การคบเพื่อนที่โรงเรียน—สนิทกันแค่ไหนถือว่าเกินสมควร?
หนุ่มสาวถามว่า . . .
การคบเพื่อนที่โรงเรียน—สนิทกันแค่ไหนถือว่าเกินสมควร?
“เพื่อน ๆ ที่โรงเรียนจะพูดคุยก็แต่เรื่องการไปเที่ยวสนุกสนานด้วยกันในวันสุดสัปดาห์. ฉันรู้สึกว่าถูกตัดออกจากกลุ่มโดยสิ้นเชิง.”—มิเชลล์. *
“บางครั้งผมมองดูกลุ่มเพื่อน ๆ และคิด ‘โอ้โฮ พวกเขาช่างเป็นเพื่อนที่ดีต่อกันจริง ๆ. ผมอยากจะเข้ากลุ่มนั้นด้วย.’”—โจ.
“ฉันไม่มีปัญหาในการคบหาเพื่อนที่โรงเรียนหรอก. มันง่ายมาก. แต่ที่เป็นปัญหาสำหรับฉันก็คือผลที่จะตามมา.”—มาเรีย.
คุณอยู่ท่ามกลางเพื่อนนักเรียนเกือบทั้งวัน. คุณเผชิญปัญหา, ความข้องขัดใจ, และความสำเร็จหลายอย่างคล้าย ๆ กัน. ในบางแง่ คุณอาจคิดว่าคุณมีอะไร ๆ เหมือนเพื่อนนักเรียนมากกว่าที่คุณมีกับพ่อแม่, พี่ ๆ น้อง ๆ ของคุณ, หรือเพื่อนคริสเตียน. เป็นที่เข้าใจได้ว่า คุณอาจรู้สึกอยากคบพวกเขาเป็นเพื่อน. การคิดเช่นนั้นผิดไหม? มีอันตรายไหม? เรื่องการคบเพื่อนที่โรงเรียน แค่ไหนที่ถือว่าสนิทสนมกันมากเกินไป? คุณควรจะขีดเส้นแบ่งตรงไหน?
คุณต้องการเพื่อน
ทุกคนต้องการเพื่อน ผู้ซึ่งทำให้เรารู้สึกผ่อนคลายในยามสุข และพึ่งพิงกันได้ในยามทุกข์ยาก. พระเยซูมีเพื่อน และพระองค์ชอบคบหาสมาคมกับพวกเขา. (โยฮัน 15:15) ครั้นพระองค์เผชิญความตายบนหลักทรมาน โยฮันสหายคนสนิทของพระเยซู ซึ่งเป็น “สาวกคนนั้นที่พระองค์ทรงรัก [เป็นพิเศษ]” ก็ได้มายืนอยู่ใกล้ ๆ. (โยฮัน 19:25-27; 21:20) คุณต้องการเพื่อนอย่างโยฮัน ผู้ซึ่งจะอยู่เคียงข้างร่วมทุกข์ร่วมสุขด้วยกัน. สุภาษิตในคัมภีร์ไบเบิลกล่าวไว้ดังนี้: “มิตรแท้ย่อมรักอยู่ทุกเวลา และเป็นพี่น้องซึ่งเกิดมาเพื่อยามที่มีความทุกข์ยาก.”—สุภาษิต 17:17, ล.ม.
บางทีคุณรู้สึกว่า คุณได้พบบางคนที่โรงเรียนเป็นคนแบบนั้น เป็นคนหนึ่งในชั้นที่เข้ากับคุณได้ดี. สนใจอะไรบางอย่างเหมือน ๆ กัน และชอบพูดคุยกันอย่างสนุก. จริง คนนั้นอาจไม่ใช่เพื่อนร่วมความเชื่อ กระนั้น จากแง่คิดของคุณ เขาดูเหมือนไม่ใช่คนประเภทที่อยู่ในข่าย ‘การคบหาสมาคมที่ไม่ดี’ แต่อย่างใด. (1 โกรินโธ 15:33) เป็นที่ยอมรับว่า หนุ่มสาวบางคนถึงแม้ไม่ได้เชื่อถือคัมภีร์ไบเบิลเช่นเดียวกับคุณ แต่ก็ยึดมั่นกับหลักการอันดีงาม. (โรม 2:14, 15) แต่นั่นหมายความว่าคุณควรเป็นเพื่อนสนิทกับพวกเขาไหม?
