ทางยักษ์ข้าม
ทางยักษ์ข้าม
โดยผู้เขียนตื่นเถิด! ในไอร์แลนด์
ตามตำนานพื้นบ้านของชาวไอริช มียักษ์ตนหนึ่งชื่อฟินน์ แมกคูลจากไอร์แลนด์ต้องการจะสู้กับเบนันดอนเนอร์ยักษ์จากสกอตแลนด์. แต่ปัญหาก็คือ ไม่มีเรือลำใดที่ใหญ่พอจะใช้ข้ามทะเลไปหาอีกฝ่ายหนึ่งได้! ตามตำนานเล่าว่า ฟินน์ แมกคูลแก้ปัญหานี้โดยใช้เสาหินขนาดใหญ่สร้างทางข้ามทะเล.
เบนันดอนเนอร์รับคำท้าและเดินทางข้ามทะเลไปยังไอร์แลนด์โดยใช้ถนนเส้นนี้. เขาตัวใหญ่และแข็งแรงกว่าฟินน์ แมกคูล. ทันทีที่ภรรยาของฟินน์ แมกคูลเห็นเบนันดอนเนอร์ เธอตัดสินใจออกอุบายให้สามีแต่งตัวเป็นเด็กทารก. เมื่อเบนันดอนเนอร์มาที่บ้านของฟินน์และเห็น “ทารก” นั้น เขาเริ่มรู้สึกกลัวและคิดว่า ถ้าเด็กทารกตัวใหญ่ขนาดนี้แล้ว เขาก็ไม่อยากจะสู้กับพ่อของเด็กคนนี้แน่ ๆ! เขาจึงหนีกลับไปสกอตแลนด์! เพื่อให้แน่ใจว่าฟินน์ แมกคูล จะไม่สามารถตามมาได้ เขาจึงทำลายถนนที่ทอดอยู่เบื้องหลังเขา. เสาหินทั้งหมดที่เหลืออยู่จึงเรียกกันว่า ไจแอนต์ส คอสเวย์ (the Giant’s Causeway) หรือทางยักษ์ข้าม.
มากกว่าสามร้อยปีมาแล้ว นักท่องเที่ยวนับล้านได้ฟังเรื่องขำขันนี้ประหนึ่งเป็นคำอธิบายว่าไจแอนต์ส คอสเวย์เกิดขึ้นมาอย่างไร. จริง ๆ แล้ว ไจแอนต์ส คอสเวย์เกิดจากอะไร และอะไรทำให้มันกลายเป็นสิ่งที่น่าสนใจเป็นพิเศษ? เราตัดสินใจไปดูเพื่อจะหาคำตอบด้วยตัวเอง.
ทางยักษ์ข้าม!
ไจแอนต์ส คอสเวย์อยู่บริเวณชายฝั่งตอนเหนือของไอร์แลนด์ ห่างจากกรุงเบลฟัสต์ไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือประมาณ 100 กิโลเมตร. เมื่อมาถึง เราใช้เวลาไม่นานเดินจากศูนย์นักท่องเที่ยวลงไปยังชายหาดและเดินดูรอบ ๆ บริเวณนั้น. ภาพอันน่าทึ่งที่เห็นอยู่ตรงหน้าคือเสาหินขนาดใหญ่นับหมื่นต้นสูงราว ๆ 6 เมตรตั้งเรียงรายอยู่. บางคนกะประมาณว่ามีเสาหินประมาณ 40,000 ต้น. แต่สิ่งที่ประทับใจเราไม่ใช่เพราะจำนวนของมัน. สิ่งที่ทำให้เรารู้สึกทึ่งก็คือ เสาหินเหล่านี้มีรูปทรงสมมาตร. เสาหินแต่ละต้นมีเส้นผ่าศูนย์กลางระหว่าง 15-20 นิ้ว หัวเสาดูเหมือนแบนราบ และมีลักษณะเป็นหกเหลี่ยม. เมื่อมองจากด้านบน มันมีรูปทรงเดียวกันหมดและหัวเสาอยู่ชิดติดกันจนดูคล้ายรังผึ้ง. ตอนหลังเราพบว่า เสาหินประมาณหนึ่งในสี่เป็นเสาทรงห้าเหลี่ยม และบางเสาเป็นทรงสี่เหลี่ยม, เจ็ดเหลี่ยม, แปดเหลี่ยม, และแม้แต่เก้าเหลี่ยมด้วยซ้ำ.
