ข้ามไปยังเนื้อหา

ข้ามไปยังสารบัญ

การรับมือกับปัญหาของวัยชรา

การรับมือกับปัญหาของวัยชรา

การ​รับมือ​กับ​ปัญหา​ของ​วัย​ชรา

“ใน​ชั่ว​อายุ​ของ​ข้าพเจ้า​มี​สัก​เจ็ด​สิบ​ปี​เท่า​นั้น, ถ้า​แม้​ว่า​มี​กำลัง​มาก​ก็​จะ​ยืน​ได้​ถึง​แปด​สิบ​ปี; กำลัง​ที่​ตน​อวด​นั้น​ย่อม​ประกอบ​ไป​ด้วย​การ​ลำบาก​และ​ความ​ทุกข์; เพราะ​ไม่​ช้า​ก็​จะ​เสีย​ไป​และ​ข้าพเจ้า​ทั้ง​หลาย​จะ​ล่วง​ลับ​ไป.” (บทเพลง​สรรเสริญ 90:10) บทเพลง​เชิง​กวี​นิพนธ์​บท​นี้​ซึ่ง​มี​อายุ​ถึง 3,000 ปี​แสดง​ว่า​ปัญหา​ของ​วัย​ชรา​เป็น​ปัญหา​ที่​มี​มา​ตั้ง​แต่​โบราณ​กาล. แม้​มี​ความ​ก้าว​หน้า​ที่​น่า​ยกย่อง​ใน​วงการ​แพทย์ แต่​ก็​มี​บาง​แง่​มุม​ที่​วัย​ชรา​ยัง​ก่อ​ให้​เกิด “การ​ลำบาก​และ​ความ​ทุกข์” มาก​เป็น​พิเศษ. แง่​มุม​เหล่า​นี้​มี​อะไร​บ้าง​และ​บาง​คน​ได้​รับมือ​กับ​ปัญหา​เหล่า​นั้น​อย่าง​ไร?

สูง​อายุ​แต่​ปัญญา​ยัง​เฉียบ​แหลม

ฮันส์​วัย 79 ปี​กังวล​ว่า “สิ่ง​ที่​ผม​กลัว​ที่​สุด​คือ​กลัว​สมอง​ของ​ผม​จะ​เสื่อม.” เช่น​เดียว​กับ​คน​สูง​อายุ​หลาย​คน ฮันส์​เริ่ม​วิตก​เรื่อง​ที่​เขา​มัก​จะ​หลง​ลืม. เขา​กลัว​ว่า​สมอง ซึ่ง​เป็น​สิ่ง​ที่​กวี​ยุค​โบราณ​คน​หนึ่ง​เรียก​ว่า “ชาม​สุวรรณ” กับ​ความ​ทรง​จำ​ที่​ล้ำ​ค่า​ของ​เขา​กำลัง​เสีย​ไป. (ท่าน​ผู้​ประกาศ 12:6) ฮันส์​ถาม​ว่า “เป็น​เรื่อง​ปกติ​ไหม​ที่​คน​สูง​อายุ​จะ​ต้อง​มี​อาการ​สมอง​เสื่อม?”

