การไร้ที่อยู่อาศัย—อะไรคือสาเหตุ?
การไร้ที่อยู่อาศัย—อะไรคือสาเหตุ?
องค์การสหประชาชาติรายงานว่า “ทั่วโลกมีคนไร้ที่อยู่มากกว่า 100 ล้านคน.” ถ้าตัวเลขนี้ถูกต้อง ก็เท่ากับว่าในบรรดามนุษย์ทุกคน มีประมาณ 1 ใน 60 ที่ไม่มีที่พักพิงเป็นหลักแหล่ง! ถึงกระนั้น ก็ยังไม่ง่ายที่จะรู้ขอบเขตที่แน่ชัดของปัญหานี้. เพราะอะไร?
มีการให้คำนิยามการไร้ที่อยู่อาศัยแตกต่างกันไปในแต่ละส่วนของโลก. วิธีการและเป้าหมายของผู้ที่ศึกษาวิจัยปัญหานี้มีผลกระทบต่อวิธีที่เขานิยามคำนั้น. ส่วนคำนิยามนั้นก็มีผลต่อตัวเลขสถิติที่เขาเผยแพร่. ดังนั้น จึงเป็นเรื่องยาก หรืออาจเป็นไปไม่ได้เลย ที่จะรู้ภาพรวมของปัญหานี้อย่างถูกต้อง.
หนังสือมาตรการเพื่อต่อสู้การไร้ที่อยู่ (ภาษาอังกฤษ) จัดพิมพ์โดยศูนย์เพื่อการตั้งถิ่นฐานมนุษย์ขององค์การสหประชาชาติ นิยามความหมายของการไร้ที่อยู่ว่า เป็นสภาพของ “การไม่มีที่อยู่อาศัยในระดับที่ยอมรับได้. นั่นรวมถึงสภาพที่ต่ำกว่าระดับที่ถือว่าเพียงพอ” ตามมาตรฐานของสังคมที่บุคคลนั้นอาศัยอยู่. บางคนอาจอาศัยอยู่ตามข้างถนนหรือในตึกร้าง ส่วนบางคนอาจไปอาศัยในสถานสงเคราะห์สำหรับคนจรจัด. ยังมีบางคนที่อาศัยอยู่กับเพื่อนฝูงชั่วคราว. ไม่ว่าในกรณีใด หนังสือเล่มเดียวกันนั้นกล่าวว่า “การจัดว่าคนใดคนหนึ่งเป็นคนไร้ที่อยู่ก็แสดงว่า ‘จำเป็นต้องทำอะไรบางอย่าง’ เพื่อช่วยคนที่อยู่ในสภาพเช่นนั้น.”
มีการกะประมาณว่า ในโปแลนด์ ประเทศที่มีประชากรประมาณ 40 ล้านคน มีคนไร้ที่อยู่มากถึง 300,000 คน. ไม่มีใครรู้ว่ามีจำนวนเท่าไรแน่ เนื่องจากพวกเขาไม่ได้จดทะเบียนไว้เป็นหลักแหล่งและพวกเขาก็เร่ร่อนไปเรื่อย ๆ. บางคนเชื่อว่าตัวเลขที่แท้จริงอาจสูงถึงเกือบห้าแสนคน!
เนื่องจากการไร้ที่อยู่เป็นปัญหาที่มีแพร่หลาย เป็นไปได้ว่าบางคนที่คุณรู้จักอาจประสบผลกระทบจากปัญหานี้. ความทุกข์ของคนไร้ที่อยู่ทำให้เกิดคำถามหลายข้อ. คนเหล่านี้กลายเป็นคนไร้ที่อยู่อาศัยที่เหมาะสมได้อย่างไร? พวกเขาดำรงชีวิตอยู่ได้อย่างไร? มีใครช่วยพวกเขา? และอนาคตของคนไร้ที่อยู่จะเป็นอย่างไร?
