ข้ามไปยังเนื้อหา

ข้ามไปยังสารบัญ

มิคาเอล อะกรีโคลา—“บุรุษผู้เปิดยุคใหม่”

มิคาเอล อะกรีโคลา—“บุรุษผู้เปิดยุคใหม่”

มิคาเอล อะกรีโคลา—“บุรุษ​ผู้​เปิด​ยุค​ใหม่”

โดย​ผู้​เขียน​ตื่นเถิด! ใน​ฟินแลนด์

“ไม่​มี​หนังสือ​เล่ม​ใด​ที่​มี​อิทธิพล​ลึกซึ้ง​และ​ครอบ​คลุม​ด้าน​วัฒนธรรม, ค่า​นิยม, และ​ความ​คิด​ของ​ชาว​ฟินแลนด์​ได้​มาก​ยิ่ง​กว่า​คัมภีร์​ไบเบิล.”—“บิบลิอา 350—คัมภีร์​ไบเบิล​ภาษา​ฟินแลนด์​และ​วัฒนธรรม.”

คุณ​มี​โอกาส​อ่าน​คัมภีร์​ไบเบิล​ใน​ภาษา​ของ​คุณ​เอง​ไหม? คุณ​คง​จะ​มี​โอกาส​อยู่​บ้าง. ที่​จริง คัมภีร์​ไบเบิล​ทั้ง​แบบ​ครบ​ชุด​หรือ​บาง​ส่วน​หา​ได้​มาก​กว่า 2,000 ภาษา. และ​นั่น​ไม่​ใช่​เพราะ​ความ​บังเอิญ. ตลอด​ประวัติศาสตร์ ชาย​และ​หญิง​จำนวน​ไม่​น้อย​ได้​ทุ่มเท​ความ​พยายาม​อย่าง​มาก​เพื่อ​แปล​คัมภีร์​ไบเบิล​เป็น​ภาษา​ท้องถิ่น​แม้​จะ​เผชิญ​อุปสรรค​อย่าง​ใหญ่​หลวง​ก็​ตาม. มิคาเอล อะกรีโคลา เป็น​หนึ่ง​ใน​คน​เหล่า​นั้น.

อะกรีโคลา​เป็น​ผู้​คง​แก่​เรียน​ที่​รับ​อาสา​แปล​คัมภีร์​ไบเบิล​เป็น​ภาษา​ฟินแลนด์. งาน​เขียน​ของ​เขา​มี​ส่วน​ช่วย​ให้​วัฒนธรรม​ฟินแลนด์​พัฒนา​ขึ้น​ดัง​ที่​เป็น​อยู่​ใน​ทุก​วัน​นี้. ไม่​แปลก​เลย​ที่​เขา​ได้​รับ​การ​ขนาน​นาม​ว่า บุรุษ​ผู้​เปิด​ยุค​ใหม่!

อะกรีโคลา เกิด​ราว ๆ ปี 1510 ใน​หมู่​บ้าน​ทอร์สบี ทาง​ตอน​ใต้​ของ​ประเทศ​ฟินแลนด์. บิดา​ของ​เขา​เป็น​เจ้าของ​ฟาร์ม ซึ่ง​เป็น​ที่​มา​ของ​นามสกุล​อะกรีโคลา โดย​ใน​ภาษา​ลาติน​มี​ความ​หมาย​ว่า “ชาว​นา.” เนื่อง​จาก​เติบโต​ใน​เขต​ที่​มี​การ​ใช้​สอง​ภาษา จึง​เป็น​ไป​ได้​ว่า​อะกรีโคลา​จะ​พูด​ได้​ทั้ง​ภาษา​สวีเดน​และ​ฟินแลนด์. นอก​จาก​นี้ เขา​ยัง​ได้​เรียน​ภาษา​ลาติน​ขณะ​ที่​เข้า​โรง​เรียน​ลาติน​ใน​เมือง​วีบอร์ก. ต่อ​มา เขา​ย้าย​ไป​อยู่​ที่​เมือง​ตูร์กู ซึ่ง​เป็น​ศูนย์กลาง​การ​บริหาร​ประเทศ​ฟินแลนด์​ใน​สมัย​นั้น โดย​ทำ​งาน​เป็น​เลขานุการ​ของ​มาร์ติ สกีตเต บิชอป​คาทอลิก​แห่ง​ฟินแลนด์.

