วิธีปกป้องรอยยิ้มของคุณ
วิธีปกป้องรอยยิ้มของคุณ
โดยผู้เขียนตื่นเถิด! ในแคนาดา
เมื่อส่องกระจก คุณตรวจดูอะไรบ้าง? บางทีอาจจะเป็นผมของคุณหรือการปรากฏตัวด้านอื่น ๆ. แล้วรอยยิ้มของคุณล่ะ? คุณเคยสังเกตไหมว่าฟันมีผลต่อรอยยิ้มของคุณอย่างไร? ใช่แล้ว ถ้าคุณใส่ใจรอยยิ้มของคุณ คุณก็ต้องดูแลฟันของคุณ. ฟันแท้ถูกออกแบบมาให้อยู่กับคุณไปตลอดชีวิต. คุณจึงควรดูแลเอาใจใส่ฟันเป็นพิเศษ. ฟันไม่เพียงทำหน้าที่บดเคี้ยวอาหารและช่วยให้คุณพูดได้ชัดเท่านั้น แต่ยังช่วยพยุงริมฝีปากและแก้ม ทำให้ยิ้มของคุณสวยและสดใสขึ้นด้วย. ฟันของคุณมีค่าจริง ๆ!
คุณจะปกป้องฟันของคุณได้อย่างไร?
สุขภาพฟันที่ดีเริ่มต้นจากภายใน. การรับประทานอาหารที่ได้สัดส่วน รวมทั้งแคลเซียมและวิตามินเอ, ซี, และดี จะช่วยเสริมสร้างฟันตั้งแต่อยู่ในครรภ์มารดาจนกระทั่งฟันถูกสร้างขึ้นอย่างสมบูรณ์. * นิสัยการรับประทานอาหารที่ดีจะช่วยให้คุณมีสุขภาพฟันที่ดีเสมอ แต่ควรระวังอาหารที่มีน้ำตาลสูง เพราะจะทำให้มีโอกาสเกิดฟันผุมากขึ้น! แม้จะมีการเตือนซ้ำแล้วซ้ำอีกว่าการบริโภคน้ำตาลมีผลทำให้ฟันผุ แต่ก็ยังมีรายงานว่าชาวอเมริกาเหนือบริโภคน้ำตาลโดยเฉลี่ยแล้วปีละ 50 ถึง 60 กิโลกรัม! ทำไมน้ำตาลจึงทำให้ฟันผุได้?
ฟันผุเกิดจากแบคทีเรียสองชนิด คือ “มิวแทน สเตรปโตคอคคี และแลคโตบาซิลี” ซึ่งอยู่ในคราบจุลินทรีย์. คราบจุลินทรีย์ คือคราบของแบคทีเรียและเศษอาหารซึ่งติดแน่นอยู่บนผิวฟัน. แบคทีเรียในคราบจุลินทรีย์ย่อยสลายน้ำตาลเป็นอาหารและเปลี่ยนน้ำตาลให้เป็นกรดซึ่งทำให้เกิดฟันผุ. น้ำตาลบางชนิดเปลี่ยนเป็นกรดได้ง่ายกว่าหรือติดอยู่กับผิวฟันได้ดีกว่า ทำให้คราบจุลินทรีย์มีเวลามากขึ้นที่จะทำให้ฟันผุ. * คราบจุลินทรีย์ที่ไม่ได้ถูกขจัดออกไปอาจจะแข็งกลายเป็นหินน้ำลายหรือหินปูนซึ่งเกาะอยู่ที่ขอบเหงือก.
