กำเนิดอุตสาหกรรมเพชรยุคใหม่
กำเนิดอุตสาหกรรมเพชรยุคใหม่
โดยผู้เขียนตื่นเถิด! ในแอฟริกาใต้
เหตุการณ์เกิดขึ้นเมื่อเดือนมกราคมปี 1871. อาเดรียน ฟอน เวก ชาวไร่ผู้รักคัมภีร์ไบเบิลคนหนึ่ง อาศัยอยู่กับครอบครัวของเขาในเขตกึ่งทะเลทรายซึ่งเรียกกันว่า กริควาแลนด์เวสต์ ประเทศแอฟริกาใต้. แต่ความสงบสุขของเขาสิ้นสุดลงเมื่อคนแปลกหน้าหลั่งไหลกันเข้ามาตั้งแคมป์ในฟาร์มของเขา. ฟอน เวกไม่อยากเชื่อว่าสิ่งนี้จะเกิดขึ้นขณะที่เขานั่งมองคนเหล่านั้นจากระเบียงบ้าน!
ภายในไม่กี่วัน มีคนเป็นพัน ๆ คนมาอยู่ในที่ดินของเขาจนแน่นขนัด มองเห็นผู้คนไปได้ไกลสุดสายตาของเขา! บางคนถึงกับเข้ามาอยู่ในสวนหน้าบ้านของเขา แล้วปักเขตอ้างว่าเป็นของตัวเองโดยไม่ได้ขออนุญาตเขา และไม่ได้ทักทายเขาด้วยซ้ำ! เกิดอะไรขึ้นหรือ? ทำไมผู้คนแตกตื่นกันขนาดนั้น? พวกเขาหลั่งไหลกันมาเพราะมีคำร่ำลือแพร่ออกไปว่า มีเพชรอยู่มากมายในฟาร์มของฟอน เวก.
อะไรทำให้เกิดยุคตื่นเพชร?
ประมาณ 12 ปีก่อนหน้านั้น มีการพบเพชรหนักห้ากะรัตใกล้กับแม่น้ำฟาล ห่างจากฟาร์มของฟอน เวก ขึ้นไปทางเหนือประมาณ 70 กิโลเมตร. คนที่พบเพชรเม็ดนั้นได้ขายให้กับบาทหลวงคนหนึ่งซึ่งดูแลสมาคมมิชชันเบอร์ลินในราคาห้าปอนด์. ไม่มีบันทึกเกี่ยวกับเรื่องราวของการค้นพบเพชรเม็ดแรกนั้นอีก. แต่เมื่อข่าวนี้แพร่ออกไป ผู้คนก็เริ่มสอบถามกัน.
เรื่องราวของเราผ่านมาเก้าปี ที่ฟาร์มของชอล์ก ฟอน นีเคิร์ก ซึ่งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำออเรนจ์ ห่างจากจุดที่แม่น้ำสายนี้บรรจบกับแม่น้ำฟาลลงไปทางใต้ไม่กี่กิโลเมตร. ครอบครัว
ยาคอบส์อาศัยอยู่ในฟาร์มของฟอน นีเคิร์ก. ลูก ๆ ของครอบครัวยาคอบส์ชอบเล่นเกมที่พวกเด็ก ๆ เรียกว่า หินห้าก้อน. ในบรรดาหินของพวกเด็ก ๆ มีหินที่แวววาวก้อนหนึ่งซึ่งพี่ชายคนโตชื่ออีราสมัสเป็นผู้เก็บได้.วันหนึ่งช่วงต้นปี 1867 ฟอน นีเคิร์กไปเยี่ยมครอบครัวยาคอบส์. ผู้เป็นแม่รู้ว่าเขาสนใจเรื่องเพชรพลอย เธอจึงเล่าเรื่องหินที่มีแสงแวววาวที่ลูก ๆ ของเธอเล่นอยู่ให้เขาฟัง. เธอบอกว่า “ตอนกลางคืน เมื่ออยู่ใต้แสงเทียน มันส่องประกายแวววาวน่าทึ่งมากค่ะ.” หลังจากฟอน นีเคิร์กพินิจพิเคราะห์หินก้อนนั้นแล้ว ความคิดที่น่าตื่นเต้นก็แวบขึ้นมา. “ผมรู้สึกว่ามันเป็นเพชรนะ!” เขาร้องขึ้น. เขาจำได้ว่าเคยอ่านเรื่องวิธีทดสอบหินเพื่อดูว่าเป็นเพชรหรือไม่. เขาจึงเอาหินก้อนนั้นไปขีดกับกระจกหน้าต่างที่อยู่ข้างหลังบ้านเก่า ๆ หลังนั้น. เขาตกใจเมื่อกระจกเป็นรอยลึก และขอโทษที่ทำให้กระจกเสียหาย. * ผู้เป็นแม่ของครอบครัวยาคอบส์ยินดีมอบหินก้อนนั้นให้ฟอน นีเคิร์ก และไม่ยอมรับค่าตอบแทนใด ๆ.