คริสเตียนไม่ปลีกตัวจากสังคม
ปรากฏชัดว่า คริสเตียนแท้ไม่ได้หลบเลี่ยงการคบหากับคนที่ไม่เชื่อถือพระเจ้า. เพื่อบรรลุหน้าที่มอบหมายของเขาที่จะ “ทำให้คนจากทุกชาติเป็นสาวก” คริสเตียนจึงพูดคุยกับชายหญิงทุกเชื้อชาติ ทุกศาสนาและวัฒนธรรม. (มัดธาย 28:19, ล.ม.) พวกเขาไม่ปลีกตัวเมื่อถึงคราวติดต่อกับเพื่อนบ้าน, เพื่อนร่วมงาน, หรือเพื่อนนักเรียน. แทนที่จะทำเช่นนั้น คริสเตียนเป็นฝ่ายแสดงความสนใจอย่างจริงจังต่อผู้อื่น.
อัครสาวกเปาโลได้วางแบบอย่างอันดีเยี่ยมเกี่ยวกับเรื่องนี้. ท่านรู้วิธีสนทนากับ “คนทุกชนิด” แม้ว่าพวกเขาไม่มีความเชื่ออย่างเดียวกับท่าน. จริงอยู่ เป้าหมายของเปาโลไม่ได้อยู่ที่การคบหากับพวกเขา. แต่ท่านพูดดังนี้: “ข้าพเจ้าทำทุกสิ่งเพื่อเห็นแก่ข่าวดี เพื่อข้าพเจ้าจะเป็นผู้มีส่วนร่วมในข่าวดีกับคนอื่น ๆ.”—1 โกรินโธ 9:22, 23, ล.ม.
คุณสามารถติดตามตัวอย่างของเปาโลได้. จงแสดงน้ำใจไมตรีกับคนรุ่นเดียวกัน. เรียนรู้วิธีที่จะสื่อความกับพวกเขาได้เป็นอย่างดี. เพื่อนนักเรียนบางคนอาจกำลังแสวงหาความหวังอย่างที่คุณมีอยู่ ซึ่งอาศัยคัมภีร์ไบเบิลเป็นหลัก. ขอพิจารณากรณีเด็กสาวคริสเตียนที่ชื่อแจเนต. เธอและเพื่อนร่วมชั้นได้รับมอบหมายให้เขียนลักษณะเด่นของเพื่อนนักเรียนแต่ละคนในชั้นอย่างย่อ ๆ และจากนั้นต่างคนต่างก็ได้อ่านความเห็นที่เขียนเกี่ยวกับตัวเอง. ข้อความหนึ่งที่แจเนตได้รับนั้นอ่านว่า “ดูเหมือนเธอเป็นคนมีความสุขมากตลอดเวลา. ช่วยบอกพวกเราว่าเป็นเพราะอะไร!”
ดังที่ประสบการณ์นี้แสดงให้เห็น เพื่อนร่วมชั้นบางคนอาจยอมเรียนรู้เกี่ยวกับความเชื่อของคุณ. แน่นอนว่า การเป็นมิตรกับคนเหล่านั้นย่อมเอื้อประโยชน์แก่คุณ. ไม่ต้องสงสัย การเป็นมิตรย่อมเปิดโอกาสให้อธิบายความเชื่อของคุณ. ปล่อยให้เพื่อนร่วมชั้นแสดงความคิดเห็นของเขา และตั้งใจฟังจริง ๆ เมื่อเขาพูด. ประสบการณ์ที่คุณได้สื่อความกับคนรุ่นเดียวกันนั้นย่อมมีค่ามากจริง ๆ หากวันหนึ่งคุณต้องไปทำงานอาชีพ และต้องเผชิญสภาพการณ์คล้าย ๆ กัน. การแสดงท่าทีเป็นมิตรไม่ว่าที่โรงเรียนหรือในที่ทำงานจะติโต 2:10, ล.ม.
