ข้ามไปยังเนื้อหา

ข้ามไปยังสารบัญ

เมล็ดที่เดินทางไปทั่วโลก

เมล็ดที่เดินทางไปทั่วโลก

เมล็ด​ที่​เดิน​ทาง​ไป​ทั่ว​โลก

หนังสือ “สรรพ​สาระ​เรื่อง​กาแฟ” (ภาษา​อังกฤษ) กล่าว​ว่า เรื่อง​ราว​การ​ทุ่มเท​ของ​ชาย​คน​หนึ่ง​เพื่อ​ต้น​กล้า​กาแฟ​ได้​รับ​การ​พรรณนา​ว่า​เป็น “บท​ที่ . . . น่า​ตรึง​ใจ​ที่​สุด​ใน​ประวัติศาสตร์​ของ​การ​แพร่​พันธุ์​ต้น​กาแฟ.” วารสาร​ไซเยนติฟิก อเมริกัน กล่าว​ว่า ต้น​กาแฟ​เล็ก ๆ ต้น​นั้น​มี​บทบาท​สำคัญ​ใน​การ​เริ่ม​ต้น​อุตสาหกรรม​กาแฟ​มูลค่า​เจ็ด​หมื่น​ล้าน​ดอลลาร์​ต่อ​ปี​ใน​ปัจจุบัน ซึ่ง​ใน​ด้าน​มูลค่า​การ​ซื้อ​ขาย​ทั่ว​โลก​จะ​เป็น​รอง​ก็​เพียง​แต่​อุตสาหกรรม​ปิโตรเลียม​เท่า​นั้น.

เรื่อง​ราว​อัน​น่า​ทึ่ง​ของ​กาแฟ​เริ่ม​ขึ้น​ใน​แถบ​เทือก​เขา​ของ​เอธิโอเปีย แหล่ง​กำเนิด​ของ​ต้น​กาแฟ​ป่า. โคฟเฟีย อาราบิกา (Coffea arabica) ซึ่ง​มี​ต้น​กำเนิด​มา​จาก​กาแฟ​ป่า​นั้น มี​สัดส่วน​ถึง​สอง​ใน​สาม​ของ​ผล​ผลิต​กาแฟ​ทั้ง​หมด​ใน​โลก. แต่​ไม่​เป็น​ที่​ทราบ​แน่ชัด​ว่า​มี​การ​ค้น​พบ​คุณสมบัติ​พิเศษ​ของ​เมล็ด​กาแฟ​คั่ว​เมื่อ​ไร. กระนั้น ก็​มี​ผู้​เพาะ​ปลูก​กาแฟ​พันธุ์​อาราบิกา​ใน​คาบสมุทร​อาหรับ​แล้ว​เมื่อ​ถึง​ศตวรรษ​ที่ 15 สากล​ศักราช. แม้​จะ​มี​กฎ​ข้อ​ห้าม​ไม่​ให้​นำ​เมล็ด​ที่​ยัง​แพร่​พันธุ์​ได้​ออก​นอก​ประเทศ แต่​ชาว​ดัตช์​ก็​ได้​ต้น​กาแฟ​หรือ​เมล็ด​ที่​ยัง​แพร่​พันธุ์​ได้​ไป​ใน​ปี 1616. ไม่​นาน​พวก​เขา​ก็​ทำ​ไร่​กาแฟ​ใน​เกาะ​ซีลอน ซึ่ง​ปัจจุบัน​คือ​ศรีลังกา และ​เกาะ​ชวา ซึ่ง​ปัจจุบัน​เป็น​ส่วน​หนึ่ง​ของ​ประเทศ​อินโดนีเซีย.