ถ้า​คุณ​เป็น​เหมือน​ฮันส์ คือ​มัก​จะ​ลืม​ชื่อ​คน​อื่น​หรือ​เคย​สงสัย​ว่า​การ​หลง​ลืม​เช่น​นั้น​เป็น​จุด​เริ่ม​ต้น​ของ​ความ​ผิด​ปกติ​ที่​ร้ายแรง​ใน​สมอง​หรือ​ไม่ ก็​ขอ​ให้​สบาย​ใจ​ได้​ว่า ไม่​ว่า​จะ​อยู่​ใน​วัย​ใด​เรา​ก็​หลง​ลืม​ด้วย​กัน​ทั้ง​นั้น และ​ความ​เปลี่ยน​แปลง​ที่​อาจ​เกิด​ขึ้น​ใน​ความ​คิด​จิตใจ​ของ​ผู้​สูง​อายุ​มัก​จะ​ไม่​ได้​เกิด​จาก​โรค​สมอง​เสื่อม. * นาย​แพทย์​ไมเคิล ที. ลีวี ซึ่ง​เป็น​หัวหน้า​คณะ​พฤติกรรม​ศาสตร์ โรง​พยาบาล​มหาวิทยาลัย​เกาะ​สแตเทน​ใน​นคร​นิวยอร์ก กล่าว​ว่า ขณะ​ที่​การ​ลืม​อะไร​บาง​อย่าง​เป็น​ครั้ง​คราว​เป็น​เรื่อง​ที่​เกิด​ขึ้น​บ่อย ๆ ใน​วัย​ชรา แต่ “ผู้​สูง​อายุ​ส่วน​ใหญ่​สามารถ​ควบคุม​ความ​สามารถ​ด้าน​ความ​คิด​จิตใจ​ของ​ตน​ได้​อย่าง​ครบ​ถ้วน​ตลอด​ชีวิต.”

จริง​อยู่ คน​ที่​อายุ​น้อย​กว่า​มัก​จะ​นึก​อะไร​ออก​ได้​เร็ว​กว่า​คน​สูง​อายุ. แต่​นาย​แพทย์​ริชาร์ด เรสแทก นัก​ประสาท​วิทยา กล่าว​ว่า “ถ้า​คุณ​ตัด​เรื่อง​ความ​เร็ว​ทิ้ง​ไป คน​สูง​อายุ​มัก​จะ​ทำ​ได้​อย่าง​น้อย​ก็​ดี​พอ ๆ กับ​คน​ที่​ยัง​เป็น​หนุ่ม​สาว.” ที่​จริง เมื่อ​ได้​รับ​การ​ศึกษา​และ​การ​ฝึกฝน​อย่าง​เพียง​พอ สมอง​ที่​ยัง​ดี​อยู่​ของ​ผู้​สูง​อายุ​ก็​ยัง​คง​เรียน​รู้, จด​จำ, และ​แม้​แต่​ปรับปรุง​ความ​สามารถ​เฉพาะ​อย่าง​ได้​ต่อ ๆ ไป.

ปัญหา​เรื่อง​ความ​จำ​และ​อาการ​ที่​รักษา​ได้

แต่​ถ้า​บาง​คน​มี​ปัญหา​เรื่อง​ความ​จำ​ซึ่ง​รุนแรง​กว่า​นั้น​ล่ะ? แม้​แต่​ใน​กรณี​นี้ ก็​ไม่​ควร​ลง​ความ​เห็น​ทันที​ว่า​คน​นั้น​เป็น​โรค​สมอง​เสื่อม. สภาพการณ์​อื่น ๆ ที่​รักษา​ให้​หาย​ได้​ซึ่ง​เกิด​ขึ้น​ใน​วัย​ชรา​อาจ​เป็น​สาเหตุ​ของ​ปัญหา​เรื่อง​ความ​จำ​และ​ความ​รู้สึก​สับสน​กะทันหัน. ความ​ผิด​ปกติ​เช่น​นี้​มัก​จะ​ถูก​มอง​อย่าง​ผิด ๆ ว่า​เป็น​เพราะ “แก่​แล้ว” หรือ “ความ​ชรา”—บาง​ครั้ง​แม้​แต่​แพทย์​และ​พยาบาล​บาง​คน​ก็​ยัง​เข้าใจ​ผิด​เช่น​นั้น. นี่​ไม่​เพียง​เป็น​การ​ดูถูก​ผู้​สูง​อายุ​เท่า​นั้น แต่​ยัง​อาจ​ทำ​ให้​พวก​เขา​ไม่​ได้​รับ​การ​รักษา​ที่​เหมาะ​สม​อีก​ด้วย. อาการ​เหล่า​นี้​อาจ​มี​อะไร​บ้าง?

