เยี่ยมชมศูนย์แขนขาเทียม
เยี่ยมชมศูนย์แขนขาเทียม
โดยผู้เขียนตื่นเถิด! ในนิวซีแลนด์
ผมมีเหตุผลสองประการที่ต้องนัดกับศูนย์แขนขาเทียมในเมืองเวลลิงตัน นิวซีแลนด์. ประการแรก ผมต้องการนำขาเทียมของผมไปซ่อมแซมเล็กน้อย. ประการที่สอง ผมอยากจะไปชมศูนย์นี้เพื่อเรียนรู้มากขึ้นเกี่ยวกับวิธีทำแขนขาเทียม.
นักกายอุปกรณ์ยินดีให้ผมเข้าชมตามที่ผมขอ. นับเป็นประสบการณ์ที่คุ้มค่าจริง ๆ ที่ทำให้ผมได้เข้าใจและหยั่งรู้ค่าฝีมือและการทุ่มเทความพยายามของคนที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับงานด้านกายอุปกรณ์.
คำว่า “กายอุปกรณ์” หมายถึง “การนำอวัยวะเทียมมาใช้แทนที่แขนขาหรืออวัยวะที่หายไป.” วิชากายอุปกรณ์คือ “สาขาวิชาที่เกี่ยวข้องกับอวัยวะเทียม.” นักกายอุปกรณ์คือ “ผู้เชี่ยวชาญในการทำอวัยวะเทียมและฝึกให้ใช้อวัยวะเทียมนั้น.”—สารานุกรมและพจนานุกรมการแพทย์, การพยาบาล, และการดูแลสุขภาพ พิมพ์ครั้งที่สาม.
มีการประดิษฐ์ขาเทียมกันอย่างไร?
ผู้ป่วยส่วนใหญ่ที่มายังศูนย์นี้ก็เพื่อใส่ขาเทียม. ขั้นตอนแรกในการผลิตขาเทียมคือ การทำเบ้าสำหรับตอขาที่ได้รับการรักษาหายดีแล้ว. มีการนำผ้าพันเฝือกชุบน้ำแล้วพันที่ตอขา, ปล่อยให้แห้ง แล้วแกะแบบผ้าเฝือกออก. แล้วนำแบบที่ได้มาเทปูนปลาสเตอร์เพื่อทำเป็นแบบตอแขนหรือขาที่ตรงกับขนาดของผู้ป่วย. จากนั้นจะนำแบบตอแขนหรือขาดังกล่าวมาทำเบ้าเทียมซึ่งจะนำมาต่อกับแขนขาเทียมใหม่ได้พอดี. นั่นเป็นขั้นตอนแรกในการทำขาเทียมซึ่งจะใช้งานแทนขาจริงที่เสียไป. วิธีทำขาเทียมแบบใหม่ให้พอดีซึ่งเป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพมากกว่าคือการใช้โปรแกรม CAD/CAM (การใช้คอมพิวเตอร์ช่วยในการออกแบบและผลิต) เพื่อวัดตอแขนหรือขา. จากนั้น จะใช้เครื่องจักรทำแบบจำลองที่มีขนาดเท่ากับตอแขนหรือขาที่เหลืออยู่ของผู้ป่วย.
หลังจากชมการสาธิตเทคนิคที่ศูนย์แห่งนี้นำมาใช้ ผมได้ไปชมกายอุปกรณ์บางอย่างที่ทำเสร็จแล้วซึ่งนำเข้าจากต่างประเทศ. ตัวอย่างหนึ่งที่น่าทึ่งคือ ข้อเข่าเทียมไฮดรอลิกซึ่งต่อกับเบ้าขาเทียมที่ทำจากพลาสติกประเภทเทอร์โมพลาสติก พลาสติกประเภทนี้เมื่อถูกความร้อนจะอ่อนตัวและสามารถปรับรูปทรงใหม่ได้เพื่อให้ผู้ป่วยสวมใส่ได้พอดี. แคตตาล็อกภาพกายอุปกรณ์ทุกชนิดหาดูได้จากแหล่งต่าง ๆ ทั่วโลก.
