ข้ามไปยังเนื้อหา

ข้ามไปยังสารบัญ

ตามหามูฟลอน

ตามหามูฟลอน

ตาม​หา​มูฟลอน

เรา​เตรียม​อุปกรณ์​พร้อม​แล้ว​ทั้ง​แผนที่, กล้อง​ถ่าย​รูป, หมวก, และ​รอง​เท้า​บูต​ที่​แข็งแรง แล้ว​เรา​ก็​ขึ้น​รถ​ออฟโรด​และ​เริ่ม​ออก​เดิน​ทาง​ตอน​เช้า​ตรู่​วัน​หนึ่ง​ใน​ฤดู​ใบ​ไม้​ผลิ​อัน​สวย​งาม. จุด​หมาย​ปลาย​ทาง​ของ​เรา​คือ​ป่า​ปา​ฟอส​ที่​อยู่​สูง​บน​เทือก​เขา​โทรโอดอส​แห่ง​เกาะ​ไซปรัส ซึ่ง​เรา​หวัง​จะ​ได้​พบ​มูฟลอน​ซึ่ง​หา​ดู​ได้​ยาก​ที่​นั่น. สัตว์​ชนิด​นี้​คือ​อะไร?

มูฟลอน​เป็น​แกะ​ป่า​ชนิด​หนึ่ง ซึ่ง​อยู่​ใน​วงศ์​เดียว​กับ​แกะ​ป่า​ที่​มี​อยู่​ทั่ว​ไป​ใน​ภูมิภาค​แถบ​เมดิเตอร์เรเนียน. แต่​มูฟลอน​ที่​กระตุ้น​ให้​เรา​เกิด​ความ​อยาก​รู้​อยาก​เห็น​นี้​มี​ถิ่น​กำเนิด​ใน​เกาะ​ไซปรัส​และ​ว่า​กัน​ว่า​มี​ความ​งดงาม​ราว​กับ​กวาง​แต่​มี​ความ​คล่องแคล่ว​ว่องไว​เฉก​เช่น​แพะ. นัก​สัตววิทยา​เรียก​แกะ​ป่า​ชนิด​นี้​ว่า โอวิส กเมลีนี โอเฟียน (Ovis gmelini ophion) แต่​ชาว​ไซปรัส​เรียก​มัน​ว่า อากรีโน. มูฟลอน​นี้​จะ​พบ​ได้​เฉพาะ​ใน​เขต​เทือก​เขา​อัน​ห่าง​ไกล​เท่า​นั้น.

เรา​ขับ​รถ​ออก​จาก​ทาง​หลวง ขับ​ไป​ตาม​เชิง​เขา​และ​ผ่าน​หุบเขา​อัน​สวย​งาม. มี​หมู่​บ้าน​อยู่​ตาม​ไหล่​เขา และ​มี​เรือก​สวน​ตลอด​ทั่ว​หุบเขา. แต่​ขับ​ไป​ได้​สัก​พัก​ถนน​ก็​เริ่ม​ขรุขระ และ​บาง​ช่วง​รถ​ของ​เรา​ก็​เฉียด​เข้า​ไป​ใกล้​กับ​ขอบ​เหว​จน​น่า​หวาด​เสียว. ใน​ที่​สุด เรา​ก็​ไป​ถึง​ที่​หมาย​ของ​เรา—ที่​ทำ​การ​ป่า​ไม้. ตอน​นี้​เรา​อยู่​ลึก​เข้า​ไป​ใน​ป่า​ปา​ฟอส​ซึ่ง​มี​พื้น​ที่​กว้าง​ถึง 375,000 ไร่ ประกอบ​ด้วย​ต้น​สน​และ​ต้น​ซีดาร์. เรา​สั่ง​กาแฟ​และ​นั่ง​คุย​กับ​อันเดรอัส เจ้าหน้าที่​ป่า​ไม้​ใน​เครื่อง​แบบ​สี​เขียว ซึ่ง​เล่า​เรื่อง​มูฟลอน​ให้​เรา​ฟัง​ด้วย​ความ​กระตือรือร้น.

เขา​บอก​ว่า มูฟลอน​เป็น​สัตว์​ป่า​เลี้ยง​ลูก​ด้วย​นม​ขนาด​ใหญ่​ที่​สุด​ใน​ไซปรัส. ใน​อดีต​มี​มูฟลอน​เป็น​จำนวน​มาก​ท่อง​ไป​ทั่ว​เกาะ​นี้. ภาพ​โมเสก​สมัย​กรีก​และ​โรมัน​หลาย​ภาพ​มี​รูป​ของ​แกะ​ป่า​ชนิด​นี้ และ​ข้อ​เขียน​ใน​ยุค​กลาง​ก็​พรรณนา​ว่า​พวก​ชน​ชั้น​สูง​ชอบ​ไป​ล่า​มูฟลอน​ใน​ป่า​ปา​ฟอส.

