ข้ามไปยังเนื้อหา

ข้ามไปยังสารบัญ

แม่น้ำเทมส์—มรดกอันล้ำค่าของอังกฤษ

แม่น้ำเทมส์—มรดกอันล้ำค่าของอังกฤษ

แม่น้ำ​เทมส์—มรดก​อัน​ล้ำ​ค่า​ของ​อังกฤษ

โดย​ผู้​เขียน​ตื่นเถิด! ใน​บริเตน

แม่น้ำ​เทมส์​มี​ต้น​กำเนิด​มา​จาก​ลำธาร​สี่​สาย​ใน​เทือก​เขา​ค็อตส์โวลด์​อัน​งดงาม​ทาง​ภาค​กลาง​ตอน​ใต้​ของ​อังกฤษ. แม่น้ำ​สาย​นี้​ไหล​คดเคี้ยว​ไป​ทาง​ทิศ​ตะวัน​ออก​เป็น​ระยะ​ทาง 350 กิโลเมตร และ​มี​แม่น้ำ​สาย​อื่น​ไหล​มา​บรรจบ จน​กระทั่ง​ออก​สู่​ทะเล​เหนือ​ผ่าน​ทาง​ปาก​แม่น้ำ​ซึ่ง​มี​ความ​กว้าง​ประมาณ 29 กิโลเมตร. แม่น้ำ​สั้น ๆ สาย​นี้​มี​บทบาท​อย่าง​ไร​ใน​ประวัติศาสตร์​อังกฤษ? เรื่อง​นี้​เป็น​เรื่อง​ที่​น่า​สนใจ​อย่าง​ยิ่ง.

จูเลียส ซีซาร์ นำ​กองทัพ​โรมัน​บุก​เข้า​มา​ใน​อังกฤษ​เป็น​ครั้ง​แรก​ประมาณ​ปี 55 ก่อน​สากล​ศักราช. เมื่อ​กลับ​มา​อีก​ครั้ง​ใน​ปี​ถัด​ไป การ​เดิน​ทัพ​ของ​ท่าน​ก็​ถูก​ขัด​ขวาง​จาก​แม่น้ำ​ที่​ท่าน​ขนาน​นาม​ว่า ทาเมซิส หรือ​เทมส์. ต้อง​รอ​อีก 90 ปี​ต่อ​มา จักรพรรดิ​โรมัน​นาม เคลาดิอุส จึง​เข้า​มา​พิชิต​ดินแดน​นี้​ได้.

ใน​สมัย​นั้น ตลอด​สอง​ฝั่ง​ของ​แม่น้ำ​เทมส์​เป็น​ที่​ลุ่ม​ชื้น​แฉะ แต่​ใน​เวลา​ต่อ​มา กองทัพ​โรมัน​ได้​สร้าง​สะพาน​ไม้ ณ จุด​ที่​ไกล​ที่​สุด​ซึ่ง​น้ำ​ทะเล​สามารถ​ไป​ถึง​ได้​ใน​ช่วง​ที่​น้ำ​ขึ้น หรือ​ประมาณ 50 กิโลเมตร​จาก​ปาก​แม่น้ำ. ที่​นั่น บน​ฝั่ง​แม่น้ำ​ทาง​ทิศ​เหนือ พวก​โรมัน​ได้​สร้าง​เมือง​ท่า​แห่ง​หนึ่ง​ซึ่ง​พวก​เขา​เรียก​ว่า ลอนดีนยุม. *

ตลอด​ระยะ​เวลา​สี่​ร้อย​ปี​หลัง​จาก​นั้น พวก​โรมัน​ได้​ขยาย​การ​ค้า​กับ​ดินแดน​อื่น ๆ ใน​ยุโรป และ​ได้​นำ​เข้า​สินค้า​ฟุ่มเฟือย​จาก​เมดิเตอร์เรเนียน​มา​ที่​ลอนดอน แม้​กระทั่ง​ไม้​จาก​เลบานอน​ก็​ถูก​นำ​เข้า​มา​ด้วย. นอก​จาก​นั้น พวก​โรมัน​ยัง​ใช้​แม่น้ำ​เทมส์​เพื่อ​ขน​ส่ง​สินค้า​จาก​บริเวณ​ที่​ลึก​เข้า​ไป​ใน​ใจ​กลาง​ประเทศ​มา​ที่​ลอนดอน จน​กระทั่ง​นคร​แห่ง​นี้​พร้อม​กับ​เครือข่าย​ถนน​หน​ทาง​ที่​แผ่​ขยาย​ออก​ไป ได้​กลาย​เป็น​ศูนย์กลาง​การ​ค้า​ที่​สำคัญ​ใน​เวลา​ไม่​นาน​นัก.