ขั้นตอนสุดท้ายในการทำขาเทียม คือการปรับส่วนประกอบต่าง ๆ อย่างละเอียดเพื่อให้เข้าที่ เช่น เบ้าขาเทียม, ข้อเข่า, หนังเทียม, และเท้า จนแน่ใจว่าผู้ป่วย
สามารถเดินอย่างเป็นธรรมชาติมากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้. ท้ายสุดคือการนำขาเทียมไปเคลือบโฟม. โฟมดังกล่าวจะหุ้ม “กระดูก” ของขาเทียม. ขาเทียมจะถูกนำไปตกแต่งขั้นสุดท้ายเพื่อให้ดูกลมกลืนกับตอขาของผู้ป่วยให้มากที่สุดเท่าที่เป็นไปได้.หลังจากที่ผู้ป่วยมีความมั่นใจในระดับหนึ่งแล้ว จะมีการนัดหมายให้ผู้ป่วยปรึกษาศัลยแพทย์ด้านกระดูกที่มายังศูนย์แห่งนี้. ด้วยเหตุนี้จึงมีการตรวจละเอียดขั้นสุดท้ายเพื่อให้แน่ใจว่าผู้ป่วยจะใช้แขนหรือขาใหม่ได้อย่างดีที่สุด.
ผู้ป่วยที่เป็นเด็กและนักกีฬา
ช่วงที่กำลังเยี่ยมชมอยู่นั้น ผมเฝ้ามองเด็กผู้หญิงตัวเล็ก ๆ คนหนึ่ง. หนูน้อยไม่รู้สึกกระดากอายเลยเมื่อเธอให้เราดูตอขาและขาเทียมของเธอ. หลังจากนั้น ผมดูเธอกระโดดเบา ๆ และดูเหมือนจะไม่ทุกข์ร้อนอะไรเลย.
ผมรู้สึกสนใจอย่างยิ่งในเรื่องที่นักกายอุปกรณ์เล่าเกี่ยวกับเด็ก ๆ ที่สูญเสียแขนหรือขา. เขาให้ผมดูมือเทียมอันเล็ก ๆ และอธิบายว่ากายอุปกรณ์นี้ใช้สำหรับเด็กทารกที่อายุราว ๆ หกเดือน. ทำไมต้องให้เด็กใส่ด้วยล่ะ? นั่นก็เพราะต้องการฝึกเด็กให้คุ้นเคยกับมือหรือแขนเทียมที่จะต้องใช้จริง ๆ ในอนาคต. เขากล่าวว่า ถ้าไม่ฝึก เด็กจะถนัดแต่การใช้แขนข้างเดียว และจะปรับตัวยากเมื่อต้องใช้แขนสองข้างในวันข้างหน้า.
ผมได้รู้ว่าไม่นานมานี้บริษัทแห่งหนึ่งในยุโรปส่งอุปกรณ์ขาเทียมหนึ่งตู้คอนเทนเนอร์ไปที่ซิดนีย์ ออสเตรเลีย เพื่อใช้ในการแข่งขันกีฬาพาราลิมปิก. ผู้เข้าแข่งขันจะได้ใช้กายอุปกรณ์เหล่านี้โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายแต่อย่างใด และในระหว่างการแข่งขัน นักกายอุปกรณ์รวมทั้งผู้ที่มาจากนิวซีแลนด์ก็ได้มาช่วยเหลือผู้เข้าแข่งขันด้วย.
มีการพัฒนาแขนขาเทียมบางประเภทเพื่อนักกีฬาโดยเฉพาะ. ผมได้เห็นตัวอย่างหนึ่ง. มันเป็นเท้าและข้อเท้าเทียมที่ผลิตจากวัสดุพิเศษที่ยืดหยุ่นเหมือนเท้ามนุษย์.
ความก้าวหน้าล่าสุด
กายอุปกรณ์ในอนาคตจะเป็นอย่างไร? นักกายอุปกรณ์เล่าให้ผมฟังว่า ปัจจุบันมีการใส่ขาเทียมซึ่งควบคุมโดยระบบคอมพิวเตอร์ให้กับผู้ป่วยอย่างน้อยหนึ่งคนในนิวซีแลนด์. ดูเหมือนว่า ขาเทียมนี้มีตัวเซ็นเซอร์ซึ่งตอบสนองต่อแรงกด. ผลคือ ทำให้การเดินดูเป็นธรรมชาติมากขึ้น.