อาการ​สับสน​งุนงง​ผิด​ปกติ​ซึ่ง​เกิด​ขึ้น​อย่าง​กะทันหัน​อาจ​เกิด​จาก​ภาวะ​ทุโภชนาการ, ภาวะ​ขาด​น้ำ, ภาวะ​เลือด​จาง, การ​บาดเจ็บ​ที่​ศีรษะ, ปัญหา​เกี่ยว​กับ​ต่อม​ไทรอยด์, การ​ขาด​วิตามิน, ภาวะ​แทรก​ซ้อน​จาก​ยา, หรือ​แม้​แต่​การ​เปลี่ยน​สภาพ​แวด​ล้อม​ซึ่ง​ทำ​ให้​สับสน. ปัญหา​เรื่อง​ความ​จำ​อาจ​เกิด​จาก​ความ​เครียด​ที่​ยืดเยื้อ​มา​นาน​และ​การ​ติด​เชื้อ​ก็​เป็น​ที่​รู้​จัก​กัน​ดี​ว่า​ทำ​ให้​เกิด​อาการ​สับสน​ใน​ผู้​สูง​อายุ​ได้. นอก​จาก​นี้ ความ​ซึมเศร้า​อาจ​ทำ​ให้​หลง​ลืม​และ​เกิด​ความ​สับสน​ได้​ใน​ผู้​ป่วย​ที่​สูง​อายุ. ดัง​นั้น นาย​แพทย์​ลีวี จึง​แนะ​นำ​ว่า “ถ้า​จู่ ๆ เกิด​ภาวะ​งุนงง​สับสน​ขึ้น​มา​อย่าง​กะทันหัน ก็​ไม่​ควร​มอง​ข้าม​หรือ​ถือ​เสีย​ว่า​เป็น​โรค​ชรา​ที่​แก้ไข​อะไร​ไม่​ได้.” การ​ตรวจ​สุขภาพ​อย่าง​ละเอียด​อาจ​ช่วย​ให้​ทราบ​สาเหตุ​ของ​อาการ​นั้น.

การ​รับมือ​กับ​ความ​ซึมเศร้า

ความ​ซึมเศร้า​ไม่​ใช่​เรื่อง​ใหม่​สำหรับ​มนุษย์ แม้​แต่​กับ​ผู้​รับใช้​ที่​ซื่อ​สัตย์​ของ​พระเจ้า. เกือบ​สอง​พัน​ปี​มา​แล้ว อัครสาวก​เปาโล​จำเป็น​ต้อง​แนะ​นำ​เพื่อน​คริสเตียน​ของ​ท่าน​ว่า “ให้​หนุน​น้ำใจ​ผู้​ที่​ท้อ​ใจ.” (1 เธซะโลนิเก 5:14) ใน​สมัย​ของ​เรา​ที่​เต็ม​ไป​ด้วย​ความ​เครียด การ​หนุน​น้ำใจ​กัน​เป็น​สิ่ง​ที่​จำเป็น​ยิ่ง​กว่า​นั้น​เสีย​อีก. แต่​น่า​เสียดาย ความ​ซึมเศร้า​ใน​ผู้​สูง​อายุ​มัก​จะ​ได้​รับ​การ​วินิจฉัย​ผิด​หรือ​ไม่​ได้​รับ​การ​วินิจฉัย​เลย.

