ความเชื่อค้ำจุนผมไว้—การอยู่กับโรคเอแอลเอส
ความเชื่อค้ำจุนผมไว้—การอยู่กับโรคเอแอลเอส
เล่าโดยเจสัน สจ๊วต
“ผมเสียใจด้วยนะครับคุณสจ๊วต. คุณเป็นโรค amyotrophic lateral sclerosis ซึ่งมีชื่อย่อว่า เอแอลเอส หรือเรียกอีกอย่างว่าโรคลู เกห์ริก.” * จากนั้นคุณหมอก็บอกว่าโรคนี้จะมีอาการอย่างไรต่อไป ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าสลดใจมาก: อีกไม่นานผมจะเคลื่อนไหวไม่ได้, พูดไม่ได้, และในที่สุดโรคนี้จะทำให้ผมเสียชีวิต. ผมถามว่า “ผมมีเวลาอีกนานแค่ไหน?” คุณหมอตอบว่า “อาจจะประมาณสามถึงห้าปีครับ.” ตอนนั้นผมมีอายุแค่ 20 ปี. ทั้ง ๆ ที่ได้ข่าวร้ายนั้น ผมก็อดไม่ได้ที่จะรู้สึกว่าผมมีสิ่งดี ๆ มากมายหลายอย่างเหลือเกิน. ผมจะเล่าให้ฟัง.
ผมเกิดเมื่อวันที่ 2 มีนาคม 1978 ที่เมืองเรดวูด รัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา. ผมเป็นลูกคนที่สามในบรรดาลูกสี่คนของคุณพ่อจิมกับคุณแม่แคที สจ๊วต. คุณพ่อคุณแม่ของผมรักพระเจ้ามาก และท่านทั้งสองปลูกฝังความนับถืออย่างลึกซึ้งต่อค่านิยมในคัมภีร์ไบเบิลแก่ผมและพี่ ๆ น้อง ๆ ซึ่งมีแมททิว, เจนิเฟอร์, กับโจนาทาน.
ตั้งแต่ที่ผมจำความได้ ครอบครัวของเราร่วมในงานเผยแพร่ตามบ้าน, การศึกษาคัมภีร์ไบเบิล, และการเข้าร่วมประชุมคริสเตียนเป็นประจำ. การได้รับการเลี้ยงดูตามหลักพระคัมภีร์ช่วยผมให้มีความเชื่อที่เข้มแข็งในพระยะโฮวาพระเจ้า. ตอนนั้นผมไม่รู้เลยว่าความเชื่อของผมจะถูกทดสอบอย่างไร.
ความฝันในวัยเด็กกลายเป็นความจริง
ในปี 1985 คุณพ่อพาครอบครัวของเราไปที่นครนิวยอร์กเพื่อเยี่ยมชมเบเธล สำนักงานกลางของพยานพระยะโฮวาทั่วโลก. แม้ผมจะมีอายุแค่เจ็ดขวบในตอนนั้น แต่ผมก็รู้สึกว่าเบเธลมีอะไรบางอย่างที่พิเศษ. ดูเหมือนทุกคนมีความสุขกับงานที่ทำ. ผมคิดในใจว่า ‘พอผมโตขึ้น ผมจะไปเบเธลและช่วยทำคัมภีร์ไบเบิลให้พระยะโฮวา.’
ในวันที่ 18 ตุลาคม 1992 ผมรับบัพติสมาในน้ำเป็นสัญลักษณ์แสดงการอุทิศตัวแด่พระยะโฮวา. ไม่กี่ปีหลังจากนั้น เมื่อผมมีอายุ 17 ปี คุณพ่อพาผมไปที่เบเธลอีกครั้ง. เนื่องจากผมโตขึ้น ผมจึงตระหนักถึงความสำคัญของงานที่ทำอยู่ในเบเธลมากขึ้น. ผมกลับบ้านด้วยความตั้งใจแน่วแน่ยิ่งกว่าเดิมว่าผมจะต้องเข้าเบเธลตามที่ผมตั้งเป้าไว้ให้ได้.