ในวังวนแห่งการไร้ที่อยู่
ซาบรีนา * เป็นผู้หญิงที่มีลูกสามคนและอาศัยอยู่ในฮาร์เลม ซึ่งเป็นย่านของคนยากจนในนครนิวยอร์ก. เธอออกจากโรงเรียนหลังจากจบมัธยมศึกษาปีที่ 4. ซาบรีนาอาศัยอยู่กับลูกเล็ก ๆ ของเธอในสถานสงเคราะห์ที่เทศบาลจัดให้สำหรับคนไร้ที่อยู่ในระยะยาว. เธออาศัยในอพาร์ตเมนต์ที่มีห้องนอนห้องเดียวรวมกับลูกชายสามคนของเธอ อายุสิบเดือน, สามขวบ, และสิบขวบ. เทศบาลจัดหาอพาร์ตเมนต์เช่นนั้นไว้สำหรับคนที่ไม่มีที่อื่นที่ปลอดภัยที่จะอยู่ได้.
ซาบรีนาย้ายออกจากอพาร์ตเมนต์ของแม่เธอเมื่อสิบปีก่อน. ตั้งแต่นั้นมา เธอไปอาศัยอยู่กับเพื่อนชาย หรืออยู่กับเพื่อน ๆ และญาติ และเมื่อสถานการณ์แย่ลง เธอก็ไปอยู่ในสถานสงเคราะห์ของเทศบาล. ซาบรีนากล่าวว่า “ฉันมีงานทำบ้างไม่มีงานทำบ้าง โดยมากจะเป็นงานถักผมประดับลูกปัดให้กับลูกค้า แต่ส่วนใหญ่แล้วฉันอยู่ได้ก็เพราะอาศัยเงินสวัสดิการสังคม.”
น่าแปลก ดังที่ได้พรรณนาไว้ในนิตยสารแพเรนตส์ ปัญหาของซาบรีนาเริ่มขึ้นเมื่อเธอได้งานที่ดีทำโดยการเป็นแม่บ้านในโรงแรมแห่งหนึ่ง. ตอนที่เธอทำงานที่นั่น เธอหาเงินได้มากเกินกว่าที่จะมีสิทธิ์รับเงินสวัสดิการสังคม แต่เงินนั้นก็ไม่มากพอที่จะชำระค่าใช้จ่ายทุกอย่างได้ เช่น ค่าเช่าบ้าน, ค่าอาหาร, ค่าเสื้อผ้า, ค่าเดินทาง, และค่าเลี้ยงเด็ก. ดังนั้น เธอจึงไม่มีเงินจ่ายค่าเช่าบ้าน และเจ้าของบ้านก็พยายามจะไล่เธอออกไป. ท้ายที่สุด ซาบรีนาออกจากงานและยอมอาศัยอยู่ในสถานสงเคราะห์ชั่วคราวจนกระทั่งอพาร์ตเมนต์ที่เธออยู่ในตอนนี้ว่างลง.
“ลูก ๆ ของฉันลำบากมาก” ซาบรีนากล่าว. “ลูกชายคนโตของฉันย้ายโรงเรียนสามครั้งแล้ว. เขาควรจะอยู่ชั้นประถมห้า แต่เขาต้องเรียนซ้ำชั้นหนึ่งปี . . . เราต้องย้ายบ้านบ่อยเหลือเกิน.” ซาบรีนาอยู่ในรายชื่อผู้รอที่จะได้บ้านซึ่งรัฐบาลให้การช่วยเหลือ.
สำหรับคนที่ไม่มีที่ไปจริง ๆ ซาบรีนาอาจดูเหมือนว่าค่อนข้างสบาย. แต่ชีวิตในสถานสงเคราะห์ไม่ได้เป็นที่ที่น่าอยู่สำหรับคนไร้ที่อยู่ทุกคน. ตามคำกล่าวของคณะกรรมการช่วยเหลือชุมชนแห่งโปแลนด์ บางคน “กลัวกฎระเบียบของสถานสงเคราะห์” เขาจึงไม่ยอมรับการช่วยเหลือ. ตัวอย่างเช่น มีกฎว่าคนที่อยู่ในสถานสงเคราะห์สำหรับคนจรจัดต้องทำงานและห้ามดื่มแอลกอฮอล์หรือใช้ยาเสพติด. ไม่ใช่ทุกคนเต็มใจทำตามกฎเหล่านี้. ดังนั้น ขึ้นอยู่กับฤดูกาล คนจรจัดอาจนอนอยู่ตามสถานีรถไฟ, ช่องบันได, และชั้นใต้ดินของอาคารบางหลัง รวมทั้งม้านั่งในสวนสาธารณะ, ใต้สะพาน, และในย่านอุตสาหกรรม. จะพบเห็นภาพที่คล้ายกันนี้ทั่วโลก.
