ทำไมฉันทำร้ายตัวเอง?
หนุ่มสาวถามว่า . . .
ทำไมฉันทำร้ายตัวเอง?
“ฉันกรีดข้อมือลึกจนต้องเย็บหลายเข็ม. ตอนนั้นฉันบอกหมอว่าฉันถูกหลอดไฟบาด ซึ่งก็เป็นความจริง—แต่ไม่ได้บอกว่าฉันจงใจทำ.”—ซาช่า, อายุ 23 ปี.
“พ่อแม่สังเกตเห็นรอยแผล แต่ก็แค่รอยเล็ก ๆ คล้ายรอยขีดข่วน. . . . บางครั้งท่านจะเห็นรอยแผลซึ่งท่านไม่รู้ว่าเป็นรอยอะไร ดังนั้น หนูต้องหาเรื่องแก้ตัว. . . . หนูไม่อยากบอกให้ท่านรู้.”—อารีเอล, อายุ 13 ปี.
“ฉันเคยทำร้ายตัวเองตั้งแต่อายุ 11 ขวบ. ฉันรู้ว่าพระเจ้าทรงประเมินค่าร่างกายของมนุษย์ไว้สูง แต่เรื่องนี้ก็ไม่อาจฉุดรั้งฉันจากการทำร้ายตัวเอง.”—เจนนิเฟอร์, อายุ 20 ปี.
คุณอาจเคยรู้จักบางคนที่เป็นเหมือนซาช่า, อารีเอล, หรือเจนนิเฟอร์. * คนที่ทำร้ายตัวเองอาจเป็นเพื่อนนักเรียน เป็นพี่หรือน้องแท้ ๆ ของเรา หรืออาจเป็นตัวคุณเองก็ได้. ในสหรัฐอเมริกาประเทศเดียว ประมาณกันว่าจำนวนผู้คนหลายล้าน—หลายคนเป็นเยาวชน—เจตนาทำร้ายตัวเองด้วยวิธีต่าง ๆ เช่น การกรีดหรือเชือดตัวเอง, จุดไฟเผาตัวเอง, ใช้ของมีคมขูดผิวตัวเองจนถลอก. *
การทำร้ายตัวเองโดยเจตนา หรือ? ในอดีตหลายคนจะเชื่อมโยงพฤติกรรมดังกล่าวเข้ากับความคลั่งไคล้หรือลัทธิแปลก ๆ บางอย่าง. แต่เมื่อไม่กี่ปีมานี้ ความรู้เกี่ยวกับการทำร้ายตัวเองซึ่งรวมทั้งการทำให้ตัวเองพิการนั้นมีมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด. ดูเหมือนว่าจำนวนคนที่เปิดเผยว่ามีปัญหาดังกล่าวก็เพิ่มขึ้นมากด้วย. ไมเคิล ฮอลแลนเดอร์ ผู้อำนวยการศูนย์บำบัดแห่งหนึ่งในสหรัฐกล่าวว่า “แพทย์ทุกคนในสถานพยาบาลต่างก็พูดว่าปัญหาดังกล่าวกำลังเพิ่มขึ้น.”
การทำร้ายตัวเองส่วนใหญ่ไม่ถึงขั้นเสียชีวิต ทว่าการทำเช่นนั้นเป็นอันตราย. ตัวอย่างเช่น ขอพิจารณากรณีของเบท. เธอพูดว่า “ฉันใช้มีดโกนทำร้ายตัวเอง. ฉันเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลสองครั้ง. ครั้งหนึ่ง
ฉันต้องเข้าห้องฉุกเฉินเพราะบาดแผลลึกมาก.” เช่นเดียวกันกับหลายคนที่มีความผิดปกติทางอารมณ์แบบนี้ เบทยังคงทำร้ายตัวเองอยู่เรื่อย ๆ แม้เมื่อโตเป็นผู้ใหญ่. เธอเล่าว่า “ฉันทำอย่างนั้นตั้งแต่อายุ 15 และตอนนี้ฉันอายุ 30 แล้ว.”คุณหรือคนที่คุณรู้จักบางคนเคยตกเป็นเหยื่อของการทำร้ายตัวเองไหม? ถ้าเช่นนั้น อย่าสิ้นหวัง. การช่วยเหลือมีอยู่พร้อม. ในตื่นเถิด! ฉบับหน้าเราจะพิจารณาว่าคนที่ทำร้ายตัวเองจะได้รับความช่วยเหลืออย่างไรบ้าง. * แต่ก่อนอื่น คงเป็นประโยชน์ที่จะพิจารณาเกี่ยวกับผู้คนที่มีความผิดปกติทางอารมณ์ดังกล่าว และทำไมเขาทำเช่นนั้น.