ไจแอนต์ส คอสเวย์แบ่งออกเป็นสามส่วน. ส่วนที่ใหญ่ที่สุดเรียกว่าแกรนด์ คอสเวย์ (the Grand Causeway) เริ่มจากชายฝั่งที่บริเวณเชิงผา. ส่วนนี้ดูเหมือนกับกลุ่มเสาหินขนาดยักษ์สำหรับเหยียบข้ามน้ำที่ไม่ได้เรียงกันอย่างเป็นระเบียบ ซึ่งบางก้อนสูงถึง 6 เมตร. เมื่อเห็นส่วนที่ยื่นออกไปในทะเล เราเริ่มรู้สึกว่ามันดูคล้ายทางยักษ์ข้ามมากขึ้น เนื่องจากหัวเสาที่ดูคล้ายรังผึ้งนี้มีความสูงพอ ๆ กัน. ทางข้ามนี้ดูคล้ายถนนที่ปูด้วยก้อนหินซึ่งแต่ละช่วงมีความกว้างไม่เท่ากันคือตั้งแต่ 20 ถึง 30 เมตร. ช่วงน้ำลงเต็มที่ เราสามารถเดินออกไปได้สักร้อยสองร้อยเมตรบนถนนหินเส้นนี้ก่อนที่มันจะค่อย ๆ ลาดลงไปใต้ระลอกคลื่นที่ดูเหมือนมุ่งสู่สกอตแลนด์.
อีกสองส่วนคือมิดเดิล คอสเวย์ (the Middle Causeway) และลิตเทิล คอสเวย์ (the Little Causeway) ซึ่งอยู่รวมกลุ่มกันใกล้ ๆ กับแกรนด์ คอสเวย์. เสาหินสองกลุ่มนี้มีลักษณะคล้ายกองหินมากกว่าถนน. เนื่องจากหัวเสาแบนราบจึงทำให้นักท่องเที่ยวที่ชอบผจญภัยสามารถปีนจากเสาต้นหนึ่งไปยังต้นอื่น ๆ ได้ง่าย ๆ. แต่เวลาปีนก็
ต้องระมัดระวังมากทีเดียว เพราะเราพบว่าเสาหินที่อยู่ใกล้น้ำที่สุดนั้นเปียกและลื่นมาก!กลุ่มเสาหินอื่น ๆ
เราเดินต่อไปตามแนวชายฝั่งที่ยาวประมาณ 6.5 กิโลเมตร ซึ่งโดยทั่วไปเรียกกันว่าคอสเวย์ เฮดแลนด์ส (the Causeway Headlands) และเห็นเสาหินอีกหลายพันต้นตั้งตระหง่านอยู่บริเวณหน้าผา. ตลอดหลายปีที่ผ่านมา ผู้คนได้ตั้งชื่อให้กับกลุ่มเสาหินเหล่านี้. มีเสาหินสองกลุ่มที่ถูกตั้งชื่อเหมือนเครื่องดนตรี. กลุ่มหนึ่งชื่อออร์แกน ที่เรียกกันเช่นนั้นก็เนื่องจากเสาหินมีขนาดและความยาวพอ ๆ กันดูคล้ายกับท่อกำเนิดเสียงของออร์แกนยักษ์. ส่วนเสาหินอีกกลุ่มหนึ่งมีชื่อว่าพิณยักษ์ เนื่องจากมันเรียงกันเป็นแถวไล่ระดับลงมาตามแนวชายฝั่ง.