หนังสือเล่มหนึ่งเกี่ยวกับเรื่องนี้บอกถึงปัจจัยหลายอย่างที่เป็นเหตุให้ผู้คนกลายเป็นคนไร้ที่อยู่ในโปแลนด์. ปัจจัยเหล่านั้นรวมถึงการตกงาน, การเป็นหนี้, และปัญหาครอบครัว. มีการขาดแคลนที่อยู่อาศัยสำหรับผู้สูงอายุ, คนพิการ, และผู้ติดเชื้อเอชไอวี. คนจรจัดหลายคนมีปัญหาทางสุขภาพจิตและสุขภาพกาย หรือมีปัญหาเรื่องการติดสิ่งเสพติด โดยเฉพาะอย่างยิ่งแอลกอฮอล์. ผู้หญิงจรจัดส่วนใหญ่ได้ไปจากหรือหนีจากสามี, ถูกไล่ออกจากบ้าน, หรือมีประวัติเป็นโสเภณี. ดูเหมือนว่า ทุกกรณีจะมีเรื่องราวที่น่าเศร้าแฝงอยู่.
สภาพการณ์บังคับ
สตานิสลาวา กอลีนอฟสกา ผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์สังคมกล่าวว่า “ที่นี่ [ในโปแลนด์] ไม่มีใครเลยที่เป็นคนจรจัดเพราะเลือกเอง. . . . แต่จริง ๆ แล้ว การไร้ที่อยู่เป็นผลจากความล้มเหลวหลาย ๆ อย่างในชีวิต ซึ่งนำไปสู่ความเจ็บป่วยทางจิตและหมดความต้องการที่จะมีชีวิตอยู่.” คนที่กลายเป็นคนไร้ที่อยู่ดูเหมือนเป็นคนที่รู้สึกว่าไม่สามารถจัดการกับปัญหาของตนเองได้ เนื่องด้วยเหตุผลบางอย่าง. เพื่อเป็นตัวอย่าง บางคนถูกปล่อยตัวออกจากคุก แล้วก็พบว่ามีอันธพาลมาทำลายบ้านของเขาไปเสียแล้ว. ส่วนบางคนก็ถูกไล่ออกจากบ้าน. หลายคนสูญเสียบ้านของตนไปเนื่องจากประสบภัยธรรมชาติ. *
งานวิจัยงานหนึ่งพบว่า เกือบครึ่งหนึ่งของคนไร้ที่อยู่ซึ่งมีการสำรวจในโปแลนด์ เคยอยู่กับครอบครัวและคู่สมรสของตนเอง แม้ว่าบ่อยครั้งจะมีปัญหาครอบครัว. คนเหล่านี้ส่วนใหญ่ถูกไล่ออกจากบ้านหรือรู้สึกว่าจำต้องออกจากบ้านเพราะความยากลำบากอย่างแสนสาหัส. มีเพียง 14 เปอร์เซ็นต์ตัดสินใจจะออกจากบ้านด้วยตนเอง.
หลังจากอยู่ในสถานสงเคราะห์สักระยะหนึ่ง บางคนสามารถพึ่งพาตัวเองได้ในระดับหนึ่งและออกไปหาที่อยู่เองได้. ส่วนคนอื่น ๆ นั้นอยู่ในสถานการณ์ที่แก้ไขได้ยากกว่า. เหตุผลบางอย่างก็คือความเจ็บป่วยทางจิตหรือทางร่างกาย, การใช้ยาเสพติด, การไม่มีแรงจูงใจที่จะทำงาน, นิสัยการทำงานที่ไม่ดี, มีการศึกษาน้อย, หรือปัจจัยหลายอย่างรวมกัน พวกเขากลายเป็นคนที่ติดอยู่ในวังวนของการไร้ที่อยู่. ในสหรัฐ ประมาณ 30 เปอร์เซ็นต์
ของคนจรจัดเข้า ๆ ออก ๆ จากสิ่งที่องค์การที่ไม่แสวงหาผลกำไรแห่งหนึ่งเรียกว่า “ระบบของการไร้ที่อยู่” ซึ่งประกอบด้วยสถานสงเคราะห์, โรงพยาบาล, และที่น่าเศร้าก็คือเรือนจำ. กล่าวกันว่า คนที่อยู่ในระบบนี้เป็นเวลานาน ๆ ได้ใช้ทรัพยากรของชาติซึ่งจัดไว้เพื่อแก้ปัญหานี้มากถึง 90 เปอร์เซ็นต์.ความช่วยเหลือสำหรับผู้ไร้ที่อยู่หรือ?