ครั้งถัดไปที่เขาเดินทางไปเมืองโฮปทาวน์ซึ่งอยู่ไม่ไกลนัก ฟอน นีเคิร์ก เอาหินก้อนนั้นไปให้เพื่อน ๆ ดู แต่ไม่มีใครยืนยันได้ว่าเป็นเพชรจริง ๆ หรือไม่. หินก้อนนั้นถูกส่งต่อไปให้คนที่ไว้ใจกันเป็นทอด ๆ แล้วก็ถูกส่งทางไปรษณีย์ไปจนถึงมือของนายแพทย์เอเทอร์สโตน แห่งเมืองแกรมส์ทาวน์. เขาขอให้ครูใหญ่ในโรงเรียนแห่งหนึ่งช่วย. ในห้องปฏิบัติการของโรงเรียน มีการทดสอบเพื่อหาความถ่วงจำเพาะของหินก้อนนั้น แล้วก็พบว่ามันมีค่าเท่ากับความถ่วงจำเพาะของเพชร. จากนั้น หินก้อนนั้นก็ถูกส่งไปให้ช่างทำอัญมณีในท้องถิ่น ซึ่งพยายามจะใช้เหล็กจารขีดหิน แต่หินก็ไม่เป็นรอย. มีการปรึกษาคนอื่น ๆ อีก และทุกคนก็ลงความเห็นเหมือนกับฟอน นีเคิร์ก. นายแพทย์เอเทอร์สโตนจึงยืนยันโดยทางจดหมายว่าหินก้อนนั้นเป็นเพชรหนัก 21.25 กะรัต. ฟอน นีเคิร์ก ได้รับเงิน 350 ปอนด์สำหรับเพชรเม็ดนั้น และเขาแบ่งเงินนั้นให้กับครอบครัวยาคอบส์ทันที. นับว่าเหมาะที่เพชรเม็ดนั้นถูกตั้งชื่อว่า ยูเรกา ซึ่งเป็นคำที่แสดงถึง “การฉลองการค้นพบ.”
คนเลี้ยงแกะกับชาวไร่ผู้ซื่อสัตย์
เรื่องราวของเราผ่านมาอีกสองปี ในพื้นที่ทางใต้ของจุดที่แม่น้ำออเรนจ์กับแม่น้ำฟาลมาบรรจบกัน. ที่นั่น คนเลี้ยงแกะชาวแอฟริกาชื่อบูอีกำลังต้อนแกะไปกินหญ้าแล้วเขาก็เห็นอะไรบางอย่างส่องแสงแวววาวอยู่บนพื้น. เขาคุกเข่าลงและหยิบหินรูปวอลนัตที่มีแสงระยิบระยับขึ้นมา แล้วก็หย่อนลงไปในกระเป๋าของเขา. เขาเคยได้ยินว่ามีคนสนใจหินบางชนิดในแถบนั้น ดังนั้น ในระหว่างที่เขาเที่ยวออกหางานทำ เขาเอาหินก้อนนั้นให้ชาวไร่คนหนึ่งและพ่อค้าคนหนึ่ง
ดู. ทั้งสองคนบอกให้เขาไปที่ฟาร์มของฟอน นีเคิร์ก.ในที่สุด บูอีก็มาถึงฟาร์มของฟอน นีเคิร์ก และเอาหินให้เขาดู. ทันใดนั้น ฟอน นีเคิร์กก็รู้สึกว่าเป็นไปได้ที่เขากำลังดูเพชรเม็ดใหญ่กว่าและมีค่ามากกว่าเพชรที่ครอบครัวยาคอบส์เคยมอบให้เขาเสียอีก. เขาถามคนเลี้ยงแกะผู้ต่ำต้อยว่าต้องการอะไรเพื่อแลกเปลี่ยนกับหินก้อนนั้น. บูอีตอบด้วยความเคารพว่า “นายครับ นายจะให้อะไรก็ได้ตามที่เห็นว่าเหมาะ.” โดยไม่ลังเลใจ ฟอน นีเคิร์ก มอบเกือบทุกสิ่งที่เขามีอยู่—แกะพันธุ์หางอ้วน 500 ตัว, วัว 10 ตัว, รถม้าที่เขาใช้บรรทุกพืชผลไปในเมือง, และแม้กระทั่งม้าผูกอานตัวที่เขาขี่! สำหรับบูอี ไม่ต้องสงสัยว่าเขาคงคิดว่าตัวเองเป็นเศรษฐีแล้ว ของทั้งหมดนี้แลกกับหินที่แวววาวรูปวอลนัตเท่านั้นเอง!
