ข้ามไปยังเนื้อหา

ข้ามไปยังสารบัญ

มันบินไปแล้ว!

มันบินไปแล้ว!

มัน​บิน​ไป​แล้ว!

ตอน​นั้น​เป็น​เวลา​โพล้เพล้ และ​สาย​ลม​เย็น​ของ​ฤดู​ใบ​ไม้​ร่วง​พัด​ผ่าน. แต่​ไม่​นาน​ความ​เงียบ​สงบ​ก็​ถูก​ขัด​จังหวะ​ด้วย​เสียง​เซ็งแซ่​ของ​ห่าน​ฝูง​หนึ่ง. ทันใด​นั้น ฝูง​ห่าน​ประมาณ 20 ตัว​ซึ่ง​บิน​เป็น​รูป​ตัว​วี​ก็​ปรากฏ​ขึ้น​เหนือ​ศีรษะ มัน​บิน​เป็น​จังหวะ​อย่าง​สง่า​งาม​ด้วย​ปีก​ที่​เปี่ยม​ด้วย​พลัง. ห่าน​ตัว​หนึ่ง​ค่อย ๆ บิน​ออก​ไป​ทาง​ซ้าย​แล้ว​อ้อม​กลับ​ไป​อยู่​ท้าย​ฝูง. ภาพ​ที่​น่า​ประทับใจ​นี้​กระตุ้น​ฉัน​ให้​เกิด​ความ​สนใจ​ใคร่​รู้. ทำไม​ห่าน​จึง​บิน​เป็น​รูป​ตัว​วี​เช่น​นี้? และ​พวก​มัน​จะ​ไป​ที่​ไหน?

ห่าน​เป็น​สัตว์​ปีก​ที่​หา​กิน​ตาม​แหล่ง​น้ำ อยู่​ใน​ตระกูล​เดียว​กับ​เป็ด​และ​หงส์. ทั่ว​โลก​มี​ห่าน​ประมาณ 40 ชนิด และ​ส่วน​ใหญ่​พบ​ใน​แถบ​เอเชีย, ยุโรป, และ​อเมริกา​เหนือ. ห่าน​แคนาดา​เป็น​หนึ่ง​ใน​ชนิด​ที่​รู้​จัก​กัน​มาก​ที่​สุด​โดย​มี​ลักษณะ​เด่น​อยู่​ที่​คอ​ยาว​สี​ดำ​และ​ส่วน​ต้น​ของ​ลำคอ​มี​รอย​แต้ม​สี​ขาว​ขนาด​ใหญ่​ยาว​ขึ้น​ไป​จน​เกือบ​ถึง​กระหม่อม. ใน​ตระกูล​ห่าน​ชนิด​นี้ มี​ห่าน​ตัว​ผู้​ที่​โต​เต็ม​วัย​ชนิด​หนึ่ง​ที่​เรียก​กัน​ว่า​ห่าน​แคนาดา​ยักษ์ มัน​มี​น้ำหนัก​ถึง 8 กิโลกรัม​และ​มี​ระยะ​ห่าง​ระหว่าง​ปลาย​ปีก​ทั้ง​สอง​ข้าง​ยาว​ถึง 2 เมตร. ใน​ช่วง​ฤดู​ร้อน ห่าน​ชนิด​นี้​จะ​หา​กิน​ใน​พื้น​ที่​ไกล​ออก​ไป​ทาง​เหนือ​จน​ถึง​อะแลสกา​รวม​ถึง​ภาค​เหนือ​ของ​แคนาดา และ​ใน​ช่วง​ฤดู​หนาว​มัน​จะ​อพยพ​ลง​มา​ทาง​ใต้​ไกล​ถึง​เม็กซิโก.

การ​เลือก​เวลา​ที่​เหมาะ​สม​ที่​สุด​สำหรับ​การ​อพยพ​นับ​ว่า​สำคัญ​มาก​สำหรับ​ห่าน​เหล่า​นี้. ถ้า​พวก​มัน​ขึ้น​เหนือ​เร็ว​เกิน​ไป น้ำ​จะ​ยัง​คง​เป็น​น้ำ​แข็ง​และ​พืช​ผัก​ก็​จะ​หา​ยาก. เนื่อง​ด้วย​เหตุ​นี้​ห่าน​แคนาดา​จึง​มี​แนว​โน้ม​จะ​อพยพ​ขึ้น​เหนือ​ตาม​สภาพ​อากาศ​ที่​เริ่ม​อุ่น​ขึ้น​เรื่อย ๆ. เมื่อ​ฝูง​ห่าน​มา​ถึง​จุด​หมาย​ปลาย​ทาง มัน​จะ​แยก​ไป​เป็น​คู่ ๆ แล้ว​แต่​ละ​คู่​ก็​จะ​หา​ที่​ผสม​พันธุ์​ของ​มัน​เอง.