ศาสนา​และ​การ​เมือง​ใน​ยุค​ของ​เขา

ใน​ยุค​ของ​อะกรีโคลา กลุ่ม​ประเทศ​ต่าง ๆ ใน​แถบ​สแกนดิเนเวีย​มี​แต่​ความ​สับสน​วุ่นวาย. สวีเดน​กำลัง​พยายาม​แยก​ตัว​จาก​สหภาพ​คาลมาร์ ซึ่ง​ประกอบ​ด้วย​ประเทศ​ต่าง ๆ ใน​แถบ​สแกนดิเนเวีย. ใน​ปี 1523 กุสตาฟ​ที่ 1 ขึ้น​เป็น​กษัตริย์​ปกครอง​สวีเดน. เหตุ​การณ์​นี้​ส่ง​ผล​กระทบ​ต่อ​ฟินแลนด์​อย่าง​มาก เพราะ​ใน​สมัย​นั้น​ฟินแลนด์​เป็น​เขต​หนึ่ง​ที่​อยู่​ภาย​ใต้​การ​ปกครอง​ของ​สวีเดน.

กษัตริย์​องค์​ใหม่​มุ่ง​เน้น​ที่​จะ​เสริม​สร้าง​อำนาจ​ของ​ตน​ให้​มั่นคง. เพื่อ​จะ​บรรลุ​เป้าหมาย​ดัง​กล่าว พระองค์​สนับสนุน​ให้​มี​การ​ปฏิรูป​ศาสนา​ซึ่ง​กำลัง​แผ่​ขยาย​ไป​ทั่ว​ยุโรป​ตอน​เหนือ. โดย​เปลี่ยน​ศาสนา​ประจำ​ชาติ​จาก​คาทอลิก​เป็น​ลูเทอรัน พระองค์​ได้​ตัด​ความ​สัมพันธ์​กับ​วาติกัน, ลด​สิทธิ​อำนาจ​ของ​พวก​บิชอป​คาทอลิก, และ​ยึด​ทรัพย์​สิน​ของ​คริสตจักร​คาทอลิก. จวบ​จน​ทุก​วัน​นี้ ประชากร​ส่วน​ใหญ่​ทั้ง​ใน​สวีเดน​และ​ฟินแลนด์​ยัง​คง​นับถือ​ศาสนา​คริสต์​นิกาย​ลูเทอรัน.

เป้าหมาย​หลัก​ของ​นิกาย​โปรเตสแตนต์​คือ​ต้องการ​ให้​ใช้​ภาษา​ท้องถิ่น​ที่​ผู้​คน​ทั่ว​ไป​ใช้​กัน​เมื่อ​จัด​พิธี​ทาง​ศาสนา​ใน​โบสถ์​แทน​ที่​จะ​ใช้​ภาษา​ลาติน. ด้วย​เหตุ​นั้น จึง​มี​การ​พิมพ์​พระ​คัมภีร์​คริสเตียน​ภาค​ภาษา​กรีก หรือ “พันธสัญญา​ใหม่” เป็น​ภาษา​สวีเดน​ใน​ปี 1526. อย่าง​ไร​ก็​ตาม อิทธิพล​ของ​นิกาย​โปรเตสแตนต์​ใน​ฟินแลนด์​เสื่อม​ลง. ใน​ตอน​นั้น แทบ​ไม่​มี​ใคร​สนใจ​แปล​คัมภีร์​ไบเบิล​เป็น​ภาษา​ฟินแลนด์. เพราะ​เหตุ​ใด?

