ข้ามไปยังเนื้อหา

ข้ามไปยังสารบัญ

การดื่มชาแบบชาวจีน

การดื่มชาแบบชาวจีน

การ​ดื่ม​ชา​แบบ​ชาว​จีน

คุณ​ชอบ​ชา​แบบ​ไหน? ใน​อังกฤษ​ซึ่ง​เป็น​ดินแดน​ที่​ดิฉัน​เติบโต​ขึ้น​มา มี​การ​เสิร์ฟ​ชา​หอม​กรุ่น​รส​เข้มข้น​คู่​กับ​นม​และ​บาง​ครั้ง​ก็​มี​น้ำตาล​ด้วย. ที่​จริง พวก​เรา​เคย​ล้อ​คุณ​แม่​เล่น ๆ ว่า​ท่าน​ต้ม​น้ำ​ชา​แก่​มาก​จน​แทบ​จะ​วาง​ช้อน​บน​น้ำ​ชา​ได้! ชา​ดำ​ที่​คุณ​แม่​ชง​เรียก​ว่า​ชา​อินเดีย เพราะ​เป็น​ชา​ที่​มา​จาก​อินเดีย​หรือ​ศรีลังกา. นอก​จาก​นั้น ใน​บ้าน​ของ​เรา​ยัง​มี​กระป๋อง​ชา​จีน​เล็ก ๆ ซึ่ง​เป็น​ชา​ดำ​เช่น​กัน​แต่​มี​กลิ่น​และ​รส​ต่าง​กัน. โดย​ส่วน​ตัว​แล้ว​ดิฉัน​ไม่​ชอบ​ดื่ม​ชา​เลย​ทั้ง ๆ ที่​คุณ​แม่​มัก​จะ​ใส่​ชา​นิด​หน่อย​ลง​ใน​นม​ของ​ดิฉัน​เสมอ.

เมื่อ​โต​ขึ้น ดิฉัน​ก็​ได้​มี​โอกาส​รู้​จัก​ชา​อีก​ชนิด​หนึ่ง​ที่​ไม่​เหมือน​กับ​ชา​ชนิด​ใด. เพื่อน​ชาว​ญี่ปุ่น​คน​หนึ่ง​เชิญ​ดิฉัน​มา​ดื่ม​น้ำ​ชา​ที่​บ้าน. เขา​ให้​ดิฉัน​ดื่ม​ชา​เขียว​สี​จาง ๆ ใน​ถ้วย​ใบ​เล็ก​ที่​ไม่​มี​หู​จับ แต่​รสชาติ​ของ​ชา​ชนิด​นี้​ไม่​เหมือน​กับ​ชา​ที่​ดิฉัน​เคย​ดื่ม. ชา​แบบ​นี้​แหละ​ที่​ดิฉัน​ชอบ! แต่​เพื่อน​ที่​มา​กับ​ดิฉัน​ทำ​ให้​เจ้าของ​บ้าน​รู้สึก​แปลก​ใจ​ด้วย​การ​ขอ​นม​กับ​น้ำตาล​เพื่อ​ใส่​ใน​ชา! เจ้าของ​บ้าน​อธิบาย​ว่า​ชา​ญี่ปุ่น​ไม่​ได้​ดื่ม​แบบ​นั้น. ต่อ​มา เมื่อ​ดิฉัน​อยู่​ที่​ญี่ปุ่น ดิฉัน​รู้สึก​ยินดี​ที่​มี​การ​เสิร์ฟ​ชา​ญี่ปุ่น​ให้​แขก​และ​เพื่อน​ฝูง​อย่าง​ไม่​อั้น​เสมอ.

