การเพ่งดูโลก
การเพ่งดูโลก
มิตรภาพส่งผลต่อหัวใจ
หนังสือพิมพ์เดียรีโอ เมดีโก ของสเปนกล่าวว่า “การมีเพื่อนและมีสัมพันธภาพที่ดีกับคนในครอบครัวช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะหัวใจขาดเลือดเฉียบพลันหรือโรคเส้นเลือดสมอง.” บรรดาแพทย์เชื่อกันมานานแล้วว่าระดับคอเลสเทอรอล, ความดันโลหิต, และน้ำหนักตัว คือปัจจัยสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อหัวใจ. แต่ตามที่มีการศึกษาวิจัยเมื่อเร็ว ๆ นี้กับผู้หญิงประมาณ 500 คนที่มีอาการเจ็บหน้าอก ได้มีการพิจารณาด้วยว่าผู้ป่วยมีญาติพี่น้องและเพื่อนฝูงมากน้อยเท่าไรและมีความใกล้ชิดสนิทสนมกันไหม. การศึกษาครั้งใหม่นี้เผยให้เห็นว่า “ผู้ที่ไม่ยอมคบหาสมาคมกับคนอื่นมีความเสี่ยงถึงสองเท่าที่จะเสียชีวิต [ก่อนวัยอันควร] เมื่อเทียบกับผู้หญิงที่ชอบคบหาสมาคมมากกว่า.” คาร์ล เจ. เพพีน์ ผู้ร่วมทำการศึกษาวิจัยกล่าวเสริมว่า แม้ “มีเพื่อนสนิทเพียงหนึ่งหรือสองคนก็ช่วยลดอัตราเสี่ยง [ของการเป็นโรคหลอดเลือดสมองหรือหัวใจวาย] ได้.”
ฟองน้ำประหลาด
หนังสือพิมพ์เยอรมันชื่อดี เวลท์ รายงานว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยสตุตการ์ต เยอรมนี ได้ค้นพบฟองน้ำกลมสีขาวที่มีคุณสมบัติพิเศษที่น่าทึ่งบางอย่าง. ฟองน้ำชนิดนี้มีขนาดเล็กมาก แต่สามารถขับเคลื่อนตัวมันเองในอัตราหลายเซนติเมตรต่อวัน มันจึงเป็นฟองน้ำที่เคลื่อนที่ได้เร็วที่สุดเท่าที่มีการค้นพบ. ในจังหวะที่ฟองน้ำหดตัว มันจะขับน้ำออกมา ทำให้ตัวมันเล็กลงถึง 70 เปอร์เซ็นต์. เมื่อน้ำถูกดูดกลับเข้าไป ฟองน้ำจะดูดซึมสารอาหารและออกซิเจนที่ละลายอยู่ในน้ำเข้าไปด้วย. นักวิจัยค้นพบว่า ฟองน้ำจะหดตัวแรงขึ้นเมื่อมีการนำสัตว์จำพวกกุ้งหรือปูขนาดเล็กมาใส่ไว้ในตู้ปลา. นักวิจัยชื่อไมเคิล นิคเคิล กล่าวว่า “มันเป็นเรื่องที่แปลกมากจริง ๆ เนื่องจากฟองน้ำไม่มีระบบประสาท.” ฟองน้ำควบคุมการเคลื่อนไหวและรู้ได้อย่างไรว่ามีสัตว์ชนิดอื่นอยู่ในบริเวณนั้นทั้ง ๆ ที่มันไม่มีระบบประสาท? นักวิจัยยังศึกษาอย่างจริงจังต่อไป โดยหวังที่จะเรียนรู้ว่ามันทำสิ่งต่าง ๆ เหล่านั้นได้อย่างไร.