งาน​ที่ “ยาก​และ​น่า​เบื่อ​หน่าย”

เหตุ​ผล​สำคัญ​คือ แทบ​จะ​ไม่​เคย​มี​หนังสือ​ภาษา​ฟินแลนด์​เลย. หนังสือ​ที่​มี​อยู่​ใน​ช่วง​ก่อน​กลาง​ทศวรรษ 1500 ก็​คือ​บท​สวด​ของ​คาทอลิก​เพียง​ไม่​กี่​เล่ม​เท่า​นั้น. ด้วย​เหตุ​นั้น​จึง​ต้อง​มี​การ​คิด​ค้น​รูป​แบบ​การ​เขียน​สำหรับ​คำ​หลาย​คำ และ​จะ​ต้อง​คิด​คำ​ใหม่​และ​วลี​ใหม่​ทั้ง​หมด​สำหรับ​การ​แปล​พระ​คัมภีร์​บริสุทธิ์​เป็น​ภาษา​ฟินแลนด์. และ​นี่​เป็น​งาน​ที่​จะ​ต้อง​ทำ​โดย​ไม่​มี​คู่มือ​การ​ใช้​ภาษา. กระนั้น อะกรีโคลา​ก็​เริ่ม​แปล​คัมภีร์​ไบเบิล!

ใน​ปี 1536 สกีตเต บิชอป​คาทอลิก​แห่ง​ฟินแลนด์​ได้​ส่ง​อะกรีโคลา​ไป​ที่​วิทเทนแบร์ก เยอรมนี เพื่อ​ศึกษา​ต่อ​ทาง​ด้าน​เทววิทยา​และ​ภาษา. ตาม​เรื่อง​ราว​ที่​มี​การ​บันทึก​ไว้ เมือง​นั้น​เป็น​เมือง​ที่​ลูเทอร์​ได้​นำ​ข้อ​คัดค้าน​อัน​โด่งดัง 95 ข้อ​ไป​ติด​ไว้​ที่​ประตู​โบสถ์​เมื่อ 20 ปี​ก่อน​นี้.

ขณะ​อยู่​ที่​วิทเทนแบร์ก อะกรีโคลา​ไม่​เพียง​ศึกษา​วิชา​เทววิทยา​และ​ภาษา​เท่า​นั้น. เขา​เริ่ม​ภารกิจ​อัน​ใหญ่​หลวง​ใน​การ​แปล​คัมภีร์​ไบเบิล​เป็น​ภาษา​ฟินแลนด์. ใน​ปี 1537 เขา​เขียน​จดหมาย​ไป​ถึง​กษัตริย์​แห่ง​สวีเดน โดย​มี​ใจความ​ว่า “ตราบ​ใด​ที่​พระเจ้า​ยัง​ทรง​ชี้​นำ​การ​ศึกษา​ของ​ข้า​พระองค์ ข้า​พระองค์​จะ​พยายาม​อย่าง​ที่​ได้​พยายาม​มา​ตั้ง​แต่​แรก ที่​จะ​แปล​พระ​คัมภีร์​ภาค​พันธสัญญา​ใหม่​เป็น​ภาษา​ฟินแลนด์​ต่อ ๆ ไป.” เมื่อ​กลับ​ไป​ยัง​ฟินแลนด์ เขา​ยัง​คง​ทำ​งาน​แปล​ต่อ​ไป และ​ขณะ​เดียว​กัน​ก็​ทำ​งาน​เป็น​ครู​ใหญ่​ของ​โรง​เรียน​แห่ง​หนึ่ง.

การ​แปล​คัมภีร์​ไบเบิล​เป็น​ภารกิจ​ที่​หนัก​หนา​สำหรับ​อะกรีโคลา​เหมือน​กับ​ผู้​แปล​คัมภีร์​ไบเบิล​คน​อื่น ๆ ใน​ยุค​แรก. แม้​แต่​ลูเทอร์​ก็​ยัง​โอด​ครวญ​ว่า “ช่าง​เป็น​งาน​ที่​ยาก​และ​น่า​เบื่อ​หน่าย​เสีย​จริง ๆ ที่​จะ​บังคับ​ผู้​เขียน​ภาษา​ฮีบรู​พูด​ภาษา​เยอรมัน”! จริง​อยู่ อะกรีโคลา​ได้​รับ​ประโยชน์​จาก​งาน​แปล​ของ​คน​อื่น ๆ แต่​ปัญหา​ที่​ยาก​ที่​สุด​ที่​เขา​ต้อง​เผชิญ​ก็​คือ​ภาษา​ฟินแลนด์. ที่​จริง ใน​ภาษา​ฟินแลนด์​แทบ​จะ​ไม่​เคย​มี​การ​เขียน​กัน​เลย!

