อุทยานบนเกาะทราย
อุทยานบนเกาะทราย
โดยผู้เขียนตื่นเถิด! ในออสเตรเลีย
ในปี 1770 นักสำรวจชาวอังกฤษชื่อกัปตันเจมส์ คุก ได้แล่นเรือขึ้นเหนือตามชายฝั่งตะวันออกของออสเตรเลีย. เมื่อเขาอยู่ห่างจากจุดที่ปัจจุบันคือเมืองบริสเบนขึ้นไปทางเหนือกว่า 150 กิโลเมตรเล็กน้อย เขาผ่านเกาะทรายขนาดใหญ่ใกล้ชายฝั่งซึ่งในเวลาต่อมาจะดึงดูดนักท่องเที่ยวให้ไปเยือนถึงปีละ 300,000 คน. แต่คุกแทบไม่ได้สนใจเกาะนี้เลย. ที่จริง เขากับคนอื่น ๆ คิดว่ามันเป็นคาบสมุทรที่ยื่นออกไปในทะเล ไม่ใช่เกาะ. ไม่กี่ปีหลังจากนั้น นักสำรวจชื่อแมตทิว ฟลินเดอส์ ก็ขึ้นฝั่งบนเกาะนี้. เขาเขียนว่า “ไม่มีที่ไหนจะแห้งแล้งยิ่งกว่าคาบสมุทรแห่งนี้อีกแล้ว.”
ถ้าเพียงแต่คุกกับฟลินเดอส์เข้าไปลึกกว่าเนินทรายและหาดทรายสีทองซึ่งยาวหลายกิโลเมตรนั้น เขาทั้งสองคงจะมองเกาะนี้ต่างไปจากนั้นมากนัก. ทั้งสองคงจะพบกับโลกแห่งป่าดิบอันบริสุทธิ์, ทะเลสาบน้ำจืดที่ใสดุจแก้ว, หน้าผาที่มีทรายหลากสีงามสะดุดตา, และสรรพสัตว์หลายร้อยชนิด. ปัจจุบันเกาะทรายที่ใหญ่ที่สุดในโลกแห่งนี้มีชื่อว่าเกาะเฟรเซอร์ และเป็นสถานที่ที่น่าทึ่งจนมีรายชื่ออยู่ในมรดกโลกตั้งแต่ปี 1992. *
กำเนิดจากขุนเขา
เกาะเฟรเซอร์ยาว 120 กิโลเมตรและกว้าง 25 กิโลเมตร และมีพื้นที่เกือบหนึ่งล้านไร่. เนินทรายขนาดใหญ่ซึ่งสูงกว่าระดับน้ำทะเลเกือบ 240 เมตร ทำให้เกาะนี้เป็นเกาะทรายที่สูงที่สุดในโลก. พลังอะไรก่อให้เกิดผืนทรายที่น่าทึ่งนี้?
หลักฐานแสดงว่า ทรายปริมาณมหาศาลซึ่งก่อตัวขึ้นเป็นเกาะนี้มาจากเทือกเขาเกรตดิไวดิงเรนจ์ ซึ่งทอดตัวยาวตลอดแนวชายฝั่งตะวันออกของออสเตรเลีย. เมื่อเวลาผ่านไป ฝนที่ตกลงมาอย่างหนักได้เซาะเศษหินจากเทือกเขานี้และพัดพาลงสู่แม่น้ำแล้วไหลออกสู่ทะเล. กระแสน้ำในมหาสมุทรซัดกระหน่ำจนเศษหินเหล่านี้กลายเป็นทรายละเอียดและค่อย ๆ พัดทรายเหล่านี้ไปตามท้องทะเลขึ้นไปทางทิศเหนือ. เมื่อถูกขวางจากแหลมผาชันที่ยื่นออกไปในทะเลและเนินหินที่ก้นทะเล เม็ดทรายจึงตกสะสมกันและกลายเป็นเกาะเฟรเซอร์.
ตั้งแต่นั้นมา มหาสมุทรแปซิฟิกก็ยังคงพัดพาทรายใหม่ ๆ เข้ามาที่หาดทรายของเกาะนี้. แล้วลมก็จะหอบทรายขึ้นไปบนบก ก่อให้เกิดเนินทราย. แล้วเนินทรายก็จะเคลื่อนที่ไปด้วยความเร็วปีละหนึ่งเมตร กลืนกินทุกสิ่งทุกอย่างที่ขวางหน้า.
ทะเลสาบน้ำจืดและป่าหายาก
น่าแปลก มีทะเลสาบน้ำจืดราว ๆ 40 แห่งอยู่ตามแอ่งในเนินทรายทั่วไปในเกาะนี้. ทะเลสาบเหล่านี้บางแห่งอยู่ในแอ่งขนาดใหญ่บนยอดเนินทรายที่สูงตระหง่าน. อะไรทำให้น้ำไม่ไหลซึมลงไปในทราย? มีชั้นของจุลินทรีย์ซึ่งเรียกว่า พีต รองรับอยู่ ชั้นจุลินทรีย์นี้ประกอบด้วยเศษใบไม้, เปลือกไม้, และกิ่งไม้ที่ย่อยสลายไปเพียงบางส่วน.