ต่อ​มา ดิฉัน​ย้าย​ไป​อยู่​ที่​ไต้หวัน. ดิฉัน​นึก​สงสัย​ว่า ชา​ที่​แม่​ของ​ดิฉัน​เคย​ชง​ให้​ดื่ม​จะ​เป็น​ชา​ที่​ชาว​จีน​ใน​ไต้หวัน​ส่วน​ใหญ่​นิยม​ดื่ม​หรือ​ไม่. น่า​ดีใจ​ที่​ชา​เขียว​ก็​เป็น​ที่​นิยม​ใน​ไต้หวัน​ด้วย แม้​รสชาติ​จะ​ต่าง​จาก​ชา​เขียว​ของ​ญี่ปุ่น​อยู่​บ้าง. และ​ที่​นี่​ยัง​มี​ชา​อูหลง​ซึ่ง​มี​รสชาติ​ต่าง​ไป​จาก​ชา​ชนิด​อื่น​อย่าง​สิ้นเชิง ทั้ง​ยัง​ได้​รับ​ความ​นิยม​อย่าง​มาก​เช่น​กัน. คุณ​อาจ​สงสัย​ว่า ชา​สาม​ชนิด​ที่​มี​รสชาติ​ไม่​เหมือน​กัน​เลย​สัก​นิด​นี้​มี​กรรมวิธี​ใน​การ​ผลิต​อย่าง​ไร และ​เหตุ​ใด​จึง​มี​รสชาติ​ต่าง​กัน.

แหล่ง​กำเนิด​ของ​ชา

ต้น​ชา​มี​ชื่อ​ทาง​วิทยาศาสตร์​ว่า คาเมเลีย ซิเนนซิซ (Camellia sinensis) ขึ้น​อยู่​ทั่ว​ไป​ใน​ประเทศ​จีน​และ​ญี่ปุ่น ต้น​ของ​มัน​สูง​เกือบ 9 เมตร. ต้น​ชา​เป็น​ไม้​พุ่ม มี​ใบ​สี​เขียว​เข้ม​เป็น​มัน​และ​มี​ดอก​สี​ชมพู, สี​ขาว, หรือ​สี​แดง​ที่​สวย​สด​งดงาม. ที่​จริง คำ​ว่า ชาฮัว ใน​ภาษา​จีน​หมาย​ถึง “ดอก​ชา.”

แต่​ชา​ที่​เรา​รู้​จัก​ดี​นั้น​มา​จาก​ที่​ไหน? ตาม​ที่​กล่าว​ใน​สารานุกรม​อเมริกานา มี​คำ​กล่าว​ที่​น่า​เชื่อถือ​เกี่ยว​กับ​ชา ปรากฏ​เป็น​ครั้ง​แรก​ใน​ชีวประวัติ​ของ​ขุนนาง​จีน​คน​หนึ่ง​ซึ่ง​เสีย​ชีวิต​ใน​ปี​สากล​ศักราช 273 และ​แม้​แต่​ต้น​ไม้​ที่​กล่าว​ถึง​ใน​งาน​เขียน​ของ​ขงจื๊อ ซึ่ง​มี​ชีวิต​อยู่​ประมาณ​ปี 551 ถึง 479 ก่อน ส.ศ. ก็​มี​การ​สันนิษฐาน​ว่า​หมาย​ถึง​ต้น​ชา. งาน​เขียน​ภาษา​อังกฤษ​ชิ้น​แรก​ที่​กล่าว​ถึง​ชา เขียน​ขึ้น​ใน​ปี 1615 โดย​อาร์. วิคเฮม ซึ่ง​เป็น​ตัว​แทน​ของ​บริษัท​อีสต์อินเดีย​แห่ง​อังกฤษ. ช่วง​กลาง​ศตวรรษ​ที่ 18 มี​การ​สั่ง​ซื้อ​ใบ​ชา​จำนวน​มาก​โดย​โทมัส การ์เวย์ เจ้าของ​ร้าน​กาแฟ​แห่ง​หนึ่ง​ใน​ลอนดอน​ซึ่ง​ต่อ​มา​รู้​จัก​กัน​ใน​ชื่อ​การ์ราเวย์.

มี​การ​ปลูก​ชา​ใน​หลาย​ส่วน​ของ​โลก. ชาว​ดัตช์​นำ​ต้น​ชา​มา​ปลูก​ที่​เกาะ​ชวา​เมื่อ​ปี 1826 และ​ชาว​อังกฤษ​ซึ่ง​เป็น​ที่​รู้​จัก​กัน​ว่า​ชอบ​ดื่ม​ชา​เป็น​ชีวิต​จิตใจ ก็​นำ​ต้น​ชา​มา​ปลูก​ที่​อินเดีย​ประมาณ​ปี 1836. ต่อ​มา ช่วง​ทศวรรษ 1870 ต้น​กาแฟ​ใน​ศรีลังกา​ได้​รับ​ความ​เสียหาย​เนื่อง​จาก​ติด​เชื้อ​รา จึง​มี​การ​นำ​ต้น​ชา​ไป​ปลูก​แทน.