สถานสงเคราะห์บางแห่งให้การบริการเพื่อช่วยผู้คนให้หลุดพ้นจากวิถีชีวิตของคนจรจัด. อาจมีการช่วยเขาให้ได้รับเงินสวัสดิการสังคม, การช่วยเหลือทางการเงินจากแหล่งอื่น ๆ, ความช่วยเหลือทางกฎหมาย, การช่วยเหลือให้ติดต่อกับครอบครัวอีกครั้ง, หรือให้มีโอกาสได้เรียนรู้วิชาพื้นฐาน. ศูนย์ช่วยเหลือเยาวชนในกรุงลอนดอนให้คำแนะนำเรื่องการกิน, การทำอาหาร, รูปแบบชีวิตที่ทำให้มีสุขภาพดีขึ้น, และการหางานทำ. การให้คำปรึกษามีเป้าหมายที่จะช่วยพวกเขาให้มีความนับถือตัวเองและกำลังใจมากขึ้น และช่วยผู้คนให้รู้จักพึ่งพาตัวเองมากขึ้น เพื่อพวกเขาจะหาที่อยู่ของตนเองได้และไม่กลายเป็นคนจรจัดอีก. การช่วยเหลือเช่นนี้น่ายกย่องอย่างยิ่ง.
อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่สถานสงเคราะห์ทุกแห่งให้ความช่วยเหลือแก่คนจรจัดอย่างที่พวกเขาจำเป็นต้องได้รับมากที่สุด. ยาเซ็ก ซึ่งเป็นคนจรจัดในกรุงวอร์ซอ อธิบายว่าชีวิตในสถานสงเคราะห์ไม่ได้เตรียมพวกเขาให้พร้อมที่จะดำเนินชีวิตในโลกภายนอก. เขารู้สึกว่าเนื่องจากคนที่อาศัยอยู่ในสถานสงเคราะห์คบหาและพูดคุยกันเองโดยแทบไม่ได้พบกับคนอื่นเลย พวกเขาจึงมักจะเกิด “ความคิดที่ผิดเพี้ยนไป.” เขากล่าวว่า “สถานสงเคราะห์ซึ่งแยกพวกเราออกจากโลกภายนอกกลายเป็นเหมือนบ้านที่ทำให้ผู้ใหญ่ได้รับการดูแลเหมือนเด็ก ๆ.” ในทัศนะของเขา ผู้อยู่ในสถานสงเคราะห์หลายคนมี “ความคิดที่ไม่ปกติ.”
ตามงานวิจัยของโปแลนด์งานหนึ่ง ความเหงาเปล่าเปลี่ยวเป็นอารมณ์ความรู้สึกที่น่าปวดร้าวใจที่สุดสำหรับคนจรจัด. เนื่องจากปัญหาทางการเงิน
และฐานะที่ต่ำต้อยทางสังคม คนจรจัดจึงมักจะมองตัวเองว่าเป็นคนไร้ค่า. บางคนหันไปพึ่งแอลกอฮอล์. ยาเซ็กกล่าวว่า “เมื่อไม่มีความหวังใด ๆ ว่าจะเกิดการเปลี่ยนแปลง พวกเราหลายคนก็ค่อย ๆ หมดความมั่นใจที่ว่ามีอะไรที่เราทำได้เพื่อแก้ไขสภาพอันน่าสังเวชของเรา.” พวกเขาอายสารรูปของตัวเอง, อายความยากจนและการที่เขาเอาตัวไม่รอด, และข้อเท็จจริงที่เห็นได้ชัดที่ว่าพวกเขาไม่มีบ้านอยู่.“ไม่ว่าเราพูดถึงคนที่นอนข้างทางเดินเท้าในนครบอมเบย์ [มุมไบ] และกัลกัตตาหรือคนที่นอนอยู่ตามถนนในลอนดอน หรือเด็กจรจัดในบราซิล” ฟรานซิส เจเกเด ผู้เชี่ยวชาญด้านประชากร กล่าวไว้ “สภาพของการไร้ที่อยู่เป็นปัญหาร้ายแรงและน่าเศร้าเกินกว่าที่จะนึกภาพออกได้ โดยยังไม่ต้องพูดถึงการประสบด้วยตัวเอง.” แล้วเขาเสริมว่า “ไม่ว่าสาเหตุของปรากฏการณ์นี้คืออะไร คำถามที่เราต้องถามเสมอคือที่ว่า ทั้ง ๆ ที่มีความมั่งคั่งและความรู้และความเชี่ยวชาญทางเทคโนโลยีมากมาย ทำไมโลกนี้จึงดูเหมือนไม่สามารถจัดการกับปัญหาเรื่องการไร้ที่อยู่อาศัยได้?”