อิทธิพล​ของ​วิลเลียม​ผู้​พิชิต

หลัง​จาก​จักรวรรดิ​โรมัน​ล่ม​สลาย​และ​กอง​ทหาร​โรมัน​ออก​จาก​บริเตน​ใน​ปี ส.ศ. 410 ลอนดอน​ก็​ถูก​ทิ้ง​ร้าง​และ​การ​ค้า​ขาย​ตาม​ริม​ฝั่ง​แม่น้ำ​เทมส์​ก็​ซบเซา​ลง​ไป​เอง. กษัตริย์​เชื้อ​สาย​แองโกล​แซกซัน​หลาย​องค์​ได้​รับ​การ​สถาปนา​ขึ้น​เป็น​กษัตริย์​ที่​คิงส์ตัน ซึ่ง​เป็น​ชุมชน​แห่ง​หนึ่ง​ริม​ฝั่ง​แม่น้ำ​เทมส์ ห่าง​จาก​ลอนดอน​ไป​ทาง​ตะวัน​ตก 19 กิโลเมตร ณ จุด​ที่​สามารถ​ลุย​ข้าม​แม่น้ำ​ได้​ไม่​ยาก​นัก จน​มา​ถึง​ศตวรรษ​ที่ 11 เมื่อ​วิลเลียม​ผู้​พิชิต​จาก​แคว้น​นอร์มังดี​เข้า​มา​โจมตี. หลัง​จาก​ปราบดาภิเษก​ที่​เวสต์มินสเตอร์​ใน​ปี 1066 วิลเลียม​ได้​สร้าง​หอคอย​แห่ง​ลอนดอน​ขึ้น​ภาย​ใน​กำแพง​เมือง​ที่​พวก​โรมัน​ได้​สร้าง​ไว้ เพื่อ​ควบคุม​และ​ขยาย​ชุมชน​การ​ค้า​ที่​นั่น รวม​ทั้ง​ควบคุม​การ​เดิน​ทาง​เข้า​ออก​จาก​ท่า​เรือ​ด้วย. การ​ค้า​เจริญ​รุ่งเรือง​ขึ้น​อีก​ครั้ง และ​ประชากร​ใน​กรุง​ลอนดอน​ก็​เพิ่ม​ขึ้น​เป็น​ราว ๆ 30,000 คน.

วิลเลียม​ผู้​พิชิต​ยัง​ได้​สร้าง​ป้อม​บน​เนิน​หินปูน​ซึ่ง​อยู่​ทาง​ตะวัน​ตก​ของ​ลอนดอน​ประมาณ 35 กิโลเมตร ใน​ที่​ซึ่ง​ปัจจุบัน​เรียก​ว่า​วินด์เซอร์. ป้อม​แห่ง​นี้​ถูก​สร้าง​ขึ้น​แทน​วัง​ของ​กษัตริย์​ชาว​แซกซัน​หลัง​เดิม และ​สามารถ​มอง​เห็น​ทิวทัศน์​ที่​งดงาม​ตระการตา​ของ​แม่น้ำ​เทมส์​จาก​ป้อม​นี้. ปราสาท​วินด์เซอร์​ผ่าน​การ​ต่อ​เติม​และ​ดัด​แปลง​หลาย​ต่อ​หลาย​ครั้ง และ​ยัง​คง​เป็น​สถาน​ที่​ท่อง​เที่ยว​ที่​มี​คน​ไป​เยี่ยม​ชม​มาก​ที่​สุด​แห่ง​หนึ่ง​ใน​บริเตน.

