​มี​อะไร​หยุด​ยั้ง​ได้​และ​ทำลาย​ทุก​อย่าง​ที่​อยู่​ใน​เส้น​ทาง​ของ​มัน.

แม้​จะ​เป็น​เช่น​นี้ ผู้​คน​ที่​อาศัย​อยู่​ที่​นั่น​ก็​ถือ​ว่า​เอ็ตนา​เป็น “ยักษ์​ใหญ่​ใจ​ดี.” เพราะ​ที่​จริง​แล้ว แม้​ภูเขา​ไฟ​ลูก​นี้​จะ​ทำ​ให้​เกิด​ความ​เสียหาย​อย่าง​หนัก เช่น ทำลาย​พื้น​ที่​ชาน​เมือง, ทำลาย​ผล​ผลิต​ทาง​การ​เกษตร, และ​เมื่อ​ไม่​นาน​มา​นี้​ก็​ได้​ทำลาย​สิ่ง​อำนวย​ความ​สะดวก​ต่าง ๆ สำหรับ​นัก​ท่อง​เที่ยว แต่​มี​คน​เสีย​ชีวิต​เพียง​ไม่​กี่​คน​เท่า​นั้น. หลัง​การ​ระเบิด​ที่​สร้าง​ความ​เสียหาย​ต่อ​ผล​ผลิต​ที่​มนุษย์​ได้​ลง​แรง​ไป ผู้​คน​ที่​มี​ความ​ทรหด​อด​ทน​ใน​แถบ​นั้น​ก็​จะ​เริ่ม​ต้น​ชีวิต​ใหม่​อีก​ครั้ง.

จา​โคโม เลโอพาร์ดิ กวี​ชาว​อิตาลี​ได้​พรรณนา​ไว้​อย่าง​ดี​เยี่ยม​ถึง​เรื่อง​ความ​ผูก​พัน​ซึ่ง​ผู้​คน​ที่​อาศัย​อยู่​ตาม​บริเวณ​เชิง​เขา​นั้น​มี​ต่อ​ดินแดน​ของ​ตน​มาก. เขา​เปรียบ​ผู้​คน​เหล่า​นั้น​ประหนึ่ง​ต้น​ไม้​กวาด ซึ่ง​เป็น​ไม้​พุ่ม​ที่​มัก​จะ​เจริญ​เติบโต​ใน​สภาพ​แวด​ล้อม​แถบ​ภูเขา​ไฟ. ดอก​สี​เหลือง​ของ​ต้น​ไม้​กวาด​ดู​สวย​และ​สง่า​งาม. มัน​จะ​ชู​ช่อ​อยู่​อย่าง​นั้น​เสมอ​และ​ไม่​หลุด​ร่วง​ไป​จน​กว่า​กระแส​ลาวา​อัน​เชี่ยวกราก​จะ​ไหล​มา​ท่วม​ทับ​พวก​มัน. เมื่อ​ภูเขา​ไฟ​สงบ​และ​ก้อน​หิน​เย็น​ลง ต้น​ไม้​กวาด​ก็​จะ​เริ่ม​งอกงาม​ขึ้น​และ​เริ่ม​ต้น​วงจร​ชีวิต​ใหม่​อีก​ครั้ง​แม้​จะ​ยาก​ลำบาก​เพียง​ไร​ก็​ตาม!

เอ็ตนา​กำลัง​เปลี่ยน​ไป

ตาม​ความ​เห็น​ของ​นัก​วิทยา​ภูเขา​ไฟ “ยักษ์​ใหญ่​ใจ​ดี” นี้​ดู​เหมือน​จะ​เปลี่ยน​ไป. นิตยสาร​โฟกัส​กล่าว​ว่า เมื่อ​ไม่​กี่​ปี​ที่​ผ่าน​มา​นี้ ภูเขา​เอ็ตนา​ไม่​มี​ที​ท่า​ว่า​จะ​ปะทุ​ขึ้น​อีก แต่​ตอน​นี้ “ภูเขา​ไฟ​ซึ่ง​เรา​เคย​ถือ​ว่า​ยัง​มี​พลัง​แต่​ไม่​เป็น​อันตราย​ลูก​นี้​กลับ​ทำ​ให้​เรา​รู้สึก​วิตก​กังวล​มาก​ขึ้น.” ตาม​ที่​นัก​วิจัย​ใน​อิตาลี​และ​ฝรั่งเศส​เตือน​ไว้ ภูเขา​เอ็ตนา “กำลัง​เปลี่ยน​แปลง​ตัว​เอง​อย่าง​ช้า ๆ จาก​ภูเขา​ไฟ​แบบ​ปะทุ​หลาก ซึ่ง​หมาย​ถึง​ภูเขา​ไฟ​ที่​มี​ลาวา​ไหล​ช้า ๆ และ​มี​การ​พ่น​แก๊ส​น้อย ไป​เป็น​ภูเขา​ไฟ​แบบ​ปะทุ​ระเบิด.” ดัง​นั้น พาโอลา เดล คาร์โล นัก​วิจัย​จาก​สถาบัน​ธรณี​ฟิสิกส์​แห่ง​อิตาลี​และ​สถาบัน​วิทยา​ภูเขา​ไฟ​แห่ง​กาตาเนีย​กล่าว​ว่า “ช่วง 30 ปี​ที่​ผ่าน​มา การ​ปะทุ​ทั้ง​แบบ​ปะทุ​หลาก​และ​ปะทุ​ระเบิด [ของ​ภูเขา​ไฟ​ลูก​นี้] กำลัง​รุนแรง​ขึ้น​มาก และ​ยาก​จะ​ทำนาย​ว่า​จะ​เกิด​อะไร​ขึ้น​ใน​อนาคต.”