แนวคิดเกี่ยวกับยักษ์ยังทำให้มีการตั้งชื่ออื่น ๆ ด้วย. ตัวอย่างเช่น ชื่อหูกทอผ้ายักษ์, หีบศพยักษ์, และปืนใหญ่ยักษ์, และดวงตายักษ์. แถมยังมีรองเท้าบูตยักษ์ด้วยซ้ำ! ที่ชายหาดไม่ไกลจากไจแอนต์ส คอสเวย์ เราเห็นหินที่มีลักษณะคล้ายรองเท้าบูต. เสาหินนี้มีความสูงประมาณสองเมตร. บางคนคำนวณว่า ยักษ์ในนิทานที่สมมุติกันว่าได้สวม “รองเท้าบูต” นี้ได้จะต้องสูงอย่างน้อย 16 เมตร.
เสาหินอีกกลุ่มหนึ่งมีชื่อว่ายอดปล่องไฟ (the Chimney Tops) ทำให้นึกถึงเหตุการณ์ที่เกี่ยวข้องกันระหว่างไจแอนต์ส คอสเวย์กับกองเรือรบอาร์มาดาที่มีชื่อเสียงของสเปน. เสาหินกลุ่มนี้ถูกแยกจากหน้าผาใหญ่เนื่องจากการเซาะกร่อนและการผุพัง ทำให้เหลือเสาหินอยู่เพียงไม่กี่ต้นเท่านั้นที่ตั้งตระหง่านบนแหลมซึ่งมองลงไปเห็นชายฝั่งคอสเวย์. คงจะนึกออกได้ไม่ยากว่า เมื่อเหล่ากะลาสีเรือมองเห็นเสาหินเหล่านี้จากทะเลจึงเข้าใจผิดว่าเสาเหล่านี้เป็นยอดปล่องไฟของปราสาทขนาดใหญ่. ดูเหมือนว่า เรือรบลำหนึ่งชื่อกีโรนา ของกองเรืออาร์มาดาของสเปนซึ่งหนีจากการแพ้สงครามในปี 1588 ได้ยิงปืนใหญ่ไปที่เสาหินเหล่านี้เพราะคิดว่าเป็นปราสาทของศัตรู.
ปลายอีกด้านหนึ่งของคอสเวย์
กล่าวกันว่าไจแอนต์ส คอสเวย์ถูกสร้างขึ้นเพื่อเชื่อมไอร์แลนด์กับสกอตแลนด์เข้าด้วยกัน. แล้วปลายอีกด้านหนึ่งอยู่ที่ไหน? มีการพบเสาหินบะซอลต์แบบนี้ห่างออกไปอีกประมาณ 130 กิโลเมตรทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของเกาะสตาฟฟา เกาะเล็ก ๆ ที่ไม่มีผู้คนอาศัยอยู่นี้ตั้งอยู่
นอกชายฝั่งตะวันตกของสกอตแลนด์. (ชื่อสตาฟฟาหมายถึง “เกาะเสาหิน.”) เบนันดอนเนอร์ ยักษ์สกอตแลนด์ที่วิ่งหนีฟินน์ แมกคูลได้รับการขนานนามว่าฟิงกัล และลักษณะเด่นของเกาะสตาฟฟาคือ เป็นถ้ำกลางทะเลขนาดใหญ่ที่เกิดขึ้นภายในกลุ่มเสาหินบะซอลต์ซึ่งมีความยาวประมาณ 80 เมตร และได้รับการตั้งชื่อตามยักษ์ตนนี้ว่า ถ้ำฟิงกัล. คลื่นที่กระทบปากถ้ำ เป็นแรงบันดาลใจให้นักแต่งเพลงชาวเยอรมันชื่อเฟลิกซ์ เมนเดลส์โซห์น แต่งเพลงโหมโรงชื่อ “เฮบรีดีส” ในปี 1832 ซึ่งเป็นเพลงที่รู้จักกันในชื่อ “ถ้ำฟิงกัล” เช่นกัน.เกิดขึ้นมาอย่างไร?
ในเมื่อเสาหินที่มีรูปทรงเหมือนกันหมดนี้ไม่ได้เกิดจากน้ำมือของยักษ์ที่ต้องการจะต่อสู้กัน แล้วมันเกิดจากอะไร? เราพบคำตอบที่แท้จริงเมื่อเราเข้าใจว่าหินบางชนิดเกิดขึ้นมาอย่างไร.