ปี 1209 เป็น​ปี​ที่​โครงการ​ก่อ​สร้าง​สะพาน​หิน​ข้าม​แม่น้ำ​เทมส์​ใน​กรุง​ลอนดอน​ที่​ใช้​เวลา​นาน​ถึง 30 ปี​เสร็จ​สิ้น​ลง. สะพาน​นี้​เป็น​สะพาน​แห่ง​แรก ๆ ใน​ยุโรป​ที่​ถูก​สร้าง​ขึ้น​ใน​ลักษณะ​นี้. สะพาน​ที่​น่า​ทึ่ง​นี้​มี​ร้าน​ค้า, บ้าน​เรือน, และ​แม้​กระทั่ง​โบสถ์​สร้าง​อยู่​บน​ตัว​สะพาน พร้อม​ทั้ง​มี​สะพาน​ชัก​สอง​ข้าง​และ​มี​หอคอย​ตั้ง​อยู่​ใน​ตำบล​เซาท์​เวิร์ก​ด้าน​ใต้​ของ​สะพาน เพื่อ​ป้องกัน​การ​รุกราน.

พระเจ้า​จอห์น​แห่ง​อังกฤษ (1167-1216) ประทับ​ตรา​ใน​เอกสาร​แมกนาคาร์ตา​ที่​โด่งดัง​ใน​ปี 1215 ที่​ทุ่ง​รันนีมีด ริม​ฝั่ง​แม่น้ำ​เทมส์​ใกล้​กับ​เมือง​วินด์เซอร์. โดย​การ​ทำ​อย่าง​นั้น กษัตริย์​จำ​ใจ​ต้อง​รับรอง​ไม่​เพียง​แค่​เสรีภาพ​ของ​พลเมือง​อังกฤษ​เท่า​นั้น แต่​โดย​เฉพาะ​อย่าง​ยิ่ง เสรีภาพ​ของ​นคร​ลอนดอน​และ​เสรีภาพ​ใน​การ​ค้า​ขาย​ของ​ท่า​เรือ​และ​พ่อค้า​ใน​นคร​แห่ง​นี้​ด้วย.

แม่น้ำ​เทมส์​นำ​ความ​มั่งคั่ง​มา​ให้

ใน​ช่วง​หลาย​ศตวรรษ​หลัง​จาก​นั้น การ​ค้า​ขาย​ก็​เจริญ​รุ่งเรือง​ยิ่ง​ขึ้น​ใน​แม่น้ำ​เทมส์. ต่อ​มา การ​ค้า​ขยาย​ตัว​ขึ้น​เรื่อย ๆ จน​เกิน​ขีด​ที่​ท่า​เรือ​ใน​แม่น้ำ​นี้​จะ​รอง​รับ​ได้. สอง​ร้อย​ปี​ที่​แล้ว ท่า​เรือ​ใน​แม่น้ำ​เทมส์​สามารถ​รอง​รับ​เรือ​ได้​เพียง 600 ลำ แต่​บาง​ครั้ง​อาจ​มี​เรือ​ถึง 1,775 ลำ​รอ​ขน​ถ่าย​สินค้า. เนื่อง​จาก​แออัด​มาก​เช่น​นี้ การ​ลัก​เล็ก​ขโมย​น้อย​จึง​กลาย​เป็น​ปัญหา​ใหญ่. พวก​หัวขโมย​จะ​ตัด​เชือก​สมอ​ของ​เรือ​ใน​ตอน​กลางคืน​เพื่อ​ให้​เรือ​ลอย​ไป แล้ว​จึง​ขึ้น​ไป​ขโมย​ของ. เรือ​เล็ก​ของ​พวก​ลักลอบ​ขาย​ของ​เถื่อน​ก็​หา​กิน​โดย​แล่น​ขึ้น​ล่อง​อยู่​ใน​แม่น้ำ​เทมส์. เพื่อ​แก้​ปัญหา​นี้ ลอนดอน​ได้​ตั้ง​หน่วย​ตำรวจ​น้ำ​ขึ้น​เป็น​แห่ง​แรก​ใน​โลก. ตำรวจ​หน่วย​นี้​ยัง​คง​ดำเนิน​งาน​อยู่​ใน​ปัจจุบัน.