ขณะ​ที่​นำ​ทาง​เรา​ไป​ถึง​เขต​กั้น​รั้ว อันเดรอัส​เล่า​ให้​เรา​ฟัง​มาก​ขึ้น​เกี่ยว​กับ​ประวัติ​ของ​เจ้า​มูฟลอน. ตัว​อย่าง​เช่น เรา​ได้​มา​รู้​ว่า​มัน​มี​จำนวน​ลด​ลง​อย่าง​มาก​เมื่อ​เริ่ม​มี​การ​ใช้​ปืน​ไรเฟิล​ล่า​สัตว์. จน​กระทั่ง​ปี 1938 มี​การ​แก้​กฎหมาย​เกี่ยว​กับ​การ​ล่า​สัตว์​ใน​ไซปรัส​เพื่อ​คุ้มครอง​สัตว์​ชนิด​นี้. เจ้าหน้าที่​ป่า​ไม้​และ​ตำรวจ​ก็​ร่วม​มือ​กัน​เพื่อ​ควบคุม​การ​ลักลอบ​ล่า​สัตว์. หนึ่ง​ปี​ต่อ​มา มี​การ​ประกาศ​ให้​ป่า​นี้​เป็น​เขต​ห้าม​ล่า​สัตว์. การ​เปลี่ยน​แปลง​เหล่า​นี้​พร้อม​ทั้ง​การ​ใช้​มาตรการ​อื่น ๆ ตั้ง​แต่​ทศวรรษ 1960 ได้​ทำ​ให้​ประชากร​มูฟลอน​เพิ่ม​จำนวน​ขึ้น​มาก.

พบ​กัน​ครั้ง​แรก

เรา​ตาม​อันเดรอัส​เข้า​ไป​ใน​เขต​ที่​กั้น​รั้ว​และ​มอง​ลอด​สุม​ทุม​พุ่ม​ไม้. อันเดรอัส​ทำ​สัญญาณ​ให้​เรา​เงียบ​และ​นำ​เรา​ขึ้น​เนิน​ไป​ไม่​ไกล​นัก. ที่​นั่น​เรา​เห็น​มูฟลอน​ตัว​เมีย​ที่​โต​เต็ม​วัย​แล้ว​สาม​ตัว​และ​ลูก​ที่​เกิด​ใหม่​สอง​ตัว​กำลัง​กิน​หญ้า​อยู่​ใน​ทุ่ง​โล่ง​ท่ามกลาง​แสง​อาทิตย์. ตัว​ที่​โต​แล้ว​สูง​ประมาณ​สาม​ฟุต​และ​ขน​ของ​มัน​มี​สี​น้ำตาล​อ่อน และ​ที่​หน้า​ท้อง​มี​สี​ซีด.

พืช​ป่า​ที่​มัน​กิน​มี​อยู่​มาก​มาย​ใน​ฤดู​นี้ และ​ตัว​ที่​โต​แล้ว​ก็​มัว​แต่​กิน​จน​ไม่​ได้​สนใจ​เรา. แต่​ลูก​น้อย​ของ​มัน​หยุด​เล่น​กัน​และ​เดิน​เข้า​มา​หา​เรา​สอง​สาม​ก้าว​อย่าง​กล้า ๆ กลัว ๆ. เรา​ดีใจ​กัน​มาก! แต่​เพียง​แค่​เสียง​ที่​ดัง​จาก​กล้อง​ถ่าย​ภาพ​ตัว​หนึ่ง​ของ​เรา​ทำ​ให้​พวก​มัน​ตกใจ​และ​ทั้ง​หมด​ก็​หาย​เข้า​ไป​ใน​ป่า​ภาย​ใน​ชั่ว​พริบ​ตา.

ด้วย​ความ​ดีใจ​ที่​เรา​ได้​เห็น​มูฟลอน เรา​จึง​วาง​แผน​จะ​เดิน​สำรวจ​ป่า​โดย​หวัง​ว่า​จะ​เห็น​มูฟลอน​ใน​ป่า​ตาม​ธรรมชาติ. อันเดรอัส​แนะ​ให้​เรา​ลอง​ไป​ตอน​รุ่ง​เช้า ซึ่ง​บาง​ครั้ง​มูฟลอน​จะ​ออก​มา​ที่​ชาย​ป่า​เพื่อ​หา​อาหาร​ใน​ช่วง​นี้. เนื่อง​จาก​เรา​วาง​แผน​จะ​ไป​กาง​เต็นท์​นอน​ค้าง​คืน​กัน​ใน​หุบเขา ภูเขา​ที่​อยู่​เหนือ​หุบเขา​จึง​เป็น​ที่​ที่​เหมาะ​ที่​จะ​ลอง​เสาะ​หา​มูฟลอน. เรา​ได้​มา​รู้​ว่า​มูฟลอน​ชอบ​อยู่​ตาม​ภูเขา​สูง ๆ ใน​ช่วง​ฤดู​ร้อน ส่วน​ใน​ฤดู​หนาว เมื่อ​มี​หิมะ​ปก​คลุม​ยอด​เขา มัน​ก็​จะ​ลง​มา​หา​พืช​ที่​กิน​เป็น​อาหาร​ได้​ใน​พื้น​ที่​ที่​ต่ำ​ลง​มา และ​ถึง​กับ​ออก​มา​ที่​ทุ่ง​โล่ง​ด้วย​ซ้ำ.