การ​บิน​เป็น​รูป​ตัว​วี​ทำ​ให้​ห่าน​มอง​เห็น​กัน​และ​กัน​ได้​สะดวก​และ​สามารถ​ตอบรับ​อย่าง​ฉับ​ไว​เมื่อ​ห่าน​ตัว​ที่​อยู่​ข้าง​หน้า​เปลี่ยน​ทิศ​ทาง, ความ​เร็ว, หรือ​ระดับ​ความ​สูง. นอก​จาก​นี้ ผู้​เชี่ยวชาญ​บาง​คน​เชื่อ​ว่า​กระแส​ลม​ที่​เกิด​จาก​การ​กระพือ​ปีก​ของ​ห่าน​ตัว​ที่​อยู่​ข้าง​หน้า​จะ​ช่วย​ให้​ห่าน​ตัว​อื่น ๆ ที่​อยู่​ข้าง​หลัง​บิน​ได้​ง่าย​ขึ้น เนื่อง​จาก​ความ​แปรปรวน​ของ​กระแส​ลม​ลด​ลง. อย่าง​ไร​ก็​ตาม ดู​เหมือน​ว่า​ฝูง​ห่าน​ที่​บิน​อพยพ​ประกอบ​ด้วย​หลาย​ครอบครัว โดย​มี​ตัว​เต็ม​วัย​สลับ​กัน​บิน​นำ​หน้า.

ห่าน​แคนาดา​มัก​จะ​กลับ​ไป​ใช้​ที่​ทำ​รัง​เดิม​ของ​มัน​ทุก​ปี. ตาม​ปกติ​แล้ว​มัน​จะ​สร้าง​รัง​โดย​ใช้​วัสดุ​ที่​หา​ได้​ง่าย เช่น กิ่ง​ไม้, หญ้า, และ​มอสส์. ห่าน​มี​คู่​เพียง​ตัว​เดียว​ตลอด​ชีวิต. หาก​คู่​ของ​มัน​ตาย​ไป ห่าน​ตัว​ที่​ยัง​อยู่​อาจ​จะ​หา​คู่​ใหม่. แต่​โดย​ทั่ว​ไป​แล้ว มัน​จะ​อยู่​ตัว​เดียว.

ห่าน​ตัว​เมีย​วาง​ไข่​ครั้ง​ละ​สี่​ถึง​แปด​ฟอง​และ​ใช้​เวลา​ฟัก​ราว ๆ 28 วัน. พ่อ​ห่าน​แม่​ห่าน​จะ​หวง​ลูก​มาก. เมื่อ​พวก​มัน​หรือ​ลูก​ของ​มัน​ถูก​คุกคาม พวก​มัน​จะ​ดุ​มาก​ที​เดียว. มัน​จะ​ใช้​ปีก​ของ​มัน​ไล่​ตี​ศัตรู.

ลูก​ห่าน​เริ่ม​สื่อสาร​ได้​ตั้ง​แต่​ยัง​อยู่​ใน​ไข่​ด้วย​ซ้ำ. เสียง​ของ​ลูก​ห่าน​มี​หลาย​ระดับ นับ​ตั้ง​แต่​เสียง​แหลม​แบบ​รัว ๆ (เป็น​สัญญาณ​ว่า​มี​ความ​สุข​ดี) ไป​จน​ถึง​เสียง​ที่​เศร้า​สร้อย. เมื่อ​สื่อสาร​กับ​ลูก ๆ และ​ห่าน​ตัว​อื่น ห่าน​ตัว​ที่​โต​เต็ม​วัย​แล้ว​ก็​ส่ง​เสียง​ร้อง​ใน​แบบ​ต่าง ๆ กัน​ด้วย. ที่​จริง นัก​วิจัย​สามารถ​จำแนก​เสียง​ห่าน​แคนาดา​ได้​อย่าง​น้อย 13 เสียง.

จริง​ที​เดียว ห่าน​ให้​หลักฐาน​ที่​ว่า พวก​มัน “มี​ปัญญา​โดย​สัญชาตญาณ.” (สุภาษิต 30:​24, ล.ม.) แน่นอน​ว่า เกียรติยศ​ทั้ง​สิ้น​ย่อม​เป็น​ของ​พระ​ยะโฮวา​พระเจ้า ผู้​ทรง​สร้าง​สารพัด​สิ่ง รวม​ทั้ง​สัตว์​ที่​บิน​อยู่​บน​ฟ้า.—บทเพลง​สรรเสริญ 104:24.

[กรอบ​หน้า 17]

คุณ​รู้​ไหม?

● ทันที​ที่​ลูก​ห่าน​ฟัก​ออก​จาก​ไข่ มัน​จะ​ออก​จาก​รัง​พร้อม​กับ​พ่อ​แม่​ของ​มัน. ตาม​ปกติ​แล้ว​ห่าน​มัก​จะ​อยู่​ด้วย​กัน​เป็น​ครอบครัว.

● กล่าว​กัน​ว่า ห่าน​บาร์​เฮด​อพยพ​ข้าม​ภูเขา​เอเวอเรสต์​ซึ่ง​มี​ระดับ​ความ​สูง​เกือบ 8,900 เมตร.

● ห่าน​บาง​ชนิด​บิน​ได้​ไกล​ถึง 1,600 กิโลเมตร​โดย​ไม่​หยุด​พัก​เลย.

● เมื่อ​เปรียบ​เทียบ​ระหว่าง​ห่าน​ที่​บิน​ตัว​เดียว​กับ​ห่าน​ที่​บิน​เป็น​ฝูง​ซึ่ง​บิน​ด้วย​ความ​เร็ว​เท่า​กัน ห่าน​ที่​บิน​เป็น​ฝูง​จะ​กระพือ​ปีก​น้อย​กว่า​และ​มี​อัตรา​การ​เต้น​ของ​หัวใจ​ช้า​กว่า.

[ที่​มา​ของ​ภาพ]

Top left: U.S. Fish & Wildlife Service, Washington, D.C./Duane C. Anderson

[ที่​มา​ของ​ภาพ​หน้า 16]

Flying geese: © Tom Brakefield/CORBIS