ใน​ปี 1706 ชาว​ดัตช์​ขน​ต้น​กาแฟ​อ่อน​ต้น​หนึ่ง​จาก​ที่​ดิน​ของ​ตน​บน​เกาะ​ชวา​ไป​ยัง​สวน​พฤกษศาสตร์​ที่​กรุง​อัมสเตอร์ดัม ประเทศ​เนเธอร์แลนด์. ต้น​กาแฟ​นั้น​เจริญ​งอกงาม​ดี​ที่​นั่น. ต้น​กาแฟ​ที่​เพาะ​มา​จาก​ต้น​นั้น​ก็​ถูก​ส่ง​ไป​ยัง​อาณานิคม​ของ​ดัตช์​ที่​ซูรินาเม​และ​ใน​แถบ​แคริบเบียน. ใน​ปี 1714 นายก​เทศมนตรี​กรุง​อัมสเตอร์ดัม​ถวาย​ต้น​กาแฟ​ที่​เพาะ​ได้​ต้น​หนึ่ง​แก่​พระเจ้า​หลุยส์​ที่ 14 แห่ง​ฝรั่งเศส. กษัตริย์​สั่ง​ให้​ปลูก​ต้น​กาแฟ​นั้น​ไว้​ใน​เรือน​เพาะ​ชำ​ที่​สวน​หลวง​ชาร์แดง เด ปลองต์ ใน​กรุง​ปารีส.

ชาว​ฝรั่งเศส​ก็​อยาก​จะ​เข้า​ร่วม​ใน​ธุรกิจ​ค้า​กาแฟ​ด้วย. พวก​เขา​ซื้อ​เมล็ด​พันธุ์​และ​ต้น​กาแฟ​แล้ว​ส่ง​ไป​ยัง​เกาะ​เรอูนียง. ไม่​มี​เมล็ด​ใด​งอก​ขึ้น​เลย และ​แหล่ง​อ้างอิง​บาง​แหล่ง​บอก​ว่า ใน​ที่​สุด​ต้น​กาแฟ​ก็​ตาย​เกือบ​หมด​จน​เหลือ​อยู่​เพียง​ต้น​เดียว. กระนั้น ใน​ปี 1720 ก็​มี​การ​เพาะ​เมล็ด​จำนวน 15,000 เมล็ด​ที่​ได้​จาก​ต้น​นั้น​และ​ใน​ที่​สุด​ก็​มี​การ​ทำ​ไร่​กาแฟ. ต้น​กาแฟ​เหล่า​นี้​มี​ค่า​มาก​ถึง​ขนาด​ที่​ถ้า​จับ​ได้​ว่า​ใคร​ทำลาย​ต้น​กาแฟ คน​นั้น​จะ​มี​โทษ​ถึง​ประหาร​ชีวิต​ที​เดียว! ชาว​ฝรั่งเศส​ยัง​หวัง​จะ​ทำ​ไร่​กาแฟ​ใน​แถบ​แคริบเบียน​อีก​ด้วย แต่​ความ​พยายาม​สอง​ครั้ง​แรก​ของ​พวก​เขา​ล้มเหลว.

นาย​ทหาร​เรือ​ชาว​ฝรั่งเศส​ชื่อ​กาเบรียล มัตเยอ เดอ คลีเยอ ซึ่ง​อยู่​ใน​ช่วง​ลา​พัก​ที่​กรุง​ปารีส ได้​ตั้ง​เป้าหมาย​ส่วน​ตัว​ที่​จะ​นำ​ต้น​กาแฟ​ไป​ยัง​ที่​ดิน​ของ​เขา​ที่​เกาะ​มาร์ตินีก​เมื่อ​เขา​กลับ​จาก​ฝรั่งเศส. เขา​ออก​เรือ​มุ่ง​หน้า​ไป​ยัง​เกาะ​นี้​ใน​เดือน​พฤษภาคม 1723 พร้อม​กับ​ต้น​กาแฟ​ต้น​หนึ่ง​ซึ่ง​เพาะ​มา​จาก​ต้น​กาแฟ​ที่​ปารีส.