เนื่อง​จาก​มี​การ​เข้าใจ​ผิด​กัน​มาก​ว่า คน​เรา​จะ​มี​อารมณ์​หม่น​หมอง​และ​หงุดหงิด​มาก​ขึ้น​เมื่อ​เข้า​สู่​วัย​ชรา คน​อื่น ๆ หรือ​แม้​แต่​ผู้​สูง​อายุ​เอง​อาจ​มอง​ว่า​อาการ​เหล่า​นั้น​เป็น​เรื่อง​ปกติ​เมื่อ​มี​อายุ​มาก​ขึ้น. หนังสือ​การ​ปฏิบัติ​ต่อ​ผู้​สูง​อายุ (ภาษา​อังกฤษ) กล่าว​ว่า “แต่​เรื่อง​นี้​ไม่​จริง. การ​ซึมเศร้า​ใน​หมู่​ผู้​สูง​อายุ​ไม่​ได้​เป็น​สิ่ง​ปกติ​ของ​การ​มี​อายุ​สูง​ขึ้น.”

ไม่​เหมือน​กับ​อารมณ์​เศร้า​เป็น​ครั้ง​คราว การ​เป็น​โรค​ซึมเศร้า​อย่าง​ยืดเยื้อ​ยาว​นาน​เป็น​โรค​ที่​ร้ายแรง​ซึ่ง​อาจ​มี​ผล​ที่​รุนแรง​มาก​และ​ไม่​ควร​ละเลย. โรค​ซึมเศร้า​ที่​ไม่​ได้​รับ​การ​รักษา​อาจ​มี​อาการ​แย่​ลง​และ​ฝัง​ลึก​จน​ผู้​ป่วย​ที่​สิ้น​หวัง​บาง​คน​พยายาม​ฆ่า​ตัว​ตาย. นาย​แพทย์​ลีวี กล่าว​ว่า เรื่อง​น่า​เศร้า​เกี่ยว​กับ​โรค​ซึมเศร้า​ใน​หมู่​ผู้​สูง​อายุ​ก็​คือ​ที่​ว่า “โรค​ทาง​จิตเวช​ที่​รักษา​ได้​ง่าย​ที่​สุด​ชนิด​นี้​บ่อย​ครั้ง​อาจ​เป็น​โรค​ที่​ทำ​ให้​เสีย​ชีวิต​มาก​ที่​สุด​ด้วย.” ถ้า​อาการ​ซึมเศร้า​ไม่​หาย​ไป ผู้​ป่วย​อาจ​จำเป็น​ต้อง​ได้​รับ​การ​รักษา​โดย​แพทย์​ที่​มี​ประสบการณ์​ใน​เรื่อง​ความ​ผิด​ปกติ​ทาง​อารมณ์. *มาระโก 2:17.

คน​ที่​เป็น​โรค​ซึมเศร้า​แน่​ใจ​ได้​ว่า​พระ​ยะโฮวา “ทรง​เปี่ยม​ไป​ด้วย​พระ​เมตตา​กรุณา.” (ยาโกโบ 5:11) พระองค์ “ทรง​สถิต​อยู่​ใกล้​ผู้​ที่​มี​ใจ​ชอก​ช้ำ.” (บทเพลง​สรรเสริญ 34:18) จริง​ที​เดียว พระองค์​เป็น​ผู้​ที่​โดด​เด่น​ที่​สุด​ซึ่ง “ทรง​หนุน​น้ำใจ​คน​ทั้ง​หลาย​ที่​ท้อ​ใจ.”—2 โกรินโธ 7:6.