มีภูมิหลังหลากหลาย
นับว่ายากที่จะจัดเอาคนที่ทำร้ายตัวเองออกไว้เป็นหมวดเดียว. บางคนมาจากครอบครัวที่มีปัญหามากมาย ส่วนคนอื่น ๆ มาจากครอบครัวที่มั่นคง มีความสุข. หลายคนเรียนไม่จบ แต่หลายคนเรียนเก่งมาก. บ่อยครั้ง คนที่ทำร้ายตัวเองแทบจะไม่แสดงอาการให้เห็นเลยว่าเขามีปัญหา เพราะผู้ที่ถูกรุมเร้าด้วยความทุกข์มักจะไม่แสดงออกเสมอไป. คัมภีร์ไบเบิลกล่าวดังนี้: “แม้ในขณะที่แสดงอาการเบิกบานใจก็ยังโศกเศร้า.”—สุภาษิต 14:13.
นอกจากนั้น ความรุนแรงของการทำร้ายตัวเองย่อมแตกต่างกันไปในแต่ละคน. ยกตัวอย่าง การศึกษาวิจัยรายหนึ่งพบว่า บางคนกรีดเนื้อตัวเองเพียงปีละครั้ง, ขณะที่บางคนเฉลี่ยแล้วทำวันละสองครั้ง. ที่น่าสนใจคือ ผู้ชายทำร้ายตัวเองมีมากกว่าที่เคยคิดกัน. กระนั้น ปัญหาส่วนใหญ่ก็ยังพบในหมู่ผู้หญิงสาว ๆ.
ถึงแม้พวกเขามีภูมิหลังแตกต่างกัน แต่คนที่ทำร้ายตัวเองดูเหมือนมีลักษณะบางอย่างคล้าย ๆ กัน. สารานุกรมเกี่ยวกับหนุ่มสาวฉบับหนึ่งได้ตั้งข้อสังเกตดังนี้: “หนุ่มสาวที่ทำร้ายตัวเองมักจะรู้สึกว่าตัวเองไร้อำนาจ, รู้สึกลำบากใจที่จะแสดงอารมณ์ความรู้สึกต่อผู้อื่น, รู้สึกเดียวดายหรือไม่ได้รับการเหลียวแล, รู้สึกหวาดกลัว, และประเมินค่าตัวเองต่ำ.”
แน่นอน บางคนอาจพูดว่าคำอธิบายนี้ใช้ได้กับหนุ่มสาวแทบทุกคน ซึ่งผจญความกลัวและความรู้สึกไม่มั่นคงปลอดภัยขณะที่กำลังเติบโตเป็นผู้ใหญ่. แต่สำหรับคนที่ทำร้ายตัวเอง ความพยายามดังกล่าวจะมากเป็นพิเศษ. การที่ไม่สามารถระบายความรู้สึกเป็นคำพูดและเปิดเผยความในใจแก่คนที่ไว้ใจ จึงทำให้ความกดดันจากที่โรงเรียน, ความกดดันจากที่ทำงาน, หรือความไม่ลงรอยกันในบ้านดูเป็นเรื่องหนักหนาสาหัส. บุคคลผู้นั้นมองไม่เห็นทางออกและคิดว่าไม่มีใครจะพูดคุยด้วย. ความรู้สึกตึงเครียดนั้นเกินจะแบกรับได้. ในที่สุด ผู้นั้นก็ค้นพบสิ่งหนึ่งคือการทำร้ายร่างกายตัวเอง ดูเหมือนช่วยบรรเทาความปวดร้าวทางอารมณ์ได้บ้าง และทำให้สามารถสู้ชีวิตต่อไปได้—อย่างน้อยก็ชั่วขณะหนึ่ง.
ทำไมคนที่ทำร้ายตัวเองจึงหันไปใช้ความเจ็บปวดเพื่อพยายามบรรเทาความปวดร้าวทางอารมณ์? ยกตัวอย่าง ลองนึกถึงตอนที่คุณกำลังรอให้หมอฉีดยา. ขณะที่กำลังจะเริ่มฉีดยา คุณเคยหยิกตัวเองหรือบางทีก็ใช้เล็บจิกผิวหนังจนเป็นรอยไหม เพื่อเบนความสนใจไปจากเข็มฉีดยา? สิ่งที่ผู้ทำร้ายตัวเองทำก็คล้ายกัน ถึงแม้จะมีอันตรายมากกว่าด้วยซ้ำ. สำหรับคนที่ทำร้ายตัวเอง การกรีดเนื้อเป็นวิธีเบี่ยงเบนความสนใจแบบหนึ่งและเป็นการบรรเทาความปวดร้าวทางอารมณ์. และเมื่อเทียบกันแล้ว ความปวดร้าวใจเป็นสิ่งที่ทรมานมากจนทำให้รู้สึกว่าความเจ็บปวดทางกายยังดีเสียกว่า. บางที นี่อาจเป็นเหตุทำให้คนที่ทำร้ายตัวเองพูดถึงการกรีดเนื้อว่าเป็น “ยาแก้โรคกลัวของฉัน.”
