ข้ามไปยังเนื้อหา

ข้ามไปยังสารบัญ

การเพ่งดูโลก

การเพ่งดูโลก

การ​เพ่ง​ดู​โลก

▪ ใน​ปี 2000 ทั่ว​โลก​มี​ผู้​ติด​เชื้อ​วัณโรค (ทีบี) ราย​ใหม่​ประมาณ 8.3 ล้าน​คน และ​ผู้​ป่วย​ด้วย​โรค​นี้​เกือบ​สอง​ล้าน​คน​เสีย​ชีวิต โดย​เกือบ​ทุก​ราย​อยู่​ใน​ประเทศ​ที่​มี​ราย​ได้​ต่ำ.—วารสาร​ทาง​การ​แพทย์​แห่ง​ออสเตรเลีย.

▪ “หนุ่ม​สาว​สิบ​ล้าน​คน​กำลัง​ทน​ทุกข์​เนื่อง​จาก​เชื้อ​เอช​ไอ​วี และ​มาก​กว่า​ครึ่ง​หนึ่ง​ของ​ผู้​ติด​เชื้อ​ราย​ใหม่ 4.9 ล้าน​คน​ทั่ว​โลก มี​อายุ​ระหว่าง 15 ถึง 24 ปี.”—กองทุน​ประชากร​แห่ง​สหประชาชาติ.

▪ มี​การ​ใช้​ดาว​เทียม​ติด​ตาม​การ​เดิน​ทาง​รอบ​โลก​ของ​ฝูง​นก​แอลบาทรอสส์​เร่ร่อน. นก​ตัว​ที่​บิน​วน​รอบ​โลก​ได้​เร็ว​ที่​สุด​ใช้​เวลา​เพียง 46 วัน.—วารสาร​ไซเยนซ์, สหรัฐ​อเมริกา.

▪ “ทุก ๆ หนึ่ง​ชั่วโมง​ของ​แต่​ละ​วัน ทั้ง​โลก​จ่าย​เงิน​มาก​กว่า 100 ล้าน​ดอลลาร์​สหรัฐ​สำหรับ​ทหาร, อาวุธ, และ​กระสุน​ปืน.”—สัญญาณ​ชีวิต 2005, สถาบัน​เวิลด์วอตช์.

การ​ต่อ​ต้าน​นัก​เทศน์​นัก​บวช​รุนแรง​ขึ้น​หรือ?

ใน​ปี 2005 หนังสือ​พิมพ์​เดลี เทเลกราฟ​แห่ง​ลอนดอน รายงาน​ว่า “อาชีพ​บาทหลวง​เป็น​อาชีพ​ที่​อันตราย​ที่​สุด​อาชีพ​หนึ่ง [ใน​บริเตน].” การ​สำรวจ​ของ​รัฐบาล​เมื่อ​ปี 2001 เผย​ให้​ทราบ​ว่า เกือบ​สาม​ใน​สี่​ของ​นัก​เทศน์​นัก​บวช​ที่​ให้​สัมภาษณ์​เคย​ถูก​ประทุษร้าย​หรือ​ถูก​ทำ​ร้าย​ร่าง​กาย​ใน​ช่วง​สอง​ปี​ก่อน​หน้า​นั้น. ตั้ง​แต่​ปี 1996 เป็น​ต้น​มา มี​นัก​เทศน์​นัก​บวช​ถูก​สังหาร​ไป​แล้ว​อย่าง​น้อย​เจ็ด​คน. ใน​เขต​เมอร์ซีไซด์ ซึ่ง​อยู่​ใน​ตัว​เมือง “ใน​ศาสนสถาน 1,400 แห่ง​ใน​เขต​นี้ มี​การ​ลอบ​ทำ​ร้าย, การ​โจรกรรม​หรือ​ลอบ​วาง​เพลิง​เกิด​ขึ้น​ทุก​วัน เฉลี่ย​แล้ว​วัน​ละ​หนึ่ง​แห่ง.”

ความ​หลาก​หลาย​เป็น​พิเศษ​ทาง​ชีวภาพ

เดอะ นิวยอร์ก ไทมส์​กล่าว​ว่า แม้​ป่า​ดิบ​ชื้น​จะ​ถูก​ทำลาย​ไป แต่ “ตอน​กลาง​ของ​เกาะ​บอร์เนียว​ก็​ยัง​มี​ความ​หลาก​หลาย​เป็น​พิเศษ​ทาง​ชีวภาพ.” ตาม​ข้อมูล​จาก​กองทุน​สัตว์​ป่า​โลก ระหว่าง​ปี 1994 ถึง​ปี 2004 นัก​ชีววิทยา​ได้​พบ​พันธุ์​พืช​และ​พันธุ์​สัตว์​ใหม่ ๆ 361 ชนิด​บน​เกาะ​แห่ง​นี้​ซึ่ง​บรูไน, อินโดนีเซีย, และ​มาเลเซีย​แบ่ง​กัน​เป็น​เจ้าของ. การ​ค้น​พบ​ดัง​กล่าว​รวม​ถึง​แมลง​พันธุ์​ใหม่ 260 ชนิด, พืช 50 ชนิด, ปลา 30 ชนิด, กบ 7 ชนิด, กิ้งก่า 6 ชนิด, ปู 5 ชนิด, งู 2 ชนิด, และ​คางคก 1 ชนิด. อย่าง​ไร​ก็​ตาม ป่า​ดิบ​ชื้น​ที่​อยู่​ตอน​กลาง​ของ​เกาะ​อาจ​ถูก​คุกคาม​จาก​การ​ตัด​ไม้​ทำลาย​ป่า​ที่​เพิ่ม​ขึ้น​เรื่อย ๆ เนื่อง​จาก​มี​ความ​ต้องการ​ไม้​เนื้อ​แข็ง​เขต​ร้อน​รวม​ทั้ง​ยาง​และ​น้ำมัน​ปาล์ม​ด้วย.