การ​ปลูก​ชา​ใน​ไต้หวัน

แม้​เป็น​เกาะ​ไม่​ใหญ่​เท่า​ไร แต่​ไต้หวัน​ก็​เป็น​แหล่ง​ผลิต​ชา​ที่​สำคัญ. เขต​ภูเขา​รอบ ๆ เมือง​หนานตู​เป็น​แหล่ง​ปลูก​ชา​ที่​ขึ้น​ชื่อ​โดย​เฉพาะ เนื่อง​จาก​ชา​ที่​ผลิต​ใน​พื้น​ที่​ระดับ​สูง​จะ​มี​คุณภาพ​ดี​กว่า. ให้​เรา​ไป​เที่ยว​ชม​พื้น​ที่​ที่​มี​การ​ปลูก​ชา​บน​ภูเขา​อัน​งดงาม​และ​เขียว​ขจี​ด้วย​กัน.

เรา​ไป​แวะ​ชม​สหกรณ์​การ​เกษตร​ใน​ลูกู (หุบเขา​กวาง) ซึ่ง​มี​พิพิธภัณฑ์​ชา​อยู่​ที่​นั่น. เรา​รู้สึก​แปลก​ใจ​จริง ๆ ที่​รู้​ว่า ชา​อูหลง​และ​ชา​เขียว​ต้อง​มี​การ​นวด​ใบ​ชา​ก่อน​จะ​นำ​ไป​ผ่าน​กระบวนการ​อบ​แห้ง. วิธี​นวด​ใบ​ชา​ใน​สมัย​ก่อน​คือ​การ​นำ​ใบ​ชา​ใส่​ถุง​และ​ย่ำ​ด้วย​เท้า. แน่นอน​ว่า ปัจจุบัน​มี​การ​ใช้​เครื่อง​นวด​ใบ​ชา. ตอน​นี้​เรา​เข้าใจ​แล้ว​ว่า เหตุ​ใด​ใบ​ชา​จีน​เพียง​เล็ก​น้อย​ใน​กาน้ำ​ชา​จึง​คลี่​ออก​และ​ลอย​เต็ม​กา​เมื่อ​เติม​น้ำ​ร้อน​ลง​ไป. เรา​รู้สึก​ทึ่ง​จริง ๆ ที่​รู้​ว่า​ชา​คุณภาพ​ดี​มี​ราคา​แพง​มาก! ชา​อูหลง​รสชาติ​ดี​ที่​เรา​ดื่ม​อยู่​นี้ มี​ราคา​ขาย​ประมาณ 600 กรัม​ต่อ 45 ดอลลาร์ (ประมาณ 1,800 บาท). ชา​ที่​ราคา​แพง​กว่า​นี้​อาจ​มี​ราคา​สูง​ถึง 57 ดอลลาร์ (ประมาณ 2,280 บาท) หรือ​ชา​ที่​ชนะ​การ​ประกวด​อาจ​ขาย​ได้​ราว 1,400 ดอลลาร์​ต่อ 600 กรัม (ประมาณ 56,000 บาท).

ชา​ชนิด​ต่าง ๆ

สำหรับ​ชาว​ตะวัน​ตก​ส่วน​ใหญ่ ชา​ที่​ยัง​คง​นิยม​ดื่ม​กัน​ก็​คือ​ชา​ดำ. ส่วน​นัก​ดื่ม​ชา​ชาว​ตะวัน​ออก​เรียก​ชา​ชนิด​นั้น​ว่า ชา​แดง เนื่อง​จาก​สี​ของ​น้ำ​ชา​เป็น​สี​แดง. กระบวนการ​ผลิต​ชา​ชนิด​นี้​เริ่ม​จาก​นำ​ใบ​ชา​มา​พัก​ไว้​ให้​ใบ​สลด จาก​นั้น​นำ​มา​นวด​และ​หมัก​จน​ได้​ที่ แล้ว​ค่อย​นำ​ไป​อบ​แห้ง.