ฟอน นีเคิร์ก รีบไปที่เมืองโฮปทาวน์เพื่อขายเพชรของเขา. ที่นั่น นักธุรกิจที่ตกตะลึงยอมจ่ายเงินให้เขา 11,300 ปอนด์สำหรับเพชรหนัก 83.5 กะรัตเม็ดนั้น. ในที่สุด เพชรเม็ดนั้นก็ถูกตั้งชื่อว่าสตาร์ออฟเซาท์แอฟริกา. * เพชรนี้เมื่อเจียระไนและขัดเงาแล้วได้กลายเป็นเพชรเม็ดหลักของสร้อยคอที่สวยงามที่เห็นในหน้านี้. เมื่อข่าวเรื่องเพชรเม็ดนี้แพร่ไปถึงโลกภายนอก ความไม่แน่ใจก็หมดไป และคนนับพันนับหมื่นคนจากที่ต่าง ๆ เช่น อเมริกาเหนือและใต้, อังกฤษ, ยุโรป, และออสเตรเลียก็หลั่งไหลมาที่แอฟริกาใต้โดยหวังจะรวย.
ยุคตื่นเพชรเริ่มขึ้น
ตอนแรก ผู้คนขุดหาเพชรกันตามริมฝั่งแม่น้ำออเรนจ์และแม่น้ำฟาล. จากนั้น ในปี 1870 มีข่าวเล่าลือว่ามีคนพบเพชรมากมายในฟาร์มซึ่งอยู่ลึกเข้าไปในพื้นที่ระหว่างแม่น้ำสองสายนี้. ด้วยเหตุนี้ คนที่ขุดหาเพชรอยู่ตามแม่น้ำก็เริ่มแห่เข้าไปในพื้นที่ที่ฟาร์มของฟอน เวกตั้งอยู่. ฟอน เวกกับเพื่อนบ้านของเขาไม่รู้ว่าฟาร์มของตนตั้งอยู่
บนภูเขาไฟที่สงบแล้ว. มีการค้นพบเพชรในชั้นดินที่เรียกว่าชั้นสีน้ำเงิน ซึ่งอยู่ในปล่องภูเขาไฟโบราณ.ในขณะเดียวกัน หมู่บ้านที่เป็นเต็นท์ซึ่งสร้างกันอย่างเร่งรีบก็ผุดขึ้นมา และต่อมาก็เป็นบ้านหลังคาเหล็กลูกฟูก. เนื่องจากมีน้ำไม่เพียงพอและไม่มีระบบสาธารณูปโภค หมู่บ้านเหล่านี้จึงเป็นแบบเรียบง่าย หรืออยู่ค่อนข้างลำบาก. คนที่มาใหม่ต้องทนกับฝุ่นที่ลอยฟุ้งอยู่ในอากาศ, ฝูงแมลงวัน, ฤดูร้อนซึ่งตอนกลางวันอาจมีอุณหภูมิสูงถึง 40 องศาเซลเซียส และฤดูหนาวซึ่งบางคืนอุณหภูมิต่ำกว่าจุดเยือกแข็ง. พวกเขาอดทนทุกสิ่งทุกอย่างนี้เนื่องจากหวังว่าจะรวย.
แล้วเกิดอะไรขึ้นกับอาเดรียน ฟอน เวก เมื่อพวกนักขุดเพชรบุกรุกเข้ามาในฟาร์มของเขา? ตอนแรกเขาอนุญาตให้พวกนักขุดเพชรขุดพื้นที่ส่วนหนึ่งในฟาร์มเขาโดยให้จ่ายค่าธรรมเนียมเล็กน้อยเป็นรายเดือน. แต่เมื่อนักขุดเพชรบุกรุกเข้ามาในฟาร์มของเขามากขึ้นเรื่อย ๆ สถานการณ์เริ่มวุ่นวายจนเกินกว่าที่ฟอน เวก จะควบคุมได้. เมื่อบริษัทเหมืองแห่งหนึ่งยื่นข้อเสนอว่าจะซื้อฟาร์มของเขาในราคา 2,000 ปอนด์ เขาก็ยินดีขาย, ลงรายมือชื่อในเอกสาร, แล้วก็ออกไปหาฟาร์มที่สงบเงียบกว่า.