ในเดือนกันยายน 1996 ผมเริ่มรับใช้เป็นไพโอเนียร์ประจำ หรือผู้เผยแพร่เต็มเวลา. เพื่อให้จิตใจจดจ่ออยู่กับเป้าหมายของผม ผมจึงทุ่มเทตัวในสิ่งฝ่ายวิญญาณ. ผมเพิ่มการอ่านคัมภีร์ไบเบิลและการศึกษาส่วนตัวในแต่ละวันให้มากขึ้น. ตอนกลางคืน ผมฟังคำลูกา 23:43; วิวรณ์ 21:3, 4) ไม่นาน ผมก็จำคำบรรยายเหล่านั้นได้ทั้งหมด. ตอนนั้นผมไม่รู้เลยว่าความรู้ที่เสริมสร้างกำลังใจเหล่านั้นจะเป็นสิ่งล้ำค่าสักเพียงไรในอีกไม่นาน.
บรรยายเกี่ยวกับคัมภีร์ไบเบิลที่มีการบันทึกเสียงไว้. คำบรรยายบางเรื่องกล่าวถึงประสบการณ์ของคริสเตียนบางคนที่ได้เผชิญความตายด้วยความเชื่อที่ไม่คลอนแคลนเกี่ยวกับอุทยานที่กำลังจะมีมาและการกลับเป็นขึ้นจากตาย. (เมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม 1998 มีจดหมายมาจากบรุกลิน. ใช่แล้ว ผมได้รับเชิญให้ไปทำงานที่เบเธล. หนึ่งเดือนต่อมา ผมก็ไปถึงห้องพักของผมที่เบเธล. ผมได้รับมอบหมายให้ทำงานในแผนกเย็บเล่ม ซึ่งเป็นการทำหนังสือที่จะส่งไปตามประชาคมต่าง ๆ. ความฝันในวัยเด็กของผมกลายเป็นจริงแล้ว. ผมอยู่ในเบเธล ‘ทำคัมภีร์ไบเบิลให้พระยะโฮวา’!
เริ่มเป็นโรค
อย่างไรก็ตาม ราว ๆ หนึ่งเดือนก่อนไปเบเธล ผมสังเกตว่า ผมไม่สามารถเหยียดนิ้วชี้มือขวาของผมให้ตรงได้. ในช่วงเดียวกันนั้น ผมรู้สึกว่างานทำความสะอาดสระว่ายน้ำที่ผมทำอยู่นั้นทำให้ผมเหนื่อยเร็วมาก. ตอนนั้นผมคิดว่าผมเพียงแต่ไม่ได้เอาจริงเอาจังมากพอ เพราะผมเคยทำงานที่ต้องใช้แรงมากกว่านี้หลายเท่าแต่ก็ไม่มีปัญหาใด ๆ.
ภายในไม่กี่สัปดาห์หลังจากที่ผมมาถึงเบเธล อาการของผมก็แย่ลง. ผมขึ้นลงบันไดตามเด็กหนุ่มคนอื่น ๆ ไม่ทัน. งานของผมในแผนกเย็บเล่มนั้นต้องมีการแบกยกหนังสือเป็นปึก ๆ. ผมเหนื่อยเร็วมาก แต่ไม่ใช่แค่นั้น มือขวาของผมเริ่มงอเข้าหาตัวอีกด้วย. กล้ามเนื้อของนิ้วหัวแม่มือก็เริ่มลีบลง และไม่นานนักผมก็ขยับนิ้วหัวแม่มือของผมไม่ได้เลย.
กลางเดือนตุลาคม แค่สองเดือนหลังจากที่ผมมาถึงเบเธล หมอก็วินิจฉัยว่าผมเป็นโรคเอแอลเอส. ขณะที่ผมเดินออกจากห้องของคุณหมอ ผมเริ่มนึกถึงคำบรรยายจากคัมภีร์ไบเบิลที่ผมจำได้ทันที. พระวิญญาณของพระยะโฮวาคงต้องอยู่กับผมอย่างแน่นอน เพราะผมไม่รู้สึกกลัวแม้รู้ว่าตัวเองจะต้องตาย. ผมเพียงแต่ออกไปข้างนอก และรอรถมารับผมกลับไปเบเธล. ผมอธิษฐานขอให้พระยะโฮวาช่วยครอบครัวของผมให้เข้มแข็งเมื่อผมบอกข่าวนี้ให้พวกเขารู้.