การ​ผสม​พันธุ์​เกิด​ขึ้น​ใน​ช่วง​ฤดู​ใบ​ไม้​ร่วง. ใน​ช่วง​ฤดู​หนาว มูฟลอน​ท่อง​ไป​ด้วย​กัน​เป็น​ฝูง ฝูง​ละ 10 ถึง 20 ตัว. เมื่อ​เริ่ม​ตก​ลูก​ใน​เดือน​เมษายน​หรือ​พฤษภาคม ฝูง​มูฟลอน​นั้น​ก็​จะ​แยก​กัน​เป็น​กลุ่ม​เล็ก ๆ ดัง​ที่​เรา​เห็น​ใน​เขต​กั้น​รั้ว​นั้น. ตัว​ผู้​ที่​โต​เต็ม​วัย​แล้ว​มัก​จะ​หา​กิน​ตาม​ลำพัง.

พบ​ตัว​ผู้​ใน​ป่า!

เช้า​มืด​วัน​รุ่ง​ขึ้น เรา​ขับ​รถ​ขึ้น​เขา​อีก​ครั้ง. เรา​จอด​รถ​ใน​ทุ่ง​โล่ง​แล้ว​เดิน​ขึ้น​เขา​เข้า​ไป​ใน​ป่า​ก่อน​ที่​ดวง​อาทิตย์​จะ​ขึ้น​สูง. ป่า​ยัง​คง​เงียบ​สงัด และ​มี​หมอก​ลอย​ผ่าน​แมก​ไม้. ขณะ​ที่​เรา​หยุด​เพื่อ​ชื่นชม​กับ​ความ​เงียบ​สงบ​นั้น เรา​ก็​เห็น​มูฟลอน​ตัว​หนึ่ง—มัน​เป็น​ตัว​ผู้​ท่า​ทาง​งาม​สง่า ขน​หนา​ที่​ขึ้น​ใน​ช่วง​ฤดู​หนาว​หลุด​ไป​เกือบ​หมด​แล้ว. มัน​มี​ขน​สี​เข้ม​ขึ้น​ที่​บริเวณ​ใต้​คอ​ของ​มัน. มัน​เอียง​คอ​อย่าง​องอาจ​และ​มอง​มา​ที่​เรา​ผ่าน​ขน​ตา​สี​ดำ​และ​สูด​อากาศ​เพื่อ​ดม​กลิ่น​เรา. เขา​แต่​ละ​ข้าง​ที่​โค้ง​และ​ใหญ่​คง​ต้อง​ยาว​อย่าง​น้อย 40 เซนติเมตร​ที​เดียว! มัน​ตัว​ใหญ่​กว่า​ตัว​เมีย​ที่​เรา​เห็น​เมื่อ​วาน​และ​คง​จะ​หนัก​ประมาณ 35 กิโลกรัม.

เรา​หยุด​นิ่ง​จน​แทบ​ไม่​กล้า​หายใจ​ด้วย​ซ้ำ. อย่าง​ไร​ก็​ตาม ดู​เหมือน​สัตว์​ป่า​ที่​ระแวด​ระวัง​ตัว​นี้​คง​จะ​ได้​กลิ่น​เรา เพราะ​มัน​ส่าย​หัว​และ​หนี​ไป. สิ่ง​ที่​เรา​ได้​เห็น​และ​เรียน​รู้​ใน​สอง​วัน​นี้​ทำ​ให้​เรา​ประทับใจ​มาก. เรา​ยัง​รู้สึก​หยั่ง​รู้​ค่า​พระ​ผู้​สร้าง​มาก​ขึ้น​ด้วย ผู้​ซึ่ง​ตรัส​ว่า “เพราะ​สัตว์​ป่า​ทุก​ตัว​เป็น​ของ​เรา, ทั้ง​ฝูง​วัว​ฝูง​ควาย​ที่​อยู่​บน​ภูเขา​หลาย​พัน​ยอด​ก็​เป็น​ของ​เรา.”—บทเพลง​สรรเสริญ 50:10.

[ภาพ​หน้า 24, 25]

มูฟลอน​แห่ง​เกาะ​ไซปรัส (ภาพ​หลัง) และ​มูฟลอน​ยุโรป

[ที่​มา​ของ​ภาพ​หน้า 25]

Top right: Oxford Scientific/photolibrary/Niall Benvie; European Mouflon: Oxford Scientific/photolibrary