หนังสือ​สรรพ​สาระ​เรื่อง​กาแฟ กล่าว​ว่า​ระหว่าง​การ​เดิน​ทาง เดอ คลีเยอ เอา​ต้น​กาแฟ​ที่​ล้ำ​ค่า​ของ​เขา​ใส่​ไว้​ใน​กล่อง​ที่​มี​บาง​ด้าน​เป็น​กระจก เพื่อ​ว่า​ต้น​กาแฟ​ของ​เขา​จะ​ได้​รับ​แสง​อาทิตย์​และ​ยัง​คง​มี​ความ​อบอุ่น​ใน​วัน​ที่​มี​เมฆ​มาก. ผู้​โดยสาร​คน​หนึ่ง​บน​เรือ ซึ่ง​อาจ​จะ​รู้สึก​อิจฉา​เดอ คลีเยอ และ​ไม่​ต้องการ​ให้​เขา​ประสบ​ความ​สำเร็จ ได้​พยายาม​แย่ง​ต้น​กาแฟ​ของ​เขา​ไป แต่​ทำ​ไม่​สำเร็จ. ต้น​กาแฟ​นั้น​ยัง​รอด​อยู่​ได้. แม้​เมื่อ​เรือ​เผชิญ​กับ​โจร​สลัด​ชาว​ตูนิเซีย, ประสบ​พายุ​ที่​รุนแรง, และ​ที่​แย่​ที่​สุด​คือ​การ​ขาด​แคลน​น้ำ​จืด​เมื่อ​เรือ​แล่น​ต่อ​ไป​ไม่​ได้​เนื่อง​จาก​ไม่​มี​ลม​ใน​บริเวณ​เส้น​ศูนย์​สูตร ต้น​กล้า​นั้น​ก็​ยัง​รอด​อยู่​ได้. เดอ คลีเยอ เขียน​ว่า “เรา​ขาด​น้ำ​เสีย​จน​ข้าพเจ้า​จำเป็น​ต้อง​แบ่ง​น้ำ​ส่วน​ที่​ได้​รับ​จาก​การ​ปัน​ส่วน​ซึ่ง​ก็​มี​อยู่​เพียง​น้อย​นิด​ให้​กับ​ต้น​ไม้​นั้น​เป็น​เวลา​กว่า​หนึ่ง​เดือน เนื่อง​จาก​ต้น​ไม้​นั้น​เป็น​ความ​หวัง​สูง​สุด​ของ​ข้าพเจ้า​และ​เป็น​แหล่ง​ที่​ทำ​ให้​ชื่น​ใจ.”

การ​ทุ่มเท​ของ​เดอ คลีเยอ ได้​รับ​ผล​ตอบ​แทน. ต้น​กาแฟ​ของ​เขา​ไป​ถึง​เกาะ​มาร์ตินีก​ใน​สภาพ​ที่​ยัง​แข็งแรง​อยู่ และ​มัน​เติบโต​และ​ขยาย​พันธุ์​ได้​ดี​ใน​เขต​ร้อน. กอร์ดอน ริกลีย์ เขียน​ใน​หนังสือ​ชื่อ​กาแฟ (ภาษา​อังกฤษ) ว่า “จาก​ต้น​กาแฟ​เพียง​ต้น​เดียว​นั้น มาร์ตินีก​ได้​ให้​เมล็ด​พันธุ์​กาแฟ​แก่​ประเทศ​ต่าง ๆ ใน​ทวีป​อเมริกา​ทั้ง​ทาง​ตรง​และ​ทาง​อ้อม ยก​เว้น​บราซิล, เฟรนช์เกียนา, และ​ซูรินาเม.”

ขณะ​เดียว​กัน บราซิล​และ​เฟรนช์เกียนา​ก็​ต้องการ​ต้น​กาแฟ​ด้วย. ที่​ซูรินาเม พวก​ดัตช์​ยัง​คง​มี​ต้น​กาแฟ​ที่​สืบ​สาย​พันธุ์​มา​จาก​ต้น​กาแฟ​แห่ง​กรุง​อัมสเตอร์ดัม แต่​พวก​เขา​เฝ้า​รักษา​ต้น​กาแฟ​เหล่า​นั้น​อย่าง​แน่น​หนา. อย่าง​ไร​ก็​ตาม ใน​ปี 1722 เฟรนช์เกียนา​ก็​ได้​เมล็ด​พันธุ์​มา​จาก​โจร​คน​หนึ่ง​ซึ่ง​แอบ​เข้า​ไป​ใน​ซูรินาเม​และ​ขโมย​เมล็ด​พันธุ์​บาง​ส่วน​มา. เพื่อ​แลก​กับ​เมล็ด​พันธุ์​ที่​เขา​ได้​มา เจ้าหน้าที่​ของ​เฟรนช์เกียนา​ยอม​ปล่อย​เขา​เป็น​อิสระ และ​ส่ง​เขา​กลับ​ประเทศ​ของ​เขา.