ดังที่ผมเล่าตอนต้น ผมได้แต่รู้สึกว่าตัวผมได้รับสิ่งดี ๆ มากมาย. ความฝันในวัยเด็กของผมที่จะทำงานที่เบเธลเป็นจริงแล้ว. เย็นวันนั้น ผมเดินข้ามสะพานบรุกลิน และผมขอบพระคุณพระยะโฮวาที่ยอมให้ผมบรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้. ผมยังทูลอธิษฐานด้วยใจแรงกล้า เพื่อขอพระองค์ช่วยผมให้สามารถเผชิญการทดลองอันน่ากลัวนี้ได้.
เพื่อน ๆ โทรศัพท์มาปลอบโยนและให้กำลังใจผม. ผมพยายามทำตัวให้ร่าเริงและมองในแง่ดี. อย่างไรก็ตาม ประมาณหนึ่งสัปดาห์หลังจากได้รับการวินิจฉัยโรค ตอนที่ผมกำลังคุยกับคุณแม่ทางโทรศัพท์ คุณแม่บอกว่า ที่ผมกล้าหาญมากอย่างนี้ก็ดีอยู่ แต่การร้องไห้ก็ไม่ใช่เรื่องผิดอะไร. คุณแม่พูดยังไม่ทันขาดคำผมก็ร้องไห้ออกมา. ตอนนั้นเองที่ผมตระหนักว่า ผมกำลังจะสูญเสียทุกสิ่งทุกอย่างที่ผมฝันไว้.
คุณแม่กับคุณพ่ออยากให้ผมกลับบ้านเร็ว ๆ ดังนั้น ท่านทั้งสองทำให้ผมแปลกใจในเช้าวันหนึ่งปลายเดือนตุลาคม เมื่อท่านมาเคาะประตูห้องผม. ในช่วงสองสามวันถัดจากนั้น ผมพาท่านทั้งสองเดินชมรอบ ๆ เบเธลและแนะนำให้ท่านรู้จักกับเพื่อน ๆ ของผม รวมทั้งสมาชิกครอบครัวเบเธลที่สูงอายุซึ่งได้รับใช้มาอย่างยาวนาน. ช่วงเวลาสองสามวันอันล้ำค่าที่ผมได้แบ่งปันประสบการณ์ที่เบเธลให้คุณพ่อคุณแม่ เป็นช่วงที่ผมมีความสุขมากที่สุดช่วงหนึ่งในชีวิต.
คิดถึงพระพร
ตั้งแต่นั้นมา พระยะโฮวายังคงได้ประทานพรให้แก่ผมหลายอย่าง. ในเดือนกันยายน 1999 ผมบรรยายสาธารณะเป็นครั้งแรก. ผมยังได้บรรยายสาธารณะอีกหลายครั้งในหลายประชาคม แต่ไม่นานนัก ผมก็พูดไม่ชัดถึงขนาดที่ผมไม่อาจบรรยายสาธารณะได้อีกต่อไป.
พระพรอีกอย่างหนึ่งคือความรักที่มั่นคงและการช่วยเหลือค้ำจุนจากคนในครอบครัว รวมทั้งครอบครัวที่ประกอบด้วยพี่น้องชายหญิงคริสเตียนของผม. เมื่อขาของผมอ่อนแรงลงเรื่อย ๆ พี่น้องจะจูงมือผมไปขณะเดินประกาศตามบ้าน. บางคนถึงกับมาที่บ้านของเราเพื่อช่วยดูแลเอาใจใส่ผม.
พระพรที่ยิ่งใหญ่ที่สุดอย่างหนึ่งคืออะมันดา ภรรยาของผม. เมื่อผมกลับจากเบเธล เราสองคนกลายเป็นเพื่อนกัน และผมประทับใจความอาวุโสฝ่ายวิญญาณของเธอ. ผมบอกเธอทุกอย่างเกี่ยวกับโรคเอแอลเอส รวมทั้งการพยากรณ์โรคของหมอ. เราใช้เวลามากทีเดียวในการประกาศด้วยกันก่อนที่เราจะเริ่มติดต่อฝากรัก. เราแต่งงานกันในวันที่ 5 สิงหาคม 2000.