ไม่ไกลจากฟาร์มของฟอน เวก มีฟาร์มอีกแห่งหนึ่ง ซึ่งเป็นของสองพี่น้องตระกูลเดอ เบียร์. นามสกุลของพวกเขาถูกใช้เพื่อจดทะเบียนบริษัทในเครือเหมืองเดอ เบียรส์ ซึ่งปัจจุบันนี้ยังคงดำเนินกิจการอยู่และเป็นผู้ผลิตเพชรรายใหญ่ที่สุดของโลก. เมืองคิมเบอร์ลีย์ครอบคลุมพื้นที่ที่เคยเป็นฟาร์มธรรมดา ๆ เหล่านั้น. การขุดหาเพชรในฟาร์มของพี่น้องเดอ เบียร์ นั้นทำกันอย่างเอาจริงเอาจังมากเสียจนมีการขุดหลุมลึกและกว้างถึงขนาดที่มีการเรียกกันว่า หลุมยักษ์.
ก่อนที่จะมีการค้นพบเพชรในแอฟริกาใต้ช่วงแรก ๆ นั้น มีการทำเหมืองรัตนชาติชนิดนี้ในอินเดียและบราซิล. แต่เพชรที่หาได้ไม่เพียงพอต่อความต้องการของตลาดโลก. เมื่อมีการค้นพบเพชรปริมาณมากมายในแอฟริกาใต้ อุตสาหกรรมเพชรยุคใหม่จึงถือกำเนิดขึ้น.
[เชิงอรรถ]
^ วรรค 8 กว่าหนึ่งร้อยปีต่อมา หน้าต่างบานนั้นที่มีรอยขีดลึกก็ยังคงจัดแสดงอยู่ที่พิพิธภัณฑสถานโคลส์เบิร์กของแอฟริกาใต้.
^ วรรค 13 บางครั้งชื่อของเพชรนี้สับสนกับเพชรอีกเม็ดหนึ่งที่ชื่อว่าสตาร์ออฟแอฟริกา.—ดูกรอบ “เหมืองพรีเมียร์” ที่หน้า 16.
[กรอบ/ภาพหน้า 16, 17]
เหมืองพรีเมียร์
ในปี 1903 มีเหมืองเพชรแห่งหนึ่งเริ่มดำเนินกิจการ. เหมืองนี้ตั้งอยู่ห่างออกไปประมาณ 30 กิโลเมตรทางตะวันออกของเมืองพริทอเรีย แอฟริกาใต้. เหมืองนี้ถูกตั้งชื่ออย่างเหมาะสมว่าเหมืองพรีเมียร์ ซึ่งหมายความว่าที่หนึ่ง. สองปีต่อมา เมื่อหลุมเหมืองถูกขุดจนลึกถึง 10 เมตร คนงานคนหนึ่งชี้ไปที่วัตถุสะท้อนแสงบนผนังหิน. ผู้จัดการของเขาค่อย ๆ ปีนลงไปและใช้มีดพกแงะวัตถุนั้นออกมา. ตอนนั้นเขากำลังถือเพชรดิบที่ใหญ่ที่สุดในโลก มันมีขนาดพอ ๆ กับกำปั้นคน. เพชรขนาดยักษ์ซึ่งหนักถึง 3,106 กะรัตนี้ถูกตั้งชื่อตามผู้ค้นพบเหมืองคือ โทมัส คัลลินัน. เมื่อเจียระไนเพชรคัลลินันแล้ว ก็ได้เพชรขนาดใหญ่เก้าเม็ดและเพชรเล็ก ๆ อีก 96 เม็ด. เพชรเม็ดหนึ่งชื่อคัลลินัน 1 หรือเพชรสตาร์ออฟแอฟริกา เป็นเพชรที่เจียระไนแล้วที่ใหญ่ที่สุดในโลก. เพชรเม็ดนี้ประดับอยู่บนคทาของราชวงศ์อังกฤษ ดังที่เห็นในหน้านี้. แม้เวลาผ่านไปหนึ่งร้อยปีแล้ว เหมืองพรีเมียร์ก็ยังดำเนินงานสมกับชื่อของมันโดยได้ผลิตเพชรขนาดใหญ่คุณภาพสูงเป็นจำนวนมาก.