ไม่​ต้อง​รู้สึก​ไร้​ค่า

กษัตริย์​ดาวิด​ผู้​ซื่อ​สัตย์​ได้​อธิษฐาน​เมื่อ​กว่า 3,000 ปี​มา​แล้ว​ว่า “เวลา​ชรา​แล้ว​ขอ​อย่า​ทรง​สลัด​ข้าพเจ้า​เสีย; เมื่อ​กำลัง​ของ​ข้าพเจ้า​ถอย​ขอ​อย่า​ทรง​ละ​ทิ้ง​ข้าพเจ้า​เสีย​เลย.” (บทเพลง​สรรเสริญ 71:9) แม้​แต่​ใน​ศตวรรษ​ที่ 21 ความ​รู้สึก​เช่น​นี้​ก็​ไม่​ใช่​เรื่อง​ผิด​ปกติ​สำหรับ​ผู้​สูง​อายุ​ซึ่ง​กลัว​ว่า​พวก​เขา​จะ​เป็น​คน​ที่​ไม่​มี​ประโยชน์​อีก​ต่อ​ไป​ใน​สายตา​ของ​คน​อื่น. ข้อ​จำกัด​ต่าง ๆ เนื่อง​จาก​ปัญหา​สุขภาพ​ก็​อาจ​มี​ส่วน​ทำ​ให้​เกิด​ความ​รู้สึก​ไร้​ค่า และ​การ​ถูก​บังคับ​ให้​ปลด​เกษียณ​ก็​อาจ​บั่น​ทอน​ความ​รู้สึก​นับถือ​ตัว​เอง.

อย่าง​ไร​ก็​ตาม แทน​ที่​จะ​รู้สึก​ท้อ​ใจ​กับ​สิ่ง​ที่​เรา​ทำ​ไม่​ได้​อีก​ต่อ​ไป​ให้​เรา​คิด​ถึง​แต่​สิ่ง​ที่​เรา​ทำ​ได้ แล้ว​เรา​ก็​จะ​รักษา​ความ​นับถือ​ตัว​เอง​และ​รู้สึก​ว่า​ตัว​เอง​ยัง​มี​ประโยชน์. ใน​เรื่อง​นี้ รายงาน​ฉบับ​หนึ่ง​ของ​สหประชาชาติ​แนะ​นำ​ให้ ‘พัฒนา​ตัว​เอง​ต่อ​ไป​โดย​การ​เรียน​รู้​ทั้ง​แบบ​เป็น​ทาง​การ​และ​ไม่​เป็น​ทาง​การ, เข้า​ร่วม​ใน​องค์กร​ต่าง ๆ ใน​ชุมชน, และ​ร่วม​ใน​กิจกรรม​ทาง​ศาสนา.’ เออร์เนสต์ พยาน​พระ​ยะโฮวา​คน​หนึ่ง​ใน​สวิตเซอร์แลนด์ ซึ่ง​เป็น​คน​ทำ​ขนมปัง​ที่​เกษียณ​อายุ​แล้ว เป็น​ตัว​อย่าง​ของ​ผล​ประโยชน์​จาก​การ ‘พัฒนา​ตัว​เอง​ต่อ​ไป​โดย​การ​เรียน​รู้.’ ตอน​ที่​เขา​อายุ​มาก​กว่า 70 ปี เขา​ตัดสิน​ใจ​ซื้อ​คอมพิวเตอร์​และ​เรียน​วิธี​ใช้. เขา​ทำ​อย่าง​นั้น​ทำไม​ใน​เมื่อ​หลาย​คน​ใน​วัย​เดียว​กับ​เขา​รู้สึก​กลัว​เทคโนโลยี? เขา​อธิบาย​ว่า “ประการ​แรก เพื่อ​ให้​ผม​ได้​ใช้​ความ​คิด​ต่อ​ไป​ขณะ​ที่​ผม​มี​อายุ​มาก​ขึ้น. และ​ประการ​ที่​สอง เพื่อ​ตาม​ให้​ทัน​เทคโนโลยี​ซึ่ง​อาจ​ช่วย​ผม​ค้นคว้า​คัมภีร์​ไบเบิล​และ​ช่วย​ใน​กิจกรรม​ที่​ผม​ทำ​ใน​ประชาคม​คริสเตียน.”