อะมันดาบอกว่า “ดิฉันรู้สึกชอบเจสันเนื่องจากเขารักพระเจ้าและมีใจแรงกล้าในความเชื่อ. เป็นธรรมดาที่ใคร ๆ จะรู้สึกชอบเขา ทั้งเด็ก ๆ และผู้สูงอายุ. ดิฉันเป็นคนเงียบ ๆ และมักจะเก็บตัว ส่วนเขาเป็นคนมีชีวิตชีวาและร่าเริง. เราทั้งสองคนต่างก็เป็นคนที่มีอารมณ์ขัน เราจึงหัวเราะด้วยกันอยู่บ่อย ๆ. ดิฉันรู้สึกสบายใจมากจริง ๆ เมื่ออยู่กับเขา เหมือนกับว่าเรารู้จักกันมานานแล้ว. เจสันอธิบายให้ดิฉันเข้าใจอย่างละเอียดเกี่ยวกับโรคของเขาและบอกว่าในที่สุดจะเกิดอะไรขึ้น. แต่ดิฉันคิดว่าเราจะมีช่วงเวลาที่มีความสุขด้วยกันนานเท่าที่เป็นไปได้. นอกจากนั้น ในระบบนี้ก็ไม่มีอะไรแน่นอนอยู่แล้ว. ‘วาระและเหตุการณ์ที่ไม่ได้คาดล่วงหน้า’ เกิดขึ้นแม้แต่กับคนที่มีสุขภาพดีด้วยซ้ำ.”—ท่านผู้ประกาศ 9:11, ล.ม.
หาวิธีสื่อความ
เนื่องจากคำพูดของผมฟังยากขึ้นทุกที อะมันดาก็เริ่มทำหน้าที่เป็นล่ามให้ผม. พอ
ผมพูดไม่ได้อีกต่อไป เราก็คิดวิธีสื่อความพิเศษขึ้น. อะมันดาจะพูดตัวอักษรแต่ละตัวออกมา และเมื่อเธอพูดถึงตัวอักษรที่ผมต้องการ ผมก็จะกะพริบตา. เธอจำตัวอักษรนั้นไว้แล้วเราก็ข้ามไปตัวถัดไป. ด้วยวิธีนี้ ผมก็สามารถสะกดคำออกมาเป็นประโยคได้. อะมันดากับผมสื่อความกันด้วยวิธีนี้จนชำนาญทีเดียว.ปัจจุบันนี้ เนื่องจากเทคโนโลยีสมัยใหม่ ผมมีคอมพิวเตอร์แล็ปท็อปที่ทำให้ผมสื่อความได้. ผมพิมพ์คำที่ผมต้องการพูด แล้วคอมพิวเตอร์ก็จะออกเสียงคำที่ผมพิมพ์ลงไป. เนื่องจากตอนนี้ผมขยับมือไม่ได้อีกแล้ว ผมก็มีอุปกรณ์ที่เป็นแสงอินฟราเรดซึ่งตรวจจับการเคลื่อนไหวที่แก้มของผม. ที่มุมจอคอมพิวเตอร์จะมีกรอบที่มีตัวอักษร. ผมสามารถเลือกตัวอักษรที่ผมต้องการด้วยการขยับแก้มและจึงพิมพ์ข้อความออกมาได้.
ด้วยคอมพิวเตอร์นี้ ผมสามารถเขียนจดหมายไปหาผู้สนใจคัมภีร์ไบเบิลซึ่งภรรยาผมพบในงานเผยแพร่. ผมยังสามารถประกาศตามบ้านและนำการศึกษาพระคัมภีร์ได้โดยใช้เสียงจากคอมพิวเตอร์ที่ได้เตรียมไว้ล่วงหน้า. โดยวิธีนี้ผมยังคงรับใช้เป็นไพโอเนียร์ประจำต่อไปได้. เมื่อเร็ว ๆ นี้ ผมสามารถบรรยายและทำส่วนการสอนอื่น ๆ ในประชาคมที่ผมเป็นผู้ช่วยงานรับใช้ได้อีกครั้งหนึ่ง.