ดัง​นั้น ปัญหา​ที่​อะกรีโคลา​ต้อง​เผชิญ​จึง​เปรียบ​ได้​ว่า เขา​กำลัง​สร้าง​บ้าน​หลัง​หนึ่ง​ขึ้น​โดย​ไม่​มี​แบบ​แปลน อีก​ทั้ง​วัสดุ​ยัง​ขาด​แคลน​และ​กระจัด​กระจาย​อยู่​ไม่​เป็น​ที่. เขา​ทำ​อย่าง​ไร? อะกรีโคลา​เริ่ม​งาน​ของ​เขา​โดย​เลือก​คำ​ต่าง ๆ จาก​คำ​ภาษา​ถิ่น​ฟินแลนด์​ซึ่ง​มี​อยู่​มาก​มาย​และ​เขียน​คำ​เหล่า​นั้น​ตาม​การ​ออก​เสียง. ดู​เหมือน​ว่า อะกรีโคลา​เป็น​คน​แรก​ที่​บัญญัติ​คำ​ต่าง ๆ ใน​ภาษา​ฟินแลนด์ อย่าง​เช่น “รัฐบาล,” “หน้า​ซื่อ​ใจ​คด,” “เอกสาร​เขียน​ด้วย​มือ,” “กองทัพ,” “แบบ,” และ “นัก​คัด​ลอก.” เขา​สร้าง​คำ​ผสม, คำ​แปลง, และ​ยืม​คำ​มา​จาก​ภาษา​อื่น​ซึ่ง​ส่วน​มาก​มา​จาก​ภาษา​สวีเดน เช่น เองเคลี (ทูตสวรรค์), ฮิสโตเรีย (ประวัติศาสตร์), แลมป์ปู (ลูก​แกะ), มาร์ทเทอร์รี (ผู้​พลี​ชีพ), และ​พาลมู (ต้น​ปาล์ม).

พระ​คำ​ของ​พระเจ้า​ใน​ภาษา​ที่​คน​ท้องถิ่น​ใช้

ใน​ที่​สุด ปี 1548 งาน​ส่วน​หนึ่ง​ของ​อะกรีโคลา​ก็​ได้​รับ​การ​ตี​พิมพ์​โดย​ใช้​ชื่อ​เซ อูซี เทส​ทาเมนตี (พันธสัญญา​ใหม่). บาง​คน​เชื่อ​ว่า งาน​ส่วน​นี้​แปล​เสร็จ​เมื่อ​ห้า​ปี​ก่อน​หน้า​นั้น แต่​ขาด​แคลน​ทุน​ทรัพย์​จึง​ทำ​ให้​พิมพ์​ล่า​ช้า. อาจ​เป็น​ได้​ว่า​เงิน​ส่วน​ใหญ่​ที่​ใช้​ใน​การ​พิมพ์​เป็น​เงิน​ส่วน​ตัว​ของ​อะกรีโคลา.

สาม​ปี​ต่อ​มา ก็​มี​การ​พิมพ์​ส่วน​ที่​เรียก​ว่า​ดาอุยดิน พซาลตารี (บทเพลง​สรรเสริญ) ออก​มา ซึ่ง​ดู​เหมือน​ว่า​อะกรีโคลา​แปล​โดย​ได้​รับ​ความ​ช่วยเหลือ​จาก​เพื่อน​ร่วม​งาน. นอก​จาก​นี้ เขา​ยัง​เป็น​หัวหอก​ใน​การ​แปล​พระ​ธรรม​ห้า​เล่ม​ของ​โมเซ​และ​พระ​ธรรม​เล่ม​อื่น ๆ ของ​พระ​คัมภีร์​ภาค​ภาษา​ฮีบรู.

