วังอะลัมบรา—อัญมณีอิสลามแห่งกรานาดา
วังอะลัมบรา—อัญมณีอิสลามแห่งกรานาดา
โดยผู้เขียนตื่นเถิด! ในสเปน
“ตำนานและประเพณีกี่เรื่องต่อกี่เรื่อง ทั้งที่จริงและแต่งขึ้น, บทเพลงและลำนำไม่รู้สักเท่าไร ทั้งภาษาอาหรับและสเปนซึ่งกล่าวถึงความรักและสงครามและชายชาตินักรบ ล้วนกล่าวถึงอาคารสถานแห่งตะวันออกหลังนี้!”—วอชิงตัน เออร์วิง นักเขียนอเมริกันในศตวรรษที่ 19.
สถานแห่งตำนานซึ่งเป็นแรงบันดาลใจให้เกิดถ้อยคำดังกล่าวคืออะลัมบรา พระราชวังอันโดดเด่นซึ่งประดับเมืองกรานาดาของสเปนให้งดงาม. พระราชวังอะลัมบราคือภาพจำลองของอาราเบียหรือเปอร์เซียในยุโรปตอนใต้. ป้อมปราการแห่งนี้งามเลิศด้วยฝีมือของพวกมัวร์ ซึ่งเป็นมุสลิมที่มีอิทธิพลเหนือสเปนอยู่หลายศตวรรษ. *
ผู้ก่อตั้งอาณาจักรกรานาดาแห่งนี้เมื่อศตวรรษที่ 11 คือเจ้าชายอาหรับ ชื่อซาวี เบน ซีรี. อาณาจักรดังกล่าวตั้งอยู่ได้ประมาณ 500 ปี โดยมีความรุ่งเรืองมากทางด้านศิลปะและวัฒนธรรม. อาณาจักรนี้ล่มสลายเมื่อกษัตริย์คาทอลิกสองพระองค์คือ พระเจ้าเฟอดินานด์และพระนางอิซาเบลลาได้ทำลายการปกครองของมุสลิมในสเปนเมื่อปี 1492.
เมืองกรานาดาของพวกมัวร์รุ่งเรืองถึงขีดสุดหลังจากที่กองทัพคริสต์ศาสนจักรพิชิตเมืองกอร์โดบาได้ในปี 1236. กรานาดากลายเป็นเมืองหลวงของมุสลิมในสเปน และผู้ครองเมืองที่ประสบความสำเร็จได้สร้างพระราชวังอะลัมบราขึ้น ซึ่งเป็นวังแบบที่ชาวยุโรปไม่เคยได้เห็นมาก่อน. นักเขียนคนหนึ่งซึ่งรู้สึกประทับใจมากได้พรรณนาพระราชวังแห่งนี้ว่าเป็น “สิ่งก่อสร้างที่น่าทึ่งที่สุดที่มีอยู่บนโลก.”
ภูมิทัศน์รอบพระราชวังอะลัมบราก็งดงามตระการตาเช่นเดียวกับตัวพระราชวัง. ที่ตั้งตระหง่านอยู่เบื้องหลังพระราชวังราวกับฉากอันใหญ่โตมโหฬารนั้นคือส่วนยอดของเทือกเขาเซียร์รา เนวาดา ซึ่งมีหิมะปกคลุมและสูงกว่า 3,400 เมตร. ตัวพระราชวังอะลัมบราตั้งอยู่บนเนินเขาซาบิกาซึ่งมีป่าหนาทึบและทอดตัวเป็นแนวยาวเหนือตัวเมืองขึ้นไป 150 เมตร. ในสายตาของไอเบน ซัมรัก กวียุคศตวรรษที่ 14 เนินเขาที่ตั้งอยู่เหนือเมืองกรานาดานั้นไม่ต่างอะไรกับสามีที่เฝ้ามองภรรยาด้วยความชื่นชม.