เพื่อป้องกันไม่ให้ฟันผุลุกลามไป ต้องมีการควบคุมแบคทีเรียในคราบจุลินทรีย์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งแบคทีเรียมิวแทน สเตรปโตคอคคี. ดังนั้น ถ้าคุณต้องการปกป้องรอยยิ้มของคุณ คุณก็ต้องรักษาสุขอนามัยในช่องปากทุกวัน. คณะศัลยกรรมช่องปากและฟันของมหาวิทยาลัยโคลัมเบียกล่าวว่า “สิ่งสำคัญที่สุดที่คุณจะทำได้เพื่อจะรักษาฟันและเนื้อเยื่อที่รองรับ
ฟันให้มีสุขภาพดีและแข็งแรง คือการแปรงฟันควบคู่กับการใช้ไหมขัดฟัน.” ภาพแสดงวิธีการแปรงฟันและการใช้ไหมขัดฟันอย่างมีประสิทธิภาพมีอยู่ในหน้านี้และหน้าถัดไป. ทันตแพทย์ที่รักษาคุณอาจแนะนำอุปกรณ์หรือวิธีการอื่นที่จะช่วยคุณให้ทำความสะอาดฟันได้อย่างมีประสิทธิภาพเพื่อจะปกป้องรอยยิ้มของคุณไว้.การกัดกร่อนของกรดหลาย ๆ ครั้งจะทำให้แร่ธาตุที่ผิวเคลือบฟันละลาย ส่งผลให้ผิวเคลือบฟันอ่อนตัวลง. อย่างไรก็ตาม บริเวณนั้นสามารถเสริมสร้างแร่ธาตุได้ใหม่ทุกวัน. เป็นเช่นนั้นได้อย่างไร? มีการพิสูจน์แล้วว่าฟลูออไรด์ช่วยป้องกันฟันผุอย่างต่อเนื่อง โดยช่วยในกระบวนการเสริมสร้างแร่ธาตุขึ้นมาใหม่. ดังนั้น ฟันที่กำลังผุอยู่ก็สามารถกลับมีสภาพดีได้หากมีปัจจัยบางอย่าง เช่น ฟลูออไรด์. ใช่แล้ว ฟันสามารถรักษาตัวมันเองได้!
ทำอย่างไรเมื่อไปพบทันตแพทย์
ในการสำรวจรายหนึ่ง มีการขอให้ผู้แสดงความคิดเห็นเขียนว่าสิ่งต่าง ๆ ที่พวกเขากลัวมีอะไรบ้าง มีสิ่งเดียวเท่านั้นที่ผู้คนกลัวยิ่งกว่าการไปหาหมอฟันคือการพูดต่อหน้าสาธารณชน. การกลัวหมอฟันเป็นเรื่องสมเหตุผลไหม? ในประเทศที่ร่ำรวย เครื่องกรอฟันความเร็วสูง, ยาชาแบบทาหรือพ่น และการฉีดเฉพาะที่ ทำให้เดี๋ยวนี้ทันตแพทย์สามารถทำตามขั้นตอนการรักษาส่วนใหญ่ได้โดยที่คนไข้แทบจะไม่รู้สึกเจ็บปวดหรือทรมานเลย. การรู้จักขั้นตอนต่าง ๆ ในการรักษาอาจช่วยบรรเทาความกลัวของคุณได้.
การไปคลินิกทันตกรรมอาจรวมถึงการทำความสะอาดฟันหรือขูดหินน้ำลายโดยทันตแพทย์หรือทันตานามัย. ในขั้นตอนนี้จะเป็นการกำจัดหินน้ำลายและคราบจุลินทรีย์ในบริเวณที่แปรงสีฟันหรือไหมขัดฟันเข้าไม่ถึง. แล้วทันตแพทย์จะขัดฟันเพื่อป้องกันการสะสมของคราบจุลินทรีย์และเพื่อขัดเอาคราบต่าง ๆ ที่บดบังรอยยิ้มที่สวยงามของคุณออกไป.
เนื่องจากสารฟลูออไรด์ได้รับการพิสูจน์แล้วว่าสามารถป้องกันฟันผุได้ ที่คลินิกทันตกรรมจึงมักมีการใช้ฟลูออไรด์ในรูปของเจล, สารละลาย, หรือสารระเหยทาเคลือบฟันของเด็ก. นอกจากนี้ในหลายประเทศมีการเติมฟลูออไรด์ในน้ำประปา และในยาสีฟันก็มักมีฟลูออไรด์เป็นส่วนผสมเพื่อป้องกันฟันผุ.
ทันตแพทย์จะทำอะไรได้บ้าง?