บางประเทศใช้เทคนิคที่เรียกว่า ออสทีโออินทิเกรชัน (osteointegration) ซึ่งกำลังอยู่ในระหว่างการทดสอบโดยศัลยแพทย์ด้านกระดูกที่มีความเชี่ยวชาญ. เทคนิคที่ว่านี้คือการใส่แท่งโลหะพิเศษในตอแขนหรือขา หลังจากตัดอวัยวะนั้นออกไปแล้ว ทำให้มีตัวยึดเวลาใส่อุปกรณ์เทียม. เทคนิคนี้ทำให้ไม่จำเป็นต้องทำแบบพิมพ์และเบ้าขาเทียม.
นอกจากนี้ กำลังมีการวิจัยเกี่ยวกับการฝังหน่วยรับความรู้สึกลงไปในใยประสาทเพื่อทำให้กายอุปกรณ์ทำงานตามที่สมองสั่ง. ในสหรัฐและประเทศอื่น ๆ บางประเทศมีการผ่าตัดเปลี่ยนมือเพียงไม่กี่ราย ซึ่งเป็นขั้นตอนที่หลายคนไม่เห็นด้วยเพราะการรักษาโดยวิธีนี้ทำให้ผู้รับอวัยวะนี้ต้องรับประทานยาต้านการปฏิเสธเนื้อเยื่อตลอดชีวิต.
ในวงการแขนเทียม ปัจจุบันมีการใช้ระบบที่เรียกว่า ไมโออิเล็กทรอนิกส์ (myoelectronics). ขั้วไฟฟ้าจะจับสัญญาณประสาทที่มักจะยังมีอยู่ในกล้ามเนื้อของตอแขน. แล้วสัญญาณนี้จะถูกขยายโดยแบตเตอรี่เพื่อจะควบคุม
อุปกรณ์ไฟฟ้าที่อยู่ในแขนเทียมได้. เทคโนโลยีล่าสุดสำหรับแขนเทียม คือการใช้คอมพิวเตอร์ปรับแขนเทียมอย่างละเอียดเพื่อให้เหมาะกับผู้สวมใส่แต่ละคน.ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีการทำแขนขาเทียมนั้นน่าทึ่งมาก ผมจึงถามนักกายอุปกรณ์ว่า กายอุปกรณ์เหล่านี้เทียบกันได้ไหมกับแขนขาจริง ๆ. แน่นอน เขายอมรับทันทีว่าแขนขาจริง ๆ ของเราเหนือกว่ามาก. นั่นทำให้ผมคิดถึงถ้อยคำของผู้ประพันธ์เพลงสรรเสริญซึ่งอธิษฐานถึงพระผู้สร้างว่า “ข้าพเจ้าจะสรรเสริญพระองค์ เพราะข้าพเจ้าถูกสร้างอย่างน่าพิศวงในวิธีที่น่าเกรงขาม.”—บทเพลงสรรเสริญ 139:14, ล.ม.
[แผนภาพ/รูปภาพหน้า 23]
(ดูรายละเอียดในวารสาร)
[รูปภาพ]
มือเทียมระบบไมโออิเล็กทริกทำงานโดยอาศัยสัญญาณจากกล้ามเนื้อในการควบคุมความเร็วและแรงจับ
[ที่มาของภาพ]
Hands: © Otto Bock HealthCare
[รูปภาพ]
ภายในข้อเข่าเทียมไฮเทคนี้ ชิปคอมพิวเตอร์และสนามแม่-เหล็กมีส่วนช่วยในการปรับข้อเข่าให้เข้ากับจังหวะการเดินของผู้สวม
[ที่มาของภาพ]
Knee: Photos courtesy of Ossur
[รูปภาพ]
ภาพตัดขวางของเท้าเทียมแสดงให้เห็นว่ามีโฟมหุ้มอยู่และเห็นโครงสร้างของข้อเท้า
[ที่มาของภาพ]
© Otto Bock HealthCare
[ที่มาของภาพ]
© 1997 Visual Language
[ภาพหน้า 21]
การปรับแต่งขาเทียม
[ภาพหน้า 22]
การใส่ขาเทียมให้คนไข้
[ภาพหน้า 23]
มือเทียมน้อย ๆ นี้ใช้สำหรับฝึกเด็กทารกไร้มือ
[ภาพหน้า 23]
ในปี 2004 ผู้ชนะการวิ่งแข่งระยะทาง 100 เมตรด้วยเวลา 10.97 วินาที ใส่เท้าเทียมที่ทำจากเส้นใยคาร์บอน
[ที่มาของภาพ]
Photo courtesy of Ossur/Photographer: David Biene
[ที่มาของภาพหน้า 21]
© Otto Bock HealthCare