สัตว์จำพวกกุ้งตัวจิ๋วในแอนตาร์กติกาลดลง
หนังสือพิมพ์การ์เดียน แห่งลอนดอนรายงานคำกล่าวของเดวิด แอดัมว่า คริลล์ สัตว์น้ำขนาดจิ๋วรูปร่างคล้ายกุ้งซึ่งมีบทบาทสำคัญในห่วงโซ่อาหารของสัตว์ทะเล มีจำนวนลดลงถึง 80 เปอร์เซ็นต์ในทวีปแอนตาร์กติกานับตั้งแต่ทศวรรษ 1970 เป็นต้นมา. คริลล์กินสาหร่ายซึ่งเจริญเติบโตในน้ำแข็งทะเล แต่อุณหภูมิโดยเฉลี่ยของอากาศรอบคาบสมุทรแอนตาร์กติกาที่เพิ่มขึ้น 2.5 องศาเซลเซียสตั้งแต่ทศวรรษ 1950 นั้นทำให้น้ำแข็งบางส่วนละลาย. แองกัส แอทคินสัน จากหน่วยสำรวจแถบแอนตาร์กติกาของอังกฤษกล่าวว่า “เรายังไม่เข้าใจเต็มที่ว่า การที่น้ำแข็งหายไปจากทะเลแถบนี้เกี่ยวข้องกันอย่างไรกับอากาศที่อุ่นขึ้น แต่เราเชื่อว่านั่นเป็นสาเหตุที่ทำให้คริลล์มีจำนวนลดลง.” คณะสำรวจได้ตรวจสอบบันทึกทางวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับการจับปลาในแถบแอนตาร์กติกาที่ประเทศต่าง ๆ เก้าประเทศได้ทำไว้ตั้งแต่ปี 1926 ถึง 1939 และปี 1976 ถึง 2003. พวกเขากล่าวว่า ตอนนี้มีคริลล์เหลืออยู่เพียงหนึ่งในห้าของจำนวนที่เคยมีเมื่อ 30 ปีที่แล้ว.
พูดโดยการผิวปาก
คนเลี้ยงแกะในลา โกเมรา ที่หมู่เกาะคะเนรีใช้ภาษาที่เรียกกันว่าซิลโบ ซึ่งอาศัยการผิวปากเป็นหลัก. โดยใช้รหัสที่ประกอบด้วยสระสองตัวกับพยัญชนะสี่ตัว แล้วผิวปากให้ออกมาเป็นเสียงต่าง ๆ กัน คนเลี้ยงแกะก็สามารถสื่อสารกันได้แม้จะอยู่ห่างไกลกันมาก. เมื่อเร็ว ๆ นี้ นักวิจัยใช้เครื่องสร้างภาพสมองด้วยคลื่นสนามแม่เหล็ก (เอ็มอาร์ไอ) เพื่อเปรียบเทียบการทำงานของสมองคนเลี้ยงแกะห้าคนที่พูดภาษาสเปนกับคนเลี้ยงแกะห้าคนที่พูดได้ทั้งภาษาสเปนกับภาษาซิลโบ. หนังสือพิมพ์เอล ปาอิส แห่งสเปนกล่าวว่า นักวิจัยพบว่าเมื่อคนเลี้ยงแกะสื่อสารกันด้วยการผิวปาก “สมองของพวกเขาจะส่งสัญญาณแบบเดียวกับที่พวกเขากำลังพูดปกติ.” รายงานข่าวนั้นได้ยกคำพูดของนักวิจัยคนหนึ่งขึ้นมากล่าวดังนี้: “ผลการทดลองแสดงหลักฐานมากขึ้นว่า มนุษย์มีความสามารถที่จะปรับการใช้ภาษาได้หลายรูปแบบ.”
ค่าใช้จ่ายในการแปลสูงขึ้น
ในเดือนพฤษภาคม 2004 มีการเพิ่มจำนวนสมาชิกสหภาพยุโรปใหม่อีกสิบประเทศ ทำให้สหภาพมีสมาชิกทั้งสิ้น 25 ประเทศ. อย่างไรก็ตาม การเพิ่มจำนวนสมาชิกทำให้มีปัญหาด้านภาษาซึ่งส่งผลให้มีค่าใช้จ่ายสูงขึ้น. ในจำนวน 25 ประเทศนี้ มีภาษาที่ใช้อย่างเป็นทางการ 20 ภาษา. ดังนั้น จึงต้องมีการแปลเอกสารในแต่ละภาษา. วารสารข่าวภาษาฝรั่งเศสวาเลอร์ อักตึเอล รายงานว่า “ก่อนที่จะเพิ่มจำนวนสมาชิก คณะกรรมาธิการยุโรปต้องแปลเอกสารถึง 1,416,817 หน้า [ที่เป็นข้อความ] ในปี 2003.” อย่างไรก็ตาม ตอนนี้จำนวนหน้าของเอกสารที่ต้องแปลเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว. เนื่องจากมีภาษาใหม่เพิ่มเข้ามาอีกเก้าภาษา จำนวนงานที่อาจต้องแปลระหว่างภาษา (เช่น จากภาษามอลตาเป็นภาษาฟินแลนด์ หรือจากภาษาเอสโตเนียเป็นภาษากรีก) ก็เพิ่มขึ้นจาก 110 เป็น 380. การหาผู้แปลและล่ามที่มีคุณภาพสำหรับการแปลแบบนั้นเป็นเรื่องที่ยากมาก. โรเบิร์ต โร เจ้าหน้าที่แผนกแปลของคณะกรรมาธิการยุโรปกล่าวว่า เงินที่ต้องใช้เพื่อการแปลต่อปีในขณะนี้ 670 ล้านดอลลาร์ ซึ่งเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วและ “อาจสูงถึง 990 ดอลลาร์.”