สำหรับ​ชา​อูหลง​ซึ่ง​เป็น​ที่​นิยม​อย่าง​มาก​นั้น หลัง​จาก​เก็บ​ใบ​ชา​เสร็จ​ก็​จะ​นำ​ใบ​ชา​ไป​ใส่​ไว้​ใน​กระด้ง​ขนาด​ใหญ่​แล้ว​ปล่อย​ให้​เกิด​การ​หมัก​ตาม​ธรรมชาติ. เมื่อ​หมัก​ใบ​ชา​ได้​ตาม​ที่​ต้องการ​แล้ว​ก็​จะ​นำ​ใบ​ชา​ไป​คั่ว​ผ่าน​ความ​ร้อน​ประมาณ 120 องศา​เซลเซียส. การ​คั่ว​เป็น​การ​หยุด​กระบวนการ​หมัก. ผล​ที่​ได้​คือ​ชา​รสชาติ​อร่อย​ซึ่ง​ดื่ม​ได้​โดย​ไม่​ต้อง​เติม​น้ำตาล, นม, หรือ​มะนาว.

ชา​ที่​หมัก​น้อย​ที่​สุด​คือ​ชา​เขียว. ใน​ญี่ปุ่น, อินเดีย, และ​ศรีลังกา มี​การ​นำ​ใบ​ชา​ไป​ผึ่ง​ไอ​ร้อน​เพื่อ​ให้​เกิด​การ​หมัก​น้อย​ที่​สุด ส่วน​ชาว​จีน​ใช้​วิธี​อบ​แห้ง​เพื่อ​จุด​ประสงค์​เดียว​กัน. คุณ​สามารถ​ดื่ม​ชา​เขียว​ได้​โดย​ไม่​ต้อง​เติม​อะไร​เลย!

การ​ดื่ม​ชา​แบบ​ชาว​จีน

เรา​ได้​รับ​เชิญ​ให้​มา​ดื่ม​น้ำ​ชา​กับ​ครอบครัว​ไช่. โต๊ะ​ที่​เรา​นั่ง​ดื่ม​ชา​เป็น​โต๊ะ​ขนาด​ใหญ่ ซึ่ง​จริง ๆ แล้ว​ก็​คือ​ไม้​กระดาน​หนา ๆ ที่​เลื่อย​จาก​ตอ​ไม้​ที่​มี​ลาย​สวย​และ​ขัด​จน​เงา​วับ. ของ​ที่​วาง​อยู่​ตรง​หน้า​คุณ​ไช่ เซงฉาน ซึ่ง​เป็น​เจ้าของ​บ้าน คือ​ถาด​ที่​มี​เตา​ไฟฟ้า​และ​กา​ต้ม​น้ำ​ตั้ง​อยู่. เรา​นึก​ใน​ใจ​ว่า ‘แปลก​จริง ๆ ป้าน​ชา​สูง​ไม่​ถึง​สาม​นิ้ว​ด้วย​ซ้ำ และ​มี​จอก​เล็ก ๆ สอง​แบบ​วาง​อยู่.’ เรา​สงสัย​ว่า​ทำไม แต่​ไม่​ช้า​ก็​ได้​คำ​ตอบ. เจ้าของ​บ้าน​เท​น้ำ​เดือด ๆ ลง​บน​ป้าน​ชา​และ​จอก​เล็ก ๆ แล้ว​ราด​น้ำ​นั้น​ทิ้ง​บน​ถาด​วาง​ป้าน​ชา ซึ่ง​ส่วน​ชั้น​ใน​ของ​ถาด​นี้​มี​รู​สำหรับ​ระบาย​น้ำ. จาก​นั้น​ก็​ใส่​ใบ​ชา​ลง​ใน​ป้าน​ชา​ให้​พอ​ดี ๆ คือ​แค่​พอ​เต็ม​ก้น​ป้าน​ชา เท​น้ำ​ร้อน​ลง​ไป​ที่​ใบ​ชา และ​เท​น้ำ​ชา​นี้​ทิ้ง​ไป. เจ้าของ​บ้าน​บอก​เรา​ว่า จุด​ประสงค์​ใน​ขั้น​ตอน​นี้​ก็​เพื่อ​ล้าง​ใบ​ชา​และ “กระตุ้น” ให้​ใบ​ชา​ส่ง​กลิ่น​หอม​ออก​มา!