ที​แรก ความ​พยายาม​ลักลอบ​นำ​เมล็ด​พันธุ์​หรือ​ต้น​กาแฟ​เข้า​ไป​ใน​บราซิล​ไม่​ประสบ​ความ​สำเร็จ. แต่​แล้ว ซูรินาเม​กับ​เฟรนช์เกียนา​ก็​มี​ข้อ​พิพาท​เรื่อง​พรม​แดน และ​ขอ​บราซิล​ให้​ส่ง​ผู้​ตัดสิน​มา​ให้. บราซิล​ส่ง​ฟรานซิสโก เด เมลู พาลเยตา นาย​ทหาร​คน​หนึ่ง ไป​ที่​เฟรนช์เกียนา​โดย​สั่ง​เขา​ให้​ไป​ระงับ​ข้อ​พิพาท​และ​นำ​ต้น​กาแฟ​กลับ​มา​บ้าง.

การ​ไต่สวน​ประสบ​ความ​สำเร็จ และ​ผู้​ว่า​ราชการ​จัด​งาน​เลี้ยง​เพื่อ​พาลเยตา. ภรรยา​ของ​ผู้​ว่า​ราชการ​แสดง​ความ​หยั่ง​รู้​ค่า​ต่อ​แขก​ผู้​มี​เกียรติ​ท่าน​นี้​โดย​มอบ​ช่อ​ดอกไม้​ที่​งดงาม​แก่​พาลเยตา. แต่​ใน​ช่อ​ดอกไม้​นั้น​มี​เมล็ด​กาแฟ​และ​ต้น​กล้า​ที่​ยัง​แพร่​พันธุ์​ได้​ซ่อน​อยู่​ข้าง​ใน. ด้วย​เหตุ​นี้ จึง​กล่าว​ได้​ว่า​ใน​ปี 1727 อุตสาหกรรม​กาแฟ​ของ​บราซิล​ซึ่ง​ปัจจุบัน​มี​มูลค่า​ถึง​หนึ่ง​พัน​ล้าน​ดอลลาร์​ได้​ถือ​กำเนิด​ขึ้น จาก​ช่อ​ดอกไม้​ช่อ​หนึ่ง.

ด้วย​เหตุ​นี้ ต้น​กาแฟ​อ่อน​ซึ่ง​เดิน​ทาง​จาก​เกาะ​ชวา​ไป​ยัง​อัมสเตอร์ดัม​ใน​ปี 1706 และ​ต้น​ไม้​ที่​สืบ​พันธุ์​จาก​ต้น​กาแฟ​ที่​ปารีส​เป็น​ต้น​กำเนิด​ของ​พันธุ์​กาแฟ​ทั้ง​หมด​ของ​อเมริกา​กลาง​และ​อเมริกา​ใต้. ริกลีย์​อธิบาย​ว่า “ผล​ก็​คือ พื้น​ฐาน​ทาง​พันธุกรรม​ของ​อุตสาหกรรม​กาแฟ​อาราบิกา​จึง​แคบ​มาก.”

ปัจจุบัน กะ​ประมาณ​กัน​ว่า​ไร่​กาแฟ​ของ​ครอบครัว​ชาว​ไร่​มาก​กว่า 25 ล้าน​แห่ง​ใน 80 ประเทศ​มี​การ​ปลูก​กาแฟ​กว่า 15,000 ล้าน​ต้น. ผล​ผลิต​ของ​ต้น​กาแฟ​เหล่า​นี้​ได้​กลาย​เป็น​เครื่อง​ดื่ม​กาแฟ 2.25 พัน​ล้าน​ถ้วย​ซึ่ง​มี​การ​บริโภค​กัน​ใน​แต่​ละ​วัน.