ทันตแพทย์ได้รับการฝึกมากขึ้นให้ใช้มาตรการป้องกันต่าง ๆ เพื่อลดความเสียหายที่เกิดจากการละลายของแร่ธาตุ. โดยการรักษาฟันบริเวณที่เกิดปัญหาตั้งแต่ยังผุไม่มาก บ่อยครั้งสามารถทำให้ฟันกลับดีดังเดิมได้. ดังนั้น ถ้าคุณใส่ใจไปรับการตรวจและรักษาฟันที่ผุแต่เนิ่น ๆ การไปพบทันตแพทย์ก็ไม่ใช่ประสบการณ์ที่น่ากลัวอีกต่อไป.
อย่างไรก็ตาม ถ้าปล่อยให้กรดซึ่งเกิดจากคราบจุลินทรีย์ติดอยู่ที่ฟัน ก็จะทำให้ฟันผุ. ถ้าปล่อยให้มันลุกลามต่อไป ไม่ช้าก็อาจกลายเป็นโพรงและจำเป็นต้องได้รับการรักษา. ถ้าฟันผุไม่ลึกถึงโพรงประสาทฟัน ทันตแพทย์มักจะรักษาโดยการอุดฟัน.
ทันตแพทย์จะใช้เครื่องกรอกำจัดส่วนที่ผุออกให้สะอาดและกรอแต่งโพรงให้มีรูปร่างเหมาะสมสำหรับวัสดุอุดฟัน. หลังจากนั้น ทันตแพทย์จะอุดโพรงนั้นด้วยวัสดุอุดฟัน. วัสดุอุดสีโลหะหรือที่เรียกว่าอะมัลกัมจะแข็งตัวอย่างรวดเร็วและสามารถขูดแต่งได้ ในขณะที่วัสดุสีเหมือนฟันซึ่งเป็นสารประกอบจากเรซินสามารถทำให้แข็งตัวได้ด้วยแสงสีน้ำเงินจากเครื่องฉายแสง. ถ้าฟันที่ผุไม่ได้รับการรักษาและผุมากขึ้นจนลามไปถึงโพรงประสาทฟัน อาจจำเป็นต้องใช้วิธีรักษารากฟันหรืออาจถึงกับต้องถอนฟันซี่นั้นออก. การรักษารากฟันอาจช่วยให้ไม่ต้องถอนฟัน เนื่องจากการรักษาวิธีนี้จะรวมไปถึงการอุดปิดบริเวณคลองรากฟันที่เป็นโรคด้วย. ถ้าเนื้อฟันถูกทำลายไปมาก อาจต้องรักษาโดยการครอบฟัน ส่วนฟันที่ถูกถอนออกไปนั้นจะใช้สะพานฟันหรือฟันปลอมใส่เข้าไปแทน. *
ทำไมจึงคุ้มค่ากับความพยายาม
บางทีคุณอาจยังรู้สึกกลัวการไปพบทันตแพทย์อยู่. ถ้าเช่นนั้น จงบอกให้ทันตแพทย์ของคุณรู้. ก่อนจะเริ่มทำฟัน จงตกลงกับเขาว่าคุณจะให้สัญญาณอะไร (เช่น ยกมือ) หากคุณรู้สึกเจ็บ. ขอให้เขาอธิบายขั้นตอนการรักษาแต่ละขั้น. นอกจากนี้ คุณสามารถช่วยลูกของคุณให้มีสุขภาพปากและฟันที่ดีได้โดยพูดถึงการดูแลรักษาฟันในแง่ดี และเมื่อลูกเกเรก็อย่าขู่ว่าจะพาไปหาหมอฟัน.
ทันตแพทย์แดเนียล แคนเดลแมน อาจารย์ประจำภาควิชาสุขภาพในช่องปาก แห่งมหาวิทยาลัยมอนทรีออล กล่าวว่า “ปัจจุบัน มีทางเป็นไปได้ที่จะบรรลุเป้าหมายที่คุ้มค่าในเรื่องสุขภาพฟัน นั่นคือ การรักษาฟันตามธรรมชาติให้มีสุขภาพดีและรอยยิ้มสวยสดใสให้อยู่กับคุณไปตลอดชีวิต.” นั่นนับว่าคุ้มค่ากับความพยายาม!