เมืองที่ตั้งอยู่ในเมือง
ชื่ออะลัมบราซึ่งในภาษาอาระบิกหมายถึง “สีแดง” ดูเหมือนจะหมายถึงสีของอิฐที่พวกมัวร์ใช้สร้างกำแพงชั้นนอกของพระราชวัง. อย่างไรก็ตาม บางคนรู้สึกชอบคำอธิบายของนักประวัติศาสตร์ชาวอาหรับมากกว่า ที่กล่าวว่าพระราชวังอะลัมบรานี้สร้างโดยอาศัย “แสงจากประทีป.” กล่าวกันว่า แสงที่จุดในยามค่ำคืนทำให้มองเห็นกำแพงเป็นสีแดงเจิดจ้าซึ่งเป็นที่มาของชื่อดังกล่าว.
อะลัมบราไม่ได้เป็นแค่พระราชวังเท่านั้น. อาจพรรณนาสถานที่แห่งนี้ได้ว่าเป็นเมืองที่ซ้อนอยู่ในเมืองกรานาดาอีกทีหนึ่ง. เบื้องหลังกำแพงสูงของพระราชวังคือสวน, ซุ้มต่าง ๆ, อาคารต่าง ๆ ที่ประกอบกันเป็นพระราชวัง, และอัลคาซาบา (หรือป้อม), และมีกระทั่งเมดินา หรือเมืองเล็ก ๆ เมืองหนึ่งด้วย. พระราชวังอะลัมบราสร้างขึ้นตามแบบของพวกมัวร์และในเวลาต่อมาได้รับการตกแต่งเพิ่มเติม พระราชวังแห่งนี้จึงโดดเด่นด้วยศิลปะที่ละเอียดประณีตแบบอาหรับควบคู่ไปกับศิลปะที่เป็นแถวเป็นแนวแบบเรอเนสซองส์ของยุโรปซึ่งไม่อ่อนช้อยเท่า.
ความงดงามของอะลัมบราเกิดจากวิธีการก่อสร้างของพวกมัวร์และกรีกโบราณ. ขั้นแรก พวกเขาสร้างโครงอาคารโดยใช้ประโยชน์จากสีและลักษณะของเนื้อหิน โดยคำนึง
ถึงความกลมกลืน, ได้สัดส่วน, และเรียบง่าย. หลังจากนั้น พวกเขาจึงค่อยตกแต่งโครงสร้างที่งามสง่านี้. ดังที่ผู้เชี่ยวชาญคนหนึ่งกล่าวไว้ “พวกมัวร์จะคำนึงถึงสิ่งที่พวกสถาปนิกถือว่าเป็นหลักสถาปัตย์ที่สำคัญที่สุด นั่นคือ การตกแต่งโครงอาคารที่สร้างไว้ ไม่ใช่สร้างเครื่องตกแต่ง.”สำรวจอะลัมบรา
ทางเข้าพระราชวังอะลัมบราเป็นซุ้มประตูโค้งรูปเกือกม้าขนาดใหญ่ เรียกว่าประตูแห่งความยุติธรรม. ชื่อนี้ทำให้นึกถึงศาลในยุคที่มุสลิมปกครองซึ่งเปิดพิจารณาคดีกันที่นี่ทันทีเมื่อมีการฟ้องร้องเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ. การตัดสินคดีความที่ประตูเมืองเป็นธรรมเนียมที่ปฏิบัติกันทั่วไปในแถบตะวันออกกลางและมีกล่าวถึงในคัมภีร์ไบเบิล. *
พระราชวังอะลัมบราได้รับการตกแต่งอย่างหรูหราประณีตด้วยงานปูนแต่ง ซึ่งเป็นลักษณะเฉพาะของพระราชวังแบบอาหรับ. ช่างฝีมือจะแกะปูนให้เป็นลวดลายงามวิจิตรเหมือนผ้าลูกไม้และจะทำซ้ำไปเรื่อย ๆ. ซุ้มประตูโค้งที่