น่า​แปลก ปัญหา​ใน​ปัจจุบัน​นี้​คือ​มี​การ​ผลิต​กาแฟ​มาก​เกิน​ไป. ยิ่ง​กว่า​นั้น สถานการณ์​ยิ่ง​ยุ่งยาก​ขึ้น​เนื่อง​จาก​การ​เมือง, เศรษฐกิจ, และ​การ​รวม​กลุ่ม​กัน​เพื่อ​ครอบ​งำ​ตลาด ทั้ง​หมด​นี้​ล้วน​ทำ​ให้​ชาว​ไร่​ใน​หลาย​ประเทศ​มี​ฐานะ​ยาก​จน​หรือ​ถึง​กับ​สิ้น​เนื้อ​ประดา​ตัว. สิ่ง​ที่​เกิด​ขึ้น​นี้​เป็น​เรื่อง​ไม่​น่า​เชื่อ โดย​เฉพาะ​อย่าง​ยิ่ง​เมื่อ​เรา​นึก​ภาพ​เดอ คลีเยอ แบ่ง​น้ำ​อัน​ล้ำ​ค่า​ที่​เขา​ได้​รับ​ปัน​ส่วน​มา​ให้​กับ​ต้น​ไม้​เล็ก ๆ ต้น​หนึ่ง​เมื่อ​เกือบ 300 ปี​ที่​แล้ว.

[กรอบ/ภาพ​หน้า 20]

กาแฟ​สอง​พันธุ์​ที่​แพร่​หลาย​ที่​สุด

วารสาร​ไซเยนติฟิก อเมริกัน​กล่าว​ว่า “เมล็ด​กาแฟ​ดิบ​คือ​เมล็ด​ของ​พืช​ที่​อยู่​ใน​วงศ์ Rubiaceae ซึ่ง​ประกอบ​ด้วย​พืช​อย่าง​น้อย 66 ชนิด​ใน​สกุล Coffea. กาแฟ​สอง​ชนิด​ที่​มี​การ​เพาะ​ปลูก​เพื่อ​การ​ค้า​คือ Coffea arabica หรือ​พันธุ์​อาราบิกา ซึ่ง​ให้​ผล​ผลิต​ถึง​สอง​ใน​สาม​ของ​กาแฟ​ทั่ว​โลก และ Coffea canephora ซึ่ง​มัก​จะ​ถูก​เรียก​ว่า​พันธุ์​โร​บัส​ตา​นั้น​ให้​ผล​ผลิต​หนึ่ง​ใน​สาม​ของ​กาแฟ​ทั่ว​โลก.”

กาแฟ​โรบัสตา​มี​กลิ่น​ค่อนข้าง​แรง​และ​มัก​จะ​ใช้​ทำ​กาแฟ​สำเร็จ​รูป. อย่าง​ไร​ก็​ตาม ต้น​กาแฟ​พันธุ์​โร​บัส​ตา​นั้น​ให้​ผล​ผลิต​สูง​กว่า​และ​ต้านทาน​โรค​ได้​ดี. มัน​สูง​ราว ๆ 12 เมตร หรือ​สอง​เท่า​ของ​ต้น​กาแฟ​อาราบิกา​ที่​ไม่​ได้​ถูก​ตัด​แต่ง​ซึ่ง​อ่อนแอ​กว่า​และ​ให้​ผล​ผลิต​น้อย​กว่า. โดย​อาศัย​น้ำหนัก​เป็น​เกณฑ์ เมล็ด​กาแฟ​โรบัสตา​มี​กาเฟอีน​ถึง 2.8 เปอร์เซ็นต์ ส่วน​เมล็ด​กาแฟ​อาราบิกา​มี​ไม่​เกิน 1.5 เปอร์เซ็นต์. แม้​ว่า​อาราบิกา​มี​โครโมโซม 44 ตัว และ​โรบัสตา​กับ​กาแฟ​ป่า​ทุก​ชนิด​มี 22 ตัว แต่​ก็​อาจ​นำ​กาแฟ​พันธุ์​อาราบิกา​ไป​ผสม​ข้าม​พันธุ์​กับ​กาแฟ​พันธุ์​อื่น​เพื่อ​ผลิต​กาแฟ​พันธุ์​ผสม​ได้.