ส่งเสริมคุณ “ทำให้คำสอนของพระเจ้าผู้ช่วยให้รอดของเรางดงามยิ่งขึ้นในทุกด้าน.”—มิตรภาพที่เป็นการ “เข้าเทียมแอกอย่างไม่เสมอกัน”
แน่นอน มีข้อแตกต่างระหว่างการมีน้ำใจไมตรี ต่อเพื่อนร่วมชั้นและการเป็นเพื่อนสนิทกัน. อัครสาวกเปาโลเขียนไว้ว่า “อย่าเข้าเทียมแอกอย่างไม่เสมอกันกับคนไม่มีความเชื่อ.” (2 โกรินโธ 6:14, ล.ม.) หากจะเป็นเพื่อนสนิทกับใครสักคน คุณก็ต้องมีค่านิยมและเป้าหมายอย่างเดียวกันกับเขา. ข้อนี้เป็นไปไม่ได้เลยสำหรับคนที่ไม่ยึดถือความเชื่อและมาตรฐานตามหลักคัมภีร์ไบเบิลเช่นเดียวกับคุณ. การเข้าเทียมแอกอย่างไม่เสมอกันกับเพื่อนร่วมชั้นที่ไม่ได้เป็นผู้เชื่อถือพระเจ้า อาจจะชักนำคุณเข้าไปมีส่วนพัวพันกับการประพฤติผิด หรืออาจทำให้นิสัยดีเสียไป.
มาเรียได้เรียนรู้เรื่องนี้ด้วยประสบการณ์อันแสนเจ็บปวด. เนื่องจากเป็นคนมีอัธยาศัยดี จึงเป็นเรื่องง่ายที่เธอจะกลายเป็นขวัญใจของเพื่อน ๆ แต่ก็ยากสำหรับเธอที่จะรู้ว่าเส้นแบ่งอยู่ตรงไหน. เธอยอมรับว่า “ฉันดีใจที่พวกเพื่อน ๆ ทั้งชายและหญิงต่างก็ชอบฉัน. ผลคือ ฉันรู้สึกว่าตัวเองถลำลึกลงสู่สถานการณ์อันยุ่งยากของโลกนี้ ราวกับถูกทรายดูดให้จมลึกลงไปเรื่อย ๆ จนยากที่จะหลุดออกมาได้.”
เช่นเดียวกับมาเรีย อาจเป็นการยากที่คุณจะรู้ได้ว่าเมื่อไรความสัมพันธ์ฉันมิตรกับบางคนที่ไม่มีความเชื่อเหมือนคุณกลายเป็นมิตรภาพที่แนบแน่นเกินควรเสียแล้ว. กระนั้น คุณจะป้องกันตัวเองให้พ้นจากความปวดร้าวใจได้ โดยกำหนดเส้นแบ่งให้ชัดเจนว่าคุณจะคบใครในฐานะคนรู้จัก และจะเลือกใครเป็นเพื่อนสนิท. คุณจะทำเช่นนั้นได้อย่างไร?
วิธีเลือกเพื่อนดี
ดังที่ได้กล่าวตอนต้น ช่วงที่พระเยซูอยู่บนแผ่นดินโลก พระองค์ทรงสร้างความสัมพันธ์ฉันมิตรขึ้นมา. พระเยซูได้กระทำเช่นนั้นด้วยการดำเนินชีวิตอย่างซื่อตรง น่านับถือ และพระองค์พูดเรื่องฝ่ายวิญญาณเสมอ. เมื่อผู้คนตอบรับคำสอนและแนวทางการดำเนินชีวิตของพระองค์ พวกเขาก็ได้เข้ามาใกล้พระองค์. (โยฮัน 15:14) ยกตัวอย่าง หลังจากได้ฟังคำตรัสของพระเยซู ชายสี่คนรู้สึกประทับใจมากถึงขนาดยอม “สละทิ้งสิ่งสารพัตรตามพระองค์ไป.” คนเหล่านี้ได้แก่ เปโตร, อันดะเรอา, ยาโกโบ, และโยฮัน กลายเป็นเพื่อนสนิทของพระเยซู.—ลูกา 5:1-11; มัดธาย 4:18-22.