อย่าง​ไร​ก็​ตาม ต้อง​ทำ​อะไร​มาก​กว่า​นี้​เพื่อ​แก้​ปัญหา​ความ​แออัด​ของ​ท่า​เรือ. ด้วย​เหตุ​นี้ ใน​ศตวรรษ​ที่ 19 รัฐสภา​อังกฤษ​จึง​เห็น​ชอบ​ที่​จะ​ให้​มี​การ​ก่อ​สร้าง​ระบบ​อู่​เรือ​ปิด​ที่​ใหญ่​ที่​สุด​ใน​โลก โดย​การ​ขุด​ที่​ลุ่ม​ทั้ง​สอง​ฝั่ง​ของ​แม่น้ำ. อู่​เซอร์รีย์คอมเมอร์เชียล, อู่​ลอนดอน, และ​อู่​เวสต์อินเดีย​และ​อีสต์อินเดีย เป็น​อู่​กลุ่ม​แรก​ที่​ถูก​สร้าง​จน​แล้ว​เสร็จ​ใน​ตอน​ต้น​ศตวรรษ​ที่ 19 ตาม​มา​ด้วย​อู่​รอยัล​วิกตอเรีย​ใน​ปี 1855 และ​อู่​รอยัล​อัลเบิร์ต​ซึ่ง​อยู่​ข้าง​กัน​ใน​ปี 1880.

มาร์ก ไอ. และ​อิซัมบาร์ด เค. บรูเนล วิศวกร​สอง​คน​ซึ่ง​เป็น​พ่อ​ลูก​กัน ได้​สร้าง​อุโมงค์​ใต้​น้ำ​แห่ง​แรก​ของ​โลก​เพื่อ​เชื่อม​ทั้ง​สอง​ฝั่ง​ของ​แม่น้ำ​เทมส์​เข้า​ด้วย​กัน​ใน​ปี 1840. อุโมงค์​แห่ง​นี้​มี​ความ​ยาว 459 เมตร​และ​ใน​ปัจจุบัน​ยัง​คง​มี​การ​ใช้​อุโมงค์​นี้​เป็น​ส่วน​หนึ่ง​ของ​เครือข่าย​รถไฟ​ใต้​ดิน​ของ​มหา​นคร​ลอนดอน. ใน​ปี 1894 สะพาน​เทาเวอร์​ซึ่ง​เป็น​แหล่ง​ท่อง​เที่ยว​สมัย​ใหม่​ก็​เสร็จ​สมบูรณ์. สะพาน​หก​แห่ง​นี้​สามารถ​ยก​และ​เปิด​เป็น​ช่อง​ได้​กว้าง​ถึง 76 เมตร​เพื่อ​ให้​เรือ​ขนาด​ใหญ่​แล่น​ผ่าน​ระหว่าง​หอคอย​คู่​ของ​สะพาน. และ​ถ้า​คุณ​ปีน​ขึ้น​บันได​เกือบ 300 ขั้น คุณ​ก็​จะ​ขึ้น​มา​ถึง​ทาง​เดิน​ชั้น​บน​ที่​เชื่อม​ต่อ​กัน​เป็น​ทาง​ยาว​และ​มอง​เห็น​ทิวทัศน์​อัน​งดงาม​ตระการตา​ของ​แม่น้ำ​สาย​นี้.

พอ​ถึง​ศตวรรษ​ที่ 20 ระบบ​อู่​ของ​ลอนดอน​ก็​สามารถ​รอง​รับ​เรือ​กลไฟ​ขนาด​ใหญ่​ซึ่ง​มี​จำนวน​มาก​ขึ้น​เรื่อย ๆ ที่​มา​ติด​ต่อ​ค้า​ขาย​กับ​นคร​แห่ง​นี้. พอ​ถึง​ตอน​ที่​อู่​แห่ง​สุด​ท้าย​ซึ่ง​ถูก​ตั้ง​ชื่อ​ตาม​พระเจ้า​จอร์จ​ที่ 5 สร้าง​ขึ้น​ใน​ปี 1921 ลอนดอน​ก็​มี “ระบบ​ท่า​เรือ​ที่​ใหญ่​ที่​สุด​และ​มั่งคั่ง​ที่​สุด​ใน​โลก.”