เห็นได้ชัดว่าคนไร้ที่อยู่ทุกคนต้องการความช่วยเหลือ ไม่เพียงแค่ทางกาย แต่ต้องเป็นสิ่งที่ปลอบโยนหัวใจและฟื้นฟูกำลังใจของพวกเขาด้วย. ความช่วยเหลือเช่นนั้นอาจทำให้ผู้คนมีกำลังที่จะเผชิญและเอาชนะปัญหาหลายอย่างที่มีส่วนทำให้เกิดปัญหาการไร้ที่อยู่. แต่คนไร้ที่อยู่จะได้ความช่วยเหลือเช่นนั้นจากที่ไหน? และมีความหวังว่าการไร้ที่อยู่จะถูกกำจัดให้หมดไปไหม?
[เชิงอรรถ]
^ วรรค 8 บางชื่อในบทความนี้เป็นนามสมมุติ.
^ วรรค 15 นอกจากนี้ หลายล้านคนทั่วโลกจำต้องพลัดพรากจากบ้านของตนเนื่องจากความวุ่นวายทางการเมืองหรือการสู้รบ. มีการพิจารณาปัญหาของพวกเขาในบทความชุดที่มีชื่อว่า “ผู้ลี้ภัย—พวกเขาจะมีวันได้พบบ้านไหม?” จัดพิมพ์ในตื่นเถิด! (ภาษาอังกฤษ) ฉบับ 22 มกราคม 2002.
[กรอบ/ภาพหน้า 6]
ผลจากความยากจนแสนเข็ญ
คนนับแสน ๆ คนอาศัยอยู่ตามถนนในเมืองต่าง ๆ ของประเทศอินเดีย. การกะประมาณที่ผ่านมาพบว่า คนที่อาศัยอยู่ตามข้างถนนเฉพาะในเมืองมุมไบเพียงแห่งเดียวมีราว ๆ 250,000 คน. ที่พักอาศัยของพวกเขาก็อาจเป็นเพียงผ้าใบขึงกับเสาและอะไรก็ได้ที่อยู่ข้าง ๆ. ทำไมพวกเขาจึงอยู่ที่นั่นแทนที่จะไปอยู่ในบ้านที่มีราคาไม่แพงนักแถบชานเมือง? เนื่องจากพวกเขาทำงานในย่านใจกลางเมือง ไม่ว่าจะเป็นพ่อค้าแม่ค้า, คนขายของตามแผงลอย, คนลากรถ, หรือคนเก็บเศษขยะขาย. หนังสือมาตรการเพื่อต่อสู้การไร้ที่อยู่ (ภาษาอังกฤษ) กล่าวว่า “คนเหล่านี้ไม่มีทางเลือก. พวกเขาถูกความยากจนบีบบังคับให้เขาเก็บเงินที่จะใช้เป็นค่าเช่าบ้านไว้เพื่อจะนำไปซื้อหาอาหาร.”