โดย​คำนึง​ถึง​ขีด​จำกัด​ของ​ตน​เอง​ด้วย​ความ​ถ่อม​ใจ อะกรีโคลา​เขียน​อย่าง​ตรง​ไป​ตรง​มา​ว่า “ขอ​อย่า​ให้​คริสเตียน​และ​ผู้​เลื่อมใส​ใน​พระเจ้า​หรือ​ผู้​อ่าน​พระ​คัมภีร์​บริสุทธิ์​คน​ใด​รู้สึก​ขุ่นเคือง ถ้า​งาน​แปล​ซึ่ง​ทำ​โดย​ผู้​ขาด​ประสบการณ์​นี้​จะ​มี​ข้อ​ผิด​พลาด​หรือ​คำ​แปลก ๆ และ​คำ​ที่​ไม่​น่า​จะ​ใช้​หรือ​มี​การ​ใช้​คำ​ใน​แนว​ใหม่.” แม้​ว่า​อาจ​พบ​ข้อ​ผิด​พลาด​อยู่​บ้าง​ใน​ฉบับ​แปล​ของ​อะกรีโคลา แต่​ความ​มี​ใจ​แรง​กล้า​ของ​เขา​ที่​จะ​แปล​คัมภีร์​ไบเบิล​เป็น​ภาษา​ที่​คน​ทั่ว​ไป​ใช้​ก็​เป็น​เรื่อง​ที่​น่า​ชมเชย​อย่าง​ยิ่ง.

มรดก​ของ​อะกรีโคลา

ต้น​ปี 1557 อะกรีโคลา​ซึ่ง​ใน​ตอน​นั้น​เป็น​สมาชิก​นิกาย​ลูเทอรัน​และ​เป็น​บิชอป​แห่ง​ตูร์กู ได้​รับ​เลือก​ให้​เป็น​หนึ่ง​ใน​คณะ​ผู้​แทน​ไป​มอสโก​เพื่อ​เจรจา​ไกล่เกลี่ย​ข้อ​พิพาท​เรื่อง​แนว​พรม​แดน​ระหว่าง​สวีเดน​กับ​รัสเซีย. งาน​มอบหมาย​นั้น​ประสบ​ความ​สำเร็จ. อย่าง​ไร​ก็​ตาม ความ​ยาก​ลำบาก​ใน​การ​เดิน​ทาง​ทำ​ให้​อะกรีโคลา​ล้ม​ป่วย​อย่าง​กะทันหัน. เขา​เสีย​ชีวิต​ระหว่าง​เดิน​ทาง​กลับ​บ้าน​ขณะ​อายุ​ได้ 47 ปี.

ตลอด​ช่วง​ชีวิต​ที่​ค่อนข้าง​สั้น อะกรีโคลา​เขียน​หนังสือ​ภาษา​ฟินแลนด์​ได้​เพียง​สิบ​เล่ม โดย​มี​หน้า​กระดาษ​ทั้ง​หมด​ประมาณ 2,400 หน้า. กระนั้น หลาย​คน​เชื่อ​ว่า “บุรุษ​ผู้​เปิด​ยุค​ใหม่” คน​นี้ เป็น​ผู้​ส่ง​เสริม​ให้​วัฒนธรรม​ของ​ชาว​ฟินแลนด์​เจริญ​ขึ้น. นับ​แต่​นั้น​มา ภาษา​และ​ประชากร​ฟินแลนด์​ได้​เจริญ​ก้าว​หน้า​อย่าง​รวด​เร็ว​ทั้ง​ใน​ด้าน​ศิลปะ​และ​วิทยาศาสตร์.