การ​ถือ​โชค​ลาง​กำลัง​เพิ่ม​ขึ้น

สถาบัน​สำรวจ​ความ​คิด​เห็น​อัลเลนส์บัค​ของ​เยอรมนี รายงาน​ว่า “แม้​แต่​ใน​ยุค​ที่​เทคโนโลยี​และ​วิทยาศาสตร์​เฟื่องฟู การ​ถือ​โชค​ลาง​ก็​ยัง​เป็น​ที่​นิยม​ไม่​เสื่อม​คลาย.” การ​ศึกษา​วิจัย​ซึ่ง​ได้​ทำ​เป็น​เวลา​นาน​แสดง​ให้​เห็น​ว่า “ผู้​คน​ยัง​คง​เชื่อ​อย่าง​งมงาย​ใน​เรื่อง​ลาง​ดี​หรือ​ลาง​ร้าย อัน​ที่​จริง ปัจจุบัน​เรื่อง​นี้​กลับ​ได้​รับ​ความ​นิยม​มาก​กว่า​เมื่อ 25 ปี​ที่​แล้ว​ด้วย​ซ้ำ.” ใน​ทศวรรษ 1970 มี​คน 22 เปอร์เซ็นต์​เชื่อ​ว่า​ดาว​ตก​มี​อิทธิพล​ต่อ​ชีวิต​ของ​พวก​เขา. ปัจจุบัน มี 40 เปอร์เซ็นต์​ที่​เชื่อ​ใน​เรื่อง​นี้. เดี๋ยว​นี้​มี​ผู้​ใหญ่​เพียง 1 ใน 3 คน​เท่า​นั้น​ที่​ไม่​เชื่อ​โชค​ลาง​เลย​ไม่​ว่า​รูป​แบบ​ใด. การ​ศึกษา​วิจัย​อีก​ราย​หนึ่ง​ซึ่ง​ทำ​กับ​นัก​ศึกษา​มหาวิทยาลัย​ใน​เยอรมนี​จำนวน 1,000 คน​เผย​ให้​เห็น​ว่า หนึ่ง​ใน​สาม​ของ​นัก​ศึกษา​เหล่า​นี้​มี​เครื่องราง​นำ​โชค​ติด​ไว้​ใน​รถ​หรือ​ใส่​ไว้​กับ​พวง​กุญแจ.

ธาร​น้ำ​แข็ง​ใน​แอนตาร์กติกา​กำลัง​ถอย​ร่น

หนังสือ​พิมพ์​คลาร์ริน​ของ​บัวโนสไอเรส​รายงาน​ว่า “ใน​ช่วง 50 ปี​ที่​ผ่าน​มา​นี้ 87 เปอร์เซ็นต์​ของ​ธาร​น้ำ​แข็ง 244 สาย​ใน​คาบสมุทร​แอนตาร์กติกา​กำลัง​ถอย​ร่น” และ​เร็ว​กว่า​ที่​ผู้​เชี่ยวชาญ​เคย​คิด​กัน​ไว้. การ​วิเคราะห์​ธาร​น้ำ​แข็ง​ใน​เขต​นั้น​อย่าง​ละเอียด​เป็น​ครั้ง​แรก​ยัง​พบ​ด้วย​ว่า ใน​ช่วง 50 ปี​ที่​ผ่าน​มา อุณหภูมิ​ของ​อากาศ​ได้​เพิ่ม​สูง​ขึ้น​มาก​กว่า 2.5 องศา​เซลเซียส. เดวิด วอน จาก​หน่วย​สำรวจ​แอนตาร์กติกา​แห่ง​อังกฤษ ให้​ข้อ​สังเกต​ว่า การ​ถอย​ร่น​ที่​เห็น​อยู่​ทั่ว​ไป​ส่วน​ใหญ่​แล้ว​เกิด​ขึ้น​เนื่อง​จาก​การ​เปลี่ยน​แปลง​ของ​สภาพ​อากาศ. เขา​ถาม​ว่า “เป็น​ความ​ผิด​ของ​มนุษย์​หรือ? เรา​ไม่​อาจ​บอก​ได้​แน่ชัด แต่​เรา​ก็​เข้า​ไป​ใกล้​คำ​ตอบ​สำหรับ​คำ​ถาม​สำคัญ​นี้​อีก​ก้าว​หนึ่ง​แล้ว.”