ควันในสถานศักดิ์สิทธิ์ไม่บริสุทธิ์
เดอะ ซิดนีย์ มอร์นิง เฮรัลด์ รายงานว่า อนุภาคของควันจากเทียนและเครื่องหอมที่กำลังติดไฟอยู่ อาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพของบาทหลวงและศาสนิกชนซึ่งอยู่ในโบสถ์ที่อากาศไม่ค่อยถ่ายเทเป็นเวลานาน ๆ. หนังสือพิมพ์นี้รายงานว่า การศึกษาวิจัยพบว่า ระดับควันในโบสถ์สองแห่ง “สูงกว่ามาตรฐานความปลอดภัยด้านมลพิษทางอากาศของยุโรปถึง 20 เท่า. รายงานดังกล่าวเปรียบระดับมลพิษนี้ว่าเป็นเหมือนกับ “มลพิษทางอากาศบริเวณถนนที่มีรถวิ่ง 45,000 คันต่อวัน.” ผู้ทำการวิจัยคนหนึ่งเตือนว่า การเข้าไปอยู่ในสถานที่ซึ่งเต็มไปด้วยมลพิษทางอากาศเป็นประจำเช่นนี้จะทำให้มีโอกาสเสี่ยงมากขึ้นที่จะเป็นมะเร็งปอดหรือโรคเกี่ยวกับปอด.
อนุสาวรีย์ของสัตว์ที่ใช้ในสงคราม
เดอะ ไทมส์ รายงานว่า ที่กลางกรุงลอนดอนได้มีการทำพิธีเปิดผ้าคลุม “อนุสรณ์สถานแห่งชาติแด่สัตว์ที่รับใช้ชาติ, ทนทุกข์ทรมาน, และตายเคียงข้างกองทัพและพันธมิตรฝ่ายอังกฤษในสงครามและการสู้รบตลอดหลายศตวรรษ.” อนุสาวรีย์ซึ่งเป็นรูปสลักทองเหลืองนี้ประกอบด้วยม้าหนึ่งตัว, สุนัขหนึ่งตัว, และล่อสองตัวที่กำลังแบกสัมภาระ ล้อมรอบด้วยกำแพงหินที่แกะสลักเป็นสัตว์ชนิดอื่น ๆ ที่ถูกนำมาใช้ในสงครามต่าง ๆ. ตัวอย่างเช่น ในช่วงสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง ประมาณกันว่ามีม้าแปดล้านตัวตายไป รวมทั้งล่อและลาอีกนับไม่ถ้วน. หนังสือพิมพ์ การ์เดียน รายงานว่า ในช่วงสงครามโลกครั้งที่หนึ่งทหารใช้หิ่งห้อยเพื่ออ่านแผนที่ในตอนกลางคืน. สัตว์ที่น่าทึ่งอีกตัวหนึ่งชื่อร็อบ เป็น “สุนัขดิ่งพสุธา” ที่กระโดดร่มมากกว่า 20 ครั้งในแอฟริกาเหนือและอิตาลี. เดอะ ไทมส์ รายงานว่า นอกจากนี้ ระหว่างสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง นกพิราบชื่อเชอร์ อามี “ได้ส่งสารไม่น้อยกว่า 12 ครั้งและไม่เคยผิดพลาดเลย.” อย่างไรก็ตาม ตามรายงานจากแหล่งหนึ่ง มีการกะประมาณว่ามีนกพิราบถึง 20,000 ตัวตายไประหว่างสงครามครั้งนั้น.