มีอารมณ์ขันเสมอ
เรามีประสบการณ์ที่น่าเศร้ามามากแล้ว. เมื่อขาของผมอ่อนกำลังลงเรื่อย ๆ การหกล้มก็กลายเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นหลายครั้ง. มากกว่าหนึ่งครั้งที่ผมล้มหงายหลังและหัวแตก. กล้ามเนื้อของผมจะแข็งตัวและผมจะล้มทั้งยืนเหมือนกับต้นไม้ที่ถูกโค่น. คนที่อยู่ใกล้ ๆ จะตกใจและรีบมาช่วย. แต่ผมมักจะทำเป็นเรื่องตลกเพื่อลดความเครียด. ผมพยายามรักษาอารมณ์ขันไว้เสมอ. ผมจะทำอะไรได้อีกหรือ? ถ้าผมจะโมโหว่าทำไมชีวิตผมลำบากอย่างนี้ แล้วจะได้อะไรขึ้นมา?
คืนหนึ่ง เมื่อผมออกไปข้างนอกกับอะมันดาและเพื่อนอีกสองคน จู่ ๆ ผมก็ล้มหงายหลังจนหัวฟาดพื้น. ผมจำได้ว่าทั้งสามคนก้มลงมามองผมด้วยความเป็นห่วง แล้วเพื่อนผมคนหนึ่งก็ถามว่าผมเป็นอะไรไหม.
ผมตอบว่า “เป็นสิ เห็นดาวระยิบระยับเลย.”
เพื่อนผมถามว่า “จริงหรือ?”
ผมตอบว่า “จริง ๆ ดูสิ” ผมก็ชี้ไปที่ดาวจริง ๆ บนท้องฟ้า. “ดาวสวยมากเลย.” แล้วทุกคนก็หัวเราะ.
รับมือกับข้อท้าทายประจำวัน
ขณะที่กล้ามเนื้อของผมลีบลงเรื่อย ๆ ผมก็เริ่มประสบข้อท้าทายมากขึ้นเรื่อย ๆ. งานง่าย ๆ เช่น การกิน, การอาบน้ำ, การเข้าห้องน้ำ, และการติดกระดุมกลายเป็นเรื่องที่ทำให้รู้สึกเหน็ดเหนื่อยและน่าข้องขัดใจทุก ๆ วัน. ตอนนี้อาการของผมแย่ลงถึงขนาดที่ผมไม่สามารถเคลื่อนไหว, พูด, กิน, หรือหายใจได้โดยไม่ได้รับการช่วยเหลืออีกต่อไป. ผมมีหลอดอาหารที่สอดเข้าไปถึงกระเพาะ ซึ่งทำให้ผมได้รับอาหารเหลว. ผมมีเครื่องช่วยหายใจที่ต่อเข้ากับท่อในคอของผมซึ่งช่วยให้ผมหายใจได้.
แม้ว่าผมตั้งใจจะช่วยตัวเองให้ได้นานที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ แต่อะมันดาก็เต็มใจช่วยผมเสมอ. ขณะที่ผมต้องพึ่งคนอื่นมากขึ้นเรื่อย ๆ เธอก็ไม่เคยทำให้ผมรู้สึกไร้ศักดิ์ศรี.
เธอให้เกียรติผมเสมอ. งานที่เธอทำในการดูแลเอาใจใส่ผมตอนนี้น่าอัศจรรย์จริง ๆ แต่ผมรู้ว่านั่นก็ไม่ใช่เรื่องง่าย.อะมันดาอธิบายความรู้สึกของเธอดังนี้: “อาการของเจสันค่อย ๆ ทรุดลงทีละเล็กทีละน้อย ดิฉันจึงได้เรียนรู้วิธีที่จะดูแลเขาตามอาการที่เกิดขึ้น. เนื่องจากเขาต้องอาศัยเครื่องช่วยหายใจ เขาจึงต้องการคนดูแลตลอด 24 ชั่วโมง. เสมหะและน้ำลายจะสะสมในปอดของเขา ซึ่งต้องใช้เครื่องดูดออก. ผลก็คือ ไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับเราทั้งสองคนที่จะนอนหลับสนิทตลอดคืน. ดิฉันรู้สึกเดียวดายและเศร้าใจในบางครั้ง. แม้ว่าเราอยู่ด้วยกันตลอดเวลา แต่ก็เป็นเรื่องยากที่จะสื่อความกัน. เขาเคยเป็นคนที่มีชีวิตชีวามาก แต่ตอนนี้มีแค่ดวงตาของเขาเท่านั้นที่กลอกไปมาได้. เขายังคงเป็นคนที่ตลกมาก และความคิดของเขาก็เฉียบแหลม. แต่ดิฉันอยากได้ยินเสียงของเขา. ดิฉันอยากให้เขาโอบกอดดิฉันและจับมือดิฉันไว้.