เกาะนี้ยังมีทะเลสาบหน้าต่าง ซึ่งเกิดขึ้นเมื่อแอ่งทรายมีความลึกกว่าระดับน้ำใต้ดิน. น้ำจืดจะซึมลงไปขังอยู่ในแอ่ง ทำให้เกิดสระน้ำที่ใสดุจแก้วเนื่องจากผ่านการกรองจากทราย และที่แท้แล้วสระน้ำนี้ก็เป็นหน้าต่างแสดงระดับน้ำใต้ดิน.
ทะเลสาบในเกาะนี้ได้รับน้ำถึง 1,500 มิลลิเมตรจากฝนที่ตกลงมาในแต่ละปี. น้ำที่ไม่ได้ถูกกักไว้ในทะเลสาบหรือซึมลงไปในทรายจะไหลมารวมกันเป็นลำธารและไหลออก
สู่ทะเล. ประมาณกันว่า ลำธารสายหนึ่งในเกาะนี้มีน้ำไหลลงสู่มหาสมุทรแปซิฟิกมากกว่าห้าล้านลิตรต่อชั่วโมง.น้ำที่มีอยู่อย่างบริบูรณ์ทำให้เกาะเฟรเซอร์เขียวชอุ่ม. ตามปกติ ป่าดิบจะไม่ขึ้นบนทรายที่ขาดแคลนสารอาหาร. แต่เกาะเฟรเซอร์เป็นหนึ่งในสถานที่ไม่กี่แห่งในโลกที่มีป่าดิบเจริญงอกงามบนพื้นทราย. ที่จริง เมื่อก่อนป่านี้มีต้นไม้หนาทึบเสียจนมีการทำไม้ที่นี่เป็นเวลากว่า 100 ปี. คนทำไม้ชอบหาต้นแบล็กบัตต์, ต้นเคารี, และต้นทอลโลว์วูด. คนทำไม้คนหนึ่งกล่าวไว้เมื่อปี 1929 ว่า “นักเดินทางจะได้เห็นต้นไม้ขนาดยักษ์สูงกว่า 45 เมตรซึ่งเป็นเสมือนกำแพงที่มีชีวิต . . . ราชาแห่งพงไพรที่ยิ่งใหญ่นี้มีเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณสองถึงสามเมตร.” ต้นไม้บางต้น เช่น ต้นซาติเนย์และต้นสนเขาได้ถูกนำไปใช้สร้างกำแพงที่คลองสุเอซ. อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันต้นไม้ในเกาะเฟรเซอร์เติบใหญ่โดยไม่มีใครรบกวน.
อุทยานที่มีอดีตอันน่าเศร้า
ชื่อของเกาะนี้เกิดจากเหตุการณ์อันน่าเศร้า. ในปี 1836 กัปตันเจมส์ เฟรเซอร์กับเอลีซา ภรรยาของเขา รอดจากเรือสเตอร์ลิง แคสเซิล ที่อับปางและถูกคลื่นซัดมาที่ชายฝั่งของเกาะนี้. ดูเหมือนชนพื้นเมืองเผ่าหนึ่งฆ่ากัปตัน แต่ต่อมามีคนช่วยเอลีซาออกไปได้. เพื่อระลึกถึงเหตุการณ์อันน่าเศร้าครั้งนั้น จึงมีการเปลี่ยนชื่อของเกาะนี้จากเกาะเกรต แซนดี ไอแลนด์เป็นเกาะเฟรเซอร์.
มีเหตุการณ์ที่น่าเศร้าเกิดขึ้นกับชนพื้นเมืองด้วย. ในสมัยหนึ่ง มีชาวอะบอริจินีอยู่บนเกาะเฟรเซอร์ถึง 2,000 คน. มีการพรรณนาถึงพวกเขาว่าเป็นคนรูปร่างบึกบึนและแข็งแรง. พวกเขาเรียกเขตแดนของตนว่า การี ซึ่งหมายถึงอุทยาน. ตำนานของชาวอะบอริจินีเกี่ยวกับการสร้างเกาะนี้พรรณนาว่า เกาะนี้เป็นสถานที่ที่สวยที่สุดเท่าที่เคยมีการสร้าง. น่าเสียดาย โรคระบาดจากยุโรปทำให้ชนเผ่านี้เสียชีวิตไปเป็นจำนวนมาก. นอกจากนั้น พอถึงตอนต้นศตวรรษที่ 20 ชาวอะบอริจินีส่วนใหญ่ก็ต้องอพยพไปตั้งถิ่นฐานบนแผ่นดินใหญ่.