ตอน​นี้ เจ้าของ​บ้าน​เท​น้ำ​ร้อน​ใส่​ใน​ป้าน​ชา​อีก และ​หลัง​จาก​ที่​รอ​เกือบ​หนึ่ง​นาที เขา​ก็​เท​น้ำ​ชา​ทั้ง​หมด​ใส่​ใน​กา​เล็ก ๆ. เจ้าของ​บ้าน​เท​ชา​ร้อน​จาก​กา​เล็ก ๆ นี้​ลง​ใน​จอก​ทรง​สูง​ที่​มี​เส้น​ผ่า​ศูนย์กลาง​ประมาณ​หนึ่ง​นิ้ว ซึ่ง​เรียก​กัน​ว่า จอก​สำหรับ “ดม​ชา.” เขา​เอา​จอก​ดื่ม​คว่ำ​ลง​บน​จอก​ดม​ชา​แล้ว​พลิก​ขึ้น​ให้​จอก​ดม​ชา​อยู่​ข้าง​บน ตอน​นี้​น้ำ​ชา​ลง​ไป​อยู่​ใน​จอก​ดื่ม​แล้ว. จาก​นั้น เขา​เชิญ​เรา​ให้​หยิบ​จอก​ทรง​สูง​ซึ่ง​ตอน​นี้​เป็น​จอก​เปล่า​ขึ้น​มา​ดม​กลิ่น​หอม​ของ​ชา! “หอม​จริง ๆ” เรา​ออก​ความ​เห็น.

จาก​นั้น เรา​ค่อย ๆ ยก​จอก​ดื่ม​ขึ้น​มา โดย​จับ​ที่​บริเวณ​ขอบ ๆ เพราะ​จอก​ชา​ไม่​มี​หู​จับ​และ​ร้อน​มาก แล้ว​เรา​ก็​จิบ​น้ำ​ชา. “อร่อย​จริง ๆ!” เรา​ร้อง​ออก​มา. ตอน​นี้​เรา​เข้าใจ​แล้ว​ว่า สำหรับ​ชาว​จีน​นั้น​การ​ดื่ม​ชา​ต้อง​ได้​ทั้ง​กลิ่น​และ​รส. เมื่อ​เรา​จิบ​ชา​พร่อง​ไป​สัก​หน่อย เขา​ก็​จะ​คอย​เติม​ชา​ให้​เรา​อยู่​เรื่อย ๆ. เมื่อ​ชง​ได้​หก​หรือ​เจ็ด​ครั้ง รส​และ​กลิ่น​ของ​ชา​ค่อย ๆ จาง​ลง แล้ว​เจ้าของ​บ้าน​ก็​เท​ใบ​ชา​ออก. เขา​ถาม​ว่า “คุณ​อยาก​ลอง​ชิม​ชา​อีก​ชนิด​หนึ่ง​ไหม?” แต่​ตอน​นี้​ใกล้​เวลา​เข้า​นอน​แล้ว ดัง​นั้น​เรา​จึง​ปฏิเสธ​อย่าง​สุภาพ. เนื่อง​จาก​ชา​มี​กาเฟอีน​ซึ่ง​มี​ฤทธิ์​กระตุ้น​ประสาท เรา​จึง​ไม่​ค่อย​ง่วง​นอน​หลัง​จาก​ดื่ม​ชา​อูหลง​ชั้น​ดี​ไป​หลาย​จอก.

ดื่ม​ชา​ที่​ร้าน​น้ำ​ชา

เนื่อง​จาก​ไม่​เคย​ไป​ร้าน​น้ำ​ชา​มา​ก่อน เรา​จึง​ตัดสิน​ใจ​ไป​หา​ประสบการณ์​ใน​เรื่อง​นี้. ร้าน​น้ำ​ชา​บาง​แห่ง​จัด​สวน​สวย ๆ ไว้​ให้​ลูก​ค้า​ได้​เพลิดเพลิน​ขณะ​จิบ​น้ำ​ชา. ส่วน​ร้าน​น้ำ​ชา​อื่น ๆ ตั้ง​อยู่​บริเวณ​ภูเขา ลูก​ค้า​จึง​มี​โอกาส​ชม​ทิว​ทัศน์​ที่​สวย​งาม​พร้อม​ทั้ง​เพลิดเพลิน​กับ​การ​จิบ​ชา.