ทัศนียภาพ​ที่​น่า​ตื่น​ตา

แม้​จะ​ทำ​ให้​ผู้​คน​รู้สึก​กลัว​และ​เกรง​ขาม แต่​ภูเขา​เอ็ตนา​ก็​มี​ทัศนียภาพ​ที่​สวย​งาม​น่า​ประทับใจ​อย่าง​ยิ่ง. ไม่​ว่า​ภูเขา​ลูก​นี้​จะ​ถูก​ปก​คลุม​ด้วย​หิมะ​จน​ขาว​โพลน​ใน​ฤดู​หนาว​หรือ​เปลี่ยน​เป็น​สี​น้ำตาล​เข้ม​ใน​ฤดู​ร้อน, หรือ​เมื่อ​ตั้ง​ตระหง่าน​อย่าง​สงบ​เหนือ​ชายฝั่ง, หรือ​เมื่อ​ทำ​ให้​แผ่นดิน​สะเทือน​เลื่อน​ลั่น​และ​ทำ​ให้​หลาย​คน​ประหวั่น​พรั่นพรึง, หรือ​อาจ​มี​ไฟ​ลุก​โพลง​ขึ้น​มา​ใน​ยาม​รัต​ติ​กาล แต่​ภูเขา​ไฟ​ลูก​นี้​ก็​เป็น​พยาน​ถึง​ฤทธานุภาพ​ของ​พระองค์​ผู้​ทรง​สร้าง​มัน​ขึ้น​มา. (บทเพลง​สรรเสริญ 65:6; 95:3, 4) ถ้า​คุณ​มี​โอกาส​มา​เยือน​เกาะ​ซิซิลี​ที่​สวย​งาม อย่า​ลืม​มา​ชม​ภูเขา​เอ็ตนา. คุณ​จะ​เห็น​กลุ่ม​ควัน​ที่​มี​ลักษณะ​เฉพาะ​ของ​ภูเขา​ไฟ​ลูก​นี้​ลอย​อยู่​ไกล ๆ. ผู้​คน​ใน​ละแวก​นั้น​ก็​จะ​บอก​ทันที​ว่า “ถ้า​คุณ​ได้​ยิน​เสียง​คำราม​ของ​ภูเขา​ไฟ​ล่ะ​ก็ ไม่​ต้อง​ตกใจ​หรอก​นะ. ภูเขา​เอ็ตนา​แค่​กล่าว​ทักทาย​คุณ​เท่า​นั้น.”

[แผนที่​หน้า 15]

(ราย​ละเอียด​ดู​จาก​วารสาร)

อิตาลี

ซิซิลี

ภูเขา​เอ็ตนา

[ภาพ​หน้า 14]

ภาพ​วาด​ภูเขา​เอ็ตนา​ใน​ปี 1843

[ที่​มา​ของ​ภาพ]

Culver Pictures

[ภาพ​หน้า 15]

วัน​ที่ 26 กรกฎาคม 2001

[ภาพ​หน้า 15]

วัน​ที่ 28 กรกฎาคม 2001 ด้าน​หลัง​คือ​เมือง​กาตาเนีย

[ภาพ​หน้า 15]

วัน​ที่ 30 ตุลาคม 2002

[ภาพ​หน้า 15]

วัน​ที่ 12 กันยายน 2004

[ภาพ​หน้า 16]

หิน​รูป​ร่าง​แปลก​ประหลาด​ชื่อ​ฟาราลีโอนี

[ภาพ​หน้า 17]

ชาว​เมือง​นั้น​มัก​เรียก​ภูเขา​เอ็ตนา​ว่า “ยักษ์​ใหญ่​ใจ​ดี”

[ที่​มา​ของ​ภาพ​หน้า 15]

All photos: © Tom Pfieffer; map: Mountain High Maps® Copyright © 1997 Digital Wisdom, Inc.

[ที่​มา​ของ​ภาพ​หน้า 16]

Background: © WOLFGANG KAEHLER 2005, www.wkaehlerphoto.com; Faraglioni: Dennis Thompson/Unicorn Stock Photos