[กรอบ/ภาพ​หน้า 20]

“บัพติสมา” ให้​กาแฟ

เมื่อ​กาแฟ​มา​ถึง​ยุโรป​เป็น​ครั้ง​แรก​ใน​ศตวรรษ​ที่ 17 บาทหลวง​คาทอลิก​บาง​คน​เรียก​กาแฟ​ว่า​เครื่อง​ดื่ม​ของ​ซาตาน. พวก​เขา​มอง​ว่า​กาแฟ​เป็น​เครื่อง​ดื่ม​ที่​อาจ​มา​แทน​ที่​เหล้า​องุ่น ซึ่ง​จาก​แง่​คิด​ของ​พวก​เขา​แล้ว พระ​คริสต์​ทรง​ทำ​ให้​เหล้า​องุ่น​เป็น​สิ่ง​ที่​บริสุทธิ์. แต่​หนังสือ​กาแฟ​กล่าว​ว่า สันตะปาปา​คลีเมนต์​ที่ 8 ได้​ชิม​เครื่อง​ดื่ม​นี้​และ​ชื่น​ชอบ​กาแฟ​ทันที. สันตะปาปา​องค์​นี้​แก้ไข​สภาพ​กลืน​ไม่​เข้า​คาย​ไม่​ออก​ทาง​ศาสนา​โดย​ทำ​พิธี​บัพติสมา​ให้​กาแฟ​และ​ทำ​ให้​กาแฟ​กลาย​เป็น​ที่​ยอม​รับ​ของ​ชาว​คาทอลิก.

[กรอบ​หน้า 19]

(ราย​ละเอียด​ดู​จาก​วารสาร)

กาแฟ​แพร่​ไป​อย่าง​ไร?

1. ศตวรรษ​ที่ 15 มี​การ​เพาะ​ปลูก​กาแฟ​พันธุ์​อาราบิกา​ที่​คาบ​สมุทร​อาหรับ

2. 1616 ชาว​ดัตช์​ได้​รับ​ต้น​กาแฟ​หรือ​เมล็ด​ที่​แพร่​พันธุ์​ได้

3. 1699 ชาว​ดัตช์​นำ​ต้น​กาแฟ​ไป​ยัง​เกาะ​ชวา​และ​เกาะ​อื่น ๆ ใน​หมู่​เกาะ​อินดิส​ตะวัน​ออก

4. ศตวรรษ​ที่ 18 มี​การ​เพาะ​ปลูก​กาแฟ​ใน​อเมริกา​กลาง​และ​แถบ​แคริบเบียน

5. 1718 ชาว​ฝรั่งเศส​นำ​กาแฟ​ไป​เกาะ​เรอูนียง

6. 1723 จี. เอ็ม. เดอ คลี​เยอ นำ​ต้น​กาแฟ​จาก​ฝรั่งเศส​ไป​มาร์ตินีก

7. ศตวรรษ​ที่ 19 มี​การ​เพาะ​ปลูก​กาแฟ​ที่​ฮาวาย

[ที่​มา​ของ​ภาพ]

ที่​มา: จาก​หนังสือ “อันคอมมอน กราวนด์”

[ภาพ​หน้า 18, 19]

ขณะ​เดิน​ทาง​ไป​มาร์ตินีก กาเบรียล มัตเยอ เดอ คลีเยอ แบ่ง​น้ำ​ดื่ม​ของ​เขา​ให้​กับ​ต้น​กาแฟ​เมื่อ​ปี 1723

[ที่​มา​ของ​ภาพ​หน้า 19]

Map: © 1996 Visual Language; De Clieu: Tea & Coffee Trade Journal