การเพ่งดูโลก
การเพ่งดูโลก
วัยรุ่นกับโทรศัพท์มือถือ
หนังสือพิมพ์เดอะ เดลี เทเลกราฟ แห่งลอนดอนรายงานว่า “คนหนุ่มสาวในบริเตนไม่รู้ว่าจะจัดการกับชีวิตตัวเองอย่างไรถ้าไม่มีโทรศัพท์มือถือ.” นักวิจัยทำการทดสอบกับคนกลุ่มหนึ่งซึ่งมีอายุตั้งแต่ 15 ถึง 24 ปี โดยให้พวกเขางดใช้โทรศัพท์มือถือเป็นเวลาสองสัปดาห์. ตามรายงานกล่าวว่า “เป็นเรื่องแปลกใหม่สำหรับพวกเขา. พวกคนหนุ่มสาวต้องอดทนกับสิ่งใหม่ ๆ ที่เกิดขึ้น เช่น การพูดคุยกับพ่อแม่ของตัวเอง, การไปเคาะประตูบ้านเพื่อนและพบกับพ่อแม่ของเพื่อน.” ศาสตราจารย์ไมเคิล ฮูม จากมหาวิทยาลัยแลงคัสเตอร์ในอังกฤษ กล่าวว่า การใช้โทรศัพท์มือถือของพวกวัยรุ่นในการพูดคุยเรื่องทั่ว ๆ ไปเป็น “วิธีที่ทำให้พวกเขารู้สึกอุ่นใจและเป็นการสร้างเอกลักษณ์ให้ตนเอง.” หนังสือพิมพ์ฉบับนี้รายงานว่า วัยรุ่นคนหนึ่งรู้สึกว่าถ้าไม่มีโทรศัพท์มือถือ เธอจะ “รู้สึกหงุดหงิดและเครียด” ขณะที่วัยรุ่นอีกคนหนึ่งรู้สึกโดดเดี่ยวและ “ต้องวางแผนล่วงหน้าเพื่อจะพบกับผู้คนตามเวลานัดหมายไว้” แทนที่จะ “พูดคุยกับเพื่อน ๆ [ของเขา] เมื่อไรก็ได้ที่ [เขา] ต้องการ.”
ชาวเยอรมันประหยัดน้ำเกินไปหรือ?
หนังสือพิมพ์ฟรังค์ฟูร์เทอร์ อาลล์เกไมเน ไซทุง รายงานว่า ระบบน้ำประปาและระบบบำบัดน้ำเสียของเยอรมนีกำลังประสบปัญหาเนื่องจากผู้บริโภคประหยัดน้ำมากเกินไป. ในอดีต เคยมีการคาดการณ์ว่าจะมีการใช้น้ำมากขึ้น จึงมีการสร้างระบบประปาและระบบบำบัดน้ำเสียตามที่มีการคาดกันนั้น. ขณะเดียวกัน มีการรณรงค์ให้ผู้คนใช้น้ำอย่างประหยัดเพราะเป็นขั้นตอนสำคัญในการรักษาสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติ และจึงทำให้มีการใช้น้ำน้อยลง. อูลริก โอมิงเคน คณะกรรมการสมาคมแก๊สและน้ำแห่งเยอรมนีกล่าวว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นตอนนี้คือ “ในหลายพื้นที่มีน้ำดื่มค้างอยู่ในท่อประปา. น้ำที่ค้างอยู่ในท่อนานเกินไปทำให้ท่อเป็นสนิมและทำให้น้ำปนเปื้อนโลหะ.” นอกจากนี้ เมื่อท่อระบายน้ำมีน้ำไม่มากพอ สิ่งปฏิกูลที่อยู่ในน้ำซึ่งสะสมอยู่ในท่อก็เริ่มเน่า. วิธีแก้เพียงอย่างเดียวคือ ระบายน้ำดื่มอันมีค่าเข้าไปในระบบน้ำประปาและระบบบำบัดน้ำเสีย.