ไอร์แลนด์เหนือตั้งอยู่บนพื้นที่ที่เป็นลานหินปูน. นานมาแล้ว หินหนืดที่อยู่ลึกลงไปใต้เปลือกโลกซึ่งมีความร้อนมากกว่า 1,000 องศาเซลเซียสได้ปะทุขึ้นตามรอยแยกของหินปูน. เมื่อสัมผัสอากาศ หินหนืดจะเย็นลงและกลายเป็นของแข็ง. แต่เหตุใดมันจึงไม่กลายเป็นหินก้อนใหญ่ ๆ ธรรมดา?
หินหนืดหรือแมกมามีองค์ประกอบทางเคมีหลายชนิดซึ่งทำให้เกิดหินหลายประเภท. ประเภทที่ก่อตัวขึ้นเป็นไจแอนต์ส คอสเวย์ ที่น่าพิศวงคือหินบะซอลต์. เมื่อแมกมาค่อย ๆ เย็นตัวลง มันจะหดตัว และองค์ประกอบทางเคมีของแมกมาก็ส่งผลให้ผิวด้านนอกแตกเป็นรูปหกเหลี่ยม. เมื่อแมกมาค่อย ๆ เย็นตัวลึกลงไป มันก็จะแตกจากบนลงล่างอย่างช้า ๆ ทำให้เสาหินบะซอลต์มีลักษณะคล้ายแท่งดินสอมัดใหญ่.
‘แล้วสถาปนิกจะอวดอะไรได้อีกเล่า?’
เสาหินแบบนี้ไม่ได้มีเฉพาะที่ไอร์แลนด์หรือสกอตแลนด์เท่านั้น. แต่ในดินแดนส่วนใหญ่ของโลก ผู้คนที่ต้องการเห็นเสาหินเหล่านั้นใกล้ ๆ มักจะต้องใช้ความพยายามอย่างมาก. คงมีไม่กี่แห่งในโลกที่มีเสาหินหกเหลี่ยมซึ่งยัง
อยู่ในสภาพดีจำนวนมากมายขนาดนี้ตั้งอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ทุกคนสามารถเข้าไปชมได้.ช่วงปลายศตวรรษที่ 18 เซอร์โจเซฟ แบงส์รู้สึกประทับใจอย่างยิ่งกับความงามอันน่าพิศวงของเสาหินจำนวนไม่มากนักที่เขาค้นพบบนเกาะสตาฟฟา ซึ่งทำให้เขากล่าวว่า “มหาวิหารและราชวังที่มนุษย์สร้างขึ้นนั้นเทียบไม่ได้เลยกับเสาหินเหล่านี้! . . . แล้วตอนนี้เหล่าสถาปนิกจะอวดอะไรได้อีกเล่า?”
การไปชมไจแอนต์ส คอสเวย์ หนึ่งในสิ่งมหัศจรรย์ทางธรรมชาติของไอร์แลนด์ ทำให้เรารู้สึกประทับใจเช่นเดียวกัน. การเที่ยวชมสถาปัตยกรรมทางธรรมชาติแห่งนี้ทำให้เราได้คิดใคร่ครวญถึงอำนาจและความสามารถในการสร้างสรรค์ของพระยะโฮวาพระเจ้า พระผู้สร้างและสถาปนิกองค์ยิ่งใหญ่.
[ภาพหน้า 15]
ปรากฏการณ์ทางธรรมชาติ ส่วนใหญ่หัวเสาหินเป็นรูปหกเหลี่ยม
[ที่มาของภาพ]
Courtesy NITB
[ภาพหน้า 16, 17]
เสาหินบะซอลต์เรียงรายตลอดแนวชายฝั่งยาวหกกิโลเมตร
[ภาพหน้า 17]
รองเท้าบูตของยักษ์มีความสูงประมาณสองเมตร
[ภาพหน้า 17]
เสาหินที่สูง 12 เมตรกลุ่มนี้ดูคล้ายท่อกำเนิดเสียงของออร์แกนยักษ์
[ที่มาของภาพหน้า 16]
Top left: Courtesy NITB; bottom: © Peter Adams/Index Stock Imagery