การ​เข้า​ร่วม​ใน​กิจกรรม​เชิง​สร้าง​สรรค์​อาจ​สนอง​ความ​จำเป็น​พื้น​ฐาน​หลาย​อย่าง​ของ​ผู้​สูง​อายุ เป็น​ต้น​ว่า ทำ​ให้​รู้สึก​ว่า​ตัว​เอง​มี​ความ​หมาย​และ​อิ่ม​ใจ และ​อาจ​ถึง​กับ​สร้าง​ราย​ได้​ด้วย. กษัตริย์​ซะโลโม​ผู้​ชาญ​ฉลาด​ตั้ง​ข้อ​สังเกต​ว่า นั่น​เป็น​ของ​ประทาน​จาก​พระเจ้า​ที่​มนุษย์​จะ “ทำ​ใจ​ให้​ชื่นชม​ยินดี, และ​กระทำ​ดี​ตลอด​เวลา​ที่​มี​ชีวิต​อยู่. มนุษย์​ควร​จะ​ได้​กิน​และ​ดื่ม, กับ​ชื่นชม​ความ​ดี​ความ​งาม​ใน​บรรดา​การ​งาน​ของ​เขา.”—ท่าน​ผู้​ประกาศ 3:12, 13.

ทำ​เท่า​ที่​เรา​ทำ​ได้

ใน​หลาย​สังคม ผู้​สูง​อายุ​เป็น​ผู้​ถ่ายทอด​ความ​รู้ รวม​ทั้ง​ค่า​นิยม​ทาง​ศีลธรรม​และ​ศาสนา​ให้​แก่​ชน​รุ่น​หลัง. กษัตริย์​ดาวิด​เขียน​ว่า “แม้​ว่า​ข้าพเจ้า​ชรา​ผม​หงอก​แล้ว, ขอ​อย่า​ทรง​ละ​ทิ้ง​ข้าพเจ้า​จน​กว่า​ข้าพเจ้า​จะ​ได้​พรรณนา​ถึง​พลานุภาพ​ของ​พระองค์​แก่​คน​ชั่ว​อายุ​ต่อ ๆ มา.”—บทเพลง​สรรเสริญ 71:18.

จะ​ว่า​อย่าง​ไร​ถ้า​ผู้​สูง​อายุ​มี​ข้อ​จำกัด​มาก​ใน​เรื่อง​สุขภาพ​และ​สภาพการณ์? สภาพ​เช่น​นี้​ทำ​ให้​ซาราห์​วัย 79 ปี ซึ่ง​เป็น​พยาน​พระ​ยะโฮวา​คน​หนึ่ง รู้สึก​ท้อ​ใจ​มาก. เธอ​จึง​เล่า​ความ​ท้อ​ใจ​ให้​คริสเตียน​ที่​เป็น​ผู้​ปกครอง​ฟัง. เขา​เตือน​ให้​เธอ​ระลึก​ถึง​หลักการ​ใน​คัมภีร์​ไบเบิล​ที่​ว่า “คำ​อธิษฐาน​ด้วย​ใจ​ร้อน​รน​แห่ง​ผู้​ชอบธรรม​ก็​มี​อำนาจ​มาก.” (ยาโกโบ 5:16) เขา​อธิบาย​ว่า “ตลอด​หลาย​ปี คุณ​ได้​สร้าง​สัมพันธภาพ​ที่​ใกล้​ชิด​กับ​พระเจ้า. ตอน​นี้​คุณ​ทำ​ให้​เรา​ทุก​คน​ได้​รับ​ประโยชน์​จาก​สัมพันธภาพ​นั้น​เมื่อ​คุณ​อธิษฐาน​เป็น​ส่วน​ตัว​เพื่อ​พวก​เรา.” เธอ​ได้​รับ​กำลังใจ​อย่าง​มาก​เมื่อ​เขา​พูด​ว่า “ซาราห์ เรา​ต้องการ​คำ​อธิษฐาน​ของ​คุณ​ที่​ทูล​ขอ​เพื่อ​พวก​เรา.”