ที่​สำคัญ​กว่า​นั้น​คือ มิคาเอล อะกรีโคลา​ได้​เปิด​ยุค​ใหม่​ใน​อีก​แง่​มุม​หนึ่ง​ที่​สำคัญ​กว่า นั่น​คือ​เขา​ทำ​ให้​ผู้​ที่​ใช้​ภาษา​ฟินแลนด์​มี​โอกาส​เข้าใจ​พระ​คำ​ของ​พระเจ้า​มาก​ขึ้น. สิ่ง​นี้​ได้​มี​การ​สรุป​ด้วย​บท​กวี​ภาษา​ลาติน​บท​หนึ่ง​ซึ่ง​มี​ผู้​แต่ง​ขึ้น​เพื่อ​เขา​หลัง​จาก​ที่​เขา​สิ้น​ชีวิต​ดัง​นี้: “ตอน​สิ้น​ชีวิต​เขา​ไม่​ได้​ละ​มรดก​ธรรมดา ๆ ไว้. แทน​ที่​จะ​เป็น​มรดก สิ่ง​ที่​เขา​ละ​ไว้​อาจ​เป็น​ผล​งาน​ของ​เขา—เขา​แปล​พระ​คัมภีร์​บริสุทธิ์​เป็น​ภาษา​ฟินแลนด์—และ​งาน​ชิ้น​นี้​คู่​ควร​แก่​การ​ยกย่อง​อย่าง​ยิ่ง.”

[กรอบ/ภาพ​หน้า 23]

คัมภีร์​ไบเบิล​ภาษา​ฟินแลนด์

คัมภีร์​ไบเบิล​ภาษา​ฟินแลนด์​ครบ​ชุด​ฉบับ​แรก ส่วน​ใหญ่​อาศัย​งาน​แปล​ของ​มิคาเอล อะกรีโคลา พิมพ์​เสร็จ​ใน​ปี 1642. ต่อ​มา ฉบับ​แปล​ดัง​กล่าว​ได้​กลาย​เป็น​คัมภีร์​ไบเบิล​ฉบับ​ที่​ใช้​กัน​อย่าง​เป็น​ทาง​การ​ของ​คริสตจักร​ลูเทอรัน​แห่ง​ฟินแลนด์. ตลอด​หลาย​ปี​ที่​ผ่าน​มา มี​การ​ปรับ​ปรุง​ข้อ​ความ​ใน​ฉบับ​แปล​นี้​ไป​บ้าง​เล็ก​น้อย แต่​ข้อ​ความ​ส่วน​ใหญ่​ยัง​คง​เดิม​จน​กระทั่ง​ปี 1938. ฉบับ​ปรับ​ปรุง​ล่า​สุด​พิมพ์​ออก​ใน​ปี 1992.

นอก​จาก​นี้​ยัง​มี​คัมภีร์​ไบเบิล​ครบ​ชุด​อีก​ฉบับ​หนึ่ง นั่น​คือ พระ​คัมภีร์​บริสุทธิ์​ฉบับ​แปล​โลก​ใหม่ จัด​พิมพ์​โดย​พยาน​พระ​ยะโฮวา. ฉบับ​แปล​นี้​พิมพ์​ออก​ใน​ปี 1995. ยี่​สิบ​ปี​ก่อน​หน้า​นี้​คือ​ใน​ปี 1975 พยาน​ฯ มี​ฉบับ​แปล​พระ​คัมภีร์​คริสเตียน​ภาค​ภาษา​กรีก​ของ​ตน​เอง​แล้ว. พระ​คัมภีร์​บริสุทธิ์​ฉบับ​แปล​โลก​ใหม่​ยึด​มั่น​กับ​ต้น​ฉบับ​อย่าง​ซื่อ​สัตย์​ที่​สุด​เท่า​ที่​จะ​เป็น​ไป​ได้. จน​ถึง​วัน​นี้ มี​การ​พิมพ์​ออก​ไป​แล้ว​ประมาณ 130,000,000 เล่ม.

[ภาพ​หน้า 22]

มิคาเอล อะกรีโคลา กับ​คัมภีร์​ไบเบิล​ภาษา​ฟินแลนด์​ฉบับ​แรก. ไปรษณียบัตร​ปี 1910

[ที่​มา​ของ​ภาพ]

National Board of Antiquities/Ritva Bäckman

[ภาพ​หน้า 23]

“พระ​คัมภีร์​ภาค​พันธสัญญา​ใหม่” ของ​อะกรีโคลา

[ที่​มา​ของ​ภาพ​หน้า 21]

National Board of Antiquities