แม่น้ำ​ที่​มี​พระ​ราชวัง, กษัตริย์, และ​ความ​หรูหรา

ระหว่าง​ที่​ลอนดอน​กำลัง​พัฒนา​อยู่​นั้น ถนน​หน​ทาง​ใน​นคร​แห่ง​นี้​ก็​อยู่​ใน​สภาพ​ที่​ย่ำแย่​และ​ไม่​ได้​ลาดยาง และ​บ่อย​ครั้ง​จะ​สัญจร​ไป​มา​ไม่​ได้​เลย​ใน​ฤดู​หนาว. ดัง​นั้น เส้น​ทาง​การ​คมนาคม​ที่​เร็ว​ที่​สุด​และ​สม​เหตุ​ผล​ที่​สุด​ก็​คือ​แม่น้ำ​เทมส์ ซึ่ง​ตลอด​เวลา​หลาย​ปี ได้​กลาย​เป็น​เส้น​ทาง​คมนาคม​ทาง​น้ำ​ที่​คับคั่ง​มาก. เสียง​ร้อง “ออร์ส!” ที่​คุ้น​หู​ของ​คน​เรือ​จ้าง​แห่ง​แม่น้ำ​เทมส์​ดัง​ขึ้น ขณะ​ที่​พวก​เขา​ยืน​เบียด​เสียด​กัน​อยู่​บน​ขั้น​บันได​ริม​ฝั่ง​แม่น้ำ​เพื่อ​ร้อง​เรียก​ผู้​โดยสาร​ที่​กำลัง​จะ​ข้าม​ฝั่ง, ขึ้น, หรือ​ล่อง​ไป​ตาม​แม่น้ำ​หรือ​ลำ​น้ำ​สาขา​ที่​คดเคี้ยว เช่น แม่น้ำ​ฟลีต​และ​แม่น้ำ​วอลบรูก. แม่น้ำ​ทั้ง​สอง​นี้​ใน​ปัจจุบัน​ถูก​ถม​มา​นาน​แล้ว​เพื่อ​ทำ​เป็น​ถนน​ที่​มี​ชื่อ​เดียว​กัน.

ต่อ​มา ลอนดอน​ก็​ดู​เหมือน​เวนิซ​เข้า​ไป​ทุก​ที โดย​ที่​พระ​ราชวัง​อัน​ใหญ่​โต​หลาย​หลัง​มี​ขั้น​บันได​ลง​ไป​ถึง​แม่น้ำ. การ​อยู่​ริม​ฝั่ง​แม่น้ำ​เทมส์​กลาย​เป็น​ที่​นิยม​อย่าง​ยิ่ง​ใน​หมู่​สมาชิก​ของ​ราชวงศ์ เช่น​ที่​เห็น​ได้​จาก​พระ​ราชวัง​ที่​กรีนิช, ไวท์ฮอลล์, และ​เวสต์มินสเตอร์. ใน​ทำนอง​เดียว​กัน แฮมป์ตันคอร์ต​ก็​เคย​ใช้​เป็น​ที่​ประทับ​ของ​กษัตริย์​และ​พระ​ราชินี​แห่ง​อังกฤษ ส่วน​ปราสาท​วินด์เซอร์​ที่​อยู่​เลย​ขึ้น​ไป​ทาง​ต้น​แม่น้ำ ก็​ยัง​คง​เป็น​ที่​ประทับ​ของ​กษัตริย์​เช่น​กัน.

ใน​ปี 1717 จอร์จ ฟรี​เดอริก ฮันเดล ได้​แต่ง​บทเพลง​ชื่อ “ดนตรี​แห่ง​สาย​น้ำ” เพื่อ​ทำ​ให้​พระเจ้า​จอร์จ ที่ 1 พอ​พระทัย​ใน​โอกาส​เสด็จ​ประ​พาส​ตาม​ลำ​น้ำ. หนังสือ​พิมพ์​ฉบับ​หนึ่ง​ใน​เวลา​นั้น​รายงาน​เหตุ​การณ์​ว่า เรือ​พระ​ที่​นั่ง​ของ​กษัตริย์​มี​ขบวน​เรือ​ตาม​เสด็จ “จำนวน​มาก​เสีย​จน​กล่าว​ได้​ว่า​แม่น้ำ​ทั้ง​สาย​มี​แต่​เรือ​เต็ม​ไป​หมด.” เรือ​ลำ​ที่​ถัด​จาก​เรือ​พระ​ที่​นั่ง​มี​นัก​ดนตรี 50 คน ซึ่ง​เล่น​เพลง​ที่​แต่ง​โดย​ฮันเดล​สาม​รอบ ขณะ​ที่​ขบวน​เสด็จ​นี้​ขึ้น​ไป​ทาง​ต้น​แม่น้ำ​เป็น​ระยะ​ทาง 8 กิโลเมตร​จาก​เวสต์มินสเตอร์​ถึง​ตำบล​เชล​ซี.