“บางครั้งมีคนถามว่าดิฉันรับมือได้อย่างไร. ความลำบากแสนสาหัสนี้สอนดิฉันให้รู้ว่าต้องหมายพึ่งพระยะโฮวามากสักเพียงไร. ถ้าดิฉันหมายพึ่งตัวเอง ดิฉันจะหมกมุ่นอยู่กับสภาพการณ์ของตัวเองจนรู้สึกเหมือนกับจะหายใจไม่ออก. การอธิษฐานช่วยได้ เนื่องจากพระยะโฮวาทรงเป็นผู้เดียวเท่านั้นที่เข้าใจดิฉันอย่างแท้จริงและรู้ว่าดิฉันต้องประสบกับอะไรอยู่. พ่อแม่ของเจสันก็ช่วยเหลือมาก. ท่านทั้งสองพร้อมที่จะช่วยเสมอไม่ว่าเมื่อใดที่ดิฉันจำเป็นต้องพักหรืออยากออกไปทำงานเผยแพร่. ดิฉันหยั่งรู้ค่าความช่วยเหลือและการหนุนใจที่เราได้รับจากพี่น้องในประชาคมของเรา. สิ่งอื่นที่ช่วยดิฉันก็คือการจำไว้ว่าความทุกข์ใด ๆ ในระบบนี้ก็ ‘เบาบางและอยู่แต่ประเดี๋ยวเดียว.’ (2 โกรินโธ 4:17) ดิฉันพยายามจดจ่ออยู่กับโลกใหม่ที่กำลังมาถึง ซึ่งพระยะโฮวาจะทรงแก้ไขทุกสิ่งทุกอย่าง. ดิฉันคงจะหัวเราะและร้องไห้ออกมาพร้อมกันเมื่อความกดดันทุกอย่างจบสิ้นไปและเจสันกลับเป็นคนเดิมอีก.”
การสู้กับความซึมเศร้า
ผมต้องยอมรับว่าบางครั้งก็น่าท้อใจมากสำหรับผม ซึ่งเป็นผู้ชายคนหนึ่ง ที่จะนั่งแต่ในเก้าอี้ล้อและอยู่ในสภาพที่ช่วยตัวเองไม่ได้อย่างนี้. ผมจำได้ว่าครั้งหนึ่งเมื่อเราอยู่ที่บ้านของพี่สาวผมเพื่อสังสรรค์กันในครอบครัว. ผมยังไม่ได้กินอาหาร ผมจึงรู้สึกหิว. ทุกคนกำลังเพลิดเพลินกับแฮมเบอร์เกอร์เนื้อย่างและข้าวโพดเป็นฝัก ๆ. ขณะที่ผมเฝ้ามองคนอื่นกินและเล่นกับเด็กเล็ก ๆ ผมก็รู้สึกเศร้าใจมาก. ผมเริ่มคิดว่า ‘ไม่ยุติธรรมเลย! ทำไมผมทำอย่างที่คนอื่นทำไม่ได้?’ ผมไม่อยากทำให้บรรยากาศในค่ำวันนั้นเสียไป ผมจึงขอพระยะโฮวาช่วยผมให้กลั้นน้ำตาไว้.
ผมเตือนตัวเองว่า โดยการรักษาความซื่อสัตย์ไว้ ผมก็ทำให้พระยะโฮวามีโอกาส ‘ตอบซาตาน ผู้ที่ตำหนิพระองค์ได้.’ (สุภาษิต 27:11) การคิดอย่างนี้ทำให้ผมมีกำลัง เพราะผมตระหนักว่ามีประเด็นที่สำคัญมากยิ่งกว่าเรื่องที่ผมจะกินข้าวโพดเป็นฝัก ๆ หรือเล่นกับเด็ก ๆ ได้หรือไม่.