ผู้ชายผู้หญิงและเด็ก ๆ ประมาณ 2,300 คนอาศัยอยู่ในสถานีรถไฟพาร์ก กรุงโจฮันเนสเบิร์ก แอฟริกาใต้. พวกเขานอนหลับบนชานชาลาที่ไม่มีหลังคา อาศัยผ้าห่มเก่า ๆ เป็นที่นอน หรือไม่ก็นอนในเพิงกระดาษแข็ง. ส่วนใหญ่ไม่มีงานทำและไม่มีหวังที่จะได้งานทำ. มีอีกหลายพันคนอยู่ในสภาพคล้าย ๆ กันทั่วเมืองนั้น. พวกเขาขาดแคลนน้ำ, ห้องน้ำ, และไฟฟ้า. ในสภาพเช่นนั้น โรคต่าง ๆ ก็ระบาดไปได้อย่างรวดเร็ว.
สาเหตุที่ทำให้คนสองกลุ่มนี้และคนอื่น ๆ อีกหลายคนกลายเป็นคนไร้ที่อยู่นั้นเห็นได้ชัด—ความยากจนแสนเข็ญ.
[กรอบ/ภาพหน้า 7]
ความล้มเหลวของสังคมสมัยใหม่
หนังสือมาตรการเพื่อต่อสู้การไร้ที่อยู่ (ภาษาอังกฤษ) จัดพิมพ์โดยศูนย์เพื่อการตั้งถิ่นฐานมนุษย์ขององค์การสหประชาชาติ ชี้ถึงข้อบกพร่องหลายอย่างในสังคม, การเมือง, และระบบเศรษฐกิจในปัจจุบันซึ่งเกี่ยวข้องกับการจัดหาบ้านให้ทุกคน. ต่อไปนี้คือข้อบกพร่องบางอย่างที่มีการกล่าวถึง:
● “ประเด็นหลักในเรื่องของการไร้ที่อยู่ก็ยังคงเป็นเรื่องที่รัฐบาลไร้ความสามารถที่จะจัดสรรทุนเพื่อทำให้มีที่อยู่อาศัยอย่างเพียงพอตามสิทธิอันพึงได้รับ.”
● “การมีกฎข้อบังคับที่ไม่เหมาะสมและมีระบบการวางแผนที่ไม่ดีพออาจ . . . ทำให้เกิดการขาดแคลนบ้านอย่างรุนแรงในหมู่คนจนซึ่งเป็นประชากรส่วนใหญ่.”
● “การไร้ที่อยู่เป็นสัญญาณแสดงว่ามีการแบ่งสันปันส่วนความช่วยเหลือทางการเงินในด้านที่อยู่อาศัยอย่างไม่เท่าเทียมกันในชุมชน.”
● “วิกฤติการณ์ของการไร้ที่อยู่เกิดจากการหมักหมมของนโยบายซึ่งเพิกเฉยหรือประเมินผิดพลาดในเรื่องผลเสียของการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ, การขาดแคลนที่อยู่อาศัยที่มีระดับไม่แพงนัก, การใช้ยาเสพติดมากขึ้น, และปัญหาทางสุขภาพจิตและสุขภาพกายอื่น ๆ ของคนที่มีความเสี่ยงสูงที่สุดที่จะเป็นคนไร้ที่อยู่ในสังคม.”
● “มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะปรับปรุงการฝึกอบรมของผู้ที่ทำงานช่วยเหลือคนที่มีจุดอ่อนเหล่านี้. คนไร้ที่อยู่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเด็กจรจัด ควรถือว่าเป็นทรัพยากรที่ยังไม่ได้นำมาใช้อย่างเต็มที่แทนที่จะมองว่าเป็นภาระของสังคม.”
[รูปภาพ]
ผู้หญิงกับลูกสาวสองคนกำลังขอทาน เม็กซิโก
[ที่มาของภาพ]
© Mark Henley/ Panos Pictures
[ภาพหน้า 6]
ที่ที่เคยเป็นสถานีรถไฟถูกเปลี่ยนเป็นสถานสงเคราะห์สำหรับคนไร้ที่อยู่ในเมืองพริทอเรีย แอฟริกาใต้
[ที่มาของภาพ]
© Dieter Telemans/Panos Pictures
[ที่มาของภาพหน้า 4]
Left: © Gerd Ludwig/Visum/Panos Pictures; inset: © Mikkel Ostergaard/Panos Pictures; right: © Mark Henley/Panos Pictures