[รูปภาพ]
คทาของราชวงศ์อังกฤษ
เพชรคัลลินันที่ยังไม่ได้เจียระไน มีขนาดพอ ๆ กับกำปั้นของคน
[กรอบ/ภาพหน้า 17]
ข้อเท็จจริงเรื่องเพชร
◆ เพชรเป็นสารธรรมชาติที่แข็งที่สุดเท่าที่มนุษย์รู้จัก.
◆ เพชรเกิดจากธาตุคาร์บอน เช่นเดียวกับไส้ดินสอดำ หรือแกรไฟต์. แต่ทำไมเพชรจึงแข็งแต่ไส้ดินสอจึงอ่อน? ก็เนื่องจากอะตอมของคาร์บอนมีการจัดเรียงตัวไม่เหมือนกัน.
◆ มีการวัดน้ำหนักของเพชรเป็นกะรัต. หนึ่งกะรัตเท่ากับหนึ่งในห้ากรัม หรือ 200 มิลลิกรัม.
◆ บ่อยครั้ง ต้องขุดร่อนหิน, กรวด, และทรายประมาณ 400 ตันเพื่อจะได้เพชรหนึ่งกะรัต.
[กรอบ/ภาพหน้า 18]
หลุมยักษ์ที่คิมเบอร์ลี
ในช่วงสี่ปีตั้งแต่ 1869 ถึง 1873 ประชากรที่อาศัยอยู่รอบ ๆ เมืองซึ่งปัจจุบันคือเมืองคิมเบอร์ลีได้เพิ่มขึ้นจากที่มีชาวไร่ไม่กี่คนเป็น 50,000 คน. หลายคนเป็นพวกหวังรวย ซึ่งเดินทางมาจากทุกมุมโลก. หลายพันคนเดินเท้าจากท่าเรือเมืองเคปทาวน์ซึ่งอยู่ไกลออกไปถึง 1,000 กิโลเมตร. โดยใช้อีเต้อและพลั่ว พวกเขาขุดจนภูเขากลายเป็นหลุมที่ใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยขุดด้วยมือมนุษย์. เมื่อเลิกขุด หลุมนี้ลึกถึง 240 เมตร. การทำเหมืองใต้ดินมีต่อไปถึงระดับความลึก 1,097 เมตร. สารานุกรมฉบับมาตรฐานแห่งแอฟริกาใต้ (ภาษาอังกฤษ) กล่าวว่า พอถึงปี 1914 เมื่อการทำเหมืองยุติลงทั้งหมดแล้ว มีการขนดินออกไปถึง “25 ล้านตัน.” สารานุกรมนี้ยังบอกด้วยว่า จากหินและดินทั้งหมดนั้น มีการค้นพบเพชรสามตัน ซึ่งมีมูลค่ากว่า 47,000,000 ปอนด์.
[ภาพหน้า 17]
นายแพทย์เอเทอร์สโตน
[ภาพหน้า 17]
ชอล์ก ฟอน นีเคิร์ก
[ภาพหน้า 17]
เพชรยูเรกา
[ที่มาของภาพ]
De Beers Consolidated Mines Ltd.
[ภาพหน้า 18]
เพชรสตาร์ออฟเซาท์แอฟริกา
[ภาพหน้า 18, 19]
หลุมยักษ์ในปี 1875. ผู้อ้างสิทธิหลายร้อยรายใช้เชือกหย่อนคนงานลงไปในหลุมและขนดินที่มีเพชรอยู่ขึ้นไป
[ภาพหน้า 19]
การตื่นเพชรทำให้เกิดค่ายพักคนงานเหมืองซึ่งรีบเร่งสร้างกันขึ้นมา
[ที่มาของภาพหน้า 16]
Crown ©/The Royal Collection © 2005, Her Majesty Queen Elizabeth II; Photo: www.comstock.com
[ที่มาของภาพหน้า 16]
Photo by Fox Photos/Getty Images
[ที่มาของภาพหน้า 17]
Portraits: From the book The Grand Old Days of the Diamond Fields by George Beet
[ที่มาของภาพหน้า 18]
Photos: De Beers Consolidated Mines Ltd.
[ที่มาของภาพหน้า 19]
Photos: De Beers Consolidated Mines Ltd.