ดัง​ที่​ซาราห์​ตระหนัก การ​อธิษฐาน​เป็น​วิธี​ที่​มี​ความ​หมาย​และ​น่า​พอ​ใจ​ยินดี​ซึ่ง​ผู้​สูง​อายุ​หลาย​คน​พยายาม​ทำ​ทุก​เช้า​ค่ำ​เพื่อ​คน​อื่น. (โกโลซาย 4:12; 1 ติโมเธียว 5:5) ใน​เวลา​เดียว​กัน คำ​อธิษฐาน​อย่าง​นั้น​ช่วย​ผู้​สูง​อายุ​ที่​ซื่อ​สัตย์​ให้​ใกล้​ชิด​พระ​ยะโฮวา “ผู้​สดับ​คำ​อธิษฐาน” ยิ่ง​ขึ้น.—บทเพลง​สรรเสริญ 65:2; มาระโก 11:24.

ผู้​สูง​อายุ​ที่​มี​ข้อ​จำกัด แต่​ก็​มี​ประสบการณ์​และ​ความ​สามารถ​มาก​มาย​ที่​มี​ค่า​มาก​สำหรับ​ชุมชน. พวก​เขา​พิสูจน์​ว่า “ผม​หงอก​บน​ศีรษะ​เป็น​เหมือน​มงกุฎ​แห่ง​สง่า​ราศี​ถ้า​ใจ​อยู่​ใน​ที่​ชอบธรรม.”—สุภาษิต 16:31.

นับ​ว่า​เหมาะ​ที่​เรา​จะ​ถาม​ว่า มี​อนาคต​อะไร​สำหรับ​พวก​เรา​ขณะ​ที่​เรา​มี​อายุ​มาก​ขึ้น? เรา​จะ​มอง​ไป​ข้าง​หน้า​อย่าง​ที่​ตรง​กับ​สภาพ​ความ​เป็น​จริง​ว่า​เรา​จะ​มี​ชีวิต​ที่​ดี​ขึ้น​ใน​วัน​ข้าง​หน้า​ได้​ไหม?

[เชิงอรรถ]

^ วรรค 5 นัก​วิจัย​บาง​คน​อ้าง​ว่า “เกือบ 90 เปอร์เซ็นต์​ของ​ผู้​ที่​มี​อายุ​มาก​กว่า 65 ปี​ไม่​ได้​เป็น​โรค​สมอง​เสื่อม.” เพื่อ​ได้​ข้อมูล​มาก​ขึ้น​เกี่ยว​กับ​การ​รักษา​โรค​สมอง​เสื่อม โปรด​ดู​บทความ​ชุด “โรค​อัลไซเมอร์—การ​บรรเทา​ความ​เจ็บ​ปวด” ใน​ตื่นเถิด! (ภาษา​อังกฤษ) ฉบับ 22 กันยายน 1998.

^ วรรค 13 ตื่นเถิด! ไม่​สนับสนุน​วิธี​การ​รักษา​แบบ​ใด​แบบ​หนึ่ง​โดย​เฉพาะ. คริสเตียน​ควร​พิจารณา​ให้​ดี​ว่า​วิธี​การ​รักษา​ที่​พวก​เขา​ใช้​นั้น​สอดคล้อง​กับ​หลักการ​ใน​คัมภีร์​ไบเบิล​หรือ​ไม่. เชิญ​ดู​บทความ “การ​เข้าใจ​ความ​ผิด​ปกติ​ทาง​อารมณ์” ใน​ตื่นเถิด! ฉบับ 8 มกราคม 2004.

[คำ​โปรย​หน้า 5]

บ่อย​ครั้ง​ผู้​สูง​อายุ​รู้สึก​ว่า​พวก​เขา​กำลัง​ถูก​ทิ้ง​ไว้​เบื้อง​หลัง​ใน​สังคม​สมัย​ใหม่​ที่​รีบ​เร่ง​นี้

[กรอบ/ภาพ​หน้า 7]

วิธี​ที่​คุณ​จะ​ช่วย​ผู้​สูง​อายุ​ได้

ให้​เกียรติ. “อย่า​ติเตียน​ชาย​สูง​อายุ​แรง ๆ. ใน​ทาง​ตรง​กัน​ข้าม จง​อ้อน​วอน​เขา​เหมือน​เป็น​บิดา . . . ผู้​หญิง​สูง​อายุ​เหมือน​เป็น​มารดา.”—1 ติโมเธียว 5:1, 2, ล.ม.