ผมรู้ดีว่าเป็นเรื่องง่ายสักเพียงไรที่คนป่วยอย่างผมจะเอาแต่หมกมุ่นอยู่กับปัญหาของตัวเอง. แต่ผมพบว่าเป็นประโยชน์ที่จะ “มีมากมายหลายสิ่งที่จะทำเสมอในงานขององค์พระผู้เป็นเจ้า.” (1 โกรินโธ 15:58, ล.ม.) โดยทำงานเผยแพร่มาก ๆ ผมก็ไม่มีเวลาที่จะกังวลกับปัญหาของตัวเอง. การจดจ่ออยู่กับการช่วยคนอื่นให้สร้างความเชื่อในพระยะโฮวาเป็นเคล็ดลับที่ทำให้ผมมีความสุข.
มีสิ่งอื่นอีกที่ช่วยผมสู้กับความซึมเศร้าด้วย. ผมคิดใคร่ครวญเรื่องประสบการณ์ของผู้ซื่อสัตย์หลายคนที่ถูกจำคุก ซึ่งบางคนถูกขังเดี่ยว เนื่องจากพวกเขาไม่ยอมเลิกประกาศราชอาณาจักรของพระเจ้า. ผมสมมุติว่าห้องของผมเป็นห้องขังและผมกำลังติดคุกเนื่องจากความเชื่อของผม. ผมใคร่ครวญถึงข้อได้เปรียบที่ผมมีเมื่อเทียบกับพี่น้องเหล่านั้นบางคน. ผมอ่านหนังสือเกี่ยวกับคัมภีร์ไบเบิลได้. ผมเข้าร่วมการประชุมคริสเตียนได้ ไม่ว่าไปที่หอประชุมหรือฟังทางโทรศัพท์. ผมมีอิสระเสรีที่จะทำงานเผยแพร่. ผมมีภรรยาที่วิเศษคอยเป็นเพื่อนผม. การคิดแบบนี้ช่วยให้ผมตระหนักว่าผมได้รับพระพรมากสักเพียงไร.
ถ้อยคำของอัครสาวกเปาโลตราตรึงอยู่ในใจผมเป็นพิเศษที่ว่า “เราจึงไม่ย่อท้อ, ถึงแม้ว่ากายภายนอกของเรากำลังทรุดโทรมไป, ใจภายในนั้นก็ยังจำเริญขึ้นใหม่ทุกวัน ๆ.” ผมเป็นคนที่กายภายนอกกำลังทรุดโทรมไปอย่างแท้จริง. แต่ผมตั้งใจแน่วแน่ว่าจะไม่ย่อท้อ. สิ่งที่ค้ำจุนผมคือการรักษาตาแห่งความเชื่อให้จดจ่ออยู่กับ “สิ่งซึ่งแลไม่เห็น” รวมถึงพระพรในโลกใหม่ที่ใกล้เข้ามา. ผมรู้ว่าในโลกใหม่นั้นพระยะโฮวาจะทำให้ผมกลับมาสมบูรณ์แข็งแรงอีก.—2 โกรินโธ 4:16, 18.
[เชิงอรรถ]
^ วรรค 3 โปรดอ่านกรอบ “ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับโรคเอแอลเอส” ในหน้า 27 เพื่อจะเข้าใจโรคนี้ดีขึ้น.
[กรอบ/ภาพหน้า 27]
ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับโรคเอแอลเอส
▪ โรคเอแอลเอสคืออะไร? เอแอลเอส (amyotrophic lateral sclerosis) เป็นโรคที่มีอาการทรุดลงอย่างรวดเร็วและโจมตีเซลล์ประสาทสั่งการในไขสันหลังและสมองส่วนล่าง. เซลล์ประสาทสั่งการมีหน้าที่ถ่ายทอดสัญญาณจากสมองไปยังกล้ามเนื้อทุกส่วนที่อยู่ภายใต้การควบคุมของจิตใจ. โรคเอแอลเอสทำให้เซลล์ประสาทสั่งการเสื่อมหรือตาย ทำให้ค่อย ๆ เป็นอัมพาต. *
▪ ทำไมโรคเอแอลเอสจึงถูกเรียกด้วยว่าโรคลู เกห์ริก? ลู เกห์ริกเป็นนักกีฬาเบสบอลชื่อดังชาวอเมริกัน ซึ่งได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคเอแอลเอสในปี 1939 และเสียชีวิตในปี 1941 เมื่อมีอายุได้ 38 ปี. ในบางดินแดน โรคเอแอลเอสถูกเรียกว่าโรคเซลล์ประสาทสั่งการ ซึ่งเป็นกลุ่มของโรคที่รวมเอาโรคเอแอลเอสไว้ด้วย. โรคเอแอลเอสบางครั้งยังถูกเรียกว่าโรคชาร์โก ตามชื่อของชอง-มาร์แตง ชาร์โก นักประสาทวิทยาชาวฝรั่งเศสที่อธิบายเกี่ยวกับโรคนี้เป็นครั้งแรกเมื่อปี 1869.