เรา​เลือก​ขับ​รถ​ขึ้น​ไป​บน​ภูเขา​ลูก​หนึ่ง​ใกล้​กับ​เมือง​ไทเป และ​เข้า​ไป​ดื่ม​ชา​ใน​ร้าน​น้ำ​ชา​สไตล์​จีน​ที่​มี​บรรยากาศ​สบาย ๆ. ชั้น​สอง​ของ​ร้าน​นี้​ได้​รับ​การ​ออก​แบบ​ให้​มี​ลำธาร​ไหล​คดเคี้ยว​ไป​มา​และ​มี​ปลา​ทอง​แหวก​ว่าย​อยู่ เรา​ต้อง​เหยียบ​ก้อน​หิน​ข้าม​ลำธาร​นี้​เพื่อ​จะ​เข้า​ไป​ใน​ห้อง​ดื่ม​น้ำ​ชา​ที่​มี​ลักษณะ​คล้าย​ศาลา​เล็ก ๆ. เรา​สามารถ​เลือก​ขนม​อะไร​ก็​ได้​มา​รับประทาน​กับ​น้ำ​ชา เช่น ขนม​เปี๊ยะ (ไส้​ถั่ว​แดง, หรือ​ถั่ว​ขาว​กวน​กับ​น้ำตาล), เมล็ด​แตงโม, เต้าหู้​อบ​แห้ง, ขนม​เข่ง, หรือ​ผลไม้​ดอง​หรือ​อบ​แห้ง. เรา​ตัดสิน​ใจ​สั่ง​เมล็ด​แตงโม, มะม่วง​อบ​แห้ง, ลูก​บ๊วย​ดอง​กับ​ใบ​ชา. ความ​หวาน​ของ​ขนม​เข้า​กัน​อย่าง​เหมาะเจาะ​กับ​รสชาติ​ของ​ชา. เมื่อ​ริน​น้ำ​ชา​ใส่​จอก เรา​รู้สึก​เหมือน​กับ​กำลัง​จิบ​ชา​อยู่​ใน​ประเทศ​จีน​ยุค​โบราณ​จริง ๆ!

ประโยชน์​ของ​การ​ดื่ม​ชา

ตาม​ที่​ชาว​จีน​หลาย​คน​กล่าว การ​ดื่ม​ชา​ระหว่าง​หรือ​หลัง​รับประทาน​อาหาร ช่วย​ให้​ร่าง​กาย​ย่อย​อาหาร​ได้​เร็ว​ขึ้น. ตาม​ที่​มี​การ​กล่าว​อ้าง​ไว้​คือ น้ำหนัก​ตัว​จะ​คงที่​ใน​ระดับ​หนึ่ง. ถ้า​เป็น​อย่าง​นั้น​จริง​ก็​คง​จะ​ดี​มาก​ที​เดียว! นอก​จาก​นั้น นัก​วิจัย​ยัง​กล่าว​เมื่อ​ไม่​นาน​มา​นี้​ว่า ชา​เขียว​ช่วย​ลด​ความ​เสี่ยง​ต่อ​การ​เกิด​โรค​มะเร็ง. ประโยชน์​อีก​อย่าง​หนึ่ง​ที่​เรา​ได้​จาก​การ​ดื่ม​ชา​อูหลง​และ​ชา​เขียว​คือ หลัง​จาก​ดื่ม​ชา​แล้ว กลิ่น​และ​รส​ที่​ยัง​ติด​อยู่​นั้น​ทำ​ให้​รู้สึก​ปาก​สะอาด.

ดัง​นั้น เมื่อ​ถาม​อีก​ครั้ง​ว่า “คุณ ชอบ​ชา​แบบ​ไหน?” คุณ​คง​ตอบ​ได้​ไม่​ง่าย​นัก แม้​ตอน​นี้​คุณ​จะ​รู้​เรื่อง​ชา​มาก​ขึ้น​แล้ว. ลอง​ชิม​ชา​รสชาติ​ใหม่ ๆ ดู​สิ​และ​ค้น​พบ​ด้วย​ตัว​คุณ​เอง​ว่า​การ​ดื่ม​ชา​แบบ​ชาว​จีน​นั้น​เป็น​อย่าง​ไร!—ผู้​อ่าน​ส่ง​มา.

[ภาพ​หน้า 21]

ชา​อูหลง

[ภาพ​หน้า 21]

ผู้​หญิง​กำลัง​เก็บ​ใบ​ชา

[ที่​มา​ของ​ภาพ]

Taiwan Tourism Bureau