แม่น้ำ​ที่​ให้​ความ​เพลิดเพลิน​และ​การ​พักผ่อน​หย่อนใจ

สะพาน​เวสต์มินสเตอร์​ถูก​สร้าง​เสร็จ​ใน​ปี 1740 ซึ่ง​ก่อน​หน้า​นั้น​วิธี​เดียว​ที่​จะ​ข้าม​แม่น้ำ​เทมส์​ด้วย​การ​เดิน​ก็​คือ​ต้อง​ข้าม​ที่​สะพาน​ลอนดอน ซึ่ง​ใน​เวลา​ต่อ​มา​ได้​รับ​การ​ปรับ​ปรุง​และ​ใน​ที่​สุด​ก็​สร้าง​ขึ้น​ใหม่​ใน​ทศวรรษ 1820. ตอม่อ​ที่​รอง​รับ​ส่วน​โค้ง 19 ช่วง​ของ​สะพาน​แห่ง​เดิม​ได้​ขวาง​เส้น​ทาง​น้ำ​อย่าง​มาก. ผล​ก็​คือ ใน​ระยะ 600 ปี​ที่​มี​สะพาน​นี้ แม่น้ำ​เทมส์​ได้​กลาย​เป็น​น้ำ​แข็ง​อย่าง​น้อย​แปด​ครั้ง. เมื่อ​เกิด​เป็น​เช่น​นี้ ก็​จะ​มี​การ​จัด “เทศกาล​น้ำ​แข็ง” ครั้ง​ใหญ่​บน​แม่น้ำ​ที่​กลาย​เป็น​น้ำ​แข็ง​นั้น ซึ่ง​มี​การ​แข่งขัน​กีฬา​หลาย​ชนิด. มี​การ​ย่าง​วัว และ​จะ​เห็น​บรรดา​สมาชิก​ของ​ราชวงศ์​มา​รับประทาน​อาหาร​ที่​นั่น. หนังสือ​และ​ของ​เล่น​ที่​ติด​ป้าย​ว่า “ซื้อ​บน​แม่น้ำ​เทมส์” ก็​มี​คน​แย่ง​กัน​ซื้อ​อย่าง​รวด​เร็ว. มี​การ​พิมพ์​หนังสือ​พิมพ์​และ​แม้​แต่​หนังสือ​คำ​อธิษฐาน​ของ​องค์​พระ​ผู้​เป็น​เจ้า​ด้วย​แท่น​พิมพ์​ที่​ตั้ง​อยู่​บน​แม่น้ำ​ที่​กลาย​เป็น​น้ำ​แข็ง!

ใน​ยุค​หลัง ๆ การ​แข่ง​เรือ​ระหว่าง​มหาวิทยาลัย​ออกซฟอร์ด​และ​เคมบริดจ์ กลาย​เป็น​งาน​ประจำ​ปี​ใน​ฤดู​ใบ​ไม้​ผลิ. ฝูง​ชน​เฝ้า​ดู​อยู่​สอง​ฝั่ง​แม่น้ำ​เทมส์​ระหว่าง​พัตนีย์​กับ​มอร์ตเลก​เพื่อ​ส่ง​เสียง​เชียร์​เรือ​ที่​เข้า​แข่งขัน​ซึ่ง​มี​แปด​ฝีพาย. เส้น​ทาง​การ​แข่งขัน​มี​ระยะ​ทาง​เกือบ 7 กิโลเมตร ซึ่ง​ใช้​เวลา​การ​แข่ง​ไม่​ถึง 20 นาที. การ​แข่งขัน​ครั้ง​แรก​จัด​ขึ้น​ใน​ปี 1829 ใน​ช่วง​ลำ​น้ำ​ตอน​บน​ที่​ใกล้​กับ​เมือง​เฮนลีย์. หลัง​จาก​มี​การ​ย้าย​เส้น​ทาง​การ​แข่ง​เรือ​ลง​มา​ใน​แม่น้ำ​ตอน​ล่าง เมือง​เฮนลีย์​ก็​จัด​การ​แข่ง​เรือ​หลวง​ขึ้น​เอง ซึ่ง​เป็น​งาน​แข่ง​เรือ​ใน​ลักษณะ​นี้​ที่​เก่า​แก่​ที่​สุด​และ​มี​ชื่อเสียง​ที่​สุด​ใน​ยุโรป. งาน​แข่ง​เรือ​ที่​เมือง​นี้​ดึงดูด​บรรดา​ฝีพาย​ที่​เก่ง​ที่​สุด​ของ​โลก​มา​แข่งขัน​กัน​ใน​ระยะ​ทาง​ประมาณ 1600 เมตร. งาน​แข่ง​เรือ​ใน​ฤดู​ร้อน​นี้​ได้​กลาย​เป็น​งาน​สังคม​ที่​หรูหรา​งาน​หนึ่ง.