▪ โรคเอแอลเอสเกิดจากอะไร? สาเหตุของโรคเอแอลเอสยังไม่เป็นที่ทราบกัน. ตามคำกล่าวของนักวิจัยบางคน สาเหตุที่น่าจะเป็นไปได้คือไวรัส, การขาดโปรตีน, ความบกพร่องในพันธุกรรม (โดยเฉพาะอย่างยิ่งในแบบกรรมพันธุ์), โลหะหนัก, สารพิษต่อประสาท (โดยเฉพาะอย่างยิ่งแบบกวมมาเนียน), ความผิดปกติของระบบภูมิคุ้มกัน, และความผิดปกติของเอนไซม์.
▪ การพยากรณ์โรคเป็นอย่างไร? ขณะที่โรคมีอาการหนักขึ้น กล้ามเนื้อจะอ่อนแรงและลีบลงทั่วร่างกาย. ในระยะท้าย ๆ โรคนี้จะทำให้กล้ามเนื้อของระบบหายใจอ่อนลง และในที่สุดผู้ป่วยต้องอาศัยเครื่องช่วยหายใจ. เนื่องจากโรคนี้โจมตีเฉพาะแต่เซลล์ประสาทสั่งการเท่านั้น ความคิด, บุคลิก, เชาวน์ปัญญา, หรือความทรงจำของผู้ป่วยจึงไม่ได้รับความเสียหาย. อีกทั้งประสาทสัมผัสต่าง ๆ ก็ไม่เสียไปด้วย. ดังนั้น ผู้ป่วยจึงสามารถมองเห็น, ได้กลิ่น, รับรส, ได้ยิน, และรู้สึกถึงการสัมผัสได้. โรคเอแอลเอสมักจะทำให้เสียชีวิตภายในสามถึงห้าปีตั้งแต่เริ่มมีอาการ แต่อาจมีผู้ป่วยถึง 10 เปอร์เซ็นต์ที่อยู่ได้นานถึงสิบปีหรือนานกว่านั้น.
▪ จะทำอะไรได้บ้างเพื่อรักษาโรคนี้? ยังไม่มีวิธีรักษาโรคเอแอลเอสเท่าที่ทราบกัน. แพทย์อาจสั่งจ่ายยาเพื่อช่วยบรรเทาความเจ็บปวดจากอาการบางอย่าง. ขึ้นอยู่กับอาการและระยะของโรค ผู้ป่วยอาจได้ประโยชน์จากการบำบัดฟื้นฟูต่าง ๆ เช่น กายภาพบำบัดและกิจกรรมบำบัด, วจีบำบัด, และอุปกรณ์ช่วยต่าง ๆ.
[เชิงอรรถ]
^ วรรค 48 โรคเอแอลเอสที่เกิดขึ้นบ่อย ๆ มีสามประเภท คือสปอราดิก (พบมากที่สุด), กรรมพันธุ์ (ประมาณ 5 ถึง 10 เปอร์เซ็นต์ของผู้ป่วยมีประวัติคนในครอบครัวเป็นโรคนี้), และกวมมาเนียน (ผู้ป่วยจำนวนมากอยู่ในเกาะกวมและเขตแดนที่อยู่ในความดูแลของสหรัฐในแถบแปซิฟิก).
[ที่มาของภาพ]
Lou Gehrig: Photo by Hulton Archive/Getty Images
[ภาพหน้า 25]
การเยี่ยมชมเบเธลในปี 1985
[ภาพหน้า 26, 27]
กับอะมันดาในวันแต่งงาน
[ภาพหน้า 28]
คอมพิวเตอร์แล็ปท็อปพิเศษที่ช่วยผมสื่อความ
[ภาพหน้า 28, 29]
ผมชอบบรรยายในประชาคมของเรา