ที่ลี้ภัยอันสงบสุข
ปัจจุบัน เกาะนี้เป็นที่ลี้ภัยอันสงบสุขสำหรับสัตว์นานาชนิด. สัตว์ชนิดหนึ่งที่มีชื่อเสียงที่สุดของเกาะนี้คือดิงโก สุนัขป่าของออสเตรเลีย. เนื่องจากไม่เคยเกี่ยวข้องกับสุนัขบ้านในแผ่นดินใหญ่ จึงถือกันว่าดิงโกแห่งเกาะเฟรเซอร์เป็นสายพันธุ์ดิงโกพันธุ์แท้ที่สุดในออสเตรเลียตะวันออก. ดิงโกอาจดูเหมือนสุนัขบ้าน แต่มันไม่ใช่สุนัขบ้าน จึงควรปฏิบัติอย่างระมัดระวัง.
มีนกกว่า 300 ชนิดที่พบเห็นได้ในเกาะนี้. เหยี่ยวแดงและเหยี่ยวออกท้องขาวบินสำรวจหาดทราย ส่วนนกกระเต็นป่าสีฟ้าเหลือบก็บินโฉบไปโฉบมาเหนือทะเลสาบ. นกอพยพที่มาเยือนเกาะนี้รวมถึงนกหัวโตทรายแห่งมองโกเลียซึ่งผสมพันธุ์ในไซบีเรียและบินลงใต้ในช่วงฤดูหนาว. พวกมันพักบนเกาะเฟรเซอร์สั้น ๆ ก่อนจะบินไปจนถึงจุดหมาย. นอกจากนั้น ค้างคาวแม่ไก่หัวเทากว่า 30,000 ตัว ซึ่งมีขนาดพอ ๆ กับอีกา ก็บินมาที่เกาะนี้ตามฤดูกาล เนื่องจากพวกมันอยากกินน้ำหวานจากดอกยูคาลิปตัส.
ทะเลรอบ ๆ เกาะเฟรเซอร์ก็เต็มไปด้วยสิ่งมีชีวิต รวมทั้งวาฬหลังค่อมซึ่งอยู่ระหว่างการเดินทางจากแถบแอนตาร์กติกาอันหนาวเย็นไปถึงเทือกปะการังเกรต แบริเออร์ รีฟ ที่ซึ่งพวกมันจะตกลูกและผสมพันธุ์ที่นั่น. ขากลับ วาฬเหล่านี้จะแสดงลีลาที่น่าตื่นตาตื่นใจ โดยใช้ลำตัวที่ใหญ่โตมโหฬารของมันโจนขึ้นไปบนอากาศและทิ้งตัวลงมากระแทกน้ำให้สาดกระจายจนมองเห็นได้แม้อยู่ห่างไปไกลหลายกิโลเมตร ซึ่งเป็นการทักทายอันสง่างามอย่างแท้จริงต่อเกาะที่น่าทึ่งนี้!
[เชิงอรรถ]
^ วรรค 4 องค์การศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาตินำสถานที่ที่มีคุณค่าทางกายภาพ, ชีววิทยา, ธรณีวิทยา, หรือทางวิทยาศาสตร์เพิ่มเข้าไปในรายชื่อมรดกโลก.
[แผนที่หน้า 14]
(รายละเอียดดูจากวารสาร)
มหาสมุทรแปซิฟิก
เกาะเฟรเซอร์
[ภาพหน้า 15]
ขวา จากบนลงล่าง:
ปากลำธารคูร์นุงทะเลสาบน้ำจืด
สี่สิบแห่ง รวมทั้งทะเลสาบที่อยู่บนยอดเนินทรายและทะเลสาบหน้าต่างมีอยู่ทั่วไปในเกาะเฟรเซอร์
ปรากฏการณ์ที่หาได้ยาก—ป่าดิบบนผืนทราย
[ที่มาของภาพ]
All photos: Courtesy of Tourism Queensland
[ภาพหน้า 16, 17]
ดิงโกกับโคอาลา
[ที่มาของภาพ]
Courtesy of Tourism Queensland
[ภาพหน้า 16, 17]
หาดทรายยาว 120 กิโลเมตรบนเกาะเฟรเซอร์เป็นหาดทรายที่ยาวที่สุดแห่งหนึ่งในโลก
[ภาพหน้า 17]
เหยี่ยวออกท้องขาว
[ภาพหน้า 17]
นกคูคาเบอร์รา
[ภาพหน้า 17]
นกกระทุง
[ภาพหน้า 17]
วาฬหลังค่อมแวะพักระหว่างทางไปแอนตาร์กติกา
[ที่มาของภาพหน้า 17]
Eagle: ©GBRMPA; all other photos except pelicans: Courtesy of Tourism Queensland