คำพูดและการกระทำของพระเยซูบ่งบอกชัดเจนว่า พระองค์ทรงจริงจังกับสิ่งที่พระองค์เชื่อถือและยึดมั่นกับจุดยืนของพระองค์. พวกที่ไม่ต้องการยอมรับพระองค์ อีกทั้งคำสั่งสอนของพระองค์จึงได้แยกตัวออกไป และพระเยซูทรงปล่อยเขาไป.—โยฮัน 6:60-66.
ตัวอย่างเช่น ความจริงใจของชายหนุ่มคนหนึ่งทำให้พระเยซูรู้สึกซาบซึ้งพระทัย. คัมภีร์ไบเบิลกล่าวดังนี้: “พระเยซูทรงเพ่งดูคนนั้นทรงรักเขา.” แต่เมื่อชายคนนั้นรู้ว่าพระเยซูทรงคาดหมายสิ่งใดจากสหายของพระองค์ เขาก็ “ออกไป.” ดูเหมือนว่าชายคนนั้นเป็นคนดีจริง ๆ เพราะพระเยซู “ทรงรักเขา.” กระนั้น พระเยซูเรียกร้องมากกว่านั้นจากสหายของพระองค์. (มาระโก 10:17-22; มัดธาย 19:16-22) แล้วคุณล่ะ?
คุณอาจเข้ากันได้ดีกับเพื่อนนักเรียนคนหนึ่งโดยเฉพาะ. แต่ถามตัวเองซิว่า ‘คนนี้เต็มใจจะทำอย่างที่พระเยซูทรงบัญชาไหม? เขาต้องการเรียนรู้เกี่ยวกับพระยะโฮวาไหมผู้ซึ่งพระเยซูสอนเราให้นมัสการ?’ (มัดธาย 4:10) เมื่อคุณคุยกับเพื่อนร่วมชั้น และขณะเดียวกันคุณดำเนินชีวิตตามมาตรฐานของคัมภีร์ไบเบิล คำตอบสำหรับคำถามเหล่านี้จะเห็นได้ชัด.
นับว่าดีที่คุณมีน้ำใจไมตรีต่อเพื่อนร่วมชั้น เช่นเดียวกับที่พระเยซูทรงแสดงท่าทีเป็นมิตรต่อคนทุกชนิด. แต่พระเยซูทรงทำให้แน่ใจว่าคนเหล่านั้นที่พระองค์ทรงเลือกเป็นมิตรสนิทต้องเป็นคนที่รักพระยะโฮวา พระบิดาของพระองค์ผู้สถิตในสวรรค์. คุณก็ทำเช่นนั้นได้ด้วย. เมื่ออยู่ที่โรงเรียน “จงรักษาความประพฤติอันดี [ของคุณ] ไว้” และบอกผู้อื่นเกี่ยวกับความเชื่อของคุณด้วยท่าทีที่ผ่อนสั้นผ่อนยาว. ที่สำคัญคือ จงทำให้แน่ใจว่าคุณเลือกคบคนดีที่สุดเป็นเพื่อน.—1 เปโตร 2:12, ฉบับแปลใหม่.
[เชิงอรรถ]
^ วรรค 3 บางชื่อเป็นนามสมมุติ.
สิ่งที่พึงใคร่ครวญ
▪ การใช้เวลาว่างกับเพื่อนร่วมชั้นที่ไม่ได้เป็นผู้เชื่อถือพระเจ้าหลังเลิกเรียนมีอันตรายอะไรแฝงอยู่? การทำเช่นนั้นสุขุมไหม?
▪ หลังจากอ่านบทความนี้แล้ว คุณรู้สึกว่าคุณได้คบสนิทกับเพื่อนร่วมชั้นมากเกินไปไหม? ถ้าเป็นเช่นนั้น คุณจะทำอย่างไรในเรื่องนี้?
[กรอบ/ภาพหน้า 18]
ฉันจะหาเพื่อนแท้ได้อย่างไร?
วีดิทัศน์ชุดนี้ผลิตโดยพยานพระยะโฮวา เน้นการสัมภาษณ์แบบตรงไปตรงมากับหนุ่มสาวจากประเทศสหรัฐ, อิตาลี, ฝรั่งเศส, และสเปน. คุณจะหาดูได้ใน 36 ภาษา.
[ภาพหน้า 18]
เพื่อนนักเรียนร่วมชั้นบางคนอาจสงสัยใคร่รู้เกี่ยวกับความเชื่อของคุณ