ตั้งใจ​ฟัง. “จง​ให้​ทุก​คน​ว่องไว​ใน​การ​ฟัง, ช้า​ใน​การ​พูด, ช้า​ใน​การ​โกรธ.”—ยาโกโบ 1:19.

แสดง​ความ​เห็น​อก​เห็น​ใจ. “ท่าน​ทั้ง​หลาย​จง​เป็น​ใจ​เดียว​กัน, มี​ใจ​เมตตา​ซึ่ง​กัน​และ​กัน, จง​รักใคร่​กัน​ดุจ​ดัง​พี่​น้อง จง​มี​ใจ​เอ็นดู​และ​มี​ใจ​อ่อน​สุภาพ อย่า​กระทำ​การ​ร้าย​ตอบ​แทน​การ​ร้าย, อย่า​ด่า​ตอบ​แทน​คำ​ด่า.”—1 เปโตร 3:8, 9.

มอง​ให้​ออก​ว่า​เมื่อ​ไร​สม​ควร​ให้​กำลังใจ. “คำ​พูด​ที่​เหมาะ​กับ​กาลเทศะ​เปรียบ​เหมือน​ผล​แอปเปิล​ทำ​ด้วย​ทองคำ​ใส่​ไว้​ใน​กระเช้า​เงิน.”—สุภาษิต 25:11.

ให้​ผู้​สูง​อายุ​ร่วม​ใน​กิจกรรม​ของ​คุณ. “จง​มี​น้ำใจ​รับรอง​แขก.”—โรม 12:13.

ให้​ความ​ช่วยเหลือ​จริง ๆ. “คน​ใด​ที่​มี​ทรัพย์​สมบัติ​ใน​โลก​นี้, และ​เห็น​พี่​น้อง​ของ​ตน​ขัดสน, แล้ว​และ​กระทำ​ใจ​แข็ง​กะด้าง​ไม่​สงเคราะห์​เขา, ความ​รัก​ของ​พระเจ้า​จะ​อยู่​ใน​คน​นั้น​อย่าง​ไร​ได้? ดู​ก่อน​ลูก​เล็ก ๆ ทั้ง​หลาย, อย่า​ให้​เรา​รัก​เพียง​แต่​ถ้อย​คำ​และ​ลิ้น​เท่า​นั้น, แต่​ให้​เรา​รัก​ด้วย​การ​ประพฤติ​และ​ด้วย​ความ​จริง.”—1 โยฮัน 3:17, 18.

อด​กลั้น​ทน​นาน. “เหตุ​ฉะนั้น​จง​สวม​ใจ​เมตตา, ใจ​ปรานี, ใจ​ถ่อม, ใจ​อ่อน​สุภาพ, ใจ​อด​ทน​ไว้​นาน.”—โกโลซาย 3:12.

โดย​การ​ดู​แล​เอา​ใจ​ใส่​ผู้​สูง​อายุ เรา​ก็​แสดง​ความ​นับถือ​ต่อ​มาตรฐาน​ของ​พระเจ้า เนื่อง​จาก​พระ​คำ​ของ​พระองค์​กล่าว​ไว้​ว่า “จง​คำนับ​คน​ผม​หงอก​และ​นับถือ​คน​แก่.”—เลวีติโก 19:32.

[ภาพ​หน้า 6]

การ​ตรวจ​สุขภาพ​อย่าง​ละเอียด​อาจ​มี​ประโยชน์