ตกแต่งอย่างหรูหราบางแห่งมองดูเหมือนหินย้อยที่ได้สมมาตรไม่มีที่ติ. ลักษณะเด่นอีกอย่างหนึ่งของพระราชวังแห่งนี้คือซิลลิซหรือแผ่นกระเบื้องเคลือบที่ตัดเป็นชิ้น ๆ แล้ววางเป็นลวดลายเรขาคณิตที่สลับซับซ้อน ทำให้ผนังส่วนล่างมีสีสันสดใส ตัดกันอย่างลงตัวกับสีเรียบ ๆ ของงานปูนแต่งซึ่งอยู่ด้านบน.ภายในพระราชวังอะลัมบรามีลานอยู่หลายแห่ง ที่นับว่าเด่นคือลานสิงโต ซึ่งได้รับการพรรณนาว่าเป็น “ตัวอย่างอันทรงคุณค่าที่สุดของศิลปะแบบอาหรับที่ยังมีหลงเหลืออยู่ในสเปน.” หนังสือนำเที่ยวในท้องถิ่นเล่มหนึ่งอธิบายว่า “ในงานศิลปะแท้ ๆ มีบางสิ่งซึ่งไม่มีทางที่จะลอกเลียนแบบหรือทำซ้ำได้เลย. . . . เรารู้สึกเช่นนั้นเมื่อยืนอยู่ ณ ลานแห่งนี้ของพระราชวังอะลัมบราในกรานาดา.” รอบลานสิงโตมีซุ้มทางเดินซึ่งแบ่งเป็นช่วง ๆ อย่างลงตัวรองรับด้วยเสาระหงหลายสิบต้น และที่กลางลานมีสิงโตหินอ่อน 12 ตัวยืนแบกอ่างน้ำพุอยู่. บริเวณนี้เป็นสถานที่ที่ถูกถ่ายภาพมากที่สุดแห่งหนึ่งในสเปน.
สวนซึ่งทำให้จิตใจชื่นบาน
พระราชวังอะลัมบรายังมีสวน, บ่อน้ำพุ, และสระน้ำที่งดงามอีกหลายแห่ง. * ตามที่เอนริเก ซอร์โด กล่าวไว้ในหนังสือของเขาที่ชื่อสเปนตามแบบของพวกมัวร์ “สวนแบบอาหรับคือสวนสวรรค์บนพื้นพิภพ.” อิทธิพลของศาสนาอิสลามเห็นได้ชัดในทุกหนแห่ง. นักเขียนชาวสเปนชื่อกราเซีย โกเมซ ให้ข้อสังเกตไว้ว่า “สวนสวรรค์ของมุสลิมมีพรรณนาไว้อย่างละเอียดในอัลกุรอานว่าเป็นสวนที่เขียวชอุ่ม . . . ซึ่งได้รับน้ำจากธารน้ำหลายสายที่ไหลอยู่.” ในอะลัมบรา น้ำซึ่งถือว่าเป็นสิ่งฟุ่มเฟือยสำหรับผู้ที่เคยชินกับอากาศร้อนแห้งแล้งแถบทะเลทรายถูกนำมาใช้อย่างมาก. ผู้ที่ออกแบบสวนแห่งนี้ตระหนักว่าน้ำสามารถทำให้อากาศเย็นลง และเสียงของน้ำไหลที่มากระทบกับหูก็ทำให้รู้สึกผ่อนคลาย. บรรดาสระน้ำรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าที่สะท้อนภาพท้องฟ้าสีสดของสเปนทำให้รอบบริเวณนั้นดูโอ่อ่ากว้างขวางและสว่างไสว.
* แต่ก่อนเคยมีสะพานเชื่อมระหว่างพระราชวังอะลัมบรากับคฤหาสน์หลังนี้ และดูเหมือนว่าที่นี่เคยใช้เป็นที่พักผ่อนของเหล่าผู้ครองเมืองกรานาดา. มีลานแห่งหนึ่งทอดไปสู่บันไดน้ำ. ที่นี่ ผู้มาเยือนสามารถปล่อยประสาทสัมผัสให้เพลิดเพลินไปกับแสง, สี, และกลิ่นหอมนานาชนิด.