“วิธีจัดการกับความเครียด”
สำหรับคนเหล่านั้นที่ไม่คุ้นเคยกับความผิดปกติทางอารมณ์แบบนี้ การทำร้ายร่างกายอาจดูเหมือนจะเป็นการพยายามฆ่าตัวตาย. แต่ปกติแล้วไม่ใช่เช่นนั้น. ซาบรินา โซลิน ไวลล์ บรรณาธิการฝ่ายบริหารวารสารสำหรับวัยรุ่นเขียนว่า “โดยทั่วไปแล้ว คนเหล่านี้เพียงแต่กำลังพยายามยุติความเจ็บปวด ไม่ใช่คิดจะปลิดชีวิตตัวเอง.” ด้วยเหตุนี้ หนังสืออ้างอิงเล่มหนึ่งจึงกล่าวถึงการทำร้ายตัวเองว่าเป็นเสมือน “การสวม ‘เสื้อชูชีพ’ แทนที่จะเป็นการทำลายชีวิต.” หนังสืออ้างอิงเล่มนั้นยังเรียกการกระทำดังกล่าวอีกอย่างว่า “วิธีจัดการกับความเครียด.” ความเครียดแบบไหนล่ะ?
มีการค้นพบว่า หลายคนที่ทำร้ายตัวเองเคยประสบความบอบช้ำบางอย่างทางจิตใจ เช่น ถูกปฏิบัติอย่างทารุณในวัยเด็กหรือถูกทอดทิ้ง. สำหรับคนอื่น ๆ อาจมีสาเหตุจากการโต้เถียงภายในครอบครัว หรือจากการที่พ่อหรือแม่เป็นคนติดสุรา. ส่วนบางคนก็อาจมีความผิดปกติทางจิต.
สาเหตุอาจมาจากปัญหาอื่น ๆ ก็ได้. ยกตัวอย่าง ซาราพยายามต่อสู้สิ่งที่เธอเรียกว่าการตำหนิตัวเองเนื่องจากเธอมุ่งแต่ความสมบูรณ์พร้อม. แม้เธอเคยทำผิดพลาดร้ายแรงและได้รับการช่วยเหลือจากผู้ปกครองในประชาคมคริสเตียนแล้ว แต่เธอก็ยังรู้สึกผิดอยู่นั่นเองในเรื่องความบกพร่องแต่ละวันของเธอ. ซาราพูดว่า “ฉันคิดว่าฉันต้อง ‘เคี่ยวเข็ญ’ ตัวเอง. ฉันทำร้ายตัวเองเป็นเพียงเพื่อลงโทษตัวเอง. ‘การลงโทษตัวเอง’ มีทั้งการทึ้งผม, การกรีดข้อมือ, ทุบตีตัวเองจนฟกช้ำดำเขียว, และทำโทษตัวเอง อย่างเช่น เอามือจุ่มลงไปในน้ำร้อนจัด, ออกไปนั่งนอกบ้านโดยไม่สวมเสื้อกันหนาวขณะที่อากาศหนาวจัด, หรือไม่ยอมกินอาหารตลอดทั้งวัน.”
สำหรับซารา การทำร้ายร่างกายสะท้อนความรู้สึกเกลียดชังตัวเองอยู่ลึก ๆ. เธอบอกว่า “หลายครั้ง ฉันรู้ว่าพระยะโฮวาทรงให้อภัยความผิดพลาดของฉัน แต่ฉันไม่ต้องการให้พระองค์ทำเช่นนั้น. ฉันต้องการทรมานตัวเองเพราะฉันเกลียดตัวเองมาก ๆ. ถึงแม้ฉันรู้ว่าพระยะโฮวาไม่เคยดำริให้มีสถานทรมานอย่างที่สอนกันในคริสต์ศาสนจักร แต่ฉันก็อยากให้พระองค์ทำที่ทรมานสักแห่งหนึ่งสำหรับฉัน.”