การผ่าท้องคลอดและโรคภูมิแพ้
ซีบิลเล โคเลทสโก แห่งมหาวิทยาลัยลุดวิก แมกซิมิลเลียน เมืองมิวนิก เยอรมนี กล่าวว่า “การผ่าท้องคลอดอาจทำให้เกิดปัญหาขึ้นในวันข้างหน้าอย่างที่เราไม่เคยคาดคิดมาก่อน. ดิฉันไม่สนับสนุน [การผ่าท้องคลอด] เลยสำหรับทุกรายที่ไม่มีเหตุผลทางการแพทย์.” บรรดานักวิจัยกล่าวว่า การผ่าท้องคลอดอาจเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้มีผู้เป็นโรคหอบหืดและโรคภูมิแพ้เพิ่มขึ้น. จากการศึกษาเด็กทารกจำนวน 865 คนซึ่งถูกเลี้ยงด้วยนมแม่โดยเฉพาะตลอดช่วงสี่เดือนแรกนั้น ได้เผยให้เห็นว่า เด็กที่เกิดโดยการผ่าท้องคลอดมีปัญหาเกี่ยวกับระบบย่อยอาหารมากกว่าและมีโอกาสจะแพ้อาหารได้ง่ายกว่า. ตามที่วารสารนิว ไซเยนติสต์ รายงาน “อาจอธิบายได้ว่า เด็กทารกที่เกิดโดยการผ่าท้องคลอดไม่มีโอกาสกลืนแบคทีเรียที่เป็นประโยชน์ขณะคลอด แบคทีเรียที่เข้าไปอยู่ในลำไส้นั้นมีบทบาทสำคัญต่อการพัฒนาระบบภูมิคุ้มกัน.”
“ของแต่งบ้านที่สวยที่สุด” หรือ?
หนังสือพิมพ์ซันเดย์ เทเลกราฟ แห่งลอนดอนรายงานว่า “นักท่องเที่ยวชาวตะวันตกและนักธุรกิจที่ซื้อหนังเสือจากจีนอย่างผิดกฎหมายต้องรับผิดชอบต่อการเข่นฆ่าสัตว์ ซึ่งเป็นหนึ่งในบรรดาสัตว์ชนิดที่ใกล้สูญพันธุ์มากที่สุดในโลก.” ประชากรเสือป่าลดลงอย่างฮวบฮาบจากที่เคยมีอยู่ประมาณ 100,000 ตัวเมื่อหนึ่งร้อยปีมาแล้ว ปัจจุบันนี้มีเหลือไม่ถึง 5,000 ตัว. เสือส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในอินเดีย แต่ในประเทศแถบเอเชียใต้และตะวันออกไกลก็มีอยู่บ้าง. หน่วยงานสำรวจด้านสิ่งแวดล้อมซึ่งเป็นองค์กรการกุศลในลอนดอนรายงานว่า ผู้ซื้อรู้สึกว่าหนังเสือเป็น “ของแต่งบ้านที่สวยที่สุด แต่พวกเขากลับทำให้เสือเกือบสูญพันธุ์. . . . สัตว์ชนิดนี้ใกล้สูญพันธุ์เต็มทีถึงขนาดที่การอยู่รอดของเผ่าพันธุ์เสือขึ้นอยู่กับเสือแต่ละตัว.” ช่วงระหว่างปี 1994 ถึงปี 2003 มีการยึดหนังเสือได้ถึง 684 ชิ้น แต่คาดกันว่าจำนวนนี้เป็นเพียงเศษเสี้ยวของหนังเสือที่ถูกลักลอบนำเข้ามา.
การฝังชิปข้อมูลส่วนตัว
ตามรายงานของวารสารแพทยสมาคมแห่งอเมริกา (เจมา) “องค์การอาหารและยาของสหรัฐเพิ่งอนุมัติเรื่องการฝังชิปข้อมูลส่วนตัว” เพื่อจะเข้าไปดูบันทึกข้อมูลเกี่ยวกับการรักษาพยาบาลของผู้ป่วย. ผู้ผลิตแนะนำว่า ชิปซึ่งมีขนาดพอ ๆ กับเมล็ดข้าวสารจะถูกฝังไว้ใต้ผิวหนังบริเวณต้นแขนด้านนอกของผู้ป่วย. เมื่อนำเครื่องสแกนผ่านบริเวณที่มีการฝังชิปไว้ แพทย์ก็จะสามารถอ่านหมายเลขของชิปได้. จากนั้น หมายเลขนี้จะนำไปสู่ข้อมูลที่ถูกเก็บไว้ก่อนหน้านี้ในฐานข้อมูลโดยใช้วิธีเชื่อมต่อทางอินเทอร์เน็ตที่ปลอดภัย. วารสารเจมา กล่าวว่า เทคโนโลยีใหม่นี้ “อาจช่วยให้เข้าไปดูข้อมูลสำคัญเกี่ยวกับการรักษาพยาบาลได้รวดเร็วขึ้นในกรณีที่ผู้ป่วยไม่รู้สึกตัวและไม่สามารถสื่อสารได้” และเทคโนโลยีใหม่นี้ “ยังอาจนำมาใช้ในด้านการรักษาความปลอดภัย, การเงิน, และการใช้ข้อมูลส่วนตัว.”