[เชิงอรรถ]
^ วรรค 5 ฟันที่เจริญเต็มที่แล้วเป็นหลักฐานบ่งบอกนิสัยการรับประทานอาหารของมารดาระหว่างตั้งครรภ์และระหว่างที่เด็กอยู่ในช่วงวัยทารก ขณะที่ฟันก่อตัวอยู่ใต้เหงือก. ฟันจะหยุดเจริญเมื่อย่างเข้าสู่วัยรุ่นตอนปลายหรืออายุยี่สิบต้น ๆ.
^ วรรค 6 ผู้เชี่ยวชาญด้านทันตกรรมพบว่าสารไซลิทอล ซึ่งเป็นน้ำตาลที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ ได้พิสูจน์แล้วว่ามีส่วนช่วยควบคุมแบคทีเรียในคราบจุลินทรีย์ซึ่งเป็นตัวการทำให้เกิดฟันผุ. สารไซลิทอลนี้มีอยู่ในหมากฝรั่งบางยี่ห้อด้วย.
^ วรรค 16 สำหรับข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับฟันปลอม ดูได้จากบทความเรื่อง “คุณต้องใส่ฟันปลอมไหม?” ในวารสารตื่นเถิด! ฉบับ 8 มีนาคม 1993 หน้า 18-20.
[กรอบ/ภาพหน้า 12]
วิธีแปรงฟัน
การแปรงฟันมีหลายวิธี. แต่ข้อควรระวังคือ ควรใช้ยาสีฟันเพียงเล็กน้อย. ในยาสีฟันจะมีผงขัดฟันซึ่งทำให้ฟันสึกกร่อนและอาจ “แข็งกว่าเนื้อฟันตามธรรมชาติหลายร้อยเท่าทีเดียว.”
1 วางแปรงสีฟันให้ขนแปรงสัมผัสขอบเหงือกเอียงประมาณ 45 องศา. ค่อย ๆ ขยับแปรงไปมาแบบถี่ ๆ จากขอบเหงือกมาทางด้านบดเคี้ยว. ทำให้แน่ใจว่าได้แปรงผิวฟันทั้งด้านในและด้านนอกจนสะอาดแล้ว.
2 ถูแปรงไปมาแบบถี่ ๆ เพื่อทำความสะอาดด้านบดเคี้ยว.
3 เมื่อแปรงผิวด้านในของฟันหน้า ให้ถือแปรงในแนวตั้ง. ปัดแปรงจากขอบเหงือกไปหาด้านบดเคี้ยวของฟัน.
4 แปรงลิ้นและเพดานในลักษณะกวาดไปมา.
[ที่มาของภาพ]
Steps 1-4: Courtesy www.OralB.com
[กรอบ/ภาพหน้า 13]
การใช้ไหมขัดฟัน
ทันตแพทย์แนะนำให้ใช้ไหมขัดฟันทุกวันและแปรงฟันทุกครั้งหลังรับประทานอาหาร.
1 พันไหมขัดฟันรอบนิ้วกลางทั้งสองข้างโดยให้มีช่วงห่างระหว่างนิ้วทั้งสองเล็กน้อย.
2 ดึงไหมขัดฟันให้ตึงโดยใช้นิ้วหัวแม่มือของมือข้างหนึ่งและนิ้วชี้ของมืออีกข้างหนึ่ง. ดึงเส้นไหมไปมาเพื่อให้ไหมแทรกเข้าไประหว่างซี่ฟัน.
3 ดึงเส้นไหมให้โค้งเป็นรูปตัว c โอบรอบฟันซี่ใดซี่หนึ่ง แล้วขัดขึ้นลงตามผิวด้านข้าง ของฟันแต่ละซี่. ค่อย ๆ ดึงเส้นไหมให้ลงไปใต้ขอบเหงือก แต่ต้องระวังอย่ากดเส้นไหมกับเหงือกแรงเกินไปหรือถูไปมาเสียดสีใต้ขอบเหงือก.
[ที่มาของภาพ]
แหล่งอ้างอิง: คู่มือแนะนำวิธีดูแลสุขภาพในช่องปากสำหรับครอบครัว ของคณะศัลยกรรมช่องปากและฟัน มหาวิทยาลัยโคลัมเบีย
Steps 1-3: Courtesy www.OralB.com