“ยุควิกฤติ”
บางคนอาจนึกสงสัยว่าทำไมการกระทำที่น่าตกใจเช่นนี้เพิ่งจะเป็นที่รู้กันเมื่อไม่กี่ปีมานี้เอง. อย่างไรก็ตาม นักศึกษาคัมภีร์ไบเบิลรู้ว่านี่คือยุค “วิกฤตกาลซึ่งยากที่จะรับมือได้.” (2 ติโมเธียว 3:1, ล.ม.) ดังนั้น พวกเขาจึงไม่แปลกใจที่รู้ว่าผู้คนรวมถึงหนุ่มสาวด้วยหันไปทำสิ่งซึ่งยากแก่การอธิบาย.
คัมภีร์ไบเบิลยอมรับว่า “การกดขี่ข่มเหงกระทำผู้มีสติปัญญาให้คลั่งไป.” (ท่านผู้ประกาศ 7:7) ข้อท้าทายต่าง ๆ ที่หนุ่มสาวต้องเผชิญ—ในบางกรณีรวมถึงประสบการณ์ชีวิตที่น่าสลดใจ—อาจเป็นมูลเหตุนำไปสู่พฤติกรรมที่เป็นอันตราย รวมถึงการทำร้ายตัวเอง. หนุ่มสาวที่รู้สึกโดดเดี่ยวและคิดว่าไม่มีใครจะพูดคุยด้วยจึงอาจหาวิธีกรีดเนื้อตัวเองเพื่อพยายามบรรเทาความเจ็บปวดให้ตัวเอง. แต่ไม่ว่าการทำร้ายตัวเองอาจดูเหมือนว่าช่วยบรรเทาได้ก็ตาม แต่ก็แค่ชั่วครู่ชั่วยาม. ไม่ช้าก็เร็วปัญหาจะกลับมาอีก และการทำร้ายตัวเองก็ตามมาด้วย.
โดยทั่วไป คนที่ทำร้ายตัวเองต้องการเลิกนิสัยนี้ แต่ก็พบว่าทำได้ยากมาก. บางคนสามารถเลิกนิสัยทำร้ายตัวเองได้อย่างไร? เรื่องนี้จะพิจารณากันในบทความ “หนุ่มสาวถามว่า . . . “ฉันจะเลิกทำร้ายตัวเองได้อย่างไร?” ซึ่งจะนำลงในวารสารตื่นเถิด! ฉบับเดือนกุมภาพันธ์ 2006.
[เชิงอรรถ]
^ วรรค 6 บางชื่อในบทความนี้เป็นนามสมมุติ.
^ วรรค 6 การทำร้ายตัวเองต่างจากการเจาะหรือการสักร่างกาย. โดยทั่วไปแล้ว การเจาะหรือการสักร่างกายแสดงออกถึงความคลั่งไคล้มากกว่าการทำไปเพราะความกดดันซึ่งยากจะหักห้ามได้. โปรดดูวารสารตื่นเถิด! ฉบับ 8 สิงหาคม 2000, หน้า 18, 19.
^ วรรค 9 พระธรรมเลวีติโก 19:28 กล่าวดังนี้: “อย่าเชือดเนื้อเพราะคนตาย, หรือสักเนื้อของตัวเอง.” ธรรมเนียมปฏิบัติแบบนี้ของพวกนอกรีตดูเหมือนได้ถูกกำหนดขึ้นเพื่อเอาใจบรรดาเทพเจ้าที่พวกเขาคิดว่ามีอำนาจเหนือคนตาย ธรรมเนียมดังกล่าวต่างไปจากนิสัยชอบทำร้ายตัวเองตามที่พิจารณากันในบทความนี้.
สิ่งที่พึงใคร่ครวญ
▪ ทำไมหนุ่มสาวบางคนหันไปใช้วิธีทำร้ายตัวเอง?
▪ หลังจากอ่านบทความนี้แล้ว คุณคิดออกไหมว่ามีวิธีไหนที่ดีกว่านี้เพื่อรับมือกับความทุกข์ใจ?
[คำโปรยหน้า 11]
“แม้ในขณะที่แสดงอาการเบิกบานใจก็ยังโศกเศร้า.”—สุภาษิต 14:13
[คำโปรยหน้า 11]
“โดยทั่วไปแล้ว คนเหล่านี้เพียงแต่กำลังพยายามยุติความเจ็บปวด ไม่ใช่คิดจะปลิดชีวิตตัวเอง.”
[คำโปรยหน้า 12]
เรากำลังอยู่ในยุค “วิกฤตกาลซึ่งยากที่จะรับมือได้.”—2 ติโมเธียว 3:1, ล.ม.