การอยู่ด้วยกันโดยไม่ได้แต่งงาน
หนังสือพิมพ์แวนคูเวอร์ ซัน รายงานว่า “ชาวแคนาดายอมรับกันมากขึ้นว่าการอยู่ด้วยกันโดยไม่แต่งงานเป็นการปูทางไปสู่การแต่งงาน.” อะแลง มีราเบลี ผู้อำนวยการฝ่ายบริหารแห่งสถาบันแวนเยซึ่งเป็นสถาบันเกี่ยวกับครอบครัวในออตตาวา กล่าวว่า “ชาวแคนาดาซึ่งมีอายุต่ำกว่า 35 ปีได้พบเห็นการหย่าร้างและการแยกกันอยู่ของบิดามารดามากกว่าคนรุ่นอื่น ๆ. ดังนั้น พวกเขาจึงระวังที่จะไม่รีบแต่งงาน.” รายงานนั้นกล่าวว่า ตามการสำรวจทั่วประเทศ ท่ามกลางชาวแคนาดาเกือบ 2,100 คนซึ่งมีอายุระหว่าง 18 ถึง 34 ปี พบว่า “มี 22 เปอร์เซ็นต์ที่อยู่กับคู่ของตนโดยไม่ได้แต่งงาน ขณะที่ 27 เปอร์เซ็นต์แต่งงานกัน. งานวิจัยของสถาบันแวนเยที่ทำขึ้นก่อนหน้านี้พบว่า ในปี 1975 มี 61 เปอร์เซ็นต์ที่แต่งงานกัน และมีเพียงหนึ่งเปอร์เซ็นต์เท่านั้นที่อยู่ด้วยกันโดยไม่ได้จดทะเบียนสมรส.”
ปีที่สภาพอากาศรุนแรงที่สุด
สำนักข่าวแอสโซซิเอเตด เพรส รายงานว่า “ปี 2004 เกิดพายุเฮอร์ริเคนที่มีกำลังแรงมากสี่ครั้งในแถบแคริบเบียนและมีพายุไต้ฝุ่นที่ถล่มเอเชียได้ก่อความเสียหายอย่างหนัก ทั้งยังเป็นปีที่ร้อนที่สุดเป็นอันดับสี่จากที่เคยบันทึกไว้ ทำให้ช่วงสิบปีที่คาดกันว่าร้อนที่สุดนับตั้งแต่ปี 1990 นั้นยืดออกไปอีก.” ปีที่แล้วยังเป็นปีที่ต้องเสียค่าใช้จ่ายมากกว่าที่เคยมีมาสำหรับความเสียหายอันเกิดจากลมฟ้าอากาศสูงที่สุดด้วย. เฉพาะในสหรัฐและแถบทะเลแคริบเบียน มีการกะประมาณว่า พายุเฮอร์ริเคนทำให้เกิดความเสียหายคิดเป็นมูลค่า 43,000 ล้านดอลลาร์. ขณะที่เกิดพายุและอากาศร้อนจัดในพื้นที่หนึ่ง อีกพื้นที่หนึ่งกลับมีอากาศหนาวจัด. ตัวอย่างเช่น ในเดือนมิถุนายนและกรกฎาคม พื้นที่ทางตอนใต้ของอาร์เจนตินารวมทั้งชิลีและเปรูมีอากาศหนาวจัดและหิมะตก. ตามที่มีรายงาน “นักวิทยาศาสตร์กล่าวว่า อุณหภูมิที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่องเป็นเวลานาน ๆ จะทำให้สภาพอากาศของโลกแปรปรวนต่อไป.”