คู่มือ​นำ​เที่ยว​บริเตน​เล่ม​หนึ่ง​กล่าว​ว่า​แม่น้ำ​เทมส์ “ให้​ความ​เพลิดเพลิน​หลาก​หลาย​ขณะ​ที่​ไหล​ผ่าน​เขต​ชนบท​ที่​พบ​เห็น​ได้​ทั่ว​ไป​ใน​อังกฤษ เช่น เนิน​เขา, ป่า​ไม้, ทุ่ง​หญ้า, บ้าน​เรือน​แบบ​ชนบท, หมู่​บ้าน​อัน​สวย​งาม, และ​เมือง​เล็ก ๆ. . . . ช่วง​ที่​ยาว​มาก​ของ​แม่น้ำ​สาย​นี้​ไม่​มี​ถนน​ตัด​เลียบ แต่​มัก​จะ​มี​ทาง​แคบ ๆ สำหรับ​ใช้​ลาก​เรือ. ดัง​นั้น แม้​ว่า​คน​ที่​เดิน​ทาง​ด้วย​รถยนต์​อาจ​จะ​ได้​ชื่นชม​กับ​ทัศนียภาพ​ของ​แม่น้ำ​สาย​นี้​ใน​เมือง แต่​ความ​งดงาม​อัน​เงียบ​สงบ​ของ​แม่น้ำ​เทมส์​ก็​จะ​เห็น​ได้​จาก​เรือ​หรือ​โดย​การ​เดิน​เท้า​เท่า​นั้น.”

คุณ​กำลัง​วาง​แผน​จะ​ไป​เยือน​อังกฤษ​ไหม? ถ้า​อย่าง​นั้น จง​จัด​เวลา​ให้​เพียง​พอ​เพื่อ​สำรวจ​แม่น้ำ​เทมส์​และ​ชื่นชม​กับ​ประวัติศาสตร์​บาง​ส่วน​ของ​แม่น้ำ​สาย​นี้. จาก​ความ​งาม​แบบ​ชนบท​ใน​ช่วง​ต้น​แม่น้ำ​จน​ถึง​ปาก​แม่น้ำ​ที่​มี​การ​สัญจร​พลุกพล่าน มี​อะไร​หลาย​อย่าง​ให้​ชม, ให้​ทำ, และ​ให้​เรียน​รู้​มาก​เหลือ​เกิน! แม่น้ำ​เทมส์​จะ​ไม่​ทำ​ให้​คุณ​ผิด​หวัง​เลย.

[เชิงอรรถ]

^ วรรค 5 แม้​ว่า​ชื่อ​ลอนดอน​มา​จาก​คำ​ภาษา​ลาติน​ว่า ลอนดีนยุม แต่​ทั้ง​สอง​คำ​นี้​อาจ​มี​รากศัพท์​มา​จาก​ภาษา​เคลติก​คือ ลิน และ​ดีน ซึ่ง​รวม​กัน​หมาย​ถึง “เมือง [หรือ​ที่​มั่น] บน​ฝั่ง​ทะเลสาบ.”

[กรอบ/ภาพ​หน้า 27]

วรรณกรรม​กับ​แม่น้ำ​เทมส์

เจโรม เค. เจโรม พรรณนา​บรรยากาศ​อัน​ผ่อน​คลาย​ของ​แม่น้ำ​เทมส์​ใน​หนังสือ​ผู้​ชาย​สาม​คน​ใน​เรือ​ลำ​หนึ่ง (ภาษา​อังกฤษ). เป็น​เรื่อง​ของ​ชาย​สาม​คน​ที่​เป็น​เพื่อน​กัน​ซึ่ง​พาย​เรือ​เที่ยว​ขึ้น​ไป​ตาม​แม่น้ำ​กับ​สุนัข​ตัว​หนึ่ง จาก​คิงส์ตันอะพอนเทมส์​จน​ถึง​ออกซฟอร์ด. หนังสือ​เล่ม​นี้​ซึ่ง​เขียน​ใน​ปี 1889 ได้​รับ​การ​แปล​เป็น​หลาย​ภาษา และ​เป็น “นิยาย​ตลก​คลาสสิก” ซึ่ง​ยัง​เป็น​ที่​นิยม​กัน​อยู่.