ไม่ไกลจากพระราชวังอะลัมบราคือที่ตั้งของเคเนรัลลีฟ คฤหาสน์แบบมัวร์พร้อมด้วยสวนซึ่งตั้งอยู่บนเนินเขาเซโร เดล โซล ใกล้กับซาบิกา. เคเนรัลลีฟเป็นตัวอย่างที่ยอดเยี่ยมของการจัดภูมิทัศน์แบบอาหรับ และได้ชื่อว่าเป็น “สวนที่งดงามน่ารักที่สุดแห่งหนึ่งของโลก.”เสียงถอนหายใจของมัวร์
หลังจากโบอับดีล (โมฮัมหมัดที่ 11) สุลต่านองค์สุดท้ายของกรานาดาเสียเมืองให้แก่พระเจ้าเฟอร์ดินานด์และพระนางอิซาเบลลา พระองค์และพระราชวงศ์ต้องถูกเนรเทศ. ขณะกำลังเสด็จออกจากเมือง มีผู้เล่าว่าทุกพระองค์ทรงหยุดอยู่ ณ ที่สูงแห่งหนึ่งซึ่งปัจจุบันเรียกว่าเอล ซัสปิโร เดล โมโร (เสียงถอนหายใจของมัวร์). กล่าวกันว่า ขณะที่ทุกพระองค์ทอดพระเนตรพระราชวังสีแดงอันโอ่อ่าแห่งนี้เป็นครั้งสุดท้าย พระราชมารดาของโบอับดีลก็ตรัสกับโอรสว่า “จงร่ำไห้คร่ำครวญดุจสตรีให้กับสิ่งที่เจ้าไม่อาจปกป้องไว้ได้เยี่ยงชายชาตรี!”
ปัจจุบัน มีผู้มาเยือนพระราชวังอะลัมบราปีละประมาณสามล้านคนและบางคนยังขึ้นไปที่จุดนี้. เช่นเดียวกับสุลต่านโบอับดีล ณ จุดนี้ผู้มาเยือนสามารถมองดูเมืองกรานาดาซึ่งทอดอยู่เบื้องล่างพระราชวังอาหรับอันเป็นเสมือนเพชรยอดมงกุฎแห่งนี้. หากวันหนึ่งคุณได้ไปเยือนกรานาดา คุณเองก็อาจเข้าใจความโศกเศร้าของสุลต่านองค์สุดท้ายของมัวร์ได้เช่นกัน.
[เชิงอรรถ]
^ วรรค 4 ในปี 711 สากลศักราช กองทัพชาวอาหรับและเบอร์เบอร์รุกเข้ามาในสเปน และภายในเจ็ดปีดินแดนส่วนใหญ่ของคาบสมุทรนี้ก็อยู่ภายใต้การปกครองของมุสลิม. ภายในสองศตวรรษ เมืองกอร์โดบาได้กลายเป็นเมืองที่ใหญ่ที่สุดและอาจกล่าวได้ว่ามีวัฒนธรรมเฟื่องฟูที่สุดในยุโรป.
^ วรรค 13 เพื่อเป็นตัวอย่าง พระเจ้าทรงบัญชาโมเซดังนี้: “จงตั้งพวกตระลาการและเจ้าพนักงานให้มีอยู่สำหรับประตูเมืองทั้งหลายของเจ้า . . . และเขาทั้งหลายต้องพิพากษาคนทั้งปวงตามยุติธรรม.”—พระบัญญัติ 16:18.
^ วรรค 17 ชาวอาหรับเป็นผู้นำวิธีการจัดสวนแบบเปอร์เซียและไบแซนไทน์เข้าไปยังส่วนต่าง ๆ ของเมดิเตอร์เรเนียน รวมทั้งสเปนด้วย.
^ วรรค 18 ชื่อนี้แผลงมาจากภาษาอาระบิก “เจเนท-อัล-อารีฟ” ซึ่งบางครั้งได้รับการแปลว่า “สวนในที่สูง” แม้คำแปลดูเหมือนน่าจะหมายถึง “สวนของสถาปนิก” ก็ตาม.
[ภาพหน้า 15]
อัลคาซาบา
[ภาพหน้า 16]
ลานสิงโต
[ภาพหน้า 16, 17]
สวนเคเนรัลลีฟ
[ภาพหน้า 17]
บันไดน้ำ
[ที่มาของภาพหน้า 14]
Line art: EclectiCollections
[ที่มาของภาพหน้า 15]
All except top photo: Recinto Monumental de la Alhambra y Generalife
[ที่มาของภาพหน้า 16]
All photos: Recinto Monumental de la Alhambra y Generalife
[ที่มาของภาพหน้า 17]
Above photos: Recinto Monumental de la Alhambra y Generalife; bottom photo: J. A. Fernández/San Marcos