สาย​ลม​ที่​พัด​ผ่าน​ต้น​วิลโลว์ (ภาษา​อังกฤษ) เป็น​นิยาย​ชื่อ​ดัง​อีก​เรื่อง​หนึ่ง ซึ่ง​ทั้ง​ผู้​ใหญ่​และ​เด็ก​นิยม​อ่าน​กัน. นิยาย​เรื่อง​นี้​เขียน​เสร็จ​ใน​ปี 1908 โดย​เคนเนท เกรแฮม ซึ่ง​อยู่​ที่​เมือง​พางเบิร์น ริม​ฝั่ง​แม่น้ำ​เทมส์. นี่​เป็น​เรื่อง​ใน​จินตนาการ​เกี่ยว​กับ​สัตว์​ที่​อยู่​ใน​แม่น้ำ​หรือ​อยู่​ใกล้ ๆ ฝั่ง.

[กรอบ/ภาพ​หน้า 27]

กษัตริย์​กับ​แม่น้ำ​เทมส์

พระเจ้า​เจมส์​ที่ 1 ซึ่ง​ครอง​ราชย์​ใน​ช่วง​ต้น​ศตวรรษ​ที่ 17 เคย​เรียก​ร้อง​เงิน 20,000 ปอนด์​จาก​นคร​ลอนดอน. เมื่อ​นายก​เทศมนตรี​ไม่​ยอม​จ่าย กษัตริย์​จึง​ขู่​ว่า “ข้า​จะ​ทำลาย​เจ้า​และ​เมือง​ของ​เจ้า​ตลอด​ไป. ข้า​จะ​ย้าย​ศาล​ของ​ข้า, ราชสำนัก​ของ​ข้า, และ​รัฐสภา​ของ​ข้า​ไป​ที่​เมือง​วินเชสเตอร์​หรือ​เมือง​ออกซฟอร์ด แล้ว​ทำ​ให้​เวสต์มินสเตอร์​ร้าง​ไป; แล้ว​คิด​ดู​สิ​ว่า​เจ้า​จะ​เป็น​อย่าง​ไร!” นายก​เทศมนตรี​ตอบ​ว่า “มี​สิ่ง​หนึ่ง​ที่​ปลอบ​ใจ​เหล่า​พ่อค้า​ของ​ลอนดอน​เสมอ นั่น​คือ​ฝ่า​พระ​บาท​ไม่​อาจ​จะ​ย้าย​แม่น้ำ​เทมส์​ไป​ด้วย​ได้.”

[ที่​มา​ของ​ภาพ]

From the book Ridpath’s History of the World (Vol. VI)

[แผนที่​หน้า 24]

(ราย​ละเอียด​ดู​จาก​วารสาร)

อังกฤษ

ลอนดอน

แม่น้ำ​เทมส์

[ที่​มา​ของ​ภาพ]

Map: Mountain High Maps® Copyright © 1997 Digital Wisdom, Inc.

[ภาพ​หน้า 24, 25]

หอ​นาฬิกา​บิกเบน และ​รัฐสภา​เวสต์มินสเตอร์​ลอนดอน

[ภาพ​หน้า 25]

สะพาน​ลอนดอน​สร้าง​ด้วย​หิน ปี 1756

[ที่​มา​ของ​ภาพ]

From the book Old and New London: A Narrative of Its History, Its People, and Its Places (Vol. II)

[ภาพ​หน้า 26]

ภาพ​พิมพ์​ลาย​แกะ​จาก​ปี 1803 แสดง​ภาพ​แม่น้ำ​เทมส์​และ​เรือ​หลาย​ร้อย​ลำ​ทอด​สมอ​อยู่​ใน​ท่า

[ที่​มา​ของ​ภาพ]

From the book Old and New London: A Narrative of Its History, Its People, and Its Places (Vol. III)

[ที่​มา​ของ​ภาพ​หน้า 26]

Corporation of London, London Metropolitan Archive

[ภาพ​หน้า 26, 27]

ภาพ​พิมพ์​ลาย​แกะ​ของ​เทศกาล​น้ำ​แข็ง​ปี 1683

[ที่​มา​ของ​ภาพ]

From the book Old and New London: A Narrative of Its History, Its People, and Its Places (Vol. III)